แมกนีเซียม
- แมกนีเซียม (Magnesium) มีความสำคัญต่อการเผาผลาญของแคลเซียมและวิตามินซี เช่นเดียวกับฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม โดยแมกนีเซียมมีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัม (มก. หรือ mg.)
- แมกนีเซียมมีความสำคัญต่อการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นแร่ธาตุที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ และมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน โดยในร่างกายมนุษย์จะมีแมกนีเซียมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21 กรัม หรือ 21,000 มิลลิกรัม
- แหล่งที่พบแมกนีเซียมได้ตามธรรมชาติ ได้แก่ อาหารจำพวกปลาและหอย ถั่ว อัลมอนด์ เมล็ดธัญพืช ธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี มะเดื่อฝรั่ง ผักสีเขียวเข้ม กล้วย เป็นต้น
- หากร่างกายขาดแมกนีเซียม จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันป้องกันโรคต่าง ๆ ของร่างกายลดลง ระบบกล้ามเนื้อและระบบย่อยอาหารอาจทำงานผิดปกติ ระบบประสาทบางส่วนอาจถูกทำลาย กระดูกอ่อนจนร่างกายรับน้ำหนักไม่ไหว ร่างกายจะเก็บสะสมพลังงานไว้ไม่ได้ โดยศัตรูของแมกนีเซียม ได้แก่ แอลกอฮอล์และยาขับปัสสาวะ นอกจากนี้คนที่ผิวแพ้ง่ายมักจะขาดแมกนีเซียม เนื่องจากแมกนีเซียมน้อยเกินไปจะทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ที่ไม่ดี การสร้างเกราะป้องกันผิวก็แย่ตามไปด้วย
- แมกนีเซียมยังจำเป็นสำหรับการพัฒนาเซลล์ให้เปลี่ยนเป็นเซลล์ชั้นขี้ไคลด้วย และยังช่วยลดการหลังของฮีสตามีนที่เป็นสาเหตุของอาการคันของผิวหนังด้วย นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยเผาผลาญไขมันและเปลี่ยนเป็นพลังงาน ช่วยรักษาอาการซึมเศร้า ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ช่วยทำให้หลอดเลือดและหัวใจแข็งแรง ป้องกันโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ช่วยทำให้ฟันแข็งแรง และยังช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย
ประโยชน์ของแมกนีเซียม
- ช่วยในการเผาผลาญไขมันและเปลี่ยนเป็นพลังงาน
- ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล
- ช่วยรักษาอาการซึมเศร้าได้
- ป้องกันการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
- ช่วยทำให้หลอดเลือดและหัวใจแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคหัวใจเฉียบพลัน
- ช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บปวดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Anginapain)
- ช่วยให้สุขภาพฟันแข็งแรง
- ช่วยป้องกันการคลอดบุตรก่อนครบกำหนด
- ช่วยบรรเทาอาการปวดก่อนมีประจำเดือน (PMS)
- ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยในกระเพาะ
- ช่วยป้องกันการสะสมตัวของแคลเซียม นิ่วในไต และนิ่วในถุงน้ำดีได้
- เมื่อทำงานร่วมกับแคลเซียมจะทำงานคล้ายยาสงบประสาท บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน
- ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้
- มีส่วนช่วยในการป้องกันและรักษาโรคหืดหอบ
คำแนะนำในการรับประทานแมกนีเซียม
- แมกนีเซียมในรูปแบบอาหารเสริม มักมีวางจำหน่ายในรูปแบบของวิตามินรวมและแร่ธาตุรวม อาจหาซื้อในรูปแบบของ แมกนีเซียมออกไซด์ 250 มิลลิกรัม และจะออกฤทธิ์เท่ากับ 150 มิลลิกรัม ซึ่งโดยทั่วไปจะมีจำหน่ายในขนาด 133.3 มิลลิกรัม และรับประทานวันละ 4 เวลา ซึ่งไม่ควรรับประทานหลังอาหารทันที เพราะจะลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารได้ โดยแมกนีเซียมและแคลเซียมในปริมาณที่เท่ากันถือว่าเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด การรับประทานแมกนีเซียมในปริมาณมากเป็นระยะเวลายาวนาน อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หากรับประทานแคลเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณสูงด้วย หรือหากไตทำงานได้ไม่ดี
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานสำหรับผู้ใหญ่ต่อวันคือ 350 – 500 มิลลิกรัม และสำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรรับประทานในขนาด 450 – 600 มิลลิกรัม ต่อวัน
- การรับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมประมาณ 300 – 800 มิลลิกรัม ต่อวัน ก็เพียงพอต่อความร่างกายแล้ว
- สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรได้รับแมกนีเซียมเสริม
- สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายแล้วมักอ่อนล้าหมดแรงเป็นประจำ ควรได้รับแมกนีเซียมเสริม
- สำหรับผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเอสโทรเจน ควรได้รับแมกนีเซียมเสริม
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดดื้อต่ออินซูลิน ควรได้รับแมกนีเซียมเพราะจะช่วยให้ลดความดันโลหิตได้
- สำหรับผู้ที่รับประทานถั่ว เมล็ดธัญพืช ผักใบเขียวเข้มเป็นประจำ ร่างกายจะได้รับแมกนีเซียมมากเพียงพอแล้ว
- การรับประทานแมกนีเซียมอย่างเดียวอาจทำให้ท้องร่วงได้ ดังนั้นควรรับประทานร่วมกับแคลเซียม
- แมกนีเซียมจะทำงานร่วมกับวิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัสได้ดีที่สุด
- แมกนีเซียมเป็นตัวช่วยเสริมการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 หากร่างกายขาดแมกนีเซียม อาจส่งผลให้มีอาการที่เกี่ยวข้องกับการขาดวิตามินบีได้ เช่น อาการชัก
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)