ก้างปลาเครือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นก้างปลาเครือ 12 ข้อ !

ก้างปลาเครือ

ก้างปลาเครือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus reticulatus Poir.[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

สมุนไพรก้างปลาเครือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้างปลาขาว (เชียงใหม่, อ่างทอง), หมัดคำ (แพร่), อำอ้าย (นครราชสีมา), หมาเยี่ยว (นครปฐม), ข่าคล่อง (สุพรรณบุรี), กระออง (ประจวบคีรีขันธ์), ก้างปลาแดง (สุราษฎร์ธานี), ขี้เฮียด ก้างปลาเครือ (ทั่วไป), ต่าคะโค่คึย สะแบรที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)[2], เกล็ดปลาน้อย[3] เป็นต้น

ลักษณะของก้างปลาเครือ

  • ต้นก้างปลาเครือ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเถาหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ถึง 4 เมตร มีขนเล็กน้อย กิ่งมีขนาดเล็ก[1] ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี และมีแสงแดดปานกลาง พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย[3] ตามป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าผสมผลัดใบ[2]

ต้นก้างปลาเครือ

รูปต้นก้างปลาเครือ

  • ใบก้างปลาเครือ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือสอบ ส่วนขอบใบเกลี้ยง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7-3.5 เซนติเมตร เส้นใบมี 5-9 คู่ หูใบเป็นรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนตัด เนื้อบางแห้ง ยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ก้านใบยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร[1],[2]

เมล็ดก้างปลาเครือ

  • ดอกก้างปลาเครือ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ช่อละ 1-3 ดอก โดยจะออกตามใบ ห้อยลงใต้ใบ มีลักษณะเล็กเป็นทรงกลมรี ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมแดง ขนาดกว้างประมาณ 0.75-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.7-3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกไม่มี มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้แยกหรือติดกัน จานฐานดอกมี 5-6 พู ส่วนดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่มีรังไข่ 8-10 ช่อง มีออวุล 2 หน่วยต่อหนึ่งช่อง ก้านเกสรเพศเมียมีขนาดสั้นมาก ส่วนมากจะแยกออกเป็น 2 แฉก[1],[2]

สมุนไพรก้างปลาเครือ

  • ผลก้างปลาเครือ ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมแป้นฉ่ำน้ำ สีแดง เมื่อสุกเป็นสีดำกลมโต มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ภายในมีเมล็ดประมาณ 8-16 เมล็ด[2],[3] หน้าตัดของเมล็ดเป็นรูป 3 เหลี่ยมด้านไม่เท่ากัน[1]

ผลก้างปลาเครือ

รูปก้างปลาเครือ

เมล็ดก้างปลาเครือ

สรรพคุณของก้างปลาเครือ

  1. รากใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้ราก 120 กรัม นำมาทุบให้แหลกต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเช้าและเย็น (ราก)[1]
  2. รากก้างปลาเครือ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับพิษไข้หัวทุกชนิด แก้ไข้หวัด ไข้รากสาด ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (ราก)[1],[4] บ้างใช้ใบนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[3]
  1. น้ำต้มจากรากใช้รับประทานเป็นยาแก้หอบหืด (ราก)[2],[4]
  2. ผลมีรสฝาดเฝื่อน ใช้รับประทานเป็นยาฝาดสมานในระบบทางเดินอาหาร และแก้อาการอักเสบต่าง ๆ (ผล)[2],[4]
  3. ต้นนำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้บิด แก้ท้องเสีย (ต้น, เปลือก)[2],[4]
  4. น้ำต้มจากต้นหรือใบใช้รับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น, ใบ)[2],[4]
  5. น้ำต้มจากต้นใช้รับประทานเป็นยาแก้น้ำเหลือง ฟอกโลหิต (ต้น, เปลือก)[2],[4]
  6. รากใช้เป็นยาขับพิษ[1] ใช้ฝนทาแก้เริม งูสวัด ไฟลามทุ่ง ขยุ้มตีนหมา แก้ซางข้าวเปลือก แก้ฝีแดง และฝีทั้งปวง (ราก)[4]
  7. ใบก้างปลาเครือ มีรสฝาดเฝื่อน ใช้เป็นยาสมานแผล ใช้ตำให้ละเอียดพอกฝีทำให้เย็นและถอนพิษฝี (ใบ)[1],[4]
  8. ใบนำมาบดให้เป็นผงใช้ใส่แผล หรือปั้นเป็นลูกกลอนผสมกับการบูร และ cubeb (สารที่สกัดจากตะไคร้ต้น) ใช้อมให้ละลายช้า ๆ แก้เลือดออกตามไรฟัน (ใบ)[2]
  9. ใบนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย (ใบ)[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของก้างปลาเครือ

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ betulin, friedelan, friedelin, taraxerone เป็นต้น[1]
  • ก้างปลาเครือ เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านเชื้อรา ต้านยีสต์ ลดระดับน้ำตาลในเลือด[1]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดที่อยู่เหนือดินของต้นก้างปลาเครือ เข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ตายครึ่งหนึ่งคือ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2007 ประเทศอินเดีย (Kumas S และคณะ) ได้ทำการทดลองใช้รากก้างปลาเครือในขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวานโดยใช้สาร alloxan ผลการทดลองพบว่า ขนาดยาที่เหมาะสมคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่ทำให้หนูมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และจากการทดลองยังพบสาร terpenoid glycoside, protein, carbohydrate, alkaloid, steroid อีกด้วย[1]

ประโยชน์ของก้างปลาเครือ

  • ยอดอ่อนนำไปใช้ประกอบอาหารประเภทแกง เช่น แกงแค แกงคั่ว[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ก้างปลาเครือ”.  หน้า 176/1.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ก้างปลาเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [18 มิ.ย. 2015].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ก้างปลาเครือ”.  อ้างอิงใน : หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [18 มิ.ย. 2015].
  4. กรีนคลินิก.  “ก้างปลา”.  [ออนไลน์].  อ้างอิงใน : หนังสือเครื่องยาไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), พฤกษาน่าสน.  เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th.  [18 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Chiau-Bun Ong, Russell Cumming, Nelindah, Anurag Sharma, judymonkey17)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด