10 ประโยชน์ของอะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) ตามงานวิจัย!

10 ประโยชน์ของอะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) ตามงานวิจัย!

ประโยชน์ของอะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry)

ใครจะไปคาดคิดว่าไวรัสที่แจ้งเกิดเมื่อปี 2019 หรือโควิด-19 (Covid-19) จะส่งผลกระทุบรุนแรงไปทั่วโลกและขยายเป็นวงกว้างได้ขนาดนี้ อีกทั้งยังสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัน ติดเชื้อหายแล้วก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลองโควิด (Long COVID) ได้อีก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงยิ่งต้องระวัง เพราะภูมิคุ้มกันน้อยติดเชื้อแล้วเสี่ยงต่อการเกิดอาการหนักหรือเกิดภาวะลองโควิดตามมาได้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหรือผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ภูมิคุ้มกันน้อยหรือภูมิตกจากการทำงานหรือจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เช่น พักผ่อนน้อย มีความเครียดสูง ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ขาดการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ต้องเผชิญมลภาวะ ฝุ่นควันหรือสารต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ

ทำให้ในยุคนี้ การใช้ชีวิตของเราจึงเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังตัวมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเองอยู่แล้ว หรือเดินออกจากบ้านได้แบบไม่ต้องกังวลอะไร กลับต้องมากังวลและสรรหาสารพัดตัวช่วยเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง เพื่อเป็นเกราะป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงจากการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในวิธีเหล่านั้นจะต้องมีอาหารเสริมภูมิคุ้มกันในรูปแบบของวิตามินเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ อย่างแน่นอน โดยเฉพาะ “อะเซโรลา เชอร์รี่” หรือ “ราชินีแห่งวิตามินซี” ในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบกันว่าอะเซโรลาเชอร์รี่มันคืออะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง แล้วจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้เราได้อย่างไร?

อะเซโรลา เชอร์รี่

อะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) เป็นพืชชนิดหนึ่งในวงศ์ Malpighiaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Malpighia emarginata DC. และมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “West Indies cherry”, “Barbados cherry” แต่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “Acerola” (อะเซโรลา)

ต้นอะเซโรลามีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของซีกโลกตะวันตก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน และผลจะสุกภายใน 3-4 สัปดาห์หลังดอกบาน ผลอะเซโรลาจะมีลักษณะคล้ายผลเชอร์รี่ ผลมีขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-4 ซม.) และหนักประมาณ 2-15 กรัม โดยผลดิบจะเป็นสีเขียว (มีวิตามินสูงสุด) แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงและสีแดงสดเมื่อสุก มีรสชาติน่ารับประทาน ออกรสหวานเล็กน้อยและมีรสเปรี้ยวเป็นหลัก หอม และฝาด (ความหวานจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก สายพันธุ์ส่วนใหญ่รสจะค่อนข้างเปรี้ยวและฝาด) คนท้องถิ่นนิยมนำผลสุกมารับประทานหรือใช้ปรุงเป็นอาหาร [1]

อะเซโรลาขึ้นชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งวิตามินซี” เนื่องจากผลไม้ชนิดนี้มีวิตามินซีหรือกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) สูงมาก โดยพบว่าผลสด 100 กรัม (100,000 mg) จะให้วิตามินซีประมาณ 1,500-4,500 มก. (มากกว่าส้มหรือมะนาวประมาณ 50-100 เท่า) [1] หรือโดยเฉลี่ยคือ 1680 มก. (ประมาณ 1.68%) [2] จากการศึกษาผลไม้ที่มีวิตามินซีหลายชนิดพบว่า อะเซโรลาเชอร์รี่มีวิตามินซีสูงกว่าผลไม้เกือบทั้งหมด และอะเซโรลายังเป็นของวิตามิน แร่ธาตุ และสารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ด้วย [3]

อย่างไรก็ตาม ในบ้านเราจะพบอะเซโรลาได้ในรูปแบบวิตามินหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น เนื่องจากอะเซโรลาเป็นผลไม้ที่ปลูกได้เฉพาะในบางพื้นที่ และหลังเก็บเกี่ยวก็เน่าเสียได้ง่ายและเร็วมาก (ภายใน 5 วัน) ซึ่งจะทำให้สูญเสียวิตามินและสารอาหารสำคัญไปมาก (แม้แต่ในน้ำผลไม้ก็ยังเน่าเสียได้ง่าย หากไม่ใส่สารกันบูด) เพราะยิ่งผลอะเซโรลาสุกมากเท่าไหร่ ปริมาณของวิตามินซีและสารสำคัญอื่น ๆ ก็จะยิ่งสูญเสียไปมากเท่านั้น (วิธีที่ดีที่สุดคือการรับประทานแบบผลสด ๆ ซึ่งต้องปลูกเองเท่านั้น และภายหลังเก็บเกี่ยวสด ๆ ต้องนำไปแช่แข็งทันที ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในบ้านเรา) [3]

อะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Malpighia emarginata DC.
อะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Malpighia emarginata DC.

ปริมาณสารอาหารของอะเซโรลาเชอร์รี่ (100 กรัม)

ตามข้อมูลของ USDA (กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา) ระบุว่า อะเซโรลาเชอร์รี่ดิบ 100 กรัม (ประมาณหนึ่งถ้วย) [2] จะให้สารอาหารสำคัญดังนี้: 

  • พลังงาน 32 แคลอรี (kcal)
  • โปรตีน 0.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 7.69 กรัม
  • ไฟเบอร์ 1.1 กรัม
  • วิตามินซี 1680 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 767 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 (Thiamin) 0.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 (Riboflavin) 0.06 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 (Niacin) 0.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 5 (Pantothenic acid) 0.309 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 (Pyridoxine) 0.009 มิลลิกรัม
  • โฟเลต (Folate) 14 ไมโครกรัม
  • แคลเซียม 12 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.2 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 18 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 146 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 7 มิลลิกรัม
  • สังกะสีหรือซิงค์ 0.1 มิลลิกรัม
  • ทองแดง 0.086 มิลลิกรัม
  • ซีลีเนียม 0.6 ไมโครกรัม

อะเซโรลาเชอร์รี่เพียง 1 ถ้วยให้ปริมาณวิตามินซีโดยเฉลี่ยสูงถึง 1,680 มก. (เทียบกับส้มประมาณ 16 ถ้วย) และยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี และแร่ธาตุต่าง ๆ การบริโภคอะเซโรลาเพียง 3 ผลก็สามารถให้ปริมาณวิตามินซีที่ต้องได้รับในแต่ละวันแล้ว (ปริมาณของสารอาหารที่แนะนำให้คนปกติทั่วไปบริโภคต่อวัน (RDA) สำหรับวิตามินซี คือ 90 มก. (ผู้ใหญ่เพศชาย) และ 75 มก. (ผู้ใหญ่เพศหญิง)) [1]

สารสำคัญในอะเซโรลาเชอร์รี่

อะเซโรลาเชอร์รี่เป็นหนึ่งในผลไม้เพียงไม่กี่ชนิดที่นอกจากจะให้วิตามินซีและวิตามินเอสูงแล้ว ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น รวมทั้งสารไฟโตนิวเทรียนท์ที่มีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย เช่น ฟลาโวนอยด์, แอนโทไซยานิน, แคโรทีนอยด์ และกรดฟีนอลิก ด้วยเหตุนี้ อะเซโรลาจึงเป็นแหล่งรวมของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง [1],[3]

  • วิตามินซีสูงมาก! ประมาณ 1,500-4,500 มก./ต่อ 100 กรัม (ประมาณ 1 ถ้วยหรือ 3.4 ออนซ์) นั่นคือสูงกว่าส้มหรือมะนาวประมาณ 50-100 เท่า
  • วิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ โดยเฉพาะวิตามินเอ วิตามินบี 1 ถึงบี 9 และแร่ธาตุอีกหลายชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สังกะสี ฯลฯ
  • ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) คือ สารพฤกษเคมีที่พบได้เฉพาะในพืชอย่างผักและผลไม้ ซึ่งผักผลไม้แต่ละชนิดจะมีสารไฟโตนิวเทรียนท์แตกต่างกันไป และไฟโตนิวเทรียนท์แต่ละชนิดก็ให้ประโยชน์ไม่เหมือนกัน แต่สำหรับอะเซโรลาเชอร์รี่นั้นจะอุดมไปด้วย
    • ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แบ่งออกเป็น 6 ชนิดหลัก ๆ แต่ชนิดที่พบได้มากในอะเซโรลาเชอร์รี่จะเป็นฟลาโวนอล (Flavonols) และแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) โดยเฉพาะแอนโทไซยานินที่มีบทบาทเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ปกป้องหลอดเลือด (ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด) ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง มีฤทธิ์ต้านไวรัส และยับยั้งเชื้ออีโคไลในทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย
    • แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) กลุ่มสารอาหารขนาดใหญ่ที่มักพบได้ในผักผลไม้ที่มีสีสันสดใส มีหลายชนิดย่อย แต่ชนิดที่คุ้นเคยและพบได้มากในอะเซโรลาเชอร์รี่จะเป็นเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ตัวช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี บำรุงและปกป้องดวงตา เพิ่มความจำและกระตุ้นสมอง ฯลฯ และลูทีน (Lutein)
  • กรดฟีนอลิก (Phenolic Acid) เป็นสารไฟโตเคมิคอลหรือสารพฤกษเคมี (Phytochemical) ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพที่ดี เพราะมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถช่วยปกป้องเซลล์ต่าง ๆ จึงช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคและช่วยในการชะลอวัยได้

ประโยชน์ของอะเซโรลาเชอร์รี่

1. แหล่งของวิตามินซีตามธรรมชาติ อะเซโรลาเป็นที่รู้จักมากในฐานะผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ด้วยเหตุนี้อะเซโรลาเชอร์รี่จึงอาจจะมีประโยชน์ดังต่อไปนี้ 

  • ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัด [3] โดยมีการศึกษาที่พบว่า การได้รับวิตามินซีเป็นประจำสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เล็กน้อย นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันการเป็นหวัดได้ในบางกรณี เช่น ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก [5]
  • ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน และอาจช่วยป้องกันหรือรักษาภาวะขาดวิตามินซีได้ (กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้สูบบุหรี่ ผู้มีภาวะแอลกอฮอล์เรื้อรัง และผู้มีอาการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ) [4]
  • ช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในผิวหนัง เส้นเอ็น กระดูกอ่อน และหลอดเลือด หากร่างกายผลิตคอลลาเจนได้ไม่เพียงพอจะส่งผลต่อผิวหนัง เกิดริ้วรอยก่อนวัย ส่งผลต่อข้อต่อหรือกระดูก ทำให้กระดูกเสื่อม ปวดเข่า ข้อต่อเสื่อม เป็นต้น [3]

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของวิตามินซี, คอลลาเจน

2. อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาพบว่า อะเซโรลาเชอร์รี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินเอ ฟลาโวนอยด์ แคโรทีนอยด์ และกรดฟีนอลิก [3],[6] ซึ่งเป็นตัวช่วยต่อสู้กับความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidative stress) ตัวการที่ทําให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายที่สามารถนำไปสู่การแก่ชราก่อนวัยและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ แม้กระทั่งโรคมะเร็ง

  • ต่อต้านวัย อะเซโรลาเชอร์รี่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด จึงช่วยต่อสู้กับความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันซึ่งเกิดขึ้นในระดับเซลล์ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้แก่ก่อนวัย [7]
  • ลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง ด้วยอะเซโรลาเชอร์รี่อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์อย่างสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน [7]
  • อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยมีการศึกษาในห้องปฏิบัติการที่แสดงให้เห็นว่า เชอร์รี่ (ซึ่งรวมถึงอะเซโรลาเชอร์รี่) มีสารต้านอนุมูลอิสระและมีวิตามินซี มีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป [3],[7],[8]

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของวิตามินเอ (Vitamin A) จากงานวิจัย !

3. เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ด้วยอะเซโรลาเชอร์รี่เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและสารไฟโตนิวเทรียนท์ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งมีในผลไม้เพียงไม่กี่ชนิด สารเหล่านี้จึงช่วยป้องกันความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่อาจนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ช่วยต่อสู้หรือยับยั้งต่อการพัฒนาหรือการลุกลามของโรคต่าง ๆ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

  • อะเซโรลามักถูกใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระร่วมกับวิตามินหรือสารอื่น ๆ เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของภูมิคุ้มกัน [3] (การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการบริโภคผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและวิตามินเอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร โรคมะเร็งบางชนิด ความผิดปกติของระบบประสาท ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น)
  • สารแอนโทไซยานินในอะเซโรลายังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งหมายความว่าอาจช่วยบรรเทาอาการเรื้อรังและอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ เช่น โรคข้ออักเสบ

4. ปกป้องผิว ช่วยผิวอ่อนเยาว์ และปรับผิวให้กระจ่างใส อะเซโรลาเชอร์รี่ไม่เพียงแต่ดีต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพผิวอีกด้วย หากผิวของคุณดูหมองคล้ำ แห้งเสีย หรือระคายเคือง อะเซโรลาอาจคือคำตอบ! เพราะผลไม้ชนิดนี้สามารถส่งเสริมให้ผิวมีสุขภาพดีขึ้น ทำให้ผิวอ่อนเยาว์ มีความยืดหยุ่น เปล่งปลั่ง ผิวดูเรียบเนียนและกระจ่างใสขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี ลดปัญหาริ้วรอยก่อนวัย และแก้ปัญหาสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ [3],[7],[9]

  • วิตามินซีจำเป็นสำหรับการสร้างคอลลาเจนซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมาก ความเข้มข้นของวิตามินซีในผิวหนังจะลดลง ทำให้สูญเสียคอลลาเจนและอีลาสติน ส่งผลให้เกิดริ้วรอยและริ้วรอยก่อนวัยได้ง่าย โชคดีที่การเสริมคอลลาเจนสามารถช่วยฟื้นฟูความเสียหายของผิว แถมยังช่วยให้ความชุ่มชื้นกับผิว โดยลดการสูญเสียน้ำของผิวชั้นนอก ทำให้ผิวกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดีขึ้น และวิตามินซียังช่วยลดรอยแดงและผิวคล้ำเสีย เพราะมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ [9]
  • วิตามินเอในอะเซโรลาเชอร์รี่ เป็นตัวช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีจากแสงแดด จากการศึกษาพบว่า การรับประทานอาหารที่มีวิตามินสูงจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเซลล์สความัส (SCC) ได้ประมาณ 17% เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานในปริมาณน้อย (มะเร็งผิวหนังชนิดนี้เป็นชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยมาก) [9]
  • สารฟลาโวนอยด์และแคโรทีนอยด์ ดูเหมือนจะช่วยชะลอกระบวนการแก่ชรา จึงช่วยลดหรือชะลอริ้วรอยก่อนวัย และแก้ปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอ [7]
  • อาจช่วยให้ผิวกระจ่างใส การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าอะเซโรลามีผลทำให้ผิวขาวขึ้นตามธรรมชาติ ช่วยลดรอยดำและจุดด่างดำได้ และยังมีการศึกษาในหนูทดลองที่ผลการทดลองพบว่า ทำให้ผิวกระจ่างใสขึ้น [10]

5. ดีต่อสมอง อะเซโรลาเชอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีสารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งสารนี้สามารถช่วยลดการอักเสบและความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ทำให้เกิดความหายต่อเซลล์ประสาทและเซลล์สมอง โดยรวมจึงอาจช่วยปรับการทำงานของสมองและป้องกันการสูญเสียความทรงจำและความผิดปกติทางปัญญาอื่น ๆ ได้ แม้จะมีหลักฐานการทดลองทางคลินิกที่ไม่มากในเรื่องนี้ แต่สารต้านอนุมูลอิสระจากพืชผักผลไม้ก็มีหลักฐานหลายชิ้นระบุว่า สามารถชะลอการลุกลามความผิดปกติของระบบประสาทได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคฮันติงตัน [11]

6. อาจดีต่อเส้นผมและหนังศีรษะ มีการใช้น้ำมันหรือสารสกัดจากอะเซโรลาเชอร์รี่ร่วมกับน้ำมันให้ความชุ่มชื้นอื่น ๆ เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันอัลมอนด์ ในการบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ เพื่อช่วยให้เส้นผมแข็งแรง เงางาม ป้องกันการแตกหักของเส้นผม และลดการติดเชื้อที่บริเวณหนังศีรษะ

7. ดีต่อดวงตา เนื่องจากอะเซโรลาเชอร์รี่มีวิตาเอสูง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเบต้าแคโรทีน และวิตามินเอนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญต่อการบำรุงรักษาสุขภาพดวงตา [7]

8. ดีต่อสุขภาพช่องปากและฟัน เนื่องจากอะเซโรลาเชอร์รี่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคอย่างเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย [12] จึงมีในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปากต้านจุลชีพเพื่อป้องกันการติดเชื้อในช่องปาก ป้องกันฟันผุ และปกป้องเหงือก [3]

9. ระบบย่อยอาหาร อะเซโรลาเชอร์รี่จัดเป็นยารสฝาด จึงมีการนำมาใช้ในทางการแพทย์แผนโบราณมานานหลายศตวรรษแล้ว โดยส่วนใหญ่มักนำมาใช้เพื่อรักษาอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง โรคบิด ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญและการย่อยอาหาร รวมถึงใช้รักษาอาการผิดปกติของตับ แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องเหล่านี้ [3],[13]

10. ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากประโยชน์ข้างต้นแล้ว อะเซโรลายังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น ใช้ป้องกันโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่, อาการไอ, ไข้ละอองฟาง, ป้องกันโรคหัวใจ, อาการซึมเศร้า, รักษาโรคตับ, ใช้เป็นยาทาสมานผิว, ใช้ต้านเชื้อรา, แผลกดทับ, เลือดออกในตา, ฟันผุ, เหงือกอักเสบ, ใช้เพื่อให้พลังงานและลดอาการเมื่อยล้าหลังออกกำลังกายและลดการอักเสบต่าง ๆ, ใช้ในนักกีฬาเพื่อเพิ่มความอดทนของร่างกาย (Athletic endurance) เป็นต้น [3],[4] นอกจากนี้ อะเซโรลาเชอร์รี่ยังมีฤทธิ์สำคัญอื่น ๆ อีก ได้แก่

  • ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด (ในหนูทดลอง) [14]
  • ฤทธิ์น้ำตาลในเลือดและระดับไขมัน (ในหนูทดลอง) โดยมีฤทธิ์ลดระดับกลูโคส คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-c) [15]
  • ฤทธิ์ต้านมะเร็ง (ในหนูที่มีเนื้องอกในปอด) [16],[17]
  • ฤทธิ์ป้องกันตับ (ในหนูทดลอง) [18]
  • ฤทธิ์ป้องกันรังสี (ในหนูทดลอง) [19]

“ในปัจจุบัน อะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นอาหารเสริมและมีการกล่าวอ้างสรรพคุณมากมาย แต่ไม่ใช่ทุกประโยชน์ที่พูดถึงจะมีงานวิจัยรองรับ[3] อย่างไรก็ตาม อะเซโรลาดูเหมือนจะมีประโยชน์ชัดเจนในเรื่องการต่อต้านอนุมูลอิสระและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง สามารถใช้ป้องกันภาวะขาดวิตามินซีที่รวมถึงโรคเลือดออกตามไรฟันได้ และอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพผิวและอื่น ๆ ส่วนประโยชน์อื่น ๆ โดยเฉพาะการศึกษาในหลอดทดลองยังจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไปเพื่อประเมินหรือยืนยันประสิทธิภาพดังกล่าว[4]

อาหารเสริมอะเซโรลาเชอร์รี่

เรามักจะไม่ได้พบอะเซโรลาเชอร์รี่อยู่ในรูปของผลไม้สด เพราะผลไม้ชนิดนี้เน่าเสียได้ง่าย และยิ่งสุกวิตามินซีและสารสำคัญอื่น ๆ ก็จะยิ่งลดลง เราจึงพบอะเซโรลาเชอร์รี่อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเม็ด แคปซูล แบบผง แบบเคี้ยว และแบบสารสกัดเหลวหรือ Liquid extract (Tincture) โดยเฉพาะในรูปแบบเม็ดหรือแบบแคปซูลที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยมมากในบ้านเรา เนื่องจากเป็นรูปแบบที่หาซื้อได้ง่ายและทานได้สะดวกกว่ารูปแบบอื่น ๆ [3]

มีรายงานการศึกษาเรื่องการดูดซึมวิตามินซีของอะเซโรลาเชอร์รี่ที่พบว่า ดูดซึมได้ดีกว่าวิตามินซี (Ascorbic acid) แบบสังเคราะห์ และยังพบด้วยว่าวิตามินซีจากอะเซโรลาเชอร์รี่สามารถดูดซึมได้ง่ายเมื่อรับประทานในขนาด 100 มก. แต่ในขนาดที่สูงถึง 500 มก. พบว่าประสิทธิภาพในการดูดซึมจะลดลง (ขนาดที่ระบุไว้คือปริมาณของวิตามินซี ไม่ใช่ปริมาณของสารสกัดอะเซโรลาเชอร์รี่*) [1]

ด้วยเหตุนี้ วิตามินซีจากอะเซโรลาจึงได้รับความนิยมทานกันอย่างแพร่หลายเพื่อทดแทนกรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซีสังเคราะห์ เพราะนอกจากจะดูดซึมได้ดีกว่าแล้ว อะเซโรลายังอาจให้ประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่น ๆ ได้มากกว่า และที่สำคัญคือปลอดภัยกว่าวิตามินซีในรูปแบบสังเคราะห์ (ในขนาดวิตามินซีเท่ากัน) นอกจากนี้ ทางผู้ผลิตยังนิยมใช้อะเซโรลาเป็นส่วนประกอบสำคัญร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระหรือวิตามินอื่น ๆ เพื่อช่วยเสริมฤทธิ์ในเรื่องการเสริมภูมิคุ้มกันให้ดียิ่งขึ้น [7] (ตัวอย่างตามรีวิวด้านล่าง)

หมายเหตุ : อะเซโรลาในรูปแบบสารสกัด (Acerola Cherry Extract) โดยทั่วไปจะให้วิตามินซีประมาณ 1.5-1.7% ดังนั้น ในผลิตภัณฑ์ Acerola Cherry 1,000 มก. อาจมีวิตามินซีเพียง 15-17 มก. อย่างไรก็ตาม ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีการสกัดเป็นอะเซโรลาเข้มข้นที่จะให้วิตามินซีในปริมาณที่สูงกว่า คือ 6% (ประมาณ 60 มก. จากสารสกัด 1,000 มก.) ดังนั้น หากคุณกำลังมองหาประโยชน์จากวิตามินซีเพียงอย่างเดียว ผลิตภัณฑ์ Acerola Cherry อาจไม่ใช่คำตอบ

ความปลอดภัยและข้อควรระวัง

โดยปกติแล้วอะเซโรลาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีความปลอดภัยสูงมาก โดยเฉพาะหากเรารับประทานตามคำแนะนำบนฉลากหรือทานตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร [3],[4]

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์อะเซโรลาบางตัวอาจมีส่วนผสมของอะเซโรลาและ/หรือร่วมกับวิตามินซีในขนาดที่สูงมากก็ได้ คือ มีวิตามินซีรวมกันต่อเม็ดเกิน 2,000 มก. ที่เมื่อทานแล้วอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง ง่วงนอน หรือนอนไม่หลับได้ โดยเฉพาะในผู้ที่กระเพาะไวต่อความเป็นกรด [4],[13] และหากทานต่อเนื่องเป็นเวลานานก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตได้ [3]

นอกจากนี้ ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ป่วยนิ่วในไต และผู้ที่รับประทานยาบางชนิด ควรระมัดระวังการรับประทานอะเซโรลาเชอร์รี่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อใช้ในขนาดสูง ๆ หรือหากไม่มั่นใจให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

  • หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร : ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอถึงความปลอดภัยในการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยนิ่วในไต (ไตอักเสบ) : อะเซโรลาอาจทำให้อาการหรือภาวะของโรคแย่ลงได้ หากรับประทานวิตามินซีในปริมาณมาก [4]
  • ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด : การได้รับวิตามินซีในขนาดสูง (จากอะเซโรลา) อาจมีผลไปลดประสิทธิภาพของยา Warfarin (ยาลดการแข็งตัวของเลือด), Fluphenazine หรือ Prolixin (ยารักษาโรคจิตเภท), ยากลุ่ม Alkylating agents และ Antitumor antibiotics (ยาสำหรับโรคมะเร็ง) [4] นอกจากนี้ ยังอาจมีผลไปเพิ่มการดูดซึมของอะลูมิเนียม (ต้องระวังในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตและทานยาที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียม) [13] เพิ่มการดูดซึมของฮอร์โมนเอสโตรเจน (ต้องระวังในผู้ที่ใช้ยาเอสโตรเจนบางชนิด เช่น Premarin®, Ethinylestradiol, Estradiol ฯลฯ) [4]

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือน่ากังวลอะไร หากคุณรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอะเซโรลาทั่วไปที่ไม่ได้มีปริมาณรวมกันของวิตามินซีในขนาดที่สูงเกินกว่า 2,000  มก. ขึ้นไป (ผลิตภัณฑ์อะเซโรลาเชอร์รี่ที่อยู่ในรูปของอาหารเสริมที่ขายในไทยจะมีวิตามินซีได้ไม่เกิน 60 มิลลิกรัม จึงไม่ต้องเป็นกังวล)

รีวิวผลิตภัณฑ์ VISTRA IMU-PRO C Acerola Cherry 2000 Plus ใหม่ล่าสุด

ผลิตภัณฑ์ที่นำมารีวิวเพื่อใช้ประกอบเนื้อหาในบทความนี้เป็นของยี่ห้อ VISTRA ซึ่งหลาย ๆ คนที่ทานวิตามินซีกันเป็นประจำอยู่แล้ว น่าจะรู้จักยี่ห้อนี้ดี ในฐานะ “อาหารเสริมอะเซโรลาเชอร์รี่” หรือ “วิตามินซีจากธรรมชาติ

แต่ที่มีอัพเดทเปลี่ยนแปลงไปก็คือ ทาง VISTRA ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเน้นไปที่เรื่องการเสริมภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น (จากเดิมส่วนประกอบสำคัญจะเน้นไปที่สารที่มีประโยชน์ในเรื่องผิวพรรณมากกว่าการเสริมภูมิคุ้มกัน) และใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “วิสทร้า ไอมู-โปร ซี อะเซโรลา เชอร์รี่ 2000 พลัส” (VISTRA IMU-PRO C Acerola Cherry 2000 Plus) ซึ่งเราจะมาวิเคราะห์กันว่าส่วนประกอบสำคัญในวิสทร้าอะเซโรลาสูตรใหม่จะมีสารสำคัญอะไรบ้างและสารแต่ละตัวจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

รีวิวอาหารเสริม วิสทร้า ไอมู-โปร ซี อะเซโรลา เชอร์รี่ 2000 พลัส (VISTRA IMU-PRO C Acerola Cherry 2000 Plus)
รีวิวอาหารเสริม วิสทร้า ไอมู-โปร ซี อะเซโรลา เชอร์รี่ 2000 พลัส (VISTRA IMU-PRO C Acerola Cherry 2000 Plus)

วิเคราะห์ส่วนประกอบสำคัญใน 1 เม็ด :

  1. อะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry Extract) 1,000 มก. (สกัดจากผลอะเซโรลาเชอร์รี่ 2,000 มก. จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ราชินีแห่งวิตามินซีที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ และสารไฟโตนิวเทรียนท์ต่าง ๆ
    • วิตามินซี (Vitamin C) ตรงนี้เข้าใจว่าให้วิตามินซีประมาณ 60 มิลลิกรัม เพราะฉลากข้างขวดระบุว่าใน 1 เม็ดให้วิตามินซี 100% ของ Thai RDI หรือสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคประจําวันสําหรับคนไทย (ซึ่งตามปริมาณของ Thai RDI ก็คือวิตามินซี 60 มิลลิกรัม) สำหรับประโยชน์นั้นก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นวิตามินที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยเสริมความแข็งแรงของเม็ดเลือดขาวในการต่อสู้กับเชื้อโรค ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัด ป้องกันภาวะขาดวิตามินซีอย่างโรคเลือดออกตามไรฟัน ฯลฯ และการรับประทานวิตามินซีจากอะเซโรลายังอาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมเอาวิตามินซีไปใช้ได้ดีกว่าวิตามินซีแบบสังเคราะห์
    • สารไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) เป็นสารที่ได้จากการรับประทานผักและผลไม้สีต่าง ๆ กัน และเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าหากทานเป็นประจำและทานอย่างหลากหลายหรือหลายสีหลายชนิด ร่างกายจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่เพียงพอและครอบคลุมต่อการกำจัดอนุมูลอิสระต่าง ๆ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังและส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ [20] ซึ่งในอะเซโรลาเชอร์รี่ก็อุดมไปด้วยสารไฟโตนิวเทรียนท์ที่สำคัญหลายชนิดอย่าง เช่น ฟลาโวนอยด์อย่างสารแอนโทไซยานิน, แคโรทีนอยด์อย่างเบต้าแคโรทีนและลูทีน รวมทั้งกรดฟีนอลิก เป็นต้น ที่นอกจากจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังแล้วยังมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่น ๆ ด้วยดังที่กล่าวไปแล้ว
    • นอกจากนี้ อะเซโรลาเชอร์รี่โดยตัวมันเองแล้วยังมีประโยชน์ในเรื่องผิวพรรณ โดยอาจช่วยส่งเสริมให้ผิวมีสุขภาพดีขึ้น ผิวดูอ่อนเยาว์ มีความยืดหยุ่น เปล่งปลั่ง ผิวดูเรียบเนียนและกระจ่างใสขึ้น ช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี ลดปัญหาริ้วรอยก่อนวัย และอาจแก้ปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอได้ [3],[7],[9],[10]
  2. เควอเซทิน (Quercetin) 40 มก.
    • เควอเซทินเป็นสารในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูงมาก จึงอาจมีประโยชน์ในการนำมาใช้เสริมภูมิคุ้มกัน [23] จากงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการพบว่า เควอเซทินมีฤทธิ์ในการป้องกันและยับยั้งการติดเชื้อไวรัสได้หลายชนิด เช่น ไข้หวัดใหญ่, ชิคุนกุนยา, ไวรัสเอ็บสไตบาร์, ไวรัสตับอักเสบซี, ไวรัสอีโบลา, ไวรัสซิกา และ SARS-CoV (ซาร์ส) [24],[25],[26] โดยป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ (มีผลช่วยลดปริมาณไวรัส) และยังมีหลักฐานว่าการใช้เควอเซทินร่วมกับวิตามินซีและวิตามินดีจะช่วยเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันในการกำจัดไวรัสได้ดีขึ้น และช่วยให้เควอเซทินออกฤทธิ์ได้ยาวนานมากขึ้น [27]
    • ตัวอย่างการศึกษา เช่น ผู้ที่ได้รับการเสริมเควอเซทินในขนาดสูงช่วยลดอุบัติการณ์ของเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน (URTI) อย่างโรคไข้หวัด [28], หนูที่ได้รับการฉีดเควอเซทิน (quercetin 3-β-O-d-glucoside) ก่อนติดเชื้ออีโบลา พบว่าทั้งหมดรอดตายจากการติดเชื้อชนิดนี้ ในขณะที่หนูที่ไม่ได้รับการฉีดเควอเซทินทุกตัวตายหมด [24], ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) พบว่ากลุ่มที่ได้รับการเสริมเควอเซทินร่วมกับการรักษามาตรฐานเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐานเพียงอย่างเดียว พบว่าช่วยลดโอกาศที่ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลลง (9.2% เทียบกับ 28.9%), การใช้เครื่องช่วยหายใจ (1.3% ต่อ 19.7%), การเข้ารักษาในห้อง ICU (0% ต่อ 10.5%), ลดอัตราการเสียชีวิต (0 ต่อ 3) และลดระยะเวลาในการรักษาที่โรงพยาบาลสั้นลง 5 วัน [29] อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกการศึกษาจะให้ผลลัพธ์สอดคล้องกัน เพราะบางการศึกษาพบว่า การเสริมเควอเซทินร่วมกับการรักษามาตรฐานไม่ได้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหรือระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาในห้อง ICU, ไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต, ไม่ได้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาล และอาการต่าง ๆ ของโรคพบว่าทั้งกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับเควอเซทินเสริมมีความคล้ายคลึงกัน แต่พบว่ากลุ่มที่ได้รับเควอเซทินจะมีอาการอ่อนแอและเซื่องซึมน้อยกว่า และมีระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงประมาณ 1.5 วัน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาแรก [30] อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำว่าควรใช้วิตามินซีร่วมกับเควอเซทินเพื่อป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในระยะเริ่มต้น รวมถึงในผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย [37]
    • เหล่านี้คือเพียงตัวอย่างหนึ่งของเควอเซทิน เพราะจริง ๆ แล้วสารชนิดนี้ยังมีประโยชน์อีกมาก เช่น ลดอาการของโรคต่อมลูกหมากอักเสบ, ลดระดับน้ำตาลในเลือด, ลดความดันโลหิต, ลดอาการของโรคข้ออักเสบ, ช่วยเรื่องความความจำ ฯลฯ
  3. สารสกัดจากผักและผลไม้รวม 24 ชนิด 50 มก. (สารสกัดนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา จาก Spectra™)
    • จากการค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้น พบว่า Spectra™ คือ สูตรของสารสกัดจากผักและผลไม้หลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องการยับยั้งอนุมูลอิสระ โดยพบว่าสามารถลดระดับของ Reactive Oxygen Species (ROS) ที่เป็นอนุมูลอิสระ (Free Radical) รูปแบบหนึ่งได้ (ลดระดับ ROS ในเลือดได้ 20% และลดในไมโทคอนเดรียได้ถึง 42%) [22]
    • จากข้อมูลพบว่า Spectra™ มีค่าความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (ORAC หรือ Oxygen Radical Absorbance Capacity) สูง ซึ่งค่ายิ่งมากยิ่งมีประสิทธิภาพสูงในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกาย โดยเมื่อรับประทานร่วมกับอะเซโรลาเชอร์รี่ เควอเซทิน และไบโอฟลาโวนอยด์ จะทำให้มีค่าการต่อต้านอนุมูลอิสระสูงกว่า 4,000 ORAC Value/g ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีค่า ORAC ในปริมาณวันละ 3,000-5,000 ORAC Value/g เพื่อสุขภาพดีที่ของร่างกาย ดังนั้น การรับประทานสารสกัดผลไม้รวม 24 ชนิดจาก Spectra™ จึงช่วยตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
  4. วิตามินดี 3 (Vitamin D3) 2 มก. (ให้วิตามินดี 3 ปริมาณ 200 หน่วยสากล หรือเท่ากับ 100 ThaiRDI)
    • วิตามินดีเป็นอีกหนึ่งในสารอาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยพบว่าสารอาหารในกลุ่มวิตามินดีมีส่วนช่วยให้เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์สามารถจับกินเชื้อโรค (ผ่านกระบวนการฟาโกไซโทซิส หรือ Phagocytosis) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น [31] นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงประโยชน์ของวิตามินดีอีกมากมาย แต่สำหรับในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ งานวิจัยบางส่วน (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) ชี้ให้เห็นว่าวิตามินดีอาจมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ (ระดับวิตามินดีในเลือดที่ต่ำเกินไปสัมพันธ์กับอาการของโรคทางเดินหายใจที่รุนแรงขึ้นด้วย) [32],[33],[34]
    • ในโรคโควิด-19 (COVID-19) การศึกษาส่วนใหญ่ (แต่ไม่ทั้งหมด) พบความเชื่อมโยงกับระดับวิตามินดีในเลือดที่ต่ำ โดยพบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดเพียงพอจะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่า ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าคนปกติอีกด้วย [35],[36]
  5. ซิตรัส ไบโอฟลาโวนอยด์ (Citrus Bioflavonoid) 40 มก.
    • ผลิตภัณฑ์นี้ใช้ไบโอฟลาโวนอยด์ที่สกัดมาจากส้ม เข้าใจว่าผสมมาเพื่อช่วยการทำงานของวิตามินซีและเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี เพราะจากการศึกษาพบว่า ไบโอฟลาโวนอยด์จะทำงานร่วมกับวิตามินซี ช่วยเพิ่มการดูดซึมวิตามินซีได้ประมาณ 35% และช่วยให้วิตามินซีดูดซึมได้ช้าลง (ชะลอการปลดปล่อยของวิตามินซี) [21] อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังขัดแย้งกับการศึกษาอื่น ๆ ที่พบว่าให้ผลการดูดซึมไม่ต่างจากวิตามินซีสังเคราะห์ปกติ

ประโยชน์ที่อาจได้รับ :

  • เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อช่วยป้องกันไวรัส และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ
  • ต่อต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในทุกวันที่เป็นตัวทำร้ายเซลล์ในร่างกาย ไม่ว่าจะอนุมูลอิสระที่เกิดการรับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ (เช่น อาหารปิ้งย่าง), ฝุ่น ควัน หรือมลพิษจากรถยนต์, การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่, แสงแดด, ความเครียดสะสม, การพักผ่อนไม่เพียงพอ, การเผาผลาญอาหารในร่างกาย เป็นต้น
  • อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการหวัดและระยะเวลาที่เป็นหวัด
  • อาจช่วยลดอาการแพ้และลดอาการอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย
  • อาจช่วยบำรุงผิวพรรณให้แข็งแรง มีสุขภาพดี เปล่งปลั่ง สดใส และคงความอ่อนเยาว์

เหมาะกับใคร? :

  • ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตหนัก ๆ พักผ่อนน้อย ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเองหรือออกกำลังกาย
  • ผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือเจ็บป่วยอยู่บ่อย ๆ ร่างกายฟื้นฟูช้า อ่อนเพลียง่าย และต้องการเสริมภูมิคุ้มกันให้ดียิ่งขึ้น
  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องผิวคล้ำเสีย ผิวมีสุขภาพไม่ดี ผิวแพ้ง่าย หรือไวต่อสภาพแวดล้อม
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่ไม่สะดวกรับประทานผักผลไม้เป็นประจำหรือรับประทานไม่เพียงพอ

คำแนะนำการรับประทาน :

ตามคำแนะนำในฉลากคือทานวันละ 1 เม็ดพร้อมอาหาร แต่จากที่เราวิเคราะห์ส่วนผสมแล้ว พบว่าสามารถรับประทานเพิ่มเป็นวันละ 2 เม็ดได้อย่างปลอดภัยหากต้องการ โดยแนะนำให้ทานครั้งละ 1 เม็ด เช้า-เย็น (จะทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ไม่ควรทานในขณะที่ท้องว่าง)

ถ้าเลือกทานวันละ 1 เม็ด ให้เลือกทานในมื้อเช้าเท่านั้น เพราะในระหว่างวันร่างกายจะมีการทำกิจกรรมหรือทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะมีการสร้างอนุมูลอิสระมากขึ้นเป็นปกติ การทานในตอนเช้าจึงเกิดประโยชน์มากกว่าเวลาอื่น ทั้งนี้ก็เพื่อให้วิตามินและสารต่าง ๆ ในอาหารเสริมได้ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน จึงอาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราดีขึ้น

“สรุป VISTRA IMU-PRO C Acerola Cherry 2000 Plus สูตรใหม่ ดูเหมือนจะเน้นไปที่การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันเป็นหลัก จึงอาจมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการเสริมภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น (เพื่อป้องกันอนุมูลอิสระ ป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน) และยังต้องการการดูแลผิวพรรณไปด้วยพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ต้องทำงานตลอดทั้งวัน ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ไม่ค่อยได้รับประทานผักและผลไม้ หรือการสรรหาผักผลไม้หลากสีเป็นเรื่องลำบาก ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้นับว่าเป็นตัวช่วยที่ดีที่ค่อนข้างสะดวก และตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน”

อย่างไรก็ตาม การเสริมความแข็งแรงให้กับภูมิคุ้มกัน นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างผักและผลไม้หรือจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแล้ว ยังควรพักผ่อนเพียงให้พอ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด และหมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำด้วย เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ดียิ่งขึ้นและทำให้ร่างกายแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง
  1. NIH. “Acerola, an untapped functional superfruit: a review on latest frontiers”. (2018)
  2. USDA FoodData Central. “Acerola, (west indian cherry), raw”. (2019)
  3. healthline. “What Is Acerola Cherry?”. (2018)
  4. RxList. “ACEROLA”. (2021)
  5. NIH. “Vitamin C for preventing and treating the common cold”. (2013)
  6. ScienceDirect. “Bioactive compounds and antioxidant capacities of 18 non-traditional tropical fruits from Brazil”. (2010)
  7. MedicineNet. “Acerola Cherry Vitamin C, Fruit, Powder, and Benefits”. (2022)
  8. CHEMIJOURNAL.com. “Evaluation of cytotoxic activity of various extracts of sweet cherry (Prunus avium) against human colorectal adenocarcinoma HT-29 cell line”. (2016)
  9. YOUR SUPER. “ACEROLA CHERRIES: THE SUPERFRUIT THAT HAS 30 TIMES MORE VITAMIN C THAN ORANGES”. (2022)
  10. NIH. “Skin-lightening effect of a polyphenol extract from Acerola (Malpighia emarginata DC.) fruit on UV-induced pigmentation”. (2008)
  11. NIH. “Neuroprotective potential of phytochemicals”. (2012)
  12. ifst. “Antioxidant activity and antimicrobial properties of phenolic extracts from acerola (Malpighia emarginata DC) fruit”. (2013)
  13. WebMD. “Acerola – Uses, Side Effects, and More”. (2022)
  14. NIH. “Antihyperglycemic effect of polyphenols from Acerola (Malpighia emarginata DC.) fruit”. (2006)
  15. NIH. “Evaluation of glycemic and lipid profile of offspring of diabetic Wistar rats treated with Malpighia emarginata juice”. (2011)
  16. NIH. “Effect of acerola cherry extract on cell proliferation and activation of ras signal pathway at the promotion stage of lung tumorigenesis in mice”. (2002)
  17. NIH. “Biological activity of barbados cherry (acerola fruits, fruit of Malpighia emarginata DC) extracts and fractions”. (2004)
  18. ScienceDirect. “Effect of the pretreatment with acerola (Malpighia emarginata DC.) juice on ethanol-induced oxidative stress in mice – Hepatoprotective potential of acerola juice”. (2013) 
  19. NIH. “Radioprotective effect of the Barbados Cherry (Malpighia glabra L.) against radiopharmaceutical iodine-131 in Wistar rats in vivo”. (2014)
  20. NIH. “The immune system in the oxidative stress conditions of aging and hypertension: favorable effects of antioxidants and physical exercise”. (2005)
  21. The American Journal of Clinical Nutrition. “Comparative bioavailability to humans of ascorbic acid alone or in a citrus extract”. (1988)
  22. NIH. “New insights on effects of a dietary supplement on oxidative and nitrosative stress in humans”. (2014)
  23. SciELO. “Antioxidant and stabilization activity of a quercetin-containing flavonoid extract obtained from Bulgarian Sophora japonica L.”. (2013)
  24. ASM Journals. “Prophylactic Efficacy of Quercetin 3-β-O-d-Glucoside against Ebola Virus Infection”. (2016)
  25. NIH. “Antiviral activity of quercetin-3-β-O-D-glucoside against Zika virus infection”. (2017)
  26. NIH. “Binding interaction of quercetin-3-beta-galactoside and its synthetic derivatives with SARS-CoV 3CL(pro): structure-activity relationship studies reveal salient pharmacophore features”. (2006)
  27. SAGE journals. “Quercetin: Antiviral Significance and Possible COVID-19 Integrative Considerations”. (2020)
  28. NIH. “Quercetin reduces illness but not immune perturbations after intensive exercise”. (2007)
  29. NIH. “Possible Therapeutic Effects of Adjuvant Quercetin Supplementation Against Early-Stage COVID-19 Infection: A Prospective, Randomized, Controlled, and Open-Label Study”. (2021)
  30. ScienceDirect. “The therapeutic efficacy of quercetin in combination with antiviral drugs in hospitalized COVID-19 patients: A randomized controlled trial”. (2022)
  31. NIH. “Vitamin D and immune function”. (2013)
  32. thebmj. “Vitamin D supplementation to prevent acute respiratory tract infections: systematic review and meta-analysis of individual participant data”. (2017)
  33. BMC Research Notes. “Vitamin D supplementation to patients with frequent respiratory tract infections: a post hoc analysis of a randomized and placebo-controlled trial”. (2015)
  34. American Geriatrics Society. “High-Dose Monthly Vitamin D for Prevention of Acute Respiratory Infection in Older Long-Term Care Residents: A Randomized Clinical Trial”. (2016)
  35. NIH. “Vitamin D status and seroconversion for COVID-19 in UK healthcare workers”. (2021)
  36. ScienceDirect. “Vitamin D Status Is Associated With In-Hospital Mortality and Mechanical Ventilation: A Cohort of COVID-19 Hospitalized Patients”. (2021)
  37. frontiers. “Quercetin and Vitamin C: An Experimental, Synergistic Therapy for the Prevention and Treatment of SARS-CoV-2 Related Disease (COVID-19)”. (2020)

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อ 28 ก.ย. 2022

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ