ไฟลามทุ่ง (Erysipelas) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ไฟลามทุ่ง (Erysipelas) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ
ไฟลามทุ่ง (Erysipelas) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

โรคไฟลามทุ่ง

ไฟลามทุ่ง หรือ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ (Erysipelas, St. Anthony’s fire) เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดงสด ลุกลามเร็วคล้ายไฟลามทุ่ง โดยเป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis) และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น ๆ (Upper subcutaneous tissue) รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกลุ่มเอ (Streptococcus) และสเตรปโตคอคคัสกลุ่มอื่น ๆ

โรคนี้มักพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ฯลฯ ส่วนความรุนแรงของอาการก็มีหลายระดับ ตั้งแต่เป็นไม่มากที่รักษาให้หายด้วยการกินยาปฏิชีวนะและดูแลตัวเอง ไปจนถึงอาการที่เป็นลุกลามจนมีไข้สูงและมีการติดเชื้อในกระแสเลือด

สาเหตุของไฟลามทุ่ง

ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เบตาเฮโมโลติกสเตรปโตคอคคัสกลุ่มเอ” (group A beta-hemolytic streptococcus – GABHS) หรือที่มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “สเตรปโตคอคคัส ไพโอจีนัส” (Streptococcus pyogenes) และส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อสเตรปโตคอคคัสกลุ่มอื่น หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น โดยเชื้ออาจเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางรอยถลอกหรือบาดแผล (เช่น แผลถลอก แผลจากการถูกของมีคมบาด รอยแกะเกา รอยแมลงกัด แผลผ่าตัด), รอยแยกของผิวหนังที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือเป็นแผลที่บางครั้งเราอาจไม่ได้สังเกตเห็น, รอยแยกของผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา, บริเวณที่มีเนื้อตายอยู่เดิม (เช่น แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน), บริเวณที่บวมเรื้อรัง (เช่น มือ เท้า แขน ขา ที่บวม) ฯลฯ ซึ่งเมื่อโรคเข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังแท้แล้วก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามตามมา แต่ก็มีบางครั้งที่รอยแตกของผิวหนังเหล่านี้ได้หายไปแล้วเมื่อเกิดไฟลามทุ่งขึ้น

รักษาไฟลามทุ่ง

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไฟลามทุ่ง

  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ทารก, เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด (โดยเฉพาะยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ยาสเตียรอยด์), ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง, ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน) เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำ หรือท่อน้ำเหลืองอุดตัน (เช่น แขนบวมจากการฉายรังสีรักษา และ/หรือจากการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม) หรือมีอาการบวมเรื้อรังหรือมีเนื้อตาย
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขา (เช่น โรคหลอดเลือดดำขอด) เคยผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน (เช่น ผ่าตัดรักษามะเร็งปากมดลูก) หรือเคยผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ (เช่น ในผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังของขา)

อาการของไฟลามทุ่ง

อาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ผิวหนังที่เกิดรอยโรคจะมีลักษณะเป็นผื่นใหญ่แดงสด ปวด บวม และร้อน ถ้าใช้หลังมือคลำดูจะออกร้อนกว่าผิวหนังปกติ ต่อมาผื่นจะลุกลามขยายตัวออกไปโดยรอบอย่างรวดเร็วคล้ายไฟลามทุ่ง ผิวหนังในบริเวณนั้นจะนูนเป็นขอบแยกจากผิวหนังปกติอย่างชัดเจน (ผิวหนังจะบวมแข็งตึง) และมีลักษณะเป็นมันคล้ายเปลือกส้มหรือหนังหมู (Peau d’ orange) ถ้ากดตรงบริเวณนั้นสีจะจางลงและมีรอยบุ๋มเล็กน้อย ในระยะท้ายผื่นจะยุบตัวลงและค่อย ๆ จางหายไป ผิวหนังอาจลอกเป็นขุย และจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าผื่นจะหายสนิท โดยไม่ทำให้เกิดแผลเป็น (ผื่นแดงที่แผ่เป็นแผ่นกว้างอย่างรวดเร็วนี้ เกิดจากพิษของเชื้อโรค ไม่ใช่เกิดจากตัวเชื้อโรคโดยตรง แม้ว่าเชื้อโรคจะถูกกำจัดจากการใช้ยารักษา แต่พิษที่ตกค้างอยู่ยังคงทำให้ผื่นลุกลามต่อไปได้อีก จึงเป็นที่มาของชื่อ “ไฟลามทุ่ง“)

นอกจากนั้น ยังมีอาการที่มักพบเกิดร่วมด้วยคือ อาการไข้ที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และในรายที่รุนแรงมักมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลียร่วมด้วย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อ (มีบาดแผล)

ในบางรายอาจพบรอยโรคเป็นเส้นสีแดงเนื่องจากท่อน้ำเหลืองอักเสบ ก่อนที่จะพบรอยผื่นแดงที่แพร่กระจาย และอาจพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใกล้เคียงบวมโตและเจ็บด้วย ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีตุ่มน้ำพอง (Blister) ร่วมด้วย โดยจะมีน้ำเหลืองเยิ้ม แต่มักจะไม่เป็นหนองข้น (ถ้าเป็นหนองมักเกิดจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ)

ทั้งนี้ประมาณ 90% ของผู้ป่วยไฟลามทุ่ง มักพบผื่นจากการติดเชื้อที่บริเวณขาและเท้า ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2.5-10% อาจพบขึ้นที่บริเวณใบหน้า (อาจเป็นที่แก้มข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้) รอบตา รอบหู แขน นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า

อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ มีโรคประจำตัวที่มีอาการบวมร่วมด้วย (เช่น ขาบวมเรื้อรัง) หรือมีความผิดปกติของท่อน้ำเหลือง มักพบการกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในตำแหน่งเดิมประมาณ 16-30% ถ้าเป็นโรคนี้บ่อย ๆ อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองเกิดการพองตัวอย่างถาวรและเกิดอาการบวมของแขนและขาได้ ถ้าเป็นที่ขาหรือเท้าจะทำให้ผิวหนังในบริเวณนั้นมีลักษณะขรุขระ

ภาวะแทรกซ้อนของไฟลามทุ่ง

  • ถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือดจนเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งหากพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ อาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ในบางรายเชื้ออาจลุกลามแพร่กระจายไปที่หัวใจกลายเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ, ลุกลามไปที่ข้อกลายเป็นข้ออักเสบชนิดเป็นหนอง, ลุกลามเข้าไปตามระบบน้ำเหลืองสู่ต่อมน้ำเหลือง เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้นเกิดอาการอักเสบบวมเจ็บได้
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง ถ้าลุกลามอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดเป็นแผลหนองและหลอดเลือดอักเสบ
  • ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี อาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute glomerulonephritis) ทำให้มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะมีสีแดงคล้ายสีน้ำล้างเนื้อ

การวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่ง

ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่งได้โดยดูจากอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจลักษณะของผื่น และจากประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยมักมีประวัติเกิดบาดแผลที่ผิวหนังบริเวณที่จะเกิดไฟลามทุ่งมาก่อน แต่ในบางคนอาจไม่มีประวัติดังกล่าวชัดเจนก็ได้ โดยรอยโรคที่พบจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงร้อน ปวด บวม ลุกลามเร็ว มีขอบชัดเจน ส่วนในกรณีที่ยังไม่แน่ใจหรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องทำการเพาะเชื้อแบคทีเรียจากแผลและเลือด เพื่อใช้ในการระบุชนิดของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้นยังอาจมีการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) พบภาวะเม็ดเลือดขาวสูง (Leukocytosis) ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย

ผิวหนังอักเสบเป็นรอยผื่นแดง ปวด ร้อน อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่ไฟลามทุ่ง) ที่พบบ่อย ได้แก่

  • เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (Cellulitis) ที่มีสาเหตุและลักษณะอาการแบบเดียวกับไฟลามทุ่ง แต่จะกินลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกกว่า แต่ผื่นจะมีขอบไม่ชัดเจนเหมือนไฟลามทุ่ง และอาจพบเป็นหนองหรือผิวหนังกลายเป็นเนื้อตายร่วมด้วย
  • ลมพิษ (Urticaria) ผื่นจะมีลักษณะนูนแดงและคัน แต่ไม่ปวด และจะขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย โดยจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันหลังมีอาการแพ้ และผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการไข้เกิดขึ้นเหมือนไฟลามทุ่ง
  • งูสวัด (Herpes zoster) ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน และมีตุ่มน้ำพุขึ้นเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท ซึ่งมักเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของใบหน้า ชายโครง ต้นแขน หรือขา ต่อมาตุ่มจะแห้งตกสะเก็ด และอาการจะทุเลาลงภายใน 2-3 ชั่วโมง
  • เกาต์ (Gout) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงร้อน มักเป็นที่ข้อหัวแม่เท้าหรือข้อเท้าเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย อาการของโรคนี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากกินเลี้ยง ดื่มแอลกอฮอล์ หรือรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง

วิธีรักษาโรคไฟลามทุ่ง

  1. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลแผลหรือผื่น รวมไปถึงการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและลดความรุนแรงของโรค และไปพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ
  2. แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มาก ๆ พยายามอย่าเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ เดินให้น้อยลง ควรยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูงขึ้นกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการปวดบวม หากมีอาการบวมหรือปวดมากให้ใช้วิธีประคบเย็นวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 48 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้การบวมของผื่นยุบตัวเร็วขึ้น และในบางรายอาจต้องใช้ผ้ายืดพันด้วย (Elastic bandage) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ แต่ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้ ให้กินยาแก้ปวดลดไข้อย่างยาพาราเซตามอล หรือถ้ารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อยอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด (ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เพราะไม่มีอาหารแสลงสำหรับโรคนี้ แต่ควรเน้นการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ให้มาก ๆ)
  1. ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาโดยการกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ โดยแพทย์จะให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) ฯลฯ ทั้งนี้ระยะเวลาในการให้ยาปฏิชีวนะโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องกินยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้นหรือหันไปใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ (เช่น การใช้สมุนไพร) และต้องกินยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง โดยทั่วไปแล้วหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก อาการมักจะทุเลาลงภายใน 24-72 ชั่วโมง คือ ไข้ลด อาการปวดหรือร้อนของผื่นลดลง ส่วนผื่นอาจจะยังลุกลามต่อไป แต่จะค่อย ๆ ยุบตัวลงหรือหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากได้รับยาปฏิชีวนะ แต่ผิวหนังส่วนที่เป็นรอยโรคอาจลอกเป็นขุย ๆ โดยที่ไม่ทำให้เกิดแผลเป็นแต่อย่างใด ส่วนในรายที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องช้าเกินไปหรือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นอันตรายได้
  2. ในรายที่อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วัน หรือมีอาการรุนแรง ผื่นยังลามหรือยังคงมีไข้ หรือพบในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือสงสัยว่ามีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเพื่อประเมินอาการ ถ้าเป็นมากแพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและฉีดยาปฏิชีวนะอย่างยาเพนิซิลลินวี (Penicillin V) ในขนาด 1-2 ล้านยูนิต เข้าทางหลอดเลือดดำทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง จนกว่าอาการจะทุเลาแล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะแบบกิน
  3. สมุนไพรรักษาโรคไฟลามทุ่ง มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้จนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยโรคและคำแนะนำจากแพทย์ (ข้อจากฐานข้อมูลสมุนไพรในเว็บไซต์) ได้แก่
    • เสลดพังพอนตัวผู้ (Barleria lupulina Lindl.) หรือ เสลดพังพอนตัวเมีย (Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau) ใช้ใบสดประมาณ 5-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำแล้วทาบริเวณที่เป็น
    • กรดน้ำ (Scoparia dulcis Linn.) ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไฟลามทุ่งหรือเชื้อไวรัสตามผิวหนัง (ไม่ระบุวิธีใช้)
    • กฤษณา (Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte) ในพระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา กล่าวถึงสมุนไพรกฤษณาว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต แก้โลหิตพิหาร ช่วยรักษาโรคฟัน ไฟลามทุ่ง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และวิธีใช้)
    • ก้างปลาเครือ (Phyllanthus reticulatus Poir.) ใช้รากฝนทาบริเวณที่เป็น
    • เขยตาย (Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.) ใช้ใบสดนำมาขยี้หรือบดผสมกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์หรือน้ำมะนาว ใช้เป็นยาทารักษาไฟลามทุ่ง
    • ชิงช้าชาลี (Tinospora baenzigeri Forman) ใช้ใบอ่อนผสมกับน้ำนมทาแก้ไฟลามทุ่ง
    • เจตมูลเพลิงขาว (Plumbago zeylanica L.) ใช้ใบสดนำมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้พอกบริเวณที่เป็นจนกระทั่งหาย
    • ผักคราดหัวแหวน (Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen) ใช้ใบและลำต้นนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำไปผสมกับเหล้าโรง ใช้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ส่วนกากที่เกลือใช้พอกบริเวณที่เป็นได้ตลอดวัน
    • ผักชี (Coriandrum sativum L.) ใช้ต้นสดนำมาหั่นเป็นฝอย ๆ ใส่ลงไปในเหล้าแล้วต้มให้เดือด นำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น
    • ผักเบี้ยใหญ่ (Portulaca oleracea L.) ใช้ใบสดตำพอกบริเวณที่เป็น
    • บัวบก (Centella asiatica (L.) Urb.) ใช้ตำพอกรักษาความร้อนบวมของโรคไฟลามทุ่ง
    • พญาท้าวเอว (Oxyceros bispinosus (Griff.) Tirveng.) ใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาไฟลามทุ่ง
    • หลิว (Salix babylonica L.) ใช้กิ่งแห้งนำมาเผาไฟให้เป็นเถ้า แล้วเอาน้ำผสมใช้เป็นยาทารักษาบริเวณที่เป็น
    • หญ้างวงช้าง (Heliotropium indicum L.) สมุนไพรชนิดนี้ในประเทศอินเดียนอกจากจะใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังแล้ว ยังใช้เป็นยาแก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้กลากเกลื้อน และไฟลามทุ่งด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
    • ว่านมหากาฬ (Gynura pseudochina (L.) DC.) ใช้ทั้งต้น ใช้เป็นยาแก้โรคไฟลามทุ่ง (ไม่ระบุวิธีใช้)
    • โมกหลวง (Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don) ใช้เมล็ดเป็นยาแก้ไฟลามทุ่ง (ไม่ระบุวิธีใช้)
    • น้ำเต้า (Lagenaria siceraria (Molina) Standl.) ใช้ใบเป็นยาแก้ไฟลามทุ่ง (ไม่ระบุวิธีใช้)

วิธีป้องกันโรคไฟลามทุ่ง

  • ควรสังเกตและระวังอย่าให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนังซึ่งเป็นทางของเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่นำไปสู่โรคไฟลามทุ่งได้ง่าย
  • ถ้ามีแผลเกิดขึ้นให้รีบรักษาความสะอาดด้วยการล้างแผลด้วยน้ำสบู่และทาด้วยขี้ผึ้งที่เข้ายาปฏิชีวนะ ถ้าแผลยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังการดูแลตัวเองควรรีบไปพบแพทย์
  • หากพบผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดงร้อน ปวดบวม มีขอบขึ้นชัดเจน หรือมีลักษณะเป็นเส้นสีแดง และ/หรือมีไข้ร่วมด้วย ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นอาการของโรคไฟลามทุ่ง โดยเฉพาะบริเวณขาและเท้าที่พบได้บ่อย ๆ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ฯลฯ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงเป็นอันตรายได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ไฟลามทุ่ง (Erysipelas)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 991-992.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ไฟลามทุ่ง (Erysipelas)”.  (พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [26 เม.ย. 2016].

ภาพประกอบ : www.gponline.com, diseasespictures.com, healthh.com, www.dermaamin.com, commons.wikimedia.org (by Evanherk)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด