44 ประโยชน์ของธาตุสังกะสี / ซิงค์ (Zinc) จากงานวิจัย !

สังกะสี หรือ ซิงค์ (Zinc) กับประโยชน์ทางการแพทย์

ซิงค์ คืออะไร?

สังกะสี หรือ ซิงค์ (Zinc) คือ เกลือแร่หรือแร่ธาตุ (Mineral) ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกาย (รองจากธาตุเหล็ก) โดยจัดเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายที่ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นเองหรือกักเก็บไว้ได้ จำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารหรือในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเท่านั้น

ธาตุสังกะสีนั้นมีบทบาทต่อการทำงานของร่างกายหลายส่วน ทั้งการเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกัน การทำงานของสมอง การผลิตสเปิร์ม ผิวหนัง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจึงมักมีธาตุสังกะสีหรือซิงค์เป็นส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม ยาและสารอาหารบางชนิดสามารถขัดขวางการดูดซึมธาตุสังกะสีและ/หรือเพิ่มการขับออกของธาตุสังกะสีได้ ดังนั้น การเพิ่มการบริโภคอาหารที่มีธาตุสังกะสีหรือการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารธาตุสังกะสี (เพียงอย่างเดียวหรือในรูปของวิตามินรวมหรือแร่ธาตุรวม) ก็จะสามารถป้องกันการขาดธาตุสังกะสีได้

สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สังกะสีที่พบขายมีอยู่หลายแบบด้วยกัน ได้แก่ ซิงค์กลูโคเนต (Zinc gluconate), ซิงค์อะซีเตต (Zinc acetate), ซิงค์ซิเตรต (Zinc citrate), ซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulfate), ซิงค์คีเลต (Zinc chelates), ซิงค์คาร์บอเนต (Zinc carbonate), ซิงค์ออโรเตต (Zinc orotate) และซิงค์พิโคลิเนต (Zinc picolinate) ซึ่งจะมีกล่าวถึงต่อไปในหัวข้อด้านล่างครับ

“แม้การขาดธาตุสังกะสีอย่างรุนแรงในปัจจุบันจะพบได้ยาก แต่จากการศึกษาพบว่าคนจำนวนมากนั้นได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอ (ขาดเล็กน้อย) โดยเฉพาะในทารก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ และสตรีทั่วไป”

สาเหตุการขาดธาตุสังกะสี

จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 1ใน 4 ถึง 1ใน 3 ของประชากรโลกจะมีภาวะขาดธาตุสังกะสี ซึ่งพบในทุกอายุ ตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน (พบได้บ่อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ) ส่วนสาเหตุนั้นมีดังนี้

  1. การได้รับธาตุสังกะสีจากอาหารไม่เพียงพอ ที่พบได้บ่อยคือ คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ เช่น มังสวิรัติ, ผู้ที่กินเนื้อสัตว์น้อย และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  2. ร่างกายสูญเสียธาตุสังกะสีมากผิดปกติหรือดูดซึมธาตุสังกะสีได้น้อย เช่น ผู้ที่ลำไส้ดูดซึมธาตุสังกะสีได้น้อยจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ ของลำไส้ (อย่างโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือภาวะท้องเสียเรื้อรัง), ผู้มีโรคไตเรื้อรัง (ไตขับธาตุสังกะสีออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น), ผู้ที่กินยาที่มีผลเพิ่มการขับธาตุสังกะสีออกจากร่างกาย (เช่น ยาขับปัสสาวะ/ยาขับน้ำในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือในภาวะหัวใจล้มเหลว), ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง (แอลกอฮอล์ส่งผลให้มีการปัสสาวะ ธาตุนี้จึงถูกขับออกมากขึ้นตามไปด้วย)
  3. ผู้ที่ร่างกายมีภาวะต้องการธาตุสังกะสีมากกว่าปกติ หรืออยู่ในภาวะที่ร่างกายกำลังมีการเจริญเติบโต เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ทารกในครรภ์ ในเด็ก ในวัยรุ่น

ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุสังกะสี

โรคหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตบางอย่างอาจทำให้ร่างกายขาดธาตุสังกะสีได้โดยไม่รู้ตัว

  • ผู้ที่มีภาวะสารขาดอาหาร เช่น กินอาหารไม่มีประโยชน์เป็นประจำ หรือจากภาวะทางเศรษฐกิจ หรือขาดคนดูแล เช่น ในเด็กเล็ก หรือในผู้สูงอายุ
  • การทานเจหรือมังสวิรัติ เพราะธาตุสังกะสีส่วนใหญ่มักพบในโปรตีนจากสัตว์ และมีน้อยในผักและผลไม้
  • หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายมีความต้องการใช้ธาตุสังกะสีสูงขึ้น รวมถึงเด็กทารกที่ยังดื่มนมแม่อยู่ก็อาจมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
  • ทารกอายุมากกว่า 6 เดือนไป ที่ยังกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้อาหารเสริมที่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายเด็กต้องการธาตุสังกะสีเพิ่มขึ้นในการเจริญเติบโต
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุราเรื้อรัง เพราะแอลกอฮอล์จะลดการดูดซึมธาตุสังกะสีในลำไส้ และทำให้ไตขับธาตุสังกะสีออกทางปัสสาวะมากขึ้น รวมทั้งคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง มักมีภาวะขาดสารอาหารร่วมด้วยเสมอ
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังของตับ ไต และผู้ป่วยมะเร็ง เพราะโรคเหล่านี้มักเป็นสาเหตุของการขาดสารอาหาร
  • ผู้ป่วยโรคเลือดชนิดที่เกิดจากพันธุกรรม ที่เรียกว่า “โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว” (Sickle cell disease) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง และส่งผลให้ร่างกายมีความต้องการใช้ธาตุสังกะสีมากขึ้น
  • ผู้มีโรคทางพันธุกรรมที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุสังกะสีได้ (พบได้น้อยมาก) เรียกว่า โรค Acrodermatitis enteropathica โดยมีอาการสำคัญคือ ท้องเสียเรื้อรัง ผมร่วง และมีผื่นผิวหนังในบริเวณรูเปิดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น รอบช่องปาก รอบจมูก รอบทวารหนัก รวมทั้งที่หนังศีรษะ มือ และเท้า

เมื่อร่างกายขาดธาตุสังกะสี

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่สำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ ดังนั้น ในคนบางกลุ่มจึงอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะขาดซิงค์หรือธาตุสังกะสี (Zinc deficiency) ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มียีนผิดปกติ ทารกที่ดื่มนมจากแม่ที่ได้รับธาตุสังกะสีไม่พอ ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท คนเหล่านี้มักจะเกิดภาวะขาดสังกะสีได้

โดยอาการจากภาวะขาดธาตุสังกะสีนั้นเป็นอาการไม่จำเพาะ มีอาการคล้ายคลึงกับอาการจากการขาดสารอาหารทั่ว ๆ ไป หรืออาการจากโรคต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อาการที่พบได้บ่อยนั้นมีดังนี้

  • มีผื่นผิวหนังขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ผิวแห้ง
  • แผลหายช้า
  • อาจมีสิวมากผิดปกติ
  • ผมร่วง ผมบางลง
  • เล็บเจริญไม่เต็มที่ มีลักษณะฝ่อลีบหรือเป็นจุดขาว ๆ
  • ท้องเสียเรื้อรัง
  • ลิ้นอักเสบ
  • คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรือความอยากอาหารลดลง
  • ต่อมรับรสทำงานผิดปกติ หรือการได้กลิ่นผิดปกติ
  • สายตาเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • อารมณ์แปรปรวน สติปัญญาไม่สมบูรณ์ หรือมีปัญหาด้านความจำ
  • ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย ป่วยบ่อย (โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ/โรคปอดบวมในเด็ก)
  • เกิดปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะในเพศชาย อาจมีปัญหาในการแข็งตัวของอวัยวะหรือนกเขาไม่ขัน และอัณฑะเจริญไม่เต็มที่ (Hypogonadism)
  • เติบโตช้า หรือเข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้า (การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกายผิดปกติ)
  • ในทารกในครรภ์และเด็กที่ขาดธาตุสังกะสีจะเจริญเติบโตช้าและภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงการเกิดแผลในปาก (Aphthous ulcers)

แหล่งอาหารของธาตุสังกะสี

เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ Zinc ขึ้นเองได้ เราจึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร โดยอาหารที่มีธาตุสังกะสีมาก ได้แก่

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น หอย หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยกาบ และหอยอื่น ๆ, เนื้อสัตว์ต่าง ๆ (เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อแกะ), สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง (ปู กุ้ง), ปลาบางชนิด (ปลาลิ้นหมา ปลาซาดีน ปลาแซลมอน), นมสด โยเกิร์ต เนย ชีส ไข่
  • กลุ่มพืชผัก เช่น ข้าวกล้อง เห็ด ผักคะน้า ผักเคล หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโอ๊ต ควินัว ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วลูกไก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม ข้าวโอ๊ต ควินัว ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดพืชชนิดต่าง ๆ

Zinc นั้นพบได้น้อยในปลา ผัก และผลไม้ แต่โชคดีที่อาหารอย่างเนื้อสัตว์หลายชนิดและพืชบางชนิดนั้นอุดมไปด้วยธาตุสังกะสี จึงทำให้ง่ายต่อบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ประโยชน์ของธาตุสังกะสี

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชี้ว่าธาตุสังกะสีหรือซิงค์มีประโยชน์หลายอย่างมากกว่าที่เราคิด แต่การได้รับมากเกินไปก็อาจเป็นพิษได้เช่นกัน ในบทความนี้จึงได้นำประโยชน์ของธาตุสังกะสีตามงานวิจัย ผลข้างเคียงและความปลอดภัย วิธีการรับประทาน รวมถึงข้อควรทราบต่าง ๆ มาฝากกันครับ

  1. ป้องกัน/รักษาภาวะขาดธาตุสังกะสี (Zinc deficiency) แม้โอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อย แต่ในคนบางกลุ่มก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ดังที่กล่าวไปแล้ว
  2. ใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย ร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้แร่ธาตุสังกะสี เพื่อใช้ในกระบวนการทำงานหลายอย่างในร่างกาย เช่น การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกาย ปฏิกิริยาของเอนไซม์ การสังเคราะห์โปรตีน การสังเคราะห์ DNA การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การฟื้นฟูบาดแผล การแสดงออกของยีน (Gene expression) เป็นต้น นอกจากนี้แร่สังกะสีนี้ยังมีความจำเป็นต่อการทำงานของเอนไซม์กว่า 300 ชนิด ที่ช่วยในเรื่องของกระบวนการเผาผลาญ การย่อยอาหาร การทำงานของระบบประสาท ตลอดไปจนถึง การพัฒนาและการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย สังกะสีจึงจัดได้ว่าเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายมากเป็นอันดับ 2 รองจากธาตุเหล็ก
  3. เสริมสร้างการเจริญเติบโต Zinc เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างยิ่ง เพราะร่างกายเราใช้แร่ธาตุชนิดนี้ในการสังเคราะห์สารต่าง ๆ ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นดีเอ็นเอ (DNA) อาร์เอ็นเอ (RNA) หรือโปรตีน ซึ่งสารโปรตีนเหล่านี้มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ด้วยเหตุนี้ การได้รับ Zinc อย่างเพียงพอจึงช่วยให้ทารกในครรภ์และเด็กสามารถเติบโตตามช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม
  4. เสริมภูมิคุ้มกัน ซิงค์มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยในการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันและจัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเซลล์ผิดปกติ (หากร่างกายขาดซิงค์ อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ได้ เช่น การติดเชื้อต่าง ๆ เพราะระบบภูมิคุ้มกันมีหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา สารก่อภูมิแพ้ และสารพิษ)
    • หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนบอกว่าการได้รับซิงค์ในรูปแบบอาหารเสริมติดต่อกันอาจช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้
    • งานวิจัยงานหนึ่งชี้ว่า Zinc อาจช่วยลดความรุนแรงและลดระยะเวลาการป่วยจากไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคหวัด และช่วยต้านการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกที่เกิดจากไวรัส จึงทำให้อาการของโรคหวัดทุเลาลง
    • งานวิจัยหลายชิ้นยังให้คำแนะนำว่า ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ควรบริโภคอาหารที่มีธาตุสังกะสีมากขึ้น เพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคปอดอักเสบ เป็นต้น
  5. ต้านการอักเสบ การอักเสบเกิดได้จากหลายปัจจัยและมักเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพมากมาย โดยหนึ่งในนั้นมักเกิดจากภาวะขาดสมดุลระหว่างสารอนุมูลอิสระ (Free Radicals) และสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีสารอนุมูลอิสระมากเกินไป (ภาวะนี้ถูกกระตุ้นให้รุนแรงขึ้นจากปัจจัยเรื่องของความเครียด อายุที่มากขึ้น มลภาวะต่าง ๆ บุหรี่ แอลกอฮอล์ และการติดเชื้อ) เมื่อเซลล์อักเสบเรื้อรังก็จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งซิงค์นั้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุลของสารอนุมูลอิสระ ช่วยลดปริมาณของความเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidative stress) และช่วยลดปริมาณของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการอักเสบได้ ดังนั้น การรับประทานซิงค์เป็นประจำจึงอาจช่วยลดการอักเสบเรื้อรังที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายโรคได้
    • มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้สูงอายุที่รับประทานซิงค์วันละ 45 มก. มีโอกาสเกิดอาการอักเสบน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก
  6. ลดอาการหวัด จากการศึกษาพบว่ายาอมธาตุสังกะสีหรือที่รู้จักในชื่อ “ยาอมซิงค์” สามารถลดอาการหวัดได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นยาอมซิงค์ที่ปริมาณธาตุสังกะสีเพียงพอ (เม็ดละ 9-23 มก. ในรูปแบบของ Zinc gluconate หรือ Zinc acetate), ต้องเป็นยาอมแบบที่ละลายช้า (15-30 นาที) และต้องแบ่งอมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 6-10 เม็ด โดยมีการศึกษาที่สำคัญ คือ
    • การทดลองทางคลินิกแบบ Double-blind พบว่าการให้ธาตุสังกะสีวันละ 80-92 มก. ในรูปของยาอมซิงค์ (Zinc acetate) ขนาด 9-23 มก. ภายใน 24 ชั่วโมง พบว่าอาการของหวัดหายเร็วขึ้น โดยลดระยะอาการของน้ำมูกไหล 34%, อาการคัดจมูก 37%, จาม 22%, ระคายคอ 33%, เจ็บคอ 18%, เสียงแหบ 43%, ไอ 46% และอาการปวดกล้ามเนื้อลดลง 54% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (แต่ไม่พบความแตกต่างของระยะเวลาของอาการปวดศีรษะหรือมีไข้) [1]
    • การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มจำนวน 7 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมที่เป็นโรคหวัดธรรมดารวม 575 คน โดยการให้ยาอมซิงค์ภายใน 2-3 วันแรกหลังจากที่เริ่มเป็นหวัด พบว่าทั้ง Zinc gluconate และ Zinc acetate ต่างมีประสิทธิภาพเท่ากันในการลดระยะเวลาที่เป็นหวัดโดยเฉลี่ยลง 33% หรือประมาณ 2-3 วัน เมื่อเทียบกับยาหลอก (ไม่พบความแตกต่างระหว่างการใช้ธาตุสังกะสีในขนาดสูงและต่ำอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ กลุ่มที่ได้รับธาตุสังกะสีวันละ 80-92 มก. พบว่าระยะเวลาการเป็นหวัดลดลงโดยเฉลี่ย 33% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับวันละ 192-207 มก. ระยะเวลาที่เป็นหวัดลดลง 35%) [2]
    • การศึกษาในประเทศฟินแลนด์ในกลุ่มชายและหญิงจำนวน 87 ราย (อายุเฉลี่ย 49 ปี) พบว่าการใช้ยาอมซิงค์ (13 mg จาก Zinc acetate) แบบละลายในปากวันละ 5-6 ครั้ง ในช่วง 5 วันแรกของการเป็นหวัด ไม่ได้ทำให้อาการหวัดสั้นลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งผู้จัยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเกิดจากการที่ผู้เข้าร่วมการทดลองส่วนใหญ่ใช้ยาเพียง 5 เม็ดต่อวัน (แทนที่จะเป็น 6 เม็ดต่อวัน) ที่ให้ธาตุสังกะสีรวมต่อวันเพียง 65 มก. ซึ่งเป็นขนาดที่ต่ำกว่าการศึกษาอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น และยาอมซิงค์นั้นมีปริมาณธาตุสังกะสีที่น้อยกว่าและละลายได้เร็วกว่าเพียง 8 นาที (แทนที่จะเป็น 15-30 นาที) ทำให้เวลาโดยรวมในการละลายของธาตุสังกะสีอยู่ในปากและลำคอน้อยลง [3]
    • บางข้อมูลระบุว่าการให้ธาตุสังกะสีในรูปแบบไซรัปหรือน้ำเชื่อมทางปากและกลืนเข้าไปอาจช่วยป้องกันและรักษาโรคไข้หวัด
  7. โควิด-19 แม้หลักฐานที่สนับสนุนการใช้ธาตุสังกะสีสำหรับ COVID-19 จะขัดแย้งกัน แต่การมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดที่เพียงพอยังมีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้น การเสริมธาตุสังกะสีในขนาดที่เหมาะสมทุกวันในผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะขาดธาตุสังกะสี เช่น 20 มก. ก็จะช่วยปรับปรุงการทำงานของภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้ ด้วยเหตุนี้ แพทย์บางท่านจึงได้แนะนำให้เสริมธาตุสังกะสีเพื่อป้องกันหรือรักษาอาการ COVID-19 หรือการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยมีการศึกษาสำคัญที่เกี่ยวข้องดังนี้
    • การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า ธาตุสังกะสีสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโคโรนาในเซลล์ [4]
    • การศึกษาในสเปนในกลุ่มผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 249 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่าผู้ที่มีระดับธาตุสังกะสีในเลือดต่ำมาก (น้อยกว่า 50 mcg/dL) มีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่มีระดับธาตุสังกะสีในเลือดสูงกว่า 50 mcg/dL (อัตราการเสียชีวิต คือ 21% เทียบกับ 5% ตามลำดับ) [5]
    • การศึกษาขนาดเล็กในผู้ป่วย COVID-19 ที่แสดงอาการ 4 คน แต่ไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยให้รับประทานเม็ดอมสังกะสี (เม็ดอมซิงค์) 1 เม็ดทุก 2-4 ชั่วโมง และปล่อยให้ละลายบนลิ้นเป็นเวลา 20-30 นาที (ไม่เกินวันละ 200 มก.) แล้วพบว่าแต่ละคนมีอาการดีขึ้นอย่างมากหลังจากผ่านไป 1 วัน (ผู้ป่วย 2 คน กิน Zinc citrate (Zinc 23 mg), 1 คน กิน Zinc citrate/Zinc gluconate (Zinc 23 mg) และอีก 1 คนกิน Zinc acetate (Zinc 15 mg)) [6]
    • การศึกษาในผู้ใหญ่ 214 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 พบว่าการรับประทานธาตุสังกะสี (Zinc gluconate) ก่อนนอนวันละ 50 มก., ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาของอาการโควิดอย่างมีนัยสำคัญ [7]
  8. การมองเห็น การศึกษาพบว่าการเสริมธาตุสังกะสีวันละ 69.6 มก. เพียงอย่างเดียว หรือในขนาดที่สูงกว่านี้ หรือในขนาดที่ต่ำกว่านี้ (วันละ 21.8 มก.) ร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินเอ (เบต้าแคโรทีน), วิตามินซี และวิตามินอี สามารถช่วยชะลอการลุกลามของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุระยะรุนแรง (Age-Related Macular Degeneration : AMD) ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นจากโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าหากได้รับร่วมกับ Lutein, Zeaxanthin, Vitamin C, Vitamin E และ Copper (ตามสูตร AREDS2) [8]
  9. การนอนหลับที่ดี ธาตุสังกะสีมีส่วนช่วยควบคุมการนอนหลับผ่านการส่งกระแสประสาทในสมอง และระดับธาตุสังกะสีในเลือดที่สูงมีความสัมพันธ์กับการนอนหลับที่ดีขึ้น โดยการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับที่ใช้ธาตุสังกะสีร่วมกับสารอื่น ๆ (เช่น เมลาโทนิน และแร่ธาตุอื่น ๆ) แสดงให้เห็นว่าช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น (แต่ไม่มีการศึกษาใดที่มีการใช้ธาตุสังกะสีเพียงอย่างเดียว) โดยหลักฐานที่น่าสนใจที่สุด คือ การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าการกินหอยนางรมแปซิฟิก 50 กรัม (ให้ธาตุสังกะสี 15 มก.) ทุกวัน สามารถช่วยลดเวลาที่จะหลับลง 5 นาที (ง่วงและหลับเร็วขึ้น) และเพิ่มเวลานอนหลับในช่วงการหลับธรรมดา (non-REM sleep) [9] อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าการเสริมธาตุสังกะสีจะช่วยในเรื่องการนอนหลับหรือไม่ รวมถึงปริมาณที่เหมาะสมในการใช้
  10. ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย ธาตุสังกะสีจำเป็นต่อการผลิตสเปิร์ม มีการศึกษาขนาดเล็กหลายชิ้นในต่างประเทศ เช่น เนเธอแลนด์และอิหร่านที่แนะนำว่าการเสริมธาตุสังกะสีและกรดโฟลิก อาจช่วยเพิ่มจำนวนและเพิ่มคุณภาพของสเปิร์มในผู้ชายที่มีสุขภาพดีและผู้ที่มีปัญหาเรื่องภาวะการเจริญพันธุ์ได้ แม้ว่าร่างกายจะไม่ได้ขาดสารเหล่านี้ก็ตาม [10],[11] อย่างไรก็ตาม การศึกษาขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกากับผู้ชายจำนวน 2,370 คนที่ต้องการการรักษาภาวะมีบุตรยาก (80% ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะมีบุตรยาก) พบว่าการเสริมธาตุสังกะสี 30 มก. และกรดโฟลิก 5 มก. ทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน ไม่ได้ช่วยเพิ่มจำนวนสเปิร์มหรือเพิ่มคุณภาพของน้ำเชื้อหรือเพิ่มอัตราการมีบุตรอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [12]
  11. โรคเบาหวาน การเสริมธาตุสังกะสีช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting blood sugar) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และผลลัพธ์จะดีขึ้นเมื่อได้รับในขนาดต่ำ (ต่ำกว่าวันละ 25 มก.) มากกว่าการใช้ขนาดสูง (วันละ 25-75 มก.) เพราะการใช้ในขนาดต่ำนั้นลดระดับน้ำตาลได้ 17.3 mg/dL ในขณะที่การใช้ในขนาดสูงลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เพียง 5.27 mg/dL นอกจากนี้ ยังพบว่าภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ก็ดีขึ้นด้วย โดยกลุ่มที่ได้รับในขนาดต่ำดีมากกว่ากลุ่มผู้ที่ได้รับในขนาดสูง [13]
  12. ลดคอเลสเตอรอล จากการศึกษาเดียวกันในข้อที่แล้วยังพบว่า การได้รับธาตุสังกะสีในปริมาณต่ำ (ต่ำกว่าวันละ 25 มก.) เป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 12 สัปดาห์ สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์, ระดับคอเลสเตอรอลรวม และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ แต่ไม่พบว่าช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม [13]
  13. โรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder : ADHD) การศึกษาพบว่าเด็กจำนวนมากที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดต่ำ และการเสริมธาตุเหล็ก 15 มก. ช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงขนาดสังกะสีที่ใช้และประสิทธิภาพของมัน [14]
  14. โรคคลั่งผอม หรือ โรคเบื่ออาหารอย่างรุนแรง (Anorexia nervosa) พบว่าการขาดธาตุสังกะสีอาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและสัมพันธ์กับการเกิดโรคคลั่งผอม ซึ่งการเสริมธาตุสังกะสีสามารถช่วยให้น้ำหนักตัว (BMI) ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ (เข้าใจว่าเกิดจากการที่ธาตุสังกะสีช่วยกระตุ้นการรับรู้รส กลิ่น และความรู้สึกอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น) โดยผู้วิจัยแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ทุกรายควรเสริมธาตุสังกะสีวันละ 14 มก. เป็นเวลา 2 เดือน [15],[16]
    • สอดคล้องกับอีกการศึกษาในผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจำนวน 13 ราย (อายุ 14-18 ปี) พบว่ากลุ่มที่ได้รับการเสริมธาตุสังกะสีวันละ 50 มก. เป็นเวลา 6 เดือน มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสูงเพิ่มขึ้น และมีการรับรสที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (ที่น่าสนใจคือกลุ่มที่ได้รับธาตุสังกะสีมีระดับอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลลดลงอย่างมาก) [17]
  15. โรควิลสัน หรือ ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson’s Disease) ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดจากตับไม่สามารถกำจัดแร่ธาตุทองแดงส่วนเกินออกไปได้ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ เป็นโรคตับแข็ง หรือเกิดปัญหาด้านระบบประสาทและความผิดปกติต่อดวงตา โดยจากการค้นคว้าพบว่า ธาตุสังกะสีช่วยลดระดับธาตุทองแดงได้ โดยป้องกันการดูดซึมแร่ธาตุทองแดงจากอาหารที่รับประทาน สังกะสีจึงมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้
  16. โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle-cell disease : SCD) เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดธาตุสังกะสี การเสริมธาตุสังกะสีจึงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ [18]
  17. เพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) จากการศึกษาพบว่าการเสริมธาตุสังกะสีอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านซึมเศร้าและช่วยลดอาการซึมเศร้าในผู้ที่ได้รับยาต้านซึมเศร้าได้ และการขาดธาตุสังกะสีจะทำให้ประสิทธิภาพของยาต้านซึมเศร้าลดลง [19],[20]
  18. รักษาโรค Acrodermatitis enteropathica ซึ่งเป็นโรคหายากมากที่มีสาเหตุมาจากร่างกายการดูดซึมธาตุสังกะสีได้ไม่ดี มักพบในทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ ทำให้ทารกมีอาการบกพร่องหลายอย่าง แต่การศึกษาพบว่า เมื่อรักษาด้วยการให้รับประทานธาตุสังกะสี (2-3 มก./กก./วัน) สามารถช่วยรักษาอาการของโรคทั้งหมดได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับธาตุสังกะสีต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ [21]
  19. กลิ่นตัว (Bromhidrosis) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปโดยทำให้กลิ่นตัวกลิ่นเหงื่อเหม็น ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียชนิด Corynebacterium spp แฃะเนื่องจากธาตุสังกะสีมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ครีมทา Zinc sulphate จึงมักถูกนำมาใช้และพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีในการกำจัดกลิ่นรักแร้และกลิ่นเท้า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการใช้สารละลาย 15% Zinc sulfate solution เพื่อรักษากลิ่นเท้า แล้วพบว่าช่วยรักษากลิ่นเท่าได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (มีประสิทธิภาพดีทั้งการรักษาและการป้องกัน) [22],[23]
  20. เกลื้อน (Pityriasis versicolor) โรคที่เกิดจากเชื้อราที่พบได้ทั่วไป และ Zinc pyrithione 1% เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้รักษาเกลื้อนได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและออกฤทธิ์โดยตรงต่อเชื้อราที่เป็นสาเหตุ [21] นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาการใช้ยาทา 15% Zinc sulphate เพื่อรักษาเกลื้อนจนหายดี หลังจากทำการรักษาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในขณะที่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [24]
  21. หูด (Warts) มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ดีของธาตุสังกะสีในการรักษาหูดโดยไม่มีผลข้างเคียง ไม่ว่าจะทั้งแบบยาทาและแบบรับประทาน เช่น การใช้ 10% Zinc sulphate solution ทาวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วพบว่าช่วยกำจัดหูดได้ราว 80% [25] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่ใช้ยาทา 20% Zinc oxide แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดหูดมากกว่ากรดซาลิไซลิกและกรดแลคติก [26] และอีกการศึกษาเป็นการใช้ Zinc sulphate ในรูปแบบรับประทาน (ขนาด 10 มก./กก./วัน) เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เป็นหูดแบบดื้อต่อการรักษาทุกรูปแบบ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วย 61% หายเป็นปกติภายใน 1 เดือน และ 87% หลังการรักษาครบ 2 เดือน (แต่ผู้ป่วย 13.3% ไม่ตอบสนองต่อการรักษา) [27]
  22. โรคเรื้อน (Leprosy) อีกโรคติดเชื้อทางผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อ M.leprae แพทย์มักแนะนำให้ใช้ธาตุสังกะสีในรูปแบบรับประทานเป็นหนึ่งในการรักษาเสริม เนื่องจากมันมรคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกัน [28] และมีการศึกษาพบว่าการรับประทานธาตุสังกะสีเสริมสามารถช่วยลดการใช้สเตียรอยด์ ช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรค และช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น [29],[30]
  23. โรคผิวหนังจากเชื้อรา (Dermatophytosis) มีการศึกษาการใช้ 20% Zinc undecylenate ในรูปแบบผงทาเพื่อรักษาโรคนี้เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [31]
  24. เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes) โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HSV ชนิดที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำสูง จากการศึกษาเราพบว่าการใช้เจล Zinc acetate มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่เชื้อของ HSV ชนิดที่ 2 และการติดเชื้อ HIV ได้ [32] สอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่าการใช้ยาทา Zinc sulphate 1%, 2% และ 4% เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่ายิ่งความเข้มข้นสูงยิ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ [33]
  25. โรคลิชมาเนีย (Cutaneous leishmaniasis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Leishmania spp. ที่ติดต่อด้วยการกัดของแมลงพาหะชนิดหนึ่ง แล้วทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังในลักษณะเป็นตุ่มนูนพองใสและแดง และพบว่าธาตุสังกะสีในรูปแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าที่บริเวณที่เป็นรอยโรค (Zinc Sulfate 2%) มีประสิทธิภาพที่ดีในการจัดการกับโรคนี้ [34],[35],[36]
  26. ฟื้นฟูรักษาบาดแผล (Ulcers/Wounds) ธาตุสังกะสีมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยเพิ่มการสร้างเซลล์ใหม่ (เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์คอลลาเจน เมื่อเกิดบาดแผล ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจนมากขึ้น) ซึ่งในผู้ที่ร่างกายขาดธาตุสังกะสี บาดแผลมักจะหายช้าลงและมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อมากขึ้น [37]
    • มีการศึกษาการใช้ Zinc oxide แบบเฉพาะที่เพื่อรักษาแผลเรื้อรังที่ขา (Arterial/Venous ulcers) ในผู้ป่วยสูงอายุจำนวน 37 ราย โดยได้รับการรักษาด้วยการใช้ผ้าก๊อซประคบที่มี Zinc oxide (400 μg ZnO/cm2) เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ แล้วพบว่ากลุ่มที่มีสังกะสีมีขนาดแผลและการหลุดร่อนของแผลดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (83% ต่อ 42%) [38]
    • การศึกษาทดลองใช้ Zinc รักษาแผลเบาหวานในผู้ป่วย 60 คน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับประทาน Zinc แผลเบาหวานมีขนาดเล็กลงเมื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ผู้วิจัยจึงเชื่อว่า Zinc อาจช่วยเร่งการสมานแผลได้ [66]
    • อย่างไรก็ตาม ก็มีการศึกษาที่พบว่าการเสริมธาตุสังกะสีในรูปแบบรับประทาน (Zinc sulphate) นั้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแผลเรื้อรังที่ขาแต่อย่างใด [39]
    • แม้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะระบุว่า Zinc สามารถช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูบาดแผลได้ แต่ปริมาณและรูปแบบการใช้นั้นอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะของบาดแผล ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมารและรูปแบบการใช้ที่เหมาะสมก่อนเสมอ
    • เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของคอลลาเจน (Collagen) จากงานวิจัย !
  27. โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) เป็นกลุ่มโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยและมีหลายชนิด ด้วยธาตุสังกะสีมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ธาตุสังกะสีจึงถูกนำมาใช้เพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของยาทา เช่น 2.5% Zinc sulphate, Zinc oxide แม้ว่าในภาพรวมแล้วจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาอื่น ๆ เช่น ยาทาสเตียรอยด์ แต่สังกะสีก็นับว่าเป็นสารที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคและบรรเทาอาการคันได้ [40]
  28. โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนัง การศึกษาพบว่าการใช้ครีม 0.25% Zinc pyrithione ทาวันละ 2 ครั้ง ได้ผลดีกับการรักษาโรคนี้ [41] และยังพบว่าการรับประทาน Zinc sulphate ก็มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ด้วย ซึ่งเป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินบางราย [42]
  29. โรคโรซาเซีย (Rosacea) หรือรู้จักในชื่อ “โรคสิวหน้าแดง” เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการแดงที่หน้า และมักทำให้เกิดรอยแผลแดง หรือแม้กระทั่งตุ่มแดง/ตุ่มหนอง การรักษาจะมีอยู่ด้วยกันหลายอย่างตั้งแต่การใช้ยาปฏิชีวนะ ยากดภูมิคุ้มกัน เรตินอยด์ การทำเลเซอร์ และยังพบว่าการรับประทาน Zinc sulphate ก็มีประโยชน์ในการจัดการกับโรคนี้ด้วย โดยพบว่าการเสริม Zinc sulphate 100 mg วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่ารอยโรคดูลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่มีผลข้างเคียง (เกิดจากฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระของธาตุสังกะสี) [43]
  30. ภาวะต่อมเหงื่ออักเสบ (Hidradenitis suppurativa) หรือบางครั้งเรียกว่า “โรคสิวอักเสบเรื้อรังที่รักแร้” การศึกษาพบว่าการรักษาด้วยการรับประทาน Zinc gluconate 90 mg (เทียบเท่าซิงค์ 15 มก.) ทุกวัน ผู้ป่วยมีมีอาการทุเลาลง ธาตุสังกะสีจึงอาจเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคนี้นอกเหนือจากการใช้ยาปฏิชีวนะ, ยา Isotretinoin, ยาต้านแอนโดรเจน และการผ่าตัด [44]
  31. โรคเบเช็ท (Behcet’s disease) เป็นความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกายหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะอวัยวะอย่างเยื่อบุในช่องปาก ตา รวมถึงผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ จากการศึกษาพบว่าการให้ผู้ป่วยรับประทาน Zinc sulphate ขนาด 100 มก. วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยรักษาโรคนี้ได้โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ [45]
  32. โรคแผลร้อนใน (Aphthosis) การศึกษาพบว่าการให้ผู้ป่วยรับประทาน Zinc sulphate ขนาด 100 มก. วันละ 3 ครั้ง สามารถช่วยรักษาโรคนี้และป้องกันการเกิดซ้ำของโรคนี้ได้ [46]
  33. โรคผิวหนัง Necrolytic acral erythema (NAE) มีการสังเกตพบว่าผู้ NAE มักมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดต่ำ และการเสริม Zinc sulfate วันละ 440 มก. แม้ในผู้ป่วยที่มีระดับธาตุสังกะสีในเลือดปกติก็ยังช่วยรักษาหรือช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ [47]
  34. โรคผมร่วง (Alopecias) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในผู้ชาย การศึกษาพบว่าธาตุสังกะสีมีฤทธิ์ต้านแอนโดรเจนและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5α-reductase ซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมน DHT (ตัวการทำให้ผมร่วง) ที่หนังศีรษะลดลง จึงมีผลลดการหลุดร่วงของเส้นผมและมีส่วนช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมได้ (แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยา Minoxidil และ Finasteride และรูปแบบการผ่าตัด) โดยมีการศึกษาพบว่าการเสริม Zinc sulfate วันละ 5 มก./กก. เป็นระยะเวลา 6 เดือน และสังเกตเห็นการตอบสนองที่ดีขึ้นผู้ป่วยที่มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [48]
  35. โรค Erosive pustular dermatosis ของหนังศีรษะ เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อยนัก ทำให้เกิดรอยโรคลักษณะตุ่มหนอง เกิดการหลุดลอกของหนังศีรษะ และนำไปสู่อาการผมร่วงเป็นแผลในที่สุด การรักษาโรคนี้มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่จากการศึกษาเราพบว่า Zinc sulfate แบบรับประทาน เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ [49]
  36. โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ จากการศึกษาพบว่า แชมพู Zinc pyrithione 1% เป็นหนึ่งในการรักษาที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลกับโรคเซ็บเดิร์ม (ส่วนใหญ่มักใช้ผสมกับ Ketoconazole ในแชมพูขจัดรังแคหลายยี่ห้อ เพราะจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้สารใดสารหนึ่งเพียงอย่างเดียว) เพราะสังกะสีนั้นมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเชื้อและมีฤทธิ์ต้านการเพิ่มจำนวนของ Pityrosporum ovale ที่เป็นสาเหตุของโรค นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดซ้ำของขุย อาการคัน และการระคายเคืองที่เกี่ยวข้องกับรังแค [50] อย่างไรก็ตาม การใช้แบบเดี่ยว ๆ พบว่า แชมพู Ketoconazole 2% มีประสิทธิภาพเหนือกว่าแชมพู Zinc pyrithione 1% ในการรักษาโรคเซ็บเดิร์มและผู้ที่มีรังแครุนแรง [51]
  37. ภาวะไลเคนอยด์ในช่องปาก (Oral lichen planus) เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุที่ส่งผลต่อเยื่อเมือกผิวภายในช่องปาก แม้จะมีวิธีการรักษาหลายอย่างสำหรับโรคนี้ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าวิธีการรักษาใดจะได้ผลดีที่สุด แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากสังกะสี 0.2% ผสมฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) กับน้ำยาบ้วนปากฟลูโอซิโนโลนที่ไม่มีสังกะสี เราพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวด การระคายเคือง และขนาดแผลลดลงทั้งสองกลุ่ม แต่พบว่ากลุ่มที่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมสังกะสีมีขนาดแผลลดลงมากกว่าอีกกลุ่มที่ใช้ฟลูโอซิโนโลนเพียงอย่างเดียว [52]
  38. ภาวะก่อนมะเร็งและมะเร็งผิวหนัง (Premalignant / Malignant dermatoses) ด้วยธาตุสังกะสีความเข้มข้นสูงมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์และกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อได้ สังกะสีจึงถูกนำมาใช้ในภาวะก่อนมะเร็งและมะเร็งผิวหนัง เช่น Xeroderma pigmentosa, Actinic keratosis และ Basal cell carcinoma ตัวอย่าง การศึกษาผลของการใช้ยาทา Zinc sulphate 20% ในผู้ป่วย eroderma pigmentosa ที่พบว่ารอยโรคของผู้ป่วยดีขึ้น โดยที่ไม่มีการกำเริบของรอยโรคเก่าหรือมีการพัฒนาของเนื้อร้ายใหม่ [53] การศึกษาการใช้สารละลาย Zinc gluconate 2% พบว่ารอยโรคจาก Basal cell carcinoma ของผู้ป่วยดีขึ้นโดยไม่มีผลข้างเคียง [54]
  39. ความผิดปกติของเม็ดสี (Pigmentary disorders) มีการใช้สังกะสีเฉพาะที่กับโรคด่างขาวและฝ้า เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคด่างขาวมักมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดที่ต่ำ จึงมีการสันนิษฐานว่าสังกะสีมีบทบาทในการจัดการกับโรคนี้ [55] โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียวกับสเตียรอยด์ที่ผสม Zinc sulphate (รูปแบบยาทาน) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคด่างขาว 15 ราย แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้รับสเตียรอยด์ผสม Zinc sulphate เกิดผลลัพธ์หรือมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่า 24.7% ต่อ 21.43% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียว [56] ส่วนในผู้ที่เป็นฝ้ามีการทดลองวิธีการรักษาฝ้าหลายวิธีตั้งแต่ไฮโดรควิโนนไปจนถึงการทำเลเซอร์ และยาทา Zinc sulphate 10% ก็เป็นหนึ่งในการรักษาที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาฝ้าที่ได้ผลและปลอดภัย [57] แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนักเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ อย่างไรก็ตามก็มีการใช้ Zinc oxide เป็นส่วนประกอบในครีมกันแดดที่ใช้รักษาฝ้า [58]
  40. แผลเป็นและคีรอยด์ (Scars and Keloids) ประโยชน์ของการใช้สังกะสีในรูปแบบทาเพื่อรักษาคีรอยด์เป็นผลมาจากฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Lysyl oxidase และกระตุ้นคอลลาเจน โดยมีรายงานการตอบสนองที่ดีทางคลินิกของผู้ป่วยจำนวน 23 รายจาก 41 รายที่เป็นคีรอยด์หลังรักษาด้วยการใช้ซิงค์เทป (Zinc tape) เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ขนาดรอยนูนของแผลเป็นของผู้ป่วยลดลงทุกราย และยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการคันลดลงหรือเกือบครึ่งหนึ่งที่อาการคันหายไปโดยสิ้นเชิง) [59] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบอัตราการกลับมาซ้ำต่ำมากของคียรอยด์ในผู้ป่วย 34% ที่ใช้ซิงค์เทป [60]
  41. ต่อต้านริ้วรอย (Antiageing) การศึกษาการใช้ครีมที่มีส่วนประกอบของทองและซิงค์มาโลเนต (Copper–Zinc malonate-containing cream 0.1%) ในผู้ป่วยหญิงที่ผิวมีความเสื่อมจากการถูกแสงยูวีประจำและเป็นระยะเวลานาน (Photoaging) พบว่าหลังใช้ครีมดังกล่าวทาวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ สามารถช่วยเพิ่มการสังเคราะห์อีลาสตินในผิวหนัง ซึ่งนำไปสู่การลดเลือนของริ้วรอยได้ [61],[62]
  42. อาการคัน (Pruritus) โลชั่นคาลาไมน์ที่ผสม Zinc oxide หรือ Zinc carbonate มักถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการคัน เนื่องจากสังกะสีมีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลาย และยับยั้ง Mast cell จึงมีผลช่วยลดการหลั่งของฮีสตามีน ซึ่งเป็นตัวกลางในการตอบสนองต่อการอักเสบและตัวกระตุ้นให้เกิดอาการคัน ด้วยเหตุนี้ ธาตุสังกะสีจึงเป็นทางเลือกในการรักษาที่มีประโยชน์สำหรับอาการดังกล่าว [21]
  43. ลดสิว เนื่องจากสิวส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบหรือเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และ Zinc มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ (จึงช่วยลดการอักเสบของสิวและผิวหนัง ลดอาการเจ็บปวดบวมแดงที่เกิดจากสิว) ต้านเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อสิว หรือ P. Acnes) และมีส่วนชวยลดการผลิตน้ำมันบนผิวหนัง (ช่วยลดการสะสมและอุดตันของไขมันบนใบหน้าอันนำไปสู่การเกิดสิว) ซึ่งบางงานวิจัยพบว่าการทายาหรือรับประทานยาที่มีส่วนผสมของ Zinc จะช่วยรักษาหรือลดการเกิดสิวได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ยืนยันถึงสรรพคุณที่แน่ชัดในเรื่องนี้ จึงควรรอผลการศึกษาใหม่ ๆ เพิ่มเติม
    • การศึกษาพบว่าในคนที่เป็นสิวมักมีระดับธาตุสังกะสีในเลือดต่ำกว่าคนที่ไม่เป็นสิวอย่างชัดเจน ดังนั้น การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุสังกะสีจึงอาจช่วยรักษาสิวหรือช่วยให้อาการของสิวที่เป็นอยู่ดีขึ้น [63]
    • การศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นสิวอักเสบจำนวน 332 รายที่ได้รับธาตุสังกะสี 30 มก. (ในรูปของ Zinc gluconate) เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาสิวอักเสบ [64] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบว่าการรับประทานธาตุสังกะสี (ในรูปของ Zinc sulfate) มีประสิทธิภาพดีในการรักษาสิวระดับแรงมากกว่าการรักษาสิวเล็กน้อยถึงปานกลาง [21]
    • การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าการรับประทานสังกะสีในรูปของอาหารเสริม (วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน) มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่เป็นสิวเล็กน้อยถึงปานกลาง [65]
  44. อื่น ๆ เช่น การช่วยให้เซลล์รับรสชาติอาหารและได้กลิ่นต่าง ๆ

ผลข้างเคียงของธาตุสังกะสี

การได้รับซิงค์ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ (Toxicity) ได้ โดยมักเกิดจากการใช้ซิงค์ในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ตะคริวที่ท้อง
  • ท้องเสีย ปวดท้องเรื้อรัง
  • ภูมิคุ้มกันต่ำลง
  • ปวดศีรษะ
  • มีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสูงขึ้น (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)

ปริมาณที่ร่างกายต้องการ

การได้รับ Zinc จากการบริโภคอาหารนั้นปลอดภัย แต่หากแพ้อาหารชนิดไหนก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น หรือหากต้องการรับประทานอาหารเสริม Zinc ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเาทอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว อยู่ระหว่างการใช้ยารักษาโรค คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายของเราต้องการ Zinc ต่อวันในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำปริมาณ Zinc ต่อวันโดยแบ่งตามช่วงอายุไว้ดังนี้

  • อายุ 6–11 เดือน 2.7 มก./วัน
  • อายุ 1–3 ปี 4.4 มก./วัน
  • อายุ 4–5 ปี 5.3 มก./วัน
  • อายุ 6–8 ปี 6.3 มก./วัน
  • อายุ 9–12 ปี หญิง 9.0 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 9.5 มก./วัน
  • อายุ 13–15 ปี หญิง 9.8 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 12.5 มก./วัน
  • อายุ 16–18 ปี หญิง 9.8 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 12.9 มก./วัน
  • อายุ 19–30 ปี หญิง 9.7 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 11.6 มก./วัน
  • อายุ 37–60 ปี หญิง 9.2 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 10.9 มก./วัน
  • อายุ 61–70 ปี หญิง 8.6 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 10.9 มก./วัน
  • อายุ 71 ปีขึ้นไป หญิง 8.6 มก./วัน ส่วนในผู้ชาย 10.3 มก./วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับปริมาณ Zinc เพิ่มจากปริมาณปกติ 1.6 มก./วัน
  • หญิงให้นมบุตร ควรได้รับ Zinc เพิ่มจากปริมาณปกติ 2.9 มก./วัน

สรุป

การรับประทานอาหารอย่างหลากหลายเป็นประจำ สามารถช่วยเพิ่ม Zinc ให้กับร่างกายได้อย่างเพียงพอ แม้ Zinc จะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง แต่เราก็ไม่ควรซื้อมารับประทานเองเพื่อหวังผลในการรักษาหรือป้องกันโรคใด ๆ หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ (ซิงค์อาจใช้เป็นตัวช่วยเสริมในการรักษาอาการหรือโรคบางอย่างได้ แต่เราจะไม่ใช้ซิงค์เป็นการรักษาหลักหรือใช้แทนที่การรักษาที่ได้รับการยืนยันแล้ว) ดังนั้น หากคุณเจ็บป่วยหรือมีอาการใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอถึงประโยชน์และความจำเป็นในการใช้ หากแพทย์เห็นว่าเราจำเป็นต้องเสริม Zinc จริง ๆ แพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายและแนะนำวิธีการรับประทานอย่างปลอดภัยให้กับเราเอง

สุดท้ายนี้ การได้รับ Zinc เพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถทำให้ร่างกายโดยรวมของเรามีสุขภาพดีได้ เราจึงควรรับปรทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์อย่างแท้จริง

งานวิจัยอ้างอิง

ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2023

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ