20 ข้อคิดก่อนคิดมีลูก…คุณพร้อมหรือยัง ?? (คิดให้ดีก่อนมีลูก)

คิดให้ดีก่อนมีลูก

ครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนก่อนตั้งครรภ์ จะมีโอกาสให้กำเนิดลูกน้อยที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ซึ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณพ่อและคุณแม่ควรคำนึงและไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีลูก

  1. พันธุกรรมที่ดี การเลือกคู่ชีวิตที่มีสุขภาพดีและเฉลียวฉลาด เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ เพราะลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความเฉลียวฉลาด ก็ย่อมมีโอกาสที่ลูกจะฉลาดไปด้วย
  2. ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การมีลูกย่อมหมายถึงครอบครัวจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า หากเรามีลูกในวัยนี้ วัยที่ลูกเติบโตขึ้น เราจะหาเงินเลี้ยงตัวเองและเก็บเงินให้ลูกได้อย่างไร มากน้อยเพียงใด ซึ่งการจัดสรรเงินทองอย่างรอบคอบและตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก็จะช่วยให้วางแผนค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ดีขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-25 ของรายได้ครอบครัว
  3. รักและเข้าใจกันมากพอแล้วหรือยัง ? การมีเวลาอยู่ด้วยกัน มีความเข้าใจกันดีพอ และพร้อมที่จะมีลูกด้วยกันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการมีลูกในขณะที่ยังไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีพอ ก็อาจทำให้ลูกที่เกิดมามีปัญหาสุขภาพจิตได้ ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นกันเป็นประจำที่คู่สามีทะเลาะกันหรือไม่มีเวลาเลี้ยงลูก จนลูกต้องเสียคนไป…
  4. มีโรคประจำตัวหรือไม่ ? โรคประจำตัวบางโรคของคุณแม่นั้นมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์เป็นอย่างมาก บางโรคอาจเป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์เลยก็ว่าได้ เพราะขนาดคุณแม่ที่มีร่างกายแข็งแรงยังเกิดอันตรายจากการตั้งครรภ์และการคลอดได้ ถ้ายิ่งคุณแม่มีโรคประจำตัวด้วยแล้วก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง, โรคลมบ้าหมูหรือลมชัก, โรคไทรอยด์เป็นพิษ, โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย, โรคเอสแอลอี (SLE), โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์, โรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ, โรคไต, ภูมิแพ้ หอบหืด, โรคเอดส์, หรือเคยแท้งบ่อย ฯลฯ ทางที่ดีคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่า สมควรจะตั้งครรภ์ได้หรือไม่ และถ้าตั้งครรภ์ได้จะต้องเตรียมตัวอย่างไร และระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษ
  5. เวลาส่วนตัวที่หายไป จากที่เคยใช้ชีวิตอย่างมีอิสระในการนั่งเล่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ นอนหลับสักงีบ หรือทำงานอดิเรกต่าง ๆ ก็อาจแทบจะไม่มีเวลาเหลือเฟือเหมือนแต่ก่อน เพราะลูกต้องการการดูแลและเอาใจใส่จากพ่อแม่อย่างใกล้ชิดทั้งวันทั้งคืน ทำให้เวลาส่วนใหญ่จากกิจกรรมเหล่านี้ ต้องหมดลงไปกับการเลี้ยงดูลูกน้อย ซึ่งคุณอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกสักพักกว่าจะเคยชิน
  6. เวลาแห่งการอดหลับอดนอน ต้องเข้าใจก่อนว่า เจ้าตัวเล็กนั้นมักตื่นและนอนไม่เป็นเวลาเหมือนผู้ใหญ่ หากลูกร้องไห้โยเยกลางดึก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องตื่นมาดู ทำให้เวลาที่คุณทั้งสองจะนอนหลับได้อย่างเต็มอิ่มก็เป็นไปได้ยากเต็มทน (เด็กแรกเกิดจะใช้เวลานอนโดยเฉลี่ยประมาณวันละ 16 ชั่วโมง ซึ่งรวมไปถึงเวลาการให้นมลูกด้วย โดยลูกน้อยอาจใช้เวลาในการดูดนมก่อนนอนประมาณ 2-3 ชั่วโมง คุณแม่ควรใช้เวลาเหล่านี้เพื่อหาโอกาสพักผ่อนไปด้วยในตัว มิเช่นนั้นแล้วคงต้องอดหลับอดนอนจนต้องเสียสุขภาพอย่างแน่นอน)
  7. มีแหล่งให้คำปรึกษาหรือยัง ? นอกจากตำราความรู้เกี่ยวกับแม่และเด็ก รอบข้างของคุณมีแหล่งให้คำปรึกษาที่ดีแล้วหรือยัง ? ไม่ว่าจะจากผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำในการเลี้ยงลูก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแหล่งความรู้ให้พ่อแม่อีกช่องทางหนึ่ง
  8. ใส่ใจกับอาหารการกิน ก่อนจะตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องมีการกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำเพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีของการตั้งครรภ์คุณภาพ เพราะแหล่งอาหารที่ดีของลูกในท้องก็มาจากคุณแม่นั่นแหละ และที่สำคัญต้องดูแลไม่ให้อ้วนหรือผอมจนเกินไปด้วยนะคะ
  9. สละเวลาออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะช่วยทำให้คุณแม่มีร่างกายแข็งแรงและผ่อนคลายความเครียดได้แล้ว ในขณะออกกำลังกายยังมีสารแห่งความสุขหลั่งออกมาอีกด้วย จึงช่วยทำให้คุณแม่มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส ส่งผลถึงลูกในครรภ์ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง คุณแม่ก็คลอดลูกง่ายขึ้นด้วย
  10. งดสูบบุหรี่ คุณพ่อที่สูบบุหรี่มักจะมีร่างกายไม่แข็งแรง ทำให้อสุจิไม่มีคุณภาพ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการให้กำเนิดลูกน้อยที่ไม่ค่อยมีคุณภาพด้วย และคุณพ่ออาจจะคิดไปเองด้วยว่า การที่คุณพ่อสูบบุหรี่นั้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับสุขภาพของลูกที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะจากการศึกษาในปัจจุบันนั้นพบว่า ควันบุหรี่ที่แม่ตั้งครรภ์สูดดมเข้าไปนั้น จะส่งผลต่อลูกในครรภ์ จนอาจทำให้แท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือลูกที่คลอดมีน้ำหนักตัวน้อยมาก และในบางรายอาจรุนแรงถึงขึ้นทำให้ลูกเสียชีวิตในครรภ์เลยก็ได้
  1. ควรลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากการสูบบุหรี่แล้ว การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นตัวทำลายคุณภาพของอสุจิและไข่อีกด้วย ส่งผลให้มีลูกยาก ส่วนคุณแม่ที่ดื่มสุรานั้นจะมีโอกาสทำให้ลูกตัวเล็ก มีระดับสติปัญญาต่ำ และมีพัฒนาการช้า เพราะเซลล์สมองถูกทำลาย (ในปริมาณเท่ากับ ผู้หญิงจะดูดซึมและกักเก็บแอลกอฮอล์ไว้ในร่างกายได้นานกว่าผู้ชาย)
  2. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คุณแม่จะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ รวมไปถึงอาหารริมทางที่เต็มไปด้วยฝุ่น ควันรถ อุจจาระหมาแมวในบ้านหรือข้างถนน และสารเคมีภายในบ้าน เพราะหากต้องสูดดมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็จะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้
  3. วัยที่เหมาะสม อายุของคุณพ่อและคุณแม่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการตั้งครรภ์ในช่วงที่มีอายุมาก จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้ง่าย การคลอดเองตามธรรมชาติก็ยากขึ้น และยังมีความเสี่ยงต่อการคลอดทารกดาวน์ซินโดรมอีกด้วย ส่วนคุณพ่อที่มีอายุมากก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้กำเนิดทารกดาวน์ซินโดรมสูงถึง 25% โดยช่วงวัยที่เหมาะสมที่สุดในการตั้งครรภ์คือ อายุระหว่าง 21-30 ปี และไม่ควรเกิน 35 ปี (หากเกินกว่านี้ต้องให้คุณหมอดูแลอย่างใกล้ชิด)
  4. เรื่องของการใช้ยา เมื่อตั้งครรภ์ การงดยาทุกชนิดที่เคยใช้มาเป็นสิ่งจำเป็น และคุณแม่ไม่ควรหาซื้อยามากินเอง ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง คุณแม่จะต้องปรึกษาคุณหมอ หากคุณหมอสั่งยาให้ คุณแม่จะต้องบอกให้หมอทราบทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์
  5. ต้องเผื่อเวลาไว้ล่วงหน้า หากในอนาคตมีลูกน้อย และต้องพาลูกน้อยออกไปนอกบ้าน พาไปเที่ยวเปิดหูเปิดตา หรืออยากเปลี่ยนบรรยากาศ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเผื่อเวลาไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 นาที เพราะกว่าจะเตรียมของให้ลูกเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ขวดนม ผ้าอ้อม ฯลฯ เหล่านี้ก็ต้องใช้เวลาเตรียมพอสมควร
  6. ความรอบคอบต้องมีมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรมีความระมัดระวังให้มากขึ้น เช่น ในช่วงสองเดือนแรก ไม่ควรพาลูกน้อยออกไปเที่ยวข้างนอกโดยเด็ดขาด เพราะเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นมันมีเยอะบวกกับลูกที่ไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกัน, หากใครเป็นหวัดก็ไม่ควรให้เข้าใกล้ลูกน้อย, ไม่ซื้อยาให้ลูกทานเองโดยเด็ดขาด หากมีปัญหาควรปรึกษาแพทย์ ฯลฯ
  7. ภาระที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูก การอบรมเลี้ยงดู หรือหากลูกไม่สบายขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องพาลูกไปหาหมอทันที ฯลฯ
  8. สัตว์เลี้ยง สำหรับครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมว ในช่วงที่ลูกของเรายังเป็นวัยทารกแรกเกิดจนถึง 6 ปีนั้น คุณแม่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่างในอนาคตด้วย เช่น เวลาที่เราจะต้องเอาใจใส่สัตว์เลี้ยง, ความเหมาะสมของสัตว์เลี้ยงที่จะเข้ามาอยู่ในบ้านกับลูกน้อย, อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างสัตว์เลี้ยงกับลูกน้อยของเรา ฯลฯ หรือในกรณีที่หลังจากมีลูกน้อยไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่อยากนำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงก็ต้องถามตัวก่อนว่า เราสามารถแบ่งเวลามาให้กับสัตว์เลี้ยงได้มากน้อยแค่ไหน, สัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงเหมาะกับวัยของลูกเราหรือเปล่า ฯลฯ ทั้งนี้การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านอาจจะเหมาะหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของคนในบ้านเป็นสำคัญ หากครอบครัวไหนสามารถปรับตัวได้ แบ่งเวลาได้ชัดเจน การมีสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกับเด็กอ่อนก็คงไม่มีปัญหาอะไร
  9. เสื้อผ้าที่เยอะขึ้นเป็นกอง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าของลูกที่ต้องใช้ ผ้าอ้อมที่ต้องเปลี่ยนในแต่ละวัน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านเล็ก ๆ อันแสนอบอุ่นไม่มีที่จะเดิน เพราะจากที่ใช้เครื่องซักผ้าช่วยผ่อนแรง ก็ต้องเปลี่ยนมาซักมือแทนเพื่อเป็นการถนอมเสื้อผ้าของลูกและผ้าอ้อมให้ใช้ได้นานยิ่งขึ้น
  10. โลกอีกใบที่เปลี่ยน จากที่คุณพ่อคุณแม่เคยอยู่ในสังคมเดิม ๆ ติดอยู่ในโลกโซเชียล กลับต้องเปลี่ยนมาอยู่ในสังคมใหม่ตามประสาพ่อแม่ลูก, จากที่เคยสนใจข่าวสารบ้านเมือง กลับต้องเปลี่ยนมาค้นหาข้อมูลเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกแทน, แค่อุ้มลูกไว้ในมือก็มีคนแปลกหน้าพร้อมมาคุยด้วยตลอดเวลา, การมีเรื่องให้เซอไพรส์ตลอดเวลา เช่น การเห็นพัฒนาการแต่ละอย่างของลูกในแต่ละวัน, เมื่อลูกอึออกมาในช่วงเราไม่มีผ้าอ้อม ฯลฯ, คุณอาจไม่คิดว่าความทุกข์ของลูกจะทำให้เราเศร้าได้ขนาดนี้ ฯลฯ คุณพร้อมไหม…ที่จะมีลูก ?]

หากยังไม่พร้อม…ควรวางแผนคุมกำเนิด

ในปัจจุบันการคุมกำเนิดมีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธีให้คุณพ่อและคุณแม้ได้เลือกกันตามความพอใจและความสะดวก การคุมกำเนิดบางวิธีที่ใช้ติดต่อกันนาน ๆ ก็อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ด้วย คุณแม่จึงต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงของการใช้ยาคุมกำเนิด หากยังไม่แน่ใจว่าควรเลือกวิธีใด การปรึกษาคุณหมอ ก็ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะได้ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว คุณหมอยังให้คำแนะนำถึงวิธีการที่เหมาะสมและให้ความพึงพอใจได้ ซึ่งก็มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น

  • ถุงยางอนามัย หากเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่มีคุณภาพและใช้อย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก และเมื่อคุณพ่อคุณแม่อยากมีลูกก็สามารถหยุดใช้ได้เลย โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด หากใช้อย่างถูกต้องและใช้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีประสิทธิภาพที่ดีมากเช่นกัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากมีลูก ก็ให้หยุดยา 1 เดือนก่อนตั้งครรภ์
  • ยาฉีดคุมกำเนิด มีทั้งแบบฉีดทุก 1 เดือน และ 3 เดือน ในระหว่างการฉีดยาคุมกำเนิด ส่วนใหญ่คุณแม่จะไม่มีประจำเดือน หลังจากหยุดฉีดแล้ว จะกลับมาตั้งครรภ์ได้อีก แต่ช้ากว่ายาเม็ดคุมกำเนิดเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าคุณแม่เกิดตั้งครรภ์ในระหว่างฉีดยาขึ้นมา ก็ควรไปพบหมอทันทีเพื่อจะได้ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน และให้การดูแลครรภ์อย่างปลอดภัยต่อไป
  • ยาฝังคุมกำเนิด เป็นวิธีที่เหมาะกับคุณแม่ที่เคยมีบุตรมาแล้วเท่านั้น ใช้สำหรับฝังบริเวณท้องแขนของคุณแม่ สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานถึง 3-5 ปี ซึ่งการออกฤทธิ์คล้าย ๆ กับยาเม็ดคุมกำเนิด
  • ห่วงคุมกำเนิด (ห่วงอนามัย) สามารถคุมกำเนิดได้ครั้งละ 3-5 ปี (ปัจจุบันนิยมใช้ห่วงที่มีลวดทองแดงเคลือบหรือพันก้านห่วง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด) คุณแม่ต้องไปพบหมอตามนัดเพื่อตรวจดูว่าห่วงยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ดีและอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เพราะวิธีนี้มีโอกาสผิดพลาดทำให้ตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ หากต้องมีลูก ก็ให้คุณหมอช่วยนำสายห่วงออก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด