แคลเซียม
แคลเซียม (Calcium) คือ แร่ธาตุที่มีมากที่สุดในร่างกายและเป็นที่รู้จักกันดีว่าทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกในร่างกายมนุษย์ โดยในร่างกายมนุษย์จะมีแคลเซียมมากถึง 1-2 กิโลกรัม ซึ่ง 99% จะอยู่ในเนื้อเยื่อกระดูก (โครงกระดูกและฟัน) และร่างกายจะใช้กระดูกเป็นแหล่งกักเก็บแคลเซียมเพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียม
แคลเซียมพบได้มากในผลิตภัณฑ์จากนม (นม โยเกิร์ต และชีส) มีอยู่ในยาบางชนิด (เช่น ยาลดกรด) และในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม อย่างไรก็ตาม หากเราได้รับแคลเซียมจากอาหารอย่างเพียง การซื้ออาหารเสริมแคลเซียมมารับประทานก็ไม่จำเป็น
การศึกษาในปัจจุบันพบว่าแคลเซียมอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพกระดูกในผู้สูงอายุ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ภาวะครรภ์เป็นพิษ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) การควบคุมน้ำหนัก ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกการศึกษาในแต่เรื่องจะให้ผลลัพธ์สอดคล้องกันเสมอไป (1)
ประโยชน์ของแคลเซียม
1. สุขภาพกระดูกและฟัน แคลเซียมเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างส่วนใหญ่ของกระดูกและฟัน แคลเซียมที่เพียงพอมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างและบำรุงรักษากระดูกให้แข็งแรง โดยจากการศึกษาพบว่าการเสริมแคลเซียม โดยเฉพาะการเสริมร่วมกับวิตามินดีอาจช่วยเสริมความหนาแน่นของมวลกระดูกและลดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนได้ (2)
- การทดลองแบบสุ่มในเด็กผู้หญิงอายุ 9-13 ปี การเสริมแคลเซียม 800 มก. และวิตามินดี 400 IU ทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน แสดงให้เห็นความหนาแน่นของมวลกระดูกและความแข็งแรงของกระดูกที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก (3)
- การศึกษาในผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร (หลังคลอด 5 วัน) ที่พบว่าการให้แคลเซียมผ่านผลิตภัณฑ์นม (แคลเซียม 932 มก.) หรือผ่านอาหารเสริมแคลเซียม (1,000 มก.) เป็นเวลา 6 เดือน ทั้ง 2 กลุ่มมีความสัมพันธ์กับความหนาแน่นของมวลกระดูกและปริมาณแร่ธาตุในกระดูกที่เพิ่มขึ้นคล้ายคลึงกัน และไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (4)
- การเสริมแคลเซียมและวิตามินดีดูเหมือนจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้ในระดับหนึ่ง แต่การทบทวนการศึกษาในผู้หญิงที่กำลังรักษาโรคมะเร็งเต้านมพบว่า การเสริมแคลเซียมวันละ 500-1,500 มก. และวิตามินดีวันละ 100-1,000 IU ไม่พบประโยชน์ในการป้องกันการสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูก (5)
- การทดลองแบบสุ่มในออสเตรเลียในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 1,994 คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งได้รับแคลเซียมจากอาหารเฉลี่ยวันละ 886 มก. ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างแคลเซียมที่ได้รับและความหนาแน่นของมวลกระดูก (6)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของวิตามินดี (Vitamin D) จากงานวิจัย !
2. ลดความเสี่ยงของกระดูกหักและการหกล้มในผู้สูงอายุ การศึกษาในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักได้หรือไม่ แต่โดยรวมแล้วในผู้สูงอายุ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และผู้หญิงที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอาจได้รับประโยชน์นี้ ตัวอย่างการศึกษา เช่น
- การวิเคราะห์การศึกษาจำนวน 8 เรื่องในผู้ใหญ่ 30,970 คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี พบว่าการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีเป็นเวลา 1-7 ปี ช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกหักทั้งหมด 15% และกระดูกสะโพกหัก 30% (7) แต่จากการทบทวนการศึกษาอย่างเป็นระบบรวม 14 เรื่องและการทดลอง 13 เรื่องในผู้เข้าร่วมที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เพื่อเปรียบเทียบการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีกับการรักษาด้วยฮอร์โมนและยาหลอก พบว่าการเสริมแคลเซียมเพียงอย่างเดียวไม่ได้มีผลช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกหัก (8) ทำนองเดียวกับการทบทวนการศึกษาในผู้ใหญ่จำนวน 51,419 คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่าการเสริมวิตามินดีและแคลเซียมเป็นเวลา 2-7 ปีไม่มีผลช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกหักทั้งหมดหรือกระดูกสะโพกหัก (9)
- การศึกษาในระยะยาวในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับการเสริมแคลเซียม 500 มก. และวิตามินดี3 200 IU วันละ 2 ครั้ง ช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกสะโพกหักได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับยาหลอก แต่การลดลงนั้นไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (10) อย่างไรก็ตาม เมื่อเสริมแคลเซียมและวิตามินดีในผู้หญิงที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนหลังการผ่าตัดมดลูก พบว่าความเสี่ยงของกระดูกสะโพกหักจะลดลงถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริม (11)
- การศึกษาติดตามผู้หญิงและผู้ชายจำนวน 34,542 คน (อายุเฉลี่ย 63 ปี) เป็นเวลาเฉลี่ย 8 ปี พบว่าผู้หญิงที่รับประทานมังสวิรัติและไม่ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีเสริมจะมีความเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่รับประทานมังสวิรัติ และในผู้หญิงที่รับประทานมังสวิรัติที่ได้รับการเสริมแคลเซียมเฉลี่ย 660 มก. และวิตามินดี 540 IU ไม่มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ใช่มังสวิรัติ ส่วนในผู้ชายที่รับประทานมังสวิรัติไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นแม้จะได้รับการเสริมหรือไม่เสริมแคลเซียมและวิตามินดีก็ตาม (12)
- การศึกษาในผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน (อายุ 42-52 ปี) ที่ติดตามผลเป็นเวลา 10 ปี พบว่าการเสริมแคลเซียมไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกในผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน แม้ว่าการเสริมแคลเซียมจะมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียมวลกระดูกที่น้อยลงก็ตาม (13)
- การศึกษาขนาดใหญ่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลระยะยาวในออสเตรเลียที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายเพียงพอ พบว่าการเพิ่มแคลเซียมต่อวันจากอาหารให้อยู่ในระดับที่แนะนำ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกหักและการหกล้มได้ โดยการศึกษาเป็นการศึกษาในผู้ชายและหญิงจำนวน 7,195 คน (อายุเฉลี่ย 85 ปี) ที่กลุ่มหนึ่งได้รับแคลเซียมจากอาหารต่อวันเพียง 700 มก. (ต่ำกว่าปริมาณที่แนะนำสำหรับคนวัยนี้คือ 1,200 มก.) ในขณะที่อีกกลุ่มจะได้รับแคลเซียมจากอาหารต่อวันรวม 1,152 มก. หลังจาก 3 เดือน พบว่าความเสี่ยงในการหกล้มลดลง 11% และหลังจาก 5 เดือน ความเสี่ยงต่อกระดูกหักทั้งหมดลดลง 33% และความเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักลดลง 46% (14)
3. โรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) แคลเซียมสามารถจับกับกรดไขมันและช่วยลดการดูดซึมของไขมันได้ การเสริมแคลเซียมจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป และบางหลักฐานกลับชี้ว่าการเสริมแคลเซียมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทน (1)
- การศึกษาในออสเตรเลียที่ติดตามผู้ใหญ่จำนวน 41,514 คน อายุ 40-69 ปี เป็นเวลา 13 ปี พบว่าอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลดลง 25% ในผู้ที่ได้รับแคลเซียมสูงสุด (เฉลี่ย 1,076 มก./วัน) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแคลเซียมต่ำสุด (เฉลี่ย 641 มก./วัน) (15)
- การทดลองทางคลินิกบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าอาหารเสริมแคลเซียมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของความดันโลหิตสูงและระดับคอเลสเตอรอล ได้แก่ การทบทวนการศึกษาจำนวน 16 เรื่อง พบว่าการเสริมแคลเซียมช่วยลดความดันโลหิตตัวบนได้ 1.43 มม.ปรอท และตัวล่าง 0.98 มม.ปรอท (16) และการวิเคราะห์การศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการเสริมแคลเซียมมีประโยชน์ต่อไขมันในเลือด โดยมีผลช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) (17)
- การวิเคราะห์การศึกษาในผู้หญิง 35,983 คน อายุ (50-79 ปี) ที่ได้รับแคลเซียมวันละ 1,000 มก. และวิตามินดีวันละ 400 IU เป็นเวลา 10 ปี พบว่าไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (18) ทำนองเดียวกับการทบทวนการศึกษาที่มีผู้เข้าร่วมรวม 51,419 คน (อายุ 50 ปีขึ้นไป) พบว่าการเสริมแคลเซียมและ/หรือวิตามินดี เป็นเวลา 2-7 ปี ไม่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (19)
- การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การเสริมแคลเซียมในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีสุขภาพดีจำนวน 28,935 คน วันละ 500-2,000 มก. เป็นเวลา 1-7 ปี ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (20) นอกจากนี้ เมื่อติดตามผู้ใหญ่จำนวน 132,823 คน (อายุเฉลี่ย 63 ปี) เป็นเวลาเฉลี่ย 17.5 ปี พบว่าในผู้ชายที่เสริมแคลเซียมวันละ 1,000 มก. หรือมากกว่า จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น 22% เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ไม่ได้เสริม (21) อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงที่เสริมแคลเซียมวันละ 1,000 มก. หรือมากกว่า นั้นกลับลดลง 16% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้เสริม (1)
- การศึกษาครั้งใหญ่ในผู้ชายและผู้หญิงจำนวน 388,229 คน (อายุระหว่าง 50-71 ปี) เป็นเวลา 12 ปี พบว่าในผู้ชายที่รับประทานแคลเซียมเสริมมากกว่าวันละ 1,000 มก. จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 20% ต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เสริม แต่ในผู้หญิงและผู้ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารปกติ (ทั้งชายและหญิง) นั้น ไม่พบความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวแต่อย่างใด (22)
- ในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic stenosis) การเสริมแคลเซียมอาจเพิ่มความเสี่ยง เพราะจากการติดตามคนกลุ่มดังกล่าวจำนวน 2,657 คน พบว่าผู้ที่เสริมแคลเซียมวันละ 500-2,000 มก. อย่างน้อยหนึ่งปีมีโอกาสเกือบ 5 เท่าที่จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก (AVR) ในช่วง 6 ปีข้างหน้า มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เสริม แม้แต่ในบรรดาผู้ที่เสริมแต่ไม่ได้รับการผ่าตัด AVR ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าถึง 38% ต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ และมีความเสี่ยงสูงกว่า 105% ต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เสริม (23)
- อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาจากหลักฐานงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับปานกลาง ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการเสริมแคลเซียมโดยมีหรือไม่มีวิตามินดีไม่ได้ช่วยเพิ่มหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง (24)
4. ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ซึ่งการเสริมแคลเซียมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ โดยเฉพาะในผู้หญิง
- การวิเคราะห์ข้อมูลของ NHANES ในผู้ใหญ่จำนวน 9,148 คน พบว่าผู้หญิงที่ได้รับแคลเซียมสูง (อย่างน้อยวันละ 1,172 มก.) จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าที่จะเกิดภาวะนี้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแคลเซียมต่ำ (น้อยกว่าวันละ 547 มก.) นอกจากนี้ ในผู้หญิงที่ได้รับแคลเซียมตามปริมาณที่แนะนำต่อวันในผู้ใหญ่ (RDA) คือ 1,000-1,200 มก. จะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ต่ำกว่า 18% อย่างไรก็ตาม ไม่พบความเสี่ยงที่ลดลงในผู้ชาย (25)
- การวิเคราะห์การศึกษาหลายชิ้นที่มีผู้เข้าร่วมมีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) จำนวน 14,906 คน พบว่าการเพิ่มปริมาณแคลเซียมในอาหารทุก ๆ 300 มก./วัน ความเสี่ยงของภาวะนี้จะลดลง 7% และยังพบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคแคลเซียมจากอาหารกับความเสี่ยงจากภาวะนี้ที่ในผู้หญิงจะรุนแรงมากกว่าผู้ชาย (26)
- การทดลองทางคลินิกในอิหร่านในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเกินและเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจ จำนวน 66 คน พบว่าการเสริมแคลเซียม 500 มก., วิตามินดี 200 IU และวิตามินเค 90 มคก. เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ช่วยปรับปรุงการดื้อต่ออินซูลิน ความเข้มข้นของอินซูลิน การทำงานของเบต้าเซลล์ ความไวของอินซูลิน และช่วยลดระดับความหนาตัวของผนังชั้นในและชั้นกลางของหลอดเลือดแดงใหญ่คาโรติด (Carotid artery) ที่อยู่บริเวณลำคอ (CIMT) อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย และแผลเบาหวาน ซึ่งพบมากในผู้ที่เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคเบาหวาน (27)
5. การควบคุมน้ำหนัก พบหลักฐานการทดลองเชิงสังเกตและการทดลองทางคลินิกที่เชื่อมโยงระหว่างปริมาณแคลเซียมที่เพิ่มขึ้นกับน้ำหนักตัวที่ลดลง ซึ่งผลลัพธ์นั้นก็ปะปนกันไป แม้การศึกษาในช่วงแรกดูเหมือนเป็นไปได้ด้วยดี แต่ประโยชน์นี้ก็ดูเหมือนจะถูกลดทอนลงไปมากจากการศึกษาใหม่ ๆ
- การศึกษาเชิงสังเกตที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคแคลเซียมที่มากขึ้นและความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วนที่ลดลงในเด็ก 6,696 คน (28) ในทางตรงกันข้าม การศึกษาระยะยาวในผู้เข้าร่วม 2,159 คนในโปรตุเกส ที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคแคลเซียมกับดัชนีมวลกาย (BMI) เมื่ออายุ 13 ปี และ 21 ปี (29)
- การทดลองทางคลินิกและการวิเคราะห์ที่ประเมินผลกระทบของการเสริมแคลเซียมหรือบริโภคแคลเซียมที่มากขึ้นจากผลิตภัณฑ์นมต่อการลดน้ำหนัก พบผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป เช่น การศึกษาในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เสริมแคลเซียม 1,000 มก. และวิตามินดี 400 IU ทุกวัน เป็นเวลา 3 ปี พบว่าจะมีโอกาสน้อยกว่า 11% ที่น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น 1 กก. เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (30) หรือการวิเคราะห์การศึกษาที่ตรวจสอบผลกระทบของอาหารที่ทำจากนมหรืออาหารเสริมแคลเซียม (อย่างน้อยวันละ 300 มก.) ในผู้ใหญ่จำนวน 4,802 คน พบว่าการบริโภคแคลเซียมมากขึ้นไม่มีผลกระทบต่อน้ำหนักตัวหรือไขมันในร่างกาย (31)
6. โควิด-19 (COVID-19) การศึกษาเบื้องต้นบ่งชี้ว่าระดับแคลเซียมลดลงในผู้ป่วย COVID-19 ตัวอย่างเช่น 75% ของผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค (32) สอดคล้องกับการทบทวนบันทึกการรักษาของผู้ป่วย 15 รายที่เข้ารับการรักษาโควิดในโรงพยาบาล Mayo Clinic แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักมีระดับแคลเซียมและอัลบูมินลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงจะไม่พบ นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าการเสริมแคลเซียมและอัลบูมินตั้งแต่เนิ่น ๆ ในระหว่างการรักษาโควิด อาจช่วยลดความล้มเหลวของอวัยวะและการเข้ารักษาที่ห้อง ICU (33)
7. โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) การได้รับแคลเซียมเฉพาะจากอาหารที่มากขึ้นดูเหมือนจะช่วยชะลอพัฒนาการของโรค AMD ได้ ในขณะที่การได้รับแคลเซียมจากอาหารเสริมกลับพบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดโรค AMD
- การศึกษาในออสเตรเลียที่ติดตามผู้ชายและผู้หญิงมากกว่า 2,000 คน (อายุ 50 ปีขึ้นไป) เป็นเวลา 15 ปี พบว่าผู้ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อยที่สุด (< 565 มก./วัน) มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อพัฒนาการของโรค AMD เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารสูงสุด (> 1,247 มก./วัน) (34)
- การศึกษาในกลุ่มชายและหญิงจำนวน 3,191 คน พบว่าหลังจากอายุ 67 ปี ผู้ที่ได้รับแคลเซียมในรูปแบบของอาหารเสริมมากกว่าวันละ 800 มก. จะมีความเสี่ยงมากขึ้นถึง 164% ที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค AMD เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เสริมแคลเซียม (35)
- ในทางกลับกัน การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Age-Related Eye Disease Study (AREDS) พบว่าในผู้หญิงที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารปกติและอาหารเสริมที่สูงขึ้น (ประมาณวันละ 1,200 มก.) มีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ของการเกิดโรค AMD ระยะปลายที่ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแคลเซียมน้อย (ประมาณ 600 มก. หรือน้อยกว่า) (36)
8. ภาวะครรภ์เป็นพิษ การเสริมแคลเซียมในระหว่างตั้งครรภ์อาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ แต่ดูเหมือนว่าประโยชน์นี้จะมีผลเฉพาะในผู้หญิงที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอเท่านั้น ดังนั้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับแคลเซียมต่ำหรือได้รับแคลเซียมรวมน้อยกว่าวันละ 600 มก. ควรเสริมแคลเซียม 1,500-2,000 มก. ทุกวัน (37)
- การศึกษาที่พบว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารต่ำ (น้อยกว่าวันละ 1,000 มก.) ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษจะเพิ่มมากขึ้น (1) และการเสริมแคลเซียมวันละ 1,500-2,000 มก. สามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ถึง 38% (38)
- การเสริมแคลเซียมในขนาดสูง 1,000 มก. หรือมากกว่า สัมพันธ์กับการลดลงของความดันโลหิตและการลดความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อย (39)
- การศึกษาเชิงสังเกตพบว่าปริมาณแคลเซียมที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่ลดลงในเด็ก (40)
9. กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) การเสริมแคลเซียมเป็นวิธีที่ง่ายและดูเหมือนมีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น การศึกษาที่พบว่าการเสริมแคลเซียมคาร์บอเนต 1,000 มก. ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (41) หรือการเสริมในขนาด 500 มก. ที่พบว่าช่วยลดวิตกกังวล อารมณ์เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลง ฯลฯ ในช่วงก่อนมีประจำเดือน (42) ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- การทดลองทางคลินิก พบว่าการเสริมแคลเซียมคาร์บอเนต 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดอาการเหนื่อยล้า ความอยากอาหาร และอารม์เศร้าในผู้หญิงที่มีอาการ PMS (43)
- การศึกษาในนักศึกษาจำนวน 76 คน พบว่าการเสริมแคลเซียม 500 มก. ร่วมกับวิตามินดี6 40 มก.ช่วยให้อาการก่อนมีประจำเดือนดีขึ้น (44)
- การศึกษาที่พบว่าการเสริมแคลเซียมร่วมกับแมกนีเซียมอาจช่วยปรับปรุงอาการก่อนมีประจำเดือน (45)
- การศึกษานำร่องที่ควบคุมด้วยยาหลอกในผู้หญิงที่มีอาการ PMS ปานกลางหรือรุนแรง แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยาฟลูออกซีทีน 20 มก. แคลเซียมคาร์บอเนต 600 มก. หรือกลุ่มที่ได้รับยาหลอกทุกวัน เป็นเวลา 4 รอบเดือน พบว่าแคลเซียมบอเนตมีประโยชน์ในการรักษาอาการดังกล่าว แม้ผลจะน้อยกว่ายาฟลูออกซีทีนมากก็ตาม (46)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของแมกนีเซียม (Magnesium) จากงานวิจัย !
10. ลดความเสี่ยงมะเร็ง การได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะจากอาหารปกติ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ ในขณะที่การได้รับแคลเซียมเสริมมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและการเสียชีวิตจากมะเร็งได้
- มะเร็งทั้งหมด : การศึกษางานหนึ่งในผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป จำนวน 1,179 คน ที่พบว่ากลุ่มที่ได้รับแคลเซียม 1,400-1,500 มก. จะมีความเสี่ยงต่ออุบัติการณ์ของมะเร็งทุกชนิดลดลง 47% และถ้าเสริมวิตามินดีร่วมด้วยวันละ 1,100 IU ความเสี่ยงจะลดลง 60% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแต่ยาหลอก (47) ซึ่งผลลัพธ์นี้ขัดแย้งกับหลาย ๆ การศึกษา เช่น การศึกษาขนาดใหญ่ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 2,303 คน (อายุเฉลี่ย 65 ปี) เป็นเวลา 4 ปีที่ควบคุมด้วยยาหลอก พบว่าการเสริมแคลเซียม 1,500 มก. และวิตามินดี3 2,000 IU ต่อวัน ไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งทั้งหมดหรือมะเร็งเฉพาะที่ ซึ่งรวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ รังไข่ เต้านม ปอด หรือผิวหนัง (48), การศึกษาที่การเสริมเฉพาะแคลเซียม 500 มก. ขึ้นไป เป็นเวลา 3.9 ไป ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งทั้งหมด (49), การศึกษาเชิงสังเกตที่รวมผู้เข้าร่วมจำนวน 132,823 คน และติดตามผลเป็นเวลาเฉลี่ย 17.5 ปี ไม่พบความสัมพันฑ์ระหว่างการเสริมแคลเซียมกับอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงจากมะเร็ง (50) เช่นเดียวกับการศึกษาที่ในผู้ใหญ่ 5,292 คน อายุ 70 ปีขึ้นไป ที่การเสริมแคลเซียม 1,000 มก. และวิตามินดี3 8,000 IU พบอัตราการเกิดมะเร็งและการเสียชีวิตจากมะเร็งไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (51)
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ : หลักฐานเชิงสังเกต (แต่ไม่ทั้งหมด) พบความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคแคลเซียมที่สูงขึ้นกับความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงที่ลดลง เช่น การศึกษาในผู้ใหญ่จำนวน 77,712 คน เป็นเวลาเฉลี่ย 7.8 ปี พบว่าการเสริมแคลเซียมวันละ 1,999 มก. ความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้จะลดลง 26% เมื่อเทียบกับผู้ได้รับแคลเซียมต่ำเฉลี่ยวันละ 587 มก. (แต่ไม่พบความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของมะเร็งทวารหนัก) (52) หรือการวิเคราะห์ศึกษาในผู้เข้าร่วม 1,415,597 คน ที่ติดตามผลเป็นเวลา 3.3-16 ปี พบว่าการเสริมแคลเซียมมากขึ้นทุก ๆ 300 มก./วัน ความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะลดลง 8% (53) หรือการทบทวนการศึกษาอีกเรื่องที่พบว่าการเสริมแคลเซียมจากอาหารปกติทุกวัน 1,200-2,000 มก. เป็นเวลา 36-60 เดือน ช่วยลดโอกาสที่เนื้องอก Adenomas จะกลับมาเป็นซ้ำได้ 11% ในขณะที่แคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริมไม่มีผลลดความเสี่ยง (54) ส่วนหลักฐานเชิงสังเกตที่พบว่าแคลเซียมไม่มีผลลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น การติดตามผลการศึกษาในปี 2013 ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 36,828 คน ที่การเสริมแคลเซียม 1,000 มก. และวิตามินดี 400 IU ไม่ได้ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (55) เช่นเดียวกับ การศึกษาในผู้เข้าร่วม 1,121 คน ที่การให้แคลเซียม 1,200 มก. และวิตามินดี3 1,000 IU ต่อวัน เป็นเวลา 3-5 ปี ไม่มีผลลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของเนื้องอกก่อนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Adenomas) (56) และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อการเกิดซ้ำระหว่างกลุ่มที่เสริมและไม่เสริม (57)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก : การทบทวนการศึกษาในหมู่ทหารผ่านศึกสหรัฐฯ ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารต่ำอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (58) อย่างไรก็ตาม หลักฐานบางอย่างกลับบ่งชี้ว่าการเสริมแคลเซียมวันละ 1,338 มก. หรือมากกว่า มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (59) สอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่าความเสี่ยงจะสูงขึ้น 2.4 เท่าในผู้ชายที่ได้รับแคลเซียมมากกว่าวันละ 1,081 มก. เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ได้รับแคลเซียมน้อยกว่าวันละ 725 มก. (60) และการศึกษาที่พบว่าความเสี่ยงจะสูงขึ้น 2% ในแคลเซียมทุก ๆ 400 มก. (61) แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะมีงานวิจัยแบบสุ่มที่ควบคุมด้วยยาหลอกที่การได้รับแคลเซียมคอร์บอเนตวันละ 3 กรัม (ให้แคลเซียม 1,200 มก.) เป็นเวลา 4 ปี ไม่พบความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากที่เพิ่มขึ้น (62)
- มะเร็งเต้านม : การศึกษาเชิงสังเกตจำนวน 11 การศึกษาในผู้หญิง 872,895 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม 26,606 คน ในช่วง 7 ถึง 25 ปีพบว่าผู้หญิงที่ได้รับแคลเซียมสูงสุดจะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมที่ลดลง 8% (63)
- มะเร็งรังไข่ : การวิเคราะห์การศึกษา 15 เรื่องที่เกี่ยวกับการบริโภคแคลเซียมและความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ในผู้หญิงจำนวน 493,415 คนที่เป็นมะเร็งรังไข่ 7,453 คน ในกลุ่มที่ได้รับแคลเซียมสูงสุด (มากกว่าวันละ 820–1,500 มก.) จะมีความเสี่ยงต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับแคลเซียมต่ำสุด (น้อยกว่าวันละ 362–800 มก.) ถึง 20% (64)
11. ลดอัตราการเสียชีวิต การเสริมแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในผู้หญิงสูงอายุได้ (แต่ไม่ใช่ในผู้ชาย)
- การศึกษาในผู้หญิงสูงอายุจำนวน 38,722 คน พบว่าการเสริมแคลเซียมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ลดลง 3.8% ในช่วง 22 ปี (65) อย่างไรก็ตาม ไม่พบประโยชน์เมื่อได้รับแคลเซียมมากกว่าวันละ 900 มก. จากอาหารเสริม ทำนองเดียวกับอีกการศึกษาในผู้ใหญ่ในแคนาดาที่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 9,033 คน พบว่าการเสริมแคลเซียมสูงถึง 1,000 มก. ทุกวันมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้หญิง (แต่ไม่ใช่ผู้ชาย) ที่ลดลง 22% ในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา 10 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เสริมแคลเซียม แต่ในขนาดตั้งแต่ 1,000 มก. ขึ้นไป ไม่พบการลดลงของการเสียชีวิตทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย (66)
12. ประโยชน์แคลเซียมในด้านอื่น ๆ เช่น บรรเทาอาการนอนไม่หลับ, อาจช่วยเรื่องระบบประสาท, อาจช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจปกติ, ช่วยเผาผลาญธาตุเหล็กในร่างกาย, ป้องกันการเกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก, ป้องกันการเกิดโรคกระดูกน่วม (จากหนังสือวิตามินไบเบิล ของ ดร.เอิร์ล มินเดลล์)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของธาตุเหล็ก (Iron) จากงานวิจัย !
ประโยชน์หลัก ๆ ของแคลเซียม คือ การช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน รวมถึงการใช้เพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษหรือลดอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) และการรักษาระดับแคลเซียมในร่างกายให้เพียงพอยังอาจช่วยลดความเสี่ยงกระดูกหักและการหกล้มในผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม โรคมะเร็ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเสริมแคลเซียมมากเกินไป โดยเฉพาะจากอาหารเสริม อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ข้อควรรู้และคำแนะนำ
- อาหารที่ให้แคลเซียมสูง : นม โยเกิร์ต และชีส (ผลิตภัณฑ์จากนม) เป็นแหล่งแคลเซียมที่พบได้มากที่สุด คนส่วนใหญ่ได้รับแคลเซียมจากอาหารประเภทนี้ ส่วนอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากนม ได้แก่ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ปลาแซลมอน คะน้า บรอกโคลี ผักกาดขาว (1)
- ระดับแคลเซียมในเลือดในผู้ที่มีสุขภาพดี โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 8.5-10.5 มก./ดล. (mg/dL)
- คนไทยส่วนใหญ่ได้รับแคลเซียมจากอาหารปกติไม่ค่อยเพียงพอ เฉลี่ยเพียงวันละ 400 มก. ในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีแนวโน้มสูงมากที่จะได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อวัน
- ปริมาณแคลเซียมสูงสุดที่ควรได้รับในแต่ละครั้งคือ 500 มก. เพราะร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้ครั้งละมากกว่า 500 มก. ดังนั้นจึงควรจำกัดปริมาณแคลเซียมจากอาหารเสริมให้อยู่ที่ครั้งละประมาณ 200-500 มก. และไม่ควรเกิน 1,000 มก. เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการได้รับในปริมาณที่มากกว่านี้
- โปรดทราบว่าแคลเซียมที่ต้องได้รับสำหรับผู้ใหญ่คือวันละ 1,000-1,200 มก. ซึ่งรวมถึงปริมาณแคลเซียมจากอาหารปกติที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวันด้วย (และยังไม่รวมถึงยาบางอย่าง เช่น ยาลดกรด)
- อาหารเสริมแคลเซียมที่พบได้มากที่สุด คือ แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) ที่มีราคาถูกที่สุด และแคลเซียมซิเตรต (Calcium citrate) ที่เหมาะสำหรับผู้ที่กรดในกระเพาะต่ำ แต่จะมีราคาที่แพงกว่า
- แคลเซียมคอร์บอเนตอาจก่อให้เกิดผลข้างของระบบทางเดินอาหารได้ จึงไม่ควรรับประทานในขณะท้องว่างหรือเมื่อมีกรดในกระเพาะอาหารต่ำ เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือท้องผูกได้ (แนะนำให้ทานพร้อมอาหารหรือแบ่งปริมาณต่อวันจะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้)
- การดูดซึมแคลเซียมในรูปแบบต่าง ๆ : ในผู้ที่มีสุขภาพดีที่ร่างกายผลิตกรดในกระเพาะอาหารได้เพียงพอ รูปแบบของแคลเซียมอาจไม่สำคัญ ดังที่แสดงให้เห็นในการศึกษาที่ให้ผู้เข้าร่วมรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมขนาด 500 มก. ในรูปแบบต่าง ๆ และนมสดที่ให้แคลเซียม 500 มก. หลังจากอดอาหารเป็นเวลา 16 ชั่วโมง แล้วพบว่า การดูดซึมแคลเซียมเฉลี่ยของ Calcium carbonate คือ 39%, Calcium acetate 32%, Calcium lactate 32%, Calcium citrate 30%, Calcium gluconate 27% และนมสดอยู่ที่ 31% (67)
- ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมทั้งหมดจากอาหารและอาหารเสริมที่เราบริโภค
- ในผู้ที่ร่างกายผลิตกรดในกระเพาะอาหารไม่เพียงพอหรือกำลังใช้ยาลดกรด (เช่น Omeprazole) แคลเซียมในรูปแบบ Calcium citrate หรือ Calcium citrate malate อาจดูดซึมได้ดีกว่าและ/หรือมีประสิทธิภาพมากกว่าในการเพิ่มระดับแคลเซียมได้มากกว่า Calcium carbonate หรือแคลเซียมในรูปแบบอื่น ๆ ที่ต้องใช้กรดในกระเพาะเพื่อให้ละลายได้ (68) เช่น การศึกษาที่พบว่าการรับประทานยาลดกรด Omeprazole ร่วมกับ Calcium carbonate แล้วพบว่าการดูดซึมแคลเซียมจะลดลงประมาณ 61%เมื่อเทียบกับยาหลอก (69) ในขณะที่ไม่พบว่าการดูดซึมจะลดลงเมื่อรับประทานแคลเซียมในรูป Calcium citrate malate (70) แต่มีข้อเสียคือ แคลเซียมในรูปแบบนี้มักจะมีราคาแพงกว่าและเม็ดยามีขนาดใหญ่กว่า
- ก่อนซื้ออาหารเสริมแคลเซียมควรพิจารณารูปแบบของแคลเซียม, ปริมาณแคลเซียมจริง ๆ ที่ร่างกายจะได้รับ รวมถึงส่วนผสมอื่น ๆ ด้วย เช่น วิตามินดี วิตามินเค ฯลฯ ก่อนเปรียบเทียบราคา (ตัวอย่าง ปริมาณ Calcium carbonate จะให้แคลเซียมจริง ๆ แค่ 40% เท่านั้น นั่นหมายความว่า Calcium carbonate 1,250 มก. จะมีแคลเซียมเพียง 500 มก.)
- รูปแบบและปริมาณของแคลเซียมที่แนะนำสำหรับแต่ละอาการ :
- สำหรับชะลอการสูญเสียมวลกระดูกและแคลเซียม โดยทั่วไปพบว่าการเสริมแคลเซียมซิเตรตวันละ 1,000-1,200 มก. ร่วมกับวิตามินดีวันละ 400-800 IU พบว่ามีประโยชน์ในการศึกษาหลายชิ้น
- สำหรับเสริมสร้างสร้างกระดูกในเด็กผู้หญิงอายุน้อย (อายุ 9 ถึง 13 ปี) การศึกษาพบประโยชน์จากการเสริมแคลเซียม 800 มก. (จากแคลเซียมซิเตรตและแคลเซียมคาร์บอเนต) และวิตามินดี3 400 IU เมื่อรับประทานเป็นประจำเป็นเวลา 6 เดือน (3)
- สำหรับลดอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) แคลเซียมคาร์บอเนตวันละ 1,000-1,200 มก. พบว่ามีประสิทธิภาพ
- กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดแคลเซียม : ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (การลดลงของการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง และเพิ่มการสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะและการสลายแคลเซียมจากกระดูก) และผู้ที่หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม (รวมถึงมังสวิรัติ)
- ดูเหมือนว่าการเสริมแคลเซียมจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อร่างกายได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในหลายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคลเซียมจึงมักมีวิตามินดีเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย
- การได้รับแคลเซียมจากอาหารปกติเป็นวิธีที่ดีและปลอดภัย หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ไม่มีแนะนำให้เสริมแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริม โดยเฉพาะในขนาดที่สูง
หากคุณบริโภคอาหารที่ให้แคลเซียมเพียงพอ เช่น ดื่มนมเป็นประจำ การเสริมแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริมก็ไม่จำเป็น และการได้รับแคลเซียมมากเกินไปก็ไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำต่อวัน
ต่อไปนี้คือปริมาณแคลเซียมที่แนะนำต่อวันสำหรับคนวัยต่าง ๆ (1)
- อายุ 0-6 เดือน วันละ 200 มก.
- อายุ 7–12 เดือน วันละ 260 มก.
- อายุ 1–3 ปี วันละ 700 มก.
- อายุ 4–8 ปี วันละ 1,000 มก.
- อายุ 9–13 ปี วันละ 1,300 มก.
- อายุ 14–18 ปี วันละ 1,300 มก. (ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร)
- อายุ 19–50 ปี วันละ 1,000 มก. (ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร)
- อายุ 51–70 ปี ในผู้ชายวันละ 1,000 มก. และในผู้หญิงวันละ 1,200 มก.
- อายุมากกว่า 70 ปี ทั้งผู้ชายและหญิงคือวันละ 1,200 มก.
ความเสี่ยงจากการได้รับแคลเซียมมากเกินไป
- ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (ระดับแคลเซียมในเลือดมากกว่า 10.5 มก./ดล.) และภาวะแคลเซียมในปัสสาวะสูง (ระดับแคลเซียมในปัสสาวะในผู้ชายมากกว่าวันละ 250 และในผู้หญิงมากกว่าวันละ 275 มก.) เป็นภาวะที่พบได้น้อยในคนที่มีสุขภาพดีและมักเกิดจากโรคหรือเงื่อนไขอื่น ๆ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ภาวะอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น เหนื่อยล้า ท้องผูก คลื่นไส้ น้ำหนักลด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ (1)
- ความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต การศึกษาพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เสริมแคลเซียม 1,000 มก. และวิตามินดี 400 IU ทุกวัน มีอุบัติการณ์การเกิดนิ่วในไตเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริม แต่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยมาก เนื่องจากมีเพียง 0.35% ที่รายงานว่าเป็นนิ่วในไต เมื่อเทียบกับ 0.3% ในกลุ่มที่ไม่เสริม (71) นอกจากนี้ American Society of Nephrology ระบุว่าการเสริมแคลเซียมอาจเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของนิ่วในไตในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยจากการทบทวนการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่มีประวัติเป็นนิ่วในไตที่เสริมแคลเซียมเฉลี่ยวันละ 439 มก. ก้อนนิ่วจะเติบโตเฉลี่ย 7.8 มิลลิเมตร/เดือน เมื่อเทียบกับ 4.49 มิลลิเมตร/เดือน ในกลุ่มที่ไม่ได้เสริม
- โรคหัวใจและหลอดเลือด การเสริมแคลเซียมทุกวันในปริมาณมาก เช่น วันละ 1,000 มก. อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงจะลดลงเมื่อเสริมวิตามินดีร่วมด้วย โดยมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องดังนี้
- อาหารเสริมแคลเซียม 1,000 มก. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อหัวใจตาย (72) ส่วนการศึกษาในเกาหลีพบว่าการเสริมแคลเซียมโดยเฉลี่ยวันละ 538 มก. อย่างน้อย 3 เดือน โดยไม่เสริมวิตามินดี จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น 54% แต่ไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเมื่อเสริมวิตามินดีร่วมด้วย (73)
- การเสริมแคลเซียมมากกว่าวันละ 1,000 มก. จากอาหารเสริม มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น 20% จากโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ในผู้ชาย แต่ไม่มีผลกับผู้หญิง (22)
- การเสริมแคลเซียมมากกว่าวันละ 1,000 มก. ในผู้ชายและผู้หญิงอายุ 40-89 ปี พบว่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบ (เช่น โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และความเสี่ยงก็สูงขึ้นในผู้ชาย 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า (74)
- ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เสริมแคลเซียมวันละ 800 มก. ในระยะยาวอาจส่งผลเสียทำให้ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น รวมทั้งความหนาของหลอดเลือดแดง ซึ่งสิ่งนี้สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดโรคหัวใจ (75)
- การได้รับแคลเซียมมากกว่าวันละ 1,500 มก. (ทั้งจากอาหารและอาหารเสริม) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม เมื่อเทียบกับปริมาณรวมต่อวันระหว่าง 500-1,000 มก. (1)
- ความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในสตรีที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง การศึกษาในผู้หญิงจำนวน 700 คนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อายุ 70-92 ปี เป็นเวลา 5 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับแคลเซียมเสริมมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริม (76)
- การได้รับแคลเซียมจากอาหารเสริมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค AMD (77)
- หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับแคลเซียมมากเกินอาจทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติได้
- การเสริมแคลเซียมในปริมาณสูงจากอาหารเสริม (โดยเฉพาะวันละ 900 มก .หรือมากกว่า) มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ (78)
สรุปเรื่องแคลเซียม
ไม่ค่อยพบประโยชน์จากการเสริมแคลเซียมในคนทั่วไปที่ร่างกายมักไม่ได้ขาดแคลเซียม การเสริมแคลเซียมอาจมีประโยชน์เฉพาะสำหรับผู้ที่ร่างกายขาดแคลเซียม เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริมที่ต้องเสริมในปริมาณที่พอดีและไม่มากจนเกินไป (โดยทั่วไปคือไม่เกินวันละ 500 มก. และห้ามเกินวันละ 1,000 มก. หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์)
งานวิจัยอ้างอิง
- National Institutes of Health (NIH). “Calcium”. (2023)
- FDA. “Small Entity Compliance Guide: Health Claims on Calcium and Osteoporosis; and Calcium, Vitamin D, and Osteoporosis”. (2009)
- Osteoporosis International. “Calcium and vitamin-D supplementation on bone structural properties in peripubertal female identical twins: a randomised controlled trial”. (2011)
- Archivos Latinoamericanos de Nutrición. “Calcium supplementation, bone mineral density and bone mineral content. Predictors of bone mass changes in adolescent mothers during the 6-month postpartum period”. (2012)
- Critical Reviews in Oncology/Hematology. “Calcium and vitamin D supplementation and loss of bone mineral density in women undergoing breast cancer therapy”. (2013)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Dietary Calcium Intake and Bone Loss Over 6 Years in Osteopenic Postmenopausal Women”. (2019)
- Osteoporosis International. “Calcium plus vitamin D supplementation and risk of fractures: an updated meta-analysis from the National Osteoporosis Foundation”. (2016)
- JAMA. “Association Between Calcium or Vitamin D Supplementation and Fracture Incidence in Community-Dwelling Older Adults: A Systematic Review and Meta-analysis”. (2017)
- JAMA. “Vitamin D, Calcium, or Combined Supplementation for the Primary Prevention of Fractures in Community-Dwelling Adults: Evidence Report and Systematic Review for the US Preventive Services Task Force”. (2018)
- The New England Journal of Medicine. “Calcium plus Vitamin D Supplementation and the Risk of Fractures”. (2006)
- Menopause. “Women’s Health Initiative clinical trials interaction of calcium and vitamin D with hormone therapy”. (2014)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Dietary patterns and hip fracture in the Adventist Health Study 2: combined vitamin D and calcium supplementation mitigate increased hip fracture risk among vegans”. (2021)
- JMBR PLUS. “Calcium Supplement Use Is Associated With Less Bone Mineral Density Loss, But Does Not Lessen the Risk of Bone Fracture Across the Menopause Transition: Data From the Study of Women’s Health Across the Nation”. (2019)
- The BMJ. “Effect of dietary sources of calcium and protein on hip fractures and falls in older adults in residential care: cluster randomised controlled trial”. (2021)
- Journal of Bone and Mineral Research. “Higher Dietary Calcium Intakes Are Associated With Reduced Risks of Fractures, Cardiovascular Events, and Mortality: A Prospective Cohort Study of Older Men and Women”. (2015)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Calcium supplementation for prevention of primary hypertension”. (2015)
- Journal of Cardiovascular Nursing. “The Effects of Dietary Calcium Supplements Alone or With Vitamin D on Cholesterol Metabolism: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials”. (2017)
- Circulation: Heart Failure. “Risk of heart failure among postmenopausal women: a secondary analysis of the randomized trial of vitamin D plus calcium of the women’s health initiative”. (2015)
- JAMA. “Vitamin D, Calcium, or Combined Supplementation for the Primary Prevention of Fractures in Community-Dwelling Adults: Evidence Report and Systematic Review for the US Preventive Services Task Force”. (2018)
- Nutrients. “Calcium Supplements and Risk of Cardiovascular Disease: A Meta-Analysis of Clinical Trials”. (2021)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Calcium intake and mortality from all causes, cancer, and cardiovascular disease: the Cancer Prevention Study II Nutrition Cohort”. (2016)
- JAMA Internal Medicine. “Dietary and Supplemental Calcium Intake and Cardiovascular Disease Mortality The National Institutes of Health–AARP Diet and Health Study”. (2013)
- Heart. “Supplemental calcium and vitamin D and long-term mortality in aortic stenosis”. (2022)
- Annals of Internal Medicine. “Lack of Evidence Linking Calcium With or Without Vitamin D Supplementation to Cardiovascular Disease in Generally Healthy Adults: A Clinical Guideline From the National Osteoporosis Foundation and the American Society for Preventive Cardiology”. (2016)
- British Journal of Nutrition. “Dietary intake of calcium and magnesium and the metabolic syndrome in the National Health and Nutrition Examination (NHANES) 2001-2010 data”. (2015)
- Scientific Reports. “Dietary Calcium Intake and the Risk of Metabolic Syndrome: A Systematic Review and Meta-Analysis”. (2019)
- British Journal of Nutrition. “The effects of vitamin D, K and calcium co-supplementation on carotid intima-media thickness and metabolic status in overweight type 2 diabetic patients with CHD”. (2016)
- Nutrition, Metabolism and Cardiovascular Diseases. “Dietary calcium intake and adiposity in children and adolescents: Cross-sectional and longitudinal results from IDEFICS/I.Family cohort”. (2019)
- European Journal of Clinical Nutrition. “Dairy products and total calcium intake at 13 years of age and its association with obesity at 21 years of age”. (2018)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Effects of calcium supplementation on body weight: a meta-analysis”. (2016)
- British Journal of Nutrition. “Effect of increasing dietary calcium through supplements and dairy food on body weight and body composition: a meta-analysis of randomised controlled trials”. (2015)
- Research Square. “Serum calcium as a biomarker of clinical severity and prognosis in patients with coronavirus disease 2019: a retrospective cross-sectional study”. (2020)
- Gastroenterology. “Mortality From Coronavirus Disease 2019 Increases With Unsaturated Fat and May Be Reduced by Early Calcium and Albumin Supplementation”. (2020)
- British Journal of Nutrition. “Consumption of dairy products and the 15-year incidence of age-related macular degeneration”. (2014)
- JAMA Ophthalmology. “Self-reported Calcium Supplementation and Age-Related Macular Degeneration”. (2015)
- JAMA Ophthalmology. “Association of Dietary and Supplementary Calcium Intake With Age-Related Macular Degeneration Age-Related Eye Disease Study Report 39”. (2019)
- Obstetrics & Gynecology. “Hypertension in pregnancy. Report of the American College of Obstetricians and Gynecologists’ Task Force on Hypertension in Pregnancy”. (2013)
- Hypertens Pregnancy. “Limited evidence for calcium supplementation in preeclampsia prevention: a meta-analysis and systematic review”. (2015)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Calcium supplementation during pregnancy for preventing hypertensive disorders and related problems”. (2014)
- Circulation. “Maternal calcium intake and offspring blood pressure”. (2004)
- Journal of General Internal Medicine. “Calcium supplementation in premenstrual syndrome: a randomized crossover trial”. (1989)
- Obstetrics & Gynecology Science. “Effect of calcium on premenstrual syndrome: A double-blind randomized clinical trial”. (2017)
- Taiwanese Journal of Obstetrics and Gynecology. “Effects of calcium supplement therapy in women with premenstrual syndrome”. (2009)
- Journal of Caring Sciences. “Effect of Combined Use of Calcium and Vitamin B6 on Premenstrual Syndrome Symptoms: a Randomized Clinical Trial”. (2016)
- American Journal of Obstetrics & Gynecology. “Dietary calcium and manganese effects on menstrual cycle symptoms”. (1993)
- Journal of Clinical Psychopharmacology. “A pilot study to compare fluoxetine, calcium, and placebo in the treatment of premenstrual syndrome”. (2013)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin D and calcium supplementation reduces cancer risk: results of a randomized trial”. (2007)
- JAMA. “Effect of Vitamin D and Calcium Supplementation on Cancer Incidence in Older Women A Randomized Clinical Trial”. (2017)
- British Journal of Nutrition. “Calcium supplements and cancer risk: a meta-analysis of randomised controlled trials”. (2013)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Calcium intake and mortality from all causes, cancer, and cardiovascular disease: the Cancer Prevention Study II Nutrition Cohort”. (2016)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Long-term follow-up for mortality and cancer in a randomized placebo-controlled trial of vitamin D(3) and/or calcium (RECORD trial)”. (2012)
- Public Health Nutrition. “Independent associations of dairy and calcium intakes with colorectal cancers in the Adventist Health Study-2 cohort”. (2017)
- International Journal of Cancer. “Calcium intake and colorectal cancer risk: dose-response meta-analysis of prospective observational studies”. (2014)
- World Journal of Gastroenterology. “Calcium supplementation for the prevention of colorectal adenomas: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials”. (2016)
- Journal of Women’s Health. “Calcium plus vitamin D supplementation and health outcomes five years after active intervention ended: the Women’s Health Initiative”. (2013)
- Cancer Prevention Research. “No Evidence for Posttreatment Effects of Vitamin D and Calcium Supplementation on Risk of Colorectal Adenomas in a Randomized Trial”. (2019)
- The New England Journal of Medicine. “A Trial of Calcium and Vitamin D for the Prevention of Colorectal Adenomas”. (2015)
- Preventing Chronic Disease. “Dietary Calcium and Risk for Prostate Cancer: A Case-Control Study Among US Veterans”. (2012)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “Circulating vitamin D and risk of prostate cancer–letter”. (2012)
- British Journal of Nutrition. “Dairy products, calcium and phosphorus intake, and the risk of prostate cancer: results of the French prospective SU.VI.MAX (Supplémentation en Vitamines et Minéraux Antioxydants) study”. (2006)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Dairy products, calcium, and prostate cancer risk: a systematic review and meta-analysis of cohort studies”. (2015)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “Risk of prostate cancer in a randomized clinical trial of calcium supplementation”. (2005)
- British Journal of Nutrition. “Calcium intake and breast cancer risk: meta-analysis of prospective cohort studies”. (2016)
- Nutrients. “Calcium Intake and the Risk of Ovarian Cancer: A Meta-Analysis”. (2017)
- Archives of Internal Medicine. “Dietary Supplements and Mortality Rate in Older Women The Iowa Women’s Health Study”. (2011)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Calcium and vitamin D intake and mortality: results from the Canadian Multicentre Osteoporosis Study (CaMos)”. (2013)
- Clinical Nutrition. “Long-term effects of folic acid and vitamin-B12 supplementation on fracture risk and cardiovascular disease: Extended follow-up of the B-PROOF trial”. (2020)
- Current Gastroenterology Reports. “Chronic PPI Therapy and Calcium Metabolism”. (2015)
- The American Journal of Medicine. “Effects of proton pump inhibitors on calcium carbonate absorption in women: a randomized crossover trial”. (2005)
- Journal of Bone and Mineral Research. “Do Proton Pump Inhibitors Decrease Calcium Absorption?”. (2010)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Urinary tract stone occurrence in the Women’s Health Initiative (WHI) randomized clinical trial of calcium and vitamin D supplements”. (2011)
- The BMJ. “Calcium supplements with or without vitamin D and risk of cardiovascular events: reanalysis of the Women’s Health Initiative limited access dataset and meta-analysis”. (2011)
- European Heart Journal – Cardiovascular Pharmacotherapy. “Cardiovascular risks associated with calcium supplementation in patients with osteoporosis: a nationwide cohort study”. (2022)
- Journal of the American Heart Association. “Risk of Ischemic Stroke Associated With Calcium Supplements With or Without Vitamin D: A Nested Case‐Control Study”. (2017)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Long-term calcium supplementation may have adverse effects on serum cholesterol and carotid intima-media thickness in postmenopausal women: a double-blind, randomized, placebo-controlled trial”. (2013)
- Neurology. “Calcium supplementation and risk of dementia in women with cerebrovascular disease”. (2016)
- JAMA Ophthalmology. “Self-reported Calcium Supplementation and Age-Related Macular Degeneration”. (2015)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin D and calcium intake and risk of early menopause”. (2017)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2023