9 สรรพคุณและประโยชน์ของว่านตีนตะขาบ & ตะขาบหิน !

ว่านตีนตะขาบกับต้นตะขาบหินเป็นพรรณไม้คนละชนิดกัน แต่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน (POLYGONACEAE) บางแห่งก็มีเรียกชื่อที่เหมือนกัน จึงมักทำให้คนต่างถิ่นเกิดความสับสน โดยลักษณะลำต้นของพรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้ถ้าหากดูตามรูปประกอบก็จะเห็นว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงเหมือนตะขาบทั้งสองต้น ส่วนในด้านของสรรพคุณทางยาสมุนไพรนั้นก็มีความคล้ายคลึงกันครับ แต่ต้นตะขาบหินจะมีสรรพคุณทางยามากกว่าว่านตีนตะขาบ ซึ่งในบทความนี้ผมจะกล่าวถึงลักษณะและสรรพคุณทางยาของพรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้ในคราวเดียวกันเลยครับ[6]

ว่านตีนตะขาบ

ว่านตีนตะขาบ (ยังไม่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด) จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[1]

สมุนไพรว่านตีนตะขาบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านตะเข็บ (ภาคเหนือ), ว่านตะขาบ (เชียงใหม่), เพว (กรุงเทพฯ), ตะขาบปีนกล้วย ต้นตีนตะขาบ (ไทย) เป็นต้น[1]

ลักษณะของว่านตีนตะขาบ

  • ต้นว่านตีนตะขาบ จัดเป็นพรรณไม้ขนาดเล็ก ลำต้นเป็นปล้อง ๆ มีลักษณะกลมโตเท่ากับหางหนูมะพร้าวอ่อน แต่เมื่อลำต้นนั้นสูงขึ้นก็จะกลายเป็นไม้เลื้อย ต้นหนึ่งจะยาวได้ประมาณ 7-10 ฟุต ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ[1]

ต้นว่านตีนตะขาบ

  • ใบว่านตีนตะขาบ ใบจะออกติดกันเป็นปีกสองข้าง จากโคนต้นจนถึงยอด ดูคล้ายตะขาบ[1]

ตีนตะขาบ

สรรพคุณของว่านตีนตะขาบ

  1. ตามชนบทจะใช้ต้นและใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าใช้หยอดหู เพื่อรักษาหูเป็นน้ำหนวก ซึ่งพบว่าได้ผลดีมาก ใช้เพียง 2-3 ครั้งจะแห้งหาย (ต้นและใบสด)[1]
  2. ต้นและใบสดนำมาตำผสมกับเหล้า เอาแต่น้ำมาใช้ทารักษาอาการฟกช้ำบวม เคล็ดขัดยอกได้ดี (ต้นและใบ)[1]
  3. ส่วนกากที่เหลือจากการนำไปใช้แก้ฟกช้ำบวมสามารถนำมาพอกถอนพิษตะขาบและพิษแมงป่องได้ (ต้นและใบ)[1] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ให้ใช้น้ำยางของต้นมาทาบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด เมื่อรู้สึกว่ายางเริ่มแห้ง ก็ให้ทาซ้ำไปเรื่อย ๆ ประมาณ 30 นาที ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการบวมได้ ส่วนอีกวิธีให้ใช้ต้นและใบสดประมาณ 1 ขีด นำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาว 100 ซีซี แล้วนำส่วนผสมที่ได้มาพอกบริเวณบาดแผลทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที

หมายเหตุ : ชื่อตีนตะขาบนี้เป็นชื่อของพรรณไม้ที่มีอยู่หลายชนิด โดยแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะคล้ายตะขาบทั้งนั้น ดังนั้นการนำมาใช้เป็นยาจะต้องเลือกใช้ตามลักษณะของต้นที่กล่าวไว้ในบทความนี้เท่านั้น[1]

ประโยชน์ของต้นว่านตีนตะขาบ

  • ว่านชนิดนี้มักนิยมนำมาใส่ลงในกระถางไว้ดูเพื่อความสวยงาม โดยคนจีนจะนิยมปลูกกันมากตามบ้าน และตามสวนยาจีนทั่วไป ส่วนในกรุงเทพฯ บ้านเราก็พบได้ง่ายเช่นกัน[1]

ตะขาบหิน

ตะขาบหิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Homalocladium platycladum (F.Muell.) L.H.Bailey (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Muehlenbeckia platyclada (F.J. Müll.) Meisn.)[4] จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[2]

สมุนไพรตะขาบหิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านตะขาบ (เชียงใหม่), ตะขาบหิน (คนเมือง), เพว เฟอ (กรุงเทพฯ), ว่านตะเข็บ (ภาคเหนือ), ตะขาบปีนกล้วย (ภาคกลาง), ว่านจะเข็บ (ไทลื้อ), ตะขาบบิน ตะขาบทะยานฟ้า ผักเปลว (ไทย), แงกังเช่า (จีน) เป็นต้น[2],[3],[6]

ลักษณะของตะขาบหิน

  • ต้นตะขาบหิน มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะทางภาคตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านจำนวนมาก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ต้นอ่อนแบนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและกลมขึ้น[2] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามพื้นที่ป่าทั่วไป โดยจะกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย[3] ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม[2],[4]

ต้นตะขาบหิน

  • ใบตะขาบหิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ หลุดร่วงได้ง่าย ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปใบหอกแกมเส้นตรงมีขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายลำต้น ออกใบน้อยหรือไม่มีเลย ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบอ่อนนิ่ม หลังใบและท้องใบเรียบ ไม่มีก้านใบ[2]

ตะขาบหิน

  • ดอกตะขาบหิน ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ดอกเป็นช่อกระจุกเล็ก ๆ ตามข้อของลำต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กมากเป็นสีเขียวอ่อน กลีบดอกรวมเป็นสีขาวแกมสีเขียว มี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ก้านดอกสั้น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ก้านชูดอกมีขนาดสั้นมาก มีเกสรเพศผู้ล้อมรอบเกสรเพศเมียอยู่จำนวน 7-8 อัน[2]

ดอกตะขาบหิน

  • ผลตะขาบหิน ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ฉ่ำน้ำ เป็นพู 5 พู ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง มีรสหวาน ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เมล็ดเดี่ยว เมล็ดเป็นสีเหลือง ลักษณะของเมล็ดเป็นสัน 3 สัน[2]

ตะขาบบิน

สรรพคุณของตะขาบหิน

  1. ทั้งต้นมีรสหวานสุขุม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน ดับพิษต่าง ๆ พิษเลือด พิษร้อน พิษฝี พิษฝีในปอด (ทั้งต้น)[2]
  2. ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าข้าว แล้วคั้นเอาน้ำใช้หยอดหู เพื่อรักษาหูเป็นน้ำหนวก (ใบ)[5]
  3. ช่วยแก้อาการเนื่องจากปอด แก้อาการเจ็บคอ เจ็บอก (ทั้งต้น)[2]
  4. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนังเจ็บ ผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย งูสวัด ฝีมะตอย (ทั้งต้น)[2]
  5. ใบนำมาทุบใช้ทาแผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)[3]
  6. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาระงับอาการปวด (ทั้งต้น)[2]
  7. ต้นและใบสดนำมาตำผสมกับเหล้า นำมาพอกหรือเอาแต่น้ำมาใช้ทารักษาอาการฟกช้ำบวม เคล็ดขัดยอกได้ดี (ต้นและใบ)[2]
  8. ต้นและใบสด นำมาตำผสมกับเหล้าพอกหรือคั้นเอาน้ำใช้เป็นยาทาถอนพิษตะขาบและแมงป่อง (ต้นและใบ)[2]

ประโยชน์ของต้นตะขาบหิน

  • นิยมยำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตเร็ว[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ว่านตีนตะขาบ”.  หน้า 712-713.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ตะขาบหิน (Ta Khap Hin)”.  หน้า 120.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ตะขาบหิน”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [20 ส.ค. 2014].
  4. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5.  “ตะขาบหิน”.
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ตะขาบบิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [20 ส.ค. 2014].
  6. ไทยโพสต์.  “ว่านตีนตะขาบ-ตะขาบบิน มีฤทธิ์ถอนพิษตะขาบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net.  [20 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.biogang.net (by mouse), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด