14 ประโยชน์ของธาตุเหล็ก (Iron) จากงานวิจัย !

ธาตุเหล็ก (Iron) กับประโยชน์ทางการแพทย์

ธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็ก (Iron / สัญลักษณ์ธาตุ คือ Fe) เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการในปริมาณเล็กน้อยและมีอยู่ตามธรรมชาติในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ผักใบเขียวเข้มและถั่ว รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิด และมีอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้งแบบธาตุเหล็กเดี่ยว ๆ หรือแบบวิตามินและแร่ธาตุรวม

ธาตุเหล็กในอาหารสามารถจำแนกตามโครงสร้างได้เป็น 2 ชนิด คือ เหล็กฮีม (Heme iron) ที่ร่างกายดูดซึมได้ดี และเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (Nonheme iron) ที่ร่างกายดูดซึมได้ไม่ดี โดยพืชและอาหารที่เสริมธาตุเหล็กจะให้ธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม ในขณะที่เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และสัตว์ปีกจะให้ทั้งธาตุเหล็กฮีมและธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม

เหล็กเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการสำหรับการเจริญเติบโตทางร่างกาย พัฒนาการทางระบบประสาท การทำงานของเซลล์ และการสังเคราะห์ฮอร์โมนบางชนิด ร่างกายของเราจะใช้ธาตุเหล็กเพื่อสร้างฮีโมโกลบิน/เฮโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญของเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ถ่ายเทออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และไมโอโกลบิน (Myoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยนำส่งออกซิเจนไปสู่กล้ามเนื้อ

ธาตุเหล็กส่วนใหญ่ 3-4 กรัมในผู้ใหญ่จะอยู่ในฮีโมโกลบิน ส่วนธาตุเหล็กที่เหลือส่วนใหญ่จะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปของเฟอร์ริติน (Ferritin) หรือเฮโมไซด์ริน (Hemosiderin) ในตับ ม้าม และไขกระดูก หรืออยู่ในไมโอโกลบิน ในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะสูญเสียธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อยทางปัสสาวะ อุจจาระ ระบบทางเดินอาหาร และผิวหนัง การสูญเสียจะมากขึ้นในผู้หญิงที่มีประจำเดือนเนื่องจากการเสียเลือด

การขาดธาตุเหล็กเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีประจำเดือน ผู้หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก การขาดธาตุเหล็กมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ซึมเศร้า การทำงานของสมองบกพร่อง และเกิดผลเสียอื่น ๆ ซึ่งการแก้ไขภาวะการขาดธาตุเหล็กด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กหรือธาตุเหล็กในรูปของอาหารเสริม (หากจำเป็น) ก็มีแนวโน้มจะทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ส่วนใหญ่ของธาตุเหล็กนั้นดูจะจำกัดเฉพาะกับผู้ที่มีระดับธาตุเหล็กในเลือดต่ำ และยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม (อ้างอิง 1)

ธาตุเหล็กเปรียบเสมือนกับดาบสองคมของโลกโภชนาการ ในแง่หนึ่งหลายคนมีระดับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ แต่ในทางกลับกันหลายคนอาจได้รับธาตุเหล็กมากเกินไปจนอาจเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้มากมายหรือทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การขาดธาตุเหล็กจึงเป็นเหตุผลเดียวเท่านั้นที่ควรพิจารณาการเสริมธาตุเหล็ก และจะเป็นการดีที่สุดถ้าเสริมธาตุเหล็กจากอาหารปกติแทนที่จะอยู่ในรูปแบบอาหารเสริม ส่วนผู้ที่มีธาตุเหล็กเพียงพออยู่แล้ว การเสริมธาตุเหล็กในรูปต่าง ๆ ไม่มีประโยชน์ และในทางกลับกันอาจนำไปสู่การได้รับธาตุเหล็กเกินขนาดและเป็นอันตรายได้

การขาดธาตุเหล็ก

การขาดธาตุเหล็กไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีประจำเดือน และผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการขาดธาตุเหล็กนั้นเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่ไม่ดี การเสียเลือด และความผิดปกติของการดูดซึมจากสาเหตุต่าง ๆ และในคนที่ขาดธาตุเหล็กก็มักจะมีแนวโน้มขาดสารอาหารอื่น ๆ ด้วย (โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคโลหิตจางทั่วโลก 1.62 พันล้านรายมีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็ก)

การตรวจวัดระดับธาตุเหล็กในปัจจุบันจะตรวจวัดได้จาก การตรวจหาค่าเฟอร์ริติน (Ferritin) เพราะเป็นวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุดสำหรับการวินิจฉัยภาวะการขาดธาตุเหล็ก (ส่วนการตรวจฮีโมโกลบินและฮีมาโตคริตนั้น แม้จะเป็นวิธีการตรวจที่ใช้บ่อย แต่ก็ไม่มีความไว้หรือเจาะจงเท่าการตรวจหาค่าเฟอร์ริติน) หากระดับความเข้มข้นของเฟอร์ริตินในเลือดต่ำกว่า 30 mcg/L จะแสดงถึงภาวะขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency : ID) แต่หากต่ำกว่า 10 mcg/L จะแสดงถึงภาวะโลหิตจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia : IDA)

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์, ทารกและเด็กเล็ก, ผู้หญิงที่มีประจำเดือนออกมาก, ผู้บริจาคโลหิตเป็นประจำ, ผู้ที่เป็นมะเร็ง, ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารหรือเคยผ่าตัดทางเดินอาหาร, ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

ระดับของการขาดธาตุเหล็ก : การขาดธาตุเหล็กหมายถึง การที่ระดับธาตุเหล็กในร่างกายมีปริมาณน้อยกว่าปกติ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ

  1. Iron depletion เป็นระดับที่ร่างกายเริ่มมีการขาดธาตุเหล็กในแหล่งสะสม ยังไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ สามารถตรวจพบความผิดปกตินี้ได้จากการตรวจพบค่าเฟอร์ริตินที่ต่ำ
  2. Iron deficit erythropoiesis เป็นระดับที่ธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกายหมดไป ทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงเริ่มมีปัญหา แต่ผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการจากภาวะโลหิตจางให้เห็น แต่ตรวจพบว่าระดับของธาตุเหล็กในเลือดลดลง
  3. Iron deficiency anemia (IDA) เป็นระดับที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเกิดขึ้นแล้ว และผู้ป่วยจะมีอาการจากภาวะโลหิตจางแสดงชัดเจน

อาการของการขาดธาตุเหล็ก : ในระยะสั้น การได้รับธาตุเหล็กน้อยเกินไปจะไม่ทำให้เกิดอาการที่ชัดเจน เพราะร่างกายยังใช้ธาตุเหล็กที่สะสมไว้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อยู่ เช่น กล้ามเนื้อ ตับ ม้าม ไขกระดูก แต่เมื่อระดับธาตุเหล็กที่สะสมไว้หมดไปจนเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) เซลล์เม็ดเลือดแดงจะมีขนาดเล็กลงและมีฮีโมโกลบินน้อยลง ส่งผลให้เลือดนำพาออกซิเจนจากปอดไปทั่วร่างกายได้น้อยลง ก็จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

สำหรับอาการของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจถี่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มือเท้าเย็น ผิวซีด เจ็บหน้าอก อ่อนแรง เหนื่อยล้า ขาดพลังงาน และเซื่องซึม เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ความบกพร่องทางสติปัญญา ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิและความจำ มีผลต่อการทำงานของภูมิคุ้มกัน รวมถึงการออกกำลังกายและการทำงาน ส่วนอาการอื่นๆ ได้แก่ ผมร่วง เล็บเปราะ ลิ้นบวมหรือเจ็บ ปากแตก สูญเสียการรับรส ม้ามโต ติดเชื้อได้บ่อย ในหญิงตั้งครรภ์จะส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ ส่วนในทารกและเด็กอาจมีปัญหาด้านการเรียนรู้และมีพัฒนาการทางจิตใจล่าช้า นอกจากนี้ ยังสัมพัมธ์กับการเกิดโรคปากนกกระจอก (Aphthous stomatitis), โรคชอบทานของแปลก (Pica diseases), กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (RLS), หัวใจเต้นผิดปกติ (Arrhythmias), เกิดเสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur), เกิดภาวะหัวใจโต (Cardiomegaly), ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) รวมถึงโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความผิดปกติทางอารมณ์หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ (อ้างอิง 14, 15, 16, 17, 18, 19)

ประโยชน์ของธาตุเหล็ก

1. เพื่อสุขภาพและการทำงานของร่างกายที่ดี ธาตุเหล็กเป็นหนึ่งในแร่ธาตุที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญมากที่สุดในร่างกาย ร่างกายของเราต้องการธาตุเหล็กเพื่อใช้ในการผลิตฮีโมโกลบินและไมโอโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงซึ่งเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายเพื่อการทำงานของเซลล์ สังเคราะห์ฮอร์โมนบางชนิด การทำงานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่าง ๆ ในการสันดาปพลังงานหรือนำพลังงานต่าง ๆ ไปใช้ จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย พัฒนาการทางระบบประสาท เป็นต้น

2. ป้องกัน/รักษาภาวะขาดธาตุเหล็กและภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (ID & IDA) สามารถรักษาได้ด้วยการเสริมธาตุเหล็กทั้งในรูปแบบเม็ดรับประทานและแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำตามความเหมาะสมของอาการ

3. ภาวะโลหิตจางจากโรคเรื้อรัง (Anemia of chronic disease) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ โรคไตวายเรื้อรัง โรคไขข้ออักเสบ โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งบางชนิด และโรคภูมิแพ้ตนเอง ปัจจุบันการรักษาหลักคือ การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ แต่ถ้าการรักษาดังกล่าวไม่สามารถทำได้ บางครั้งแพทย์อาจใช้การเสริมธาตุเหล็กและ/หรือสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (ESAs) (อ้างอิง 28)

4. จำเป็นต่อผู้บริจาคเลือด การศึกษาพบว่าการเสริมธาตุเหล็กในระดับปานกลาง (ธาตุเหล็ก 37.5 มก. ในรูป Ferrous gluconate ทุกวัน) ช่วยลดเวลาในการฟื้นฟูระดับฮีโมโกลบินและเฟอร์ริตินหลังการบริจาคเลือดได้ถึง 80% (29)

5. อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของสมอง (Cognitive function) การศึกษาในเด็กผู้หญิงที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กแต่ยังไม่มีภาวะโลหิตจาง พบว่าการเสริมธาตุเหล็ก 130 มก. (เทียบเท่ากับ Ferrous sulfate 650 มก.) วันละ 2 ครั้ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำและการรับรู้จากการทำแบบทดสอบ (30) หรือการศึกษาในเด็กที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กหรือมีภาวะโลหิตจาง พบว่าการเสริมธาตุเหล็กช่วยลดความบกพร่องทางสติปัญญาและช่วยเพิ่มพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวได้ (31)

6. อาจดีต่ออารมณ์และโรคซึมเศร้า การขาดธาตุเหล็กมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และความผิดปกติทางอารมณ์หรือจิตเวชอื่นๆในการศึกษาเชิงสังเกต (อ้างอิง 18, 19)

7. โรคสมาธิสั้นในเด็ก (ADHD) การศึกษาขนาดเล็กพบว่าการเสริมธาตุเหล็กวันละ 80 มก. (ในรูปของ Ferrous sulfate) เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอายุ 5-8 ปีที่มีระดับเฟอร์ริตินในเลือดต่ำ (แต่ยังไม่มีภาวะโลหิตจาง) สามารถช่วยให้อาการบางอย่างของโรคดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (อ้างอิง 39)

8. ลดอาการไอแห้งจากการใช้ยากลุ่ม ACE inhibitors อาการไอแห้งที่เกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด จากการศึกษาเราพบว่าการเสริมธาตุเหล็กเหล็กวันละ 51.2 มก. (เทียบเท่ากับ Ferrous sulfate 256 มก.) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถช่วยลดอาการไอได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (40)

9. ผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) การขาดธาตุเหล็กมักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารเพื่อลดความอ้วน และยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางแม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายสิบปีหลังการผ่าตัดก็ตาม ดังนั้น เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็กหลังการผ่าตัด ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เสริมธาตุเหล็กวันละ 45-60 มก. (อ้างอิง 13) อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาเชิงสังเกตล่าสุดปี 2023 พบว่าการเสริมธาตุเหล็ก “หลังการผ่าตัด” ดังกล่าวอาจไม่ได้ช่วยป้องกันการขาดธาตุเหล็ก เพราะพบความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางที่คล้ายกันทั้งในกลุ่มที่เสริมและไม่ได้เสริมธาตุเหล็ก ซึ่งผู้วิจัยสังเกตว่าระดับฮีโมโกลบินที่ต่ำก่อนการผ่าตัดนั้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะโลหิตจางหลังการผ่าตัด ผู้วิจัยจึงแนะนำให้ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักดังกล่าวควรเสริมธาตุเหล็กให้มีระดับที่เพียงพอก่อนการผ่าตัดดังกล่าว (41)

10. อาจช่วยลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) การบริโภคธาตุเหล็กที่มากขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อการเกิดอาการ PMS โดยจากการศึกษาในปี 2013 เราพบว่ากลุ่มที่บริโภคธาตุเหล็กสูงจากอาหารเสริมหรืออาหารจากพืช (เฉลี่ยวันละ 21.4 มก.) จะมีความเสี่ยงที่ลดลง 29% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับธาตุเหล็กต่ำ (เฉลี่ย 9.4 มก.) และความเสี่ยงจะลดลงเป็น 36% ในกลุ่มที่ได้รับธาตุเหล็กเฉลี่ย 49.2 มก. (42)

11. โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นภาวะที่มีอาการปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนทั่วร่างกาย การขาดธาตุเหล็กมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจียในผู้หญิง โดยการศึกษาในไต้หวันที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก พบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 22% ในผู้หญิงที่มีภาวะโลหิตจาง เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีภาวะโลหิตจาง ในขณะที่ไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในผู้ชาย (43)

12. กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome : RLS) ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กหรือมีระดับธาตุเหล็กในร่างกายต่ำ อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการขาอยู่ไม่สุข (44) แนวทางจาก American Academy of Neurology แนะนำว่าเสริมธาตุเหล็ก 65 มก . (จาก Ferrous sulfate 325 มก.) และวิตามินซี 200 มก. (เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก) วันละ 2 ครั้ง อาจช่วยให้อาการดีขึ้นในผู้ที่มีอาการขาอยู่ไม่สุขที่มีระดับเฟอร์ริตินในเลือดต่ำกว่า 75 ng/mL (45) ซึ่งคำแนะนำนี้อ้างอิงจากการศึกษาขนาดเล็กที่ให้การรักษาคล้ายกัน (แต่ให้วิตามินซีเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 100 มก. วันละ 2 ครั้ง) เป็นเวลา 3 เดือน ในผู้ชายและหญิงสูงอายุที่มีระดับเฟอร์ริตินในเลือดต่ำ (15 – 75 ng/mL) ที่สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการลงได้เฉลี่ย 10 คะแนนในระดับ 0-40 ในขณะที่ลดลงเพียง 1 คะแนนในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตาม คุณภาพชีวิตโดยรวมไม่ได้ดีขึ้นในทั้งสองกลุ่ม (46)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของวิตามินซี (Vitamin C) จากงานวิจัย !

13. โรครับประทานสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร (Pica diseases) เช่น น้ำแข็ง ดิน ชอล์ก ดินเหนียว สบู่ กระดาษ หรือสารอื่น ๆ มักเกี่ยวข้องการขาดธาตุเหล็ก (47) โดยโรคนี้คาดว่าจะเกิดได้ประมาณ 11-55% ในผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก และมีรายงานว่าประมาณ 25% ของผู้ที่ขาดธาตุเหล็กในอเมริกาหลายกรณีที่อาการของโรคดีขึ้นหรือหายไปหลังจากเพิ่มระดับธาตุเหล็กในร่างกายให้เพียงพอ (48) สอดคล้องกับการศึกษาในปี 2022 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กที่อยากดมกลิ่นน้ำยาทำความสะอาดตลอดทั้งวัน ร่วมกับมีอาการเหนื่อยล้า หายใจถี่ พบว่าอาการดังกล่าวลดลงอย่างมากในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังการเสริมธาตุเหล็ก (49)

14. อาจช่วยลดความเหนื่อยล้าและเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ธาตุเหล็กจำเป็นต่อการสร้างไมโอโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ให้ออกซิเจนแก่กล้ามเนื้อ ในผู้ที่ขาดธาตุเหล็กร่างกายจะมีการถ่ายเทออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ได้น้อยลงและส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านการออกกำลังกาย เช่น การใช้ออกซิเจน ความทนทาน และประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งการเสริมธาตุเหล็กให้เพียงพออาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่ร่างกายขาดธาตุเหล็กได้ (50)

ข้อควรรู้และคำแนะนำ

  • รูปแบบและการดูดซึมของธาตุเหล็ก : ธาตุเหล็กในอาหารมี 2 รูปแบบ ได้แก่ เหล็กฮีม (Heme iron) ที่พบในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเลที่ดูดซึมได้ดี และเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (Nonheme iron) ที่พบในพืชอย่างผักใบเขียวเข้มและถั่วแต่ดูดซึมได้ไม่ดี (ร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กจากพืชได้ดีขึ้นเมื่อทานพร้อมกับเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล และอาหารที่มีวิตามินซีสูงเช่นผลไม้รสเปรี้ยว)
  • ปริมาณของธาตุเหล็กในอาหารต่อ 1 หน่วยบริโภค (อ้างอิง 56) :
    • หอยนางรม 85 กรัม : 8 มก.
    • ถั่วขาวกระป๋อง 1 ถ้วย : 8 มก.
    • ตับเนื้อ 85 กรัม : 5 มก.
    • ถั่วเลนทิลต้ม ½ ถ้วย : 3 มก.
    • ผักโขมต้ม ½ ถ้วย : 3 มก.
    • เต้าหู้ ½ ถ้วย : 3 มก.
    • ดาร์กช็อกโกแลต 28 กรัม : 2 มก.
    • ถั่วแดง ½ ถ้วย : 2 มก.
    • ปลาซาร์ดีนกระป๋องในน้ำมัน 85 กรัม : 2 มก.
    • ถั่วลูกไก่ต้ม ½ ถ้วย : 2 มก.
    • มะเขือเทศกระป๋อง ½ ถ้วย : 2 มก.
    • เนื้อวัว 85 กรัม : 2 มก.
    • มันฝรั่งอบ 1 ลูก : 2 มก.
    • เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วน้ำมัน 28 กรัม (18 เม็ด) : 2 มก.
    • ไก่ย่าง 85 กรัม : 1 มก.
    • ขนมปัง 1 แผ่น : 1 มก.
    • บรอกโคลีต้ม ½ ถ้วย : 1 มก.
    • ไข่ต้ม 1 ฟองใหญ่ : 1 มก.
  • ปริมาณที่แนะนำโดยเฉลี่ยต่อวันของธาตุเหล็ก (มก. หรือ มิลลิกรัม) :
    • แรกเกิดถึง 6 เดือน : 0.27 มก.
    • อายุ 7–12 เดือน : 11 มก.
    • อายุ 1–3 ปี : 7 มก.
    • อายุ 4–8 ปี : 10 มก.
    • อายุ 9–13 ปี : 8 มก.
    • ผู้ชายอายุ 14–18 ปี : 11 มก.
    • ผู้หญิงอายุ 14–18 ปี : 15 มก.
    • ผู้ชายอายุ 19–50 ปี : 8 มก.
    • ผู้หญิงอายุ 19–50 ปี : 18 มก.
    • ผู้ใหญ่อายุ 51 ปีขึ้นไป : 8 มก.
    • หญิงตั้งครรภ์ : 27 มก.
    • วัยรุ่นให้นมบุตร : 10 มก.
    • หญิงให้นมบุตร : 9 มก.
    • ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ : ขนาด 2 เท่าตามที่ระบุไว้ข้างต้น
  • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมธาตุเหล็ก : ธาตุเหล็กมีอยู่ในอาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุรวมหลายชนิด และในอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียว ธาตุเหล็กในอาหารเสริมมักอยู่ในรูปของเฟอรัสซัลเฟต (Ferrous sulfate), เฟอรัสกลูโคเนต (Ferrous gluconate), เฟอริกซิเตรต (Ferric citrate), หรือเฟอริกซัลเฟต (Ferric sulfate) เนื่องจากมีความสามารถในการละลายได้สูง โดยอาจอยู่ในรูปแบบเม็ด ของเหลว แบบเคี้ยว หรือกัมมี่ ซึ่งทุกแบบสามารถดูดซึมได้ดีพอ ๆ กัน
    • ธาตุเหล็กในรูปต่างๆ ในอาหารเสริมจะให้ปริมาณธาตุเหล็กที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เฟอรัสฟูมาเรต (Ferrous fumarate) จะให้ธาตุเหล็ก 33%, ในขณะที่เฟอรัสซัลเฟต (Ferrous sulfate) คือ 20% และเฟอรัสกลูโคเนต (Ferrous gluconate) คือ 12% (57)
    • อาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุรวมหลายชนิดในสูตรของผู้หญิงมักจะธาตุเหล็ก 18 มก. (100 % ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน) ในขณะที่สูตรของผู้ชายมักมีธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (เนื่องจากมีผู้ชายเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ร่างกายจะขาดธาตุ ในขณะที่ผู้ชายกว่า 29% มีความเสี่ยงต่อการได้รับธาตุเหล็กเกินจากความต้องการต่อวัน) ส่วนอาหารเสริมธาตุเหล็กที่มีธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียวมักมีปริมาณมากกว่าที่แนะนำต่อวัน เช่น ธาตุเหล็ก 65 มก. (360% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน)
    • ธาตุเหล็กในขนาดสูง (45 มก./วัน หรือมากกว่า) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องผูก ฯลฯ ซึ่งการรับประทานธาตุเหล็กพร้อมกับอาหารอาจช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้
  • ปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ (ULs) ของธาตุเหล็ก : โดยพิจารณาจากธาตุเหล็กรวมทั้งจากอาหารปกติและอาหารเสริม เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจสั่งจ่ายธาตุเหล็กที่เกินจากปริมาณนี้ได้ในผู้ที่ต้องการธาตุเหล็กสูงเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อรักษาภาวะขาดธาตุเหล็ก
    • แรกเกิดถึง 13 ปี : 40 มก.
    • อายุ 14 ขึ้นไป: 45 มก.
  • วิธีการรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก : ธาตุเหล็กในขนาดสูงควรรับประทานร่วมกับอาหารหรือรับประทานแบบวันเว้นวันเพื่อลดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร (แม้การเสริมทุกวันจะให้ผลดีกว่าในการเพิ่มระดับธาตุเหล็กในเลือด) ส่วนเวลาของการรับประทานธาตุเหล็กนั้นจะรับประทานเวลาไหนก็ได้ผลลัพธ์ในการเพิ่มระดับเฟอร์ริตินในเลือดได้พอ ๆ กันจากการศึกษาหนึ่งที่เทียบการทานธาตุเหล็กตอนเช้าและตอนเย็น (58)
  • ขนาดที่แนะนำสำหรับแต่ละอาการ :
    • เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก : รับประทานอาหารปกติที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กให้ได้ในปริมาณที่แนะนำต่อวัน (RDA) ซึ่งคนส่วนใหญ่มักได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพออยู่แล้วจากอาหาร (อาหารที่รับประทานต่อวันจะให้ธาตุเหล็กโดยเฉลี่ย 10-20 มก.) แต่โปรดจำไว้ว่าธาตุเหล็กจากพืชนั้นดูดซึมได้ไม่ดีหรือดูดซึมเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นเมื่อเทียบกับธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ ดังนั้น ในผู้ที่ทานมังสวิรัติอาจต้องเสริมธาตุเหล็กเป็น 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
    • เพื่อรักษาภาวะขาดธาตุเหล็กและภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก : ปัจจุบันแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กในขนาด 50-100 มก. เพียงวันละครั้งในขณะที่ท้องว่าง ตามการศึกษาของ British Society of Gastroenterology ล่าสุดในปี 2021 (จากคำแนะนำเดิมที่ให้ทานวันละ 100-200 มก. โดยแบ่งทานเป็นวันละ 2-3 ครั้ง) เนื่องจากการดูดซึมธาตุเหล็ก 60 มก. เพียงครั้งเดียวต่อวันนั้นใกล้เคียงกับธาตุเหล็ก 60 มก. วันละ 2 ครั้ง (59)
    • เพื่อเร่งการฟื้นฟูระดับฮีโมโกลบินและเฟอร์ริตินหลังการบริจาคโลหิต : แนะนำให้เสริมธาตุเหล็ก 37.5 มก. (ในรูปของ Ferrous gluconate) (อ้างอิง 29)
    • เพื่อรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก (ADHD) : สำหรับการใช้รักษาโรค ADHD ในเด็กอายุ 5-8 ปีที่ไม่มีภาวะโลหิตจาง แนะนำให้เสริมธาตุเหล็กวันละ 80 มก. (ในรูปของ Ferrous sulfate) (อ้างอิง 39)
    • เพื่อปรับปรุงการทำงานของสมอง (Cognitive function) : ในเด็กผู้หญิงที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กแต่ยังไม่มีภาวะโลหิตจาง แนะนำให้เสริมธาตุเหล็ก 130 มก. (เทียบเท่ากับ Ferrous sulfate 650 มก.) วันละ 2 ครั้ง (อ้างอิง 30)
    • เพื่อยับยั้งอาการไอแห้งจากการใช้ยากลุ่ม ACE inhibitors : แนะนำให้เสริมธาตุเหล็กวันละ 51.2 มก. (เทียบเท่ากับ Ferrous sulfate 256 มก.) (อ้างอิง 40)
  • ปฏิกิริยากับยาหรืออาหารเสริมอื่น ๆ :
    • ยาเลโวโดปา (Levodopa) เช่น Sinemet® และ Stalevo® ที่ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสัน เพราะธาตุเหล็กสามารถลดปริมาณของยานี้ที่ร่างกายดูดซึม มีผลทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
    • ยาเลโวไทร็อกซีน (Levothyroxine) เช่น Levothroid®, Levoxyl®, Synthroid®, Tirosint® และ Unithroid® ที่ใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนและมะเร็งต่อมไทรอยด์ การรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับยานี้จะลดประสิทธิภาพของยาดังกล่าว
    • ยาลดกรดกลุ่ม Proton pump Inhibitors (PPIs) การรับประทานยาในกลุ่มนี้ เช่น Lansoprazole (Prevacid®), Omeprazole (Prilosec®) และ Esomeprazole (Nexium®) ที่ใช้ลดกรดในกระเพาะอาหาร ในขนาด 20 มก. ขึ้นไปเป็นเวลานานกว่า 1 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า เนื่องจากยากลุ่มนี้จะไปลดปริมาณของธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมที่ร่างกายดูดซึมจากอาหาร (78)
    • ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ซึ่งเป็นยากันชัก พบว่าการเสริมธาตุเหล็กอาจลดการดูดซึมหรือความเข้มข้นของยาดังกล่าวได้มากถึง 30% (79)
    • แคลเซียม (Calcium) แคลเซียมในขนาดสูงอาจขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก (แนะนำให้เสริมคนละช่วงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว) (60) การศึกษาพบว่าการเสริมแคลเซียม 300 หรือ 600 มก. พร้อมกับธาตุเหล็ก จะมีผลลดการดูดซึมของธาตุเหล็กได้มากถึง 62% และแคลเซียมยังมีผลลดการดูดซึมของธาตุเหล็กจากอาหารด้วยเช่นกัน (61) แต่ผลดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับการเสริมแคลเซียมในขนาดที่ต่ำกว่า 200 มก. หรือในผู้ที่ไม่มีแนวโน้มที่จะขาดธาตุเหล็ก
    • แร่ธาตุอื่น ๆ เช่น สังกะสี แมงกานีส แมกนีเซียม หรือธาตุทองแดงในขนาดสูง สามารถลดการดูดซึมของธาตุเหล็กได้เช่นกัน (ควรเว้นระยะ 2 ชั่วโมงหากต้องรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก)
    • แคโรทีนอยด์ ธาตุเหล็กหรือแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และสังกะสี ในขนาดสูงจากอาหารเสริม อาจลดการดูดซึมของแคโรทีนอยด์ เช่น เบต้าแคโรทีน ไลโคปีน และแอสตาแซนธินจากอาหารและอาหารเสริม จึงควรรับประทานอาหารเสริมแคโรทีนอยด์ในช่วงเวลาอื่นของวัน (62, 63)
    • อื่น ๆ เช่น กาแฟ การดื่มในขณะรับประทานอาหารจะลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก 39% (64), ชา 1 ถ้วย ลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก 37% (65), ชาเขียว 1 ถ้วย ลดการดูดซึมธาตุเหล็ก 80% (66) รวมถึงโปรตีนถั่วเหลือง, ไข่, ซีเรียล, ขนมปังโฮลเกรน และผักโขม ก็มีผลลดการดูดซึมของธาตุเหล็กเช่นเดียวกับชากาแฟ ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็ไม่ควรบริโภคพร้อมกันหรือให้เว้นช่วงห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมง
  • ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป :
    • ผู้ใหญ่ที่มีการทำงานของลำไส้ปกติจะมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะมีธาตุเหล็กเกินจากการบริโภคอาหาร (อ้างอิง 1)
    • การรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กในขนาดสูงในขณะท้องว่าง (45 มก./วัน หรือมากกว่า) สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง กระเพาะปั่นป่วน ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน และท้องเสีย (อ้างอิง 67) แต่การเสริมธาตุเหล็กพร้อมกับอาหารจะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้ รายงานบางกรณีพบว่าการเสริมธาตุเหล็ก 130 มก. อาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบหรือเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (68, 69, 70, 71)
    • การเสริมธาตุเหล็กในขนาดสูงมาก ๆ เพียงครั้งเดียวหรือมากกว่า 20 มก./กก. (ธาตุเหล็กประมาณ 1,365 มก. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม) จากยาหรืออาหารเสริมอาจทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อลำไส้ ทำให้เสียเลือด ช็อก และอวัยวะล้มเหลวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รับประทานพร้อมกับอาหาร (อ้างอิง 1) และในกรณีที่รุนแรงกว่า เช่น การเผลอรับประทานครั้งเดียวในขนาด 60 มก./กก. หรือธาตุเหล็กประมาณ 4,090 มก. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม อาจทำให้อวัยวะหลายระบบในร่างกายล้มเหลว โคม่า ชัก และถึงขั้นเสียชีวิต (อ้างอิง 57, 72)
    • การเสริมธาตุเหล็กมากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์เป็นเวลานาน อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ในทารกที่กินนมแม่และไม่ได้มีภาวะขาดธาตุเหล็ก การเสริมธาตุเหล็กยังอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมที่แย่ลงด้วย
    • การศึกษาเชิงสังเกตพบความสัมพันธ์ระหว่างระดับธาตุที่สะสมในร่างกายที่มากเกินไปเล็กน้อยกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในขณะที่ระดับธาตุเหล็กสะสมที่สูงขึ้นยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเล็กน้อยต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือดหัวใจ (Cardioembolic stroke) ซึ่งอาจเป็นเพราะธาตุเหล็กส่วนเกินนั้นไปกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือด (อ้างอิง 73) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่าการเสริมธาตุเหล็กมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคเหล่านี้ เพียงแต่มันบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงกัน ที่น่าสนใจคือ การวิเคราะห์ข้อมูลหนึ่งพบว่า ในผู้หญิงนั้นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองจะลดลงเมื่อได้รับธาตุเหล็กจากอาหารหรืออาหารเสริมวันละ 20 มก. ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณที่แนะนำต่อวัน (74)
    • การใช้อาหารเสริมธาตุเหล็กก่อนหรือระหว่างการทำเคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำสูงขึ้น 91% (75)
    • การใช้อาหารเสริมธาตุเหล็กในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อติดตามผลในระยะเวลา 22 ปี (76)
    • วิตามินซีอาจเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก ทำให้ในผู้ที่รับประทานวิตามินซีในปริมาณที่สูงมาก (1,000 มก. หรือมากกว่าทุกวัน) อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะธาตุเหล็กเป็นพิษ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) ซึ่งเป็นภาวะทางพันธุกรรมที่ร่างกายจะสะสมธาตุเหล็กไว้ในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้ควรจำกัดปริมาณวิตามินซีเสริมไม่ให้เกินวันละ 500 มก. และควรหลีกเลี่ยงการเสริมธาตุเหล็ก (77)
    • อาหารเสริมธาตุเหล็กเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นพิษในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะยาเม็ดธาตุเหล็กสำหรับผู้ใหญ่เพียงไม่กี่เม็ดก็สามารถทำให้เกิดพิษร้ายแรงและทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรเก็บผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กให้พ้นมือเด็ก

สรุปเรื่องธาตุเหล็ก

  • เหล็ก (Iron) เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการสำหรับการเจริญเติบโตทางร่างกาย พัฒนาการทางระบบประสาท การทำงานของเซลล์ และการสังเคราะห์ฮอร์โมนบางชนิด
  • ธาตุเหล็กมักพบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ผักใบเขียวเข้มและถั่ว
  • ปริมาณที่แนะนำต่อวันของธาตุเหล็กจะอยู่ในช่วงวันละ 7-27 มก. โดยขึ้นอยู่กับอายุและเพศ
  • อาหารโดยทั่วไปที่เรารับประทานในแต่ละวันมักให้ธาตุเหล็กประมาณ 10-20 มก. ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับคนปกติทั่วไป
  • การขาดธาตุเหล็กเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในทารก เด็กเล็ก เด็กสาววัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงวัยมีประจำเดือน
  • วิธีที่ดีที่สุดในการระบุว่าระดับธาตุเหล็กยังอยู่ในระดับเพียงพอหรือดีต่อสุขภาพหรือไม่ คือการหมั่นตรวจเลือดเป็นประจำ
  • การขาดธาตุเหล็กคือเหตุผลเดียวเท่านั้นที่ควรพิจารณาเสริมธาตุเหล็กในรูปอาหารเสริม เพราะประโยชน์ส่วนใหญ่ของธาตุเหล็กนั้นดูจะจำกัดเฉพาะกับผู้ที่มีระดับธาตุเหล็กในเลือดต่ำกว่าปกติ ส่วนการเสริมในผู้ที่มีระดับธาตุเหล็กปกติอยู่แล้วนั้นไม่มีประโยชน์ และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เกิดความเป็นพิษจากการได้รับธาตุเหล็กเกินขนาด หรือเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพหลายอย่างดังที่กล่าวไป
  • ธาตุเหล็กเสริมปริมาณสูง (45 มก./วัน หรือมากกว่า) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ ท้องผูก
  • โดยทั่วไปไม่ควรรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก เว้นแต่ผลการตรวจเลือดจะแสดงให้เห็นว่ามีการขาดธาตุเหล็ก เพราะตามข้อมูลของ CDC พบว่าในผู้ชายมากถึง 29% มีความเสี่ยงต่อการได้รับธาตุเหล็กเกินขนาด
  • อาหารบางอย่างอาจลดการดูดซึมของธาตุเหล็กได้ เช่น ชา กาแฟ ไข่ ซีเรียล ขนมปัง โปรตีนถั่วเหลือง รวมถึงแคลเซียม
  • อาหารเสริมธาตุเหล็กอาจลดการดูดซึมของแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น สังกะสี ทองแดง แมกนีเซียม แมงกานีส
งานวิจัยอ้างอิง

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2023

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ