16 ประโยชน์ของโพแทสเซียม (Potassium) จากงานวิจัย !

โพแทสเซียม (Potassium) กับประโยชน์ทางการแพทย์

โพแทสเซียม

โพแทสเซียม (Potassium) คือ แร่ธาตุที่มีมากเป็นอันดับ 3 ในร่างกาย ประมาณ 98% ของโพแทสเซียมในร่างกายจะพบได้ในเซลล์ ซึ่งในจำนวนนี้ 80% พบในเซลล์กล้ามเนื้อ และอีก 20% พบได้ในกระดูก ตับ และเซลล์เม็ดเลือดแดง

โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ที่จำเป็นต่อการทำงานที่เหมาะสมของระบบประสาท ระบบกระดูก หัวใจ และกระบวนการเมแทบอลิซึม ตลอดจนรักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ ดังนั้น ระดับโพแทสเซียมหรืออิเล็กโทรไลต์ในร่างกายที่ต่ำหรือสูงเกินไปจึงอาจส่งผลต่อระบบในร่างกายได้หลายอย่าง

ร่างกายสามารถได้รับแร่ธาตุโพแทสเซียมจากอาหารปกติ และในรูปแบบอาหารเสริมโพแทสเซียมหรือในอาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุรวม ซึ่งโพแทสเซียมมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น โพแทสเซียมไบคาร์บอเนต (Potassium bicarbonate), โพแทสเซียมซิเตรต (Potassium citrate), โพแทสเซียมกลูโคเนต (Potassium gluconate), โพแทสเซียมอะซิเตต (Potassium acetate), โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride), โพแทสเซียมแอสพาเตต (Potassium aspartate)

อย่างไรก็ตาม แม้โพแทสเซียมจะจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายในหลายระบบและโพแทสเซียมอาจมีประโยชน์หลายอย่างเมื่ออ้างอิงจากงานวิจัย แต่อาหารเสริมโพแทสเซียมส่วนใหญ่ก็มักใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันการขาดโพแทสเซียมเท่านั้น (อ้างอิง 1)

โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาท ระบบกระดูก หัวใจ และกระบวนการเมแทบอลิซึม ตลอดจนรักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ โดยปกติร่างกายจะได้รับโพแทสเซียมจากอาหารปกติอย่างเพียงพออยู่แล้ว ดังนั้น การเสริมโพแทสเซียมในรูปแบบอาหารเสริมจึงไม่จำเป็น เว้นแต่ว่าร่างกายของคุณจะขาดโพแทสเซียม

ประโยชน์ของโพแทสเซียม

โพแทสเซียมมีบทบาทหลายอย่างในร่างกาย ระดับโพแทสเซียมในร่างกายที่น้อยเกินไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ สำหรับประโยชน์ของโพแทสเซียมที่พบได้จากการศึกษาวิจัยมีดังนี้

1. รักษาหรือป้องกันการขาดโพแทสเซียม อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโพแทสเซียมเป็นอิเล็กโทรไลต์ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการทำงานของหลายระบบในร่างกาย แม้คนส่วนใหญ่จะได้รับโพแทสเซียมจากอาหารเพียงพอ แต่งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าประชากรมีระดับโพแทสเซียมในเลือดเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก 4.14 เหลือ 3.97 มิลลิโมล/ลิตร และความชุกของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) ก็เพิ่มขึ้นด้วยจาก 3.78% เป็น 11.06% ในช่วงเวลาที่ศึกษา 17 ปี (ปี 1999-2016) ซึ่งสาเหตุมักมาจากการลดลงของธาตุโพแทสเซียมในดินใช้ในการเพาะปลูกพืชผักผลไม้ การบริโภคอาหารแปรรูปที่มากขึ้น รวมถึงการบริโภคผักและผลไม้ที่ลดลง (2) อาหารเสริมโพแทสเซียมจึงมักถูกนำมาใช้เพื่อรักษาภาวะโพแทสเซียมต่ำ

ระดับโพแทสเซียมในเลือดที่ปกติจะมีค่าระหว่าง 3.6-5.0 มิลลิโมล/ลิตร (1) ถ้าระดับโพแทสเซียมต่ำกว่า 3.5 มิลลิโมล/ลิตร จะถือว่าร่างกายขาดโพแทสเซียม หรือมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) ซึ่งมักมีสาเหตุหลักมาจากการใช้ยาขับปัสสาวะซึ่งมักใช้ในผู้ป่วยที่ภาวะความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยการขาดโพแทสเซียมเป็นเวลานานนั้นอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ กระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน มีพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ

2. ควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย ร่างกายของเราประกอบไปด้วยน้ำประมาณ 60% (แบ่งเป็นของเหลวภายในเซลล์ (ICF) 40% และของเหลวภายนอกเซลล์ (ECF) 20%) โดยโพแทสเซียมนั้นเป็นอิเล็กโทรไลต์หลักของ ICF และเป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำหรือของเหลวภายในเซลล์ ในขณะที่โซเดียมจะเป็นอิเล็กโทรไลต์หลักของ ECF และเป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำหรือของเหลวภายนอกเซลล์ ดังนั้น การรักษาระดับโพแทสเซียมให้ดีก็จะช่วยให้อิเล็กโทรไลต์มีความสมดุลทั้งภายในและภายนอกเซลล์ เพราะหากไม่มีความสมดุลก็อาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำที่ส่งผลต่อหัวใจและไตได้ (3)

3. สำคัญต่อระบบประสาท การได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพอจากอาหารสามารถช่วยรักษาการทำงานของเส้นประสาทให้แข็งแรงและทำงานได้อย่างปกติ แต่ระดับโพแทสเซียมในเลือดที่ลดลงจะส่งผลต่อความสามารถของร่างกายในการสร้างกระแสประสาท (กระแสประสาทมีหน้าที่ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ ปฏิกิริยาตอบสนอง และเกี่ยวข้องกับกระบวนการอื่น ๆ อีกหลายอย่าง และในกระบวนการของการกระตุ้นกระแสประสาทนั้นจะเกิดจากการเคลื่อนไหวของไอออนโซเดียม (Na+) ที่เคลื่อนที่เข้าสู่เซลล์ และไอออนโพแทสเซียม (K+) ที่เคลื่อนออกนอกเซลล์) (4)

4. ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อและหัวใจ การรักษาระดับโพแทสเซียมในเลือดให้เพียงพออยู่เสมอมีความสำคัญต่อการควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อและหัวใจ เพราะระดับโพแทสเซียมที่ต่ำและสูงเกินไปล้วนมีผลต่อแรงกระตุ้นของเส้นประสาทและการเต้นของหัวใจ โดยระดับที่ต่ำอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (5) ส่วนในระดับที่สูงก็อาจมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินอาหาร และการทำงานของฮอร์โมน และอาจเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้ (6)

5. ดีต่อสุขภาพกระดูกดี การบริโภคโพแทสเซียมที่เพิ่มขึ้นจากอาหารอย่างผักและผลไม้อาจช่วยให้กระดูกของคุณแข็งแรงขึ้น เพราะมีการศึกษาเชิงสังเกตที่ชี้ให้เห็นการบริโภคโพแทสเซียมที่เพิ่มขึ้นจากผักและผลไม้มีความสัมพันธ์กับความหนาแน่นของกระดูกที่เพิ่มขึ้น (7) แม้กลไกจะไม่แน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าโพแทสเซียมมีผลต่อความสมดุลของกรดเบส อาหารที่มีกรดสูงอย่างเนื้อสัตว์ที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะกรดจากการเผาผลาญอาจส่งผลเสียต่อกระดูก ซึ่งโพแทสเซียมที่เป็นด่างอย่างโพแทสเซียมไบคาร์บอเนตหรือซิเตรต (แต่ไม่ใช่โพแทสเซียมคลอไรด์) จากอาหารหรืออาหารเสริมอาจช่วยป้องกันผลกระทบนี้และรักษาเนื้อเยื่อกระดูกได้ (8)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของแคลเซียม (Calcium) จากงานวิจัย !

6. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและเบาหวานชนิดที่ 2 การศึกษาจำนวนมากในผู้ใหญ่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโพแทสเซียมที่ต่ำหรือระดับโพแทสเซียมในเลือด/ในปัสสาวะที่ลดลง กับอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร การดื้อต่ออินซูลิน และการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มที่ดี แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะการทดลองแบบสุ่มที่กลุ่มควบคุม ก่อนที่จะยืนยันถึงประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลและโรคเบาหวานชนิดที่ 2

7. ลดความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง การศึกษาพบว่าการบริโภคโพแทสเซียมที่ต่ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่รับประทานโซเดียมมากเกินไป) ในขณะที่การบริโภคโพแทสเซียมที่สูงขึ้นตรงอาจช่วยลดความดันโลหิตได้ (โดยช่วยเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือดและเพิ่มการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ)

8. โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ (CVD) การบริโภคโพแทสเซียมที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และอื่นๆ (22, 23) ซึ่งเป็นผลมาจากฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต และสอดคล้องกับคำกล่าวอ้างด้านสุขภาพที่ถูกอนุมัติโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ว่า “อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงและมีโซเดียมต่ำ อาจลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง” (24)

9. โควิด-19 (COVID-19) จากรายงานพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคโควิด-19 มักมีระดับโพแทสเซียมที่ต่ำ โดยรายงานจากแพทย์ในประเทศจีนพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 175 คนนั้น 39% มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และอีก 22% มีภาวะในเลือดต่ำอย่างรุนแรง ซึ่งการเสริมโพแทสเซียมวันละ 3,000 มก. สามารถช่วยแก้ไขภาวะเหล่านี้ได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ (28) เช่นเดียวกับการศึกษาในอิตาลีกับผู้ป่วยโควิดจำนวน 290 คนที่ภาวะโพแทสเซียมต่ำนั้นพบได้บ่อย แต่ก็มีแนวโน้มไม่รุนแรงและสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารเสริมโพแทสเซียม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (29)

10. อาการบวมน้ำ เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำ สารน้ำ หรือของเหลวคั่งอยู่ในเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ หลอดเลือด รวมถึงช่อง (เช่น ช่องท้อง) หรือในโพรงต่าง ๆ (เช่น โพรงเยื่อหุ้มปอด) ของร่างกาย แล้วก่อให้เกิดอาการบวมในเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ หรืออาการบวมทั้งตัว ซึ่งการบริโภคโพแทสเซียมสูงสามารถช่วยลดอาการบวมน้ำได้โดยการเพิ่มการขับปัสสาวะ ลดระดับโซเดียม ด้วยเหตุนี้จึงช่วยลดปริมาณของเหลวที่คั่งอยู่ในร่างกาย (30)

11. ลดความเสี่ยงนิ่วในไต (Kidney stones) นิ่วในไตเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี ซึ่งนิ่วในไตมีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เป็นนิ่วแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) และนิ่วแคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) การวิเคราะห์การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโพแทสเซียมที่สูงขึ้นและความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตที่ลดลง และอาหารเสริมโพแทสเซียมบางรูป (โพแทสเซียมซิเตรต, โพแทสเซียมฟอสเฟต และโพแทสเซียมไบคาร์บอเนต) อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตได้ ตัวอย่างการศึกษาเช่น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของแมกนีเซียม (Magnesium) จากงานวิจัย !

12. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มักจะมีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำและได้รับโพแทสเซียมไม่เพียงพอ (40) โดยการศึกษาในอินเดียในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่มีอาการปวดข้อจำนวน 155 คน แสดงให้เห็นว่าการเสริมโพแทสเซียมให้ได้วันละ 5,600 มก. (จากอาหารปกติ และจากอาหารเสริมอีกประมาณ 2,000 มก.) สามารถช่วยลดอาการปวดข้อได้เล็กน้อย 2.23 คะแนน (ในระดับ 0-10) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับโพแทสเซียมจากอาหารเพียงอย่างเดียวรวม 3,000 มก. ที่อาการปวดลดลงเพียง 1.3 คะแนน ในขณะที่กลุ่มที่รับประทานอาหารทั่วไปที่มีโพแทสเซียม 2,700 มก./วัน ไม่มีการลดลงของอาการปวดอย่างมีนัยสำคัญ (41)

13. ตะคริว (Muscle cramp) การขาดโพแทสเซียมอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือเป็นตะคริวได้ ซึ่งการเสริมโพแทสเซียมจากการรับประทานอาหารปกติอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดตะคริวได้ อย่างไรก็ตาม การเกิดตะคริวตอนกลางคืนในระหว่างนอนและตะคริวที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับระดับโพแทสเซียม และการเสริมโพแทสเซียมจะไม่ช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวประเภทนี้ (42)

14. กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome) การศึกษาขนาดเล็กในอินเดียในกลุ่มผู้ที่มีอาการขาอยู่ไม่สุขระดับปานกลางถึงรุนแรงแสดงให้เห็นประโยชน์จากการเสริมโพแทสเซียมซิเตรตวันละ 1,080 มก. เป็นเวลา 1 เดือน คนส่วนใหญ่รายงานว่าไม่มีอาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่มีกลุ่มควบคุม จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปผลในเรื่องนี้ได้ (43)

15. ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การได้รับโพแทสเซียมน้อยเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยจากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยผู้ป่วยไตเทียมจำนวน 415 คนที่ได้รับการฟอกไต (อายุเฉลี่ย 56 ปี) พบว่าการบริโภคโพแทสเซียมจากอาหารน้อยเกินไปหรือเพียงวันละ 543 มก. จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่บริโภคโพแทสเซียมประมาณ 2,600 มก. ถึง 2 เท่า ซึ่งความเสี่ยงจะมีมากกว่าในผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า (44)

16. ประโยชน์ของโพแทสเซียมด้านอื่น ๆ : โพแทสเซียมถูกใช้ในอาหารเสริมเพื่อทำให้สารประกอบหลักอื่นๆ มีความเสถียร เช่น ในอาหารเสริมโพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium Iodide) โดยที่โพแทสเซียมจะช่วยทำให้ไอโอดีนเสถียรในฐานะสารป้องกันและลดความเสี่ยงจากการได้รับรังสีไอโอไดด์

นอกจากโพแทสเซียมจะใช้รักษาภาวะขาดโพแทสเซียมแล้ว การศึกษายังพบประโยชน์ของโพแทสเซียมในเรื่องการช่วยลดความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นิ่วในไต และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ยังไม่ชัดเจน และจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป

หมายเหตุ : ในการศึกษาวิจัยปริมาณโพแทสเซียมมักแสดงเป็นหน่วยของ “ค่ามิลลิอิควิวาเลนต์” (mEq) แต่เราได้แปลงหน่วยเหล่านี้เป็นมิลลิกรัม (มก.) ให้แล้ว

คำแนะนำและข้อควรรู้

  • อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง (ปริมาณ มก. ต่อหน่วยบริโภค เรียงจากมากไปน้อย) : แอปริคอตแห้ง, ถั่วเลนทิล, สควอช, ลูกพรุน, ลูกเกด, มันฝรั่งอบ, น้ำส้ม, ถั่วเหลืองเมล็ดแก่, กล้วย, นม, ผักโขมดิบ, อกไก่, โยเกิร์ต, ปลาแซลมอน, เนื้อสันนอกย่าง, มะเขือเทศดิบ, นมถั่วเหลือง, โยเกิร์ต, บรอกโคลี, แคนตาลูป, อกไก่งวง, หน่อไม้ฝรั่ง, แอปเปิลพร้อมเปลือก, เม็ดมะม่วงหิมพานต์, ข้าวกล้องหุงสุก 1 ถ้วย, ปลาทูน่า, กาแฟชง 1 ถ้วย, ผักกาดแก้ว (ร่างกายจะดูดซึมโพแทสเซียมจากอาหารได้ประมาณ 85-90%) (1)
  • ปริมาณโพแทสเซียมที่ควรได้รับต่อวัน : ไม่มีการกำหนดปริมาณโพแทสเซียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (RDA) เอาไว้ แต่มีการกำหนดปริมาณการบริโภคที่เพียงพอต่อวัน (AI) ของโพแทสเซียมเอาไว้ (1) คือ
    • อายุ 1-3 ปี เท่ากับ 2,000 มก.
    • อายุ 4 ถึง 8 ปี / ผู้หญิงอายุ 9-18 ปี เท่ากับ 2,300 มก.
    • ผู้ชายอายุ 9-13 ปี เท่ากับ 2,500 มก.
    • ผู้ชายอายุ 14-18 ปี เท่ากับ 3,000 มก.
    • ผู้ชายและผู้หญิง เท่ากับ 3,400 มก. และ 2,600 มก. ตามลำดับ
    • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เท่ากับ 2,900 มก. หรือ 2,600 มก. หากอายุต่ำกว่า 19 ปี
    • ผู้หญิงที่ให้นมบุตรคือ 2,800 มก. หรือ 2,500 หากอายุต่ำกว่า 19 ปี
  • การขาดโพแทสเซียม : แม้จะพบได้น้อยในคนทั่วไป แต่การบริโภคโพแทสเซียมจากอาหารไม่เพียงพอหรือมีระดับโพแทสเซียมต่ำก็อาจส่งผลต่อความเสี่ยงนิ่วในไตที่เพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูง การหมุนเวียนของกระดูกที่มีการสลายมากกว่าการสะสมของแร่ธาตุในกระดูก ฯลฯ หรือเกิดอาการของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะคือ อาการท้องผูก อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือรู้สึกไม่สบาย หรืออาจทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าระดับโพแทสเซียมต่ำอย่างรุนแรง (1)
    • การรับประทานแมกนีเซียมร่วมกับโพแทสเซียม : ประมาณ 50% ของผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำเรื้อรัง มักจะมีภาวะขาดแมกนีเซียมด้วย (สาเหตุมักเกิดมาจากการใช้ยาขับปัสสาวะ หรือมาจากอาการท้องเสีย โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคไต หรือพิษต่อไตจากยา) ซึ่งในกรณีเช่นนี้ การรักษาภาวะขาดโพแทสเซียมอาจทำได้ยากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้แมกนีเซียมร่วมด้วย (45)
  • กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดโพแทสเซียม : ผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบ, ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด รวมทั้งยาขับปัสสาวะและยาระบาย, ผู้ที่เป็นโรค Pica (เป็นภาวะที่มีลักษณะอยากบริโภคสิ่งที่ไม่ถือว่าเป็นอาหาร)
  • อาหารเสริมโพแทสเซียม : ที่พบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพแทสเซียมมีหลายรูปแบบ เช่น โพแทสเซียมไบคาร์บอเนต (Potassium bicarbonate), โพแทสเซียมซิเตรต (Potassium citrate), โพแทสเซียมกลูโคเนต (Potassium gluconate), โพแทสเซียมอะซิเตต (Potassium acetate), โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride), โพแทสเซียมแอสพาเตต (Potassium aspartate), โพแทสเซียมฟอสเฟต (Potassium phosphate) ฯลฯ ซึ่งโพแทสเซียมมากกว่า 90% จะถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหารได้ดีเหมือน ๆ กัน
  • ปริมาณโพแทสเซียมเสริมที่แนะนำ : เพื่อป้องกันการขาดโพแทสเซียมในผู้ใหญ่ คือ ขนาด 200-400 มก. รับประทานวันละ 3-4 ครั้งพร้อมอาหาร สำหรับปริมาณต่อวันที่แนะนำรวม 600-1,600 มก. แต่สำหรับการรักษาภาวะขาดโพแทสเซียมให้เพิ่มขนาดเป็น 2 เท่า ส่วนในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมักใช้ในขนาดวันละ 3,000 มก. (46) และเนื่องจากอาหารเสริมโพแทสเซียมส่วนใหญ่จะจำกัดปริมาณโพแทสเซียมไม่เกิน 99 มก./เม็ด จึงอาจต้องรับประทานครั้งละหลายเม็ดและหลายครั้งเพื่อให้ได้ปริมาณที่ต้องการ
  • ปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ : ระดับการบริโภคโพแทสเซียมสูงสุดที่ยอมรับได้ (ULs) ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ เนื่องจากร่างกายสามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกได้ตราบเท่าที่ไตเรายังแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อควรระวังการบริโภคในขนาดสูงในผู้ที่มีปัญหาเรื่องไต เพราะควรจำกัดปริมาณไว้ไม่เกินวันละ 2,000 มก. (1)
  • ความปลอดภัย : การเสริมโพแทสเซียมในขนาดสูงโดยเฉพาะจากอาหารจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพใด ๆ ถ้าเรามีสุขภาพดีและการทำงานของไตยังปกติ และไม่มีหลักฐานว่าการเสริมโพแทสเซียมในขนาดสูงจะทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงในผู้ใหญ่ได้ (1)
  • ข้อห้ามใช้ : ผู้ที่เป็นโรคไตและผู้ที่ต้องฟอกไต ซึ่งควรใช้อาหารเสริมโพแทสเซียมภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และควรจำกัดปริมาณโพแทสเซียมต่อวันไม่เกิน 2,000 มก.
  • ผลข้างเคียงของอาหารเสริมโพแทสเซียม : โพแทสเซียมจากอาหารเสริมอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องได้ แม้ว่าผลข้างเคียงเหล่านี้อาจลดลงเมื่อรับประทานโพแทสเซียมพร้อมกับอาหาร ส่วนผลข้างเคียงที่ร้ายแรงกว่าแต่พบได้น้อยมาก ได้แก่ หัวใจเต้นผิดปกติ สับสน วิตกกังวล หายใจถี่ เหนื่อยหรืออ่อนแรง หรือเกิดอาการชาหรือเหมือนมีเข็มทิ่มที่มือ เท้า หรือริมฝีปาก นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง หรือเกิดอาการเจ็บหน้าอกหรือคอ (เมื่อรับประทานต้องแน่ใจว่าได้ดื่มน้ำตาม) และยังมีการศึกษาถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น
    • โพแทสเซียมคลอไรด์อาจทำให้หลอดอาหารบาดเจ็บได้หากเม็ดยาติดอยู่ในหลอดอาหารเมื่อรับประทาน (47)
    • การศึกษาขนาดใหญ่ในผู้หญิงสหรัฐฯ พบว่าการบริโภคโพแทสเซียมในปริมาณที่สูงกว่า (เฉลี่ยวันละ 3,717 มก.) จะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น 46% ต่อการเกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคโพแทสเซียมน้อย (เฉลี่ยวันละ 2,319มก.) (48)
    • มีรายงานของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นที่กินมะม่วงมากเกินไปก่อนนอนจนติดเป็นนิสัย (มะม่วงเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง) และมักมีอาการตะคริวขณะหลับ พบว่าตะคริวหายไปเมื่อเธอหยุดกินมะม่วงหรือเมื่อระดับโพแทสเซียมกลับมาเป็นปกติ (49)
    • ปริมาณโพแทสเซียมสูง (มากกว่า 99 มก.) ในยาเม็ดเคลือบเชื่อมโยงกับรายงานเกี่ยวกับรับงานการเกิดแผลในลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้อุดตัน ตกเลือด และทะลุ (50) ทำให้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ จึงกำหนดให้ยารับประทานบางชนิดที่มีส่วนประกอบของโพแทสเซียมตั้งแต่ 100 มก./เม็ด ขึ้นไป แสดงคำเตือนถึงความเสี่ยงนี้ (51) ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้อาหารเสริมโพแทสเซียมมีปริมาณไม่เกิน 99 มก./เม็ด
  • ปฏิสัมพันธ์กับยาอื่น : ยาหลายประเภทอาจส่งผลต่อระดับโพแทสเซียมในลักษณะที่อาจเป็นอันตรายได้ ผู้ที่รับประทานยาเหล่านี้อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นและปริมาณการใช้โพแทสเซียมที่เหมาะก่อนเสมอ (1)
    • ยาขับปัสสาวะกลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก (Potassium-sparing diuretics) เช่น Amiloride, Spironolactone
    • ยาขับปัสสาวะกลุ่มลูปไดยูเรติก (Loop diuretics) เช่น Furosemide, Bumetanide
    • ยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก (Thiazide diuretics) เช่น Chlorothiazide, Metolazone
    • ยาควบคุมความดันโลหิต ACE Inhibitors เช่น Captopril
    • กลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน (ARBs) เช่น Irbesartan, Losartan, Olmesartan, Valsartan
    • ยาปฏิชีวนะไตรเมโทพริม (Trimethoprim) / ซัลฟาเมทอกซาโซน (Sulfamethoxazole)

การลดการบริโภคเกลือโดยการทดแทนด้วยโพแทสเซียม

โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยส่วนใหญ่บริโภคโซเดียมเกินจากปริมาณที่ร่างกายต้องการประมาณ 2-3 เท่า ด้วยเหตุนี้จึงมีผลิตภัณฑ์สารทดแทนเกลือ (Salt substitutes) ซึ่งไม่มีโซเดียม (โดยทั่วไปคือโพแทสเซียมคลอไรด์และ/หรือโพแทสเซียมบิตทาร์เทรต) และผลิตภัณฑ์เกลือผสมโพแทสเซียม หรือ Lite salts (ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของโซเดียมจะถูกแทนที่ด้วยโพแทสเซียม คือ มีโซเดียมน้อยกว่าเกลือทั่วไป 50%) ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ดีในการลดปริมาณโซเดียมและเพิ่มโพแทสเซียมในอาหารปกติ

  • ศึกษาพบว่าการใช้ผลิตภัณฑ์​สารทดแทนเกลือ (Salt substitutes) สามารถช่วยลดความดันโลหิตช่วงบนและช่วงล่างได้เฉลี่ย 4.9 และ 1.5 มม.ปรอท ตามลำดับ (52)
  • การศึกษาขนาดใหญ่ในประเทศจีนเป็นระยะเวลา 5 ปี ในกลุ่มผู้ใหญ่ 15,000 คนที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีความดันโลหิตสูง (ส่วนใหญ่รับประทานยาลดความดันโลหิต) พบว่าการใช้เกลือที่มีโซเดียมคลอไรด์ 75% และโพแทสเซียมคลอไรด์ 25% ในการปรุงอาหาร สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้ 14% ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด 13% และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 12% เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคเกลือปกติ (53)

สรุปเรื่องแมกนีเซียม

โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ที่จำเป็นต่อการทำงานในหลายระบบ โดยปกติแล้วร่างกายจะได้รับโพแทสเซียมจากอาหารอย่างเพียงพออยู่แล้ว การเสริมโพแทสเซียมในรูปแบบอาหารเสริมนั้นไม่จำเป็น เว้นแต่ว่าร่างกายจะขาดโพแทสเซียม นอกจากประโยชน์เรื่องการใช้เพื่อรักษาภาวะขาดโพแทสเซียม การศึกษายังพบประโยชน์ของโพแทสเซียมในเรื่องการช่วยลดความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นิ่วในไต และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ยังไม่ชัดเจน และจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป

งานวิจัยอ้างอิง

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2023

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ