แท้งคุกคาม : สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาภาวะแท้งคุกคาม !

การแท้งบุตร (Miscarriage, Abortion) หมายถึง การสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ซึ่งตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ถูกขับออกมาก่อนตั้งครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ (ตามเกณฑ์ของประเทศไทย) ถือเป็นภาวะผิดปกติอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้ประมาณ 10-15% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด ซึ่งการแท้งบุตรก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ การแท้งคุกคาม (Threatened abortion), การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion), การแท้งเป็นนิจ (Habitual abortion), การแท้งโดยสมบูรณ์ (Complete abortion), การแท้งไม่สมบูรณ์ (Incomplete abortion), การแท้งค้าง (Missed abortion) และการแท้งติดเชื้อ (Septic abortion) แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะเรื่อง “แท้งคุกคาม” ครับ

แท้งคุกคาม

แท้งคุกคาม (Threatened abortion, Threatened miscarriage) คือ ภาวะใกล้แท้งหรือภาวะที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการสิ้นสุดการตั้งครรภ์หรือนำไปสู่การแท้งบุตร ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีเลือดออกมาไม่มากทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยโดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ และอาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้ จึงอาจทำให้คุณแม่สับสนได้ว่าเป็นประจำเดือน โดยภาวะนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการลอกตัวของรกที่เกาะติดอยู่บนผนังมดลูก เมื่อรกลอกตัวก็จะมีเลือดออกซึมแทรกอยู่ระหว่างตัวรกกับผนังมดลูก และเลือดบางส่วนได้ไหลซึมออกมาทางปากมดลูก ออกมาทางช่องคลอดในที่สุด

ภาวะแท้งคุกคาม เป็นภาวะใกล้แท้งที่พบได้ประมาณ 10% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด หรือพบได้ประมาณ 20-30% ของการแท้งบุตรทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้จะเกิดการแท้งบุตรตามมาจริง ๆ ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 50%) จะสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติเหมือนคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไป โดยขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ถ้าทารกมีความผิดปกติมาก ธรรมชาติก็มักจะช่วยทำให้เกิดการแท้งบุตรตามมาภายในระยะเวลาไม่นานหลังจากมีเลือดออก (ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่เกิน 7 วัน) แต่ถ้าสาเหตุของการมีเลือดออกนั้นเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น ร่างกายคุณแม่มีระดับฮอร์โมนเพศที่ผิดปกติแต่ไม่มาก ส่วนทารกยังคงปกติดี แบบนี้คุณแม่ก็มักจะตั้งครรภ์ต่อไปได้ครับ

แท้งคุกคาม” หลาย ๆ คนพอได้ยินชื่อโรคนี้แล้วก็อาจจะฟังดูแปลก ๆ และเข้าใจผิดคิดว่ามันคือการแท้ง ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่นะครับ เพราะแท้งคุกคามมันคือ “ภาวะที่ใกล้จะแท้งหรือภาวะที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการแท้งตามมา” ซึ่งหมายความว่า คุณแม่ที่มีภาวะนี้อาจจะแท้งหรือไม่แท้งก็ได้นั่นเองครับ คือถ้าจะเรียกให้ฟังดูเข้าใจง่าย ๆ การเรียกว่า “ภาวะใกล้แท้ง” น่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า เพื่อที่คุณแม่จะได้รู้และระวังตัวให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่คิดว่าตัวเองพอมีภาวะนี้แล้วจะต้องแท้งแน่ ๆ หรือเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองแท้งแล้ว

สาเหตุของการแท้งคุกคาม

  • คุณแม่มีอายุมาก โดยพบว่าคุณแม่ที่มีอายุมากจะมีโอกาสเกิดภาวะแท้งคุกคามมากกว่าคุณแม่ที่มีอายุน้อย (คือถ้าอายุเกิน 35 ปี จะมีโอกาสแท้ง 15% แต่ถ้าอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสแท้งมากกว่า 30%)
  • คุณพ่อมีอายุมากเกินไป
  • คุณแม่มีประวัติเคยแท้งเองมาก่อน พบว่าผู้ที่เคยแท้งมาแล้วหนึ่งครั้งจะเกิดความเสี่ยงในการแท้งในครั้งต่อไปประมาณ 20% และจะเพิ่มเป็น 28% และ 43% หากมีประวัติการแท้งมาแล้วสองและสามครั้งตามลำดับ
  • การได้รับอุบัติเหตุในขณะตั้งครรภ์ที่บริเวณท้องน้อย ทำให้การฝังตัวของทารกที่ผนังมดลูกไม่ดีพอ แต่ก็ไม่รุนแรงถึงกับทำให้หลุดออกมาแบบการแท้ง
  • ความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อน (เป็นกรณีที่พบได้มากที่สุด คือประมาณ 50% ของตัวอ่อนที่แท้งทั้งหมด) หรือเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างตัวอ่อนแต่กำเนิด (ทั้งที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมของตัวอ่อนเองหรือเกิดจากปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น การได้รับสาร teratogens จากยาหรือสารเคมี)
  • ความผิดรูปร่างหรือความผิดปกติของมดลูก โพรงมดลูก ปากมดลูก เช่น คุณแม่มีมดลูกผิดปกติแต่กำเนิด คุณแม่มีเนื้องอกหรือพังผืดในมดลูก จึงทำให้การฝังตัวของรกไม่เป็นปกติ
  • ผลจากการขูดมดลูก (Asherman syndrome)
  • คุณแม่มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด หัดเยอรมัน ซีเอ็มวีไวรัส เป็นต้น
  • การขาดฮอร์โมนเพศที่เป็นตัวช่วยประคับประคองการตั้งครรภ์ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หนาพอที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูกได้ จึงทำให้เกิดการแท้งคุกคามตามมา
  • โรคประจำตัวของคุณแม่ เช่น โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเอสแอลอี โรคไทรอยด์ เป็นต้น
  • คุณแม่มีความเครียด
  • การเป็นผู้สูบบุหรี่โดยตรงหรือเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง (คุณพ่อหรือคนใกล้ชิดเป็นผู้สูบ)
  • การดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากเกินไป
  • การใช้สารเสพติดประเภทโคเคน (Cocaine) ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดอีกด้วย
  • การใช้ยาในกลุ่ม NSAID โดยมีการศึกษาที่พบว่าการใช้ยาในกลุ่มนี้ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) จะทำให้มีผลกระทบต่อการทำงานของสารโพรสตาแกลนดินที่หลั่งออกมาในช่วงที่ตัวอ่อนมีการฝังตัวที่ผนังมดลูก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการฝังตัวและเกิดการแท้งตามมาได้
  • ไม่ทราบสาเหตุการเกิด

อาการของแท้งคุกคาม

  • มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด (ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ควรจะออก)
  • อาจมีอาการปวดท้องน้อยคล้ายกับประจำเดือนในลักษณะปวดแบบบีบ ๆ บิด ๆ ร่วมกับการมีเลือดออกหรือไม่มีก็ได้
  • ตกขาวมีสีน้ำตาลจากการมีเลือดปน

แท้งคุกคาม

เมื่อไหร่ที่ควรรีบไปพบแพทย์ ? : คุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ ส่วนมากจะมีความรู้สึกปวดหน่วง ๆ ในท้องน้อยได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ (เกิดจากเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก) แต่ที่สำคัญคือจะต้องไม่มีเลือดออกจากช่องคลอดตลอดการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากคุณแม่มีอาการปวดท้องหรือปวดท้องน้อยมากผิดปกติ ซึ่งปวดในลักษณะบีบ ๆ บิด ๆ เป็นพัก ๆ และ/หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

คุณแม่จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นการแท้งบุตรแน่แล้ว ? : คุณแม่ตั้งครรภ์จะไม่สามารถทราบได้ว่าจะเป็นกรณีที่แท้งแน่นอนหรือจะสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติ เพราะโดยทั่วไปแล้วการตั้งครรภ์ที่สามารถดำเนินต่อไปได้ ลักษณะของเลือดที่ออกจะออกแบบกะปริดกะปรอยหรือออกเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วหยุดไปเอง แต่ในกรณีที่มีเลือดออกมากและมีเศษชิ้นเนื้อหลุดออกมาด้วยแล้ว ก็มักจะลงเอยด้วยการแท้งจริง ๆ ดังนั้นหากมีเลือดออกก็ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดในทันที เพื่อจะได้วางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ต่อไป

การวินิจฉัยภาวะแท้งคุกคาม

  • ตรวจเช็กประวัติอาการ โดยดูจากประวัติการมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ในปริมาณไม่มากเป็นหลัก ในคุณแม่บางรายอาจเป็นแค่ตกขาวปนเลือดหรือมีตกขาวเป็นสีน้ำตาล ซึ่งตามปกติแล้วไม่ควรจะมี และมักมีอาการปวดหน่วง ๆ หรือปวดบีบที่ท้องน้อยร่วมด้วย
  • ตรวจร่างกาย จะเป็นการตรวจร่างกายทั่วไป โดยตรวจดูเปลือกตาว่าซีดหรือไม่ เพื่อประเมินว่าคุณแม่เสียเลือดไปมากน้อยเพียงใด จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อประเมินดูว่าการแท้งชนิดใด สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติหรือไม่ สภาพของปากมดลูกปิดหรือเปิดอยู่ ขนาดของมดลูกสัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ เพราะถ้าเป็นการแท้งคุกคามเมื่อตรวจภายในดูแล้วจะพบว่ามีเลือดเพียงเล็กน้อยในช่องคลอด ปากมดลูกยังปิดอยู่ และขนาดของมดลูกโตสัมพันธ์กับอายุครรภ์
  • ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
    • ตรวจปัสสาวะ ในกรณีที่เป็นภาวะแท้งคุกคาม การตรวจปัสสาวะจะยังพบว่ามีฮอร์โมนที่แสดงถึงการตั้งครรภ์อยู่ครับ แต่ถ้าทารกเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน การตรวจปัสสาวะก็ยังให้ผลที่เป็นบวกอยู่ แพทย์จึงไม่นิยมใช้วิธีนี้ในการตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะแท้งคุกคาม
    • ตรวจหาระดับฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในเลือด (Beta human chorionic gonadotropin – β-hCG) จะเป็นการตรวจเพื่อดูว่ายังมีฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์นี้หรือไม่ วิธีนี้เป็นวิธีที่แม่นยำ นิยมใช้ตรวจในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์น้อยมาก (คือ ยังมองไม่เห็นตัวทารกจากการตรวจอัลตราซาวนด์ท้องน้อย) หรือในกรณีที่ไม่สามารถแยกการตั้งครรภ์นอกมดลูกออกไปได้ โดยการเพิ่มขึ้นของระดับ β-hCG มากกว่า 66% จากการตรวจห่างกัน 48 ชั่วโมงนั้น ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติ แต่หากการเพิ่มขึ้นของระดับ β-hCG ไม่ถึง 66% ก็แสดงว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ คือ แท้ง หรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
    • ตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด เป็นการตรวจที่สามารถบอกได้ว่าทารกยังมีชีวิตอยู่หรือไม่, เป็นการตั้งครรภ์ปกติ, ตั้งท้องลม, ตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือเป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งทำให้มีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน หากตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนกว่าการตรวจผ่านหน้าท้อง และโดยทั่วไปจะสามารถเห็นถุงการตั้งครรภ์หรือถุงน้ำคร่ำในโพรงมดลูกได้ตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ประมาณ 5 สัปดาห์ เมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 6 สัปดาห์จะเริ่มเห็นตัวอ่อนแล้ว และจะเห็นหัวใจทารกเต้นได้ตอน 7 สัปดาห์ เริ่มดิ้นได้ตอน 8 สัปดาห์ และเห็นโครงสร้างทุกอย่างครบตอน 12 สัปดาห์ ในกรณีของแท้งคุกคาม หลังจากตรวจอัลตราซาวนด์แล้ว ถ้าพบว่าภายในมดลูกมีถุงน้ำคร่ำแต่ไม่มีตัวเด็ก แต่อายุครรภ์ยังน้อย ถุงน้ำคร่ำก็ดูเป็นปกติ ถ้าคุณแม่มีเลือดออกไม่มาก ไม่มีอาการเร่งด่วนอะไร หมอก็มักจะใจเย็นและคอยดูต่อไป แต่ถ้าอายุครรภ์เยอะแล้ว คือน่าจะเห็นตัวเด็กได้แล้ว หรือถุงน้ำคร่ำยุบตัวเหี่ยวลงและแน่ใจว่าไม่มีตัวเด็ก ก็จะกลายเป็น “ท้องลม” ซึ่งก็มักจะสิ้นสุดด้วยการแท้งเสมอ ส่วนการแท้งคุกคามอีกกรณีหนึ่งก็คือ พอตรวจอัลตราซาวนด์แล้วยังพบว่ามีตัวเด็ก เห็นหัวใจเด็กเต้นอย่างชัดเจน ในกรณีเช่นนี้ตัวเด็กเองมักจะปกติดีครับ เพียงแต่การฝังตัวของรกไม่ดีเท่านั้นเอง โอกาสที่จะตั้งครรภ์ต่อไปได้อย่างเป็นปกติก็มีสูงมาก (ประมาณ 90-95%) ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดในกรณีที่ทำได้ก็คือ “การนอนนิ่ง ๆ งดเดิน และงดการทำงานหนัก” เพื่อช่วยให้รกค่อย ๆ ประสานติดเข้ากับผนังมดลูกได้ดีขึ้น และเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ถุงน้ำคร่ำก็จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ถุงน้ำคร่ำก็จะโตขึ้นจนเต็มช่องว่างภายในโพรงมดลูก จึงไม่มีพื้นที่ให้ถุงน้ำคร่ำคลอนไปคลอนมาได้อีก โอกาสการแท้งหลังจากสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์จึงลดน้อยลงอย่างมาก

หมายเหตุ : ในกรณีที่แพทย์ยังไม่แน่ใจในเรื่องของอายุครรภ์ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์จำประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้ายไม่ได้ อาจจะทำให้การคำนวณอายุครรภ์ผิดไปได้ อายุครรภ์อาจจะยังอ่อนอยู่มากจนการตรวจอัลตราซาวนด์มองไม่เห็นตัวทารก แพทย์จึงอาจนัดมาตรวจอัลตราซาวนด์ใหม่อีกครั้งใน 2 สัปดาห์หน้า เพื่อเพิ่มความมั่นใจและช่วยในการตัดสินใจได้มากยิ่งขึ้นว่าจะทำอย่างไรต่อไป

การรักษาภาวะแท้งคุกคาม

การดูแลรักษาภาวะแท้งคุกคามจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองเป็นหลัก ส่วนการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดอาจมีใช้บ้างเมื่อจำเป็น

  1. การรักษาแบบประคับประคอง (Supportive treatment) ซึ่งประกอบไปด้วย
    • ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว โดยแนะนำให้คุณแม่นอนพักผ่อนให้มาก ๆ ห้ามออกแรง หรือเดินมาก ๆ หรือทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่เป็นการเกร็งหน้าท้อง หรือเพิ่มความดันในช่องท้อง (เพราะจะมีผลทำให้ถุงน้ำคร่ำโยกคลอนไปคลอนมาภายในโพรงมดลูก ทำให้รกเกิดการปริแยกได้มากขึ้น เลือดก็จะออกมามากขึ้น หากลอกตัวออกมามากก็จะเกิดการแท้งตามมาในที่สุด) นอกจากนั้นแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ทำใจให้สบาย ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    • หากมีความจำเป็นแพทย์อาจให้คุณแม่นอนพักในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะประเมินอาการจากการเสียเลือดก่อนเป็นอันดับแรก หากมีการเสียเลือดมาก แพทย์จะพิจารณาให้เลือดหรือให้น้ำเกลือทดแทน
    • หากคุณแม่มีอาการปวดท้อง แพทย์จะพิจารณาให้ยาแก้ปวดชนิดอ่อน เช่น พาราเซตามอล
  2. การรักษาด้วยยา ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนในการให้ยาฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เพื่อป้องกันการแท้งคุกคาม เพราะจากหลักฐานหรือข้อมูลการวิจัยมีทั้งที่พบว่ามีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ที่จะนำมาใช้ในภาวะแท้งคุกคามในครรภ์แรก เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนและทุกอายุครรภ์มีโอกาสแท้งบุตรได้เองประมาณ 10-15% อยู่แล้ว และสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการแท้งในช่วงไตรมาสแรกก็คือ การที่ทารกมีโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งเป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติ (เด็กที่มีความผิดปกติของโครโมโซมส่วนใหญ่กว่า 90% จะแท้งออกไปเองตามธรรมชาติ และมีหลงเหลือแล้วคลอดออกมาไม่ถึง 10%)
    • ในกรณีที่ระดับฮอร์โมนผิดปกติ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่แข็งแรง มีการลอกตัวของรก คุณแม่ตั้งครรภ์มีประวัติการแท้งซ้ำในอายุครรภ์ไล่เลี่ยกัน หากมีการแท้งคุกคามในครั้งที่ 2 หรือ 3 ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสติน โดยการฉีด การรับประทานยา หรือการให้เหน็บยาฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสตินในช่องคลอด จนกว่าคุณแม่จะมีอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์
    • ในกรณีที่คุณแม่มีปัญหาหมู่เลือด Rh negative (ซึ่งส่วนใหญ่จะมีหมู่เลือดเป็น Rh positive) ส่วนคุณพ่อมีหมู่เลือด Rh positive แพทย์จะฉีดยา anti-D immunoglobulin เพื่อป้องกันการทำลายเม็ดเลือดของลูกในครรภ์ต่อไป
  3. การรักษาโดยการผ่าตัด (เย็บปากมดลูก) ในกรณีที่เกิดภาวะแท้งคุกคามในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ สาเหตุมักเกิดจากความผิดปกติทางภายวิภาคของมดลูกและปากมดลูก หากปากมดลูกปิดไม่สนิทแพทย์จะทำการเย็บปากมดลูกรัดเอาไว้ จนกว่าอายุครรภ์ของคุณแม่จะครบกำหนดคลอด แล้วจึงตัดสายรัดที่ปากมดลูกออก

ฉีดยากันแท้งจำเป็นหรือไม่ ?

ตอบ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีการแท้งเองติดต่อกันมาแล้วหลายครั้งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดแล้วว่ามีสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมนเพศ ก็สมควรได้รับการฉีดฮอร์โมนเพศเพื่อป้องกันการแท้งครับ แต่หากคุณแม่เพิ่งจะมีการแท้งคุกคามเป็นครั้งแรก สาเหตุส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มาจากการขาดฮอร์โมน การฉีดฮอร์โมนเพศจึงอาจไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ครับ

หากตั้งครรภ์ต่อไปได้ ทารกในครรภ์จะผิดปกติหรือไม่ ?

ตอบ คุณแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคามและสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ โอกาสที่ทารกในครรภ์จะผิดปกติหรือมีความพิการไม่ได้สูงขึ้นกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติทั่วไป

หากครรภ์นี้เป็นแท้งคุกคาม ครรภ์หน้าจะมีโอกาสเกิดซ้ำได้หรือไม่ ?

ตอบ กรณีเกิดภาวะแท้งคุกคามในครรภ์ก่อน ครรภ์ต่อมาก็มีโอกาสเกิดซ้ำได้ครับหากสาเหตุการเกิดยังเหมือนเดิมและยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ระดับฮอร์โมนเพศมีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่แข็งแรง หรือคุณแม่มีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท หรือการแท้งคุกคามมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัวของคุณแม่ แต่หากได้รับการแก้ไขที่สาเหตุแล้ว การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็ไม่น่าจะมีปัญหา

หากมีแท้งคุกคาม จะสามารถตั้งครรภ์ครั้งหน้าได้เมื่อไหร่ ?

ตอบ หากการตั้งครรภ์ครั้งก่อนมีภาวะแท้งคุกคามเกิดขึ้น แต่คุณแม่ยังสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้จนคลอดลูกออกมา การวางแผนตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปก็จะเหมือนกับคุณแม่หลังคลอดปกติ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วแพทย์จะแนะนำให้เว้นช่วงการมีบุตรประมาณ 2 ปี

แต่หากมีภาวะแท้งทุกคามและคุณแม่ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ (แท้งบุตร) ระบบฮอร์โมนเพศในร่างกายก็จะกลับมาเป็นปกติได้เร็วกว่าคุณแม่หลังคลอด คุณแม่ที่แท้งบุตรจึงสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้เลยหากต้องการ โดยเฉพาะหากไม่ได้ทำหัตถการขูดมดลูก แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าควรคุมกำเนิดหรือเว้นระยะการมีบุตรไปก่อนประมาณ 3 เดือน เพื่อให้โพรงมดลูกกลับมาเป็นปกติก่อน

การดูแลตนเองเมื่อเกิดภาวะแท้งคุกคาม

  1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  2. คุณแม่ควรตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนก หรือเป็นกังวลใจมากเกินไป
  3. ควรพักผ่อนให้มาก ๆ และงดทำงานหนักทุกชนิด เช่น การยกของหนัก เดินนาน ๆ นั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ นั่งเรือ ฯลฯ (คุณแม่สามารถกลับมาเริ่มทำงานแบบเบา ๆ ได้อีกครั้งเมื่อเลือดหยุดออกแล้ว 48 ชั่วโมงขึ้นไป)
  4. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ รวมถึงงดการสูบบุหรี่ และงดการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  5. ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างที่มีเลือดออกทางช่องคลอด มีตกขาว และงดไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังเลือดหยุด
  6. สังเกตปริมาณของเลือดที่ออก ปริมาณของเลือดที่ออกต้องออกน้อยลงเรื่อย ๆ จนหมดไปในที่สุด แต่ถ้ามีเลือดออกมากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ จนไหลลงมาตามหน้าขา แบบนี้ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดในทันที
  7. สังเกตสีของเลือด (มีเลือดสีดำออกมาดีกว่ามีเลือดสีแดง) ถ้าเลือดที่ออกมาเป็นเลือดสีดำ แปลว่าเป็นเลือดเก่าที่คั่งค้างอยู่ หรือปริมาณของเลือดที่ออกมานั้นมีน้อยมาก แบบนี้ไม่น่าเป็นกังวลครับ แต่ถ้าเลือดที่ออกมาเป็นสีแดงสด ซึ่งแสดงว่าเป็นเลือดใหม่ รกกำลังลอกตัว แบบนี้ถือเป็นสัญญาณไม่ดีเช่นกันครับ
  8. สังเกตอาการปวดท้องน้อย ถ้ามีอาการปวดท้องน้อย ในลักษณะปวดบีบ ๆ เป็นพัก ๆ เหมือนการปวดประจำเดือน แบบนี้ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีและแย่ที่สุดครับ เพราะเมื่อมดลูกบีบตัว ถุงน้ำคร่ำก็จะถูกบีบให้หลุดออกมาด้วย ถ้ามีอาการปวดท้องแบบนี้เกิดขึ้นก็ควรทำใจเผื่อไว้ครับ

วิธีป้องกันการแท้งคุกคาม

การป้องกันภาวะแท้งคุกคาม แบ่งเป็น

  1. สาเหตุที่สามารถป้องกันได้ ได้แก่
    • รักษาและควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่แล้วให้ดี
    • ในกรณีที่มีความผิดปกติของโพรงมดลูก ควรแก้ไขหรือผ่าตัดให้เรียบร้อยก่อนการตั้งครรภ์
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงหลีกเลี่ยงความเครียด
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ในทุก ๆ วัน รวมถึงงดการสูบบุหรี่ และงดการดื่มแอลกฮอล์ทุกชนิด
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่าง ๆ (รวมถึงยารักษาสิว) โดยไม่จำเป็น รวมถึงการหลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ
    • ไม่ยกของหนักในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
    • ระมัดระวังเรื่องการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น การนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ การกระทบกระแทกแรง ๆ ฯลฯ
    • ตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์และฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อนทางสุขภาพในระหว่างการตั้งครรภ์
  2. สาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ ได้แก่
    • โครโมโซมของทารกที่ผิดปกติ
    • ระบบสืบพันธุ์ของคุณแม่มีความผิดปกติ เช่น ผนังมดลูกบาง มดลูกไม่แข็งแรง
    • การเกิดโรคประจำตัวของคุณแม่เอง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “แท้งคุกคาม (Threatened abortion)”.  (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [24 ก.พ. 2016].
  2. DrSant บทความสุขภาพ.  “ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion)”.  (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com.  [24 ก.พ. 2016].
  3. นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์.  “แท้งคุกคาม..เรื่องต้องลุ้น”.  (นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.facebook.com/notes/874400725965947/.  [24 ก.พ. 2016].

ภาพประกอบ : pregnancycramps.net

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด