อะไซโคลเวียร์
อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir ตามแบบ USAN หรือ Aciclovir ตามแบบ INN) เป็นยาต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริม โรคงูสวัด และโรคอีสุกอีใส โดยมีทั้งรูปแบบยาเม็ด ยาครีม ยาป้ายตา และยาฉีด
ตัวอย่างยาอะไซโคลเวียร์
ยาอะไซโคลเวียร์ (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อะไซเวียร์ (Acyvir), เอซีวี (A.C.V.), อะโซแวกซ์ (Azovax), ไคลโนเวียร์ (Clinovir), โคลวิน (Clovin), โคลวิรา (Clovira), โคลเซอร์ (Colsor), โคเวียร์ (Covir), ไซโคลแรกซ์ (Cyclorax), ดีโคลเวียร์ (Declovir), เอนเทียร์ (Entir), ฟาเลิร์ม (Falerm), ไวเวียร์ (Vivir), ไวโซ (Vizo), เซวิน (Zevin), โซโควิน (Zocovin), โซวิแรกซ์ (Zovirax) เป็นต้น
รูปแบบยาอะไซโคลเวียร์
- ยาเม็ด ขนาด 200, 400 และ 800 มิลลิกรัม
- ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 5%
- ยาขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดความเข้มข้น 3%
- ยาฉีดเข้าหลอดเลือด ขนาดความเข้มข้น 25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
หมายเหตุ : สำหรับการบริหารยาแบบรับประทานนั้น ตัวยาสามารถดูดซึมได้ประมาณ 15-30% ดังนั้น หากต้องการระดับความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดที่สูงกว่านี้จำเป็นต้องใช้ยาแบบฉีดเข้าหลอดเลือด
สรรพคุณของยาอะไซโคลเวียร์
- อะไซโคลเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้สำหรับป้องกันและรักษาโรคเริม (Herpes simplex) ที่แสดงอาการในบริเวณอวัยวะต่าง ๆ เช่น ริมฝีปาก อวัยวะเพศ หรือแม้แต่เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) นอกจากนี้ยังใช้เพื่อรักษาและบรรเทาอาการของโรคงูสวัด (Herpes zoster) และโรคอีสุกอีใส (Chicken pox)
- ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรค Eczema herpeticum หรือการติดเชื้อเริมที่ผิวหนัง ตา จมูก และปาก และใช้รักษาโรคฝ้าขาวข้างลิ้น (Hairy leukoplakia)
- ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ด้วย ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะไซโคลเวียร์
ยาอะไซโคลเวียร์จะออกฤทธิ์เข้าไปยับยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยรบกวนการสร้างและสังเคราะห์สารทางพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อไวรัส ทำให้ไวรัสไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้อาการของโรคบรรเทาลงในที่สุด
ก่อนใช้ยาอะไซโคลเวียร์
สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยาอะไซโคลเวียร์มีดังนี้
- การแพ้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir), วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ผื่นขึ้น หรือแน่น หายใจติดขัด เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาแต่ละชนิดอาจส่งผลทำให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาอะไซโคลเวียร์กับยาอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ก่อนแล้วได้ เช่น
- เมื่อรับประทานยาอะไซโคลเวียร์ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เช่น เจนตามัยซิน (Gentamicin), อะมิกาซิน (Amikacin) อาจส่งผลให้เกิดความเป็นพิษจากยาปฏิชีวนะได้มากขึ้น เช่น ต่อหู ไต เส้นประสาทต่าง ๆ
- เมื่อรับประทานยาอะไซโคลเวียร์ร่วมกับยาที่ใช้ขยายหลอดลม เช่น อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline), ทีโอฟิลลีน (Theophylline) อาจส่งเสริมให้ความเข้มข้นของยาที่ใช้ขยายหลอดลมมีความเข้มข้นมากขึ้นและอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดผลข้างเคียงของยาที่ใช้ขยายหลอดลมเพิ่มมากขึ้นด้วย
- หากเป็นหรือเคยมีอาการเสียน้ำเนื่องจากเจ็บป่วยหรือออกกำลัง หรือโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคเกี่ยวกับระบบประสาท ชัก หรือโรคไต
- มีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายตัวสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาอะไซโคลเวียร์
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ และยาในกลุ่มเดียวกัน เช่น วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้และเก็บยาหมดอายุ
- ควรระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้ที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับหรือไต
วิธีใช้ยาอะไซโคลเวียร์
- เริม ให้รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง นาน 10-14 วัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น สำหรับการใช้ยาเพื่อป้องกันการลุกลามของโรคเริมที่เกิดบริเวณอวัยวะเพศ (Genital herpes) ให้รับประทานยาวันละ 2-5 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือน
- งูสวัด ในผู้ใหญ่ผู้ที่มีภูมิต้านทานปกติ ให้รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง วันละ 5 ครั้ง (เว้นมื้อหลังเข้านอนตอนดึก) นาน 7 วัน
- อีสุกอีใส ควรให้ยาภายใน 24 ชั่วโมงหลังเริ่มมีผื่นขึ้น ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัม ที่มีภูมิต้านทานปกติ ให้รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง วันละ 5 ครั้ง (เว้นมื้อหลังเข้านอนตอนดึก) นาน 5 วัน ส่วนในเด็กที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี และอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 กิโลกรัม ที่มีภูมิต้านทานปกติ ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (สูงสุด 800 มิลลิกรัม) ทุก 6 ชั่วโมง นาน 5 วัน
คำแนะนำในการใช้ยาอะไซโคลเวียร์
- ขนาดยาและระยะเวลาการใช้ยาที่ระบุไว้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น จึงไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ ซึ่งการใช้ยาที่เหมาะสมจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ
- ขนาดของยาอะไซโคลเวียร์ที่ใช้รับประทานในผู้ใหญ่และเด็กจะมีแตกต่างกันไป และยังขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไว้รัสที่ก่อโรค อีกทั้งขนาดรับประทานในปริมาณสูงสุดในผู้ป่วยแต่ละรายก็จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเรื่องการทำงานของไตมาเป็นเงื่อนไขในการบริหารยาด้วย ผู้ป่วยจึงไม่ควรซื้อยาชนิดนี้มารับประทานเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ยานี้สามารถรับประทานพร้อมอาหาร ก่อนหรือหลังอาหาร หรือในขณะท้องว่างก็ได้ และหลังรับประทานยาให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ (การรับประทานยาหลังอาหารอาจช่วยให้การระคายเคืองของกระเพาะและลำไส้ลดลง)
- ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุไว้
- ให้รับประทานยาติดต่อกันจนหมดช่วงการรักษาแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
- หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
การเก็บรักษายาอะไซโคลเวียร์
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะที่ป้องกันแสงได้ เช่น ขวด ซองสีชา เป็นต้น
- ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้องปกติ หรือเก็บภายใต้อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น) และเก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง)
- ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
เมื่อลืมรับประทานยาอะไซโคลเวียร์
โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ผลข้างเคียงของยาอะไซโคลเวียร์
- อาการอันไม่พึงประสงค์ทั่วไป คือ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีไข้ เบื่ออาหาร ท้องเดิน ท้องร่วง ท้องเสีย ผื่นขึ้น ตาแดง ผมร่วง
- อาการอันไม่พึงประสงค์รุนแรง คือ ผื่นคัน ผื่นลมพิษ ผิวหนังพุพอง ลอก รวมถึงเนื้อเยื่อในช่องปาก เลือดไหลไม่หยุด ฟกช้ำ มีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามตัว อ่อนเพลียผิดปกติ ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะลำบากหรือปริมาณของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป สับสน ประสาทหลอน ชัก อาการรับสัมผัสผิดปกติ ได้แก่ อาการชา แสบร้อน หรือเหมือนมีเข็มทิ่ม
- สำหรับยาฉีดอาจก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณหลอดเลือดดำที่มีการฉีดยา หากมียาบางส่วนไหลออกนอกหลอดเลือดก็อาจก่อให้เกิดภาวะเป็นแผลในบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียงได้
- ผู้ป่วยบางรายหลังได้รับยาแล้วอาจมีอาการไตล้มเหลวได้ แต่ก็เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 256-257.
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “ACICLOVIR”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [11 ก.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “อะไซโคลเวียร์ Aciclovir”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [11 ก.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)