14 ประโยชน์ของซีลีเนียม (Selenium) จากงานวิจัย !

ซีลีเนียม (Selenium) กับประโยชน์ทางการแพทย์

ซีลีเนียม

ซีลีเนียม (Selenium หรือ Se) เป็นธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติในดินและพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น อาหารทะเล และเครื่องในสัตว์ ร่างกายไม่สามารถผลิตซีลีเนียมขึ้นเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร ซึ่งคนส่วนใหญ่มักได้รับซีลีเนียมจากอาหารในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานซีลีเนียมในรูปแบบอาหารเสริม

ซีลีเนียมเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับมนุษย์และมีบทบาทหลายอย่าง เช่น การทำงานของต่อมไทรอยด์ การสังเคราะห์ DNA และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม (อ้างอิง 1)

อาหารเสริมซีลีเนียมมักถูกนำมาใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันภาวะขาดซีลีเนียมเป็นหลัก แม้การศึกษาจะพบว่าซีลีเนียมอาจมีประโยชน์ในการป้องกันมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะมีบุตรยาก ภาวะครรภ์เป็นพิษ และโรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ แต่การศึกษายังมีจำกัดและจำเป็นต้องมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม

ประโยชน์ของซีลีเนียม

1. ใช้ป้องกันหรือรักษาภาวะขาดซีลีเนียม (Selenium deficiency) การขาดซีลีเนียมจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับซีลีเนียมต่อวันน้อยกว่า 11 mcg (ไมโครกรัม) (ปริมาณที่แนะนำขั้นต่ำต่อวันคือ 40 mcg) (อ้างอิง 2) โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เพราะมักได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและมีอาการท้องร่วงและจากการดูดซึมที่ผิดปกติ) (3), ผู้ที่ได้รับการฟอกไต (เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหารและการฟอกเลือดจะกำจัดซีลีเนียมบางส่วนออกจากเลือดด้วย) (4), ผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่ขาดซีลีเนียม (บางพื้นที่ของประเทศจีน ทิเบต และไซบีเรียที่มีระดับซีลีเนียมในดินต่ำมาก) (1), ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ (โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีระดับซีลีเนียมในดินต่ำ) (1) อย่างไรก็ตาม การขาดซีลีเนียมนั้นก็พบเกิดได้น้อยมากในประชากรทั่วไปและแม้การขาดซีลีเนียมแบบเดี่ยว ๆ จะไม่ค่อยทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย แต่การขาดเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดภาวะหรือโรคต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออ่อนแรง, ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น, เกิดภาวะมีบุตรยากในเพศชาย, โรค Keshan disease (มีอาการทางหัวใจจากกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม) (5), โรค Kashin-Beck disease (กระดูกและข้ออักเสบ) (6) ฯลฯ ซึ่งการบริโภคซีลีเนียมให้เพียงพอต่อวันสามารถช่วยป้องกันภาวะขาดซีลีเนียมที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้ (7)

2. เสริมภูมิคุ้มกัน การขาดซีลีเนียมอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง มีการศึกษาขนาดเล็กในเยอรมนีที่แสดงให้เห็นว่า ในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 (COVID-19) ประมาณ 39-43% จะมีระดับซีลีเนียมในเลือดต่ำ และการขาดซีลีเนียมยังพบได้บ่อยในผู้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิดเมื่อเทียบกับผู้ที่ติดเชื้อที่ไม่เสียชีวิตประมาณ 64-70% ต่อ 32-39% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าการขาดซีลีเนียมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโควิดหรือเป็นผลมาจากโควิดที่ทำให้ระดับซีลีเนียมต่ำ (8)

3. ป้องกันมะเร็ง เนื่องจากซีลีเนียมมีผลต่อการซ่อมแซม DNA การตายของเซลล์ การทำงานของต่อมไร้ท่อและระบบภูมิคุ้มกัน ตลอดจนมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ซีลีเนียมจึงอาจมีบทบาทในการป้องกันมะเร็ง (1) การศึกษาในครั้งแรกพบอัตราการเกิดมะเร็งที่สูงขึ้นในพื้นที่ที่มีปริมาณซีลีเนียมในพืชต่ำ (9) และในการศึกษาเชิงสังเกตในอีกงานวิจัยหลายเรื่องพบความสัมพันธ์ระหว่างระดับซีลีเนียมที่ต่ำกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก ปอด กระเพาะปัสสาวะ ผิวหนัง หลอดอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร ตัวอย่างในการศึกษาของ Cochrane พบว่าในกลุ่มที่บริโภคซีลีเนียมสูงสุดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลดลง 31%, ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากมะเร็งลดลง 45%, ความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะลดลง 33% และความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายลดลง 22% (10) อย่างไรก็ตาม แม้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางอย่างจะบ่งชี้ว่าการบริโภคซีลีเนียมอาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิดได้ แต่ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้พิจารณาและสรุปว่าหลักฐานในปัจจุบันยังมีจำกัดและยังไม่สามารถสรุปได้ (11) เพราะในบางการศึกษานั้นการเสริมซีลีเนียมกลับให้ผลลัพธ์ที่ขัดแย้งหรือตรงกันข้ามกัน เช่น การศึกษาว่าซีลีเนียมสามารถช่วยป้องกันมะเร็งทางเดินอาหารได้หรือไม่ แต่กลับพบว่าไม่มีผลป้องกันและดูเหมือนจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตโดยรวม (12)

4. โรคหัวใจและหลอดเลือด แม้จะมีบางการศึกษาที่พบว่าอาหารเสริมซีลีเนียมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีอยู่จำกัดและแพทย์ยังไม่แนะนำหรือสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมซีลีเนียมเพื่อป้องกันโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีและได้รับซีลีเนียมจากอาหารเพียงพออยู่แล้ว เพราะยังจำเป็นต้องมีการทดลองทางคลินิกเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์ของซีลีเนียมต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดให้ดียิ่งขึ้นเสียก่อน สำหรับการศึกษาที่เกี่ยวข้องนั้นมีดังนี้

5. การทำงานของระบบประสาทและสมอง โดยปกติแล้วระดับซีลีเนียมในเลือดจะลดลงไปตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองในผู้สูงอายุที่ลดลงจากการศึกษาหนึ่ง (อ้างอิง 29) และระดับซีลีเนียมที่ต่ำกว่าจะมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับประสิทธิภาพที่ลดลงในการทดสอบการประสานงานของระบบประสาทในผู้สูงอายุในอีกการศึกษา (30) ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ก็พบว่าผู้ที่มีระดับซีลีเนียมต่ำจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่การทํางานของสมองจะเสื่อมถอยลง (Cognitive decline) (31, 32)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของวิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินอี, ซิงค์/สังกะสี

6. ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย การศึกษาในผู้ชายจำนวน 65 คนที่มีภาวะมีบุตรยากและมีภาวะ Idiopathic Oligoasthenoteratospermia (ภาวะที่มีจำนวนสเปิร์มน้อย เคลื่อนไหวผิดปกติ และมีรูปร่างผิดปกติ) และในผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากแต่มีสุขภาพดีอีกจำนวน 50 คน (กลุ่มควบคุม) พบว่าการเสริมซีลีเนียมวันละ 200 mcg เป็นเวลา 6 เดือน สามารถช่วยเพิ่มความหนาแน่นของสเปิร์ม เพิ่มการเคลื่อนไหวของสเปิร์ม และเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวมของน้ำเชื้อ เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐาน ดังนั้น ซีลีเนียมจึงอาจใช้เป็นวิธีการรักษาเสริมที่ดีในผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยาก (35)

7. ภาวะครรภ์เป็นพิษ การศึกษาเชิงสังเกตหลายชิ้นพบว่าผู้หญิงที่มีระดับซีลีเนียมในเลือดต่ำจะมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมากกว่าผู้หญิงที่มีระดับซีลีเนียมในเลือดเพียงพอ และการเสริมซีลีเนียมสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างมาก

8. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ การทบทวนการศึกษาพบว่าระดับซีลีเนียมในเลือดมักต่ำในผู้หญิงที่มีภาวะน้ำในเลือดสูงขณะตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับน้ำตาลปกติ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งการเพิ่มปริมาณซีลีเนียมในอาหารหรือจากอาหารเสริมอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำในเลือดสูง (39)

9. โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ซีลีเนียมมีหน้าที่สำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ และความเข้มข้นของซีลีเนียมในต่อมไทรอยด์จะสูงกว่าในอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย จากหลักฐานการศึกษาเราพบว่าระดับซีลีเนียมในเลือดที่ต่ำจะสัมพันธ์กับปริมาณของต่อมไทรอยด์ (Thyroid volume) ที่มากขึ้นกับความเสี่ยงต่อต่อมไทรอยด์โต (คอพอก) ในผู้ที่มีภาวะขาดไอโอดีนเล็กน้อย (40) อย่างไรก็ตาม ในอีกการศึกษาหนึ่งผลลัพธ์เหล่านี้กลับมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น (ไม่พบความสัมพันธ์ในผู้ชาย) และชี้ว่าซีลีเนียมอาจใช้ป้องกันโรคคอพอกได้ (41)

10. ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง (Hashimoto’s Disease) ซีลีเนียมถูกนำมาใช้ในการแพทย์ทางเลือกเพื่อช่วยรักษาภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังหรือโรคฮาชิโมโตะ ซึ่งเกิดขึ้นจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันแล้วส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ การศึกษารวมผู้เข้าร่วมทั้งหมด 8,756 คนที่เลือกจากฐานข้อมูลของ National Health reand Nutrition Examination Survey (NHANES) ปี 2007-2012 พบว่าการบริโภคซีลีเนียมในอาหารที่มากขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ลดลง และการบริโภคซีลีเนียมในอาหารอาจช่วยป้องกันและรักษาโรคนี้ได้ (45)

11. อาจช่วยลดสิว มีการศึกษาทดลองเพื่อเปรียบเทียบระหว่างซีลีเนียม, Silymarin, N-acetylcysteine ​​และยาหลอกในการลดจำนวนเม็ดสิว พบว่าหลังจากเสริมเป็นเวลา 8 สัปดาห์ เม็ดสิวมีจำนวนลดลงในกลุ่ม Silymarin และ N-acetylcysteine อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนในกลุ่มที่ได้รับซีลีเนียม (200 mcg/วัน) พบจำนวนสิวลดลงจาก 18.86+8.12 เป็น 11.93+6.83 แต่ผลลัพธ์นี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งหมายความว่าการเสริมซีลีเนียมอาจได้ผลแต่ไม่มากนักในการลดจำนวนสิว (46)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของ NAC จากงานวิจัย !

12. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) การศึกษาเชิงสังเกตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีพบความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของซีลีเนียมที่ต่ำกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือด การเสียชีวิต และการแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังลูกในหญิงตั้งครรภ์และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของลูก [ 26-30] การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มในผู้ติดเชื้อเอชไอวีพบว่า การเสริมซีลีเนียมสามารถช่วยลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (47) ช่วยป้องกันการเพิ่มปริมาณของไวรัส HIV-1, ยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัส HIV-1 และทำให้จำนวนของเซลล์ CD4 ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ต่อสู้กับการติดเชื้อเพิ่มขึ้น (48) อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอีกชิ้นกลับพบว่าการเสริมซีลีเนียมในระหว่างหรือหลังการตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อจำนวนเซลล์ CD4 แต่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกก่อนวัยอันควรหลังคลอดได้ (49)

13. โรคคาชิน-เบ็ค (Kashin-Beck disease : KBD) เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเฉพาะถิ่น (ส่วนใหญ่พบในบางพื้นที่ของประเทศจีน) เป็นโรคที่มีลักษณะของนิ้วที่ขยายและสั้นลง ปวดตามข้อ ข้อแข็งในตอนเช้า ข้อต่อผิดรูปที่มีการเคลื่อนไหวจำกัดในแขนขา ซึ่งการเสริมซีลีเนียมสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรค KBD ได้ (50)

14. ประโยชน์ซีลีเนียมในเรื่อง ๆ อื่นที่อาจเป็นไปได้ :

  • การใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง (อ้างอิง 7)
  • ซีลีเนียมอาจเป็นประโยชน์สำหรับโรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน (Diabetic neuropathy) แต่หลักฐานนั้นค่อนข้างอ่อนแอ (51)
  • ระดับซีลีเนียมที่สูงขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีความสัมพันธ์กับความหนาแน่นของมวลกระดูก (BMD) ที่มากขึ้นในการศึกษาหนึ่ง (52)
  • ช่วยลดความเป็นพิษของยาซิสพลาติน (Cisplatin) ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัด การศึกษาขนาดเล็กแสดงให้เห็นว่าการเสริมซีลีเนียมสามารถลดความเป็นพิษของยาซิสพลาตินได้ (53) ในขณะที่ทาง Cochrane สรุปว่าหลักฐานการเสริมซีลีเนียมเพื่อบรรเทาผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดนั้นยังมีไม่เพียงพอ (54)
  • ช่วยคงความยืดหยุ่นอ่อนเยาว์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ, บรรเทาอาการร้อนวูบวาบและอาการวัยทอง, ช่วยรักษาและป้องกันรังแค (หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์))

ข้อควรรู้และคำแนะนำ

  • อาหารที่อุดมไปด้วยซีลีเนียม : ได้แก่ ถั่วบราซิล (Brazil nuts), อาหารทะเล และเครื่องในสัตว์เป็นแหล่งอาหารที่ดีที่สุดของซีลีเนียม ส่วนแหล่งที่มาอื่น ๆ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ซีเรียล ธัญพืชต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์จากนม (แต่ปกติแล้วส่วนใหญ่เราจะได้รับซีลีเนียมอย่างเพียงพอจากเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา ไข่ ธัญพืช และขนมปัง)
    • ปริมาณซีลีเนียมในอาหารจากพืชแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับปริมาณซีลีเนียมในดินและปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง (เช่น ค่า pH ของดิน ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน) เป็นผลให้ความเข้มข้นของซีลีเนียมในอาหารจากพืชจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ ปริมาณซีลีเนียมในดินยังส่งผลต่อปริมาณซีลีเนียมในพืชที่สัตว์กินเข้าไปด้วย จึงทำให้ปริมาณซีลีเนียมในเนื้อสัตว์มีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของซีลีเนียมในดินนั้นจะมีผลต่อระดับซีลีเนียมในพืชมากกว่าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ (อ้างอิง 1)
  • ปริมาณซีลีเนียมในอาหารต่อหนึ่งหน่วยบริโภค :
    • ถั่วบราซิล (6–8 เม็ด) : 544 mcg
    • ปลาทูน่าครีบเหลือง 85 กรัม : 92 mcg
    • ปลาแฮลิบัต (Halibut) 85 กรัม : 47 mcg
    • ปลาซาร์ดีนกระป๋องในน้ำมัน 85 กรัม : 45 mcg
    • แฮมย่าง 85 กรัม : 42 mcg
    • กุ้งกระป๋อง 85 กรัม : 40 mcg
    • มักกะโรนี 1 ถ้วย : 37 mcg
    • สเต็กเนื้อ 85 กรัม : 33 mcg
    • ไก่งวง 85 กรัม : 31 mcg
    • ตับเนื้อ 85 กรัม : 28 mcg
    • ไก่ย่าง 85 กรัม : 22 mcg
    • คอทเทจชีส 1 ถ้วย : 20 mcg
    • ข้าวกล้อง 1 ถ้วย : 19 mcg
    • เนื้อบด 85 กรัม : 18 mcg
    • ไข่ต้ม 1 ฟองใหญ่ : 15 mcg
    • ขนมปังโฮลวีต 1 แผ่น : 13 mcg
    • ถั่วอบกระป๋อง (Baked beans) 1 ถ้วย : 13 mcg
    • โอ๊ตมีล 1 ถ้วย : 13 mcg
    • นม 1 ถ้วย : 8 mcg
    • โยเกิร์ต 1 ถ้วย : 8 mcg
  • ปริมาณอาหารที่แนะนำ (RDAs) ของซีลีเนียม :
    • อายุไม่เกิน 6 เดือน : 15 mcg
    • อายุ 7 เดือน ถึง 3 ปี : 20 mcg
    • อายุ 4-8 ปี : 30 mcg
    • อายุ 9-13 ปี : 40 mcg
    • อายุ 14 ปีขึ้นไป : 55 mcg
    • หญิงตั้งครรภ์ : 60 mcg
    • หญิงให้นมบุตร : 70 mcg
  • หน่วยวัดของซีลีเนียม : คือ ไมโครกรัม (mcg หรือ µg) ซึ่งทั้ง mcg และ µg นั้นคือหน่วยเดียวกัน และทั้งคู่มีค่าเท่ากัน โดย 1 mcg = 1 µg = 0.000001 g (กรัม)
  • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมซีลีเนียม : มักอยู่ในรูปของอาหารเสริมประเภทวิตามินรวมหรือแร่ธาตุรวมหลายชนิด และมีที่เป็นอาหารเสริมซีลีเนียมแบบเดี่ยว ๆ ความเข้มข้นตั้งแต่ 50-200 mcg/เม็ดหรือแคปซูล โดยมักอยู่ในรูปของซีลีโนเมไธโอนีน (Selenomethionine) หรือยีสต์ที่อุดมด้วยซีลีเนียม (เลี้ยงในอาหารที่มีซีลีเนียมสูง) หรือในรูปของโซเดียมซีลีไนต์หรือโซเดียมซีลีเนต (55)
  • ขนาดที่แนะนำให้รับประทาน : ซีลีเนียมรวมทั้งจากอาหารและอาหารเสริมที่แนะนำคือวันละ 100-200 mcg (สำหรับอาหารเสริมซีลีเนียมแนะนำให้ทานทานพร้อมกับอาหาร โดยอาจรับประทานในขนาด 50 mcg เพียงวันละครั้งเพื่อให้ได้ปริมาณซีลีเนียมเพียงพอต่อวัน หรือแบ่งทานวันละ 2-3 ครั้งพร้อมมื้ออาหารเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพทั่วไป ส่วนในขนาดที่สูงกว่านี้คือซีลีเนียมรวมวันละ 200-300 mcg จะเน้นรับประทานเพื่อคุณสมบัติด้านการป้องกันมะเร็ง (แต่ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและเพิ่มอัตราการเสียชีวิต)
  • การดูดซึมของซีลีเนียมในรูปแบบต่าง ๆ : ร่างกายสามารถดูดซึมซีลีเนียมในรูปของซีลีโนเมไธโอนีนได้มากกว่า 90% ในขณะที่ดูดซึมซีลีเนียมในรูปของซีลีไนท์ได้เพียง 50% (อ้างอิง 55)
  • สถานะการบริโภคซีลีเนียม : มีข้อมูลเฉพาะในอเมริกา โดยพบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่นั้นได้รับซีลีเนียมจากอาหารในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลของ National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) พบว่าคนอเมริกันมีการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีธาตุซีลีเนียมรวมอยู่ด้วยถึง 19% โดยค่าเฉลี่ยของการบริโภคซีลีเนียมจากอาหารในคนที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป คือ วันละ 108.5 mcg (หากรวมอาหารเสริม คือ 120.8 mcg) ส่วนในผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่จะได้รับจากอาหารเฉลี่ยวันละ 134 mcg (รวมอาหารเสริม คือ 151 mcg) ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงจะได้รับจากอาหารเฉลี่ยน้อยกว่าคือวันละ 93 mcg และ 108 mcg หากรวมอาหารเสริม นอกจากนี้ ระดับดับความเข้มข้นของซีลีเนียมเฉลี่ยในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป คือ 13.67 µg/dl และผู้ชายจะมีระดับซีลีเนียมในเลือดสูงกว่าผู้หญิง) (อ้างอิง 1)
  • ผลข้างเคียงจากการได้รับซีลีเนียมมากเกินไป : การบริโภคซีลีเนียมไม่ว่าจะรูปแบบใดในปริมาณสูงเป็นเวลานาน ๆ ก็ให้ผลที่คล้ายกัน โดยตัวบ่งชี้เบื้องต้นของการบริโภคซีลีเนียมมากเกินไปคือ การรับรสเปลี่ยนไปหรือรู้สึกแปร่ง ๆ คล้ายรสโลหะ และมีกลิ่นปากหรือกลิ่นตัวแรง (คล้ายกลิ่นกระเทียม) ส่วนอาการทางคลินิกที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อาการผมร่วง เล็บเปราะบาง หรือมีเส้นสีขาวบนเล็บ ส่วนอาการแสดงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง รู้สึกเวียนศีรษะ รู้สึกหงุดหงิดหรือเหนื่อยล้ามาก ปวดล้ากล้ามเนื้อ มีผื่นที่ผิวหนัง ฟันมีรอยด่าง ช้ำง่ายหรือมีเลือดออกง่าย (อ้างอิง 1, 7) นอกจากนี้การบริโภคในปริมาณมากยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต, เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะดื้อต่ออินซูลินและเบาหวานชนิดที่ 2 และเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังตัวอย่างการศึกษาด้านล่าง
    • เพิ่มอัตราการเสียชีวิต : การศึกษาในเดนมาร์กในผู้ที่มีระดับซีลีเนียมต่ำ (ประมาณ 90 mcg/L หรือต่ำกว่า) ที่เสริมซีลีเนียมวันละ 100, 200 หรือ 300 mcg เป็นเวลา 5 ปี และติดตามผลต่อไปอีก 10 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับซีลีเนียมวันละ 300 mcg มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุมากกว่า 11% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับในขนาดต่ำไม่มีความเสี่ยงดังกล่าว (56)
    • เสี่ยงต่อเบาหวาน : การศึกษาในชาวอเมริกันจำนวน 1,202 คน พบว่าในกลุ่มที่ได้รับซีลีเนียมวันละ 200 mcg จะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกถึง 2.7 เท่า (57) หรืออีกการศึกษาอีกหนึ่งในอิตาลีที่ติดตามผู้ชายและหญิงจำนวน 21,334 คนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน พบว่ากลุ่มที่ได้รับซีลีเนียมจากอาหารสูง (ในผู้ชาย 88 mcg และผู้หญิง 77 mcg) จะมีความเสี่ยงมากขึ้น 64% ที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอีก 8 ปีถัดมา เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ซีลีเนียมจากอาหารที่ต่ำกว่า (ในผู้ชาย 44-67 mcg และผู้หญิง 39-62 mcg ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปริมาณที่แนะนำต่อวัน) (58)
    • เสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก : การศึกษาขนาดใหญ่เป็นเวลาหลายปีเกี่ยวกับการเสริมซีลีเนียมและวิตามินอีเพื่อป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่าการเสริมซีลีเนียมในขนาดสูงวันละ 200 mcg จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากความรุนแรงสูงถึง 91% ในกลุ่มผู้ชายที่มีระดับซีลีเนียมสูงอยู่แล้ว (นักวิจัยเตือนว่าผู้ชายอายุ 55 ปีขึ้นไป ควรหลีกเลี่ยงการเสริมวิตามินอีหรือซีลีเนียมเกินจากปริมาณที่แนะนำต่อวัน) (59) นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาติดตามผู้ชายจำนวน 4,459 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแบบไม่แพร่กระจาย พบว่าการเสริมซีลีเนียมตั้งแต่ 140 mcg ขึ้นไปต่อวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้น ในผู้ที่เป็นโรคนี้จึงไม่ควรได้รับซีลีเนียมเกินวันละ 140 mcg (60)
    • ความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน : เกิดจากการได้รับซีลีเนียมในปริมาณสูงมาก ๆ ตัวอย่างเช่น ในปี 2008 มีผู้คนจำนวน 201 คนที่ประสบกับอาการเป็นพิษรุนแรงจากการรับประทานอาหารเสริมซีลีเนียมแบบน้ำที่มีปริมาณซีลีเนียมมากกว่าที่ระบุในฉลากถึง 200 เท่า โดยความเป็นพิษของซีลีเนียมนั้นอาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและทางเดินอาหารอย่างรุนแรง, เกิดภาวะวิกฤติทางระบบการหายใจ, กล้ามเนื้อหัวใจตาย, ผมร่วง, ปวดล้ากล้ามเนื้อ, เกิดอาการสั่น, วิ่งเวียนศีรษะ, หน้าแดง, ไตวาย, หัวใจล้มเหลว และในบางกรณีอาจทำให้เสียชีวิต (อ้างอิง 1)
  • ปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ (ULs) ของซีลีเนียม : กรรมาธิการอาหารและโภชนาการของสหรัฐฯ (FNB) ได้กำหนด ULs สำหรับซีลีเนียมทั้งจากอาหารและอาหารเสริมไว้ดังนี้ โดยพิจารณาจากปริมาณซีลีเนียมที่ทำให้เกิดผมร่วงและเล็บเปราะบาง (อ้างอิง 1)
    • อายุไม่เกิน 6 เดือน : 45 mcg
    • อายุ 7-12 เดือน : 60 mcg
    • อายุ 1-3 ปี : 90 mcg
    • อายุ 4-8 ปี : 150 mcg
    • อายุ 9-13 ปี : 280 mcg
    • อายุ 14 ปีขึ้นไป : 400 mcg
  • ข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้ซีลีเนียม (อ้างอิง 7) :
    • หลีกเลี่ยงการเสริมซีลีเนียมหากคุณเคยมีอาการแพ้ซีลีเนียม เช่น เป็นผื่นลมพิษ รู้สึกหายใจลำบาก หรือมีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ (ควรรีบไปพบแพทย์หากคุณมีอาการดังกล่าว)
    • ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังหรือกำลังฟอกไตอยู่, ผู้ที่เป็นโรคไฮโปไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroid) หรือเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสริมซีลีเนียมถึงปริมาณการใช้ที่เหมาะสม
    • หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานอาหารเสริมซีลีเนียมหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
    • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าหากคุณรับประทานอาหารเสริมซีลีเนียม เพราะอาจจำเป็นต้องหยุดรับประทานก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
    • อาหารเสริมซีลีเนียมอาจส่งผลต่อผลการทดสอบทางการแพทย์บางอย่างได้ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าหากคุณกำลังรับประทานอาหารเสริมซีลีเนียม

สรุปเรื่องซีลีเนียม

  • ประโยชน์ของซีลีเนียมหลัก ๆ แล้วจะใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันการขาดซีลีเนียม แม้การศึกษาจะพบประโยชน์ในเรื่องอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น อาจมีประโยชน์ในการป้องกันมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะมีบุตรยาก ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ฯลฯ แต่หลักฐานก็ยังไม่ชัดเจนและมีผลลัพธ์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ ประโยชน์ส่วนใหญ่ของซีลีเนียมก็ดูเหมือนจะจำกัดอยู่เฉพาะในผู้ที่มีระดับซีลีเนียมในเลือดต่ำเท่านั้น (ซึ่งก็พบได้น้อยมาก)
  • ปริมาณที่แนะนำต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ วันละ 55 mcg ส่วนปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้คือ 400 mcg
  • คนส่วนใหญ่ได้รับซีลีเนียมจากอาหารในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมซีลีเนียมเพิ่มเติม
  • การเสริมซีลีเนียมในรูปแบบอาหารเสริมในระยะยาวเกินวันละ 400 mcg อาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพหรือผลข้างเคียงร้ายแรงได้ นอกจากนี้
  • แม้ซีลีเนียมในขนาดวันละ 200-300 mcg อาจมีประโยชน์ต่อการป้องกันมะเร็ง แต่การได้รับวันละ 200 mcg กลับเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและมะเร็งต่อมลูกหมาก และในขนาดวันละ 300 mcg อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ 11% ดังนั้น จึงควรชั่งน้ำหนักให้ดีถึงประโยชน์และผลเสียหากคุณจะรับประทานอาหารเสริมซีลีเนียม
งานวิจัยอ้างอิง

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 04 ส.ค. 2023

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ