8 วิธีการวางแผนครอบครัว (ก่อนมีลูก) และการคุมกำเนิด !!

การวางแผนครอบครัว

การวางแผนครอบครัว หมายถึง การที่คู่สมรสปรึกษาหารือกันเพื่อวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะมีลูกหรือไม่มีลูก ถ้าตกลงกันว่าจะไม่มีลูกหรือจะหยุดมีลูกแล้วจะคุมกำเนิดด้วยวิธีใด หรือถ้าอยากมีลูกแล้วพร้อมจะมีลูกกันได้เมื่อไหร่ ? จะมีลูกกันกี่คน ? และจะมีลูกห่างกันกี่ปี ? ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณและลูกน้อยที่เกิดมานั้นมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีสุขภาพจิตดี อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ผู้เป็นพ่อแม่สามารถให้การศึกษา อบรมเลี้ยงดูลูกน้อยจนเติบใหญ่มีอาชีพการงานที่มั่นคงได้ และเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไป

แต่โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเราพูดถึง “การวางแผนครอบครัว” คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า มันเป็นเรื่องของ “การคุมกำเนิด” แต่ในความหมายที่แท้แล้ว คำว่าการวางแผนครอบครัวมันมีความหมายกว้างกว่านี้มาก เพราะยังหมายความรวมถึง “การวางแผนมีลูก” ด้วยครับ ส่วนความหมายของคำว่า “คุมกำเนิด” นอกจากจะหมายถึงการป้องกันการเกิดด้วยการป้องกันการปฏิสนธิแล้วยังหมายความรวมถึงการไปทำแท้งด้วย ดังนั้นการคุมกำเนิดจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวางแผนครอบครัว แต่ในทางปฏิบัติแล้วหลาย ๆ ที่ยังใช้คำนี้แทนกันอยู่ ซึ่งต่อไปนี้ก็คือแนวทางการวางแผนครอบครัว (ตามความหมายที่ถูกต้อง) ครับ 🙂

  1. จุดเริ่มต้นของครอบครัว มนุษย์เรานั้นเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถือเป็นเรื่องธรรมดา และถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ต้องสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนเอง ซึ่งอาจจะต้องผ่านขั้นตอนทางประเพณีที่เรียกว่า “การแต่งงาน” หรือไม่ผ่านก็ได้ แต่การแต่งงานหรือการเริ่มต้นชีวิตคู่ที่ดีนั้นควรจะเริ่มขึ้นเมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีความพร้อมและตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ช่วยกันทำมาหากินหรือสร้างหลักฐานครอบครัว ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันให้ครอบครัวและลูกน้อยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  2. หน้าที่และการปรับตัว ความรักเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ได้เป็นหลักประกันความสำเร็จในชีวิตคู่ได้ เพราะมันยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เพื่อให้ชีวิตคู่ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักเรียนรู้และยอมรับจุดอ่อนและจุดแข็งของกันและกัน, การมีความเข้าอกเข้าใจกัน ประนีประนอม และพร้อมที่จะให้อภัยกันและกัน รวมไปถึงการวางแผนล่วงหน้าทั้งด้านการงานและการเงินอย่างเหมาะสม มีเผื่อค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน และเก็บออมเอาไว้บ้างเพื่ออนาคต ฯลฯ ในระยะเริ่มแรกของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ทั้งคู่จะต้องปรับตัวเข้าหากันและตกลงบทบาทหน้าที่กันภายในครอบครัวให้ชัดเจน และสามารถสลับบทบาทได้ยามจำเป็น
  3. คิดให้ดีก่อนมีลูก ! ผมอยากให้ผู้อ่านที่คิดจะมีลูกลองหยุดคิดและไตร่ตรองดูสักนิดว่า เรามีสิ่งต่อไปนี้แล้วหรือยัง ? อาทิ การมีหลักและฐานที่มั่นคงพอที่จะเลี้ยงดูลูกน้อย ตลอดจนพร้อมที่จะให้การศึกษาที่ดีแก่ลูกได้, การมีเวลาพอที่จะอบรมเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยความเอาใจใส่ เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นคนดี, การมีเวลาอยู่ด้วยกัน มีความเข้าใจกัน และพร้อมที่จะมีลูกของคู่สมรส ซึ่งการมีลูกในขณะที่คู่สมรสยังไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีพอ ก็อาจทำให้ลูกน้อยที่เกิดมามีปัญหาสุขภาพจิตได้ ฯลฯ อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 20 ข้อคิดก่อนคิดมีลูก…คุณพร้อมหรือยัง ??
  4. การเตรียมพร้อมทางด้านร่างกาย การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี คุณพ่อคุณแม่ที่มีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ย่อมมีโอกาสคลอดลูกที่แข็งแรงและมีสุขภาพดีเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพของทั้งสองฝ่ายก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย เพราะหากพบปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณหมอจะช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที หรือให้คำแนะนำได้ตามสมควร เพราะอย่างโรคประจำตัวบางโรคของคุณแม่นั้นก็มีผลต่อลูกน้อยในครรภ์อย่างมาก และบางโรคอาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการตั้งครรภ์เลยก็ว่าได้ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคลมบ้าหมู โรคไต โรคเบาหวาน โรคเอดส์ ฯลฯ แต่ทว่าคุณแม่อย่าเพิ่งวิตกกังวลใจไปก่อนว่า ตนเองจะมีลูกไม่ได้ สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือการไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอะไรจะได้แก้ไขกันตั้งแต่ต้น ส่วนอีกเรื่องที่ควรคำนึงถึงก็คือเรื่อง “น้ำหนักตัวของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์” ที่ไม่ควรจะอ้วนหรือผอมมากเกินไป (เมื่อคำนวณความหนาของร่างกายหรือดัชนีมวลกาย (BMI) แล้วอยู่ในเกณฑ์ปกติ) และควรอยู่ในวัยที่เหมาะสมสำหรับการมีลูก เพราะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในวัย 35 ปีขึ้นไป จะค่อนข้างมีความเสี่ยงต่อการให้กำเนิดลูกที่ไม่แข็งแรงสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นแล้ว และคุณแม่ดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยในครรภ์เป็นอย่างดี ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าใดนัก แต่จะยิ่งดีกว่าถ้าเริ่มต้นมีลูกกันตั้งแต่วัยหนุ่มสาว
  1. การเตรียมพร้อมทางด้านอาชีพและที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้ปัจจัยอื่น ๆ และเป็นเรื่องที่ครอบครัวจะต้องตกลงกันก่อนแต่งงานว่า พอแต่งแล้วจะแยกมาอยู่กันลำพังเพียง 2 คน หรือจะย้ายไปอยู่กับครอบครัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความจำเป็นของทั้งสองฝ่าย ส่วนอาชีพการงานก่อนมีลูกก็ควรจะเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงพอประมาณ มีรายได้ที่แน่นอนและเพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูครอบครัว
  2. การวางแผนมีบุตรและเว้นระยะการมีบุตร เป็นการวางแผนร่วมกันของทั้งคู่ว่าพร้อมจะมีบุตรหรือยัง ?, จะเริ่มมีบุตรกันเมื่อไหร่ ?, ต้องการบุตรกี่คน ?, เป็นเพศชายหรือเพศหญิง ? แล้วจะเว้นระยะห่างการมีบุตรนานแค่ไหน ? เหล่านี้เป็นคำถามสำคัญที่ทั้งคู่ควรปรึกษาหารือและตกลงกันให้ชัดเจน ส่วนคุณแม่ที่อยากมีบุตรเพิ่มอีก ก็ควรจะเว้นช่วงการมีบุตรอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการฟื้นฟูสุขภาพของตนเองก่อนจะเริ่มตั้งครรภ์ครั้งต่อไป และยังมีเวลาเลี้ยงลูกคนก่อนได้อย่างเต็มที่ด้วยรักและเอาใจใส่
  3. เตรียมตัวเป็นพ่อแม่ที่ดี เพื่อให้ลูกได้เติบโตเป็นคนดี มีคุณภาพ และมีความสุข คุณพ่อคุณแม่ควรตกลงพร้อมใจที่จะมีลูกด้วยกัน และให้ลูกเกิดมาพร้อมกับความรักของทั้งสองคน พ่อและแม่ต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่พร้อมจะเป็นพ่อคนแม่คน แสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่รักเขามากขนาดไหน มีความรู้ในการอบรมเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดี ฝึกลูกในทางที่เขาควรจะเป็น มีเวลาเพียงพอที่จะให้ความใกล้ชิดและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก รวมถึงการให้ลูกมีเวลาส่วนตัวบ้าง คอยเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการได้เสมอ และเป็นที่ปรึกษาให้กับลูก พร้อมเผชิญปัญหาของลูกด้วยความเต็มใจ ฯลฯ
  4. การคุมกำเนิด สำหรับคู่สมรสที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตรหรือมีบุตรเพียงพอแล้ว การวางแผนเพื่อคุมกำเนิดถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราสามารถเลือกมีลูกได้ตามเวลาและจำนวนที่ต้องการ หรือช่วยเว้นระยะเวลาการตั้งครรภ์ให้ห่างมากพอ รวมไปถึงเพื่องดเว้นการตั้งครรภ์ในบางกรณี เช่น มารดาเป็นโรคทางพันธุกรรมที่แพทย์ไม่แนะนำให้ตั้งครรภ์ เป็นต้น ซึ่งการคุมกำเนิดในปัจจุบันก็มีทั้งแบบถาวร คือ การทำหมันหญิง (การผูกและตัดท่อรังไข่) และการทำหมันชาย (การผูกและตัดท่อนำน้ำเชื้อ) และแบบชั่วคราวซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีครับ เช่น แบบวิธีธรรมชาติ (การนับวันปลอดภัย, การหลั่งข้างนอก), การใช้ถุงยางอนามัย, ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรายเดือน, การฉีดยาคุมกำเนิด, ใช้ยาฝังคุมกำเนิด, ห่วงคุมกำเนิด, วงแหวนคุมกำเนิด, แผ่นแปะคุมกำเนิด ฯลฯ ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปครับ ไว้ผมจะกล่าวอีกครั้งอย่างละเอียดในบทความหน้าครับ ว่าการคุมกำเนิดนั้นมีกี่วิธี, มีวิธีการอย่างไร, ข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีมีอะไรบ้าง, แต่ละวิธีจะทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์มากน้อยแค่ไหน แล้วคุณควรเลือกใช้วิธีใด ฯลฯ

การวางแผนครอบครัวมีความสําคัญอย่างไร

เมื่อปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศว่า ประชากรบนโลกได้มีจำนวนครบ 7,000 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 1,000 ล้านคน ภายในระยะเวลาเพียง 12 ปี (เมื่อปี พ.ศ.2543 มีจำนวนประชากรประมาณ 6,000 ล้าน) จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประชากรโลกนั้นนับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรทางธรรมชาติก็ลดน้อยลงทุกที หากไม่มีมาตรการควบคุมการเกิด ปัญหาการขาดแคลนปัจจัยสี่ก็ต้องตามมาภายในเร็ววันอย่างแน่นอน

การวางแผนครอบครัวมีความสําคัญอย่างไร

สำหรับในประเทศไทย ล่าสุดนี้ (พ.ศ.2558) ได้มีจำนวนประชากรรวมแล้วทั้งสิ้นประมาณ 65 ล้านคน (มีเพศหญิงประมาณ 33 ล้านคน ส่วนเพศชายมีประมาณ 32 ล้านคน) มีอัตราการเกิดเพียง 12.9 ต่อ 1,000 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดี ทั้งนี้เป็นเพราะหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ช่วยกันส่งเสริมและรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องการวางแผนครอบครัวให้กับประชาชนได้ดีเสมอมา

การวางแผนครอบครัวที่เหมาะสมจะช่วยให้พ่อแม่มีจำนวนบุตรที่เหมาะสม จะช่วยให้มีเวลาอบรมเลี้ยงดูลูกได้อย่างเต็มที่ ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพ อีกทั้งการเลี้ยงบุตรเพียง 1 คนจนเติบใหญ่นั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาหรือค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยสี่ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกที การมีบุตรจำนวนมากและไม่มีการวางแผนที่ดีก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของลูก และความอยู่รอดของครอบครัวได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด