12 ประโยชน์ของคอลลาเจน (Collagen) ตามงานวิจัย !

คอลลาเจน (Collagen) กับประโยชน์ทางการแพทย์

คอลลาเจน

คอลลาเจน (Collagen) เป็นโปรตีนที่มีมากที่สุดในร่างกาย พบได้ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก กระดูกอ่อน เอ็นยึดกล้ามเนื้อ เอ็นยึดกระดูก หลอดเลือด และกระจกตา

คอลลาเจนเป็นโปรตีนเชิงซ้อนที่สังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนไกลซีน (Glycine), โพรลีน (Proline) และไฮดรอกซีโพรลีน (Hydroxyproline) เป็นส่วนใหญ่ (กรดอะมิโนเหล่านี้จะก่อตัวเป็น 3 สายประกอบกันในลักษณะพันกันเป็นเกลียว)

คอลลาเจนมีหน้าให้การสนับสนุนโครงสร้างแก่เนื้อเยื่อและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการของเซลล์ (Cellular processes), การซ่อมแซมเนื้อเยื่อ (Tissue repair), การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune response), การสื่อสารระหว่างเซลล์ (Cellular communication) และการเคลื่อนที่ของเซลล์ (Cellular migration) ซึ่งเป็นกระบวนการที่จำเป็นสำหรับการบำรุงรักษาเนื้อเยื่อ

ร่างกายของเราสามารถผลิตคอลลาเจนได้เองตามธรรมชาติ และสามารถได้รับจากการบริโภคอาหารบางชนิด เช่น หนังไก่ หนังหมู ขาหมู หนังปลา หรือน้ำซุปกระดูก

เมื่อคุณอายุมากขึ้น คอลลาเจนที่มีอยู่จะเริ่มสลายตัวและร่างกายจะผลิตคอลลาเจนได้ยากมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำไปสู่สัญญาณแห่งวัย เช่น เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น ผิวหย่อนคล้อย ส่วนความสมบูรณ์ของคอลลาเจนที่พบในกระดูกก็จะลดลงตามอายุด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนกันมากขึ้น โดยเฉพาะคอลลาเจนชนิดผง (อ้างอิง 1, 2)

อาหารเสริมคอลลาเจนที่นิยมมักอยู่ในรูปแบบผงเป็นหลัก (อื่น ๆ ก็เช่น แคปซูล ของเหลว กัมมี่ ซึ่งคอลลาเจนเหล่านี้จะได้มากผิวหนังและกระดูกของวัว หมู ไก่ หรือบางครั้งก็ได้มาจากเกล็ดปลาหรือเยื่อหุ้มเปลือกไข่) ส่วนชนิดของคอลลาเจนที่พบก็อาจแตกต่างกันไป บางยี่ห้อมีหนึ่งหรือสองชนิด ในขณะที่บางยี่ห้ออาจมีมากถึง 5 ชนิด แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชนิดที่ 1, 2 และ 3 (โดยอาหารเสริมคอลลาเจนสำหรับผิวโดยทั่วไป (แต่ไม่เสมอไป) จะประกอบไปด้วยคอลลาเจนชนิดที่ 1 และ/หรือชนิดที่ 3 ส่วนคอลลาเจนชนิดที่ 2 นั้นมักใช้เพื่อสุขภาพบำรุงข้อต่อ) และโดยทั่วไปก็ผลิตมาจากสัตว์ เช่น วัว หมู ไก่ ปลา หรือจากแหล่งอื่น เช่น เยื่อหุ้มเปลือกไข่

คอลลาเจนมีหน้าที่สำคัญมากมายและเป็นส่วนประกอบสำคัญในกระดูก ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย คนส่วนใหญ่มักทานอาหารเสริมคอลลาเจนเพื่อบำรุงสุขภาพผิว กระดูก และข้อต่อ แต่มันช่วยได้จริงหรือ ?

ชนิดของคอลลาเจน

ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ระบุชนิดคอลลาเจนในร่างกายไว้ทั้งหมด 29 ชนิด แต่คอลลาเจนที่พบได้มากที่สุดจะมีอยู่ 5 ชนิด ดังนี้

  • คอลลาเจนชนิดที่ 1 (Collagen Type I) : เป็นคอลลาเจนที่พบได้มากที่สุดในร่างกาย โดยคิดเป็น 90% ของคอลลาเจนทั้งหมดที่พบในร่างกาย สามารถพบได้ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทั้งหมด ใช้ในการสร้างกระดูก เอ็นยึดกระดูก เอ็ดยึดกล้ามเนื้อ ผิวหนัง ผนังหลอดเลือด กระจกตา มีหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อฉีกขาด เพิ่มความยืดหยุ่นแก่ผิว ช่วยให้ผิวกระชับไม่หย่อนคล้อย ช่วยในเรื่องการสมานแผล เป็นต้น
  • คอลลาเจนชนิดที่ 2 (Collagen Type II) : เป็นคอลลาเจนที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าชนิดแรกและทำหน้าที่แตกต่างจากคอลลาเจนชนิดแรกอย่างชัดเจน คือ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ช่วยในการสร้างกระดูกอ่อน จึงพบมากในกระดูก กระดูกอ่อน และข้อต่อ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้สะดวก ลดอัตราการเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ
  • คอลลาเจนชนิดที่ 3 (Collagen Type III) : มักพบในผนังหลอดเลือด ผิว กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะผิวเด็กและผิวใหม่หรือผิวที่เป็นแผลสร้างใหม่
  • คอลลาเจนชนิดที่ 4 (Collagen Type IV) : พบได้เฉพาะบริเวณเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มกล้ามเนื้อและไขมัน เส้นใยฝอยของเยื่อบุผิวแผ่นบาง ๆ บริเวณนอกเซลล์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทและเส้นเลือด ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของผนังหลอดเลือดในข้อต่อ
  • คอลลาเจนชนิดที่ 5 (Collagen Type V) : พบในผิวของเซลล์ เส้นผม เนื้อเยื่อของทารกในระหว่างตั้งครรภ์ และรก มีหน้าที่ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นใยภายในชั้นผิวและจัดระเบียบเซลล์

รูปแบบของคอลลาเจน

  1. คอลลาเจนไฮโดรไลเสต (Collagen hydrolysate) เรียกอีกอย่างว่าไฮโดรไลซ์คอลลาเจน (Hydrolyzed collagen) หรือคอลลาเจนเปปไทด์ (Collagen peptides) คือคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยที่เรียกว่ากระบวนการไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้สารเคมีหรือเอนไซม์ในการย่อยโครงสร้างของคอลลาเจนเพื่อให้เกิดเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กขึ้น เนื่องจากคอลลาเจนไฮโดรไลเสตมีขนาดเล็กกว่า (มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ) ร่างกายจึงสามารถดูดซึมได้ง่ายขึ้น และช่วยให้สามารถผสมหรือละลายในน้ำเย็นและน้ำร้อนได้ (อ้างอิง 3)
    • องค์ประกอบของคอลลาเจนไฮโดรไลเสตอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวิธีการไฮโดรไลซ์ รวมถึงเอนไซม์ที่ใช้ ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลต่อคุณสมบัติของส่วนผสม เช่น ละลายในน้ำได้ดีเพียงใด ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด และมีรสชาติเป็นอย่างไร (ตัวอย่างเช่น คอลลาเจนไฮโดรไลเสตที่ผลิตโดย Gelita AG เช่น VERISOL® ที่ผู้ผลิตอ้างว่าเป็นคอลลาเจนเปปไทด์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำพิเศษและไม่มีรสชาติ ในขณะที่คอลลาเจนไฮโดรไลเสตอื่น ๆ มักมีรสชาติคล้ายน้ำซุปกระดูกเล็กน้อย)
  2. คอลลาเจนไดเปปไทด์ (Collagen dipeptide) เป็นคอลลาเจนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน 2 ชนิดที่เชื่อมต่อกัน ส่วนคอลลาเจนไตรเปปไทด์ (Collagen tripeptide) เป็นคอลลาเจนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ชนิดที่เชื่อมต่อกัน โดยทั้งสองเกิดจากกระบวนการไฮโดรไลซิสในขั้นตอนการย่อยโครงสร้างจากการใช้สารเคมีหรือเอนไซม์เพื่อทำการตัดโมเลกุลของคอลลาเจนออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งในกรณีที่เกิดการเชื่อมต่อกรดอะมิโน 2 ตัวเข้าด้วยกันจะทำให้เกิด Collagen dipeptide แต่ถ้าเกิดการเชื่อมกรดอะมิโน 3 ชนิดเข้าด้วยกันจะทำให้เกิด Collagen tripeptide
  3. คอลลาเจนที่ถูกไฮโดรไลซ์เพียงบางส่วนจะเรียกว่า “เจลาติน” (Gelatin) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเจลหรือสารที่มีความหนืดเมื่อเย็นและเปลี่ยนเป็นของเหลวเมื่อร้อน ด้วยเหตุนี้ เจลาตินจึงละลายได้ในน้ำร้อนเท่านั้นและไม่สามารถละลายในน้ำเย็นได้ (ส่วนใหญ่ใช้ในการทำขนมและเครื่องดื่ม)
  4. คอลลาเจนดิบหรือไม่ถูกแปรสภาพ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ UC-II® ซึ่งเป็นคอลลาเจนชนิดที่ 2 ที่ไม่ถูกแปรสภาพสำหรับใช้บำรุงสุขภาพข้อต่อ ซึ่งจะแตกต่างจากคอลลาเจนประเภทอื่น ๆ ด้วยวิธีการการผลิตที่เฉพาะเจาะจง เพื่อสร้างโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับคอลลาเจนที่พบในเนื้อเยื่อข้อต่อ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะเป็นกระดูกอ่อนจากอกไก่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม UC-II® จึงมีคอลลาเจนเพียง 25% (UC-II® 40 มก. จะมีคอลลาเจนเพียง 10 มก.) โดยผู้ผลิตอ้างว่าคอลลาเจนที่ไม่ถูกแปรสภาพนี้ สามารถออกฤทธิ์ที่บริเวณข้อต่อได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีสารปรับปรุงภูมิคุ้มกันที่ยังออกฤทธิ์อยู่ที่ช่วยลดการหลั่งของเอนไซม์ที่สลายคอลลาเจนชนิดที่ 2 จึงมีผลชะลอการตอบสนองต่อการอักเสบ (การศึกษาทางคลินิกในมนุษย์พบว่าการรับประทาน UC-II® ขนาด 40 มก. วันละ 1 แคปซูล สามารถช่วยให้ข้อต่อทำงานได้ดีและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น)

ประโยชน์ของคอลลาเจน

1. ดีต่อผิวพรรณ เนื่องจากคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญของผิว มีบทบาทในการเสริมสร้างความแข็งแรงของผิว รวมถึงความยืดหยุ่นและความชุ่มชื้น เมื่อเราอายุมากขึ้นร่างกายจะผลิตคอลลาเจนได้น้อยลง ส่งผลให้ผิวแห้งและเกิดริ้วรอย (อ้างอิง 4) อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยหลายงานที่แสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนเปปไทด์หรือไฮโดรไลซ์คอลลาเจนวันละ 0.5-10 กรัม อาจช่วยชะลอความชราของผิวโดยการเพิ่มความยืดหยุ่นและความชุ่มชื้นของผิว ลดความแห้งกร้านและช่วยลดเลือนริ้วรอยได้ประมาณ 7-20% แต่มีข้อสังเกตว่าการศึกษาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาขนาดเล็ก แม้จะมีกลุ่มควบคุมแต่ก็มักได้รับทุนจากบริษัทอาหารเสริม ซึ่งสิ่งนี้อาจส่งผลต่อการศึกษา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของวิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินอี, สังกะสี

2. อาจป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก กระดูกส่วนใหญ่ทำจากคอลลาเจน และมวลกระดูกก็ลดลงตามอายุ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะต่าง ๆ เช่น โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ที่มีความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำและมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก (อ้างอิง 24) โดยการเสริมคอลลาเจนในระยะยาวอาจช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และยับยั้งการเสื่อมสลายของกระดูก โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน (25) (การศึกษาส่วนใหญ่พบประโยชน์ของการเสริมคอลลาเจนในผู้หญิงสูงอายุที่มีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ ดังนั้น อาหารเสริมคอลลาเจนอาจจะไม่ได้ผลในผู้ที่มีความหนาแน่นของมวลกระดูกปกติ เช่น ในผู้ชาย หรือผู้หญิงที่มีอายุน้อย ส่วนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแม้ผลลัพธ์จากการศึกษาจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของวิตามินดี, แคลเซียม

3. อาจบรรเทาอาการปวดข้อ คอลลาเจนมีหน้าที่ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของกระดูกอ่อนซึ่งเป็นเนื้อเยื่อคล้ายยางที่ปกป้องข้อต่อ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณคอลลาเจนในร่างกายก็จะลดลง ความเสี่ยงต่อความผิดปกติของข้อต่อก็จะเพิ่มขึ้น เช่น โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ซึ่งการเสริมคอลลาเจนไฮโดรไลเสต (Collagen hydrolysate), คอลลาเจนที่ไม่ถูกแปรสภาพ (เช่น UC-II®, NEXT-II®) รวมถึงอาหารเสริมสารสกัดจากเยื่อหุ้มเปลือกไข่ (Eggshell membrane) ที่อุดมไปด้วยคอลลาเจน อย่างน้อย 3-6 เดือน อาจช่วยลดอาการปวดข้อและอาการข้อฝืดตึงได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อม (อ้างอิง 25, 29, 30) อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มที่ดี แต่ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำว่ายังจำเป็นต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนเพิ่มเติม ก่อนที่จะแนะนำให้เสริมคอลลาเจนในการรักษาโรคข้อเสื่อม

4. อาจช่วยฟื้นตัวหลังการบาดเจ็บที่เอ็น (Ligament และ Tendon) ตามการศึกษาพบว่าการเสริมคอลลาเจนอาจช่วยเร่งการรักษาโรคเอ็นร้อยหวายอักเสบเรื้อรังหรือผู้ที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงของข้อเท้าเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ได้รับทุนจากบริษัทผู้ผลิตคอลลาเจน และอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือการศึกษา และการศึกษาในเรื่องนี้ยังมีจำกัด

5. ช่วยรักษาแผลกดทับและแผลไหม้ที่ผิวหนัง การศึกษาทางคลินิกขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่จะได้รับทุนจากบริษัทผู้ผลิตคอลลาเจน (อาจส่งผลต่อการศึกษา) แนะนำว่าไฮโดรไลซ์คอลลาเจนอาจมีประโยชน์ต่อการรักษาแผลกดทับ แผลไหม้ และรอยแดงหลังการทำเลเซอร์

6. อาจเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ เนื่องจากคอลลาเจนเป็นโปรตีนที่มีมากที่สุดในร่างกาย คอลลาเจนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของกล้ามเนื้อลาย (Skeletal muscle) โดยผลการศึกษาพบว่าอาหารเสริมคอลลาเจนสามารถช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในผู้ที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยได้ ซึ่งเป็นการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นตามอายุ อย่างไรก็ตาม คอลลาเจนไม่ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าไปเวย์โปรตีนในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรง เพราะตามการศึกษาในผู้หญิงสูงอายุที่ออกกำลังกายแบบอาศัยแรงต้านพบว่าเวย์โปรตีนมีประสิทธิภาพในการสร้างกล้ามเนื้อมากกว่าโปรตีนคอลลาเจน ประกอบกับคอลลาเจนยังมีแนวโน้มที่จะมีราคาแพงกว่าเวย์โปรตีน และการศึกษาถึงประโยชน์ในด้านนี้ของคอลลาเจนยังมีอยู่จำกัด (อ้างอิง 51, 52)

  • การศึกษาในปี 2015 เป็นเวลา 12 สัปดาห์ในผู้ชายสูงอายุจำนวน 27 คน (อายุเฉลี่ย 72) ที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยที่ได้รับการเสริมคอลลาเจนเปปไทด์วันละ 15 กรัม (ยี่ห้อ BODYBALANCE®) หลังการออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance training) มีผลทำให้มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน เมื่อเทียบกับผู้ที่ออกกำลังกายแบบเดียวกันแต่ไม่ได้เสริมคอลลาเจน ซึ่งนักวิจัยคาดว่าคอลลาเจนอาจช่วยส่งเสริมการสังเคราะห์โปรตีนของกล้ามเนื้อ เช่น ครีเอทีน (Creatine) รวมถึงกระตุ้นการเติบโตของกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย (53) สอดคล้องกับการศึกษาที่ใหม่กว่าในปี 2019 (54)

7. ผมหนาขึ้น การศึกษาในผู้หญิงที่มีสุขภาพดีอายุ 21-75 ปี พบว่าผู้หญิงที่ได้รับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนทุกวันจะมีปริมาณของเส้นผมโดยรวม ความครอบคลุมของเส้นผมบนหนังศีรษะ และความหนาของเส้นผมที่เพิ่มขึ้นหลังจากผ่านไป 90 วัน นอกจากนี้ ความเงางามของเส้นผม ความชุ่มชื้นของผิว และความเรียบเนียนของผิวก็เพิ่มขึ้นด้วยหลังจากผ่านไป 180 วัน (อ้างอิง 55)

  • การศึกษาในผู้ชายและหญิงจำนวน 86 คน (อายุเฉลี่ย 53 ปี) พบว่าการรับประทานคอลลาเจนไฮโดรไลเสตในรูปของสารสกัดจากเยื่อหุ้มเปลือกไข่ 450 มก. (ยี่ห้อ BiovaBIO®) วันละครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน มีผลทำให้เส้นผมมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเส้นผมหรือลดการแตกหักของเส้นผมเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ส่วนสุขภาพของเล็บ (รูปร่าง ความแข็งแรง หรือการเติบโตของเล็บ) หรือผิวหนัง (ริ้วรอย ความลึกของริ้วรอย หรือความสม่ำเสมอของสีผิวของใบหน้า) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (56)

8. เล็บแข็งแรง ในบางคนนั้นเล็บมักจะยาวช้าและหักได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ แต่การศึกษาในบราซิลนั้นชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของคอลลาเจนในเรื่องนี้ โดยผู้หญิงที่รับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (BCP ยี่ห้อ VERISOL®) วันละ 2.5 กรัม เป็นเวลา 24 สัปดาห์ พบว่าหลังการเสริมเพียง 4 สัปดาห์ เล็บมีการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น 12% และช่วยลดความถี่ของโอกาสที่เล็บจะเปราะหักลงได้ถึง 42% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเสริมคอลลาเจน โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่กว่า 80% พึงพอใจกับประสิทธิภาพของ BCP และเห็นพ้องตรงกันว่าเล็บของตนดูดีขึ้น แม้ว่าความหยาบของเล็บ เช่น ร่องเล็บหรือรอยลึกของเล็บ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่มีการควบคุมด้วยยาหลอก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป (อ้างอิง 57)

9. อาจส่งเสริมสุขภาพหัวใจ นักวิจัยคาดว่าอาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจได้ เพราะคอลลาเจนเป็นโครงสร้างของหลอดเลือด หากร่างกายไม่ได้รับคอลลาเจนอย่างเพียงพอก็อาจมีผลต่อความยืดหยุ่นของหลอดเลือดหรือทำให้หลอดเลือดอ่อนแอลงหรือเปราะบางมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และนำไปสู่อาการหัวใจวาย (Heart attack) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ (58)

  • การศึกษาในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวน 31 คน พบว่าการรับประทานคอลลาเจนวันละ 16 กรัม เป็นเวลา 6 เดือน สามารถช่วยลดความแข็งของหลอดเลือดแดงได้อย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ต้นจนจบการศึกษา นอกจากนี้ระดับของคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจยังเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6% (HDL มีบทบาทที่ดีต่อระบบหลอดเลือดและการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ ได้) (58) อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสริมคอลลาเจนเพื่อสุขภาพหัวใจ

10. โรคเบาหวาน การศึกษาขนาดเล็กพบว่าคอลลาเจนเปปไทด์จากปลาในขนาด 5 กรัมขึ้นไปต่อวัน สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มความต้านทานต่ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 ได้

  • การศึกษาในปี 2020 กับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 จำนวน 66 คน ที่ได้รับการเสริมคอลลาเจนเปปไทด์จากปลาวันละ 5 กรัม (ละลายในน้ำอุ่นหรือนม 200 มล.) เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลง 78 มก./ดล., ลดระดับ HbA1c (ตัวบ่งชี้ระดับน้ำตาลในเลือดในระยะยาว) จาก 8.1% เหลือ 5.9% และลดความต้านทานต่ออินซูลิน (วัดโดย HOMA-IR) จาก 7.9 เป็น 4.7 อย่างไรก็ตาม การเสริมคอลลาเจนเปปไทด์นี้ในขนาดเพียง 2.5 กรัม พบว่าไม่ได้ช่วยให้ผลลัพธ์เหล่านี้ดีขึ้น (59)
  • การศึกษาในปี 2010 ในประเทศจีนกับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 จำนวน 100 คน ที่ได้รับการเสริมคอลลาเจนเปปไทด์จากปลา 6.5 กรัม วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลง 26 มก./ดล., ลดระดับ HbA1c ลง 0.48% และลดระดับอินซูลินขณะอดอาหารลง 0.24 mU/L เมื่อเปรียบเทียบกับค่าพื้นฐาน (60)

11. ลดการอักเสบของเหงือกและเลือดออกหลังการทำทันตกรรม การศึกษาเบื้องต้นยังชี้ให้เห็นว่า คอลลาเจนอาจช่วยลดการอักเสบของเหงือกและภาวะเลือดออกหลังเข้ารับการทําหัตถการทางทันตกรรม โดยการศึกษาเล็ก ๆ ในเยอรมนีกับกลุ่มผู้ใหญ่จำนวน 39 คนที่ได้รับการเสริมไฮโดรไลซ์คอลลาเจนวันละ 5 กรัม (VERISOL®) เป็นเวลา 90 วันหลังการเข้ารับการขูดหินปูน (และนัดตรวจอีกครั้งในวันที่ 90 หลังเสริม) พบว่าผู้ที่ได้รับการเสริมคอลลาเจนมีเลือดออกจากเหงือกน้อยกว่าอย่างเห็นชัดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (3% เทียบกับ 9.4%) นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับคอลลาเจนยังมีดัชนีสภาพเหงือก (Gingival index) ที่ต่ำกว่าด้วยเมื่อเทียบกับยาหลอก (0.1 เทียบกับ 0.3) ซึ่งดัชนีนี้เป็นตัวชี้วัดความรุนแรงของเหงือกอักเสบ (อ้างอิง 61) อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยันถึงผลลัพธ์เหล่านี้

12. ประโยชน์ของคอลลาเจนในเรื่องอื่น ๆ ที่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษา :

  • สุขภาพสมอง ไม่มีการศึกษาใดที่ตรวจสอบบทบาทของอาหารเสริมคอลลาเจนต่อสุขภาพสมอง แต่นักวิจัยบางท่านอ้างว่าอาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยปรับปรุงอารมณ์ให้ดีขึ้นและช่วยลดอาการวิตกกังวล
  • สุขภาพลำไส้ แม้จะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนข้อกล่าวอ้างนี้ แต่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพบางท่านยืนยันว่า อาหารเสริมคอลลาเจนสามารถรักษาภาวะลำไส้รั่ว (Leaky gut syndrome หรือ Intestinal permeability) ได้
  • การลดน้ำหนัก นักวิจัยบางท่านเชื่อว่าอาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยส่งเสริมการลดน้ำหนักและช่วยเร่งเผาผลาญ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการศึกษาใดที่สนับสนุนข้อกล่าวอ้างนี้
  • การใช้ในทางการแพทย์ อย่างเช่นมีการใช้คอลลาเจนหรือ Collagen material เพื่อรักษาบาดแผลเรื้อรัง แผลไหม้ แผลเบาหวาน แผลในหลอดเลือดดำ, หรือใช้ในศัลยกรรมตกแต่งและศัลยกรรมทั่วไป, ใช้ในทางทันตกรรม รวมถึงใช้ในด้านความงาม (62)
  • เครื่องสำอาง เช่น การใช้คอลลาเจนในผลิตภัณฑ์มอยส์เจอร์ไรเซอร์ ครีม และเซรั่ม เนื่องจากมีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นและลดริ้วรอย (63)

การศึกษาพบว่าอาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยปรับปรุงสภาพผิว (ลดริ้วรอย เพิ่มความยืดหยุ่น และความชุ่มชื้นให้กับผิว), ป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก, บรรเทาอาการปวดข้อ, เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ, รักษาแผลกดทับและแผลไหม้ที่ผิวหนัง และบำรุงสุขภาพผมและเล็บ ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ยังมีหลักฐานจำกัดและจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

คำแนะนำและข้อควรรู้

  • ร่างกายของเราสามารถผลิตคอลลาเจนได้เองตามธรรมชาติ และเราสามารถได้รับคอลลาเจนจากการบริโภคอาหารบางชนิด เช่น หนังไก่ หนังหมู ขาหมู หนังปลา แมงกะพรุน รวมถึงน้ำซุปกระดูก หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ เช่น กระดูกและเอ็น ตลอดจนอาหารเสริมคอลลาเจนในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารเสริมที่ผ่านกระบวนการไฮโดรไลซ์แล้ว (คอลลาเจนไฮโด) จะดูดซึมได้ดีและมีประสิทธิภาพมากว่าคอลลาเจนที่ได้จากอาหาร
  • สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน (โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ได้ขาดคอลลาเจน อย่างผู้ชาย และผู้หญิงที่มีอายุน้อย) เพราะในความเป็นจริง เราสามารถช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนได้มากขึ้นด้วยการรับประทานอาหารที่มีไกลซีน, โพรลีน, วิตามินซี, ทองแดง และสังกะสี
    • ไกลซีน : พบในหนังไก่ หนังหมู เจลาติน และอาหารที่มีโปรตีนอื่น ๆ อีกหลายชนิด
    • โพรลีน : พบในไข่ขาว ผลิตภัณฑ์จากนม กะหล่ำปลี เห็ด และหน่อไม้ฝรั่ง
    • วิตามินซี : พบในผลไม้รสเปรี้ยว บรอกโคลี ผักเคล และพริกหยวก
    • ธาตุสังกะสี : พบในเนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู หอย นม ชีส ถั่วเลนทิล ถั่วต่าง ๆ
    • ทองแดง : พบในหอยนางรม แอลมอนด์ โกโก้ วอลนัท เห็ด และตับวัว
  • วิตามินซีจำเป็นอย่างมากต่อการสังเคราะห์คอลลาเจน ดังนั้นการมีระดับวิตามินซีต่ำหรือไม่เพียงพออาจทำให้การผลิตคอลลาเจนบกพร่องได้ ดังนั้นคุณควรทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงเพื่อช่วยให้การผลิตคอลลาเจนในร่างกายเป็นไปอย่างปกติ (อ้างอิง 64)
  • การรับประทานอาหารอย่างสมดุลและเพิ่มโปรตีนอีกเล็กน้อยจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษามวลกล้ามเนื้อและกระดูกเมื่อเราอายุมากขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรบริโภคโปรตีนให้ได้มากกว่าวันละ 0.36 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 ปอนด์ (0.8 กรัมต่อกิโลกรัม)
  • อาหารเสริมคอลลาเจน : ในช่วงที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอลลาเจนในรูปแบบผง (แต่ก็มีในรูปอื่นด้วย เช่น แบบแคปซูลหรือแบบเม็ด ของเหลว กัมมี่ แต่ไม่นิยมมากนัก) ส่วนชนิดของคอลลาเจนที่พบในอาหารเสริมก็มีแตกต่างกัน (บางยี่ห้อมีหนึ่งหรือสองชนิดรวมกัน ในขณะที่บางยี่ห้อก็มีคอลลาเจนถึง 5 ชนิด แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชนิด 1, 2 และ 3 เพราะพบได้ในร่างกายเป็นส่วนใหญ่) สำหรับรูปแบบของคอลลาเจนที่พบโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นคอลลาเจนไฮโดรไลเสต (Collagen hydrolysate) ที่ผ่านกระบวนการย่อยมาแล้วเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าไฮโดรไลซ์คอลลาเจน (Hydrolyzed collagen) หรือคอลลาเจนเปปไทด์ (Collagen peptides) นอกจากนี้ก็มีจะมีปริมาณที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้ (ส่วนใหญ่อาหารเสริมเหล่านี้จะผลิตมาจากเนื้อเยื่อของวัว หมู ไก่ หรือปลา)
  • คอลลาเจนวีแกน (Vegan collagen) : เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับประทานคอลลาเจนจากสัตว์ ซึ่งผลิตได้จากยีสต์และแบคทีเรียดัดแปลงพันธุกรรม (เพราะพืชผลิตคอลลาเจนไม่ได้) ส่วนใหญ่จะผลิตมาจากยีสต์ชนิดหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ Pichia pastoris แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าจะให้ประโยชน์เช่นเดียวกับคอลลาเจนจากสัตว์หรือใช้ทดแทนกันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เราสามารถรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์คอลลาเจนดังที่กล่าวไป เช่น วิตามินซี ไกลซีน โพรลีน ทองแดง และสังกะสี
  • วิธีรับประทานคอลลาเจน : คอลลาเจนสามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือทานในขณะท้องว่างก็ได้
  • ปริมาณคอลลาเจนที่แนะนำ : การศึกษาในผู้ใหญ่พบว่าการขนาดบริโภคคอลลาเจนแบบผงเพื่อให้ได้ประโยชน์จะอยู่ที่วันละ 2.5-20 กรัม (หลาย ๆ คนรับประทานคอลลาเจนแบบผง 1-2 ช้อนโต๊ะต่อวัน โดยนำไปผสมในสมูทตี้ เชค ขนมอบ ซุป หรือแม้แต่กาแฟหรือชา หรือถ้าเป็นคอลลาเจนแบบแคปซูลจะอยู่ที่วันละ 1.8-6 กรัม) ทั้งนี้ปริมาณยังขึ้นอยู่กับรูปแบบของคอลลาชนิดที่รับประทานด้วย เช่น ในผลิตภัณฑ์คอลลาเจน UC-II® ซึ่งเป็นคอลลาเจนชนิดที่ 2 ที่ไม่ถูกแปรสภาพสำหรับลดอาการปวดข้อ ปริมาณที่แนะนำจะน้อยกว่านี้ คือวันละ 500 มก.
  • ระยะเวลาในทานคอลลาเจน : การหมุนเวียนของคอลลาเจนในร่างกายเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นช้า ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าคุณจะทานคอลลาเจนเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะเริ่มเห็นผล (อ้างอิง 7) แต่ถ้าทานเพื่อเสริมสร้างมวลกระดูกก็อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น เช่น 12 เดือนเป็นต้นไป
  • ผลข้างเคียงของคอลลาเจน : โดยทั่วไปแล้วอาหารเสริมคอลลาเจนมีความปลอดภัยสูง ส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบได้ก็มีน้อยมากหรือมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย บางคนอาจทานแล้วมีเกิดอาการของทางเดินอาหารเล็กน้อย (65) หรือรู้สึกแสบร้อนกลางอกและรู้สึกอิ่ม (66) หรือทานแล้วเกิดอาการคลื่นไส้และท้องอืด (67) รวมถึงอาการเล็กน้อยอื่น ๆ เช่น อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือเป็นผื่นที่ผิวหนัง (68)
    • อาหารเสริมคอลลาเจนอาจทำมาจากปลา หอย และไข่ ผู้ที่แพ้อาหารเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนที่ทำจากส่วนผสมเหล่านี้ (69) นอกจากนี้ผู้ผลิตยังมักใส่ส่วนผสมอื่น ๆ ลงไปด้วย ซึ่งส่วนผสมบางอย่างอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ อย่างเช่นวิตามินหรือสมุนไพรบางชนิดที่เป็นสูตรเพื่อสุขภาพเส้นผม ผิวหนัง และเล็บ (70)
    • ในผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะสรุปได้ถึงความปลอดภัยของคนในกลุ่มนี้ หรือทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
    • คอลลาเจนเปปไทด์อาจลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรใช้คอลลาเจนอย่างระมัดระวังในผู้ที่รับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว (เช่น Insulin, Metformin, Glyburide, เป็นต้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานคอลลาเจนในปริมาณที่มากกว่าวันละ 2.5 กรัม (อ้างอิง 60)
  • วิธีป้องกันการสูญเสียคอลลาเจน : เป็นไปไม่ได้ที่เราจะป้องกันการสูญเสียคอลลาเจนที่เกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้นได้ แต่เราอาจชะลอกระบวนการสูญเสียคอลลาเจนด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
    • งดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้คอลลาเจนลดลงและทำให้ผิวแก่ก่อนวัย เกิดริ้วรอย และสูญเสียความยืดหยุ่น (71, 72)
    • ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มที่มากเกินไปจะมีผลลดการผลิตคอลลาเจนและทำลายกลไกการซ่อมแซมของผิว (72)
    • ลดการบริโภคน้ำตาลและอาหารแปรรูป เพราะอาหารเหล่านี้เป็นสาเหตุของความชราก่อนวัย เนื่องจากจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) ที่จะลดการหมุนเวียนของคอลลาเจนและรบกวนความสามารถของคอลลาเจนในการโต้ตอบกับเซลล์และโปรตีนโดยรอบ (73, 74)
    • หลีกเลี่ยงแสงแดด เนื่องจากการได้รับแสงแดดมากเกินไปจะทำให้การผลิตคอลลาเจนลดลง ดังนั้นการทาครีมกันแดดและหลีกเลี่ยงแสงแดดที่มากเกินไปจะช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัยได้ (75)

สรุปเรื่องคอลลาเจน

  • คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่มีมากที่สุดในร่างกายของคุณ คุณสามารถเพิ่มปริมาณคอลลาเจนได้ด้วยการรับประทานอาหารเสริมหรือรับประทานอาหารจากสัตว์และน้ำซุปกระดูก แต่การดูดซึมจากอาหารอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับจากอาหารเสริม
  • เมื่ออายุมากขึ้น คอลลาเจนที่มีอยู่จะสลายตัว และร่างกายจะผลิตได้ยากมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยบางอย่างที่เป็นตัวเร่งกระบวนการนี้ให้ช้าลงได้ด้วยการงดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ลดการบริโภคน้ำตาลและอาหารแปรรูป และหลีกเลี่ยงแสงแดด
  • การศึกษาพบว่าอาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยปรับปรุงสภาพผิว (ลดริ้วรอย เพิ่มความยืดหยุ่น และความชุ่มชื้นให้กับผิว), ป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก, บรรเทาอาการปวดข้อ, เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ, รักษาแผลกดทับและแผลไหม้ที่ผิวหนัง และบำรุงสุขภาพผมและเล็บ ส่วนประโยชน์อื่น ๆ มีการอ้างถึงการลดน้ำหนัก สุขภาพสมอง สุขภาพลำไส้ ฯลฯ แต่ยังมีหลักฐานไม่มากนักและจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
  • ไม่ว่าคุณจะทานคอลลาเจนเพื่อวัตถุประสงค์ใดจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ขึ้นไปถึงจะเริ่มเห็นผลหรือประเมินได้ว่าผลิตภัณฑ์คอลลาเจนที่ใช้อยู่ได้ผลสำหรับคุณหรือไม่ (หากทานเพื่อเสริมสร้างมวลกระดูกก็อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น เช่น 12 เดือนเป็นต้นไป)
  • โดยทั่วไปอาหารเสริมคอลลาเจนมีความปลอดภัยสูง แม้ในบางรายอาจทานแล้วเกิดผลข้างเคียงแต่ก็มักไม่รุนแรง และยังคุ้มค่าที่จะลองทานเพื่อเป้าหมายด้านสุขภาพ
  • การรับประทานอาหารปกติที่ให้โปรตีน ไกลซีน โพรลีน วิตามินซี วิตามินดี ทองแดง และสังกะสี ให้เพียงพออย่างสมดุลเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและมีราคาถูกกว่าอาหารเสริม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาหารหลายชนิดจะมีคอลลาเจน แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะให้ประโยชน์เท่ากับอาหารเสริมหรือไม่
งานวิจัยอ้างอิง

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2023

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ