โรคงูสวัด (Shingles) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

โรคงูสวัด (Shingles) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

งูสวัด

งูสวัด (Shingles หรือ Herpes zoster) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอีสุกอีใส (Varicella zoster virus – VZV) เพราะเมื่อโรคอีสุกอีใสหายแล้วจะยังคงมีเชื้อไวรัสชนิดนี้หลงเหลือซ่อนอยู่ในปมประสาทต่าง ๆ โดยเฉพาะของลำตัว เพื่อรอเวลาที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อไวรัสชนิดนี้ก็จะเจริญเติบโตและก่อให้เกิดเป็นโรคงูสวัดตามมา

  • งูสวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง สามารถพบได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ จะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักพบในผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนและหลังจากโรคอีสุกอีใสหายแล้วเป็นเดือน เป็นปี หลายปี หรือเป็น 10 ปี โรคงูสวัดจึงเกิดตามมาเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ
  • ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โรคนี้เป็นไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส และพบว่าผู้ที่เป็นอีสุกอีใสแล้วจะเป็นงูสวัดได้ประมาณ 1-2% (ผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสจะไม่เป็นโรคงูสวัด)
  • โรคนี้จะมีโอกาสการเกิด มีความรุนแรงของโรค และมีระยะเวลาที่เป็นจะนานมากขึ้นไปตามอายุ โดยมักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนในเด็กและทารกจะพบได้น้อยและมักมีอาการไม่รุนแรง (จากรายงานพบว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเป็นปกติและมีอายุน้อยกว่า 50 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตคิดเป็น 10% ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะพบว่ามีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้มากกว่าเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี ถึง 10 เท่า)
  • โดยทั่วไปแล้วถือเป็นโรคที่ไม่รุนแรง มักรักษาให้หายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ และมักจะเป็นโรคนี้เพียงครั้งเดียวในชีวิต เมื่อหายแล้วจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกเช่นเดียวกับอีสุกอีใส ยกเว้นในผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางชนิด รวมทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่อาจเป็นงูสวัดซ้ำได้หลายครั้ง

ชาวบ้านมักมีความเชื่อ “ถ้าเป็นงูสวัดพันรอบเอวเมื่อใด จะทำให้ตายได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงซะทีเดียวนะครับ เพราะในคนธรรมดาที่มีภูมิคุ้มกันปกติ งูสวัดจะไม่สามารถพันรอบตัวเราจนครบรอบเอวได้ เนื่องจากแนวเส้นประสาทของตัวเราจะมาสิ้นสุดที่บริเวณกึ่งกลางของลำตัวเท่านั้น จะไม่ลุกลามเข้ามาแนวกึ่งกลางลำตัวไปอีกซีกหนึ่งของร่างกาย และส่วนมากก็จะขึ้นเพียงข้างเดียวเท่านั้น อีกทั้งโรคนี้ก็มีโอกาสทำให้ตายได้น้อยมาก” คือถ้าจะเป็นอันตรายจริง ๆ ก็คงเกิดจากการอักเสบซ้ำจากเชื้อแบคทีเรียจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษเสียมากกว่า หากใครเป็นงูสวัดก็ไม่ต้องกลัวหรือตื่นตกใจไปนะครับ เพราะในปัจจุบันนี้เราสามารถรักษาโรคงูสวัดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่อย่างไรก็ตาม งูสวัดที่จะเป็นรุนแรงทั่วร่างกายหรือพันรอบตัวนั้นอาจพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เอดส์ ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นงูสวัดขึ้นมาก็อาจทำให้ปรากฏขึ้นทั้งสองข้างพร้อมกันจนดูเหมือนงูสวัดพันข้ามแนวกึ่งกลางลำตัวไปยังอีกซีกหนึ่งของร่างกายหรือเป็นงูสวัดทั่วร่างกายได้ ซึ่งแบบนี้อาจทำให้มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ครับ

สาเหตุการเกิดโรคงูสวัด

งูสวัดเกิดจากเชื้ออีสุกอีใส-งูสวัด (Varicella zoster virus – VZV) ที่หลบเข้าปมประสาทใต้ผิวหนังหลังจากมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรก (ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอาการของโรคอีสุกอีใส) ตัวเชื้อจะแฝงตัวอยู่อย่างสงบเป็นเวลานานหลายปีถึงสิบ ๆ ปี โดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น จากอายุที่มากขึ้น ถูกกระทบกระเทือน ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดความเครียด ได้รับอุบัติเหตุ เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวี เป็นมะเร็ง ใช้ยาต้านมะเร็ง ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน) เชื้อที่แฝงตัวอยู่นั้นก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเกิดการปลุกฤทธิ์คืน (Reactivation) และกระจายในปมประสาท ทำให้ประสาทอักเสบ จนเกิดอาการปวดตามเส้นประสาท เชื้อที่กระจายไปตามเส้นประสาทที่อักเสบและปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มน้ำใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท

ผู้ที่เป็นโรคงูสวัดจึงมีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็ก หรือเคยมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน โดยไม่มีอาการแสดง ซึ่งสามารถตรวจพบสารภูมิต้านทานได้ในเลือด

อาการของงูสวัด

ก่อนจะมีผื่นขึ้นประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบบริเวณเส้นประสาทที่เป็นงูสวัด อาจมีอาการคันและแสบร้อนคล้ายถูกไฟไหม้เป็นพัก ๆ หรือตลอดเวลาตรงบริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาทที่จะเกิดผื่นงูสวัด (ในบางรายอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น หรืออาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วย) โดยมักจะพบขึ้นบริเวณชายโครง ใบหน้า แขนหรือขาเพียงข้างเดียว (บริเวณที่พบได้บ่อย คือ บริเวณหน้าผากและตา ที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 แขนงที่มาเลี้ยงตา เรียกว่า งูสวัดขึ้นตา และบริเวณลำตัวตามแนวชายโครง จากหน้าท้องไปถึงด้านหลัง ที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทสันหลังทรวงอกและบั้นเอว) จึงอาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียวก็อาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรนหรือโรคทางสมอง หรือถ้าปวดที่ชายโครงก็อาจทำให้คิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ หรือนิ่วไตได้

ต่อมาจะมีผื่นแดง ๆ ขึ้นตรงบริเวณที่ปวด แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงตามแนวผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาท (ผื่นมักขึ้นเป็นทางยาวตามแนวเส้นประสาท ไม่กว้างมากนัก โดยมักจะเริ่มในแนวใกล้ ๆ กลางลำตัวตามแนวปมประสาท เช่น ตามประสาทของลำตัว แขน ขา ตา และหู และมักจะเกิดขึ้นเพียงด้านเดียว โดยที่ลำตัวจะพบได้บ่อยที่สุด) ผู้ป่วยจะมีอาการคันในบริเวณที่ผื่นขึ้น มีอาการเจ็บปวดมาก อาจร่วมกับปวดแสบปวดร้อน หรือมีอาการชาในบริเวณนั้น ๆ (เมื่อเกิดผื่นแล้ว อาการปวดจะยังคงอยู่) โดยตุ่มน้ำใสนี้มักจะทยอยขึ้นใน 4 วันแรก และจะเริ่มเป็นตุ่มน้ำขุ่นในวันที่ 3 แล้วจะค่อย ๆ แห้งตกสะเก็ดเป็นสีดำใน 7-10 วัน และจะค่อย ๆ หลุดออกไป แล้วอาการปวดจะทุเลาลง อาจหายโดยที่ไม่มีแผลเป็น หรืออาจเป็นแผลเป็นเมื่อตุ่มน้ำเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งโดยรวมแล้วจะมีผื่นขึ้นอยู่นานประมาณ 10-15 วัน แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากอาจจะเป็นนานกว่านั้นเป็นเดือน ๆ กว่าจะหายเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่มีอาการทุกอย่างดังกล่าว แต่ไม่มีผื่นขึ้น หรือที่เรียกว่า “โรคงูสวัดชนิดที่ไม่มีผื่น” (Zoster without herpes) ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก และวินิจฉัยได้ยากมากด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัยโรคงูสวัด

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคงูสวัดได้จากการดูประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจลักษณะของผื่น โดยมักพบตุ่มน้ำใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท และต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง (เช่น รักแร้ คอ) ที่มักโตและเจ็บร่วมด้วย ในบางรายอาจพบว่ามีไข้ร่วมด้วย ส่วนในรายที่ยังไม่มีผื่นขึ้น หากแพทย์สงสัยจะใช้วิธีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูภูมิคุ้มกันต้านทานโรคหรือแอนติบอดี (Antibody)

ความแตกต่างระหว่างโรคงูสวัด อีสุกอีใส และเริม

ถ้าเป็นงูสวัด ในระยะ 1-3 วันแรก จะมีอาการปวดแปลบบริเวณเส้นประสาทที่เป็นงูสวัด ต่อมาจะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวด แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงไปตามแนวเส้นประสาท ซึ่งตุ่มน้ำจะทยอยขึ้นใน 4 วันแรก และจะเริ่มเป็นตุ่มน้ำข้นในวันที่ 3 ค่อย ๆ แห้งตกสะเก็ดใน 7-10 วัน แล้วหลุดออกไป แต่ถ้าเป็นโรคอีสุกอีใสนั้น ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นกระจายตามบริเวณลำตัวก่อนพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ ซึ่งเริ่มแรกจะเป็นผื่นราบสีแดงขนาดเล็ก ๆ ก่อน จากนั้นอีก 2-3 ชั่วโมงจะกลายเป็นตุ่มนูนและตุ่มน้ำใสมีฐานสีแดงโดยรอบ ทำให้มีอาการคัน และภายใน 24 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำขุ่นขนาดใหญ่ขึ้นและแตกได้ง่าย แล้วจะฝ่อหายไปหรือกลายเป็นสะเก็ด ส่วนโรคเริมนั้น ตุ่มน้ำจะใสขึ้นทีละหลายเม็ดอยู่ติดกันเป็นหย่อม ๆ หรือกลุ่มเล็ก ๆ มักขึ้นเพียงแห่งเดียว (เช่น ริมฝีปาก แก้ม หู จมูก ตา ก้น หรือบริเวณอวัยวะเพศ) และมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด

  • อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด (Postherpetic neuralgia – PHN) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด ยิ่งอายุมากก็ยิ่งเป็นรุนแรงและนานขึ้น โดยเฉลี่ยจะพบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด พบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และพบได้มากถึง 70% ในผู้ป่วยที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกหรือเกิดขึ้นภายหลังผื่นหายหมดแล้ว มีลักษณะอาการปวดแบบลึก ๆ แบบปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแบบแปลบ ๆ เสียว ๆ คล้ายกับถูกมีดแทงเป็นพัก ๆ มักมีอาการปวดเวลาถูกสัมผัสเพียงเบา ๆ จะปวดมากขึ้นในตอนกลางคืนหรือเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลง ในบางครั้งอาจรุนแรงมากจนทนไม่ได้ แต่อาการปวดมักจะหายไปได้เอง ประมาณ 50% จะหายไปเองภายใน 3 เดือน และประมาณ 75% จะหายไปเองภายใน 1 ปี แต่บางรายอาจปวดนานเป็นแรมปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้างูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า
  • เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เนื่องจากผู้ป่วยใช้เล็บเกาหรือเกิดจากการดูแลบาดแผลไม่ถูกสุขลักษณะ จึงทำให้กลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายได้ช้า และกลายเป็นแผลเป็น
  • เมื่อเกิดกับประสาทกล้ามเนื้อ อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่ในระยะเวลาหนึ่งได้ แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอยู่นานเท่าไร
  • ผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นตา อาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ ต้อหิน ประสาทตาอักเสบ จนถึงขั้นทำให้สายตาพิการได้
  • ผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดบริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหู ซึ่งจะมีการอักเสบของประสาทหูคู่ที่ 7 และคู่ที่ 8 อาจทำให้เกิดอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก มีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ หูอื้อ หูตึง ตากระตุก ที่เรียกว่า Ramsay Hunt syndrome ซึ่งแพทย์มักจะให้ยาเม็ดเพรดนิโซโลนตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อป้องกันหรือลดอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก
  • เกิดผื่นงูสวัดชนิดแพร่กระจาย (Generalized herpes zoster) ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 8-10% ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเอดส์ (พบว่าเป็นงูสวัดร่วมด้วยมากถึง 8-11%) มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งผู้ป่วยจะมีตุ่มขึ้นนอกแนวเส้นประสาทมากกว่า 20 ตุ่ม หรือขึ้นตามแนวเส้นประสาทมากกว่า 1 แนว อาการนี้มักจะรุนแรงและเป็นอยู่นาน อาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่น ๆ เช่น ตับ ปอด จนเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • คุณแม่ที่เป็นงูสวัดในขณะตั้งครรภ์ อาจแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์จนกลายเป็นกลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิดได้ (Congenital varicella syndrome) ทำให้ทารกมีแผลเป็นตามตัว ตาเล็ก เป็นต้อกระจก แขนขาลีบ ศีรษะมีขนาดเล็ก ปัญญาอ่อน (กลุ่มอาการดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะเกิดจากคุณแม่ที่เป็นอีสุกอีใสมากกว่างูสวัด)

วิธีรักษางูสวัด

  • ผู้ป่วยงูสวัดที่มีอาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการปวดก็ให้ยาแก้ปวด, ถ้ามีอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนก็ให้ทายาแก้ผดผื่นคัน ครีมพญายอขององค์การเภสัชกรรมหรือของอภัยภูเบศร หรือให้ทาน้ำยาคาลาไมน์, ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเฟะจากการติดเชื้อแทรกซ้อนก็ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
  • ผู้ป่วยงูสวัดที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือในรายที่ขึ้นบริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้กินยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ครั้งละ 800 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง วันละ 5 ครั้ง (เว้นมื้อหลังเข้านอนตอนดึก) นาน 7 วัน แต่จะต้องเริ่มให้ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จึงจะได้ผลดีในการลดความรุนแรงและย่นระยะเวลาให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งอาจช่วยลดอาการปวดประสาทแทรกซ้อนในภายหลังได้ด้วย
    • สำหรับยาอะไซโคลเวียร์ชนิดทาภายนอกนั้น มีไว้ใช้สำหรับรักษาโรคเริม แต่ใช้ไม่ได้ผลกับโรคงูสวัดและอีสุกอีใส
    • นอกจากยาอะไซโคลเวียร์แล้วยังมียาอีก 2 ชนิด คือ วาลาซิโคลเวียร์ (Valaciclovir) และแฟมซิโคลเวียร์ (Famciclovir) ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนยาอะไซโคลเวียร์ แต่มีข้อดีกว่าตรงที่ใช้กินวันละ 3 ครั้งเท่านั้น แต่ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ยังมีราคาค่อนข้างแพง เพราะมีแต่ผู้ผลิตต้นตำรับของแต่ละรายเท่านั้น
  • ถ้าพบเป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจาย (ออกนอกแนวเส้นประสาท) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ สงสัยอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางตา (เช่น เจ็บตา เคืองตา ตาแดง ตามัว) หรือมีอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกร่วมด้วย หรือสงสัยว่าเป็นโรคเอดส์ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
    • ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือเป็นชนิดแพร่กระจาย อาจต้องให้นอนพักในโรงพยาบาล และให้ยาอะไซโคลเวียร์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดในขนาด 10-12.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมง นาน 7 วัน
    • ในรายที่งูสวัดขึ้นตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาโดยให้กินยาอะไซโคลเวียร์ ครั้งละ 800 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่ว วันละ 5 ครั้ง นาน 10 วัน และอาจให้ขี้ผึ้งป้ายตาอะไซโคลเวียร์ 3% ป้ายตาวันละ 5 ครั้งร่วมด้วย ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีม่านตาอักเสบ อาจจะต้องให้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ และยาหยอดตาอะโทรปีน 1%
    • ในรายที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก แพทย์จะให้กินยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) วันละ 45-60 มิลลิกรัม จนกว่าผื่นจะหายไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และแพทย์อาจพิจารณาให้อะไซโคลเวียร์ร่วมด้วยในการรักษา
    • ในรายที่เป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายหรือเป็นซ้ำซาก ควรส่งตรวจเลือดดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีซ่อนเร้นอยู่หรือไม่
  • ผู้ป่วยงูสวัดที่มีอาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด ในระหว่างที่มีอาการปวดแพทย์จะให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol), ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) หรือทรามาดอล (Tramadol) ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง หรือให้กินยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เริ่มต้นด้วยขนาดวันละ 20-25 มิลลิกรัม แล้วค่อย ๆ เพิ่มขนาดขึ้นทุก ๆ สัปดาห์จนได้ผล ถ้าใช้ในขนาดสูงประมาณวันละ 75-150 มิลลิกรัม ควรแบ่งเป็นวันละ 3 ครั้ง (ยานี้อาจทำให้ง่วงนอน ปากคอแห้ง) แต่ในกรณีที่ไม่ได้ผลหรือมีอาการปวดรุนแรง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์อาจจะต้องให้ยาฉีด ยาทา หรือยาพ่น หรือใช้แคปไซซินทา (Capsicin) ในบางรายแพทย์อาจให้ยารักษาโรคลมชักเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดประสาทร่วมด้วย เช่น คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), กาบาเพนติน (Gabapentin)
  • สำหรับสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคนี้แต่โบราณ คือ ใบเสลดพังพอนตัวเมียหรือพญายอ (Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau) เพราะได้มีการวิจัยพบว่าสมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณในการรักษาโรคงูสวัดได้ ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมจึงได้ผลิตเป็นครีมสำเร็จรูปที่มีชื่อว่า “ครีมพญายอ” ที่สามารถนำมาใช้ทารักษาโรคได้ หรือจะใช้วิธีเอาใบเสลดพังพอนสด ๆ มาล้างน้ำให้สะอาด บดให้ละเอียด แล้วเอาน้ำที่คั้นได้มาทาบริเวณแผลที่เป็นงูสวัดก็ได้ แต่วิธีนี้ควรใช้รักษาเฉพาะกับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง อายุต่ำกว่า 50 ปี ไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และงูสวัดที่เป็นไม่ได้ขึ้นบริเวณใบหน้า
ยารักษางูสวัด

การดูแลตนเองของป่วยงูสวัด

  1. ตัดเล็บให้สั้น ไม่แกะหรือเกาบริเวณที่เป็นผื่นหรือตุ่ม และไม่เป่าหรือพ่นยาลงบนแผล เช่น ยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรลงไปบริเวณตุ่มน้ำ เพราะอาจจะทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจนกลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็นได้
  2. สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมและสบายตัว
  3. ระมัดระวังในเรื่องของความสะอาด อาบน้ำฟอกสบู่ให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนของผื่นและตุ่มน้ำ
  4. รักษาแผลให้สะอาดอยู่เสมอ ในระยะที่เป็นตุ่มน้ำใส ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลืออุ่น ๆ นำมาประคบแผลไว้ครั้งละประมาณ 5-10 นาที แล้วชุบเปลี่ยนใหม่ โดยให้ทำวันละ 3-4 ครั้ง จะช่วยทำให้แผลแห่งเร็วมากขึ้น ส่วนในระยะที่ตุ่มน้ำแตกมีน้ำเหลืองไหลต้องระมัดระวังการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจเข้าสู่แผลได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาด แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
  5. หากมีอาการคันให้ทาน้ำยาคาลาไมน์ (Calamine lotion) และอาจร่วมกับการกินยาบรรเทาอาการคันและยาแก้ปวดด้วย (ในกรณีซื้อยาเองควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา)
  6. ให้ประคบด้วยความเย็นบริเวณที่มีอาการปวด
  7. ถ้ามีอาการปากเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
  8. ผู้ที่เป็นงูสวัดอาจแพร่เชื้อให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่ยังไม่เคยรับเชื้อนี้มาก่อนได้ เช่น เด็ก ๆ หรือผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อน หรือบางครั้งแม้เคยฉีดวัคซีนมาแล้วก็อาจจะทำให้เป็นอีสุกอีใสได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยมาก (ติดต่อได้จากการสัมผัสผื่นหรือตุ่มพองของโรค) ดังนั้น ผู้ป่วยที่โรคงูสวัดจึงควรแยกตัวอยู่ต่างหาก แยกข้าวของเครื่องใช้ ที่นอน เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ของผู้ป่วยกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
  9. ในผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจายหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทางการหายใจ ดังนั้นจึงควรแยกผู้ป่วยไม่ให้อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ๆ คุณแม่ตั้งครรภ์ และผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคมาก่อน
  10. หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
    • มีอาการปวดมากหรือมีผื่นขึ้นมาก
    • ตุ่มพองเป็นหนอง เพราะต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรได้รับการรักษาโดยแพทย์
    • มีอาการผิดปกติกับลูกตา เช่น ปวดตา เคืองตา หรือตาแดง
    • มีไข้สูง ไข้ไม่ลดลงหลังกินยาลดไข้ไปแล้ว 1-2 วัน
    • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรือสับสน หรือแขน/ขามีอาการอ่อนแรงร่วมกับการมีไข้ (เป็นอาการของสมองอักเสบ ควรรีบไปแพทย์โดยด่วน)
    • การได้ยินลดลง
    • เมื่อมีความกังวลในอาการของโรคงูสวัดที่เป็นอยู่
  11. ถ้ามีอาการปวดหลังการติดเชื้อ ให้รับประทานยาพาราเซตามอลแก้ปวด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

คำแนะนำเกี่ยวกับโรคงูสวัด

  • โรคนี้โดยทั่วไปแล้ว “ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง” และจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ การรักษาเพียงแต่ให้การบรรเทาไปตามอาการ ยกเว้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ที่งูสวัดขึ้นบริเวณใบหน้า และผู้ที่มีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่เริ่มมีผื่นขึ้น จะต้องให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดกินหรือฉีด
  • แต่เดิมแพทย์เคยนิยมให้การรักษาโดยใช้สเตียรอยด์ในระยะแรกที่เป็นงูสวัด เพื่อป้องกันอาการปวดประสาทแทรกซ้อนตามมา แต่จากการศึกษาพบว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลจริง แม้ว่ายานี้จะช่วยลดอาการปวดที่เกิดขึ้นในระยะที่เริ่มเป็นใหม่ ๆ ได้ก็ตาม ซึ่งวิธีป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวที่ได้ผลดีก็คือ การให้ยาต้านไวรัสอะไซโคลเวียร์ตั้งแต่เป็นเริ่มแรก
  • เมื่อมีอาการของโรคงูสวัดตามที่กล่าวมาควรรีบไปพบแพทย์ ผู้ป่วยไม่ควรรักษาโรคนี้ด้วยตัวเอง เพราะมีคนไข้จำนวนมากที่ชอบรักษาโรคงูสวัดด้วยตัวเองก่อนที่จะมาพบแพทย์ ด้วยการนำสมุนไพรมาพอกบริเวณที่เป็น ทำให้หลายรายมีอาการติดเชื้อเน่าและส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง และถ้าไม่ทำการรักษาอย่างถูกต้องก็จะทำให้มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

วิธีป้องกันโรคงูสวัด

  1. โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็นอีสุกอีใส
  2. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่นและตุ่มโรคของผู้ป่วยงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
  4. ในบางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป (เป็นคนละชนิดกับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส แต่เป็นวัคซีนที่ยังไม่แพร่หลายทั่วไป) ส่วนในบ้านเราถ้าสนใจจะฉีดวัคซีนชนิดนี้ควรปรึกษาแพทย์
  5. หากพบว่ามีตุ่มใส ๆ เห่อขึ้นตามผิวหนังส่วนใดก็ตามให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นโรคงูสวัด แล้วรีบไปรักษาโดยด่วน เพราะถ้าปล่อยไว้นานจะยิ่งรักษาได้ยากขึ้น

สมุนไพรรักษาโรคงูสวัด

  1. กระชับ (Xanthium strumarium L.) ใช้ส่วนของใบเป็นยาแก้พิษงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
  2. กระแตไต่ไม้ (Drynaria quercifolia (L.) J. Sm.) ใช้เหง้านำมาฝนทาแก้งูสวัด
  3. กระพังโหม (Paederia foetida L.) มีข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้ใช้รักษาโรคงูสวัดได้แต่ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้เอาไว้ (แต่คาดว่าน่าจะใช้ทั้งต้นและใบ)
  4. ก้างปลาเครือ (Phyllanthus reticulatus Poir.) รากมีสรรพคุณเป็นยาขับพิษ ใช้ทาแก้งูสวัดได้
  5. กำจัดดอย (Zanthoxylum acanthopodium DC.) ตามรายงานระบุว่า นอกจากจะใช้เมล็ดกำจัดดอยเป็นยาแก้อีสุกอีใสได้แล้ว ยังใช้รักษาโรคเริมและงูสวัดได้ด้วย
  6. เขยตาย (Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.) ใช้ใบเขยตายนำมาขยี้หรือบดผสมกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์หรือน้ำมะนาว ใช้เป็นยาทารักษางูสวัด
  7. จักรนารายณ์ (Gynura divaricata (L.) DC.) .ใช้ใบมาตำกับน้ำตาลทรายแดง เพื่อให้จับตัวกันเป็นก้อน ๆ และไม่หลุดได้ง่าย แล้วนำมาพอกตรงรอยแผลทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือจะนำใบมาคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาสด ๆ หรือใช้ตำพอกเลยก็ได้
  8. ชุมเห็ดไทย (Senna tora (L.) Roxb.) ให้ใช้รากสด ๆ นำมาบดผสมกับน้ำมะนาวใช้รักษางูสวัด
  9. ตะขาบหิน (Homalocladium platycladum (F.Muell.) L.H.Bailey) ใช้ทั้งต้นเป็นยาภายนอกแก้โรคงูสวัด
  10. ตำลึง (Coccinia grandis (L.) Voigt) ให้ใช้ใบตำลึงสด ๆ ประมาณ 2 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาผสมกับพิมเสนหรือดินสอพอง 1 ใน 4 ส่วน ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นงูสวัด
  11. เทียนบ้าน (Impatiens balsamina L.) ให้ใช้ต้นสด นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยา ส่วนกากที่เหลือให้เอามาพอกบริเวณที่เป็น
  12. น้อยหน่า (Annona squamosa L.) ผลแห้งมีสรรพคุณเป็นยาแก้งูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
  13. นางแย้ม (Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb.) ให้นำรากมาฝนกับน้ำปูนใส ใช้เป็นยาทารักษางูสวัด
  14. น้ำเต้า (Lagenaria siceraria (Molina) Standl.) ให้ใช้ใบน้ำเต้าสด ๆ นำมาโขลกผสมกับเหล้าขาว หรือโขลกเพื่อคั้นเอาแต่น้ำ หรือใช้ใบสดผสมกับขี้วัวแห้งหรือขี้วัวสด โดยโขลกให้เข้ากันจนได้ที่ แล้วผสมกับเหล้าขาว 40 ดีกรี (การผสมขี้วัวเข้าใจว่าขี้วัวมีแอมโมเนีย จึงทำให้เย็นและช่วยถอนพิษอักเสบได้ดีกว่าตัวยาอื่น) ใช้เป็นยาทาถอนพิษร้อน ดับพิษ แก้อาการฟกช้ำบวม พุพอง แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาอาการพองตามผิวหนังตามตัว แก้เริม รวมทั้งงูสวัดได้ดี
  1. น้ำนมราชสีห์เล็ก (Euphorbia thymifolia L.) ใช้ส่วนของต้นเป็นยาแก้งูสวัดขึ้นรอบเอว ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ และกระเทียม 1 หัว นำมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำสุดที่เย็นแล้ว ใช้ทาบริเวณที่เป็นตุ่ม
  2. ปลาไหลเผือก (Eurycoma longifolia Jack) ให้ใช้ยาผง (จากปลาไหลเผือก) ผสมกับน้ำมะนาว แล้วนำมาใช้ทารอบแผลอย่างช้า ๆ
  3. ผักเชียงดา (Gymnema inodorum (Lour.) Decne.) ใช้ใบสดตำพอกบริเวณที่เป็นงูสวัด
  4. ผักบุ้งทะเล (Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br.) ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยกระจายพิษ แก้พิษฝีบวม ฝีหนองบวมแดงอักเสบ รวมทั้งช่วยแก้งูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
  5. ผักเป็ดน้ำ (Alternanthera philoxeroides (Mart.) Griseb.) ใช้ทั้งต้นสด ๆ นำมาตำพอกบริเวณที่เป็นงูสวัด
  6. ผักเสี้ยน (Cleome gynandra L.) ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้งูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
  7. พญาท้าวเอว (Oxyceros bispinosus (Griff.) Tirveng.) ด้วยการใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้งูสวัด
  8. พลูคาว (Houttuynia cordata Thunb.) จากข้อมูลระบุว่า พลูคาวมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสชนิดต่าง ๆ เช่น ไข้ทรพิษ หัด เริม เอดส์ รวมถึงงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
  9. พุดตาน (Hibiscus mutabilis L.) ให้ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาล้างน้ำสะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำซาวข้าวลงไป แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ หรืออีกวิธีก็คือการใช้รากพุดตานสดนำมาตำแล้วพอก หรือจะนำรากแห้งมาบดให้เป็นผงผสมแล้วใช้พอกก็ได้
  10. เพกา (Oroxylum indicum (L.) Kurz) ให้ใช้เปลือกต้นเพกา เปลือกคูน และรากต้นหมูหนุน นำมาฝนใส่น้ำทาบริเวณที่เป็น จะช่วยให้โรคงูสวัดหายเร็วขึ้น
  11. แพงพวยน้ำ (Ludwigia adscendens (L.) H.Hara) ใช้ทั้งต้นเป็นยารักษาโรคงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
  12. ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees) ให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรก่อนอาหาร 2-3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เนื่องจากงูสวัดคือเชื้อไวรัสที่จะอยู่นาน 3 สัปดาห์ ถ้าใช้รักษาให้ครบตามเวลา ก็จะทำให้ไม่กลับมาเป็นอีก
  13. มะรุม (Moringa oleifera Lam.) จากข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถใช้รักษาโรคเริมและงูสวัดได้ แต่ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้และวิธีใช้เอาไว้
  14. มันเทศ (Ipomoea batatas (L.) Lam.) ตำรายาไทยจะใช้หัวมันเทศนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกแผล รักษาเริม และงูสวัด
  15. ไมยราบ (Mimosa pudica L.) จากข้อมูลระบุว่า ใบไมยราบมีสรรพคุณช่วยแก้อาการงูสวัดได้ (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
  16. ย่านาง (Limacia triandra Miers) จากข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถใช้รักษาโรคเริมและงูสวัดได้ แต่ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้และวิธีใช้เอาไว้
  17. รางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) ใบและรากมีสรรพคุณเป็นยาต้านการอักเสบต่าง ๆ เช่น อาการผดผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย เริม อีสุกอีใส รวมทั้งงูสวัด
  18. ลางสาด (Lansium parasiticum (Osbeck) K.C.Sahni & Bennet) เมล็ดลางสาดมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
  19. ว่านมหากาฬ (Gynura pseudochina (L.) DC.) ใช้ใบสดตำพอกรักษางูสวัด โดยใช้ใบสดประมาณ 5-6 ใบ นำมาล้างน้ำให้สะอาด ตำในภาชนะที่สะอาด ใส่พิมเสนเล็กน้อย หรือใช้ใบโขลกผสมกับเหล้า แล้วเอาน้ำที่ได้มาทาหรือพอกบริเวณที่เป็น
  20. สตรอว์เบอร์รี่ป่า (Duchesnea indica (Jacks.) Focke) ใบและก้านใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน ฝีมีหนอง รวมทั้งงูสวัด
  21. สนุ่น (Salix tetrasperma Roxb.) ใบสนุ่นมีรสจืดเย็นเมา น้ำคั้นจากใบสด ใช้เป็นยาทา พอก หรือพ่นแก้พิษงูสวัดได้
  22. สายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb.) ผู้ที่เป็นงูสวัดที่ดูเหมือนแผลจะหายดีแล้ว แต่ยังมีพิษของโรคงูสวัดตกค้างในร่างกาย คือมีอาการปวดแสบปวดร้อนและบวม ให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 10 กรัม, ใบโด่ไม่รู้ล้ม 10 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 30 กรัม, และข้าวเย็นใต้ 30 กรัม (แบบแห้งทั้งหมด) นำมาต้มรวมกันในน้ำ 1 ลิตร จนเดือด ใช้ดื่มในขณะอุ่นครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยให้ดื่มไปเรื่อย ๆ จะช่วยขับพิษของโรคงูสวัดที่ตกค้างในร่างกายออกได้ และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด
  23. เสลดพังพอนตัวผู้ (Barleria lupulina Lindl.) เสลดพังพอนตัวผู้ ให้ใช้ใบสด (ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) ประมาณ 10-20 ใบ นำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำทาและเอากากพอกบริเวณที่เป็น (วิธีการใช้จะเหมือนกับเสลดพังพอนตัวเมีย แต่เสลดพังพอนตัวผู้จะมีฤทธิ์ทางยาอ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย ชาวบ้านจึงนิยมใช้เสลดพังพอนมาทำเป็นยาเสียมากกว่า)
  24. เสลดพังพอนตัวเมีย หรือ พญายอ (Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau) ให้ใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียสด ๆ ประมาณ 10-20 ใบ (เลือกเอาเฉพาะใบสดสีเขียวเข้มเป็นมน ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) นำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาวคั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำมาทาและเอากากพอกบริเวณที่เป็น ส่วนตำรับยาแก้งูสวัดอีกตำรับจะใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียสด ๆ นำมาผสมกับดอกลำโพง และโกฐน้ำเต้า อย่างละเท่ากัน รวมกันตำให้พอแหลก แช่กับเหล้า แล้วนำมาใช้ทาแก้แผลงูสวัด
  25. แสมสาร (Senna garrettiana (Craib) H.S.Irwin & Barneby) ใช้ใบเป็นยาบำบัดโรคงูสวัด
  26. หญ้าเกล็ดหอยเทศ (Hydrocotyle sibthorpioides Lam.) ใช้ทั้งต้นนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปแช่ในแอลกอฮอล์ 6 ชั่วโมง จากนั้นนำมาทาบริเวณที่เป็นแผลงูสวัด
  27. หญ้าดอกขาว (Cyanthillium cinereum (L.) H.Rob.) ใช้ทั้งต้นเป็นยาภายนอกแก้งูสวัด
  28. หญ้าพันงูแดง (Cyathula prostrata (L.) Blume) ใช้ใบสดตำพอกแก้งูสวัด
  29. หวดหม่อน (Clausena excavata Burm.f.) ตำรับยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากหวดหม่อนนำมาฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคงูสวัด
  30. เหงือกปลาหมอ (Acanthus ebracteatus Vahl) ให้ใช้รากสดนำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มเป็นยารักษาโรคงูสวัดได้
  31. เห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum (Curtis) P. Karst) จากข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส อย่างไวรัสเอดส์ อีสุกอีใส และงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
  32. อ้อย (Saccharum officinarum L.) ใช้ส่วนของต้นเป็นยารักษาโรคงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
สมุนไพรรักษางูสวัด

หมายเหตุ : หากต้องการดูข้อมูลสมุนไพรเพิ่มเติม (รูปภาพประกอบ ลักษณะของต้น วิธีการใช้ยาสมุนไพร และสรรพคุณทางยาอื่น ๆ ของชนิดสมุนไพรที่กล่าวมา รวมถึงแหล่งอ้างอิง) โปรดคลิกที่ชื่อสมุนไพรเพื่อไปยังหน้าบทความนั้น ๆ ได้เลยครับ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “งูสวัด (Herpes zoster/Shingles) ”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 974-977.
  2. หาหมอดอทคอม.  “งูสวัด (Herpes zoster)”.  (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [06 มี.ค. 2016].
  3. ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “โรคงูสวัด (Herpes Zoster, Shingles)”.  (อ.พญ.จรัศรี ฬียาพรรณ, พญ.พิชญา มณีประสพโชค, รศ.พญ.วรัญญา บุญชัย, ผศ.ดร.นพ.สุขุม เจียมตน, นางรษิกา ฤทธิ์เรืองเดช).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [07 มี.ค. 2016].
  4. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.  “งูสวัด”.  (ศ.ดร.นพ.ธัมม์ทิวัตถ์ นรารัตน์วันชัย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.mfu.ac.th.  [06 มี.ค. 2016].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 368 คอลัมน์ : การใช้ยา พอเพียง.  “ยารักษางูสวัด”.  (ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [21 มิ.ย. 2016].

ภาพประกอบ : www.pyroenergen.com, hardinmd.lib.uiowa.edu, www.herpeszostertreatment.net, www.apiwut.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด