โพแทสเซียม
โพแทสเซียม (Potassium) คือ แร่ธาตุที่มีมากเป็นอันดับ 3 ในร่างกาย ประมาณ 98% ของโพแทสเซียมในร่างกายจะพบได้ในเซลล์ ซึ่งในจำนวนนี้ 80% พบในเซลล์กล้ามเนื้อ และอีก 20% พบได้ในกระดูก ตับ และเซลล์เม็ดเลือดแดง
โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ที่จำเป็นต่อการทำงานที่เหมาะสมของระบบประสาท ระบบกระดูก หัวใจ และกระบวนการเมแทบอลิซึม ตลอดจนรักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ ดังนั้น ระดับโพแทสเซียมหรืออิเล็กโทรไลต์ในร่างกายที่ต่ำหรือสูงเกินไปจึงอาจส่งผลต่อระบบในร่างกายได้หลายอย่าง
ร่างกายสามารถได้รับแร่ธาตุโพแทสเซียมจากอาหารปกติ และในรูปแบบอาหารเสริมโพแทสเซียมหรือในอาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุรวม ซึ่งโพแทสเซียมมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น โพแทสเซียมไบคาร์บอเนต (Potassium bicarbonate), โพแทสเซียมซิเตรต (Potassium citrate), โพแทสเซียมกลูโคเนต (Potassium gluconate), โพแทสเซียมอะซิเตต (Potassium acetate), โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride), โพแทสเซียมแอสพาเตต (Potassium aspartate)
อย่างไรก็ตาม แม้โพแทสเซียมจะจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายในหลายระบบและโพแทสเซียมอาจมีประโยชน์หลายอย่างเมื่ออ้างอิงจากงานวิจัย แต่อาหารเสริมโพแทสเซียมส่วนใหญ่ก็มักใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันการขาดโพแทสเซียมเท่านั้น (อ้างอิง 1)
โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาท ระบบกระดูก หัวใจ และกระบวนการเมแทบอลิซึม ตลอดจนรักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ โดยปกติร่างกายจะได้รับโพแทสเซียมจากอาหารปกติอย่างเพียงพออยู่แล้ว ดังนั้น การเสริมโพแทสเซียมในรูปแบบอาหารเสริมจึงไม่จำเป็น เว้นแต่ว่าร่างกายของคุณจะขาดโพแทสเซียม
ประโยชน์ของโพแทสเซียม
โพแทสเซียมมีบทบาทหลายอย่างในร่างกาย ระดับโพแทสเซียมในร่างกายที่น้อยเกินไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ สำหรับประโยชน์ของโพแทสเซียมที่พบได้จากการศึกษาวิจัยมีดังนี้
1. รักษาหรือป้องกันการขาดโพแทสเซียม อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโพแทสเซียมเป็นอิเล็กโทรไลต์ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการทำงานของหลายระบบในร่างกาย แม้คนส่วนใหญ่จะได้รับโพแทสเซียมจากอาหารเพียงพอ แต่งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าประชากรมีระดับโพแทสเซียมในเลือดเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก 4.14 เหลือ 3.97 มิลลิโมล/ลิตร และความชุกของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) ก็เพิ่มขึ้นด้วยจาก 3.78% เป็น 11.06% ในช่วงเวลาที่ศึกษา 17 ปี (ปี 1999-2016) ซึ่งสาเหตุมักมาจากการลดลงของธาตุโพแทสเซียมในดินใช้ในการเพาะปลูกพืชผักผลไม้ การบริโภคอาหารแปรรูปที่มากขึ้น รวมถึงการบริโภคผักและผลไม้ที่ลดลง (2) อาหารเสริมโพแทสเซียมจึงมักถูกนำมาใช้เพื่อรักษาภาวะโพแทสเซียมต่ำ
ระดับโพแทสเซียมในเลือดที่ปกติจะมีค่าระหว่าง 3.6-5.0 มิลลิโมล/ลิตร (1) ถ้าระดับโพแทสเซียมต่ำกว่า 3.5 มิลลิโมล/ลิตร จะถือว่าร่างกายขาดโพแทสเซียม หรือมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) ซึ่งมักมีสาเหตุหลักมาจากการใช้ยาขับปัสสาวะซึ่งมักใช้ในผู้ป่วยที่ภาวะความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยการขาดโพแทสเซียมเป็นเวลานานนั้นอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ กระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน มีพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ
2. ควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย ร่างกายของเราประกอบไปด้วยน้ำประมาณ 60% (แบ่งเป็นของเหลวภายในเซลล์ (ICF) 40% และของเหลวภายนอกเซลล์ (ECF) 20%) โดยโพแทสเซียมนั้นเป็นอิเล็กโทรไลต์หลักของ ICF และเป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำหรือของเหลวภายในเซลล์ ในขณะที่โซเดียมจะเป็นอิเล็กโทรไลต์หลักของ ECF และเป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำหรือของเหลวภายนอกเซลล์ ดังนั้น การรักษาระดับโพแทสเซียมให้ดีก็จะช่วยให้อิเล็กโทรไลต์มีความสมดุลทั้งภายในและภายนอกเซลล์ เพราะหากไม่มีความสมดุลก็อาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำที่ส่งผลต่อหัวใจและไตได้ (3)
3. สำคัญต่อระบบประสาท การได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพอจากอาหารสามารถช่วยรักษาการทำงานของเส้นประสาทให้แข็งแรงและทำงานได้อย่างปกติ แต่ระดับโพแทสเซียมในเลือดที่ลดลงจะส่งผลต่อความสามารถของร่างกายในการสร้างกระแสประสาท (กระแสประสาทมีหน้าที่ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ ปฏิกิริยาตอบสนอง และเกี่ยวข้องกับกระบวนการอื่น ๆ อีกหลายอย่าง และในกระบวนการของการกระตุ้นกระแสประสาทนั้นจะเกิดจากการเคลื่อนไหวของไอออนโซเดียม (Na+) ที่เคลื่อนที่เข้าสู่เซลล์ และไอออนโพแทสเซียม (K+) ที่เคลื่อนออกนอกเซลล์) (4)
4. ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อและหัวใจ การรักษาระดับโพแทสเซียมในเลือดให้เพียงพออยู่เสมอมีความสำคัญต่อการควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อและหัวใจ เพราะระดับโพแทสเซียมที่ต่ำและสูงเกินไปล้วนมีผลต่อแรงกระตุ้นของเส้นประสาทและการเต้นของหัวใจ โดยระดับที่ต่ำอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (5) ส่วนในระดับที่สูงก็อาจมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินอาหาร และการทำงานของฮอร์โมน และอาจเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้ (6)
5. ดีต่อสุขภาพกระดูกดี การบริโภคโพแทสเซียมที่เพิ่มขึ้นจากอาหารอย่างผักและผลไม้อาจช่วยให้กระดูกของคุณแข็งแรงขึ้น เพราะมีการศึกษาเชิงสังเกตที่ชี้ให้เห็นการบริโภคโพแทสเซียมที่เพิ่มขึ้นจากผักและผลไม้มีความสัมพันธ์กับความหนาแน่นของกระดูกที่เพิ่มขึ้น (7) แม้กลไกจะไม่แน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าโพแทสเซียมมีผลต่อความสมดุลของกรดเบส อาหารที่มีกรดสูงอย่างเนื้อสัตว์ที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะกรดจากการเผาผลาญอาจส่งผลเสียต่อกระดูก ซึ่งโพแทสเซียมที่เป็นด่างอย่างโพแทสเซียมไบคาร์บอเนตหรือซิเตรต (แต่ไม่ใช่โพแทสเซียมคลอไรด์) จากอาหารหรืออาหารเสริมอาจช่วยป้องกันผลกระทบนี้และรักษาเนื้อเยื่อกระดูกได้ (8)
- การศึกษาของ Framingham Heart Study ในผู้ชายและผู้หญิงสูงอายุจำนวน 628 คน พบว่าการบริโภคโพแทสเซียมที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความหนาแน่นของกระดูกที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (9) สอดคล้องกับการทดลองทางคลินิกในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวน 201 คน (อายุ 65 ปีขึ้นไป) พบว่ากลุ่มที่ได้รับการเสริมโพแทสเซียมซิเตรต (ให้โพแทสเซียม 2,346 มก.) ร่วมกับแคลเซียม 500 มก. (ในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนต) และวิตามินดี3 400 IU ทุกวัน เป็นเวลา 2 ปี มีความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกร่วมกับแคลเซียมและวิตามินดี (10)
- ในทางกลับกัน การทดลองทางคลินิกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 276 คน อายุระหว่าง 55-65 ปี พบว่าการเสริมโพแทสเซียมซิเตรตในขนาดต่ำและสูง (ที่ให้โพแทสเซียม 723 และ 2,170 มก.) เป็นเวลา 2 ปี ไม่ได้ช่วยลดการหมุนเวียนของกระดูก (ภาวะการหมุนเวียนของการสร้างและการสลายของกระดูก) หรือช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกที่สะโพกหรือกระดูกสันหลังอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (11)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของแคลเซียม (Calcium) จากงานวิจัย !
6. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและเบาหวานชนิดที่ 2 การศึกษาจำนวนมากในผู้ใหญ่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโพแทสเซียมที่ต่ำหรือระดับโพแทสเซียมในเลือด/ในปัสสาวะที่ลดลง กับอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร การดื้อต่ออินซูลิน และการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มที่ดี แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะการทดลองแบบสุ่มที่กลุ่มควบคุม ก่อนที่จะยืนยันถึงประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลและโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- การศึกษาหนึ่งในผู้ใหญ่ 1,066 คนอายุ 18-30 ปีที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน พบว่าเมื่อติดตามผลเป็นเวลามากกว่า 15 ปี กลุ่มที่มีระดับโพแทสเซียมในปัสสาวะต่ำที่สุดมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 มากกว่ากลุ่มที่มีระดับโพแทสเซียมสูงสุดมากกว่า 2 เท่า (12) สอดคล้องกับการศึกษาเชิงสังเกตในผู้หญิงจำนวน 84,360 คน (อายุ 34-59 ปี) ที่พบว่ากลุ่มที่ได้รับโพแทสเซียมสูงสุดจะมีความเสี่ยงต่ำกว่า 38% ในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับโพแทสเซียมต่ำสุดในช่วงเวลา 6 ปี (13)
- การทดลองทางคลินิกขนาดเล็กในผู้ใหญ่ชาวแอฟริกันอเมริกัน 29 คนที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) และมีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำถึงปกติ (3.3–4.0 มิลลิโมล/ลิตร) พบว่าการการเสริมโพแทสเซียม 1,564 มก. (ในรูปของโพแทสเซียมคลอไรด์) เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยให้ระดับน้ำตาลหลังอดอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ส่งผลต่อการวัดระดับน้ำตาลหรืออินซูลินในระหว่างการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (OGTTs) (14)
7. ลดความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง การศึกษาพบว่าการบริโภคโพแทสเซียมที่ต่ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่รับประทานโซเดียมมากเกินไป) ในขณะที่การบริโภคโพแทสเซียมที่สูงขึ้นตรงอาจช่วยลดความดันโลหิตได้ (โดยช่วยเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือดและเพิ่มการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ)
- การศึกษาพบว่าแนวทางการบริโภคอาหารเพื่อหยุดความดันโลหิตสูง (DASH) ซึ่งเน้นโพแทสเซียมจากผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ช่วยลดความดันโลหิตช่วงบนได้เฉลี่ย 5.5 มม.ปรอท และความดันโลหิตช่วงล่างได้ 3.0 มม.ปรอท (15) การรับประทานตามแนวทางนี้ นอกจากจะได้โพแทสเซียมมากกว่าอาหารอเมริกันทั่วไปถึง 3 เท่าแล้ว ยังเพิ่มการบริโภคสารอาหารอื่น ๆ เช่น แมกนีเซียม และแคลเซียม ที่เกี่ยวข้องกับการลดความดันโลหิตอีกด้วย
- การศึกษาของหน่วยงานเพื่อการวิจัยและคุณภาพด้านการดูแลสุขภาพของสหรัฐฯ (AHRQ) พบว่าการใช้สารทดแทนเกลือ (Salt substitutes) ที่มีโพแทสเซียมแทนโซเดียมคลอไรด์ช่วยลดความดันโลหิตช่วงบนในผู้ใหญ่ได้เฉลี่ย 5.58 มม.ปรอท และความดันโลหิตช่วงล่าง 2.88 มม.ปรอท (16)
- การวิเคราะห์การศึกษาในปี 2017 ของการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมจำนวน 25 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1,163 คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง พบว่าการเสริมโพแทสเซียมวันละ 1,173–4,692 มก. (ส่วนใหญ่เป็นโพแทสเซียมคลอไรด์) เป็นเวลา 4–15 สัปดาห์ ช่วยลดความดันโลหิตช่วงบนได้ 4.48 มม.ปรอท และความดันโลหิตช่วงล่างได้ 2.96 มม.ปรอท เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (17) สอดคล้องกับการวิเคราะห์การศึกษาอีกชิ้นที่รวมการทดลองแบบสุ่มจำนวน 15 เรื่อง พบว่าการเสริมโพแทสเซียมวันละ 2,346–2,541 มก. (ส่วนใหญ่เป็นโพแทสเซียมคลอไรด์) เป็นเวลา 4-24 สัปดาห์ ในผู้ป่วยจำนวน 917 คนที่มีความดันโลหิตปกติและความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับประทานยาลดความดันโลหิต ช่วยลดความดันโลหิตทั้งช่วงบนและช่วงล่างได้อย่างมีนัยสำคัญ (18)
- การศึกษาอื่น ๆ ก็ให้ผลลัพธ์สอดคล้องกัน เช่น อาหารเสริมโพแทสเซียมได้ผลดีในการลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจากทบทวนการทดลองทางคลินิกรวม 19 เรื่อง (19) หรือจากการทบทวนรวม 33 เรื่อง (20) ก็ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน แม้จะมีบางการศึกษาที่พบว่าการเสริมโพแทสเซียมไม่ได้ช่วยลดความดันโลหิตช่วงบนและช่วงล่างได้อย่างมีนัยสำคัญก็ตาม (21)
8. โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ (CVD) การบริโภคโพแทสเซียมที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และอื่นๆ (22, 23) ซึ่งเป็นผลมาจากฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต และสอดคล้องกับคำกล่าวอ้างด้านสุขภาพที่ถูกอนุมัติโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ว่า “อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงและมีโซเดียมต่ำ อาจลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง” (24)
- การวิเคราะห์การศึกษาจำนวน 11 เรื่องในผู้ใหญ่จำนวน 247,510 คน พบว่าการบริโภคโพแทสเซียมจากอาหารให้สูงขึ้น 1,640 มก./วัน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่ลดลง 21% และอาจลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (25) ทำนองเดียวกับการวิเคราะห์การศึกษาจำนวน 33 เรื่องที่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 128,644 คน พบว่าผู้ที่บริโภคแคลเซียมมากที่สุดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่าผู้ที่บริโภคน้อยที่สุดถึง 24% (26)
- การวิเคราะห์การศึกษาในปี 2016 (รวมผู้เข้าร่วมทั้งหมด 639,440 คน) ก็พบว่ากลุ่มที่ได้รับโพแทสเซียมสูงสุด (4,027 มก./วัน) มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองต่ำกว่า 15% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับโพแทสเซียมต่ำสุด (2,053 มก./วัน) นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เข้าร่วมที่บริโภคโพแทสเซียมวันละ 3,500 มก. จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ต่ำที่สุด (27)
- ตรงกันข้ามกับ การทบทวนของ AHRQ ที่ไม่พบความสอดคล้องกันระหว่างการบริโภคโพแทสเซียมและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเมื่อทำการศึกษาเชิงสังเกตจำนวน 15 เรื่อง (16)
9. โควิด-19 (COVID-19) จากรายงานพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคโควิด-19 มักมีระดับโพแทสเซียมที่ต่ำ โดยรายงานจากแพทย์ในประเทศจีนพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 175 คนนั้น 39% มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และอีก 22% มีภาวะในเลือดต่ำอย่างรุนแรง ซึ่งการเสริมโพแทสเซียมวันละ 3,000 มก. สามารถช่วยแก้ไขภาวะเหล่านี้ได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ (28) เช่นเดียวกับการศึกษาในอิตาลีกับผู้ป่วยโควิดจำนวน 290 คนที่ภาวะโพแทสเซียมต่ำนั้นพบได้บ่อย แต่ก็มีแนวโน้มไม่รุนแรงและสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารเสริมโพแทสเซียม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (29)
10. อาการบวมน้ำ เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำ สารน้ำ หรือของเหลวคั่งอยู่ในเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ หลอดเลือด รวมถึงช่อง (เช่น ช่องท้อง) หรือในโพรงต่าง ๆ (เช่น โพรงเยื่อหุ้มปอด) ของร่างกาย แล้วก่อให้เกิดอาการบวมในเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ หรืออาการบวมทั้งตัว ซึ่งการบริโภคโพแทสเซียมสูงสามารถช่วยลดอาการบวมน้ำได้โดยการเพิ่มการขับปัสสาวะ ลดระดับโซเดียม ด้วยเหตุนี้จึงช่วยลดปริมาณของเหลวที่คั่งอยู่ในร่างกาย (30)
11. ลดความเสี่ยงนิ่วในไต (Kidney stones) นิ่วในไตเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี ซึ่งนิ่วในไตมีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เป็นนิ่วแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) และนิ่วแคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) การวิเคราะห์การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโพแทสเซียมที่สูงขึ้นและความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตที่ลดลง และอาหารเสริมโพแทสเซียมบางรูป (โพแทสเซียมซิเตรต, โพแทสเซียมฟอสเฟต และโพแทสเซียมไบคาร์บอเนต) อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตได้ ตัวอย่างการศึกษาเช่น
- โพแทสเซียมจากอาหาร : การศึกษาเชิงสังเกตแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโพแทสเซียมจากอาหารและความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตที่ลดลง อย่างเช่นการศึกษาที่มีกลุ่มผู้ชายที่ไม่มีประวัติเป็นโรคนิ่วในไตรวม 45,619 คน อายุ (40-75 ปี) พบว่าผู้ที่บริโภคโพแทสเซียมสูงสุด (เฉลี่ย ≥ 4,042 มก./วัน) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตน้อยกว่า 51% ในช่วง 4 ปีที่ติดตาม เมื่อเทียบกับกลุ่มที่บริโภคน้อย (เฉลี่ย ≤ 2,895 มก./วัน) (31) ทำนองเดียวกับการติดตามศึกษาในผู้หญิงที่ไม่มีประวัติเป็นนิ่วในไตจำนวน 91,731 คน (อายุ 34-59 ปี) พบว่าผู้ที่บริโภคโพแทสเซียมเฉลี่ยมากกว่าวันละ 4,099 มก. จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตต่ำกว่า 35% ในช่วงติดตามผล 12 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้หญิงที่บริโภคน้อยกว่าวันละ 2,407 มก. (32)
- โพแทสเซียมซิเตรต : เนื่องจากซิเตรตมีฤทธิ์ขัดขวางการก่อตัวของแคลเซียม ช่วยลดภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะ รวมถึงความเสี่ยงของการก่อตัว/การเจริญเติบโต/และลดขนาดของนิ่วในไต จากการศึกษาขององค์กร Cochrane ในปี 2015 (33) หรือจากการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วย 57 คนที่มีนิ่วในไตอย่างน้อย 2 ก้อนในช่วง 2 ปีที่ผ่าน และมีภาวะไซเตรตในปัสสาวะต่ำ (Hypocitraturia) พบว่าการเสริมโพแทสเซียมซิเตรต 30–60 mEq (ให้โพแทสเซียม 1,173-2,346 มก.) เป็นเวลา 3 ปี ช่วยลดการก่อตัวของนิ่วในไตได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (34) สอดคล้องกับการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วที่ได้รับการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (SWL) จำนวน 110 คน พบว่าการเสริมโพแทสเซียมซิเตรตวันละ 6,480 มก. (แบ่งเป็น 3 ขนาดเท่ากัน โดยแต่ละครั้งรับประทานหลังอาหาร) ไม่พบอัตราการเกิดนิ่วซ้ำหลังจากผ่านไป 1 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เสริมที่พบอัตราการเกิดนิ่วซ้ำ 28.5% (35) หรือการศึกษาแบบควบคุมในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วจำนวน 64 คน พบว่าการเสริม Potassium-magnesium citrate ที่ให้โพแทสเซียม 1,638 มก., แมกนีเซียม 252 มก. และซิเตรต 3,971 มก. ต่อวัน เป็นเวลา 3 ปี สามารถช่วยลดอัตราการเกิดซ้ำของนิ่วแคลเซียมออกซาเลตได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 85% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (36) อย่างไรก็ตาม ขนาดของอาหารเสริมโพแทสเซียม (ทั่วไปคือ 99 มก. จากโพแทสเซียมซิเตรต 258 มก. (2.4 mEq)) ก็ต่ำกว่าขนาดที่ใช้เพื่อป้องกันนิ่วในไตมาก ดังนั้น จึงต้องใช้ในปริมาณมากกว่าหลายเท่าของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
- โพแทสเซียมฟอสเฟต : อาจช่วยผู้ที่เป็นโรคนิ่วในไตได้ เนื่องจากฟอสเฟตสามารถช่วยลดแคลเซียมที่มากเกินไปในปัสสาวะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของนิ่วในไต โดยการศึกษาทางคลินิกขนาดเล็กพบว่าการเสริมโพแทสเซียม 2,496 มก. (ในรูปของโพแทสเซียมฟอสเฟต) ครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 ปี ช่วยลดแคลเซียมในปัสสาวะได้ 30-35% ในผู้ป่วยที่มีภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะ (Hypercalciuria) (37)
- โพแทสเซียมไบคาร์บอเนต : อาจช่วยละลายนิ่วในไตและป้องกันการเกิดซ้ำได้ โดยมีรายงานการศึกษาในผู้ชายอายุ 59 ปีที่มีนิ่วในไตที่เมื่อรับประทานโพแทสเซียมในรูปของโพแทสเซียมซิเตรตและโพแทสเซียมไบคาร์บอเนต 1,173 มก. วันละ 1-3 ครั้ง เพื่อเพิ่มระดับค่า pH ของปัสสาวะให้อยู่ในระหว่าง 6.5-6.8 แล้วพบว่านิ่วมีขนาดลดลงหลังจาก 4 เดือน และนิ่วหายไปอย่างสมบูรณ์หลังจากผ่าน 7 เดือน (38) หรืออีกรายงานในผู้ชายที่เป็นนิ่วในไตซ้ำ ไม่พบนิ่วเพิ่มเติมอีกในช่วง 18 เดือนหลังจากเสริมโพแทสเซียม 782 มก. (ในรูปของโพแทสเซียมไบคาร์บอเนต) วันละ 2-3 ครั้ง ร่วมกับยาลดระดับกรดยูริกในกระแสเลือด (Allopurinol) 100 มก. วันละ 3 ครั้ง (39) อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้รับการทดสอบในการทดลองทางคลินิก จำเป็นต้องทำการทดลองเพิ่มเติม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของแมกนีเซียม (Magnesium) จากงานวิจัย !
12. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มักจะมีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำและได้รับโพแทสเซียมไม่เพียงพอ (40) โดยการศึกษาในอินเดียในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่มีอาการปวดข้อจำนวน 155 คน แสดงให้เห็นว่าการเสริมโพแทสเซียมให้ได้วันละ 5,600 มก. (จากอาหารปกติ และจากอาหารเสริมอีกประมาณ 2,000 มก.) สามารถช่วยลดอาการปวดข้อได้เล็กน้อย 2.23 คะแนน (ในระดับ 0-10) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับโพแทสเซียมจากอาหารเพียงอย่างเดียวรวม 3,000 มก. ที่อาการปวดลดลงเพียง 1.3 คะแนน ในขณะที่กลุ่มที่รับประทานอาหารทั่วไปที่มีโพแทสเซียม 2,700 มก./วัน ไม่มีการลดลงของอาการปวดอย่างมีนัยสำคัญ (41)
13. ตะคริว (Muscle cramp) การขาดโพแทสเซียมอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือเป็นตะคริวได้ ซึ่งการเสริมโพแทสเซียมจากการรับประทานอาหารปกติอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดตะคริวได้ อย่างไรก็ตาม การเกิดตะคริวตอนกลางคืนในระหว่างนอนและตะคริวที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับระดับโพแทสเซียม และการเสริมโพแทสเซียมจะไม่ช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวประเภทนี้ (42)
14. กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome) การศึกษาขนาดเล็กในอินเดียในกลุ่มผู้ที่มีอาการขาอยู่ไม่สุขระดับปานกลางถึงรุนแรงแสดงให้เห็นประโยชน์จากการเสริมโพแทสเซียมซิเตรตวันละ 1,080 มก. เป็นเวลา 1 เดือน คนส่วนใหญ่รายงานว่าไม่มีอาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่มีกลุ่มควบคุม จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปผลในเรื่องนี้ได้ (43)
15. ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การได้รับโพแทสเซียมน้อยเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยจากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยผู้ป่วยไตเทียมจำนวน 415 คนที่ได้รับการฟอกไต (อายุเฉลี่ย 56 ปี) พบว่าการบริโภคโพแทสเซียมจากอาหารน้อยเกินไปหรือเพียงวันละ 543 มก. จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่บริโภคโพแทสเซียมประมาณ 2,600 มก. ถึง 2 เท่า ซึ่งความเสี่ยงจะมีมากกว่าในผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า (44)
16. ประโยชน์ของโพแทสเซียมด้านอื่น ๆ : โพแทสเซียมถูกใช้ในอาหารเสริมเพื่อทำให้สารประกอบหลักอื่นๆ มีความเสถียร เช่น ในอาหารเสริมโพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium Iodide) โดยที่โพแทสเซียมจะช่วยทำให้ไอโอดีนเสถียรในฐานะสารป้องกันและลดความเสี่ยงจากการได้รับรังสีไอโอไดด์
นอกจากโพแทสเซียมจะใช้รักษาภาวะขาดโพแทสเซียมแล้ว การศึกษายังพบประโยชน์ของโพแทสเซียมในเรื่องการช่วยลดความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นิ่วในไต และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ยังไม่ชัดเจน และจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป
หมายเหตุ : ในการศึกษาวิจัยปริมาณโพแทสเซียมมักแสดงเป็นหน่วยของ “ค่ามิลลิอิควิวาเลนต์” (mEq) แต่เราได้แปลงหน่วยเหล่านี้เป็นมิลลิกรัม (มก.) ให้แล้ว
คำแนะนำและข้อควรรู้
- อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง (ปริมาณ มก. ต่อหน่วยบริโภค เรียงจากมากไปน้อย) : แอปริคอตแห้ง, ถั่วเลนทิล, สควอช, ลูกพรุน, ลูกเกด, มันฝรั่งอบ, น้ำส้ม, ถั่วเหลืองเมล็ดแก่, กล้วย, นม, ผักโขมดิบ, อกไก่, โยเกิร์ต, ปลาแซลมอน, เนื้อสันนอกย่าง, มะเขือเทศดิบ, นมถั่วเหลือง, โยเกิร์ต, บรอกโคลี, แคนตาลูป, อกไก่งวง, หน่อไม้ฝรั่ง, แอปเปิลพร้อมเปลือก, เม็ดมะม่วงหิมพานต์, ข้าวกล้องหุงสุก 1 ถ้วย, ปลาทูน่า, กาแฟชง 1 ถ้วย, ผักกาดแก้ว (ร่างกายจะดูดซึมโพแทสเซียมจากอาหารได้ประมาณ 85-90%) (1)
- ปริมาณโพแทสเซียมที่ควรได้รับต่อวัน : ไม่มีการกำหนดปริมาณโพแทสเซียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (RDA) เอาไว้ แต่มีการกำหนดปริมาณการบริโภคที่เพียงพอต่อวัน (AI) ของโพแทสเซียมเอาไว้ (1) คือ
- อายุ 1-3 ปี เท่ากับ 2,000 มก.
- อายุ 4 ถึง 8 ปี / ผู้หญิงอายุ 9-18 ปี เท่ากับ 2,300 มก.
- ผู้ชายอายุ 9-13 ปี เท่ากับ 2,500 มก.
- ผู้ชายอายุ 14-18 ปี เท่ากับ 3,000 มก.
- ผู้ชายและผู้หญิง เท่ากับ 3,400 มก. และ 2,600 มก. ตามลำดับ
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เท่ากับ 2,900 มก. หรือ 2,600 มก. หากอายุต่ำกว่า 19 ปี
- ผู้หญิงที่ให้นมบุตรคือ 2,800 มก. หรือ 2,500 หากอายุต่ำกว่า 19 ปี
- การขาดโพแทสเซียม : แม้จะพบได้น้อยในคนทั่วไป แต่การบริโภคโพแทสเซียมจากอาหารไม่เพียงพอหรือมีระดับโพแทสเซียมต่ำก็อาจส่งผลต่อความเสี่ยงนิ่วในไตที่เพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูง การหมุนเวียนของกระดูกที่มีการสลายมากกว่าการสะสมของแร่ธาตุในกระดูก ฯลฯ หรือเกิดอาการของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะคือ อาการท้องผูก อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือรู้สึกไม่สบาย หรืออาจทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าระดับโพแทสเซียมต่ำอย่างรุนแรง (1)
- การรับประทานแมกนีเซียมร่วมกับโพแทสเซียม : ประมาณ 50% ของผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำเรื้อรัง มักจะมีภาวะขาดแมกนีเซียมด้วย (สาเหตุมักเกิดมาจากการใช้ยาขับปัสสาวะ หรือมาจากอาการท้องเสีย โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคไต หรือพิษต่อไตจากยา) ซึ่งในกรณีเช่นนี้ การรักษาภาวะขาดโพแทสเซียมอาจทำได้ยากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้แมกนีเซียมร่วมด้วย (45)
- กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดโพแทสเซียม : ผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบ, ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด รวมทั้งยาขับปัสสาวะและยาระบาย, ผู้ที่เป็นโรค Pica (เป็นภาวะที่มีลักษณะอยากบริโภคสิ่งที่ไม่ถือว่าเป็นอาหาร)
- อาหารเสริมโพแทสเซียม : ที่พบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพแทสเซียมมีหลายรูปแบบ เช่น โพแทสเซียมไบคาร์บอเนต (Potassium bicarbonate), โพแทสเซียมซิเตรต (Potassium citrate), โพแทสเซียมกลูโคเนต (Potassium gluconate), โพแทสเซียมอะซิเตต (Potassium acetate), โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride), โพแทสเซียมแอสพาเตต (Potassium aspartate), โพแทสเซียมฟอสเฟต (Potassium phosphate) ฯลฯ ซึ่งโพแทสเซียมมากกว่า 90% จะถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหารได้ดีเหมือน ๆ กัน
- ปริมาณโพแทสเซียมเสริมที่แนะนำ : เพื่อป้องกันการขาดโพแทสเซียมในผู้ใหญ่ คือ ขนาด 200-400 มก. รับประทานวันละ 3-4 ครั้งพร้อมอาหาร สำหรับปริมาณต่อวันที่แนะนำรวม 600-1,600 มก. แต่สำหรับการรักษาภาวะขาดโพแทสเซียมให้เพิ่มขนาดเป็น 2 เท่า ส่วนในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมักใช้ในขนาดวันละ 3,000 มก. (46) และเนื่องจากอาหารเสริมโพแทสเซียมส่วนใหญ่จะจำกัดปริมาณโพแทสเซียมไม่เกิน 99 มก./เม็ด จึงอาจต้องรับประทานครั้งละหลายเม็ดและหลายครั้งเพื่อให้ได้ปริมาณที่ต้องการ
- ปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ : ระดับการบริโภคโพแทสเซียมสูงสุดที่ยอมรับได้ (ULs) ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ เนื่องจากร่างกายสามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกได้ตราบเท่าที่ไตเรายังแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อควรระวังการบริโภคในขนาดสูงในผู้ที่มีปัญหาเรื่องไต เพราะควรจำกัดปริมาณไว้ไม่เกินวันละ 2,000 มก. (1)
- ความปลอดภัย : การเสริมโพแทสเซียมในขนาดสูงโดยเฉพาะจากอาหารจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพใด ๆ ถ้าเรามีสุขภาพดีและการทำงานของไตยังปกติ และไม่มีหลักฐานว่าการเสริมโพแทสเซียมในขนาดสูงจะทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงในผู้ใหญ่ได้ (1)
- ข้อห้ามใช้ : ผู้ที่เป็นโรคไตและผู้ที่ต้องฟอกไต ซึ่งควรใช้อาหารเสริมโพแทสเซียมภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และควรจำกัดปริมาณโพแทสเซียมต่อวันไม่เกิน 2,000 มก.
- ผลข้างเคียงของอาหารเสริมโพแทสเซียม : โพแทสเซียมจากอาหารเสริมอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องได้ แม้ว่าผลข้างเคียงเหล่านี้อาจลดลงเมื่อรับประทานโพแทสเซียมพร้อมกับอาหาร ส่วนผลข้างเคียงที่ร้ายแรงกว่าแต่พบได้น้อยมาก ได้แก่ หัวใจเต้นผิดปกติ สับสน วิตกกังวล หายใจถี่ เหนื่อยหรืออ่อนแรง หรือเกิดอาการชาหรือเหมือนมีเข็มทิ่มที่มือ เท้า หรือริมฝีปาก นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง หรือเกิดอาการเจ็บหน้าอกหรือคอ (เมื่อรับประทานต้องแน่ใจว่าได้ดื่มน้ำตาม) และยังมีการศึกษาถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น
- โพแทสเซียมคลอไรด์อาจทำให้หลอดอาหารบาดเจ็บได้หากเม็ดยาติดอยู่ในหลอดอาหารเมื่อรับประทาน (47)
- การศึกษาขนาดใหญ่ในผู้หญิงสหรัฐฯ พบว่าการบริโภคโพแทสเซียมในปริมาณที่สูงกว่า (เฉลี่ยวันละ 3,717 มก.) จะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น 46% ต่อการเกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคโพแทสเซียมน้อย (เฉลี่ยวันละ 2,319มก.) (48)
- มีรายงานของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นที่กินมะม่วงมากเกินไปก่อนนอนจนติดเป็นนิสัย (มะม่วงเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง) และมักมีอาการตะคริวขณะหลับ พบว่าตะคริวหายไปเมื่อเธอหยุดกินมะม่วงหรือเมื่อระดับโพแทสเซียมกลับมาเป็นปกติ (49)
- ปริมาณโพแทสเซียมสูง (มากกว่า 99 มก.) ในยาเม็ดเคลือบเชื่อมโยงกับรายงานเกี่ยวกับรับงานการเกิดแผลในลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้อุดตัน ตกเลือด และทะลุ (50) ทำให้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ จึงกำหนดให้ยารับประทานบางชนิดที่มีส่วนประกอบของโพแทสเซียมตั้งแต่ 100 มก./เม็ด ขึ้นไป แสดงคำเตือนถึงความเสี่ยงนี้ (51) ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้อาหารเสริมโพแทสเซียมมีปริมาณไม่เกิน 99 มก./เม็ด
- ปฏิสัมพันธ์กับยาอื่น : ยาหลายประเภทอาจส่งผลต่อระดับโพแทสเซียมในลักษณะที่อาจเป็นอันตรายได้ ผู้ที่รับประทานยาเหล่านี้อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นและปริมาณการใช้โพแทสเซียมที่เหมาะก่อนเสมอ (1)
- ยาขับปัสสาวะกลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก (Potassium-sparing diuretics) เช่น Amiloride, Spironolactone
- ยาขับปัสสาวะกลุ่มลูปไดยูเรติก (Loop diuretics) เช่น Furosemide, Bumetanide
- ยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก (Thiazide diuretics) เช่น Chlorothiazide, Metolazone
- ยาควบคุมความดันโลหิต ACE Inhibitors เช่น Captopril
- กลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน (ARBs) เช่น Irbesartan, Losartan, Olmesartan, Valsartan
- ยาปฏิชีวนะไตรเมโทพริม (Trimethoprim) / ซัลฟาเมทอกซาโซน (Sulfamethoxazole)
การลดการบริโภคเกลือโดยการทดแทนด้วยโพแทสเซียม
โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยส่วนใหญ่บริโภคโซเดียมเกินจากปริมาณที่ร่างกายต้องการประมาณ 2-3 เท่า ด้วยเหตุนี้จึงมีผลิตภัณฑ์สารทดแทนเกลือ (Salt substitutes) ซึ่งไม่มีโซเดียม (โดยทั่วไปคือโพแทสเซียมคลอไรด์และ/หรือโพแทสเซียมบิตทาร์เทรต) และผลิตภัณฑ์เกลือผสมโพแทสเซียม หรือ Lite salts (ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของโซเดียมจะถูกแทนที่ด้วยโพแทสเซียม คือ มีโซเดียมน้อยกว่าเกลือทั่วไป 50%) ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ดีในการลดปริมาณโซเดียมและเพิ่มโพแทสเซียมในอาหารปกติ
- ศึกษาพบว่าการใช้ผลิตภัณฑ์สารทดแทนเกลือ (Salt substitutes) สามารถช่วยลดความดันโลหิตช่วงบนและช่วงล่างได้เฉลี่ย 4.9 และ 1.5 มม.ปรอท ตามลำดับ (52)
- การศึกษาขนาดใหญ่ในประเทศจีนเป็นระยะเวลา 5 ปี ในกลุ่มผู้ใหญ่ 15,000 คนที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีความดันโลหิตสูง (ส่วนใหญ่รับประทานยาลดความดันโลหิต) พบว่าการใช้เกลือที่มีโซเดียมคลอไรด์ 75% และโพแทสเซียมคลอไรด์ 25% ในการปรุงอาหาร สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้ 14% ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด 13% และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 12% เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคเกลือปกติ (53)
สรุปเรื่องแมกนีเซียม
โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ที่จำเป็นต่อการทำงานในหลายระบบ โดยปกติแล้วร่างกายจะได้รับโพแทสเซียมจากอาหารอย่างเพียงพออยู่แล้ว การเสริมโพแทสเซียมในรูปแบบอาหารเสริมนั้นไม่จำเป็น เว้นแต่ว่าร่างกายจะขาดโพแทสเซียม นอกจากประโยชน์เรื่องการใช้เพื่อรักษาภาวะขาดโพแทสเซียม การศึกษายังพบประโยชน์ของโพแทสเซียมในเรื่องการช่วยลดความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นิ่วในไต และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ยังไม่ชัดเจน และจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป
งานวิจัยอ้างอิง
- National Institutes of Health (NIH). “Magnesium”. (2023)
- Journal of the American College of Nutrition. “Rising Trend of Hypokalemia Prevalence in the US Population and Possible Food Causes”. (2021)
- Nursing Standard. “The importance of fluid balance in clinical practice”. (2008)
- Seminars in Nephrolog. “Extracellular Potassium Homeostasis: Insights from Hypokalemic Periodic Paralysis”. (2014)
- The American Journal of Medicine. “Hypokalemia and arrhythmias”. (1986)
- Acta clinica Croatica. “Hyperkalemia: A Potentially Lethal Clinical Condition”. (2001)
- Journal of Clinical Densitometry. “Does a high dietary acid content cause bone loss, and can bone loss be prevented with an alkaline diet?”. (2013)
- Advances in Nutrition. “Potassium and health”. (2013)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Potassium, magnesium, and fruit and vegetable intakes are associated with greater bone mineral density in elderly men and women”. (1999)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Effect of potassium citrate on bone density, microarchitecture, and fracture risk in healthy older adults without osteoporosis: a randomized controlled trial”. (2013)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Effect of potassium citrate supplementation or increased fruit and vegetable intake on bone metabolism in healthy postmenopausal women: a randomized controlled trial”. (2008)
- Diabetologia. “Potassium intake and risk of incident type 2 diabetes mellitus: the Coronary Artery Risk Development in Young Adults (CARDIA) Study”. (2012)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Diet and risk of clinical diabetes in women”. (1992)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Effects of potassium supplements on glucose metabolism in African Americans with prediabetes: a pilot trial”. (2017)
- Nutrition Reviews. “Dietary interventions on blood pressure: the Dietary Approaches to Stop Hypertension (DASH) trials”. (2006)
- Comparative Effectiveness Review. “Sodium and Potassium Intake: Effects on Chronic Disease Outcomes and Risks ”. (2018)
- International Journal of Cardiology. “The effect of potassium supplementation on blood pressure in hypertensive subjects: A systematic review and meta-analysis”. (2017)
- Journal of Hypertension. “Daily potassium intake and sodium-to-potassium ratio in the reduction of blood pressure: a meta-analysis of randomized controlled trials”. (2015)
- Journal of Hypertension. “Does potassium supplementation lower blood pressure? A meta-analysis of published trials”. (1991)
- JAMA. “Effects of oral potassium on blood pressure. Meta-analysis of randomized controlled clinical trials”. (1997)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Potassium supplementation for the management of primary hypertension in adults”. (2006)
- Mayo Clinic Proceedings. “Role of dietary salt and potassium intake in cardiovascular health and disease: a review of the evidence”. (2013)
- Plant Physiology. “Beneficial effects of potassium on human health”. (2008)
- Food and Drug Administration. “Food Labeling: Revision of the Nutrition and Supplement Facts Labels”. (2016)
- Journal of the American College of Cardiology. “Potassium intake, stroke, and cardiovascular disease a meta-analysis of prospective studies”. (2011)
- The BMJ. “Effect of increased potassium intake on cardiovascular risk factors and disease: systematic review and meta-analyses”. (2013)
- Journal of the American Heart Association. “Meta-Analysis of Potassium Intake and the Risk of Stroke”. (2016)
- JAMA. “Hypokalemia and Clinical Implications in Patients with Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)”. (2020)
- Clinical and Experimental Nephrology. “Hypokalemia in Patients with COVID-19”. (2021)
- Hypertension. “Role of dietary potassium in the treatment of hypertension”. (1983)
- The New England Journal of Medicine. “A prospective study of dietary calcium and other nutrients and the risk of symptomatic kidney stones”. (1993)
- Annals of Internal Medicine. “Comparison of dietary calcium with supplemental calcium and other nutrients as factors affecting the risk for kidney stones in women”. (1997)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Citrate salts for preventing and treating calcium containing kidney stones in adults”. (2015)
- The Journal of Urology. “Randomized double-blind study of potassium citrate in idiopathic hypocitraturic calcium nephrolithiasis”. (1993)
- Journal of Endourology. “Effect of potassium citrate therapy on stone recurrence and residual fragments after shockwave lithotripsy in lower caliceal calcium oxalate urolithiasis: a randomized controlled trial”. (2002)
- The Journal of Urology. “Potassium-magnesium citrate is an effective prophylaxis against recurrent calcium oxalate nephrolithiasis”. (1997)
- The Journal of Urology. “Sustained reduction in urinary calcium during long-term treatment with slow release neutral potassium phosphate in absorptive hypercalciuria”. (1998)
- Archivio Italiano Di Urologia E Andrologia. “The importance of potassium citrate and potassium bicarbonate in the treatment of uric acid renal stones”. (2016)
- Kidney international. “Successful management of uric acid nephrolithiasis withpotassium citrate”. (1986)
- Annals of Rheumatic Diseases. “Potassium metabolism in patients with rheumatoid arthritis. Effects of treatment with depot tetracosactrin, spironolactone, and oral supplements of potassium chloride.”. (1975)
- medRxiv. “An Adjunct Role Of Potassium Rich Vegetarian Diet And A Novel Potassium Food Supplement To Improve Pain In Chronic Rheumatoid Arthritis On Supervised Standard Care: A Randomized Controlled Study”. (2022)
- American Family Physician. “Nocturnal Leg Cramps”. (2012)
- Pharmacy & Pharmacology International Journal . “Use of potassium citrate in restless leg syndrome (RLS)”. (2016)
- Journal of Renal Nutrition. “Dietary Potassium Intake and Mortality in a Prospective Hemodialysis Cohort”. (2021)
- Journal of the American Society of Nephrology. “Mechanism of Hypokalemia in Magnesium Deficiency”. (2007)
- JAMA. “Effects of oral potassium on blood pressure. Meta-analysis of randomized controlled clinical trials”. (1997)
- British Medical Journal (Clinical Research Edition). “Oesophageal transit of six commonly used tablets and capsules”. (198)
- American Journal of Epidemiology. “Intake of Selected Minerals and Risk of Premenstrual Syndrome”. (2013)
- Case Reports in Neurological Medicine. “A Patient Developed Painful Muscle Cramps due to Overeating Mangos”. (2012)
- JAMA. “Enteric-Coated Potassium Supplements”. (1974)
- U.S. Food and Drug Administration. “CFR – Code of Federal Regulations Title 21”. (2023)
- Hypertension. “Potassium-Enriched Salt Substitutes as a Means to Lower Blood Pressure”. (2019)
- The New England Journal of Medicine. “Effect of Salt Substitution on Cardiovascular Events and Death”. (2021)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2023