การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ & ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ :)

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

การวางแผนการตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถคิดได้ล่วงหน้า โดยเริ่มตั้งแต่การตรวจสุขภาพของทั้งสองฝ่ายก่อนตั้งครรภ์ หากคุณพ่อคุณแม่แข็งแรงและมีสุขภาพดี ก็ย่อมมีโอกาสคลอดลูกที่แข็งแรงและมีสุขภาพดีเช่นกัน ทำให้ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลและคลินิกหลายแห่งที่ให้คำปรึกษาสำหรับคู่สมรสที่กำลังวางแผนจะตั้งครรภ์โดยเฉพาะ

แต่ก็มีหลายคู่ครับที่แต่งงานกันทันทีหรือมีลูกกันทันทีโดยไม่รู้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจมีโรคที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้ คุณคงไม่อยากให้ลูกเกิดมาโดยไม่สมประกอบ พิการ หรือมีโรคทางพันธุกรรมใช่ไหมครับ ? เพราะมันอาจจะกลายเป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ใจให้กับครอบครัวได้ บางคนอาจเสียอกเสียใจได้แต่โทษว่าตัวเองเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกต้องเป็นแบบนี้ หรือบางคู่อาจถึงขั้นเกิดการบาดหมางใจกัน เพราะมัวแต่ไปโทษว่าเป็นความผิดอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมเราไม่ไปตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ดูสักครั้งล่ะครับ ตรวจให้รู้ไปเลยว่า ร่างกายของทั้งคู่พร้อมหรือยังสำหรับการให้กำเนิดลูกน้อย ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลยครับ โดยสิ่งที่หมอจะตรวจก็จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ

  1. การซักประวัติ จะเป็นการสอบถามทั่วไป หรือสอบถามถึงปัญหาในปัจจุบัน โดยสิ่งที่หมอจะซักถามก็ได้แก่
    • ประวัติการคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิด ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ ประวัติการตรวจมะเร็งปากมดลูก ความผิดปกติเกี่ยวกับรอบประจำเดือน ประจำเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่ และประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไหร่ หากยังไม่ได้บันทึกก็ให้เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ได้เลยครับ เพราะประวัติประจำเดือนจะช่วยทำให้เราทราบอายุครรภ์และวันคลอดได้ครับ
    • ประวัติการเจ็บป่วย การรับประทานยา โรคประจำตัว รวมถึงการผ่าตัด การให้เลือด รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการอักเสบของช่องคลอด และผลการตรวจภายใน
    • ประวัติทางสูติกรรม แพทย์จะสอบถามว่า เคยตั้งครรภ์มาก่อนหรือไม่ จำนวนการตั้งครรภ์ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์เป็นพิษ เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การผ่าตัดทำคลอด การตั้งครรภ์แฝด การแท้งบุตร หรือให้กำเนิดเด็กพิการ คุณแม่ต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม รวมถึงประวัติการรับประทานกรดโฟลิกด้วยครับ เพราะแพทย์จะได้วางแผนการดูแลคุณแม่ได้อย่างถูกต้อง
    • ประวัติการฉีดวัคซีน เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่อาจจะติดต่อไปยังทารกหรือไม่ เช่น โรคหัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบ ไข้สุกใส บาดทะยัก ฯลฯ
    • ประวัติทางครอบครัว เป็นการสอบถามว่า มีใครเป็นโรคทางพันธุกรรม โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเลือด ฯลฯ หรือไม่ ?
    • ประวัติการใช้ยา ทั้งจากที่แพทย์สั่งหรือการซื้อยามารับประทานเอง รวมไปถึงการแพ้ยา (จะต้องจำให้ได้ครับว่าแพ้ยาอะไร อาการเป็นอย่างไร ถ้าจำไม่ได้ก็จดชื่อยาไว้ติดตัวตลอดเวลาก็จะดีที่สุด) เพราะยาบางชนิดมีผลต่อการตั้งครรภ์ครับ
    • ประวัติส่วนตัว เช่น สภาพแวดล้อมในการทำงาน สิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยงในบ้าน, ประวัติการออกกำลังกาย (วิธีการออกกำลังกาย, ระยะเวลาและความแรงในการออกกำลังกาย เผื่อมีข้อห้ามที่คุณควรลดการออกกำลังกาย), ประวัติการทำฟันและการตรวจสุขภาพช่องปาก รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน การใช้ยาเสพติด ฯลฯ เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจมีผลต่อเด็กและให้คำแนะนำได้ ประวัติอื่น ๆ เช่น ประวัติการทำฟัน
  2. การตรวจร่างกายทั่วไป จะเป็นการตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกายทั้งพ่อและแม่ โดยคุณหมอจะตรวจดูว่า มีโรคบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ โดยสิ่งที่หมอจะตรวจก็ได้แก่ การวัดส่วนสูง, ชั่งน้ำหนัก, วัดความดันโลหิต, ตรวจระบบหายใจ, ตรวจระบบหัวใจ, ตรวจเต้านม, ตรวจหน้าท้อง, ตรวจภายใน (หากจำเป็น) และตรวจมะเร็งปากมดลูก หากตรวจว่าพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งแพทย์เฉพาะทางและสูตินรีแพทย์ ซึ่งจะต้องพิจารณาร่วมกันว่าสมควรให้มีการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย อย่างโรคที่พบบ่อย ๆ เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส แผลริมอ่อนและแข็ง ไวรัสตับอักเสบบี ถ้าจะป้องกันเอาไว้ก่อนก็จะดีกว่ามารักษาทีหลัง ส่วนโรคเอดส์นั้น ถ้าคุณแม่ติดเชื้อจะมีโอกาสถ่ายทอดไปสู่ลูกได้มากถึงร้อยละ 20-30 (ถ้าได้รับยาระหว่างตั้งครรภ์ จะลดโอกาสการถ่ายทอดไปสู่ลูกน้อยกว่าร้อยละ 10) หากพ่อหรือแม่ติดเชื้อเอดส์ ก็ไม่ควรจะปล่อยให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
  3. การเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ และเอกซเรย์ปอด (ตรวจเลือดก่อนตั้งครรภ์) คุณพ่อคุณแม่ควรได้รับการตรวจเลือดอย่างละเอียด เพื่อดูว่ามีโอกาสตั้งครรภ์โดยที่ภาวะแม่ลูกกลุ่มเลือดไม่เข้ากันหรือไม่ หากเกิดภาวะนี้ขึ้น หมอจะได้ให้คำแนะนำเพื่อให้การตั้งครรภ์ผ่านพ้นไปอย่างปลอดภัยได้ ในขั้นตอนนี้โดยรวมแล้วจะเป็นการตรวจเพื่อดูความเข้มข้นของเลือด โรคเลือด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงโรคติดต่อทางพันธุกรรม และหาภูมิคุ้มกันโรคบางอย่าง โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่หมอจะสั่งให้ตรวจก็ได้แก่ หมู่เลือด, ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดเพื่อประเมินสุขภาพทั่วไป, ระดับน้ำตาลในเลือด, ตรวจปัสสาวะ, เอกซเรย์ปอด, ตรวจภูมิคุ้มกันโรค เช่น หัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส สำหรับการตรวจโรคทางพันธุกรรม หากพบว่าทั้งพ่อและแม่ต่างก็มีโรคทางพันธุกรรมแฝงอยู่ในตัว โดยทั่วไปแล้วจะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังลูกได้ 1 ใน 4 คน โดยจะมี 1 คนที่ปกติ มี 2 คนที่ปกติแต่มีโรคแฝง ส่วนอีก 1 คนนั้นจะผิดปกติหรือมีโรคปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ยิ่งถ้าพ่อแม่เป็นโรคเลือดธาลัสซีเมียทั้งคู่ หมอจะไม่แนะนำให้มีลูกเลยครับ
  4. การตรวจภายใน เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งในการเตรียมตัวเป็นคุณแม่ โดยจะเป็นการตรวจเพื่อดูว่ามดลูกและรังไข่ปกติดีหรือไม่ รวมทั้งตรวจช่องคลอดเพราะมีผลโดยตรงต่อการตั้งครรภ์และการคลอด เช่น อาจมีการอักเสบ มีเนื้องอกของมดลูกหรือรังไข่ มีพังผืดหรือมีถุงน้ำในรังไข่ เป็นต้น แถมการตรวจภายในยังถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ตรวจมะเร็งปากมดลูกไปด้วย ส่วนคุณผู้หญิงที่มีประจำเดือนแล้วมักปวดท้องมาก ๆ จนทำอะไรไม่ได้เลย และต้องกินยาแก้ปวดหรือต้องหยุดงานเป็นประจำ อย่างนี้จะมีความเสี่ยงเป็นเนื้องอกของเยื่อบุมดลูกซึ่งไปเจริญผิดที่ได้ครับ ควรรีบไปหาหมอเพื่อตรวจดู หากเป็นขึ้นมาจะได้รักษา เพราะโรคนี้ถ้าเป็นแล้วจะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น หากได้รับการรักษาแล้ว โอกาสที่จะตั้งครรภ์ก็มีมากขึ้นครับ สำหรับการตรวจความสมบูรณ์ของอสุจิคุณพ่อก็สำคัญครับ เพราะหากเกิดความผิดปกติขึ้นมา จะได้รับคำแนะนำและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าปล่อยให้ผ่านไปแล้วจนกลายเป็นเรื่องที่แก้ไขยาก
  5. การตรวจพิเศษอื่น ๆ หลังจากที่ตรวจร่างกายและตรวจภายในไปแล้ว หากแพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติบางอย่าง ก็อาจจะต้องให้ตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ในช่องท้อง หรือส่องกล้องตรวจในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น

ตรวจเลือดก่อนตั้งครรภ์

ส่วนในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ก็มีอยู่หลายราคาครับ ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลและแพ็กเกจที่เลือก ถ้าตรวจทั้งพ่อและแม่สองคนรวมแล้วก็จะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 บาทครับ ท่านใดที่ไปตรวจมาแล้วขอความกรุณาแจ้งรายละเอียดในคอมเมนต์ให้ด้วยนะครับ ว่าค่าตรวจเท่าไรและตรวจที่โรงพยาบาลใด เพื่อที่ผมจะได้นำมาอัปเดตให้คนทั่วไปทราบครับ ส่วนข้อมูลด้านล่างนี้คือ “โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์” ที่ได้จากการสอบถามมาครับ

  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ : ตรวจเป็นคู่ราคา 12,500 บาท
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ : ตรวจเป็นคู่ราคา 12,200 บาท
  • โรงพยาบาลพญาไท : ต รวจเป็นคู่ราคา 8,900 บาท
  • โรงพยาบาลนนทเวช : ตรวจเป็นคู่ราคา 6,500 บาท
  • โรงพยาบาลสุขุมวิท : ตรวจเป็นคู่ราคา 6,160 บาท
  • โรงพยาบาลวิภาวดี : ตรวจเป็นคู่ราคา 6,100 บาท
  • โรงพยาบาลเวชธานี : ตรวจเป็นคู่ราคา 5,800 บาท
  • โรงพยาบาลสมิติเวช : ตรวจเป็นคู่ราคา 5,300 บาท
  • โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล : ตรวจเป็นคู่ราคา 4,900 บาท
  • โรงพยาบาลสุขสวัสดิ์ : ตรวจเป็นคู่ราคา 4,200 บาท
  • โรงพยาบาลศิครินทร์ : ตรวจเป็นคู่ราคา 4,100 บาท
  • โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท : ตรวจเป็นคู่ราคา 4,000 บาท
  • โรงพยาบาลศิริราช : ตรวจเป็นคู่ราคา 5,000 บาท (ต้องจองคิวล่วงหน้า เปิดเวลาทำการ 8.00-16.00 น. ไม่เปิดคลินิกพิเศษ ข้อมูลจากคุณ Kim Wangsirisombat)

* จากรูปด้านล่างคือตัวอย่างโปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานของโรงพยาบาลสุขสวัสดิ์ครับ

โปรแกรมก่อนแต่งงาน

คำแนะนำก่อนไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล : โปรดงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และอย่าลืมนำบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วยนะครับ

อาหารบํารุงก่อนตั้งครรภ์

อาหารการกินของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์จัดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับลูกน้อยที่จะเกิดมาในอนาคต คุณแม่ที่ภาวะโภชนาการดีตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์และอยู่ในระยะตั้งครรภ์จะมีสุขดี ทำให้มีอาการแทรกซ้อนน้อย ลูกในครรภ์แข็งแรง หลังคลอดลูกก็มีสุขภาพแข็งแรงดี ดังนั้นผู้เป็นแม่จะต้องเตรียมตัวให้มีภาวะโภชนาการที่สมบูรณ์และไม่ขาดสารอาหารสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และไอโอดีน

  • โปรตีน (Protein) หากร่างกายขาดโปรตีนก็อาจจะทำให้การเจริญเติบโตของลูกน้อยไม่เป็นไปตามปกติ แหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูงก็ได้แก่ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ถั่ว ไข่ นม ชีส และรวมไปถึงอาหารทะเลด้วย
  • ธาตุเหล็ก (Iron) มีความสำคัญอย่างมากในการผลิตเฮโมโกลบิน ฯลฯ ถ้าขาดธาตุเหล็กจะทำให้คุณแม่เป็นโรคโลหิตจาง พัฒนาการทางสมองของลูกน้อยไม่ดี มีผลต่อระดับสติปัญหาและการเรียนรู้ แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงก็ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ หอยกาบ หอยนางรม ไข่แดง ผักกูด ผักโขม ผักแว่น ถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง ใบชะพลู ใบตำลึง งาดำ งาขาว ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง ถั่วแดง เป็นต้น
  • ไอโอดีน (Iodine) เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ผู้ที่ขาดไอโอดีนจะทำให้การพัฒนาทางสมองของลูกน้อยผิดปกติ ความคิดความอ่านช้าลง เชื่องช้า ง่วงซึม การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน ฯลฯ ไอโอดีนพบได้มากในอาหารทะเลทุกชนิด ปลาทะเล ปู หอย รวมไปถึงผักที่ปลูกในดินที่มีแร่ธาตุไอโอดีนสูงด้วย
  • กรดโฟลิก (Folic Acid) มีความจำเป็นต่อการแบ่งตัวของเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดง และเป็นตัวช่วยสร้างเซลล์สมองของลูกน้อย กาดขาดกรดโฟลิกของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ 1-2 เดือนแรก จะทำให้การพัฒนาทางสมองและระบบประสาทของลูกน้อยผิดปกติได้ หรือถึงขั้นอาจทำให้แท้ง หรือลูกน้อยเสียชีวิตได้ตั้งแต่อยู่ในท้องอ่อน ๆ ซึ่งผมขอแนะนำให้สตรีที่เตรียมตัวจะตั้งครรภ์ “ต้อง” รับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิกตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือจะรับประทานแบบที่เป็นอาหารเสริมเลยก็จะยิ่งดีครับ เพราะเป็นเรื่องยากที่คุณแม่จะรับประทานอาหารเพื่อให้ได้กรดโฟลิกถึง 400 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่แนะนำต่อวัน โดยให้รับก่อนการตั้งครรภ์ล่วงหน้าประมาณ 3 เดือน ไม่ใช่ว่ามาเริ่มรับประทานอย่างจริงจังหลังตั้งครรภ์ไปแล้ว ส่วนแหล่งอาหารที่มีกรดโฟลิกอยู่มากก็ได้แก่ ไข่แดง ตับ เป็ด ไก่ ผักใบเขียวเข้ม แคร์รอต แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ถั่ว ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า การเตรียมความพร้อมในเรื่องของอาหารการกินของคุณแม่ช่วงก่อนตั้งครรภ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกหากคุณแม่เลือกรับประทานอาหารตามที่ระบุไว้ข้างต้นอย่างหลากหลาย เพราะจะทำให้คุณแม่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของลูกน้อยที่เกิดขึ้นในอนาคต

น้ำหนักแค่ไหนกำลังดี ?

คุณแม่ที่เตรียมตัวจะตั้งครรภ์ควรจะสำรวจตัวเองด้วยว่าตนเองมีรูปร่างผอมหรืออ้วนเกินไปหรือไม่ แต่การจะบอกน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบส่วนสูงนั้น ก็คงจะบอกไม่ได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ใด ซึ่งเรามีวิธีการหาค่าดัชนีความหนาของร่างกาย หรือที่เราเรียกว่า “ดัชนีมวลกาย” หรือ “บีเอ็มไอ” (BMI – Body Mass Index) มีสูตรคือ “BMI = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม / ส่วนสูงเป็นเมตร x ส่วนสูงเป็นเมตร

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีน้ำหนัก 58 กิโลกรัม และมีส่วนสูง 169 เซนติเมตร ต้องนำส่วนสูงมาคิดเป็นเมตรก่อน คือ 169 เซนติเมตร จะเท่ากับ 1.69 เมตร แล้วนำมาคูณด้วยส่วนสูงที่คิดเป็นเมตรอีกครั้ง คือ 1.69 x 1.69 = 2.856 จากนั้นให้เอาน้ำหนักคือ 58 กิโลกรัม เป็นตัวตั้ง แล้วจึงหารด้วยค่าส่วนสูงที่คำนวณได้คือ 2.856 ก็จะได้ค่า BMI เท่ากับ 20.308 ซึ่งผู้ที่มีค่า BMI อยู่ในระหว่าง 18.5-24.9 (มาตรฐานสากล) ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติครับ ถ้าน้อยกว่า 18.5 ก็ถือว่าผอมไปครับ หรือถ้ามากกว่า 24.9 คือมีค่า 25.0 ขึ้นไปก็จะถือว่าอ้วนครับ แต่สำหรับมาตรฐานคนเอเชียแล้วเกณฑ์ปกติจะอยู่ที่ 18.5-22.9 ครับผม

การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

แต่ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ ไม่อยากคิดเยอะ ก็ดูที่กราฟด้านล่างนี้ได้เลยครับ ถ้าวัดแล้วคุณอยู่ในเกณฑ์ช่วง Healthy weight ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติครับ ไม่อ้วน ไม่ผอมเกินไป แต่ถ้าวัดได้ต่ำกว่า 18.5 จะถือว่าผอมไป อาจส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายลดลง และเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ครับ แต่ถ้าวัดแล้วได้ค่า 25.0 ขึ้นไป ตามมาตรฐานสากลจะถือว่าร่างกายมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้เองมันจะเป็นตัวช่วยประเมินว่าร่างกายของเรานั้นอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและพร้อมที่จะมีลูกแล้วหรือยังนั่นเองครับ

การเตรียมตัวตั้งครรภ์

สำหรับผู้ที่ผอมไปนั้นอาจจะมีภาวะขาดสารอาหาร พลังงาน และโปรตีน ผมแนะนำว่าคุณควรจะดูแลในเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ ร่างกายควรได้รับสารอาหาร พลังงาน และโปรตีนมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติ ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานก็ยิ่งต้องดูแลสุขภาพและระมัดระวังในเรื่องอาหารการกินให้มากขึ้นเช่นกัน โดยคุณควรเลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานน้อย ลดอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน และขนมหวาน แต่ก็ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยพยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือพยายามให้ใกล้เคียงที่สุดก่อนจะเริ่มต้นตั้งครรภ์ และที่สำคัญควรหาเวลาในการออกกำลังกายด้วยครับ เพราะนอกจากจะช่วยลดความอ้วนได้แล้ว การออกกำลังกายยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วยครับ

วัยที่เหมาะกับการตั้งครรภ์

ในทางธรรมชาติ ผู้หญิงที่มีประจำเดือนแล้วและไม่มีความผิดปกติใด ๆ ก็สามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดทารกได้ โดยปกติแล้ววัยเจริญพันธุ์จะเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป จนถึงวัยหมดประจำเดือนหรือที่อายุประมาณ 49 ปี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้หญิงในสมัยก่อนมักจะเริ่มมีลูกกันตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรือมีลูกกันทันทีหลังแต่งงาน เนื่องจากความรู้เรื่องการคุมกำเนิดในอดีตยังไม่แพร่หลายเท่าในปัจจุบัน จึงทำให้บางครอบครัวมีลูกกันเป็นจำนวนมาก (บางคนมีลูกกันถึง 21 คนเลยนะครับ)

แต่ตามหลักการแพทย์แล้ว แม่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ร่างกายจะยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์มากพอ เพราะระยะนี้ร่างกายกำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโต ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ก็ต้องมาหยุดโตเพราะมีครรภ์ อาหารที่ได้รับเข้าไปก็อาจไม่เพียงพอที่จะไปทำให้ร่างกายคุณแม่เติบโตได้ เพราะยังต้องแบ่งให้ลูกในท้องอีก นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าวัย 20 ปีขึ้นไป เช่น คุณแม่จะมีอัตราการแท้งบุตรและคลอดลูกก่อนกำหนดได้บ่อยกว่า มีโอกาสคลอดยาก คลอดลำบาก หรือต้องผ่าตัด รวมทั้งยังมีโอกาสเป็นโรคโลหิตจางและครรภ์เป็นพิษสูงกว่าปกติอีกด้วย ดังนั้นหากยังอายุไม่ถึง 20 ปี คุณแม่ควรจะคุมกำเนิดไว้ก่อน แล้วรอให้ถึงอายุ 20 ปี เพราะช่วงอายุ 20-34 ปี นั้น ร่างกายจะมีความสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่ และพร้อมที่จะรองรับการตั้งครรภ์ หากตั้งครรภ์ก็จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้น้อยมาก ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการตั้งครรภ์ครับ เพราะจากงานวิจัยนั้นพบว่า “เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น โอกาสตั้งครรภ์โดยธรรมชาติจะลดน้อยลง หรือมีลูกยากขึ้นตามอายุ” ดังข้อมูล

  • อายุ 20-24 ปี อัตราการมีลูกยากคิดเป็น 6%
  • อายุ 25-29 ปี อัตราการมีลูกยากคิดเป็น 9%
  • อายุ 30-34 ปี อัตราการมีลูกยากคิดเป็น 15%
  • อายุ 35-39 ปี อัตราการมีลูกยากคิดเป็น 30%
  • อายุ 40 ปีขึ้นไป อัตราการมีลูกยากคิดเป็น 64%

ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุมาก ๆ (วัย 35 ปีขึ้นไป) จะยิ่งมีโอกาสเกิดการสูญเสียหรือโรคแทรกซ้อนมากยิ่งขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ ถ้าไม่แท้งลูกก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า รกลอกตัวก่อนกำหนด มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น หรือถ้าตั้งครรภ์ได้จนครบกำหนดก็มีโอกาสคลอดยาก คลอดลูกลำบาก และอาจต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอดหรือผ่าตัดคลอดตามแต่กรณี นอกจากนี้ทารกยังมีโอกาสพิการและปัญญาอ่อนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อคุณแม่มีอายุเกิน 35-40 ปีขึ้นไป และความพิการนี้ก็ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา ดังข้อมูลนี้ครับ

  • อายุน้อยกว่า 35 ปี มีโอกาสเกิดการสูญเสียคิดเป็น 15%
  • อายุ 35 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดการสูญเสียคิดเป็น 15%+
  • อายุ 40 ปี มีโอกาสเกิดการสูญเสียคิดเป็น 34%
  • อายุ 45 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดการสูญเสียคิดเป็น 52%+

ส่วนคุณพ่อนั้น แต่เดิมเราเข้าใจว่าคุณพ่อไม่มีผลต่อการให้กำเนิดลูกหรือคิดว่าไม่มีความเสี่ยงเหมือนคุณแม่ แต่อย่างไรก็ตามคุณพ่อที่มีอายุมากก็อาจสร้างอสุจิที่มีโครโมโซมผิดปกติได้ครับ (คือผลิตอสุจิมายาวนานหลายปี ทำให้แบบพิมพ์โครโมโซมทำงานหนัก แบบพิมพ์ที่ได้จึงผิดเพี้ยนได้) โดยโรคที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยของคุณพ่อ ก็เช่น โรค Achondroplasia (ลูกมีความผิดปกติของกระดูก ลำตัวสั้นและแขนขาสั้นแบบคนแคระ), โรค Duchann Muscular Dystrophy (ลูกมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงและแขนขาลีบ), โรค Marfan Syndrome (ลูกแขนขายาวผิดปกติ และมักมีความผิดปกติของสายตาร่วมด้วย) ฯลฯ ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้กับคุณพ่อที่มีอายุเกิน 45 ขึ้นไปครับ

ในโลกยุคปัจจุบันที่มีแนวโน้มว่าคุณแม่จะตั้งครรภ์หลังอายุ 30 ปี มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และหลายคนมีอายุเกิน 35 ปี ซึ่งอาจเป็นเพราะพ่อแม่หลายคู่ให้ความสำคัญถึงความพร้อมในด้านต่าง ๆ ประกอบกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปมากกว่าแต่ก่อน เพราะกว่าจะเรียนจบ เริ่มทำงาน และกว่าจะตั้งตัวได้ ก็อาจพ้นวัยที่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ไปแล้ว คุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์แรกในวัย 35 ปีขึ้นไป ย่อมทราบดีถึงความจริงที่ว่าตนเองนั้นค่อนข้างมีความเสี่ยงต่อการให้กำเนิดลูกที่ไม่แข็งแรงสมบูรณ์ (จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงอายุมากจะมีแนวโน้มเสื่อมคุณภาพลง ทำให้มีผลต่อการถ่ายทอดโครโมโซมและยีนที่ให้ลักษณะทางพันธุกรรมผิดปกติ)

แต่ก็ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่จะหมดหนทางในการมีลูกที่สมบูรณ์แข็งแรงได้นะครับ เพราะเรื่องนี้เราสามารถพึ่งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่สามารถเผชิญหน้ากับสิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคและนำพาให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี อย่างเช่น คุณแม่ที่มีอายุมากและตั้งครรภ์ได้ยาก คุณหมอก็อาจใช้ประโยชน์จากฮอร์โมนบางชนิดมาช่วยให้คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น หรือโรคที่อาจเกิดกับลูกของคุณแม่ อย่างโรคดาวน์ซินโดรมหรือกลุ่มที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ และมีความบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อความสบายใจคุณแม่ก็สามารถไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจและดูแลอย่างใกล้ชิดได้ครับ

สำหรับคุณผู้หญิงที่แต่งงานตอนอายุมากแล้ว ถ้าอยากมีลูกก็ไม่ควรคุมกำเนิดครับ คือปล่อยให้มีไปเลย เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็รีบไปฝากครรภ์ให้หมอดูแล เพื่อลดอันตรายจากการตั้งครรภ์และการคลอดเท่าที่จะทำได้ ส่วนคุณแม่ที่อายุเกิน 35 ปี ที่มีลูก 2 คนขึ้นไป ก็ไม่ควรจะปล่อยให้มีลูกอีก เพราะอย่างบางครอบครัวนั้นจะมีปัญหาเรื่อง “การยังไม่ได้ลูกตามเพศที่ต้องการ” เช่น มีลูกสาว 2 คน แต่ยังไม่ได้ลูกชาย หรือมีลูกชาย 2 คนแล้ว แต่ยังอยากได้ลูกสาวเพิ่มอีก 1 คน กรณีแบบนี้ผมว่าไม่ควรเสี่ยงครับ เพราะคนที่ 3 ก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นเพศที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการหรือเปล่า ลองคิดดูนะครับว่าถ้าเกิดคุณได้ “ลูกสาว 3 คน” หรือ “ลูกชาย 3 คน” ยังจะเอาอยู่ไหม เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่จะทำได้อย่าง 100% อีกทั้งคุณยังต้องเสี่ยงต่อการได้ลูกผิดปกติหรือปัญญาอ่อนอีก แต่ถ้ายังไม่เคยมีลูกมาก่อนก็อาจจะลองเสี่ยงดูก็ได้ครับ

นอกจากข้อเสียแล้ว ถ้าเรามองโลกในแง่ดีบ้าง ก็จะรู้ว่าการเริ่มเป็นคุณพ่อคุณแม่เมื่อมีอายุมากแล้วมันก็มีข้อดีอยู่หลายอย่างที่เป็นหลักประกันในการเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนที่มีคุณภาพได้ นั่นคือ

  • เพราะลูกคือความปรารถนาสูงสุดของพ่อแม่ในสภาพที่ครอบครัวพร้อมสมบูรณ์ ลูกจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความมั่นคงทางอารมณ์
  • แม้คุณแม่ที่มีอายุมากแล้วจะมีความกระฉับกระเฉงและกำลังวังชาน้อยกว่าคุณแม่วัย 20 ต้น ๆ ก็ตาม แต่คุณแม่วัยนี้ส่วนใหญ่แล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิตพอสมควรแล้ว ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มามากมาย จึงทำให้คุณแม่มีความรู้ความเข้าใจในชีวิตมากขึ้น มีอารมณ์มั่นคงเป็นผู้ใหญ่
  • ลูกจะมีคุณพ่อและคุณแม่ที่มีความรักและความผูกพันที่มั่นคงลงตัว ไม่คลอนแคลนเหมือนพ่อแม่วัยหนุ่มสาว
  • ลูกอาจได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ในบ้านที่มีความอบอุ่น มีความมั่นคงทางด้านวัตถุและจิตใจ
  • คุณพ่อคุณแม่จะไม่รู้สึกว่าลูกคืออุปสรรคของความสำเร็จในเรื่องการงาน เพราะอาจเต็มอิ่มแล้วกับความสำเร็จที่ผ่านมา
  • คุณพ่อคุณแม่จะมีเวลาเลี้ยงดูลูกได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องของเวลาหรืองานให้เข้ามาเป็นอุปสรรคมากเหมือนที่เคย และยังรู้สึกเบาใจและมั่นใจว่าจะแสดงบทบาทของความเป็นพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี

การเตรียมตัวในด้านอื่น ๆ

การตั้งครรภ์เป็นภาระที่หนักมากสำหรับผู้หญิงทั่วไป ดังนั้น การมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่เตรียมตัวไว้ก่อนล่วงหน้า ผลที่ออกมาก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่หวังไว้ก็ได้ ซึ่งก็มีคำแนะนำอยู่หลายข้อด้วยกัน ดังนี้

  • ผู้ที่มีโรคภัยไข้เจ็บ ผู้ที่รู้ตัวเองว่ามีโรคภัยไข้เจ็บหรือเป็นโรคประจำตัวก็ควรจะต้องได้รับการรักษาให้หายเสียก่อนหรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนจะเริ่มตั้งครรภ์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายนั้นว่าที่คุณแม่สามารถเลือกทำได้หลายประเภทตามความถนัดและความชอบ เช่น เล่นแบดมินตัน ปิงปอง เทนนิส การเต้นแอโรบิก กระโดดเชือก ปั่นจักรยาน การวิ่ง การเดินเร็ว ๆ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเลือกออกกำลังกายด้วยวิธีใด ก็ควรจะใช้เวลาในการเล่นอย่างน้อยวันละ 30 นาทีขึ้นไป และอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไปครับ โดยควรเริ่มจากการเล่นวันละน้อย ๆ นาทีก่อน เมื่อร่างกายเคยชินแล้วก็สามารถออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่ครับ
  • ควรเลิกสูบบุหรี่ ลดหรือเลิกแอลกอฮอล์ ดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน รวมไปถึงการลดพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสัมผัสแมวหรือรับประทานอาหารดิบ (เสี่ยงต่อการติดเชื้อ) เพราะเหล่านี้ล้วนแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพและต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ครับ
  • พบทันตแพทย์ นอกจากเราจะต้องพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน หากคุณคิดจะวางแผนมีลูก ก็จำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจเช็กสภาพและทำฟันอย่างละเอียด เพราะสภาพฟันที่ไม่ดีอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และกลายเป็นปัญหาเรื่องความสะอาดภายในช่องปาก จนส่งผลถึงภาวะครรภ์เป็นพิษหรือคลอดก่อนกำหนดได้ เพราะฉะนั้น คุณควรนัดทันตแพทย์แล้วทำฟันรอไว้ได้เลยครับ
  • ก่อนมีลูก…อยากทำอะไรก็รีบทำซะ ! เช่น หากเคยวางแผนไว้แล้วว่า อยากไปเที่ยว แต่ยังไม่ได้ไปสักที โดยเฉพาะสำหรับคู่รักที่ยังไม่ได้ไปฮันนีมูน เพราะหากไปเที่ยวตอนท้องโตหรือต้องพาลูกน้อยไปด้วยแล้วคงไม่สะดวกแน่ ๆ หรือบางคนอยากทำอะไรแปลก ๆ แต่ยังไม่ได้ทำก็รีบลงมือได้เลย อย่างบางคนใฝ่ฝันไว้ว่า จะเล่นกีฬาหวาดเสียวสักครั้งในชีวิต เช่น โดดบันจี้จัมพ์ กระโดดร่ม ขี่ม้า ฯลฯ แต่ยังไม่ได้ทำซะที ก็ให้ลงมือเล่นซะตอนนี้ได้เลยครับ หรือสำหรับสาว ๆ ที่รักสวยรักงามชอบการทำผมเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำสีหรือทำไฮไลต์ ก็รีบทำเสียให้พอใจ เพราะหากตั้งครรภ์แล้ว การทำสีผมเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะสารเคมีในน้ำยาทำสีอาจทำอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์ได้ หรือใครที่วางแผนจะทำบ้านใหม่หรือจัดบ้านใหม่ ก็รีบจัดการให้เสร็จ หรืออยากทาสีห้องใหม่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ก็สมควรจะทำตั้งแต่ตอนนี้เลยครับ (แนะนำให้ใช้สีที่ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษครับ) ส่วนใครที่รักสัตว์เลี้ยงก็ควรหาเวลาเล่นกับมันให้พอใจ เก็บกวาดกระบะสำหรับขับถ่ายแมวเป็นครั้งสุดท้าย แล้วมอบหน้าที่ให้คุณสามีรับช่วงต่อแทน เพราะในอุจจาระของแมวนั้นมีปรสิตซึ่งอาจนำท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) มาสู่คุณแม่ และติดไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้ครับ ฯลฯ

ขอกล่าวโดยสรุปเลยนะครับ การเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์อย่างแรก ผมแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ไปตรวจสุขภาพก่อนเลยครับ เผื่อมีปัญหาอะไรจะได้วางแผนถูก ระหว่างนี้ก็ดูแลสุขภาพไปด้วยครับ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลด ละ เลิกสิ่งไม่ดี และทานอาหารเสริมกรดโฟลิกวันละ 400 ไมโครกรัม โดยทานก่อนตั้งครรภ์ไว้รอประมาณ 3 เดือนครับ เพื่อช่วยให้โอกาสเกิดความผิดปกติในเรื่องระบบประสาทของทารกมีน้อยลง ขอให้โชคดีและสมหวัง มีลูกน่ารัก ๆ กันทุกคนครับ 🙂

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด