วิตามินเอ
วิตามินเอ (Vitamin A) คือ วิตามินที่ละลายในไขมันซึ่งจำเป็นต่อการมองเห็นและผิวหนังที่ดี มีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการ การสืบพันธุ์ที่ดี ช่วยให้หัวใจ ปอด ไต และอวัยวะอื่น ๆ ทำงานได้อย่างถูกต้องเป็นปกติ การขาดวิตามินเอแม้จะพบได้น้อยแต่ก็อาจทำให้เกิดอันตรายหรือความเสี่ยงได้หลายอย่าง และแพทย์มักใช้วิตามินเอเพื่อรักษาภาวะขาดวิตามินเอเป็นหลัก และอาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามคำแนะนำของแพทย์
วิตามินเอไม่ใช่สารประกอบแบบเดี่ยว ๆ แต่เป็นกลุ่มของสารประกอบทางเคมีที่มีโครงสร้างคล้ายกัน ซึ่งได้แก่ เรตินอล (Retinol), เรตินอลดีไฮด์ (Retinaldehyde), กรดเรติโนอิก (Retinoic acid) และโปรวิตามินเอ แคโรทีนอยด์ (Provitamin A carotenoids) ซึ่งรวมถึงเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene), แอลฟาแคโรทีน (Alpha-carotene), แกมมาแคโรทีน (Gamma-carotene) และคริปโตแซนธิน (Cryptoxanthin) โดยเรตินอลและเบต้าแคโรทีนจะเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุดที่พบได้ในอาหารและอาหารเสริม โดยชนิดแรกจะพบในสัตว์และชนิดหลังพบได้ในพืช (อ้างอิง 1)
วิตามินเอมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท (1) ได้แก่
- Preformed vitamin A (Retinol) พบได้ในอาหารจากสัตว์ โดยมีมากที่สุดในตับ ปลา ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนวิตามินเอในอาหารเสริมนั้นก็มักจะหมายถึงรูปแบบพรีฟอร์มนี้ หรือรูปแบบเรตินอล ซึ่งรวมถึงเรตินอลพัลมิเทต (Retinyl palmitate) และเรตินิลอะซีเตต (Retinyl acetate)
- Provitamin A carotenoids เป็นสารสีจากพืชที่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในลำไส้ จึงพบได้ในอาหารจากพืช เช่น ผักใบเขียว ผักสีส้มและสีเหลือง ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ผลไม้ และน้ำมันพืชบางชนิด โดย Provitamin A carotenoids หลักในอาหารของมนุษย์ ได้แก่ เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene), แอลฟาแคโรทีน (Alpha-carotene), และเบต้าคริปโตแซนธิน (Beta-cryptoxanthin) ส่วนแคโรทีนอยด์อื่น ๆ ในอาหาร เช่น ไลโคปีน, ลูทีนและซีแซนทีน, แอสตาแซนธิน นั้นจะไม่เปลี่ยนเป็นวิตามินเอ จึงเรียกว่าแคโรทีนอยด์ที่ไม่ใช่โปรวิตามินเอ (non-Provitamin A carotenoids)
วิตามินเอ (Vitamin A) หมายถึงกลุ่มของสารประกอบที่จำเป็นต่อการมองเห็นและผิวหนังที่ดี การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก วิตามินเอที่พบได้บ่อยที่สุดคือเรตินอล (พบได้ในอาหารจากสัตว์) และเบต้าโรทีน (อาหารจากพืช)
ประโยชน์ของวิตามินเอ
1. ใช้ป้องกันและรักษาภาวะขาดวิตามินเอ (Vitamin A deficiency) ซึ่งเป็นภาวะทางโภชนาการที่มักพบได้ในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด, ทารก เด็ก หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรในประเทศที่มีรายได้น้อย, บุคคลที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร, ผู้ที่เป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) เป็นต้น การขาดวิตามินเอยังคงพบได้บ่อยในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมักเป็นผลมาจากการเข้าถึงอาหารที่มีวิตามินได้อย่างจำกัด เนื่องจากความยากจนหรือการรับประทานอาหารแบบดั้งเดิมซ้ำ ๆ จากการสำรวจประชากรในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 138 ประเทศ พบว่า 29% ของเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี มีภาวะขาดวิตามินเอ นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 10-20% ในประเทศที่มีรายได้น้อยก็มักมีภาวะขาดวิตามินเอเช่นกัน ส่วนในประเทศที่เจริญแล้วการขาดวิตามินเอจะพบได้น้อยกว่า 1% ของประชากร และมีเพียง 2% ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดขาดวิตามินเอ (1)
- การขาดวิตามินเออาจทำให้เกิดอาการมองเห็นไม่ชัดเจนในเวลากลางคืน (ตาบอดกลางคืน) ผิวแห้ง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สูญเสียการรับรส (2) อาจทำให้เกิดอาการตาแดง ตาแห้ง และตาอักเสบ (เยื่อตาขาวแดง) เกล็ดกระดี่ที่ตาขาว (Bitot’s spots) ผิวบอบบางและพุพอง เกิดรอยด่างขาวเป็นหย่อม ๆ ที่มือหรือแขน (Leukoderma) เกิดความผิดปกติของเล็บ ระดับเอนไซม์ตับ ALT สูง ตามที่มีรายงานในเด็กหญิงชาวญี่ปุ่นอายุ 4 ขวบที่มีภาวะขาดวิตามินเออย่างรุนแรง และมีอาการดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์หลังจากได้รับวิตามินเอวันละ 4,000 IU จากน้ำมันตับปลา (3)
- มีรายงานในผู้หญิงอายุ 34 ปีที่ขาดวิตามินเอเนื่องจากบริโภคอาหารไม่เพียงพอ ที่นอกจากจะมีอาการตาแห้งและตาบอดกลางคืนแล้ว ผู้ป่วยยังมีอาการวุ้นตาเสื่อม (Vitreous eye floaters) ตาไวต่อแสง และเสียการเห็นรอบนอก (Peripheral vision) ในผู้หญิงอายุ 34 ปีที่ขาดวิตามินเอ และอาการของเธอดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใน 1 สัปดาห์หลังรักษาอาการตาแห้งด้วยยาหยอดตาและเสริมวิตามินเอร่วมด้วย (วันละ 200,000 IU เป็นเวลา 2 วัน ตามด้วย 8,000 IU บวกกับวิตามินรวมทุกวัน) ส่วนการมองเห็นก็ฟื้นฟูเป็นปกติภายใน 5 เดือนครึ่งเมื่อเสริมวิตามินเอทุกวัน (4)
- สัญญาณที่พบได้บ่อยที่สุดของการขาดวิตามินเอคือโรคตาแห้ง (Xerophthalmia) ซึ่งโรคนี้สามารถส่งผลต่อกระจกตาและอาจทำให้ตาบอดถาวรได้ และการขาดวิตามินเอเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการตาบอดที่สามารถป้องกันได้ในเด็ก (1)
- การขาดวิตามินเอเรื้อรังยังสัมพันธ์กับพัฒนาการของปอดที่ผิดปกติ โรคระบบทางเดินหายใจ (เช่น โรคปอดบวม) ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคโลหิตจาง และการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น (1) นอกจากนี้ยังเพิ่มความรุนแรงและความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ (โดยเฉพาะโรคหัดและโรคท้องร่วงที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ) เพราะข้อมูลในปี 2013 ในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีเด็กจำนวน 94,500 คนที่เสียชีวิตด้วยโรคท้องร่วง และมี 11,200 คนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัดอันเป็นผลมาจากการขาดวิตามินเอ (5)
2. เสริมระบบภูมิคุ้มกัน วิตามินเอเป็นหนึ่งในสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันที่ดีและเกี่ยวข้องกับการผลิตและการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เป็นตัวช่วยดักจับเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย นั่นหมายความว่า หากร่างกายขาดวิตามินเอก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและทำให้เราหายป่วยได้ช้าลง (6, 7)
3. ลดความเสี่ยงมะเร็ง งานวิจัยหลายชิ้นได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างวิตามินเอกับมะเร็งชนิดต่างๆ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างระดับวิตามินเอในเลือดหรือการเสริมวิตามินเอกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหรือการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งนั้นยังไม่ชัดเจน และหลักฐานการทดลองทางคลินิกบางชิ้นยังบ่งชี้ว่าการเสริมวิตามินเออาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งบางรูปแบบอื่น แม้จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิดได้ก็ตาม ดังข้อมูลที่แสดงไว้ด้านล่าง
- การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการเสริมวิตามินเอหรือเรตินอล และแคโรทีนอยด์มากขึ้น โดยเฉพาะจากอาหารมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งช่องปาก, มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งรังไข่, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน และเนื้องอกชนิดไกลโอมา (1)
- การบริโภคแคโรทีนอยด์จากแหล่งธรรมชาติช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งช่องปากและมะเร็งกล่องเสียง (8)
- การบริโภคผักและผลไม้ที่มีแคโรทีนอยด์สูงอาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม (9)
- การเสริมวิตามินเอทางปากขนาดสูงทุกวันมีประสิทธิภาพในการช่วยลดจำนวนของเนื้องอกใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ และอาจช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอด (10)
- ไลโคปีนซึ่งเป็นแคโรทีนอยด์ในอาหารอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ (11) และการบริโภควิตามินเอในปริมาณที่สูงขึ้นอาจช่วยชะลอพัฒนาการของโรคมะเร็งรังไข่ให้ลดลง (12)
- การได้รับวิตามินเอในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ลดลง (13)
- การบริโภคซีลีเนียม วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน และเบต้าคริปโตแซนธิน ในปริมาณที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการลดความเสี่ยงมะเร็งตับอ่อน (14)
- วิตามินเออาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) ซึ่งการศึกษาขนาดใหญ่พบว่าผู้ใหญ่ (อายุ 50-76 ปี) ที่เสริมวิตามินเอจะมีความเสี่ยงต่ำกว่า 40% ต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังโดยเฉลี่ย 6 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริม (15)
- การบริโภคแอลฟาแคโรทีน เบต้าแคโรทีน และลูทีน/ซีแซนทีน อาจช่วยป้องกันการพัฒนาของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (NHL) (16)
- การบริโภควิตามินเอในอาหารให้สูงขึ้นสามารถลดความเสี่ยงของเนื้องอกชนิดไกลโอมา (Glioma) ได้ (17)
- อย่างไรก็ตาม การศึกษาเชิงสังเกตอื่น ๆ (1) ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการเสริมวิตามินเอในรูปแบบต่าง ๆ กับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งปอด, มะเร็งตับ (18), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (19), มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (20), มะเร็งต่อมลูกหมาก, หรือมะเร็งทั้งหมด (21)
- ผลการศึกษาของ CARET, ATBC และ AREDS2 ชี้ให้เห็นว่าการเสริมเบต้าแคโรทีนในปริมาณมากมีผลเสียต่อผู้สูบบุหรี่ เคยสูบบุหรี่ และคนงานที่สัมผัสกับแร่ใยหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงของมะเร็งปอด อย่างไรก็ตาม ก็มีการทดลองทางคลินิกอื่น ๆ ที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการเสริมวิตามินเอหรือเบต้าแคโรทีนกับความเสี่ยงหรือการเสียชีวิตที่เพิ่มของมะเร็งปอด
- การศึกษาทดลองประสิทธิภาพของเบต้าแคโรทีนและเรตินอล (CARET) ในผู้ชายและหญิงที่สูบบุหรี่ เคยสูบบุหรี่ หรือเคยทำงานที่สัมผัสกับแร่ใยหินจำนวน 18,314 คน (อายุ 45-74 ปี) พบว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมที่รับประทานอาหารเสริมเบต้าแคโรทีน 30 มก. และวิตามินเอ 25,000 IU (7,500 mcg RAE) ในรูปของเรตินอลพัลมิเทต ทุกวัน เป็นเวลาเฉลี่ย 4 ปี ไม่พบประโยชน์ใด ๆ และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดอย่างไม่คาดคิดถึง 28% และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดถึง 46% นอกจากนี้ อาหารเสริมยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุอีกถึง 17% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (22) และเมื่อติดตามผู้เข้าร่วม CARET ไปอีก 6 ปีหลังจากหยุดทานอาหารเสริม ก็ไม่พบความแตกต่างของความเสี่ยงมะเร็งปอดอีกต่อไปเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เคยได้รับยาหลอก ยกเว้นในผู้หญิงกลุ่มที่เคยเสริมที่จะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า 33% ของมะเร็งปอด (23)
- การศึกษาผลการป้องกันมะเร็งของวิตามินอีและเบต้าแคโรทีน (ATBC) พบว่าอาหารเสริมเบต้าแคโรทีนเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอดในผู้สูบบุหรี่ โดยการศึกษานี้เป็นการศึกษาในผู้ชายที่สูบบุหรี่จำนวน 29,133 คน (อายุ 50-69 ปี) ที่สูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 20.4 มวน เป็นเวลาเฉลี่ย 35.9 ปี แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ได้รับการเสริมวิตามินอี (α-Tocopherol) วันละ 50 มก., กลุ่ม 2 ได้รับเบต้าแคโรทีนวันละ 20 มก., กลุ่ม 3 ได้รับทั้งสองอย่าง และกลุ่ม 4 ได้รับยาหลอก แล้วติดตามผลต่อเนื่องเป็นเวลา 5-8 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับเบต้าแคโรทีนเพียงอย่างเดียวจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงขึ้น 18% และไม่มีผลหรือมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการลดโอกาสเกิดมะเร็งอื่น ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น (24) และเมื่อติดตามผลไปอีกจนครบ 18 ปี ซึ่งในช่วงนี้ผู้เข้าร่วมไม่ได้รับประทานอาหารเสริมอีกต่อไป แต่ส่วนใหญ่ยังคงสูบบุหรี่อยู่ พบว่าผู้เข้าร่วมกลุ่มที่เคยได้รับเบต้าแคโรทีนไม่ได้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเป็นมะเร็งปอด แต่มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเสียชีวิตเด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากถึง 20% (25)
- การศึกษาของ AREDS2 เพื่อทดสอบสารอาหารที่ช่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) ที่มีส่วนผสมหลายอย่างที่มีหรือไม่มีเบต้าแคโรทีน พบว่ามะเร็งปอดถูกตรวจพบในกลุ่มที่ได้รับเบต้าแคโรทีนมากกว่ากลุ่มที่ได้ไม่ได้รับเกือบ 2 เท่า (26)
- การทดลองในแพทย์ชายจำนวน 22,071 คน (อายุ 40-84 ปีที่ 11% เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ และอีก 39% เป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่) ที่ให้รับประทานเบต้าแคโรทีน 50 มก. วันเว้นวัน เป็นเวลา 12 ปี ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษในแง่ของอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรืออัตราการเสียชีวิต เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (27) สอดคล้องกับการศึกษาเชิงสังเกตในผู้หญิงจำนวน 7,627 คน (อายุเฉลี่ย 60.4 ปี) การเสริมวิตามินซี 500 มก., วิตามินอี 600 IUm และเบต้าแคโรทีน 50 มก. เป็นเวลาเฉลี่ย 9.4 ปี ไม่มีประโยชน์โดยรวมในการป้องกันการเกิดมะเร็งทั้งหมดหรือการเสียชีวิตจากมะเร็ง (28) และการทดลองในผู้ที่มีสุขภาพดีจำนวน 29,584 คน (อายุ 40-69 ปี) เป็นเวลา 5.25 ปี ไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ (การทดลองนี้แบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยมี 2 กลุ่ม ที่กลุ่มหนึ่งให้เรตินอลร่วมกับสังกะสี และอีกกลุ่มให้เบต้าแคโรทีนร่วมกับวิตามินอีและซีลีเนียม และยังมีกลุ่มที่ได้รับยาหลอก) (29)
- แม้การศึกษาจะเชื่อมโยงการบริโภคเบต้าแคโรทีนในอาหารกับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ แต่ล่าสุดในปี 2022 คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการบริการป้องกันโรคของสหรัฐฯ (USPSTF) ไม่แนะนำให้ใช้อาหารเสริมเบต้าแคโรทีนในการป้องกันโรคมะเร็ง เนื่องจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นมีมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ (30)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของซีลีเนียม, ไลโคปีน
4. เพิ่มอัตราการรักษาและการมองเห็นที่ดีขึ้นหลังผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ การศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการได้รับ วิตามินเอและวิตามินอีในขนาดสูง ช่วยเพิ่มอัตราการรักษาและการมองเห็นที่ดีขึ้นหลังการผ่าตัดรักษาค่าสายตาผิดปกติโดยใช้เลเซอร์ (PRK) เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาสั้น (31)
5. ตาบอดกลางคืน (Night blindness) มีรายงานการสูญเสียการมองเห็นตอนกลางคืน (ตาบอดตอนกลาง) ในชายอายุ 60 ปีที่เป็นโรคโครห์น (Crohn’s disease) ซึ่งผ่านการผ่าตัดมาแล้วหลายครั้งและมีระดับวิตามินเอในเลือดต่ำมาก เมื่อได้รับการเสริมวิตามินเอ 100,000 IU ต่อวันโดยการฉีดเข้าทางกล้ามเนื้ออเป็นเวลา 3 วัน ตามด้วย 50,000 IU ทุกวัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นให้ยารับประทานวันละ 25,000 IU เป็นเวลา 1 ปี ช่วยให้ระดับวิตามินเอในเลือดเพิ่มจาก 11 mcg/dL เป็น 78 mcg/dL และมีการมองเห็นที่ดีขึ้น (32)
6. ลดความเสี่ยงต้อกระจก (Cataracts) จากข้อมูลพบว่าวิตามินเออาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันต้อกระจก (33) และการเพิ่มปริมาณวิตามินเอในอาหารนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของต้อกระจก (34)
7. โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียการมองเห็นที่สำคัญในผู้สูงอายุ การศึกษาของหน่วยงานในสหรัฐฯ ที่เรียกกัน AREDS (Age-Related Eye Disease Study) ได้ประเมินการเสริมวิตามินเอในรูปของเบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี และสังกะสี พบว่าช่วยลดความเสี่ยงที่โรค AMD จะลุกลามขึ้นได้ 25% ในช่วง 5 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ผลที่ได้มีเฉพาะในผู้เป็น AMD ระยะกลางหรือระยะรุนแรงเท่านั้น (ผู้ที่เป็น AMD ระยะเริ่มต้นหรือเป็นเล็กน้อยนั้นไม่พบประโยชน์) (35) อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่าประโยชน์นี้เกิดจากส่วนผสมเดียวหรือส่วนผสมบางอย่างรวมกัน เพราะการศึกษาในภายหลัง (AREDS2) กลับพบว่าการเอาวิตามินเอในรูปเบต้าแคโรทีนออกจากสูตรก็ไม่ได้ทำให้ประโยชน์นี้ลดลง กล่าวคือ เบต้าแคโรทีนไม่ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมในสูตรส่วนผสมนี้ (36)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของวิตามินซี, วิตามินอี, สังกะสี (ซิงค์)
8. โรคจอประสาทตามีสารสี (Retinitis pigmentosa) วิตามินเออาจมีประสิทธิภาพในการชะลอการลุกลามของโรคจอประสาทตามีสารสี (33)
9. ส่งเสริมสุขภาพของกระดูก แม้สารอาหารหลักที่จำเป็นต่อสุขภาพกระดูกจะเป็นโปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี แต่การได้รับวิตามินเออย่างเพียงพอก็มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพกระดูกเช่นกัน เพราะในผู้ที่มีระดับวิตามินเอในเลือดต่ำจะมีความเสี่ยงสูงต่อกระดูกมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงทั่วไป (ผู้ที่ได้รับวิตามินเอเพียงพอจากอาหารจะมีความเสี่ยงต่อกระดูกหักลดลง 6% เมื่อเทียบกับผู้ที่ขาด) (37) อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินเอที่มากเกินไป โดยเฉพาะจากอาหารเสริมนั้นกลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักแทน (38) ดังนั้น การได้รับวิตามินอย่างเพียงพอตามปริมาณที่แนะนำต่อวัน โดยเฉพาะจากอาหารปกติจึงอาจช่วยปกป้องกระดูกและลดความเสี่ยงกระดูกหักได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของแคลเซียม, วิตามินดี
10. การสืบพันธุ์ที่ดี วิตามินเออาจช่วยให้ระบบสืบพันธุ์แข็งแรงทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยมีการศึกษาในหนูทดลองเพศผู้ที่แสดงให้เห็นว่าการขาดวิตามินสามารถขัดขวางการพัฒนาของสเปิร์มแล้วทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก เช่นเดียวกับการศึกษาในหนูทดลองตัวเมียที่ขาดวิตามินเอแล้วส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ (ไข่มีคุณภาพไม่ดีและลดอัตราการฝังตัวของไข่) (39, 40)
11. จำเป็นต่อพัฒนาการที่ดีของทารก วิตามินเอจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของตัวอ่อนในระหว่างการตั้งครรภ์ มีความสำคัญต่อพัฒนาการของอวัยวะและโครงสร้างของทารกในครรภ์ตั้งแต่โครกระดูก ระบบประสาท หัวใจ ตา ปอด ตับอ่อน และไต อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินเอมากเกินไปในระหว่างการตั้งครรภ์ก็อาจนำไปสู่ความพิการแต่กำเนิดของทารกได้ (41, 42)
12. โรคออทิสติกสเปกตรัม (ASD) การศึกษาขนาดเล็กในเด็กอายุ 4-6 ปีในประเทศจีนที่เป็นโรค ASD พบว่าส่วนใหญ่มีระดับเรตินอลในเลือดต่ำกว่าเด็กที่ไม่ได้เป็น (0.54 เทียบกับ 0.82 µmol/L ตามลำดับ) โดยเด็กที่เป็น ASD เมื่อได้รับวิตามินเอในปริมาณมากเพียงครั้งเดียว (200,000 IU) เมื่อทำการทดสอบอีกครั้งใน 6 เดือนต่อมา พบว่าระดับเรตินอลในเลือดโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 0.79 µmol/L และช่วยปรับปรุงอาการของโรคออทิสติกให้ดีขึ้นเมื่อประเมินด้วยแบบวัดออทิสติกในวัยเด็ก (CARS) เช่น การปรับตัวหรือพัฒนาการทางการสังคม ความวิตกกังวล การสื่อสาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่มีกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม (43)
13. ท้องร่วงในหญิงตั้งครรภ์ วิตามินเออาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการท้องเสียหรือท้องร่วง (Diarrhea) ในหญิงตั้งครรภ์ที่ขาดสารอาหาร (33)
14. โรคหัด ในปี 2019 โรคหัดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่า 207,500 คนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็กเล็กในประเทศที่มีรายได้น้อย (1) โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือการได้รับวิตามินเอไม่เพียง องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รับประทานวิตามินเอในปริมาณมากในเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความชุกของการขาดวิตามินเอเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคหัด สำหรับปริมาณที่แนะนำคือวิตามินเอ 30,000 mcg RAE (100,000 IU) หนึ่งครั้งสำหรับทารกอายุ 6-11 เดือน และขนาด 60,000 mcg RAE (200,000 IU) ทุก 4-6 เดือนสำหรับอายุ 1-5 ปี (44)
การเสริมวิตามินเอมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ลดลงจากโรคหัด 26% (1) แต่บางการศึกษาก็พบว่าการเสริมวิตามินเอไม่ได้ช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคหัด แต่พบว่าช่วยป้องกันหรือลดอุบัติการณ์เกิดโรคหัดได้ (45)
15. ดีต่อสุขภาพผิวหนังและเส้นผม วิตามินเอมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย รวมทั้งผิวหนังและเส้นผม โดยมีส่วนช่วยในการผลิตซีบัมซึ่งเป็นน้ำมันที่ช่วยรักษาระดับความชุ่มชื้นของผิวหนังและเส้นผม
16. ลดความเสี่ยงการเกิดสิว การขาดวิตามินเออาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิว (46) การวิจัยในวารสาร American Academy of Dermatology ชี้ให้เห็นว่ายาไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) ซึ่งเป็นเรตินอยด์ชนิดหนึ่ง สามารถช่วยรักษาสิวที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ยังใช้รักษาในผู้ที่เป็นสิวปานกลางที่ดื้อต่อการรักษารูปแบบอื่น ๆ ได้ด้วย (47)
17. รอยแผลเป็นจากสิว เรตินอยด์อาจช่วยลดรอยแผลเป็นจากสิวได้จากการศึกษาหนึ่งที่พบว่าการรักษาด้วยเรตินอยด์ทำให้รอยแผลเป็นจากสิวดีขึ้นหลังจากผ่านไป 24 สัปดาห์
18. ครีม เจล หรือเซรั่มทาเฉพาะที่เพื่อรักษาปัญหาทางผิวหนัง อนุพันธ์ของวิตามินเอ เช่น Retinol, Retinyl-palmitate, Retinyl-acetate, Retinaldehyde มักถูกใช้เป็นส่วนผสมทั่วไปในครีม เจล หรือเซรั่มเพื่อใช้แก้ปัญหาผิวหนังในด้านต่าง ๆ เช่น การเพื่อใช้ลดสิว ลดริ้วรอยหรือป้องกันการเกิดริ้วก่อนวัย รักษาผิวจากการได้รับรังสียูวี ใช้ปรับสภาพผิวหรือสีผิว รวมไปใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน ผิวหนังหนาขึ้นผิดปกติ (ผิวหนังหนาผิดปกติ)
- นอกจากอนุพันธ์ของวิตามินเอที่ใช้จะมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระในผิวหนังชั้นบนสุดแล้ว ยาทาเรตินอยด์อาจเพิ่มการสังเคราะห์และยับยั้งการเสื่อมสภาพของคอลลาเจน (48)
- มีหลักฐานการผลิตภัณฑ์ที่มีเรตินอล 0.04-0.1% สามารถช่วยปรับปรุงโทนสีผิวได้เล็กน้อยและช่วยลดริ้วรอยบนใบหน้าได้ (49)
- อย่างไรก็ตาม เรตินอยด์ในรูปแบบทามักทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองในช่วงแรก เช่น ผิวหนังแห้ง แดง แสบไหม้ หรือลอกเป็นสะเก็ด แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้จะลดลงเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์ และการใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ทาอาจช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้ ส่วนในหญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาเรตินอยด์ เพราะอาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของคอลลาเจน (Collagen) จากงานวิจัย !
19. ป้องกันผิวไหม้แดด เบต้าแคโรทีนถูกนำมาใช้เพื่อลดความไวต่อแสงแดดในผู้ที่มีภาวะทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Erythropoietic porphyria ในทำนองเดียวกัน เบต้าแคโรทีนอาจช่วยป้องกันผิวไหม้แดดได้เล็กน้อยในผู้ที่ไวต่อแสงแดด โดยปริมาณเบต้าแคโรทีนต่อวันคือ 25 มก. (6,250 mcg RAE หรือ 41,666 IU) โปรดทราบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบต้าแคโรทีนไม่สามารถช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังได้ และไม่น่าจะช่วยป้องกันผิวไหม้แดดในคนปกติ
20. ประโยชน์เบต้าแคโรทีนด้านอื่น ๆ (การศึกษามีจำกัด) การวิจัยในมนุษย์อย่างจำกัดแสดงให้เห็นว่าเบต้าแคโรทีนอาจป้องกันโรคหอบหืดที่เกิดจากการออกกำลังกาย, ลดอาการของโรคฝ้าขาวในช่องปาก (Oral leukoplakia), ชะลอการลุกลามของโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis), เพิ่มความสามารถในการออกกำลังกายและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ, รักษาการติดเชื้อ (โดยเฉพาะในลำคอ หน้าอก และช่องท้อง), ผิวหนังหนาขึ้นผิดปกติ (Hyperkeratosis)
ข้อควรรู้และคำแนะนำ
- อาหารที่มีวิตามินเอสูง : ตับเนื้อ มันเทศ ผักโขม พายฟักทอง แครอท, ปลาแฮร์ริ่ง, ไอศกรีม, นมพร่องมันเนย, แคนตาลูป, ชีส, พริหวานแดง, มะม่วง, อาหารเช้าซีเรียลเสริมวิตามินเอ, ไข่ต้ม, แอปริคอตแห้ง, บรอกโคลีต้ม, ปลาแซลมอน, น้ำมันมะเขือเทศ, โยเกิร์ต, ปลาทูน่ากระป๋อง, ไก่, ถั่วต่าง ๆ
- ปริมาณวิตามินเอที่แนะนำต่อวัน (RDA) : เป็นระดับการบริโภคเฉลี่ยต่อวันที่ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่มีสุขภาพดีเกือบทั้งหมด (97-98%) เป็นดังนี้ (1)
- อายุไม่เกิน 6 เดือน : 400 mcg RAE
- อายุ 7-12 เดือน : 500 mcg RAE
- อายุ 1-3 ปี : 300 mcg RAE
- อายุ 4-8 ปี : 400 mcg RAE
- อายุ 9-13 ปี : 600 mcg RAE
- ผู้ชายอายุ 14 ปีขึ้นไป : 900 mcg RAE
- ผู้หญิงอายุ 14 ปีขึ้นไป : 700 mcg RAE
- หญิงตั้งครรภ์ : อายุ 14-18 คือ 750 mcg RAE และอายุ 19-50 ปี คือ 770 mcg RAE
- หญิงให้นมบุตร : อายุ 14-18 คือ 1,200 mcg RAE และอายุ 19-50 ปี คือ 1,300 mcg RAE
- หน่วยวัดของวิตามินเอ : ในปัจจุบันหน่วยการวัดของวิตามินเอ คือ mcg RAE แต่ก่อนหน้านี้จะใช้หน่วย IU ซึ่งอาหารเสริมวิตามินเอในปัจจุบันก็กำลังทยอยเปลี่ยนไปใช้หน่วย mcg RAE หากต้องการแปลง IU เป็น mcg RAE สามารถเทียบค่าได้ดังนี้
- 1 IU retinol (อาหารปกติและอาหารเสริมที่ให้เรตินอล) = 0.3 mcg RAE
- 1 IU supplemental beta-carotene (อาหารเสริมเบต้าแคโรทีน) = 0.3 mcg RAE
- 1 IU dietary beta-carotene (อาหารปกติที่ให้เบต้าแคโรทีน) = 0.05 mcg RAE
- 1 IU dietary alpha-carotene or beta-cryptoxanthin (อาหารปกติที่ให้แอลฟาแคโรทีนหรือเบต้าคริปโตแซนธิน) = 0.025 mcg RAE
- การดูดซึมของวิตามินเอ : ร่างกายสามารถดูดซึมเรตินอลจากอาหารปกติได้มากถึง 75-100% และดูดซึมเบต้าแคโรทีนจากอาหารได้ 10-30% ส่วนการดูดซึมของวิตามินเอในอาหารเสริม (Preformed vitamin A) จะอยู่ที่ 70-90% ในขณะที่อาหารเสริมเบต้าแคโรทีนจะดูดซึมได้ประมาณ 8.7-65% (1)
- กลุ่มเสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอ (1) :
- ทารกคลอดก่อนกำหนด เมื่อแรกเกิดทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีการสะสมของวิตามินเอในตับต่ำ และระดับความเข้มข้นของเรตินอลในพลาสมามักจะอยู่ในระดับต่ำตลอดช่วงปีแรก (ทำให้เสี่ยงต่อโรคตาและโรคปอดเรื้อรัง) อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่มีรายได้สูงมักไม่พบการขาดวิตามินเอในทารกและมักจะเกิดเฉพาะในผู้ที่มีความผิดปกติของการดูดซึมสารอาหาร
- ทารก เด็ก หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรในประเทศที่มีรายได้น้อย ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกเด็กวัยก่อนเรียนมีภาวะขาดวิตามินเอมากถึง 190 ล้านคน (1 ใน 3 ของเด็กทั้งหมดทั่วโลกในกลุ่มอายุนี้) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มีความเสี่ยงสูงต่อความบกพร่องทางการมองเห็น การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ เช่น โรคหัด ท้องร่วง) ส่วนในหญิงตั้งครรภ์มีการประมาณว่ามีการขาดวิตามินเอมากถึง 9.8 ล้านคน (15% ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด) โดยในหญิงตั้งครรภ์จะต้องการวิตามินเอมากขึ้นเพื่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ส่วนผู้หญิงให้นมบุตรก็ต้องได้รับวิตามินเออย่างเพียงพอเพื่อให้วิตามินเอในน้ำนมแม่มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของทารกในช่วง 6 เดือนแรก
- ผู้ที่เป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) มากถึง 90% ของผู้ที่เป็นโรคนี้มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอสูงเนื่องจากปัญหาการดูดซึมไขมันที่ลำบาก การศึกษาในออสเตรเลียและเนเธอแลนด์ระบุว่า 2-13% ของเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคนี้มีภาวะขาดวิตามินเอ
- ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease), โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis), โรคเซลิแอค (Celiac disease) มักมีภาวะขาดวิตามิเอ
- ข้อห้ามในการใช้ :
- หญิงตั้งครรภ์ : ห้ามใช้วิตามินเอโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ แม้ว่าวิตามินเอบางชนิดจะจำเป็นต่อพัฒนาของทารก แต่วิตามินเอก็อาจทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดได้หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป
- หญิงให้นมบุตร : ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ถึงปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล
- ผู้ที่มีภาวะหรือโรคดังต่อไปนี้ : มีภาวะขาดธาตุเหล็กหรือสังกะสี, ขาดสารอาหาร, มีภาวะลำไส้สั้น, เป็นโรคไต, โรคโลหิตจาง,โรคตับอ่อนอักเสบ, โรคเซลิแอค (Celiac disease), โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis), มีปัญหาเกี่ยวกับตับ (เช่น เป็นโรคตับแข็ง โรคดีซ่าน), มีการติดเชื้อในลำไส้, หรือหากร่างกายดูดซึมไขมันได้ไม่ดี (33)
- ปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ (ULs) : เนื่องจากการได้รับวิตามินมากเกินไปอาจทำให้เกิดความเป็นพิษและเป็นอันตรายได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกำหนดปริมาณที่ยอมรับได้สำหรับวิตามินเอ (Preformed vitamin A) ทั้งที่มาจากอาหารปกติจากสัตว์และจากอาหารเสริม ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทานเกิน ULs เป็นประจำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำของแพทย์ (ส่วนเบต้าแคโรทีนและแคโรทีนอยด์อื่น ๆ นั้นกรรมาธิการอาหารและโภชนาการของสหรัฐฯ (FNB) ไม่ได้กำหนดขนาดเอาไว้ แต่ทาง FNB แนะนำว่าไม่ควรใช้อาหารเสริมเบต้าแคโรทีนในคนทั่วไป ยกเว้นการใช้เพื่อเป็นแหล่งโปรวิตามินเอเพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามินเอ) (1)
- อายุไม่เกิน 3 ปี : 600 mcg RAE (2,000 IU)
- อายุ 4-8 ปี : 900 mcg RAE (3,000 IU)
- อายุ 9-13 ปี : 1,700 mcg RAE (5,666 IU)
- อายุ 14-18 ปี : 2,800 mcg RAE (9,333 IU)
- อายุ 19 ปีขึ้นไป : 3,000 mcg RAE (10,000 IU)
- ความเสี่ยงจากการได้รับวิตามินเอมากเกินไป : เนื่องจากวิตามินเอละลายในไขมัน ร่างกายจึงเก็บสะสมปริมาณส่วนเกินไว้ที่ตับเป็นหลัก และระดับเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการสะสมจนเกิดผลเสียต่อร่างกายได้
- วิตามินเออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง : ไปพบแพทย์ทันทีหากคุณมีอาการไข้ เหงื่อออก อ่อนเพลียผิดปกติ, อารมณ์เปลี่ยนแปลง, สับสนหรือรู้สึกหงุดหงิด, อาเจียน, ท้องร่วง, เบื่ออาหาร, รอบเดือนเปลี่ยน, มองเห็นภาพซ้อน, เหงือกมีเลือดออกหรือเจ็บปาก, ชัก, ผมร่วง ผิวลอก ผิวรอบปากแตก หรือผิวเปลี่ยนสี และควรพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการแพ้ ลมพิษ หายใจลำบาก หรือเกิดอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ (33)
- ภาวะการได้รับวิตามินเอเกินขนาด (Hypervitaminosis A) : อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหรือหลายสัปดาห์หลังจากรับประทานในขนาดสูงมาก 1-3 ครั้ง (โดยทั่วไปคือมากกว่า 100 เท่าของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (RDA) หรือประมาณ 70,000-90,000 mcg RAE) และทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่ามัว คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และมีปัญหาด้านความสามารถของกล้ามเนื้อที่จะทำงานในเวลาหรือลำดับที่ถูกต้อง ส่วนในกรณีที่รุนแรง ความดันน้ำไขสันหลังในสมองจะเพิ่มขึ้น นำไปสู่อาการง่วงนอน โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด ในขณะที่การได้รับวิตามินขนาดสูงเป็นประจำ (Chronic hypervitaminosis A) หรือมากกว่า RDA ประมาณ 10 เท่า (7,000-9,000 mcg RAE) อาจทำให้ผิวแห้ง ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ เหนื่อยล้า ซึมเศร้า และผลการตรวจตับผิดปกติ (50)
- ทารกพิการ : การเสริมวิตามินเอเกินปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ (ULs) รวมทั้งเรตินอยด์ในรูปแบบยาทาเฉพาะที่ต่าง ๆ อาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ และผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรไม่ควรเสริมวิตามินในขนาดสูงหรือมากกว่าวันละ 10,000 IU หรือ 3,000 mcg RAE (1) หรือในช่วงก่อนคลอดไม่เกิน 5,000 IU หรือ 1,500 mcg RAE
- มะเร็งปอด : การศึกษาของ ATBC พบว่าการเสริมเบต้าแคโรทีนในขนาดสูง (20 มก./วัน) เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอดและการเสียชีวิตในผู้ชายที่สูบบุหรี่ (24) เช่นเดียวกับการศึกษาของ CARET ก็พบว่าการเสริมเบต้าแคโรทีนในขนาดสูง 30 มก. และวิตามินเอ 25,000 IU ต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอดและการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดในผู้ที่สูบบุหรี่ เคยสูบบุหรี่ และคนงานที่สัมผัสกับแร่ใยหิน (22) เช่นเดียวกับการศึกษาอื่น ๆ ที่การเสริมเรตินอลในระยะยาวสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งปอด (51)
- ผมร่วง : วิตามินเอในปริมาณสูงจากอาหารเสริม 5,000 IU ต่อวัน เชื่อมโยงกับอาการผมร่วงในรายงานการศึกษาหนึ่ง แต่เมื่อหยุดทานอาหารเสริมวิตามินเออาการผมร่วงก็ลดลง (52) ทำนองเดียวกับการมีรายงานการเกิดอาการผมร่วงในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานที่รับประทานวิตามินเอในขนาดสูงวันละ 50,000 IU (53)
- ตับถูกทำลาย : การรับประทานวิตามินเอในขนาดสูงวันละ 40,000 IU อาจทำให้ตับถูกทำลายได้ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้อาหารเสริมวิตามินเอเพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมต่อตับเพิ่มเติม
- โรคเกาต์ : การศึกษาพบว่าระดับวิตามินเอในเลือดที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับระดับกรดยูริกในเลือดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์ (54) แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าระดับวิตามินเอในเลือดที่สูงขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์ที่เพิ่มขึ้นหรือไม่
- กระดูกหัก : การศึกษาบางชิ้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการเสริมวิตามินเอหรือเรตินอลในขนาดสูงจากอาหารและจากอาหารเสริมกับความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของกระดูกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและสตรีวัยหมดระดู (33)
- เพิ่มอัตราการเสียชีวิต : การศึกษาในระยะยาวพบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินเอในเลือดสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินเอในเลือดปานกลาง (55) หรือการทบทวนการศึกษาการทดลองทางคลิกที่พบอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 5% ในผู้ที่รับประทานอาหารเสริมเบต้าแคโรทีน (56) ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แนะนำให้คนทั่วไปใช้อาหารเสริมเบต้าแคโรทีน
- ผิวสีเหลือง : เบต้าแคโรทีนในขนาดสูง (รวมถึงจากอาหาร) อาจทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ แต่ไม่ได้เป็นภาวะที่อันตราย และเมื่อลดขนาดลงภาวะนี้ก็จะหายไปเอง
- ในเด็ก : วิตามินเอขนาดสูงอาจทำให้เกิดปัญหาการเจริญเติบโต, อาการง่วงนอนอย่างรุนแรง, หมดสติ, ปัญหาการมองเห็น, มีไข้ หนาวสั่น, ไอมีเสมหะ, เจ็บหน้าอก, หายใจลำบาก, อาเจียน ท้องเสีย, ผิวลอก (33)
- ปฏิสัมพันธ์กับยา : ยาหลายชนิดอาจส่งผลเสียต่อระดับวิตามินเอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณกำลังรับประทานยาเหล่านี้อยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ
- ยาลดความอ้วนออริสแตท (Orlistat) เช่น Alli®, Xenical® เพราะยานี้สามารถลดการดูดซึมของวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน รวมถึงวิตามินที่ละลายในไขมันอื่น ๆ
- เรตินอยด์ (Retinoids) หลีกเลี่ยงการใช้วิตามินเอ หากคุณกำลังใช้เรตินอยด์เหล่านี้ซึ่งเป็นยาที่ได้จากวิตามินเอ เพราะเรตินอยด์สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะวิตามินเอเกินได้เมื่อรับประทานร่วมกับอาหารเสริมวิตามินเอ ยาในกลุ่ม Retinoid ได้แก่ Accutane (isotretinoin), Avage (tazarotene), Renova (tretinoin), Retin-A (tretinoin), Soriatane (acitretin), Targretin (bexarotene) และ Tegison (etretinate)
- ยาปฏิชีวนะ เช่น Doxycycline, Minocycline , Sarecycline หรือ Tetracycline
- ยาคุมกำเนิด
- แคลเซียมหรือแร่ธาตุอื่นๆ (แมกนีเซียม สังกะสี และเหล็ก) ในขนาดสูงจากอาหารเสริมอาจลดการดูดซึมเบต้าแคโรทีน (และแคโรทีนอยด์อื่น ๆ เช่น ไลโคปีนและแอสตาแซนธิน) จากอาหารและ/หรืออาหารเสริม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการดีที่จะเลือกรับประทานเบต้าแคโรทีนในช่วงเวลาอื่นของวันแทนที่จะทานทั้งหมดร่วมกัน นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่ทานวิตามินเอ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกทำลายของตับ
- น้ำมันตับปลา : น้ำมันตับปลาไม่เพียงแต่ให้วิตามินเอแต่ยังให้วิตามินดีและกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น EPA และ DHA หากคุณกำลังมองหาสิ่งเหล่านี้ น้ำมันตับปลาอาจเป็นตัวเลือกที่ดี
สรุปเรื่องวิตามินเอ
วิตามินเอหมายถึงกลุ่มของสารประกอบ โดยวิตามินเอที่พบได้บ่อยที่สุดคือเรตินอล (พบได้ในอาหารจากสัตว์) และเบต้าโรทีน (อาหารจากพืช) อาหารที่ให้วิตามินเอมาก เช่น นม ชีส ไข่ เนย เนื้อสัตว์ ตับ ผักสีเขียวเข้มและสีเหลือง ฯลฯ วิตามินเอมีความสำคัญต่อดวงตาและผิวหนัง ระบบภูมิคุ้มกัน การเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก อย่างไรก็ตาม การเสริมวิตามินเอเกินขนาดจากอาหารเสริมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ และในหญิงตั้งครรภ์ห้ามใช้วิตามินเอโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
งานวิจัยอ้างอิง
- National Institutes of Health (NIH). “Vitamin A and Carotenoids”. (2023)
- American Family Physician. “Smell and Taste Disorders: A Primary Care Approach”. (2000)
- Pediatrics International. “Vitamin A deficiency manifested as conjunctival hyperemia due to a limited food repertoire”. (2022)
- American Journal of Ophthalmology Case Reports. “Visual field decline and restoration following vitamin A therapy for vitamin A deficiency”. (2022)
- The Lancet Global Health. “Trends and mortality effects of vitamin A deficiency in children in 138 low-income and middle-income countries between 1991 and 2013: a pooled analysis of population-based surveys”. (2015)
- Annual Review of Nutrition. “Vitamin A, infection, and immune function”. (2001)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Increased risk of respiratory disease and diarrhea in children with preexisting mild vitamin A deficiency”. (1984)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “Carotenoid Intake from Natural Sources and Head and Neck Cancer: A Systematic Review and Meta-analysis of Epidemiological Studies”. (2015)
- Journal of the National Cancer Institute. “Dietary carotenoids and vitamins A, C, and E and risk of breast cancer”. (1999)
- Journal of Clinical Oncology. “Adjuvant treatment of stage I lung cancer with high-dose vitamin A”. (1993)
- Scientific Reports. “Meta-analysis of the association between dietary lycopene intake and ovarian cancer risk in postmenopausal women”. (2014)
- Bioscience Reports. “Dietary vitamin A intake and the risk of ovarian cancer: a meta-analysis”. (2020)
- World Journal of Surgical Oncology. “Vitamin A and risk of bladder cancer: a meta-analysis of epidemiological studies”. (2014)
- International Journal of Food Sciences and Nutrition. “Association between intake of antioxidants and pancreatic cancer risk: a meta-analysis”. (2016)
- Journal of Investigative Dermatology. “Association of vitamin A and carotenoid intake with melanoma risk in a large prospective cohort”. (2012)
- Ann Hematol. “Carotenoid intake and risk of non-Hodgkin lymphoma: a systematic review and dose-response meta-analysis of observational studies”. (2017)
- Nutrients. “Association between Dietary Vitamin A Intake and the Risk of Glioma: Evidence from a Meta-analysis”. (2015)
- Nutrition and Health. “A systematic review and meta-analysis of the association between vitamin A intake, serum vitamin A, and risk of liver cancer”. (2018)
- Nutrition and Cancer. “Micronutrient Intake and Risk of Hematological Malignancies in Adults: A Systematic Review and Meta-analysis of Cohort Studies”. (2018)
- Nutrition and Cancer. “Lycopene Consumption and Risk of Colorectal Cancer: A Meta-Analysis of Observational Studies”. (2016)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Dietary intake and blood concentrations of antioxidants and the risk of cardiovascular disease, total cancer, and all-cause mortality: a systematic review and dose-response meta-analysis of prospective studies”. (2018)
- The New England Journal of Medicine. “Effects of a combination of beta carotene and vitamin A on lung cancer and cardiovascular disease”. (1996)
- Journal of the National Cancer Institute. “The Beta-Carotene and Retinol Efficacy Trial: incidence of lung cancer and cardiovascular disease mortality during 6-year follow-up after stopping beta-carotene and retinol supplements”. (2004)
- The New England Journal of Medicine. “The effect of vitamin E and beta carotene on the incidence of lung cancer and other cancers in male smokers”. (1994)
- International Journal of Cancer. “Effects of α-tocopherol and β-carotene supplementation on cancer incidence and mortality: 18-year postintervention follow-up of the Alpha-tocopherol, Beta-carotene Cancer Prevention Study”. (2014)
- JAMA Ophthalmology. “Long-term Outcomes of Adding Lutein/Zeaxanthin and ω-3 Fatty Acids to the AREDS Supplements on Age-Related Macular Degeneration Progression: AREDS2 Report 28”. (2022)
- The New England Journal of Medicine. “Lack of effect of long-term supplementation with beta carotene on the incidence of malignant neoplasms and cardiovascular disease”. (1996)
- Journal of the National Cancer Institute. “Vitamins C and E and beta carotene supplementation and cancer risk: a randomized controlled trial”. (2009)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “Lung cancer chemoprevention: a randomized, double-blind trial in Linxian, China”. (2006)
- JAMA. “Vitamin, Mineral, and Multivitamin Supplementation to Prevent Cardiovascular Disease and Cancer US Preventive Services Task Force Recommendation Statement”. (2022)
- British Journal of Ophthalmology. “A randomised, double masked, clinical trial of high dose vitamin A and vitamin E supplementation after photorefractive keratectomy”. (2001)
- International Ophthalmology. “Night blindness and Crohn’s disease”. (2014)
- Drugs.com. “Vitamin A”. (2023)
- Ophthalmology. “Diet and cataract: the Blue Mountains Eye Study”. (2000)
- Arch Ophthalmol. “A randomized, placebo-controlled, clinical trial of high-dose supplementation with vitamins C and E, beta carotene, and zinc for age-related macular degeneration and vision loss: AREDS report no. 8”. (2001)
- JAMA. “Lutein + Zeaxanthin and Omega-3 Fatty Acids for Age-Related Macular Degeneration The Age-Related Eye Disease Study 2 (AREDS2) Randomized Clinical Trial”. (2013)
- International Journal of Environmental Research and Public Health. “The Effect of Vitamin A on Fracture Risk: A Meta-Analysis of Cohort Studies”. (2017)
- Journal of Clinical Densitometry. “Vitamin A and bone health: the balancing act”. (2013)
- Nutrients. “Vitamin A in Reproduction and Development”. (2011)
- Biology of Reproduction. “The Role of Retinoic Acid (RA) in Spermatogonial Differentiation”. (2016)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin A in pregnancy: requirements and safety limits”. (2000)
- Archives de Pédiatrie. “[Teratogenic effects of vitamin A and its derivates]”. (1997)
- Brain Research Bulletin. “Vitamin A improves the symptoms of autism spectrum disorders and decreases 5-hydroxytryptamine (5-HT): A pilot study”. (2018)
- WHO. “Guideline: vitamin A supplementation in infants and children 6-59 months of age”. (2011)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Vitamin A supplementation for preventing morbidity and mortality in children from six months to five years of age”. (2017)
- Journal of Nutrition & Food Sciences. “Role of Diet in Dermatological Conditions”. (2015)
- Journal of the American Academy of Dermatology. “Guidelines of care for the management of acne vulgaris”. (2016)
- Scientific Committee on Consumer Safety . “OPINION ON Vitamin A (Retinol, Retinyl Acetate, Retinyl Palmitate) ”. (2016)
- Aesthetic Surgery Journal. “Cosmeceuticals: the evidence behind the retinoids”. (2010)
- National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. “Vitamin A”. (2012)
- American Journal of Epidemiology. “Long-term use of beta-carotene, retinol, lycopene, and lutein supplements and lung cancer risk: results from the VITamins And Lifestyle (VITAL) study”. (2009)
- Archives of Dermatological Research. “Hypervitaminosis A in a patient with alopecia receiving renal dialysis”. (1979)
- Journal of Advanced Research. “Combined effect of high-dose vitamin A, vitamin E supplementation, and zinc on adult patients with diabetes: A randomized trial”. (2021)
- Nutrition Research. “Associations between concentrations of uric acid with concentrations of vitamin A and beta-carotene among adults in the United States”. (2013)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “Serum antioxidant nutrients, vitamin A, and mortality in U.S. Adults”. (2013)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Antioxidant supplements for prevention of mortality in healthy participants and patients with various diseases”. (2012)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2023