ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็ก (Iron / สัญลักษณ์ธาตุ คือ Fe) เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการในปริมาณเล็กน้อยและมีอยู่ตามธรรมชาติในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ผักใบเขียวเข้มและถั่ว รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิด และมีอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้งแบบธาตุเหล็กเดี่ยว ๆ หรือแบบวิตามินและแร่ธาตุรวม
ธาตุเหล็กในอาหารสามารถจำแนกตามโครงสร้างได้เป็น 2 ชนิด คือ เหล็กฮีม (Heme iron) ที่ร่างกายดูดซึมได้ดี และเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (Nonheme iron) ที่ร่างกายดูดซึมได้ไม่ดี โดยพืชและอาหารที่เสริมธาตุเหล็กจะให้ธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม ในขณะที่เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และสัตว์ปีกจะให้ทั้งธาตุเหล็กฮีมและธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม
เหล็กเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการสำหรับการเจริญเติบโตทางร่างกาย พัฒนาการทางระบบประสาท การทำงานของเซลล์ และการสังเคราะห์ฮอร์โมนบางชนิด ร่างกายของเราจะใช้ธาตุเหล็กเพื่อสร้างฮีโมโกลบิน/เฮโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญของเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ถ่ายเทออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และไมโอโกลบิน (Myoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยนำส่งออกซิเจนไปสู่กล้ามเนื้อ
ธาตุเหล็กส่วนใหญ่ 3-4 กรัมในผู้ใหญ่จะอยู่ในฮีโมโกลบิน ส่วนธาตุเหล็กที่เหลือส่วนใหญ่จะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปของเฟอร์ริติน (Ferritin) หรือเฮโมไซด์ริน (Hemosiderin) ในตับ ม้าม และไขกระดูก หรืออยู่ในไมโอโกลบิน ในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะสูญเสียธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อยทางปัสสาวะ อุจจาระ ระบบทางเดินอาหาร และผิวหนัง การสูญเสียจะมากขึ้นในผู้หญิงที่มีประจำเดือนเนื่องจากการเสียเลือด
การขาดธาตุเหล็กเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีประจำเดือน ผู้หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก การขาดธาตุเหล็กมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ซึมเศร้า การทำงานของสมองบกพร่อง และเกิดผลเสียอื่น ๆ ซึ่งการแก้ไขภาวะการขาดธาตุเหล็กด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กหรือธาตุเหล็กในรูปของอาหารเสริม (หากจำเป็น) ก็มีแนวโน้มจะทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ส่วนใหญ่ของธาตุเหล็กนั้นดูจะจำกัดเฉพาะกับผู้ที่มีระดับธาตุเหล็กในเลือดต่ำ และยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม (อ้างอิง 1)
ธาตุเหล็กเปรียบเสมือนกับดาบสองคมของโลกโภชนาการ ในแง่หนึ่งหลายคนมีระดับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ แต่ในทางกลับกันหลายคนอาจได้รับธาตุเหล็กมากเกินไปจนอาจเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้มากมายหรือทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การขาดธาตุเหล็กจึงเป็นเหตุผลเดียวเท่านั้นที่ควรพิจารณาการเสริมธาตุเหล็ก และจะเป็นการดีที่สุดถ้าเสริมธาตุเหล็กจากอาหารปกติแทนที่จะอยู่ในรูปแบบอาหารเสริม ส่วนผู้ที่มีธาตุเหล็กเพียงพออยู่แล้ว การเสริมธาตุเหล็กในรูปต่าง ๆ ไม่มีประโยชน์ และในทางกลับกันอาจนำไปสู่การได้รับธาตุเหล็กเกินขนาดและเป็นอันตรายได้
การขาดธาตุเหล็ก
การขาดธาตุเหล็กไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีประจำเดือน และผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการขาดธาตุเหล็กนั้นเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่ไม่ดี การเสียเลือด และความผิดปกติของการดูดซึมจากสาเหตุต่าง ๆ และในคนที่ขาดธาตุเหล็กก็มักจะมีแนวโน้มขาดสารอาหารอื่น ๆ ด้วย (โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคโลหิตจางทั่วโลก 1.62 พันล้านรายมีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็ก)
การตรวจวัดระดับธาตุเหล็กในปัจจุบันจะตรวจวัดได้จาก การตรวจหาค่าเฟอร์ริติน (Ferritin) เพราะเป็นวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุดสำหรับการวินิจฉัยภาวะการขาดธาตุเหล็ก (ส่วนการตรวจฮีโมโกลบินและฮีมาโตคริตนั้น แม้จะเป็นวิธีการตรวจที่ใช้บ่อย แต่ก็ไม่มีความไว้หรือเจาะจงเท่าการตรวจหาค่าเฟอร์ริติน) หากระดับความเข้มข้นของเฟอร์ริตินในเลือดต่ำกว่า 30 mcg/L จะแสดงถึงภาวะขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency : ID) แต่หากต่ำกว่า 10 mcg/L จะแสดงถึงภาวะโลหิตจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia : IDA)
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์, ทารกและเด็กเล็ก, ผู้หญิงที่มีประจำเดือนออกมาก, ผู้บริจาคโลหิตเป็นประจำ, ผู้ที่เป็นมะเร็ง, ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารหรือเคยผ่าตัดทางเดินอาหาร, ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ : เนื่องจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงของมารดาที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของทารกในครรภ์และรก การขาดธาตุเหล็กในระหว่างตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของมารดาและทารก การคลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ (อ้างอิง 2)
- ทารกและเด็กเล็ก : เพราะทารกต้องการธาตุเหล็กสูงเนื่องจากการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ หรือมารดามีภาวะขาดธาตุเหล็ก มีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก ส่วนทารกที่คลอดตามกำหนดจะมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กเมื่ออายุได้ 6-9 เดือน เว้นแต่จะได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ (3, 4)
- ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามาก : ผู้ที่มีประจำเดือนหรือเลือดออกมากผิดปกติระหว่างมีประจำเดือนจะมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดธาตุเหล็ก และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) ได้ประมาณ 33-41% (5, 6)
- ผู้บริจาคโลหิตเป็นประจำ : ในผู้บริจาคโลหิตบ่อยทุก 8 สัปดาห์ อาจทำให้ธาตุเหล็กในร่างกายหมดไป โดยพบว่าประมาณ 25%–35% ของผู้บริจาคโลหิตเป็นประจำทุกมีภาวะขาดธาตุเหล็ก (7)
- ผู้ป่วยมะเร็ง : โดยพบว่าในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มากถึง 60% ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งอาจเป็นเพระาการเสียเลือดเรื้อรัง ส่วนความชุกของการธาตุเหล็กในผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่น ๆ มีตั้งแต่ 29-46% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากภาวะโลหิตจางจากโรคเรื้อรังและจากการใช้ยาเคมีบำบัด รวมไปถึงการสูญเสียเลือด การขาดสารอาหารจากอาการเบื่ออาหาร (8)
- ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว : ประมาณ 60% ของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังมีภาวะขาดธาตุเหล็ก และ 17% มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) ซึ่งสาเหตุมาจากภาวะทางโภชนาการที่ต่ำ การดูดซึมและการสะสมธาตุเหล็กบกพร่อง ภาวะผอมแห้งหนังหุ้มกระดูก (Cardiac cachexia) การใช้ยาแอสไพรินและยาต้านการแข็งตัวของเลือด ส่งผลให้มีการสูญเสียเลือดบางส่วนในทางเดินอาหาร (9)
- ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารบางอย่างหรือเคยผ่าตัดทางเดินอาหาร : เช่น ในผู้ที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis), โรคโครห์น (Crohn’s disease), โรคเซลิแอค (Celiac disease), ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดลำไส้ (Intestinal resection), ผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Gastrectomy) หรือผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) ฯลฯ จะมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กสูงเนื่องจากความผิดปกติ ปัญหาเรื่องการดูดซึม การสูญเสียเลือดในทางเดินอาหาร หรือจากที่ต้องมีการจำกัดอาหาร (10, 11, 12) (ในผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) แม้เวลาจะผ่านไปแล้วหลายสิบปีหลังการผ่าตัดก็ตาม (13))
ระดับของการขาดธาตุเหล็ก : การขาดธาตุเหล็กหมายถึง การที่ระดับธาตุเหล็กในร่างกายมีปริมาณน้อยกว่าปกติ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ
- Iron depletion เป็นระดับที่ร่างกายเริ่มมีการขาดธาตุเหล็กในแหล่งสะสม ยังไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ สามารถตรวจพบความผิดปกตินี้ได้จากการตรวจพบค่าเฟอร์ริตินที่ต่ำ
- Iron deficit erythropoiesis เป็นระดับที่ธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกายหมดไป ทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงเริ่มมีปัญหา แต่ผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการจากภาวะโลหิตจางให้เห็น แต่ตรวจพบว่าระดับของธาตุเหล็กในเลือดลดลง
- Iron deficiency anemia (IDA) เป็นระดับที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเกิดขึ้นแล้ว และผู้ป่วยจะมีอาการจากภาวะโลหิตจางแสดงชัดเจน
อาการของการขาดธาตุเหล็ก : ในระยะสั้น การได้รับธาตุเหล็กน้อยเกินไปจะไม่ทำให้เกิดอาการที่ชัดเจน เพราะร่างกายยังใช้ธาตุเหล็กที่สะสมไว้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อยู่ เช่น กล้ามเนื้อ ตับ ม้าม ไขกระดูก แต่เมื่อระดับธาตุเหล็กที่สะสมไว้หมดไปจนเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) เซลล์เม็ดเลือดแดงจะมีขนาดเล็กลงและมีฮีโมโกลบินน้อยลง ส่งผลให้เลือดนำพาออกซิเจนจากปอดไปทั่วร่างกายได้น้อยลง ก็จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
สำหรับอาการของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจถี่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มือเท้าเย็น ผิวซีด เจ็บหน้าอก อ่อนแรง เหนื่อยล้า ขาดพลังงาน และเซื่องซึม เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ความบกพร่องทางสติปัญญา ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิและความจำ มีผลต่อการทำงานของภูมิคุ้มกัน รวมถึงการออกกำลังกายและการทำงาน ส่วนอาการอื่นๆ ได้แก่ ผมร่วง เล็บเปราะ ลิ้นบวมหรือเจ็บ ปากแตก สูญเสียการรับรส ม้ามโต ติดเชื้อได้บ่อย ในหญิงตั้งครรภ์จะส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ ส่วนในทารกและเด็กอาจมีปัญหาด้านการเรียนรู้และมีพัฒนาการทางจิตใจล่าช้า นอกจากนี้ ยังสัมพัมธ์กับการเกิดโรคปากนกกระจอก (Aphthous stomatitis), โรคชอบทานของแปลก (Pica diseases), กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (RLS), หัวใจเต้นผิดปกติ (Arrhythmias), เกิดเสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur), เกิดภาวะหัวใจโต (Cardiomegaly), ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) รวมถึงโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความผิดปกติทางอารมณ์หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ (อ้างอิง 14, 15, 16, 17, 18, 19)
ประโยชน์ของธาตุเหล็ก
1. เพื่อสุขภาพและการทำงานของร่างกายที่ดี ธาตุเหล็กเป็นหนึ่งในแร่ธาตุที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญมากที่สุดในร่างกาย ร่างกายของเราต้องการธาตุเหล็กเพื่อใช้ในการผลิตฮีโมโกลบินและไมโอโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงซึ่งเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายเพื่อการทำงานของเซลล์ สังเคราะห์ฮอร์โมนบางชนิด การทำงานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่าง ๆ ในการสันดาปพลังงานหรือนำพลังงานต่าง ๆ ไปใช้ จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย พัฒนาการทางระบบประสาท เป็นต้น
2. ป้องกัน/รักษาภาวะขาดธาตุเหล็กและภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (ID & IDA) สามารถรักษาได้ด้วยการเสริมธาตุเหล็กทั้งในรูปแบบเม็ดรับประทานและแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำตามความเหมาะสมของอาการ
- ภาวะ IDA เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคโครห์น (Crohn’s disease) และโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบอื่น ๆ (IBD) ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการเสริมธาตุเหล็ก (อ้างอิง 20, 21)
- การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมแสดงให้เห็นว่าการเสริมธาตุเหล็กสามารถป้องกันภาวะ ID และ IDA ในหญิงตั้งครรภ์และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับทารก (22, 23) ส่วนการทบทวนของ Cochrane แสดงให้เห็นว่าในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเสริมธาตุเหล็กวันละ 9–90 มก. สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะขาดธาตุเหล็กได้ 57% และภาวะ IDA ได้ 70% นอกจากนี้ การเสริมธาตุเหล็กทุกวันยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลง 8.4% ที่ทารกจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริมที่จะมีความเสี่ยงอยู่ 10.2% และค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวแรกเกิดของทารกที่มารดาได้รับการเสริมธาตุเหล็กยังสูงขึ้น 31 กรัม เมื่อเทียบกับมารดาที่ไม่ได้เสริมธาตุเหล็ก (24)
- การทบทวนของ Cochrane จากการศึกษา 26 เรื่องในทารกที่คลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำรวม 2,726 คน พบว่าการเสริมธาตุเหล็กช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (25) สอดคล้องกับการทบทวนการศึกษาของ Cochrane อีกครั้งในเด็กจำนวน 3,748 คนที่มีอายุน้อยกว่า 2 ขวบในประเทศที่มีรายได้น้อย แสดงให้เห็นว่าการเสริมผงจุลธาตุหลายชนิด (Multiple micronutrient powder : MNP) ที่มีธาตุเหล็ก 12.5-30 มก. และธาตุอาหารอื่น ๆ อีกหลายชนิด ช่วยป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก (ID) ได้ 51% และภาวะโลหิตจาง IDA ได้ 31% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (26)
- การเสริมธาตุเหล็กในช่วงที่มีประจำเดือนสามารถช่วยเพิ่มระดับฮีโมโกลบินและระดับเฟอร์ริตินในเลือด และช่วยลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจาง อย่างไรก็ตาม การเสริมธาตุเหล็กทุกวันดูเหมือนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางได้ดีกว่าการเสริมในช่วงที่มีประจำเดือน (27)
3. ภาวะโลหิตจางจากโรคเรื้อรัง (Anemia of chronic disease) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ โรคไตวายเรื้อรัง โรคไขข้ออักเสบ โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งบางชนิด และโรคภูมิแพ้ตนเอง ปัจจุบันการรักษาหลักคือ การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ แต่ถ้าการรักษาดังกล่าวไม่สามารถทำได้ บางครั้งแพทย์อาจใช้การเสริมธาตุเหล็กและ/หรือสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (ESAs) (อ้างอิง 28)
4. จำเป็นต่อผู้บริจาคเลือด การศึกษาพบว่าการเสริมธาตุเหล็กในระดับปานกลาง (ธาตุเหล็ก 37.5 มก. ในรูป Ferrous gluconate ทุกวัน) ช่วยลดเวลาในการฟื้นฟูระดับฮีโมโกลบินและเฟอร์ริตินหลังการบริจาคเลือดได้ถึง 80% (29)
5. อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของสมอง (Cognitive function) การศึกษาในเด็กผู้หญิงที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กแต่ยังไม่มีภาวะโลหิตจาง พบว่าการเสริมธาตุเหล็ก 130 มก. (เทียบเท่ากับ Ferrous sulfate 650 มก.) วันละ 2 ครั้ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำและการรับรู้จากการทำแบบทดสอบ (30) หรือการศึกษาในเด็กที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กหรือมีภาวะโลหิตจาง พบว่าการเสริมธาตุเหล็กช่วยลดความบกพร่องทางสติปัญญาและช่วยเพิ่มพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวได้ (31)
6. อาจดีต่ออารมณ์และโรคซึมเศร้า การขาดธาตุเหล็กมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และความผิดปกติทางอารมณ์หรือจิตเวชอื่นๆในการศึกษาเชิงสังเกต (อ้างอิง 18, 19)
- ความผิดปกติทางอารมณ์ : การศึกษาขนาดเล็กในญี่ปุ่นพบว่าการเสริมธาตุเหล็กวันละ 25-100 มก. เป็นเวลา 12 สัปดาห์ สามารถช่วยลดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และความหงุดหงิดบางอย่างในเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กและมีความผิดปกติทางอารมณ์หรือพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่มีการควบคุมด้วยยาหลอกและผู้เข้าร่วมรู้ว่าตัวเองกำลังรับประทานธาตุเหล็ก (อ้างอิง 32) ส่วนการศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกเป็นเวลา 8 สัปดาห์ในอาสาสมัครที่เป็นทหารจำนวน 219 คนที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก พบว่าการเสริมธาตุเหล็ก Ferrous sulfate 100 มก. อาจมีประโยชน์ในการช่วยปรับปรุงสภาวะทางอารมณ์ (33)
- โรคซึมเศร้า : การศึกษาในปัจจุบันบ่งชี้ว่าการบริโภคธาตุเหล็กมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า และการเพิ่มระดับธาตุเหล็กอาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น โดยจากการวิเคราะห์การศึกษาขนาดเล็ก พบว่าการบริโภคธาตุเหล็กที่สูงขึ้นดูเหมือนจะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรค (34) ในขณะที่บางการศึกษาไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนในการลดอาการของโรคเมื่อเสริมธาตุเหล็กวันละ 27 มก. ในผู้หญิงที่มีภาวะโลหิตจางและเป็นโรคซึมเศร้า (35)
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด : การศึกษาส่วนใหญ่พบความสัมพันธ์เชิงบวกกับภาวะโลหิตจางและการขาดธาตุเหล็ก แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่ามีศักยภาพเพียงใด (36) โดยการทดลองที่มีการควบคุมพบว่าการเสริมธาตุเหล็กหลังคลอดช่วยปรับปรุงอาการทั้งในผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง (37) และไม่มีภาวะโลหิตจาง (38)
7. โรคสมาธิสั้นในเด็ก (ADHD) การศึกษาขนาดเล็กพบว่าการเสริมธาตุเหล็กวันละ 80 มก. (ในรูปของ Ferrous sulfate) เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอายุ 5-8 ปีที่มีระดับเฟอร์ริตินในเลือดต่ำ (แต่ยังไม่มีภาวะโลหิตจาง) สามารถช่วยให้อาการบางอย่างของโรคดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (อ้างอิง 39)
8. ลดอาการไอแห้งจากการใช้ยากลุ่ม ACE inhibitors อาการไอแห้งที่เกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด จากการศึกษาเราพบว่าการเสริมธาตุเหล็กเหล็กวันละ 51.2 มก. (เทียบเท่ากับ Ferrous sulfate 256 มก.) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถช่วยลดอาการไอได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (40)
9. ผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) การขาดธาตุเหล็กมักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารเพื่อลดความอ้วน และยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางแม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายสิบปีหลังการผ่าตัดก็ตาม ดังนั้น เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็กหลังการผ่าตัด ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เสริมธาตุเหล็กวันละ 45-60 มก. (อ้างอิง 13) อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาเชิงสังเกตล่าสุดปี 2023 พบว่าการเสริมธาตุเหล็ก “หลังการผ่าตัด” ดังกล่าวอาจไม่ได้ช่วยป้องกันการขาดธาตุเหล็ก เพราะพบความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางที่คล้ายกันทั้งในกลุ่มที่เสริมและไม่ได้เสริมธาตุเหล็ก ซึ่งผู้วิจัยสังเกตว่าระดับฮีโมโกลบินที่ต่ำก่อนการผ่าตัดนั้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะโลหิตจางหลังการผ่าตัด ผู้วิจัยจึงแนะนำให้ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักดังกล่าวควรเสริมธาตุเหล็กให้มีระดับที่เพียงพอก่อนการผ่าตัดดังกล่าว (41)
10. อาจช่วยลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) การบริโภคธาตุเหล็กที่มากขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อการเกิดอาการ PMS โดยจากการศึกษาในปี 2013 เราพบว่ากลุ่มที่บริโภคธาตุเหล็กสูงจากอาหารเสริมหรืออาหารจากพืช (เฉลี่ยวันละ 21.4 มก.) จะมีความเสี่ยงที่ลดลง 29% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับธาตุเหล็กต่ำ (เฉลี่ย 9.4 มก.) และความเสี่ยงจะลดลงเป็น 36% ในกลุ่มที่ได้รับธาตุเหล็กเฉลี่ย 49.2 มก. (42)
11. โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นภาวะที่มีอาการปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนทั่วร่างกาย การขาดธาตุเหล็กมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจียในผู้หญิง โดยการศึกษาในไต้หวันที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก พบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 22% ในผู้หญิงที่มีภาวะโลหิตจาง เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีภาวะโลหิตจาง ในขณะที่ไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในผู้ชาย (43)
12. กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome : RLS) ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กหรือมีระดับธาตุเหล็กในร่างกายต่ำ อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการขาอยู่ไม่สุข (44) แนวทางจาก American Academy of Neurology แนะนำว่าเสริมธาตุเหล็ก 65 มก . (จาก Ferrous sulfate 325 มก.) และวิตามินซี 200 มก. (เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก) วันละ 2 ครั้ง อาจช่วยให้อาการดีขึ้นในผู้ที่มีอาการขาอยู่ไม่สุขที่มีระดับเฟอร์ริตินในเลือดต่ำกว่า 75 ng/mL (45) ซึ่งคำแนะนำนี้อ้างอิงจากการศึกษาขนาดเล็กที่ให้การรักษาคล้ายกัน (แต่ให้วิตามินซีเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 100 มก. วันละ 2 ครั้ง) เป็นเวลา 3 เดือน ในผู้ชายและหญิงสูงอายุที่มีระดับเฟอร์ริตินในเลือดต่ำ (15 – 75 ng/mL) ที่สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการลงได้เฉลี่ย 10 คะแนนในระดับ 0-40 ในขณะที่ลดลงเพียง 1 คะแนนในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตาม คุณภาพชีวิตโดยรวมไม่ได้ดีขึ้นในทั้งสองกลุ่ม (46)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของวิตามินซี (Vitamin C) จากงานวิจัย !
13. โรครับประทานสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร (Pica diseases) เช่น น้ำแข็ง ดิน ชอล์ก ดินเหนียว สบู่ กระดาษ หรือสารอื่น ๆ มักเกี่ยวข้องการขาดธาตุเหล็ก (47) โดยโรคนี้คาดว่าจะเกิดได้ประมาณ 11-55% ในผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก และมีรายงานว่าประมาณ 25% ของผู้ที่ขาดธาตุเหล็กในอเมริกาหลายกรณีที่อาการของโรคดีขึ้นหรือหายไปหลังจากเพิ่มระดับธาตุเหล็กในร่างกายให้เพียงพอ (48) สอดคล้องกับการศึกษาในปี 2022 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กที่อยากดมกลิ่นน้ำยาทำความสะอาดตลอดทั้งวัน ร่วมกับมีอาการเหนื่อยล้า หายใจถี่ พบว่าอาการดังกล่าวลดลงอย่างมากในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังการเสริมธาตุเหล็ก (49)
14. อาจช่วยลดความเหนื่อยล้าและเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ธาตุเหล็กจำเป็นต่อการสร้างไมโอโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ให้ออกซิเจนแก่กล้ามเนื้อ ในผู้ที่ขาดธาตุเหล็กร่างกายจะมีการถ่ายเทออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ได้น้อยลงและส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านการออกกำลังกาย เช่น การใช้ออกซิเจน ความทนทาน และประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งการเสริมธาตุเหล็กให้เพียงพออาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่ร่างกายขาดธาตุเหล็กได้ (50)
- การเสริมธาตุเหล็กทุกวันในผู้หญิงที่มีประจำเดือนช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการออกกำลังกายและลดอาการเมื่อยล้าในการศึกษาหนึ่ง (51) และในอีกการศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเสริมธาตุในผู้หญิงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ซึ่งแสดงให้เห็นจากค่า Maximal oxygen consumption ที่เพิ่มขึ้น (VO2 max หรืออัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายในขณะออกกำลังกาย) และค่า Submaximal exercise performance ที่พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจลดลง (52)
- การวิเคราะห์การศึกษารวม 18 เรื่องเพื่อดูผลของการเสริมธาตุเหล็กต่อความเหนื่อยล้าและสมรรถภาพทางกายในผู้ร่างกายขาดธาตุเหล็ก (แต่ยังไม่มีภาวะโลหิตจาง) พบว่าการเสริมธาตุเหล็กอาจช่วยลดความเหนื่อยล้าจากการออกกำลังกายได้เล็กน้อย แม้จะไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการออกกำลังกายหรือ VO2 max (53) หรือการศึกษาในผู้หญิงอายุ 18-26 ปีที่ขาดธาตุเหล็กที่พบว่าการเสริมธาตุเหล็กวันละ 42 มก. ช่วยเพิ่มความทนทานในการออกกำลังกาย แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับ VO2 max (54)
- การศึกษาเป็นเวลา 12 สัปดาห์ในผู้หญิง 198 คน (อายุ 18-53 ปี) ที่มีอาการเหนื่อยล้าโดยไม่ทราบสาเหตุ พบว่าผู้ที่ได้รับธาตุเหล็ก 80 มก.จาก Ferrous sulfate ทุกวัน มีความเหนื่อยล้าลดลง 47.7% เมื่อเทียบกับการลดลง 28.8% ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (55)
ข้อควรรู้และคำแนะนำ
- รูปแบบและการดูดซึมของธาตุเหล็ก : ธาตุเหล็กในอาหารมี 2 รูปแบบ ได้แก่ เหล็กฮีม (Heme iron) ที่พบในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเลที่ดูดซึมได้ดี และเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (Nonheme iron) ที่พบในพืชอย่างผักใบเขียวเข้มและถั่วแต่ดูดซึมได้ไม่ดี (ร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กจากพืชได้ดีขึ้นเมื่อทานพร้อมกับเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล และอาหารที่มีวิตามินซีสูงเช่นผลไม้รสเปรี้ยว)
- ปริมาณของธาตุเหล็กในอาหารต่อ 1 หน่วยบริโภค (อ้างอิง 56) :
- หอยนางรม 85 กรัม : 8 มก.
- ถั่วขาวกระป๋อง 1 ถ้วย : 8 มก.
- ตับเนื้อ 85 กรัม : 5 มก.
- ถั่วเลนทิลต้ม ½ ถ้วย : 3 มก.
- ผักโขมต้ม ½ ถ้วย : 3 มก.
- เต้าหู้ ½ ถ้วย : 3 มก.
- ดาร์กช็อกโกแลต 28 กรัม : 2 มก.
- ถั่วแดง ½ ถ้วย : 2 มก.
- ปลาซาร์ดีนกระป๋องในน้ำมัน 85 กรัม : 2 มก.
- ถั่วลูกไก่ต้ม ½ ถ้วย : 2 มก.
- มะเขือเทศกระป๋อง ½ ถ้วย : 2 มก.
- เนื้อวัว 85 กรัม : 2 มก.
- มันฝรั่งอบ 1 ลูก : 2 มก.
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วน้ำมัน 28 กรัม (18 เม็ด) : 2 มก.
- ไก่ย่าง 85 กรัม : 1 มก.
- ขนมปัง 1 แผ่น : 1 มก.
- บรอกโคลีต้ม ½ ถ้วย : 1 มก.
- ไข่ต้ม 1 ฟองใหญ่ : 1 มก.
- ปริมาณที่แนะนำโดยเฉลี่ยต่อวันของธาตุเหล็ก (มก. หรือ มิลลิกรัม) :
- แรกเกิดถึง 6 เดือน : 0.27 มก.
- อายุ 7–12 เดือน : 11 มก.
- อายุ 1–3 ปี : 7 มก.
- อายุ 4–8 ปี : 10 มก.
- อายุ 9–13 ปี : 8 มก.
- ผู้ชายอายุ 14–18 ปี : 11 มก.
- ผู้หญิงอายุ 14–18 ปี : 15 มก.
- ผู้ชายอายุ 19–50 ปี : 8 มก.
- ผู้หญิงอายุ 19–50 ปี : 18 มก.
- ผู้ใหญ่อายุ 51 ปีขึ้นไป : 8 มก.
- หญิงตั้งครรภ์ : 27 มก.
- วัยรุ่นให้นมบุตร : 10 มก.
- หญิงให้นมบุตร : 9 มก.
- ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ : ขนาด 2 เท่าตามที่ระบุไว้ข้างต้น
- ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมธาตุเหล็ก : ธาตุเหล็กมีอยู่ในอาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุรวมหลายชนิด และในอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียว ธาตุเหล็กในอาหารเสริมมักอยู่ในรูปของเฟอรัสซัลเฟต (Ferrous sulfate), เฟอรัสกลูโคเนต (Ferrous gluconate), เฟอริกซิเตรต (Ferric citrate), หรือเฟอริกซัลเฟต (Ferric sulfate) เนื่องจากมีความสามารถในการละลายได้สูง โดยอาจอยู่ในรูปแบบเม็ด ของเหลว แบบเคี้ยว หรือกัมมี่ ซึ่งทุกแบบสามารถดูดซึมได้ดีพอ ๆ กัน
- ธาตุเหล็กในรูปต่างๆ ในอาหารเสริมจะให้ปริมาณธาตุเหล็กที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เฟอรัสฟูมาเรต (Ferrous fumarate) จะให้ธาตุเหล็ก 33%, ในขณะที่เฟอรัสซัลเฟต (Ferrous sulfate) คือ 20% และเฟอรัสกลูโคเนต (Ferrous gluconate) คือ 12% (57)
- อาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุรวมหลายชนิดในสูตรของผู้หญิงมักจะธาตุเหล็ก 18 มก. (100 % ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน) ในขณะที่สูตรของผู้ชายมักมีธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (เนื่องจากมีผู้ชายเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ร่างกายจะขาดธาตุ ในขณะที่ผู้ชายกว่า 29% มีความเสี่ยงต่อการได้รับธาตุเหล็กเกินจากความต้องการต่อวัน) ส่วนอาหารเสริมธาตุเหล็กที่มีธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียวมักมีปริมาณมากกว่าที่แนะนำต่อวัน เช่น ธาตุเหล็ก 65 มก. (360% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน)
- ธาตุเหล็กในขนาดสูง (45 มก./วัน หรือมากกว่า) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องผูก ฯลฯ ซึ่งการรับประทานธาตุเหล็กพร้อมกับอาหารอาจช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้
- ปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ (ULs) ของธาตุเหล็ก : โดยพิจารณาจากธาตุเหล็กรวมทั้งจากอาหารปกติและอาหารเสริม เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจสั่งจ่ายธาตุเหล็กที่เกินจากปริมาณนี้ได้ในผู้ที่ต้องการธาตุเหล็กสูงเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อรักษาภาวะขาดธาตุเหล็ก
- แรกเกิดถึง 13 ปี : 40 มก.
- อายุ 14 ขึ้นไป: 45 มก.
- วิธีการรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก : ธาตุเหล็กในขนาดสูงควรรับประทานร่วมกับอาหารหรือรับประทานแบบวันเว้นวันเพื่อลดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร (แม้การเสริมทุกวันจะให้ผลดีกว่าในการเพิ่มระดับธาตุเหล็กในเลือด) ส่วนเวลาของการรับประทานธาตุเหล็กนั้นจะรับประทานเวลาไหนก็ได้ผลลัพธ์ในการเพิ่มระดับเฟอร์ริตินในเลือดได้พอ ๆ กันจากการศึกษาหนึ่งที่เทียบการทานธาตุเหล็กตอนเช้าและตอนเย็น (58)
- ขนาดที่แนะนำสำหรับแต่ละอาการ :
- เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก : รับประทานอาหารปกติที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กให้ได้ในปริมาณที่แนะนำต่อวัน (RDA) ซึ่งคนส่วนใหญ่มักได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพออยู่แล้วจากอาหาร (อาหารที่รับประทานต่อวันจะให้ธาตุเหล็กโดยเฉลี่ย 10-20 มก.) แต่โปรดจำไว้ว่าธาตุเหล็กจากพืชนั้นดูดซึมได้ไม่ดีหรือดูดซึมเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นเมื่อเทียบกับธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ ดังนั้น ในผู้ที่ทานมังสวิรัติอาจต้องเสริมธาตุเหล็กเป็น 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
- เพื่อรักษาภาวะขาดธาตุเหล็กและภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก : ปัจจุบันแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กในขนาด 50-100 มก. เพียงวันละครั้งในขณะที่ท้องว่าง ตามการศึกษาของ British Society of Gastroenterology ล่าสุดในปี 2021 (จากคำแนะนำเดิมที่ให้ทานวันละ 100-200 มก. โดยแบ่งทานเป็นวันละ 2-3 ครั้ง) เนื่องจากการดูดซึมธาตุเหล็ก 60 มก. เพียงครั้งเดียวต่อวันนั้นใกล้เคียงกับธาตุเหล็ก 60 มก. วันละ 2 ครั้ง (59)
- เพื่อเร่งการฟื้นฟูระดับฮีโมโกลบินและเฟอร์ริตินหลังการบริจาคโลหิต : แนะนำให้เสริมธาตุเหล็ก 37.5 มก. (ในรูปของ Ferrous gluconate) (อ้างอิง 29)
- เพื่อรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก (ADHD) : สำหรับการใช้รักษาโรค ADHD ในเด็กอายุ 5-8 ปีที่ไม่มีภาวะโลหิตจาง แนะนำให้เสริมธาตุเหล็กวันละ 80 มก. (ในรูปของ Ferrous sulfate) (อ้างอิง 39)
- เพื่อปรับปรุงการทำงานของสมอง (Cognitive function) : ในเด็กผู้หญิงที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กแต่ยังไม่มีภาวะโลหิตจาง แนะนำให้เสริมธาตุเหล็ก 130 มก. (เทียบเท่ากับ Ferrous sulfate 650 มก.) วันละ 2 ครั้ง (อ้างอิง 30)
- เพื่อยับยั้งอาการไอแห้งจากการใช้ยากลุ่ม ACE inhibitors : แนะนำให้เสริมธาตุเหล็กวันละ 51.2 มก. (เทียบเท่ากับ Ferrous sulfate 256 มก.) (อ้างอิง 40)
- ปฏิกิริยากับยาหรืออาหารเสริมอื่น ๆ :
- ยาเลโวโดปา (Levodopa) เช่น Sinemet® และ Stalevo® ที่ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสัน เพราะธาตุเหล็กสามารถลดปริมาณของยานี้ที่ร่างกายดูดซึม มีผลทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
- ยาเลโวไทร็อกซีน (Levothyroxine) เช่น Levothroid®, Levoxyl®, Synthroid®, Tirosint® และ Unithroid® ที่ใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนและมะเร็งต่อมไทรอยด์ การรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับยานี้จะลดประสิทธิภาพของยาดังกล่าว
- ยาลดกรดกลุ่ม Proton pump Inhibitors (PPIs) การรับประทานยาในกลุ่มนี้ เช่น Lansoprazole (Prevacid®), Omeprazole (Prilosec®) และ Esomeprazole (Nexium®) ที่ใช้ลดกรดในกระเพาะอาหาร ในขนาด 20 มก. ขึ้นไปเป็นเวลานานกว่า 1 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า เนื่องจากยากลุ่มนี้จะไปลดปริมาณของธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมที่ร่างกายดูดซึมจากอาหาร (78)
- ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ซึ่งเป็นยากันชัก พบว่าการเสริมธาตุเหล็กอาจลดการดูดซึมหรือความเข้มข้นของยาดังกล่าวได้มากถึง 30% (79)
- แคลเซียม (Calcium) แคลเซียมในขนาดสูงอาจขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก (แนะนำให้เสริมคนละช่วงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว) (60) การศึกษาพบว่าการเสริมแคลเซียม 300 หรือ 600 มก. พร้อมกับธาตุเหล็ก จะมีผลลดการดูดซึมของธาตุเหล็กได้มากถึง 62% และแคลเซียมยังมีผลลดการดูดซึมของธาตุเหล็กจากอาหารด้วยเช่นกัน (61) แต่ผลดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับการเสริมแคลเซียมในขนาดที่ต่ำกว่า 200 มก. หรือในผู้ที่ไม่มีแนวโน้มที่จะขาดธาตุเหล็ก
- แร่ธาตุอื่น ๆ เช่น สังกะสี แมงกานีส แมกนีเซียม หรือธาตุทองแดงในขนาดสูง สามารถลดการดูดซึมของธาตุเหล็กได้เช่นกัน (ควรเว้นระยะ 2 ชั่วโมงหากต้องรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก)
- แคโรทีนอยด์ ธาตุเหล็กหรือแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และสังกะสี ในขนาดสูงจากอาหารเสริม อาจลดการดูดซึมของแคโรทีนอยด์ เช่น เบต้าแคโรทีน ไลโคปีน และแอสตาแซนธินจากอาหารและอาหารเสริม จึงควรรับประทานอาหารเสริมแคโรทีนอยด์ในช่วงเวลาอื่นของวัน (62, 63)
- อื่น ๆ เช่น กาแฟ การดื่มในขณะรับประทานอาหารจะลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก 39% (64), ชา 1 ถ้วย ลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก 37% (65), ชาเขียว 1 ถ้วย ลดการดูดซึมธาตุเหล็ก 80% (66) รวมถึงโปรตีนถั่วเหลือง, ไข่, ซีเรียล, ขนมปังโฮลเกรน และผักโขม ก็มีผลลดการดูดซึมของธาตุเหล็กเช่นเดียวกับชากาแฟ ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็ไม่ควรบริโภคพร้อมกันหรือให้เว้นช่วงห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมง
- ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป :
- ผู้ใหญ่ที่มีการทำงานของลำไส้ปกติจะมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะมีธาตุเหล็กเกินจากการบริโภคอาหาร (อ้างอิง 1)
- การรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กในขนาดสูงในขณะท้องว่าง (45 มก./วัน หรือมากกว่า) สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง กระเพาะปั่นป่วน ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน และท้องเสีย (อ้างอิง 67) แต่การเสริมธาตุเหล็กพร้อมกับอาหารจะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้ รายงานบางกรณีพบว่าการเสริมธาตุเหล็ก 130 มก. อาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบหรือเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (68, 69, 70, 71)
- การเสริมธาตุเหล็กในขนาดสูงมาก ๆ เพียงครั้งเดียวหรือมากกว่า 20 มก./กก. (ธาตุเหล็กประมาณ 1,365 มก. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม) จากยาหรืออาหารเสริมอาจทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อลำไส้ ทำให้เสียเลือด ช็อก และอวัยวะล้มเหลวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รับประทานพร้อมกับอาหาร (อ้างอิง 1) และในกรณีที่รุนแรงกว่า เช่น การเผลอรับประทานครั้งเดียวในขนาด 60 มก./กก. หรือธาตุเหล็กประมาณ 4,090 มก. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม อาจทำให้อวัยวะหลายระบบในร่างกายล้มเหลว โคม่า ชัก และถึงขั้นเสียชีวิต (อ้างอิง 57, 72)
- การเสริมธาตุเหล็กมากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์เป็นเวลานาน อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ในทารกที่กินนมแม่และไม่ได้มีภาวะขาดธาตุเหล็ก การเสริมธาตุเหล็กยังอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมที่แย่ลงด้วย
- การศึกษาเชิงสังเกตพบความสัมพันธ์ระหว่างระดับธาตุที่สะสมในร่างกายที่มากเกินไปเล็กน้อยกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในขณะที่ระดับธาตุเหล็กสะสมที่สูงขึ้นยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเล็กน้อยต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือดหัวใจ (Cardioembolic stroke) ซึ่งอาจเป็นเพราะธาตุเหล็กส่วนเกินนั้นไปกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือด (อ้างอิง 73) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่าการเสริมธาตุเหล็กมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคเหล่านี้ เพียงแต่มันบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงกัน ที่น่าสนใจคือ การวิเคราะห์ข้อมูลหนึ่งพบว่า ในผู้หญิงนั้นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองจะลดลงเมื่อได้รับธาตุเหล็กจากอาหารหรืออาหารเสริมวันละ 20 มก. ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณที่แนะนำต่อวัน (74)
- การใช้อาหารเสริมธาตุเหล็กก่อนหรือระหว่างการทำเคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำสูงขึ้น 91% (75)
- การใช้อาหารเสริมธาตุเหล็กในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อติดตามผลในระยะเวลา 22 ปี (76)
- วิตามินซีอาจเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก ทำให้ในผู้ที่รับประทานวิตามินซีในปริมาณที่สูงมาก (1,000 มก. หรือมากกว่าทุกวัน) อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะธาตุเหล็กเป็นพิษ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) ซึ่งเป็นภาวะทางพันธุกรรมที่ร่างกายจะสะสมธาตุเหล็กไว้ในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้ควรจำกัดปริมาณวิตามินซีเสริมไม่ให้เกินวันละ 500 มก. และควรหลีกเลี่ยงการเสริมธาตุเหล็ก (77)
- อาหารเสริมธาตุเหล็กเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นพิษในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะยาเม็ดธาตุเหล็กสำหรับผู้ใหญ่เพียงไม่กี่เม็ดก็สามารถทำให้เกิดพิษร้ายแรงและทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรเก็บผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กให้พ้นมือเด็ก
สรุปเรื่องธาตุเหล็ก
- เหล็ก (Iron) เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการสำหรับการเจริญเติบโตทางร่างกาย พัฒนาการทางระบบประสาท การทำงานของเซลล์ และการสังเคราะห์ฮอร์โมนบางชนิด
- ธาตุเหล็กมักพบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ผักใบเขียวเข้มและถั่ว
- ปริมาณที่แนะนำต่อวันของธาตุเหล็กจะอยู่ในช่วงวันละ 7-27 มก. โดยขึ้นอยู่กับอายุและเพศ
- อาหารโดยทั่วไปที่เรารับประทานในแต่ละวันมักให้ธาตุเหล็กประมาณ 10-20 มก. ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับคนปกติทั่วไป
- การขาดธาตุเหล็กเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในทารก เด็กเล็ก เด็กสาววัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงวัยมีประจำเดือน
- วิธีที่ดีที่สุดในการระบุว่าระดับธาตุเหล็กยังอยู่ในระดับเพียงพอหรือดีต่อสุขภาพหรือไม่ คือการหมั่นตรวจเลือดเป็นประจำ
- การขาดธาตุเหล็กคือเหตุผลเดียวเท่านั้นที่ควรพิจารณาเสริมธาตุเหล็กในรูปอาหารเสริม เพราะประโยชน์ส่วนใหญ่ของธาตุเหล็กนั้นดูจะจำกัดเฉพาะกับผู้ที่มีระดับธาตุเหล็กในเลือดต่ำกว่าปกติ ส่วนการเสริมในผู้ที่มีระดับธาตุเหล็กปกติอยู่แล้วนั้นไม่มีประโยชน์ และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เกิดความเป็นพิษจากการได้รับธาตุเหล็กเกินขนาด หรือเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพหลายอย่างดังที่กล่าวไป
- ธาตุเหล็กเสริมปริมาณสูง (45 มก./วัน หรือมากกว่า) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ ท้องผูก
- โดยทั่วไปไม่ควรรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก เว้นแต่ผลการตรวจเลือดจะแสดงให้เห็นว่ามีการขาดธาตุเหล็ก เพราะตามข้อมูลของ CDC พบว่าในผู้ชายมากถึง 29% มีความเสี่ยงต่อการได้รับธาตุเหล็กเกินขนาด
- อาหารบางอย่างอาจลดการดูดซึมของธาตุเหล็กได้ เช่น ชา กาแฟ ไข่ ซีเรียล ขนมปัง โปรตีนถั่วเหลือง รวมถึงแคลเซียม
- อาหารเสริมธาตุเหล็กอาจลดการดูดซึมของแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น สังกะสี ทองแดง แมกนีเซียม แมงกานีส
งานวิจัยอ้างอิง
- National Institutes of Health (NIH). “Iron”. (2023)
- WHO. “Archived: Iron deficiency anaemia: assessment, prevention and control”. (2001)
- Nutrition Reviews. “Iron deficiency and iron-deficiency anemia in the first two years of life: strategies to prevent loss of developmental potential”. (2011)
- Annals of Nutrition and Metabolism. “Iron requirements in infancy”. (2011)
- Alimentary Pharmacology & Therapeutics. “Benefit of concomitant gastrointestinal and gynaecological evaluation in premenopausal women with iron deficiency anaemia”. (2008)
- Obstetrics & Gynecology. “Age and the prevalence of bleeding disorders in women with menorrhagia”. (2005)
- JAMA. “Oral iron supplementation after blood donation: a randomized clinical trial”. (2015)
- Annals of Oncology. “Prevalence and management of cancer-related anaemia, iron deficiency and the specific role of i.v. iron”. (2012)
- European Journal of Heart Failure. “Erythropoietin, iron, or both in heart failure: FAIR-HF in perspective”. (2010)
- World Journal of Gastroenterology. “Treatment of iron deficiency anemia associated with gastrointestinal tract diseases”. (2010)
- Inflammatory bowel disease. “Guidelines on the diagnosis and management of iron deficiency and anemia in inflammatory bowel diseases”. (2007)
- World Journal of Gastroenterology. “A guide to diagnosis of iron deficiency and iron deficiency anemia in digestive diseases”. (2009)
- Endocrine Practice. “Clinical Practice Guidelines For The Perioperative Nutrition, Metabolic, and Nonsurgical Support of Patients Undergoing Bariatric Procedures – 2019 Update: Cosponsored By American Association of Clinical Endocrinologists/American College of Endocrinology, The Obesity Society, American Society For Metabolic & Bariatric Surgery, Obesity Medicine Association, and American Society of Anesthesiologists”. (2019)
- Dental Clinics of North America. “Recurrent Aphthous Stomatitis”. (2014)
- Journal of Korean Medical Science. “Iron Plays a Certain Role in Patterned Hair Loss”. (2013)
- Appetite. “Clinical and biological features associated with taste loss in internal medicine patients. A cross-sectional study of 100 cases”. (2005)
- National Heart, Lung, and Blood. “Iron-Deficiency Anemia”. (2022)
- BMC Psychiatry. “Psychiatric disorders risk in patients with iron deficiency anemia and association with iron supplementation medications: a nationwide database analysis”. (2020)
- Brain and Behavior. “The association between anemia and depression in older adults and the role of treating anemia”. (2023)
- Crohn’s & Colitis Foundation. “Common Micronutrient Deficiencies in IBD”. (2017)
- Current Opinion in Clinical Nutrition & Metabolic Care. “Micronutrient deficiencies in inflammatory bowel disease”. (2015)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Efficacy and tolerability of low-dose iron supplements during pregnancy: a randomized controlled trial”. (2003)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Iron supplementation during pregnancy, anemia, and birth weight: a randomized controlled trial ”. (2003)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Daily oral iron supplementation during pregnancy”. (2012)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Enteral iron supplementation in preterm and low birth weight infants”. (2012)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Home fortification of foods with multiple micronutrient powders for health and nutrition in children under two years of age”. (2011)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Intermittent iron supplementation for reducing anaemia and its associated impairments in menstruating women”. (2011)
- The New England Journal of Medicine. “Anemia of chronic disease”. (2005)
- JAMA. “Oral Iron Supplementation After Blood Donation A Randomized Clinical Trial”. (2015)
- Lancet. “Randomised study of cognitive effects of iron supplementation in non-anaemic iron-deficient adolescent girls”. (1996)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Iron supplementation in early childhood: health benefits and risks”. (2006)
- Journal of Nippon Medical School. “Iron Supplementation for Hypoferritinemia-Related Psychological Symptoms in Children and Adolescents”. (2022)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Randomized, double-blind, placebo-controlled trial of iron supplementation in female soldiers during military training: effects on iron status, physical performance, and mood”. (2009)
- Psychiatry Research. “Dietary zinc and iron intake and risk of depression: A meta-analysis”. (2017)
- Medical Journal of The Islamic Republic of Iran. “Comparing the effectiveness of vitamin D plus iron vs vitamin D on depression scores in anemic females: Randomized triple-masked trial”. (2019)
- Journal of Psychosomatic Obstetrics & Gynecology. “Anaemia and depletion of iron stores as risk factors for postpartum depression: a literature review”. (2019)
- The Journal of Nutrition. “Maternal iron deficiency anemia affects postpartum emotions and cognition”. (2005)
- European Journal of Nutrition. “The efficacy of early iron supplementation on postpartum depression, a randomized double-blind placebo-controlled trial”. (2017)
- Pediatric Neurology. “Effects of iron supplementation on attention deficit hyperactivity disorder in children”. (2008)
- Hypertension. “Iron supplementation inhibits cough associated with ACE inhibitors”. (2001)
- Nutrition, Metabolism and Cardiovascular Diseases. “Anaemia in patients with self-reported use of iron supplements in the BAriatric surgery SUbstitution and nutrition study: A prospective cohort study”. (2023)
- American Journal of Epidemiology. “Intake of Selected Minerals and Risk of Premenstrual Syndrome”. (2013)
- Scientific Reports. “The risk of fibromyalgia in patients with iron deficiency anemia: a nationwide population-based cohort study”. (2021)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Iron for the treatment of restless legs syndrome”. (2019)
- American Academy of Neurology. “Practice guideline summary: Treatment of restless legs syndrome in adults”. (2016)
- Sleep Medicine. “Efficacy of oral iron in patients with restless legs syndrome and a low-normal ferritin: A randomized, double-blind, placebo-controlled study”. (2009)
- Journal of Medical Case Reports. “Pica in iron deficiency: a case series”. (2010)
- Expert Review of Hematology. “Pica as a manifestation of iron deficiency”. (2016)
- BMJ. “Desiderosmia: a manifestation of iron deficiency in pregnancy”. (2022)
- The Journal of Nutrition. “Iron deficiency and reduced work capacity: a critical review of the research to determine a causal relationship”. (2001)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Daily iron supplementation for improving anaemia, iron status and health in menstruating women”. (2016)
- The Journal of Nutrition. “Iron supplementation benefits physical performance in women of reproductive age: a systematic review and meta-analysis”. (2014)
- BMJ Open. “Efficacy of iron supplementation on fatigue and physical capacity in non-anaemic iron-deficient adults: a systematic review of randomised controlled trials”. (2018)
- The Journal of Nutrition. “Increasing Iron Status through Dietary Supplementation in Iron-Depleted, Sedentary Women Increases Endurance Performance at Both Near-Maximal and Submaximal Exercise Intensities”. (2019)
- CMAJ. “Effect of iron supplementation on fatigue in nonanemic menstruating women with low ferritin: a randomized controlled trial”. (2012)
- U.S. Department of Agriculture. “FoodData Central”. (2023)
- Clinical toxicology. “Iron ingestion: an evidence-based consensus guideline for out-of-hospital management”. (2005)
- European Journal of Sport Science. “Timing is everything, but does it really matter? Impact of 8-weeks morning versus evening iron supplementation in ballet and contemporary dancers”. (2023)
- Gut. “British Society of Gastroenterology guidelines for the management of iron deficiency anaemia in adults ”. (2021)
- Nutrition Research Reviews. “The effect of calcium on iron absorption”. (2000)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Calcium supplementation: effect on iron absorption”. (1991)
- Food Chemistry. “Effect of divalent minerals on the bioaccessibility of pure carotenoids and on physical properties of gastro-intestinal fluids”. (2016)
- The Journal of Nutrition. “Divalent minerals decrease micellarization and uptake of carotenoids and digestion products into Caco-2 cells”. (2011)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Inhibition of food iron absorption by coffee”. (1983)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “A 1-h time interval between a meal containing iron and consumption of tea attenuates the inhibitory effects on iron absorption: a controlled trial in a cohort of healthy UK women using a stable iron isotope”. (2017)
- The Journal of Nutrition. “Tea Consumption Reduces Iron Bioavailability from NaFeEDTA in Nonanemic Women and Women with Iron Deficiency Anemia: Stable Iron Isotope Studies in Morocco.”. (2021)
- The National Academies Press. “Dietary Reference Intakes for Vitamin A, Vitamin K, Arsenic, Boron, Chromium, Copper, Iodine, Iron, Manganese, Molybdenum, Nickel, Silicon, Vanadium, and Zinc”. (2001)
- Medicine (Baltimore). “A rare case of iron-pill induced gastritis in a female teenager: A case report and a review of the literature”. (2017)
- Clinical Journal of Gastroenterology. “Iron pill induced gastritis causing severe anemia”. (2020)
- ACG Case Reports Journal. “Iron Pill-Induced Gastritis”. (2013)
- Gastroenterology. “Iron Pill-Induced Gastropathy in Elderly Patients: A Case Series Report”. (2019)
- Pediatric Emergency Care. “Iron poisoning: a literature-based review of epidemiology, diagnosis, and management”. (2011)
- .Stroke “Iron Status and Risk of Stroke A Mendelian Randomization Study”. (2018)
- International Journal of Environmental Research and Public Health. “Association between iron exposures and stroke in adults: Results from National Health and Nutrition Examination Survey during 2007-2016 in United States”. (2022)
- Journal of Clinical Oncology. “Dietary Supplement Use During Chemotherapy and Survival Outcomes of Patients With Breast Cancer Enrolled in a Cooperative Group Clinical Trial (SWOG S0221)”. (2020)
- Archives of Internal Medicine. “Dietary Supplements and Mortality Rate in Older Women The Iowa Women’s Health Study”. (2011)
- Blood. “How I treat hemochromatosis”. (2010)
- Journal of Internal Medicine. “Use of proton pump inhibitors and risk of iron deficiency: a population-based case-control study”. (2019)
- Epilepsy Research. “Iron supplements in nursing home patients associated with reduced carbamazepine absorption”. (2018)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2023