แอสตาแซนธิน
แอสตาแซนธิน* (Astaxanthin) คือ แคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเม็ดสีแดงที่สร้างขึ้นโดยสาหร่ายขนาดเล็ก (Haematococcus pluvialis) เมื่อมันเกิดความเครียด หรือเมื่อมันสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น แสงแดด อดอาหาร หรือถูกกิน สาหร่ายมันก็จะผลิตสารแอสตาแซนธินออกมาเพื่อปกป้องตัวเองในฐานะที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องสาหร่ายจากอนุมูลอิสระและความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นต่าง ๆ ทำให้สาหร่ายมีชีวิตชีวาและมีสุขภาพดี ซึ่งแคโรทีนอยด์นี้เองที่เป็นตัวทำให้เกิดสีแดงหรือสีชมพูในสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ล็อบสเตอร์ กุ้งเครย์ฟิช และอาหารทะเลอื่น ๆ
แอสตาแซนธินมีจำหน่ายทั่วโลกในฐานะอาหารเสริมต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งได้รับการกล่าวอ้างว่ามีสรรพคุณช่วยดูแลสุขภาพดวงตา ดีต่อสมอง บำรุงสุขภาพหัวใจ ผิวพรรณ ช่วยลดการอักเสบ เพิ่มความทนทานในการออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งช่วยในการเจริญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม การค้นพบแอสตาแซนธินในด้านประโยชน์ต่อมนุษย์นั้นยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ การทดลองส่วนใหญ่จึงดำเนินการกับสัตว์และยังต้องมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพดังกล่าว
หมายเหตุ : มักสะกดผิดเป็น “แอสต้าแซนธิน“, “แอสตาแซนทิน“, “แอสต้าแซนทีน” หรือ “แอสต้าแซนธีน“
ประโยชน์ของแอสตาแซนธิน
1. มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง การวิจัยแสดงให้เห็นว่าแอสตาแซนธินเป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังที่สุดในธรรมชาติ และมักถูกขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งแคโรทีนอยด์” โดยมีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีนมาก (2)
- การศึกษาพบว่าแอสตาแซนธินและแคโรทีนอยด์อื่น ๆ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก (3) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการอักเสบ แต่ยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย โดยมีการทดลองแบบสุ่มที่พบว่าการเสริมแอสตาแซนธินช่วยเพิ่มการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของผู้เข้าร่วมการทดลอง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน รวมถึงเครื่องหมายเฉพาะที่บ่งชี้ถึงความเสียหายของ DNA ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคในภายหลัง (4)
2. มะเร็ง เนื่องจากแอสตาแซนธินมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดการอักเสบ แอสตาแซนธินจึงอาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งและอาจช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ (5) มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่พบว่าแอสตาแซนธินมีประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม รวมถึงช่วยชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมด้วย (6)
- อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาในหนูทดลองที่แสดงให้เห็นว่าแอสตาแซนธินช่วยชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมให้กลายเป็นเนื้องอก แต่การให้แอสตาแซนธินหลังจากที่เนื้องอกได้ก่อตัวแล้วจะกลายเป็นเพิ่มความเร็วในการเติบโตของเนื้องอกแทน (7)
3. ส่งเสริมสุขภาพสมอง เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของระบบประสาทก็เพิ่มขึ้น เช่น โรคอัลไซเมอร์หรือโรคพาร์กินสัน ที่จะทำให้เกิดการสูญเสียเซลล์ประสาทในสมองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น สูญเสียความจำ สับสน กระสับกระส่าย วิตกกังวล ซึ่งการศึกษาใหม่ ๆ จำนวนมากนั้นพบว่าแอสตาแซนธินอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพสมอง มีคุณสมบัติในการปกป้องระบบประสาท เนื่องจากช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและการอักเสบ (8)
- การศึกษาในสัตว์ทดลองที่เสริมแอสตาแซนธินแล้วพบว่ามีผลช่วยเพิ่มการสร้างเซลล์สมองใหม่และเพิ่มหน่วยความจำเชิงพื้นของหนูทดลอง (9)
- การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในปี 2012 โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเป็นคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมตามวัยเป็นประจำ จำนวน 96 คน พบว่าการเสริมแอสตาแซนธินเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ช่วยปรับปรุงความจำ การเรียนรู้ และการคิดได้อย่างมีนัยสำคัญ (10)
4. ดีต่อสุขภาพดวงตา การศึกษาในปี 2008 พบว่าแอสตาแซนธินมีผลช่วยปกป้องจอประสาทตาจากความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น แอสตาแซนธินจึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) และโรคต้อกระจก (11) ส่วนอีกการศึกษาในผู้ใหญ่ 48 คนที่มีอาการปวดตาก็พบว่าแอสตาแซนธินเป็นหนึ่งในอาหารเสริมที่สามารถช่วยลดอาการเมื่อยล้าของดวงตาได้ (12)
- การทดลองเล็ก ๆ ในญี่ปุ่นกับผู้ทดลองชายหญิงจำนวน 59 คน อายุ 20-64 ปี ที่มีอาการเมื่อยล้าดวงตาจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ พบว่าการรับประทานแอสตาแซนธิน 9 มก. วันละครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ มีผลช่วยให้การมองเห็นของตาดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ไม่พบประโยชน์ในผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี (13)
5. ปกป้องหัวใจ จากการทบทวนการศึกษาที่มีการศึกษาทางคลินิกอย่างน้อย 8 ชิ้น แสดงให้เห็นว่าการเสริมแอสตาแซนธินสามารถช่วยการอักเสบและความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันในผู้ป่วยต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงหรือมีโรคหัวใจและหลอดเลือด (14) ส่วนการศึกษาอื่นก็แนะนำว่าการเสริมแอสตาแซนธินสามารถช่วยป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งซึ่งเป็นตัวสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดแดง แอสตาแซนธินจึงอาจมีผลช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ (15)
- การศึกษาในปี 2006 ที่ตรวจพบของแอสตาแซนธินต่อหนูที่มีความดันโลหิตสูง และผลการศึกษานี้ระบุว่าแอสตาแซนธินอาจช่วยปรับปรุงระดับอีลาสตินและความหนาของผนังหลอดเลือดแดง (16)
6. ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ การศึกษาพบว่าการรับประทานแอสตาแซนธินวันละ 6-18 มก. เป็นเวลา 12 สัปดาห์ สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และช่วยเพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) สอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้าที่การรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอสตาแซนธิน, เบอร์เบอรีน (Berberine), โพลิโคซานอล (Policosanol), ยีสต์แดง (Red yeast rice), โคเอนไซม์คิวเท็น และกรดโฟลิค (Armolipid Plus by Rottapharm S.p.A.) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดี (HDL) และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวม, ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ในผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติ (1)
7. อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) การศึกษาพบว่าการรับประทานแอสตาแซนธิน 40 มก. (AstaCarox by AstaReal) ทุกวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถช่วยลดอาการกรดไหลย้อนในผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยได้ (1)
8. ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย การศึกษาในผู้ชาย 30 คนที่เคยมีปัญหาภาวะมีบุตรยากมาก่อนพบว่าการรับประทานแอสตาแซนธินวันละ 16 มก. เป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ของผู้ชายที่อยู่ในภาวะมีบุตรยากได้ โดยพบว่าแอสตาแซนธินมีผลช่วยปรับปรุงการเคลื่อนไหวของสเปิร์มและเพิ่มความสามารถของสเปิร์มในการปฏิสนธิกับไข่ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษายืนยันในกลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่ต่อไป (17)
9. ลดอาการวัยหมดประจำเดือน (Menopausal symptoms) การศึกษาพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีแอสตาแซนธิน วิตามินดี3 ไลโคปีน และซิตรัสไบโอฟลาโวนอยด์ (MF Afragil) ทุกวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ สามารถช่วยลดอาการวัยทองได้ เช่น อาการร้อนวูบวาบ ปวดข้อ อารมณ์แปรปรวน และปัญหากระเพาะปัสสาวะ (18)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของวิตามินดี, ไลโคปีน
10. ลดการอักเสบ การอักเสบเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการอักเสบเรื้อรังสามารถนำไปสู่โรคหรือสภาวะต่าง ๆ ได้ เช่น เบาหวาน มะเร็ง และโรคหัวใจ การศึกษาจำนวนมากพบว่าแอสตาแซนธินสามารถช่วยลดระดับตัวบ่งชี้ของการอักเสบในร่างกายได้ ซึ่งสิ่งนี้อาจมีประโยชน์อย่างมากและอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังบางประเภทได้ (19) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีแอสตาแซนธิน ลูทีน วิตามินเอ วิตามินอี และน้ำมันดอกคำฝอย (BioAstin by Cyanotech) วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ สามารถช่วยลดความเจ็บปวดในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) (20)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของวิตามินเอ, วิตามินอี
11. ดีต่อสุขภาพผิว งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการเสริมแอสตาแซนธิน 2-3 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ สามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว ช่วยลดริ้วรอยและรอยเหี่ยวย่นในผู้หญิงและชายวัยกลางคนได้ นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่าความชุ่มชื้นในผิวหนังจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (1) สอดคล้องกับอีกการศึกษาในปี 2012 ในผู้หญิงเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ที่แสดงให้เห็นว่าการรับประทานแอสตาแซนธิน 6 มก. ร่วมกับการใช้แอสตาแซนธินแบบทา 2 มล. สามารถช่วยให้ริ้วรอยเรียบเนียนขึ้น จุดด่างดำเล็กลง และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในผิวหนัง (21) รวมถึงการศึกษาที่พบว่าแอสตาแซนธินมีประสิทธิภาพรักษาอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) ในหนูทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญ (22) อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์นี้
- การศึกษาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทเล็ก ๆ (AstaREAL) ในกลุ่มผู้ชายที่มีสุขภาพดี พบว่าการเสริมแอสตาแซนธิน 3 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ช่วยลดพื้นที่ของผิวหนังที่เหี่ยวย่นรอบดวงตา (รอยตีนกา) ได้อย่างมีนัยสำคัญ (21)
- แอสตาแซนธินอาจช่วยปกป้องผิวจากการทำลายของรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) โดยการทดลองแบบสุ่มปกปิดทั้งสองทางและควบคุมด้วยยาหลอก ยังพบด้วยว่าแอสตาแซนธินสามารถช่วยปกป้องผิวจากการเสื่อมสภาพของผิวที่เกิดจากรังสียูวีและช่วยรักษาสุขภาพผิวให้ดีขึ้น (23)
12. เพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับแอสตาแซนธินที่พบว่าแอสตาแซนธินอาจช่วยเพิ่มความทนทานในการออกกำลังกาย ลดความเหนื่อยล้าหลังออกกำลังกาย และป้องกันความเสียหายของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้ยังให้ผลลัพธ์ที่ขัดแย้งกัน โดยการศึกษาที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
- การศึกษาในสัตว์ทดลอง เช่น การศึกษาในหนูทดลองที่พบว่าแอสตาแซนธินช่วยเพิ่มความทนทานในการว่ายน้ำของหนูได้ (24), การศึกษาที่พบว่าแอสตาแซนธินสามารถชวยป้องกันความเสียหายของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกายของหนูทดลองด้วยการวิ่งบนลู่ได้ (25)
- การศึกษาในมนุษย์ เช่น การศึกษาที่พบว่าการเสริมแอสตาแซนธินวันละ 4 มก. เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการปั่นจักรยานเป็นระยะ 20 กิโลเมตรลง (ลดลง 121 วินาที เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่ลดลงเพียง 19 วินาที) กล่าวคือนักกีฬามีกำลังขับมากขึ้น มีประสิทธิภาพในการออกกำลังกายมากขึ้น (26) สอดคล้องกับการศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกที่พบว่าการเสริมแอสตาแซนธินวันละ 4 มก. เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าช่วยเพิ่มความอดทนและความแข็งแรงในผู้ชายที่ออกกำลังกายตามปกติได้ (27) และการศึกษาในนักฟุตบอลชายที่พบว่าการเสริมแอสตาแซนธิน 4 มก. เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดระดับความเสียหายของกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (28)
- สำหรับตัวอย่างการศึกษาที่พบว่าไม่ได้ผลคือ การเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีแอสตาแซนธิน ลูทีน และน้ำมันดอกคำฝอยทุกวัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ พบว่าไม่ได้ช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อหรือเพิ่มประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับน้ำมันดอกคำฝอยเพียงอย่างเดียว (1)
ข้อควรรู้และคำแนะนำ
- แหล่งอาหารที่มีแอสตาแซนธินสูง : ได้แก่ ปลาแซลมอนที่จับได้ตามธรรมชาติ, กุ้งขนาดเล็ก (Krill), สาหร่าย, ปลาเทราท์แดง, ลอบสเตอร์, ปู, กุ้ง, ไข่ปลาแซลมอน และปลากระพงแดง (ความเข้มข้นของแอสตาแซนธินที่พบในอาหารสำหรับกุ้งคือ 1,200 PPM (ส่วนในล้านส่วน) และสาหร่าย Haematococcus pluvialis คือ 40,000 PM ซึ่งมีความเข้มข้นสูงสุด)
- การได้รับแอสตาแซนธินจากอาหาร : การรับประทานปลาแซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์มขนาด 4 ออนซ์ (ประมาณ 113 กรัม) โดยทั่วไปจะให้แอสตาแซนธินประมาณ 1 มก. ในขณะที่ถ้าเป็นปลาแซลมอนจากธรรมชาติในปริมาณเดียวกันจะให้แอสตาแซนธินมากกว่าหรือประมาณ 4.5 มก. (โปรดทราบว่าแอสตาแซนธินอาจสลายไปได้ในระหว่างการปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนสูง)
- ความปลอดภัยของแอสตาแซนธิน : แอสตาแซนธินที่ได้จากการรับประทานอาหารทั่วไปนั้นมีความปลอดภัย ส่วนแอสตาแซนธินในรูปของอาหารเสริมนั้นมีการศึกษาและพิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัยเมื่อใช้ขนาดวันละ 4-40 มก. เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และปลอดภัยเมื่อรับประทานวันละ 4 มก. ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน
- ปริมาณแอสตาแซนธินที่แนะนำ : ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะกำหนดปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการรับประทานแอสตาแซนธินในรูปของอาหารเสริมสำหรับประโยชน์แต่ละประการ และปริมาณที่เหมาะสมยังขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาทั่วไปแนะนำปริมาณที่เหมาะสมคือวันละ 4-12 มก. (แบ่งรับประทานพร้อมอาหารวันละ 1-3 ครั้ง) โดยขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ต้องการ (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) แนะนำให้รับประทานไม่เกินวันละ 12 มก.)
- วิธีการรับประทานแอสตาแซนธิน : ควรรับประทานอาหารเสริมแอสตาแซนธินพร้อมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันหรือน้ำมัน เพื่อเพิ่มการดูดซึม
- การเลือกอาหารเสริมแอสตาแซนธิน : ควรเลือกผลิตภัณฑ์แอสตาแซนธินที่สกัดจากธรรมชาติมากกว่าแอสตาแซนธินแบบสังเคราะห์ที่มักมีสารเติมแต่งและอาจไม่ดีต่อสุขภาพมากนัก เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างสูงสุด (จากการศึกษาพบว่าแอสตาแซนธินจากธรรมชาติมีประสิทธิภาพในการกำจัดอนุมูลอิสระมากกว่าแอสตาแซนธินสังเคราะห์ถึง 20 เท่า (29) อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์แอสตาแซนธินจากธรรมชาติไม่จำเป็นต้องปลอดภัยเสมอไป และปริมาณการใช้ก็มีความสำคัญ คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่เกี่ยวข้องบนฉลากผลิตภัณฑ์และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ
- ผลข้างเคียงของแอสตาแซนธิน : พบได้เฉพาะในรูปแบบอาหารเสริมเมื่อรับประทานในขนาดที่สูงมาก (คือมากกว่าวันละ 48 มก.) โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้ตามรายงาน ได้แก่ อุจจาระอาจเปลี่ยนเป็นสีแดง, ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง, แคลเซียมในเลือดลดลง, ความดันโลหิตลดลง, เกิดอาการปวดท้อง, เพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้, เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความต้องการทางเพศ, เม็ดสีผิวเพิ่มขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากคุณพบผลข้างเคียงเหล่านี้ควรลดขนาดที่รับประทานลงหรือหยุดรับประทาน
- ข้อห้ามใช้ : ผู้ที่แพ้อาหารทะเล รวมถึงไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากยังขาดการศึกษาด้านความปลอดภัยในคนกลุ่มนี้
สรุป
แอสตาแซนธินเป็นแคโรทีนอยด์เม็ดสีแดงที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งแคโรทีนอยด์” มีความสามารถโดดเด่นในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูง อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพดวงตา สมอง หัวใจ ผิวพรรณ การช่วยลดการอักเสบ เพิ่มความทนทานในการออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งช่วยในการเจริญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาในมนุษย์ยังมีจำกัดและเป็นเรื่องที่ยังค่อนข้างใหม่ จึงยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- RxList. “ASTAXANTHIN”. (2023)
- Marine Drugs. “Astaxanthin: Sources, Extraction, Stability, Biological Activities and Its Commercial Applications—A Review”. (2014)
- Journal of Agricultural and Food Chemistry. “Antioxidant activities of astaxanthin and related carotenoids”. (2000)
- Nutrition & Metabolism. “Astaxanthin decreased oxidative stress and inflammation and enhanced immune response in humans”. (2010)
- Marine Drugs. “Multiple Mechanisms of Anti-Cancer Effects Exerted by Astaxanthin”. (2015)
- International Journal of Molecular Medicine. “Antiproliferation and induction of cell death of Phaffia rhodozyma (Xanthophyllomyces dendrorhous) extract fermented by brewer malt waste on breast cancer cells”. (2005)
- Anticancer Research. “Effect of Dietary Astaxanthin at Different Stages of Mammary Tumor Initiation in BALB/c Mice”. (2010)
- GeroScience. “Neuroprotective mechanisms of astaxanthin: a potential therapeutic role in preserving cognitive function in age and neurodegeneration”. (2017)
- Molecular Nutrition & Food Research. “Astaxanthin supplementation enhances adult hippocampal neurogenesis and spatial memory in mice”. (2016)
- Journal of Clinical Biochemistry and Nutrition. “Effects of astaxanthin-rich Haematococcus pluvialis extract on cognitive function: a randomised, double-blind, placebo-controlled study”. (2012)
- Journal of Pharmacy and Pharmacology. “Astaxanthin, a dietary carotenoid, protects retinal cells against oxidative stress in-vitro and in mice in-vivo”. (2008)
- Current Medicinal Chemistry. “Effect of Multiple Dietary Supplement Containing Lutein,
Astaxanthin, Cyanidin-3-Glucoside, and DHA on Accommodative Ability”. (2014) - Journal of Clinical Biochemistry and Nutrition. “Effects of diet containing astaxanthin on visual function in healthy individuals: a randomized, double-blind, placebo-controlled, parallel study”. (2023)
- Future Cardiology. “Astaxanthin, oxidative stress, inflammation and cardiovascular disease”. (2009)
- Marine Drugs. “Potential Anti-Atherosclerotic Properties of Astaxanthin”. (2016)
- Biological and Pharmaceutical Bulletin. “Antihypertensive potential and mechanism of action of astaxanthin: III. Antioxidant and histopathological effects in spontaneously hypertensive rats”. (2006)
- Asian Journal of Andrology. “Combined conventional/antioxidant “Astaxanthin” treatment for male infertility: a double blind, randomized trial”. (2005)
- Panminerva Medica. “MF Afragil® in the treatment of 34 menopause symptoms: a pilot study”. (2010)
- Nutrition & Metabolism. “Astaxanthin decreased oxidative stress and inflammation and enhanced immune response in humans”. (2010)
- Health Research and Studies Center. “BioAstin helps relieve pain and improves performance in patients with rheumatoid arthritis”. (2002)
- Acta Biochimica Polonica. “Cosmetic benefits of astaxanthin on humans subjects*”. (2012)
- PLOS ONE. “Efficacy of Astaxanthin for the Treatment of Atopic Dermatitis in a Murine Model”. (2016)
- Nutrients. “The Protective Role of Astaxanthin for UV-Induced Skin Deterioration in Healthy People-A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Trial”. (2018)
- Biological and Pharmaceutical Bulletin. “Effects of astaxanthin supplementation on exercise-induced fatigue in mice”. (2006)
- Antioxidants & Redox Signaling. “Astaxanthin limits exercise-induced skeletal and cardiac muscle damage in mice”. (2003)
- International Journal of Sports Medicine. “Effect of astaxanthin on cycling time trial performance”. (2011)
- Carotenoid Science,. “Dietary Supplementation with Astaxanthin-Rich Algal Meal Improves Strength Endurance – A Double Blind Placebo Controlled Study on Male Students –”. (2008)
- The Journal of Sports Medicine and Physical Fitness. “Effect of astaxanthin supplementation on muscle damage and oxidative stress markers in elite young soccer players”. (2012)
- Nutrafoods. “Synthetic astaxanthin is significantly inferior to algal-based astaxanthin as an antioxidant and may not be suitable as a human nutraceutical supplement”. (2013)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 09 ก.ค. 2023