น้ำเต้า สรรพคุณและประโยชน์ของลูกน้ำเต้า ต้นน้ำเต้า 38 ข้อ !

น้ำเต้า

น้ำเต้า ชื่อสามัญ Bottle gourd, Calabash gourd, Flowered gourd, White flowered gourd

น้ำเต้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagenaria siceraria (Molina) Standl. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lagenaria leucantha Rusby, Lagenaria vulgaris Ser.) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)[1],[7],[10]

สมุนไพรน้ำเต้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะน้ำเต้า (ภาคเหนือ), คิลูส่า คูลูส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลุ้นออก แผละลุนอ้อก (ลั้วะ), Dudhi Lauki (อินเดีย), หมากน้ำ, น้ำโต่น เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[10]

ลักษณะของต้นน้ำเต้า

  • ต้นน้ำเต้า มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ โดยจัดเป็นไม้เถาล้มลุกอายุปีเดียวหรืออาจข้ามปี เลื้อยตามพื้นดินหรือไต่พันกับต้นไม้อื่น ลำต้นแข็งแรง ลำต้นมีมือสำหรับใช้ยึดเกาะต้นไม้อื่น ๆ ตามเถามีขนยาวสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1],[3],[4] น้ำเต้านั้นมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น น้ำเต้าที่ลักษณะเป็นน้ำเต้าทรงเซียน ชนิดนี้นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เราจะเรียกว่า “น้ำเต้าพื้นบ้าน” หรืออีกชนิดมีลักษณะของผลคล้ายกับน้ำเต้าพื้นบ้าน แต่เนื้อ ต้น และใบมีรสขม ก็จะเรียกว่า “น้ำเต้าขม” (ชนิดนี้หาได้ยากและนำมาใช้ทำเป็นยาเท่านั้น) แต่ถ้าผลมีลักษณะกลมเกลี้ยงไม่มีคอขวดจะเรียกว่า “น้ำเต้า” หรือหากผลกลมยาวเหมือนงาช้างจะเรียกว่า “น้ำเต้างาช้าง” เป็นต้น[4]

ต้นน้ำเต้า

  • ใบน้ำเต้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปห้าเหลี่ยม ขอบใบหยักเว้าเป็นแฉก 5-7 แฉก โคนใบเว้าเข้าถึงเส้นกลางใบ เส้นใบด้านล่างนูนเด่นชัด ใบมีขนตลอดทั้งใบและก้านใบ ก้านใบยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร มีต่อมเทียม 2 ต่อม ซึ่งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างก้านใบกับแผ่นใบ[1],[2],[3]

ใบน้ำเต้า

  • ดอกน้ำเต้า ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาว โดยดอกเพศผู้ (รูปที่ 2) ก้านดอกจะยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวมี 5 กลีบไม่ติดกัน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร กลีบดอกมีขน มีลักษณะบางและย่น มีเกสร 3 ก้าน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูเป็นสีขาวอยู่ชิดกัน ส่วนดอกเพศเมีย (รูปที่ 3) มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่ต่างกันที่จะมีผลเล็ก ๆ ติดอยู่ที่โคนดอก โดยก้านดอกจะสั้นและแข็งแรง ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร และก้านจะยาวขึ้นเมื่อรังไข่เจริญเติบโตไปเป็นผล ดอกไม่มีเกสรเพศผู้เทียม มีรังไข่ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีขนสีขาว ท่อรังไข่สั้น ปลายแยกเป็นแฉกหนา ๆ 3 แฉก[1],[2],[3]

ดอกน้ำเต้า

ดอกน้ำเต้าเพศผู้

ดอกน้ำเต้าเพศเมีย

  • ผลน้ำเต้า หรือ ลูกน้ำเต้า ผลน้ำเต้ามีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงกลม ทรงกลมซ้อน ทรงกลมหัวจุก ทรงยาว ทรงแบน เป็นรูปกระบอง หรือเป็นรูปขวด มีความยาวตั้งแต่ 10-100 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปแล้วผลจะมีลักษณะกลมโต มีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร คอดกิ่วบริเวณยอด โคนขั้วคอดคดงอหรือขดเป็นวงผิวผลเกลี้ยง เรียบ และเนียน เปลือกผลแข็งและทนทาน ผลอ่อนเป็นสีเขียว ก้านผลยาว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก วางตัวแนวรัศมี เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนป้านคล้ายเล็บมือ ส่วนปลายมีติ่งยื่น 2 ข้าง เป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดตามยาวของเมล็ด[1],[2],[3]

ผลน้ำเต้า

ลูกน้ำเต้า

เมล็ดน้ำเต้า

สรรพคุณของน้ำเต้า

  1. ชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้าในการประกอบอาหารให้ผู้ป่วยเบาหวานและผู้เป็นโรคความดันโลหิตรับประทาน และในประเทศจีนและอินเดียจะมีการรับประทานน้ำเต้าเพื่อควบคุมเบาหวาน (ผล)[4]
  2. รากช่วยทำให้เจริญอาหาร แต่ในประเทศจีนจะใช้เมล็ดนำไปต้มกับเกลือรับประทานเป็นยาเจริญอาหาร (ราก, เมล็ด, ทั้งต้น)[5],[10]
  3. น้ำเต้าเป็นยาเย็นและชื้น มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและผู้ชราภาพ (ผล)[8]
  4. น้ำเต้าช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอด (ผล)[8]
  5. ใบมี ผลอ่อน และเนื้อในผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ, ผลอ่อน, เนื้อในผล)[10]
  6. น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาศีรษะจะช่วยแก้อาการทางประสาทบางชนิดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2]
  7. เมล็ดช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (เมล็ด)[10]
  8. ใบมีรสเย็น ช่วยดับพิษ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)[1],[4],[10]
  9. ช่วยแก้อาการไอ (เนื้อในผล)[10]
  10. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (ใบ, ทั้งต้น)[1],[4],[10]
  1. น้ำมันจากเมล็ดนำมากินจะช่วยทำให้อาเจียน (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2] ส่วนผลหากรับประทานมาก ๆ ก็ทำให้อาเจียนได้เช่นกัน (ผล)[2]
  2. เปลือกผลใช้ผสมหัวทารกเพื่อใช้ลดอาการไข้ (เปลือกผล)[2]
  3. ผลหรือโคนขั้วผลนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องที่เกิดจากไข้ (ผล[1], โคนขั้วผล[2])
  4. ใช้รักษาโรคทางลำคอ ด้วยการใช้ลูกน้ำเต้าแก่ นำมาตัดจุก แล้วใส่น้ำไว้รับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันและรักษาโรคทางลำคอได้ (ผล)[7]
  5. ช่วยรักษาโรคปวดอักเสบ ด้วยการใช้ส่วนที่เป็นเปลือกสดนำมารับประทาน (เปลือกผล)[7]
  6. น้ำคั้นจากผลมีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยและแผลในกระเพาะอาหาร (ผล)[4]
  7. ใบอ่อน ผล และเนื้อในผลใช้รับประทานได้ โดยมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ใบ, ผล, เนื้อในผล)[2],[10]
  8. เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด)[1],[2],[10]
  9. ผลมีรสเย็น ช่วยขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รักษาท่อปัสสาวะอักเสบ ช่วยลดการอักเสบของทางเดินปัสสาวะและอาการปัสสาวะยาก (ผล)[1],[2],[7],[8],[10] ส่วนใบก็เป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ใบ)[10]
  10. ช่วยรักษาโรคลูกอัณฑะบวม ด้วยการใช้ลูกน้ำเต้านำมาต้มรับประทาน (ผล)[7]
  11. ช่วยรักษาโรคเริม (ใบ)[10]
  12. รากและทั้งต้นช่วยบำรุงน้ำดี (ราก, ทั้งต้น)[10]
  13. แพทย์แผนไทยจะใช้รากน้ำเต้าขมเป็นยาแก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกลำไส้ (ราก)[4],[10]
  14. น้ำต้มใบกับน้ำตาล ใช้แก้โรคดีซ่าน (ใบ)[1],[2]
  15. เมล็ดมีรสเย็นเมา ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (เมล็ด)[1],[2] หรือใช้รากนำมาต้มกับน้ำใช้กินเป็นยาแก้อาการบวมน้ำตามร่างกายก็ได้เช่นกัน (ราก)[2]
  16. ช่วยแก้อาการปวดฝีในเด็ก ด้วยการใช้น้ำเต้าหั่นเป็นชิ้น ๆ นำมาผสมกับของต้มเป็นน้ำซุปรับประทาน (ผล)[7]
  17. ใบใช้รักษางูสวัด แก้ไฟลามทุ่ง (ใบ)[10]
  18. ใบสดนำมาโขลกผสมกับเหล้าขาวหรือโขลกเพื่อคั้นเอาแต่น้ำ หรือใช้ใบสดผสมกับขี้วัวแห้งหรือขี้วัวสด โขลกให้เข้ากันจนได้ที่แล้วผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี (การผสมขี้วัวเข้าใจว่าขี้วัวมีแอมโมเนีย จึงทำให้เย็นและช่วยถอนพิษอักเสบได้ดีกว่าตัวยาอื่น) ใช้เป็นยาทาถอนพิษร้อน ดับพิษ แก้อาการฟกช้ำบวม พุพอง แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาอาการพองตามผิวหนังตามตัว แก้เริม และงูสวัดได้ดี (ใบ)[1],[4],[5],[8],[10]
  19. ช่วยทำให้เกิดน้ำนม (ผล)[1],[10]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [10] ในส่วนของใบ ให้ใช้ใบแห้งประมาณ 1 กำมือนำมาชงกับน้ำร้อนเป็นชาดื่มแทนน้ำตลอดวัน[10]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของน้ำเต้า

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ apigenin-4, 7-O-diglucosyl-6-C-glucoside โดยสารนี้จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด bryonolic acid, campesterol, cucurbitacin B, D, E, G, H, fixed oil, kaempferol-3-monoglycoside, linoleic acid, oleic acid, palmitic acid, palmitoleic acid, rutin, saponarin, sitosterol, stachyose, stearic acid, vitexin[10]
  • น้ำเต้ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ ช่วยยับยั้งเบาหวาน และช่วยขับพยาธิตัวตืด[10]
  • งานวิจัยจากประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2549 พบว่าสารสกัดจากผลน้ำเต้าด้วยคลอโรฟอร์มและแอลกอฮอล์ในขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อน้ำหนักของหนู สามารถช่วยยับยั้งการเพิ่มปริมาณของระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดีได้ และยังช่วยเพิ่มปริมาณของไขมันชนิดดีในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้มีปริมาณไขมันสูงเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณการกินสารสกัด และยังช่วยลดปริมาณของคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดีในหนูทดลองที่มีปริมาณไขมันในเลือดอยู่ในระดับปกติได้ และจากการตรวจสอบพฤกษเคมีของน้ำเต้า พบว่ามีสาร flavonoids, sterols, cucurbitacin, saponins, polyphenolics, protein และ carbohydrates โดยสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการช่วยลดระดับไขมันในเลือด[4],[10]
  • มีรายงายว่าเปลือกลำต้นและเปลือกของผลน้ำเต้ามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ[4]
  • สารในกลุ่ม triterpenoids จากน้ำเต้า ชนิด D:C-friedooleane-type triterpenes แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ human hepatoma SK-Hep 1 โดยมีสาร etoposide เป็น positive control ซึ่งมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ได้ 50% เท่ากับ 2.2 มคก./มล. และหลังจากการนำสารในกลุ่ม triterpenoids ดังกล่าวมาแยกหาสารสำคัญ พบว่ามีสาร 3 beta-O-(E)-coumaroyl-D:C-friedooleana-7,9(11)-dien-29-oic acid และสาร 20-epibryonolic acid ซึ่งแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ human hepatoma SK-Hep 1 อย่างชัดเจน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 4.8 และ 2.1 มคก./มล. ตามลำดับ จึงเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งต่อไป[6]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดจากใบน้ำเต้าแห้งด้วย 60% เอทานอล ด้วยวิธีการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนูถีบจักร ในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่ทำให้เกิดพิษ[10]
  • หากฉีดสารสกัดส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นน้ำเต้าด้วย 50% เอทานอลเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย 50% มีค่าเท่ากับ 176 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[10]

ประโยชน์ของน้ำเต้า

  1. ใบอ่อนใช้รับประทานได้[2] ยอดอ่อนใช้ทำแกงส้มกับปลาเนื้ออ่อนหรือกุ้งสด มีรสชาติอร่อยมาก ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาจะรับประทานใบน้ำเต้าเป็นผักชนิดหนึ่ง หรือใช้ใส่ในซุปข้าวโพด หรือดองสดไว้รับประทาน ส่วนใบแห้งเก็บไว้เป็นเสบียงเมื่อยามจำเป็น[4]
  2. ผลใช้รับประทานได้ มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย[2] โดยผลน้ำเต้าที่นำมาประกอบอาหารก็คือผลอ่อนที่เปลือกและเมล็ดยังไม่แข็ง เพราะสามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก เนื้อ และเมล็ด อีกทั้งผลที่ยังอ่อนอยู่จะมีน้ำอยู่มาก ทำให้เนื้อน้ำเต้ามีความอ่อนนุ่ม (อาจใกล้เคียงกับบวบแต่มากกว่าฟักและมะระ) ซึ่งน้ำเต้าที่ชาวไทยนิยมนำมารับประทานจะเป็นน้ำเต้าพันธุ์ผลกลมแป้นมีคอยาว ตรงขั้วอาจจะป่องออกเป็นคอคอดหรือไม่ป่องก็มี โดยพันธุ์ที่ปลูกไว้รับประทานนั้น เปลือกจะมีสีเขียวอ่อนและบางกว่าพันธุ์อื่น ๆ[5] โดยอาจนำผลมาต้มหรือนึ่งรับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก ลาบ แจ่ว หรืออาจทำไปทำแกง แกงเลียง แกงอ่อม แกงส้ม แกงหน่อไม้ แกงเผ็ดน้ำเต้าอ่อน ผัดพริก ฟักน้ำเต้าเห็ดหอม ผัดน้ำมัน น้ำเต้าผัดกับหมูใส่ไข่ หรือต้มเป็นผักจิ้ม ฯลฯ (ไม่ควรต้มหรือผัดนานเพราะจะทำให้เละได้) นอกจากนี้ยังนำผลมาเชื่อมเป็นของหวานได้อีกด้วย ส่วนชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้านำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน ในอเมริกาจะนำเนื้อผลอ่อนมานึ่งผัดในกระทะ ชุบแป้งท้อง ต้มสตูว์ หรือใช้ใส่ในแกงจืด ด้วยการเลาะเมล็ดและใยหุ้มเมล็ดออก ส่วนแผ่นน้ำเต้าตากแห้งก็นำมาชุบกับซีอิ๊วกินกับปลาดิบญี่ปุ่นได้ดี[2],[4],[5],[9]
  3. ในทวีปแอฟริกาจะใช้น้ำมันจากเมล็ดน้ำเต้าในการปรุงอาหาร[5] บ้างว่าใช้เมล็ดนำมาตากให้แห้ง แล้วคั่วกินเป็นของว่าง[9]
  4. น้ำต้มกับผลสามารถนำมาใช้สระผมได้[2]
  5. ผลน้ำเต้าแห้งสามารถนำมาใช้ทำเป็นภาชนะได้ เช่น กระบวยตักน้ำ ขันน้ำ ช้อน ทัพพี ทำขวดบรรจุสิ่งของหรือเมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น[2],[5] ขันน้ำหรืออาจใช้ผลน้ำเต้าแก่ ปล่อยให้เนื้อแห้งแล้วขูดเอาเนื้อออก ใช้บรรจุน้ำดื่ม เบียร์ หรือไวน์ บางคนอาจนำเชือกถักมาห่อหุ้มไว้เพื่อป้องกันของแข็งกระแทก อีกทั้งยังดูสวยงามดีอีกด้วย ส่วนชนิดที่มีจุกขวดแต่ไม่ยาวมาก (มักเห็นในเรื่องจี้กง) ก็ใช้ทำเป็นที่ใส่เหล้าห้อยเอว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเต้าจี้กง[4]
  6. น้ำเต้างาช้างที่มีจุกยาวนิยมเอามาทำเป็นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ เช่น ลูกซัดหรือลูกแซก สำหรับเล่นประกอบเพลง ซึ่งให้เสียงดังไพเราะดีมาก[4],[5]
  7. ในอดีตมีคนนำผลน้ำเต้าแห้งหลาย ๆ ลูกมาผูกรวมกันเพื่อทำเป็นเสื้อชูชีพพยุงตัวให้ลอยน้ำได้[4] หรืออาจใช้ทำเป็นรังนกกระจอกบ้าน ใช้ทำเป็นทุ่นประกอบการจับปลาก็ได้
  8. ในเรื่องการใช้ผลน้ำเต้าทำเป็นเครื่องประดับหรือใช้ทำงานศิลปะ เช่น การวาดภาพลงบนผิวน้ำเต้า หรือการแกะสลักผิวเป็นรูปร่างต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ประดับหรือปกปิดร่างกาย อย่างที่คนไทยส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึงอีกด้วย นั่นก็คือ การนำมาใช้แทนกางเกงหรือผ้าเตี่ยวสำหรับผู้ชายในชนเผ่าดั้งเดิมของเกาะนิวกินี กล่าวคือเมื่อผู้ชายเติบโตเป็นหนุ่มแล้วเขาจะหาผลน้ำเต้าแห้งที่มีส่วนคอเรียวยาวมาตัดเอาส่วนคอนั้นมาร้อยเชือก สวมอวัยวะเพศเข้าไป (เพื่อไม่ให้ดูโป๊หรือุจาดตา) แล้วผูกเชือกเอาไว้กับเอวแค่นั้นก็พอ โดยไม่ต้องสวมเสื้อผ้าอะไรอีก[5]
  9. ชาวจีนนิยมแขวนน้ำเต้าไว้ในบ้านเกือบทุกครัวเรือน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้บ้านเกิดความร่มเย็น[4]

คุณค่าทางโภชนาการของใบน้ำเต้าอ่อนต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 27 แคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 4.1 กรัม
  • โปรตีน 5.1 กรัม
  • ไขมัน 0 กรัม
  • ใยอาหาร 1.5 กรัม
  • น้ำ 90.1 %
  • วิตามินเอ 15,400 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.06 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 95 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 56 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 11.5 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 140 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม[3]

เนื้อผลน้ำเต้า

คุณค่าทางโภชนาการของผลน้ำเต้าอ่อน ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 10 แคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม
  • โปรตีน 0.3 กรัม
  • ไขมัน 0 กรัม
  • ใยอาหาร 1.7 กรัม
  • น้ำ 96.8 %
  • เถ้า 0.3 กรัม
  • วิตามินเอ 391 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 12 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 14 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.1 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 1 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.[3]

ข้อควรระวัง : การรับประทานผลน้ำเต้าสุกจะทำให้อาเจียน มีอาการปวดท้อง ท้องเดิน จึงให้ใช้ผลอ่อนเป็นยาแทน[10]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “น้ำเต้า (Nam Tao)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 157.
  2. หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5.  “Bottle gourd”.  (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).
  3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร.  “น้ำเต้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [27 มี.ค. 2014].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 339 คอลัมน์: บทความพิเศษ.  “น้ำเต้า ควบคุมเบาหวาน”.  (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [27 มี.ค. 2014].
  5. แผนกวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ.  “น้ำเต้า ผักสารพัดประโยชน์ของชาวโลก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 202.143.140.85/plant/index.php.  [27 มี.ค. 2014].
  6. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ในกลุ่ม triterpenoids จากน้ำเต้ากับความเป็นพิษต่อเซลล์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [27 มี.ค. 2014].
  7. สมุนไพรไพรไทย, สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอ่างทอง.  “น้ำเต้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: mueang.angthong.doae.go.th/data/น้ำเต้า.doc.  [27 มี.ค. 2014].
  8. โอเคเนชั่น.  “ตำราพันธุ์ไม้และสมุนไพรในคัมภีรอัล-กุรอาน”.  (อาลี เสือสมิง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: http://www.oknation.net/.  [27 มี.ค. 2014].
  9. หนังสือผักพื้นบ้าน 1.  “น้ำเต้า”.  (อุไร  จิรมงคลการ).
  10. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  “น้ำเต้า”.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  หน้า 113-114.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nate Gray, Andy Chase, 龙颜大悦, janusz-hiker, World Crops Project, .Bambo., Forest and Kim Starr, Victoria Lea B, robert rothschild, Allan Reyes)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด