ซิงค์ คืออะไร?
สังกะสี หรือ ซิงค์ (Zinc) คือ เกลือแร่หรือแร่ธาตุ (Mineral) ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกาย (รองจากธาตุเหล็ก) โดยจัดเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายที่ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นเองหรือกักเก็บไว้ได้ จำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารหรือในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเท่านั้น
ธาตุสังกะสีนั้นมีบทบาทต่อการทำงานของร่างกายหลายส่วน ทั้งการเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกัน การทำงานของสมอง การผลิตสเปิร์ม ผิวหนัง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจึงมักมีธาตุสังกะสีหรือซิงค์เป็นส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม ยาและสารอาหารบางชนิดสามารถขัดขวางการดูดซึมธาตุสังกะสีและ/หรือเพิ่มการขับออกของธาตุสังกะสีได้ ดังนั้น การเพิ่มการบริโภคอาหารที่มีธาตุสังกะสีหรือการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารธาตุสังกะสี (เพียงอย่างเดียวหรือในรูปของวิตามินรวมหรือแร่ธาตุรวม) ก็จะสามารถป้องกันการขาดธาตุสังกะสีได้
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สังกะสีที่พบขายมีอยู่หลายแบบด้วยกัน ได้แก่ ซิงค์กลูโคเนต (Zinc gluconate), ซิงค์อะซีเตต (Zinc acetate), ซิงค์ซิเตรต (Zinc citrate), ซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulfate), ซิงค์คีเลต (Zinc chelates), ซิงค์คาร์บอเนต (Zinc carbonate), ซิงค์ออโรเตต (Zinc orotate) และซิงค์พิโคลิเนต (Zinc picolinate) ซึ่งจะมีกล่าวถึงต่อไปในหัวข้อด้านล่างครับ
“แม้การขาดธาตุสังกะสีอย่างรุนแรงในปัจจุบันจะพบได้ยาก แต่จากการศึกษาพบว่าคนจำนวนมากนั้นได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอ (ขาดเล็กน้อย) โดยเฉพาะในทารก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ และสตรีทั่วไป”
สาเหตุการขาดธาตุสังกะสี
จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 1ใน 4 ถึง 1ใน 3 ของประชากรโลกจะมีภาวะขาดธาตุสังกะสี ซึ่งพบในทุกอายุ ตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน (พบได้บ่อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ) ส่วนสาเหตุนั้นมีดังนี้
- การได้รับธาตุสังกะสีจากอาหารไม่เพียงพอ ที่พบได้บ่อยคือ คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ เช่น มังสวิรัติ, ผู้ที่กินเนื้อสัตว์น้อย และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ร่างกายสูญเสียธาตุสังกะสีมากผิดปกติหรือดูดซึมธาตุสังกะสีได้น้อย เช่น ผู้ที่ลำไส้ดูดซึมธาตุสังกะสีได้น้อยจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ ของลำไส้ (อย่างโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือภาวะท้องเสียเรื้อรัง), ผู้มีโรคไตเรื้อรัง (ไตขับธาตุสังกะสีออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น), ผู้ที่กินยาที่มีผลเพิ่มการขับธาตุสังกะสีออกจากร่างกาย (เช่น ยาขับปัสสาวะ/ยาขับน้ำในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือในภาวะหัวใจล้มเหลว), ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง (แอลกอฮอล์ส่งผลให้มีการปัสสาวะ ธาตุนี้จึงถูกขับออกมากขึ้นตามไปด้วย)
- ผู้ที่ร่างกายมีภาวะต้องการธาตุสังกะสีมากกว่าปกติ หรืออยู่ในภาวะที่ร่างกายกำลังมีการเจริญเติบโต เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ทารกในครรภ์ ในเด็ก ในวัยรุ่น
ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุสังกะสี
โรคหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตบางอย่างอาจทำให้ร่างกายขาดธาตุสังกะสีได้โดยไม่รู้ตัว
- ผู้ที่มีภาวะสารขาดอาหาร เช่น กินอาหารไม่มีประโยชน์เป็นประจำ หรือจากภาวะทางเศรษฐกิจ หรือขาดคนดูแล เช่น ในเด็กเล็ก หรือในผู้สูงอายุ
- การทานเจหรือมังสวิรัติ เพราะธาตุสังกะสีส่วนใหญ่มักพบในโปรตีนจากสัตว์ และมีน้อยในผักและผลไม้
- หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายมีความต้องการใช้ธาตุสังกะสีสูงขึ้น รวมถึงเด็กทารกที่ยังดื่มนมแม่อยู่ก็อาจมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
- ทารกอายุมากกว่า 6 เดือนไป ที่ยังกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้อาหารเสริมที่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายเด็กต้องการธาตุสังกะสีเพิ่มขึ้นในการเจริญเติบโต
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุราเรื้อรัง เพราะแอลกอฮอล์จะลดการดูดซึมธาตุสังกะสีในลำไส้ และทำให้ไตขับธาตุสังกะสีออกทางปัสสาวะมากขึ้น รวมทั้งคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง มักมีภาวะขาดสารอาหารร่วมด้วยเสมอ
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังของตับ ไต และผู้ป่วยมะเร็ง เพราะโรคเหล่านี้มักเป็นสาเหตุของการขาดสารอาหาร
- ผู้ป่วยโรคเลือดชนิดที่เกิดจากพันธุกรรม ที่เรียกว่า “โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว” (Sickle cell disease) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง และส่งผลให้ร่างกายมีความต้องการใช้ธาตุสังกะสีมากขึ้น
- ผู้มีโรคทางพันธุกรรมที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุสังกะสีได้ (พบได้น้อยมาก) เรียกว่า โรค Acrodermatitis enteropathica โดยมีอาการสำคัญคือ ท้องเสียเรื้อรัง ผมร่วง และมีผื่นผิวหนังในบริเวณรูเปิดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น รอบช่องปาก รอบจมูก รอบทวารหนัก รวมทั้งที่หนังศีรษะ มือ และเท้า
เมื่อร่างกายขาดธาตุสังกะสี
สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่สำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ ดังนั้น ในคนบางกลุ่มจึงอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะขาดซิงค์หรือธาตุสังกะสี (Zinc deficiency) ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มียีนผิดปกติ ทารกที่ดื่มนมจากแม่ที่ได้รับธาตุสังกะสีไม่พอ ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท คนเหล่านี้มักจะเกิดภาวะขาดสังกะสีได้
โดยอาการจากภาวะขาดธาตุสังกะสีนั้นเป็นอาการไม่จำเพาะ มีอาการคล้ายคลึงกับอาการจากการขาดสารอาหารทั่ว ๆ ไป หรืออาการจากโรคต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อาการที่พบได้บ่อยนั้นมีดังนี้
- มีผื่นผิวหนังขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ผิวแห้ง
- แผลหายช้า
- อาจมีสิวมากผิดปกติ
- ผมร่วง ผมบางลง
- เล็บเจริญไม่เต็มที่ มีลักษณะฝ่อลีบหรือเป็นจุดขาว ๆ
- ท้องเสียเรื้อรัง
- ลิ้นอักเสบ
- คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรือความอยากอาหารลดลง
- ต่อมรับรสทำงานผิดปกติ หรือการได้กลิ่นผิดปกติ
- สายตาเห็นภาพไม่ชัดเจน
- อารมณ์แปรปรวน สติปัญญาไม่สมบูรณ์ หรือมีปัญหาด้านความจำ
- ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย ป่วยบ่อย (โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ/โรคปอดบวมในเด็ก)
- เกิดปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะในเพศชาย อาจมีปัญหาในการแข็งตัวของอวัยวะหรือนกเขาไม่ขัน และอัณฑะเจริญไม่เต็มที่ (Hypogonadism)
- เติบโตช้า หรือเข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้า (การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกายผิดปกติ)
- ในทารกในครรภ์และเด็กที่ขาดธาตุสังกะสีจะเจริญเติบโตช้าและภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงการเกิดแผลในปาก (Aphthous ulcers)
แหล่งอาหารของธาตุสังกะสี
เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ Zinc ขึ้นเองได้ เราจึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร โดยอาหารที่มีธาตุสังกะสีมาก ได้แก่
- กลุ่มผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น หอย หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยกาบ และหอยอื่น ๆ, เนื้อสัตว์ต่าง ๆ (เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อแกะ), สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง (ปู กุ้ง), ปลาบางชนิด (ปลาลิ้นหมา ปลาซาดีน ปลาแซลมอน), นมสด โยเกิร์ต เนย ชีส ไข่
- กลุ่มพืชผัก เช่น ข้าวกล้อง เห็ด ผักคะน้า ผักเคล หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโอ๊ต ควินัว ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วลูกไก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม ข้าวโอ๊ต ควินัว ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดพืชชนิดต่าง ๆ
Zinc นั้นพบได้น้อยในปลา ผัก และผลไม้ แต่โชคดีที่อาหารอย่างเนื้อสัตว์หลายชนิดและพืชบางชนิดนั้นอุดมไปด้วยธาตุสังกะสี จึงทำให้ง่ายต่อบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ประโยชน์ของธาตุสังกะสี
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชี้ว่าธาตุสังกะสีหรือซิงค์มีประโยชน์หลายอย่างมากกว่าที่เราคิด แต่การได้รับมากเกินไปก็อาจเป็นพิษได้เช่นกัน ในบทความนี้จึงได้นำประโยชน์ของธาตุสังกะสีตามงานวิจัย ผลข้างเคียงและความปลอดภัย วิธีการรับประทาน รวมถึงข้อควรทราบต่าง ๆ มาฝากกันครับ
- ป้องกัน/รักษาภาวะขาดธาตุสังกะสี (Zinc deficiency) แม้โอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อย แต่ในคนบางกลุ่มก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ดังที่กล่าวไปแล้ว
- ใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย ร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้แร่ธาตุสังกะสี เพื่อใช้ในกระบวนการทำงานหลายอย่างในร่างกาย เช่น การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกาย ปฏิกิริยาของเอนไซม์ การสังเคราะห์โปรตีน การสังเคราะห์ DNA การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การฟื้นฟูบาดแผล การแสดงออกของยีน (Gene expression) เป็นต้น นอกจากนี้แร่สังกะสีนี้ยังมีความจำเป็นต่อการทำงานของเอนไซม์กว่า 300 ชนิด ที่ช่วยในเรื่องของกระบวนการเผาผลาญ การย่อยอาหาร การทำงานของระบบประสาท ตลอดไปจนถึง การพัฒนาและการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย สังกะสีจึงจัดได้ว่าเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายมากเป็นอันดับ 2 รองจากธาตุเหล็ก
- เสริมสร้างการเจริญเติบโต Zinc เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างยิ่ง เพราะร่างกายเราใช้แร่ธาตุชนิดนี้ในการสังเคราะห์สารต่าง ๆ ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นดีเอ็นเอ (DNA) อาร์เอ็นเอ (RNA) หรือโปรตีน ซึ่งสารโปรตีนเหล่านี้มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ด้วยเหตุนี้ การได้รับ Zinc อย่างเพียงพอจึงช่วยให้ทารกในครรภ์และเด็กสามารถเติบโตตามช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม
- เสริมภูมิคุ้มกัน ซิงค์มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยในการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันและจัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเซลล์ผิดปกติ (หากร่างกายขาดซิงค์ อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ได้ เช่น การติดเชื้อต่าง ๆ เพราะระบบภูมิคุ้มกันมีหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา สารก่อภูมิแพ้ และสารพิษ)
- หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนบอกว่าการได้รับซิงค์ในรูปแบบอาหารเสริมติดต่อกันอาจช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้
- งานวิจัยงานหนึ่งชี้ว่า Zinc อาจช่วยลดความรุนแรงและลดระยะเวลาการป่วยจากไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคหวัด และช่วยต้านการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกที่เกิดจากไวรัส จึงทำให้อาการของโรคหวัดทุเลาลง
- งานวิจัยหลายชิ้นยังให้คำแนะนำว่า ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ควรบริโภคอาหารที่มีธาตุสังกะสีมากขึ้น เพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคปอดอักเสบ เป็นต้น
- ต้านการอักเสบ การอักเสบเกิดได้จากหลายปัจจัยและมักเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพมากมาย โดยหนึ่งในนั้นมักเกิดจากภาวะขาดสมดุลระหว่างสารอนุมูลอิสระ (Free Radicals) และสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีสารอนุมูลอิสระมากเกินไป (ภาวะนี้ถูกกระตุ้นให้รุนแรงขึ้นจากปัจจัยเรื่องของความเครียด อายุที่มากขึ้น มลภาวะต่าง ๆ บุหรี่ แอลกอฮอล์ และการติดเชื้อ) เมื่อเซลล์อักเสบเรื้อรังก็จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งซิงค์นั้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุลของสารอนุมูลอิสระ ช่วยลดปริมาณของความเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidative stress) และช่วยลดปริมาณของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการอักเสบได้ ดังนั้น การรับประทานซิงค์เป็นประจำจึงอาจช่วยลดการอักเสบเรื้อรังที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายโรคได้
- มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้สูงอายุที่รับประทานซิงค์วันละ 45 มก. มีโอกาสเกิดอาการอักเสบน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก
- ลดอาการหวัด จากการศึกษาพบว่ายาอมธาตุสังกะสีหรือที่รู้จักในชื่อ “ยาอมซิงค์” สามารถลดอาการหวัดได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นยาอมซิงค์ที่ปริมาณธาตุสังกะสีเพียงพอ (เม็ดละ 9-23 มก. ในรูปแบบของ Zinc gluconate หรือ Zinc acetate), ต้องเป็นยาอมแบบที่ละลายช้า (15-30 นาที) และต้องแบ่งอมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 6-10 เม็ด โดยมีการศึกษาที่สำคัญ คือ
- การทดลองทางคลินิกแบบ Double-blind พบว่าการให้ธาตุสังกะสีวันละ 80-92 มก. ในรูปของยาอมซิงค์ (Zinc acetate) ขนาด 9-23 มก. ภายใน 24 ชั่วโมง พบว่าอาการของหวัดหายเร็วขึ้น โดยลดระยะอาการของน้ำมูกไหล 34%, อาการคัดจมูก 37%, จาม 22%, ระคายคอ 33%, เจ็บคอ 18%, เสียงแหบ 43%, ไอ 46% และอาการปวดกล้ามเนื้อลดลง 54% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (แต่ไม่พบความแตกต่างของระยะเวลาของอาการปวดศีรษะหรือมีไข้) [1]
- การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มจำนวน 7 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมที่เป็นโรคหวัดธรรมดารวม 575 คน โดยการให้ยาอมซิงค์ภายใน 2-3 วันแรกหลังจากที่เริ่มเป็นหวัด พบว่าทั้ง Zinc gluconate และ Zinc acetate ต่างมีประสิทธิภาพเท่ากันในการลดระยะเวลาที่เป็นหวัดโดยเฉลี่ยลง 33% หรือประมาณ 2-3 วัน เมื่อเทียบกับยาหลอก (ไม่พบความแตกต่างระหว่างการใช้ธาตุสังกะสีในขนาดสูงและต่ำอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ กลุ่มที่ได้รับธาตุสังกะสีวันละ 80-92 มก. พบว่าระยะเวลาการเป็นหวัดลดลงโดยเฉลี่ย 33% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับวันละ 192-207 มก. ระยะเวลาที่เป็นหวัดลดลง 35%) [2]
- การศึกษาในประเทศฟินแลนด์ในกลุ่มชายและหญิงจำนวน 87 ราย (อายุเฉลี่ย 49 ปี) พบว่าการใช้ยาอมซิงค์ (13 mg จาก Zinc acetate) แบบละลายในปากวันละ 5-6 ครั้ง ในช่วง 5 วันแรกของการเป็นหวัด ไม่ได้ทำให้อาการหวัดสั้นลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งผู้จัยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเกิดจากการที่ผู้เข้าร่วมการทดลองส่วนใหญ่ใช้ยาเพียง 5 เม็ดต่อวัน (แทนที่จะเป็น 6 เม็ดต่อวัน) ที่ให้ธาตุสังกะสีรวมต่อวันเพียง 65 มก. ซึ่งเป็นขนาดที่ต่ำกว่าการศึกษาอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น และยาอมซิงค์นั้นมีปริมาณธาตุสังกะสีที่น้อยกว่าและละลายได้เร็วกว่าเพียง 8 นาที (แทนที่จะเป็น 15-30 นาที) ทำให้เวลาโดยรวมในการละลายของธาตุสังกะสีอยู่ในปากและลำคอน้อยลง [3]
- บางข้อมูลระบุว่าการให้ธาตุสังกะสีในรูปแบบไซรัปหรือน้ำเชื่อมทางปากและกลืนเข้าไปอาจช่วยป้องกันและรักษาโรคไข้หวัด
- โควิด-19 แม้หลักฐานที่สนับสนุนการใช้ธาตุสังกะสีสำหรับ COVID-19 จะขัดแย้งกัน แต่การมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดที่เพียงพอยังมีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้น การเสริมธาตุสังกะสีในขนาดที่เหมาะสมทุกวันในผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะขาดธาตุสังกะสี เช่น 20 มก. ก็จะช่วยปรับปรุงการทำงานของภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้ ด้วยเหตุนี้ แพทย์บางท่านจึงได้แนะนำให้เสริมธาตุสังกะสีเพื่อป้องกันหรือรักษาอาการ COVID-19 หรือการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยมีการศึกษาสำคัญที่เกี่ยวข้องดังนี้
- การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า ธาตุสังกะสีสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโคโรนาในเซลล์ [4]
- การศึกษาในสเปนในกลุ่มผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 249 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่าผู้ที่มีระดับธาตุสังกะสีในเลือดต่ำมาก (น้อยกว่า 50 mcg/dL) มีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่มีระดับธาตุสังกะสีในเลือดสูงกว่า 50 mcg/dL (อัตราการเสียชีวิต คือ 21% เทียบกับ 5% ตามลำดับ) [5]
- การศึกษาขนาดเล็กในผู้ป่วย COVID-19 ที่แสดงอาการ 4 คน แต่ไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยให้รับประทานเม็ดอมสังกะสี (เม็ดอมซิงค์) 1 เม็ดทุก 2-4 ชั่วโมง และปล่อยให้ละลายบนลิ้นเป็นเวลา 20-30 นาที (ไม่เกินวันละ 200 มก.) แล้วพบว่าแต่ละคนมีอาการดีขึ้นอย่างมากหลังจากผ่านไป 1 วัน (ผู้ป่วย 2 คน กิน Zinc citrate (Zinc 23 mg), 1 คน กิน Zinc citrate/Zinc gluconate (Zinc 23 mg) และอีก 1 คนกิน Zinc acetate (Zinc 15 mg)) [6]
- การศึกษาในผู้ใหญ่ 214 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 พบว่าการรับประทานธาตุสังกะสี (Zinc gluconate) ก่อนนอนวันละ 50 มก., ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาของอาการโควิดอย่างมีนัยสำคัญ [7]
- การมองเห็น การศึกษาพบว่าการเสริมธาตุสังกะสีวันละ 69.6 มก. เพียงอย่างเดียว หรือในขนาดที่สูงกว่านี้ หรือในขนาดที่ต่ำกว่านี้ (วันละ 21.8 มก.) ร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินเอ (เบต้าแคโรทีน), วิตามินซี และวิตามินอี สามารถช่วยชะลอการลุกลามของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุระยะรุนแรง (Age-Related Macular Degeneration : AMD) ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นจากโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าหากได้รับร่วมกับ Lutein, Zeaxanthin, Vitamin C, Vitamin E และ Copper (ตามสูตร AREDS2) [8]
- การนอนหลับที่ดี ธาตุสังกะสีมีส่วนช่วยควบคุมการนอนหลับผ่านการส่งกระแสประสาทในสมอง และระดับธาตุสังกะสีในเลือดที่สูงมีความสัมพันธ์กับการนอนหลับที่ดีขึ้น โดยการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับที่ใช้ธาตุสังกะสีร่วมกับสารอื่น ๆ (เช่น เมลาโทนิน และแร่ธาตุอื่น ๆ) แสดงให้เห็นว่าช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น (แต่ไม่มีการศึกษาใดที่มีการใช้ธาตุสังกะสีเพียงอย่างเดียว) โดยหลักฐานที่น่าสนใจที่สุด คือ การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าการกินหอยนางรมแปซิฟิก 50 กรัม (ให้ธาตุสังกะสี 15 มก.) ทุกวัน สามารถช่วยลดเวลาที่จะหลับลง 5 นาที (ง่วงและหลับเร็วขึ้น) และเพิ่มเวลานอนหลับในช่วงการหลับธรรมดา (non-REM sleep) [9] อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าการเสริมธาตุสังกะสีจะช่วยในเรื่องการนอนหลับหรือไม่ รวมถึงปริมาณที่เหมาะสมในการใช้
- ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย ธาตุสังกะสีจำเป็นต่อการผลิตสเปิร์ม มีการศึกษาขนาดเล็กหลายชิ้นในต่างประเทศ เช่น เนเธอแลนด์และอิหร่านที่แนะนำว่าการเสริมธาตุสังกะสีและกรดโฟลิก อาจช่วยเพิ่มจำนวนและเพิ่มคุณภาพของสเปิร์มในผู้ชายที่มีสุขภาพดีและผู้ที่มีปัญหาเรื่องภาวะการเจริญพันธุ์ได้ แม้ว่าร่างกายจะไม่ได้ขาดสารเหล่านี้ก็ตาม [10],[11] อย่างไรก็ตาม การศึกษาขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกากับผู้ชายจำนวน 2,370 คนที่ต้องการการรักษาภาวะมีบุตรยาก (80% ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะมีบุตรยาก) พบว่าการเสริมธาตุสังกะสี 30 มก. และกรดโฟลิก 5 มก. ทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน ไม่ได้ช่วยเพิ่มจำนวนสเปิร์มหรือเพิ่มคุณภาพของน้ำเชื้อหรือเพิ่มอัตราการมีบุตรอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [12]
- โรคเบาหวาน การเสริมธาตุสังกะสีช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting blood sugar) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และผลลัพธ์จะดีขึ้นเมื่อได้รับในขนาดต่ำ (ต่ำกว่าวันละ 25 มก.) มากกว่าการใช้ขนาดสูง (วันละ 25-75 มก.) เพราะการใช้ในขนาดต่ำนั้นลดระดับน้ำตาลได้ 17.3 mg/dL ในขณะที่การใช้ในขนาดสูงลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เพียง 5.27 mg/dL นอกจากนี้ ยังพบว่าภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ก็ดีขึ้นด้วย โดยกลุ่มที่ได้รับในขนาดต่ำดีมากกว่ากลุ่มผู้ที่ได้รับในขนาดสูง [13]
- ลดคอเลสเตอรอล จากการศึกษาเดียวกันในข้อที่แล้วยังพบว่า การได้รับธาตุสังกะสีในปริมาณต่ำ (ต่ำกว่าวันละ 25 มก.) เป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 12 สัปดาห์ สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์, ระดับคอเลสเตอรอลรวม และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ แต่ไม่พบว่าช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม [13]
- โรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder : ADHD) การศึกษาพบว่าเด็กจำนวนมากที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดต่ำ และการเสริมธาตุเหล็ก 15 มก. ช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงขนาดสังกะสีที่ใช้และประสิทธิภาพของมัน [14]
- โรคคลั่งผอม หรือ โรคเบื่ออาหารอย่างรุนแรง (Anorexia nervosa) พบว่าการขาดธาตุสังกะสีอาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและสัมพันธ์กับการเกิดโรคคลั่งผอม ซึ่งการเสริมธาตุสังกะสีสามารถช่วยให้น้ำหนักตัว (BMI) ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ (เข้าใจว่าเกิดจากการที่ธาตุสังกะสีช่วยกระตุ้นการรับรู้รส กลิ่น และความรู้สึกอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น) โดยผู้วิจัยแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ทุกรายควรเสริมธาตุสังกะสีวันละ 14 มก. เป็นเวลา 2 เดือน [15],[16]
- สอดคล้องกับอีกการศึกษาในผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจำนวน 13 ราย (อายุ 14-18 ปี) พบว่ากลุ่มที่ได้รับการเสริมธาตุสังกะสีวันละ 50 มก. เป็นเวลา 6 เดือน มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสูงเพิ่มขึ้น และมีการรับรสที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (ที่น่าสนใจคือกลุ่มที่ได้รับธาตุสังกะสีมีระดับอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลลดลงอย่างมาก) [17]
- โรควิลสัน หรือ ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson’s Disease) ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดจากตับไม่สามารถกำจัดแร่ธาตุทองแดงส่วนเกินออกไปได้ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ เป็นโรคตับแข็ง หรือเกิดปัญหาด้านระบบประสาทและความผิดปกติต่อดวงตา โดยจากการค้นคว้าพบว่า ธาตุสังกะสีช่วยลดระดับธาตุทองแดงได้ โดยป้องกันการดูดซึมแร่ธาตุทองแดงจากอาหารที่รับประทาน สังกะสีจึงมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้
- โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle-cell disease : SCD) เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดธาตุสังกะสี การเสริมธาตุสังกะสีจึงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ [18]
- เพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) จากการศึกษาพบว่าการเสริมธาตุสังกะสีอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านซึมเศร้าและช่วยลดอาการซึมเศร้าในผู้ที่ได้รับยาต้านซึมเศร้าได้ และการขาดธาตุสังกะสีจะทำให้ประสิทธิภาพของยาต้านซึมเศร้าลดลง [19],[20]
- รักษาโรค Acrodermatitis enteropathica ซึ่งเป็นโรคหายากมากที่มีสาเหตุมาจากร่างกายการดูดซึมธาตุสังกะสีได้ไม่ดี มักพบในทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ ทำให้ทารกมีอาการบกพร่องหลายอย่าง แต่การศึกษาพบว่า เมื่อรักษาด้วยการให้รับประทานธาตุสังกะสี (2-3 มก./กก./วัน) สามารถช่วยรักษาอาการของโรคทั้งหมดได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับธาตุสังกะสีต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ [21]
- กลิ่นตัว (Bromhidrosis) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปโดยทำให้กลิ่นตัวกลิ่นเหงื่อเหม็น ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียชนิด Corynebacterium spp แฃะเนื่องจากธาตุสังกะสีมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ครีมทา Zinc sulphate จึงมักถูกนำมาใช้และพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีในการกำจัดกลิ่นรักแร้และกลิ่นเท้า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการใช้สารละลาย 15% Zinc sulfate solution เพื่อรักษากลิ่นเท้า แล้วพบว่าช่วยรักษากลิ่นเท่าได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (มีประสิทธิภาพดีทั้งการรักษาและการป้องกัน) [22],[23]
- เกลื้อน (Pityriasis versicolor) โรคที่เกิดจากเชื้อราที่พบได้ทั่วไป และ Zinc pyrithione 1% เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้รักษาเกลื้อนได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและออกฤทธิ์โดยตรงต่อเชื้อราที่เป็นสาเหตุ [21] นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาการใช้ยาทา 15% Zinc sulphate เพื่อรักษาเกลื้อนจนหายดี หลังจากทำการรักษาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในขณะที่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [24]
- หูด (Warts) มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ดีของธาตุสังกะสีในการรักษาหูดโดยไม่มีผลข้างเคียง ไม่ว่าจะทั้งแบบยาทาและแบบรับประทาน เช่น การใช้ 10% Zinc sulphate solution ทาวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วพบว่าช่วยกำจัดหูดได้ราว 80% [25] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่ใช้ยาทา 20% Zinc oxide แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดหูดมากกว่ากรดซาลิไซลิกและกรดแลคติก [26] และอีกการศึกษาเป็นการใช้ Zinc sulphate ในรูปแบบรับประทาน (ขนาด 10 มก./กก./วัน) เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เป็นหูดแบบดื้อต่อการรักษาทุกรูปแบบ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วย 61% หายเป็นปกติภายใน 1 เดือน และ 87% หลังการรักษาครบ 2 เดือน (แต่ผู้ป่วย 13.3% ไม่ตอบสนองต่อการรักษา) [27]
- โรคเรื้อน (Leprosy) อีกโรคติดเชื้อทางผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อ M.leprae แพทย์มักแนะนำให้ใช้ธาตุสังกะสีในรูปแบบรับประทานเป็นหนึ่งในการรักษาเสริม เนื่องจากมันมรคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกัน [28] และมีการศึกษาพบว่าการรับประทานธาตุสังกะสีเสริมสามารถช่วยลดการใช้สเตียรอยด์ ช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรค และช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น [29],[30]
- โรคผิวหนังจากเชื้อรา (Dermatophytosis) มีการศึกษาการใช้ 20% Zinc undecylenate ในรูปแบบผงทาเพื่อรักษาโรคนี้เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [31]
- เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes) โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HSV ชนิดที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำสูง จากการศึกษาเราพบว่าการใช้เจล Zinc acetate มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่เชื้อของ HSV ชนิดที่ 2 และการติดเชื้อ HIV ได้ [32] สอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่าการใช้ยาทา Zinc sulphate 1%, 2% และ 4% เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่ายิ่งความเข้มข้นสูงยิ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ [33]
- โรคลิชมาเนีย (Cutaneous leishmaniasis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Leishmania spp. ที่ติดต่อด้วยการกัดของแมลงพาหะชนิดหนึ่ง แล้วทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังในลักษณะเป็นตุ่มนูนพองใสและแดง และพบว่าธาตุสังกะสีในรูปแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าที่บริเวณที่เป็นรอยโรค (Zinc Sulfate 2%) มีประสิทธิภาพที่ดีในการจัดการกับโรคนี้ [34],[35],[36]
- ฟื้นฟูรักษาบาดแผล (Ulcers/Wounds) ธาตุสังกะสีมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยเพิ่มการสร้างเซลล์ใหม่ (เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์คอลลาเจน เมื่อเกิดบาดแผล ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจนมากขึ้น) ซึ่งในผู้ที่ร่างกายขาดธาตุสังกะสี บาดแผลมักจะหายช้าลงและมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อมากขึ้น [37]
- มีการศึกษาการใช้ Zinc oxide แบบเฉพาะที่เพื่อรักษาแผลเรื้อรังที่ขา (Arterial/Venous ulcers) ในผู้ป่วยสูงอายุจำนวน 37 ราย โดยได้รับการรักษาด้วยการใช้ผ้าก๊อซประคบที่มี Zinc oxide (400 μg ZnO/cm2) เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ แล้วพบว่ากลุ่มที่มีสังกะสีมีขนาดแผลและการหลุดร่อนของแผลดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (83% ต่อ 42%) [38]
- การศึกษาทดลองใช้ Zinc รักษาแผลเบาหวานในผู้ป่วย 60 คน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับประทาน Zinc แผลเบาหวานมีขนาดเล็กลงเมื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ผู้วิจัยจึงเชื่อว่า Zinc อาจช่วยเร่งการสมานแผลได้ [66]
- อย่างไรก็ตาม ก็มีการศึกษาที่พบว่าการเสริมธาตุสังกะสีในรูปแบบรับประทาน (Zinc sulphate) นั้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแผลเรื้อรังที่ขาแต่อย่างใด [39]
- แม้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะระบุว่า Zinc สามารถช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูบาดแผลได้ แต่ปริมาณและรูปแบบการใช้นั้นอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะของบาดแผล ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมารและรูปแบบการใช้ที่เหมาะสมก่อนเสมอ
- เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของคอลลาเจน (Collagen) จากงานวิจัย !
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) เป็นกลุ่มโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยและมีหลายชนิด ด้วยธาตุสังกะสีมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ธาตุสังกะสีจึงถูกนำมาใช้เพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของยาทา เช่น 2.5% Zinc sulphate, Zinc oxide แม้ว่าในภาพรวมแล้วจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาอื่น ๆ เช่น ยาทาสเตียรอยด์ แต่สังกะสีก็นับว่าเป็นสารที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคและบรรเทาอาการคันได้ [40]
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนัง การศึกษาพบว่าการใช้ครีม 0.25% Zinc pyrithione ทาวันละ 2 ครั้ง ได้ผลดีกับการรักษาโรคนี้ [41] และยังพบว่าการรับประทาน Zinc sulphate ก็มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ด้วย ซึ่งเป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินบางราย [42]
- โรคโรซาเซีย (Rosacea) หรือรู้จักในชื่อ “โรคสิวหน้าแดง” เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการแดงที่หน้า และมักทำให้เกิดรอยแผลแดง หรือแม้กระทั่งตุ่มแดง/ตุ่มหนอง การรักษาจะมีอยู่ด้วยกันหลายอย่างตั้งแต่การใช้ยาปฏิชีวนะ ยากดภูมิคุ้มกัน เรตินอยด์ การทำเลเซอร์ และยังพบว่าการรับประทาน Zinc sulphate ก็มีประโยชน์ในการจัดการกับโรคนี้ด้วย โดยพบว่าการเสริม Zinc sulphate 100 mg วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่ารอยโรคดูลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่มีผลข้างเคียง (เกิดจากฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระของธาตุสังกะสี) [43]
- ภาวะต่อมเหงื่ออักเสบ (Hidradenitis suppurativa) หรือบางครั้งเรียกว่า “โรคสิวอักเสบเรื้อรังที่รักแร้” การศึกษาพบว่าการรักษาด้วยการรับประทาน Zinc gluconate 90 mg (เทียบเท่าซิงค์ 15 มก.) ทุกวัน ผู้ป่วยมีมีอาการทุเลาลง ธาตุสังกะสีจึงอาจเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคนี้นอกเหนือจากการใช้ยาปฏิชีวนะ, ยา Isotretinoin, ยาต้านแอนโดรเจน และการผ่าตัด [44]
- โรคเบเช็ท (Behcet’s disease) เป็นความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกายหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะอวัยวะอย่างเยื่อบุในช่องปาก ตา รวมถึงผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ จากการศึกษาพบว่าการให้ผู้ป่วยรับประทาน Zinc sulphate ขนาด 100 มก. วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยรักษาโรคนี้ได้โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ [45]
- โรคแผลร้อนใน (Aphthosis) การศึกษาพบว่าการให้ผู้ป่วยรับประทาน Zinc sulphate ขนาด 100 มก. วันละ 3 ครั้ง สามารถช่วยรักษาโรคนี้และป้องกันการเกิดซ้ำของโรคนี้ได้ [46]
- โรคผิวหนัง Necrolytic acral erythema (NAE) มีการสังเกตพบว่าผู้ NAE มักมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดต่ำ และการเสริม Zinc sulfate วันละ 440 มก. แม้ในผู้ป่วยที่มีระดับธาตุสังกะสีในเลือดปกติก็ยังช่วยรักษาหรือช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ [47]
- โรคผมร่วง (Alopecias) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในผู้ชาย การศึกษาพบว่าธาตุสังกะสีมีฤทธิ์ต้านแอนโดรเจนและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5α-reductase ซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมน DHT (ตัวการทำให้ผมร่วง) ที่หนังศีรษะลดลง จึงมีผลลดการหลุดร่วงของเส้นผมและมีส่วนช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมได้ (แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยา Minoxidil และ Finasteride และรูปแบบการผ่าตัด) โดยมีการศึกษาพบว่าการเสริม Zinc sulfate วันละ 5 มก./กก. เป็นระยะเวลา 6 เดือน และสังเกตเห็นการตอบสนองที่ดีขึ้นผู้ป่วยที่มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [48]
- โรค Erosive pustular dermatosis ของหนังศีรษะ เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อยนัก ทำให้เกิดรอยโรคลักษณะตุ่มหนอง เกิดการหลุดลอกของหนังศีรษะ และนำไปสู่อาการผมร่วงเป็นแผลในที่สุด การรักษาโรคนี้มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่จากการศึกษาเราพบว่า Zinc sulfate แบบรับประทาน เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ [49]
- โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ จากการศึกษาพบว่า แชมพู Zinc pyrithione 1% เป็นหนึ่งในการรักษาที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลกับโรคเซ็บเดิร์ม (ส่วนใหญ่มักใช้ผสมกับ Ketoconazole ในแชมพูขจัดรังแคหลายยี่ห้อ เพราะจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้สารใดสารหนึ่งเพียงอย่างเดียว) เพราะสังกะสีนั้นมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเชื้อและมีฤทธิ์ต้านการเพิ่มจำนวนของ Pityrosporum ovale ที่เป็นสาเหตุของโรค นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดซ้ำของขุย อาการคัน และการระคายเคืองที่เกี่ยวข้องกับรังแค [50] อย่างไรก็ตาม การใช้แบบเดี่ยว ๆ พบว่า แชมพู Ketoconazole 2% มีประสิทธิภาพเหนือกว่าแชมพู Zinc pyrithione 1% ในการรักษาโรคเซ็บเดิร์มและผู้ที่มีรังแครุนแรง [51]
- ภาวะไลเคนอยด์ในช่องปาก (Oral lichen planus) เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุที่ส่งผลต่อเยื่อเมือกผิวภายในช่องปาก แม้จะมีวิธีการรักษาหลายอย่างสำหรับโรคนี้ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าวิธีการรักษาใดจะได้ผลดีที่สุด แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากสังกะสี 0.2% ผสมฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) กับน้ำยาบ้วนปากฟลูโอซิโนโลนที่ไม่มีสังกะสี เราพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวด การระคายเคือง และขนาดแผลลดลงทั้งสองกลุ่ม แต่พบว่ากลุ่มที่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมสังกะสีมีขนาดแผลลดลงมากกว่าอีกกลุ่มที่ใช้ฟลูโอซิโนโลนเพียงอย่างเดียว [52]
- ภาวะก่อนมะเร็งและมะเร็งผิวหนัง (Premalignant / Malignant dermatoses) ด้วยธาตุสังกะสีความเข้มข้นสูงมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์และกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อได้ สังกะสีจึงถูกนำมาใช้ในภาวะก่อนมะเร็งและมะเร็งผิวหนัง เช่น Xeroderma pigmentosa, Actinic keratosis และ Basal cell carcinoma ตัวอย่าง การศึกษาผลของการใช้ยาทา Zinc sulphate 20% ในผู้ป่วย eroderma pigmentosa ที่พบว่ารอยโรคของผู้ป่วยดีขึ้น โดยที่ไม่มีการกำเริบของรอยโรคเก่าหรือมีการพัฒนาของเนื้อร้ายใหม่ [53] การศึกษาการใช้สารละลาย Zinc gluconate 2% พบว่ารอยโรคจาก Basal cell carcinoma ของผู้ป่วยดีขึ้นโดยไม่มีผลข้างเคียง [54]
- ความผิดปกติของเม็ดสี (Pigmentary disorders) มีการใช้สังกะสีเฉพาะที่กับโรคด่างขาวและฝ้า เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคด่างขาวมักมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดที่ต่ำ จึงมีการสันนิษฐานว่าสังกะสีมีบทบาทในการจัดการกับโรคนี้ [55] โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียวกับสเตียรอยด์ที่ผสม Zinc sulphate (รูปแบบยาทาน) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคด่างขาว 15 ราย แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้รับสเตียรอยด์ผสม Zinc sulphate เกิดผลลัพธ์หรือมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่า 24.7% ต่อ 21.43% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียว [56] ส่วนในผู้ที่เป็นฝ้ามีการทดลองวิธีการรักษาฝ้าหลายวิธีตั้งแต่ไฮโดรควิโนนไปจนถึงการทำเลเซอร์ และยาทา Zinc sulphate 10% ก็เป็นหนึ่งในการรักษาที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาฝ้าที่ได้ผลและปลอดภัย [57] แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนักเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ อย่างไรก็ตามก็มีการใช้ Zinc oxide เป็นส่วนประกอบในครีมกันแดดที่ใช้รักษาฝ้า [58]
- แผลเป็นและคีรอยด์ (Scars and Keloids) ประโยชน์ของการใช้สังกะสีในรูปแบบทาเพื่อรักษาคีรอยด์เป็นผลมาจากฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Lysyl oxidase และกระตุ้นคอลลาเจน โดยมีรายงานการตอบสนองที่ดีทางคลินิกของผู้ป่วยจำนวน 23 รายจาก 41 รายที่เป็นคีรอยด์หลังรักษาด้วยการใช้ซิงค์เทป (Zinc tape) เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ขนาดรอยนูนของแผลเป็นของผู้ป่วยลดลงทุกราย และยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการคันลดลงหรือเกือบครึ่งหนึ่งที่อาการคันหายไปโดยสิ้นเชิง) [59] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบอัตราการกลับมาซ้ำต่ำมากของคียรอยด์ในผู้ป่วย 34% ที่ใช้ซิงค์เทป [60]
- ต่อต้านริ้วรอย (Antiageing) การศึกษาการใช้ครีมที่มีส่วนประกอบของทองและซิงค์มาโลเนต (Copper–Zinc malonate-containing cream 0.1%) ในผู้ป่วยหญิงที่ผิวมีความเสื่อมจากการถูกแสงยูวีประจำและเป็นระยะเวลานาน (Photoaging) พบว่าหลังใช้ครีมดังกล่าวทาวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ สามารถช่วยเพิ่มการสังเคราะห์อีลาสตินในผิวหนัง ซึ่งนำไปสู่การลดเลือนของริ้วรอยได้ [61],[62]
- อาการคัน (Pruritus) โลชั่นคาลาไมน์ที่ผสม Zinc oxide หรือ Zinc carbonate มักถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการคัน เนื่องจากสังกะสีมีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลาย และยับยั้ง Mast cell จึงมีผลช่วยลดการหลั่งของฮีสตามีน ซึ่งเป็นตัวกลางในการตอบสนองต่อการอักเสบและตัวกระตุ้นให้เกิดอาการคัน ด้วยเหตุนี้ ธาตุสังกะสีจึงเป็นทางเลือกในการรักษาที่มีประโยชน์สำหรับอาการดังกล่าว [21]
- ลดสิว เนื่องจากสิวส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบหรือเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และ Zinc มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ (จึงช่วยลดการอักเสบของสิวและผิวหนัง ลดอาการเจ็บปวดบวมแดงที่เกิดจากสิว) ต้านเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อสิว หรือ P. Acnes) และมีส่วนชวยลดการผลิตน้ำมันบนผิวหนัง (ช่วยลดการสะสมและอุดตันของไขมันบนใบหน้าอันนำไปสู่การเกิดสิว) ซึ่งบางงานวิจัยพบว่าการทายาหรือรับประทานยาที่มีส่วนผสมของ Zinc จะช่วยรักษาหรือลดการเกิดสิวได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ยืนยันถึงสรรพคุณที่แน่ชัดในเรื่องนี้ จึงควรรอผลการศึกษาใหม่ ๆ เพิ่มเติม
- การศึกษาพบว่าในคนที่เป็นสิวมักมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดต่ำกว่าคนที่ไม่เป็นสิวอย่างชัดเจน ดังนั้น การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุสังกะสีจึงอาจช่วยรักษาสิวหรือช่วยให้อาการของสิวที่เป็นอยู่ดีขึ้น [63]
- การศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นสิวอักเสบจำนวน 332 รายที่ได้รับธาตุสังกะสี 30 มก. (ในรูปของ Zinc gluconate) เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาสิวอักเสบ [64] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบว่าการรับประทานธาตุสังกะสี (ในรูปของ Zinc sulfate) มีประสิทธิภาพดีในการรักษาสิวระดับแรงมากกว่าการรักษาสิวเล็กน้อยถึงปานกลาง [21]
- การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าการรับประทานสังกะสีในรูปของอาหารเสริม (วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน) มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่เป็นสิวเล็กน้อยถึงปานกลาง [65]
- อื่น ๆ เช่น การช่วยให้เซลล์รับรสชาติอาหารและได้กลิ่นต่าง ๆ
ผลข้างเคียงของธาตุสังกะสี
การได้รับซิงค์ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ (Toxicity) ได้ โดยมักเกิดจากการใช้ซิงค์ในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ
- คลื่นไส้อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ตะคริวที่ท้อง
- ท้องเสีย ปวดท้องเรื้อรัง
- ภูมิคุ้มกันต่ำลง
- ปวดศีรษะ
- มีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสูงขึ้น (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
ปริมาณที่ร่างกายต้องการ
การได้รับ Zinc จากการบริโภคอาหารนั้นปลอดภัย แต่หากแพ้อาหารชนิดไหนก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น หรือหากต้องการรับประทานอาหารเสริม Zinc ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเาทอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว อยู่ระหว่างการใช้ยารักษาโรค คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายของเราต้องการ Zinc ต่อวันในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำปริมาณ Zinc ต่อวันโดยแบ่งตามช่วงอายุไว้ดังนี้
- อายุ 6–11 เดือน 2.7 มก./วัน
- อายุ 1–3 ปี 4.4 มก./วัน
- อายุ 4–5 ปี 5.3 มก./วัน
- อายุ 6–8 ปี 6.3 มก./วัน
- อายุ 9–12 ปี หญิง 9.0 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 9.5 มก./วัน
- อายุ 13–15 ปี หญิง 9.8 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 12.5 มก./วัน
- อายุ 16–18 ปี หญิง 9.8 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 12.9 มก./วัน
- อายุ 19–30 ปี หญิง 9.7 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 11.6 มก./วัน
- อายุ 37–60 ปี หญิง 9.2 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 10.9 มก./วัน
- อายุ 61–70 ปี หญิง 8.6 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 10.9 มก./วัน
- อายุ 71 ปีขึ้นไป หญิง 8.6 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 10.3 มก./วัน
- หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับปริมาณ Zinc เพิ่มจากปริมาณปกติ 1.6 มก./วัน
- หญิงให้นมบุตร ควรได้รับ Zinc เพิ่มจากปริมาณปกติ 2.9 มก./วัน
สรุป
การรับประทานอาหารอย่างหลากหลายเป็นประจำ สามารถช่วยเพิ่ม Zinc ให้กับร่างกายได้อย่างเพียงพอ แม้ Zinc จะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง แต่เราก็ไม่ควรซื้อมารับประทานเองเพื่อหวังผลในการรักษาหรือป้องกันโรคใด ๆ หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ (ซิงค์อาจใช้เป็นตัวช่วยเสริมในการรักษาอาการหรือโรคบางอย่างได้ แต่เราจะไม่ใช้ซิงค์เป็นการรักษาหลักหรือใช้แทนที่การรักษาที่ได้รับการยืนยันแล้ว) ดังนั้น หากคุณเจ็บป่วยหรือมีอาการใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอถึงประโยชน์และความจำเป็นในการใช้ หากแพทย์เห็นว่าเราจำเป็นต้องเสริม Zinc จริง ๆ แพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายและแนะนำวิธีการรับประทานอย่างปลอดภัยให้กับเราเอง
สุดท้ายนี้ การได้รับ Zinc เพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถทำให้ร่างกายโดยรวมของเรามีสุขภาพดีได้ เราจึงควรรับปรทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์อย่างแท้จริง
งานวิจัยอ้างอิง
- BMC Family Practice. “The effectiveness of high dose zinc acetate lozenges on various common cold symptoms: a meta-analysis”. (2015)
- JRSM Open. “Zinc lozenges and the common cold: a meta-analysis comparing zinc acetate and zinc gluconate, and the role of zinc dosage”. (2017)
- BMJ Open. “Zinc acetate lozenges for the treatment of the common cold: a randomised controlled trial”. (2020)
- PLOS Pathogens. “Zn(2+) inhibits coronavirus and arterivirus RNA polymerase activity in vitro and zinc ionophores block the replication of these viruses in cell culture”. (2010)
- medRxiv. “Low zinc levels at clinical admission associates with poor outcomes in COVID-19”. (2020)
- International Journal of Infectious Diseases (IJID). “Treatment of SARS-CoV-2 with high dose oral zinc salts: A report on four patients”. (2020)
- JAMA Network Open. “Effect of High-Dose Zinc and Ascorbic Acid Supplementation vs Usual Care on Symptom Length and Reduction Among Ambulatory Patients With SARS-CoV-2 Infection The COVID A to Z Randomized Clinical Trial”. (2021)
- JAMA. “Lutein + zeaxanthin and omega-3 fatty acids for age-related macular degeneration: the Age-Related Eye Disease Study 2 (AREDS2) randomized clinical trial”. (2005)
- International Journal of Molecular Sciences. “Dietary Zinc Acts as a Sleep Modulator”. (2017)
- Fertility and Sterility. “Effects of folic acid and zinc sulfate on male factor subfertility: a double-blind, randomized, placebo-controlled trial”. (2002)
- Journal of Assisted Reproduction and Genetics. “Effects of supplement therapy on sperm parameters, protamine content and acrosomal integrity of varicocelectomized subjects”. (2013)
- JAMA. “Effect of Folic Acid and Zinc Supplementation in Men on Semen Quality and Live Birth Among Couples Undergoing Infertility Treatment: A Randomized Clinical Trial”. (2020)
- Advances in Nutrition. “Effects of Dose and Duration of Zinc Interventions on Risk Factors for Type 2 Diabetes and Cardiovascular Disease: A Systematic Review and Meta-Analysis”. (2020)
- Acta Medica Croatica. “[The role of zinc in the treatment of hyperactivity disorder in children]”. (2009)
- Eating and Weight Disorders. “How does zinc supplementation benefit anorexia nervosa?”. (2006)
- Eating and Weight Disorders. “Zinc supplementation in the treatment of anorexia nervosa”. (2002)
- Journal of Adolescent Health Care. “Zinc deficiency in anorexia nervosa”. (1987)
- Journal of Trace Elements in Medicine and Biology. “Zinc in sickle cell disease: A narrative review”. (2022)
- Nutrients. “Zinc Deficiency Blunts the Effectiveness of Antidepressants in the Olfactory Bulbectomy Model of Depression in Rats”. (2022)
- Nutrition Reviews. “Zinc supplementation combined with antidepressant drugs for treatment of patients with depression: a systematic review and meta-analysis”. (2020)
- Dermatology Research and Practice. “Zinc Therapy in Dermatology: A Review”. (2014)
- Archives of Dermatological Research. “Zinc Sulfate and Axillary Perspiration Odor”. (1977)
- Journal of Cosmetics, Dermatological Sciences and Applications. “Topical 15% Zinc Sulfate Solution Is an Effective Therapy for Feet Odor*”. (2013)
- IRAQI JOURNALOF COMMUNITY MEDICINE. “Treatment of Pityriasis Versicolour with Topical 15% Zinc Sulfate Solution”. (2008)
- Saudi Medical Journal. “Topical zinc sulphate solution for treatment of viral warts.”. (2007)
- International Journal of Dermatology. “Topical zinc oxide vs. salicylic acid–lactic acid combination in the treatment of warts”. (2007)
- British Journal of Dermatology. “Oral zinc sulphate in the treatment of recalcitrant viral warts: randomized placebo-controlled clinical trial”. (2002)
- Clinical and Experimental Immunology. “Inhibition of apoptosis by ionomycin and zinc in peripheral blood mononuclear cells (PBMC) of leprosy patients”. (1999)
- Leprosy in India. “Oral zinc in recurrent Erythema Nodosum Leprosum reaction.”. (1983)
- International Journal of Leprosy and Other Mycobacterial Diseases. “Oral zinc as an adjunct to dapsone in lepromatous leprosy”. (1984)
- International Journal of Dermatology. “Efficacy of Undecylenic Acid–Zinc Undecylenate Powder in Culture Positive Tinea Pedis”. (1980)
- Antimicrobial Agents and Chemotherapy. “Zinc Acetate/Carrageenan Gels Exhibit Potent Activity In Vivo against High-Dose Herpes Simplex Virus 2 Vaginal and Rectal Challenge”. (2012)
- Indian Journal of Sexually Transmitted Diseases and AIDS. “Herpes genitalis – Topical zinc sulfate: An alternative therapeutic and modality”. (2013)
- Journal of the European Academy of Dermatology and Venereology. “The efficacy of ‘0.05% Clobetasol + 2.5% zinc sulphate’ cream vs. ‘0.05% Clobetasol alone’ cream in the treatment of the chronic hand eczema: a double-blind study”. (2008)
- Clinical and Experimental Dermatology. “Oral zinc sulphate in the treatment of acute cutaneous leishmaniasis”. (2001)
- Dermatology. “Comparison of Intralesionally Injected Zinc Sulfate with Meglumine Antimoniate in the Treatment of Acute Cutaneous Leishmaniasis”. (2004)
- Archives of Dermatological Research. “Does Oral Zinc Aid the Healing of Chronic Leg Ulcers? A Systematic Literature Review”. (1998)
- British Journal of Dermatology. “Topical zinc oxide treatment improves arterial and venous leg ulcers”. (1984)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Oral zinc for arterial and venous leg ulcers”. (2014)
- Clinical, Cosmetic and Investigational Dermatology. “Skin-protective effects of a zinc oxide-functionalized textile and its relevance for atopic dermatitiss”. (2013)
- Acta Dermatovenerol Alp Pannonica Adriat. “Treatment of localized psoriasis with a topical formulation of zinc pyrithione”. (2011)
- British Journal of Dermatology. “Psoriatic arthritis treated with oral zinc sulphate”. (1980)
- International Journal of Dermatology. “Oral zinc sulfate in the treatment of rosacea: A double-blind, placebo-controlled study”. (2006)
- Dermatology. “Hidradenitis Suppurativa and Zinc: A New Therapeutic Approach”. (2007)
- The Journal of Dermatology. “Oral zinc sulfate in the treatment of Behcet’s disease: A double blind cross-over study”. (2006)
- Saudi Medical Journal. “The therapeutic and prophylactic role of oral zinc sulfate in management of recurrent aphthous stomatitis (ras) in comparison with dapsone.”. (2008)
- Dermatology Online Journal. “Necrolytic acral erythema”. (2010)
- Journal of Clinical & Experimental Dermatology Research. “Oral Zinc Sulphate in Treatment of Alopecia Areata (Double Blind; CrossOver Study)”. (2012)
- British Journal of Dermatology. “Erosive pustular dermatosis of the scalp successfully treated with oral zinc sulphate”. (1982)
- British Journal of Dermatology. “The effects of a shampoo containing zinc pyrithione on the control of dandruff”. (1985)
- Skin Pharmacology and Physiology. “A Multicenter Randomized Trial of Ketoconazole 2% and Zinc Pyrithione 1% Shampoos in Severe Dandruff and Seborrheic Dermatitis”. (2002)
- Journal of Dental Research Dental Clinics Dental Prospects (JODDD). “Comparison of the Effect of Mouthwashes with and without Zinc and Fluocinolone on the Healing Process of Erosive Oral Lichen Planus”. (2010)
- IPMJ-Iraqi Postgraduate Medical Journal. “Topical Therapy of Xeroderma Pigmentosa with 20% Zinc Sulfate Solution”. (2008)
- Saudi Medical Journal. “New intralesional therapy for basal cell carcinoma by 2% zinc sulphate solution”. (2005)
- Indian Journal of Dermatology. “Hypothesis: zinc can be effective in treatment of vitiligo”. (2011)
- BMC Dermatology. “Original article title: “Comparison of therapeutic efficacy of topical corticosteroid and oral zinc sulfate-topical corticosteroid combination in the treatment of vitiligo patients: a clinical trial””. (2011)
- Dermatologic Surgery. “Topical 10% Zinc Sulfate Solution for Treatment of Melasma”. (2008)
- Dermatologic Surgery. “Is Topical Zinc Effective in the Treatment of Melasma? A Double-Blind Randomized Comparative Study”. (2014)
- Scandinavian Journal of Plastic and Reconstructive Surgery. “Treatment of Keloids and Hypertrophic Scars with Adhesive Zinc Tape”. (1982)
- Egyptian Journal of Surgery. “Topical zinc oxide adhesive tape for keloid management”. (2006)
- Experimental Dermatology. “Extracellular matrix in cutaneous ageing: the effects of 0.1% copper-zinc malonate-containing cream on elastin biosynthesis”. (2009)
- Expert Review of Dermatology. “Effects of 0.1% copper–zinc malonate-containing cream on dermal connective tissues”. (2009)
- Cutaneous and Ocular Toxicology. “Evaluation of serum vitamins A and E and zinc levels according to the severity of acne vulgaris”. (2014)
- Dermatology. “Multicenter randomized comparative double-blind controlled clinical trial of the safety and efficacy of zinc gluconate versus minocycline hydrochloride in the treatment of inflammatory acne vulgaris”. (2001)
- Dermatologic Therapy. “An observational study of methionine-bound zinc with antioxidants for mild to moderate acne vulgariss”. (2010)
- Wound Repair and Regeneration. “The effects of zinc supplementation on wound healing and metabolic status in patients with diabetic foot ulcer: A randomized, double-blind, placebo-controlled trial”. (2017)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2023