อีสุกอีใส (Chickenpox) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

โรคอีสุกอีใส

อีสุกอีใส หรือ ไข้อีสุกอีใส หรือที่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า ไข้สุกใส หรือ โรคสุกใส (Chickenpox, Varicella) เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ โดยทั่วไปจะพบอัตราการป่วยได้สูงสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 0-4 ปี, 10-14 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนในคนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปอาจพบได้บ้าง โรคนี้มีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งหญิงและชาย ซึ่งมักจะเป็นคนที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน

อีสุกอีใสเป็นโรคที่ระบาดแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีอุบัติการณ์เกิดสูงสุดในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

รายงานกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2552 พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสจำนวน 89,246 คน ทั่วประเทศ และมีเสียชีวิต 4 คน เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุก็พบว่า กลุ่มอายุ 5-9 ปี จะมีอัตราป่วยสูงสุดคิดเป็น 578.95 ต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือกลุ่มอายุ 0-4 ปี, 10-14 ปี และกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป คิดเป็น 487.13, 338.45 และ 58.81 ตามลำดับ[2]

สาเหตุของโรคอีสุกอีใส

อีสุกอีใสเกิดจากการติด “เชื้ออีสุกอีใส-งูสวัด” ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า “ไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์” (Varicella zoster virus – VZV) หรือ Human herpesvirus type 3 (HHV-3) โดยเชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสในผู้ที่เพิ่งติดเชื้อเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่ออายุมากขึ้นหรือภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อที่หลบซ่อนอยู่ก็จะเจริญเติบโตขึ้นใหม่ก่อให้เกิดโรคงูสวัด

การติดต่อของโรคอีสุกอีใส : เชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอยู่ในตุ่มน้ำของผู้ที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด ในน้ำลายและเสมหะของผู้ที่เป็นอีสุกอีใส สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ที่นอน ผ้าห่ม เป็นต้น หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนไปด้วยเชื้อตุ่มน้ำ น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย แล้วเชื้อก็ปนเปื้อนเข้าทางเดินหายใจแบบเดียวกับไข้หวัด หรืออีกทางหนึ่งโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือออกมาแขวนลอยอยู่ในอากาศแบบเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะติดต่อโดยทางใดก็ตาม เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจแล้วเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปทั่วร่างกาย รวมทั้งที่ผิวหนัง (ส่วนการสัมผัสสะเก็ดแผลจะไม่ทำให้ติดโรค)

ระยะฟักตัวของโรคอีสุกอีใส : ประมาณ 10-21 วัน แต่โดยเฉลี่ยคือประมาณ 14-17 วัน

โรคนี้ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วอาการจะไม่รุนแรง และมักหายได้เอง โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่อาจมีไข้เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและหลุดไปภายใน 7-10 วัน ส่วนในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ อาจเป็นนานและมีความรุนแรงมากกว่าเด็ก

อาการของโรคอีสุกอีใส

ในเด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ มีอาการอ่อนเพลีย และเบื่ออาหารเล็กน้อย ส่วนในผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามร่างกายคล้ายไข้หวัดใหญ่นำก่อน จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือขึ้นหลังจากมีไข้ประมาณ 1-2 วัน ลักษณะของผื่นเริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นราบสีแดงขนาดเล็ก ๆ ก่อน ในอีก 2-3 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูนและตุ่มน้ำใสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีฐานสีแดงอยู่โดยรอบ ตุ่มใสมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัน และภายใน 24 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำขุ่น มีขนาดใหญ่ขึ้นและแตกได้ง่าย แล้วจะฝ่อหายไปหรือกลายเป็นสะเก็ด ซึ่งสะเก็ดมักจะหลุดหายไปภายใน 7-10 วัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจนานกว่านั้นเป็น 2-3 สัปดาห์ โดยไม่เป็นแผลเป็น (นอกจากจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จนกลายเป็นตุ่มหนองและกลายเป็นแผลเป็น)

ผื่นและตุ่มอีสุกอีใสจะขึ้นตามลำตัวก่อน (หน้าอก แผ่นหลัง) แล้วลามไปที่หน้า หนังศีรษะ และแขนขา (บริเวณลำตัวมักพบตุ่มขึ้นกระจายมากกว่าส่วนอื่น) นอกจากนี้ยังอาจมีผื่นตุ่มในลักษณะเดียวกันขึ้นตามเยื่อบุปากได้ด้วย (เช่น เพดานปาก ลิ้น คอหอย) ซึ่งจะแตกเป็นแผลตื้น ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ เจ็บลิ้น และในบางรายอาจขึ้นในที่เยื่อบุอื่น ๆ เช่น เยื่อบุตา กล่องเสียง หลอดลม ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องคลอด เป็นต้น โดยผื่นและตุ่มใหม่จะทยอยขึ้นเป็นระลอก ๆ ตามมาเป็นเวลา 3-6 วัน (ส่วนใหญ่ประมาณ 4-5 วัน) แล้วก็จะหยุดขึ้น ส่วนผื่นที่ขึ้นก่อนหน้านี้ก็จะกลายเป็นตุ่มขุ่นหรือตุ่มสุก และตกสะเก็ดก่อนผื่นที่ขึ้นทีหลังตามลำดับ ทำให้ตามลำตัวจึงพบผื่นตุ่มได้ทุกรูปแบบ ทั้งตุ่มสุกและตุ่มใส ชาวบ้านจึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคอีสุกอีใส

ในเด็กอาการมักจะไม่รุนแรง ไข้มักไม่สูง ตุ่มมักขึ้นไม่มาก และมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่ในเด็กบางรายอาจมีเพียงผื่นตุ่ม แต่ไม่มีไข้เลยก็ได้ ซึ่งในวันแรก ๆ อาจวินิจฉัยได้ไม่ชัดเจน หรือคิดว่าเป็นเริมได้ ส่วนในผู้ใหญ่นั้นมักจะมีไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นตุ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมักจะหายได้ช้ากว่าในเด็ก และในบางรายอาจติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส โดยไม่มีอาการแสดงออกมาเลยก็ได้ จึงทำให้ไม่รู้ตัวว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อน

โรคนี้เมื่อเป็นแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต และจะไม่เป็นซ้ำอีก (ยกเว้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจกำเริบซ้ำ ๆ ได้) เมื่อตุ่มยุบหายแล้ว เชื้อชนิดนี้มักยังจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท ทำให้มีโอกาสเป็นโรคงูสวัดในภายหลังได้อีกในยามที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ

การวินิจฉัยโรคอีสุกอีใส

ในวันแรก ๆ จะพบผื่นแดง ตุ่มนูน และตุ่มน้ำใสขนาดเล็กกระจายอยู่ตามหน้าอก แผ่นหลัง และใบหน้า พอวันหลัง ๆ จะพบผื่นและตุ่มหลายลักษณะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อาจพบผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ แผลเปื่อยที่เพดานปาก ลิ้น หรือคอหอย ในเด็กอาจพบว่ามีไข้ต่ำ (37.5-38.5 องศาเซลเซียส) หรือไม่มีไข้ ส่วนในผู้ใหญ่มักจะพบว่ามีไข้สูง (39-40 องศาเซลเซียส)

ในการวินิจฉัยโรคนี้ ส่วนใหญ่แล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการตรวจร่างกาย โดยดูจากลักษณะอาการสำคัญข้างต้น ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ยกเว้นในผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน หรือในกรณีจำเป็นต้องวินิจฉัยให้แน่ชัด แพทย์จะทำการทดสอบน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไวรัสอีสุกอีใส หรือตรวจหาเชื้อจากตุ่มน้ำ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใส

  • ภาวะแทรกซ้อนจะพบได้น้อยมากในเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เดิม แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ มะเร็ง เบาหวาน ปลูกถ่ายอวัยวะ ใช้ยารักษามะเร็ง หรือสเตียรอยด์ ฯลฯ จะมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและรุนแรง ที่พบได้บ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจนกลายเป็นแผลพุพอง (เนื่องจากไม่ได้รักษาความสะอาดหรือใช้เล็บเกา) เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ และไฟลามทุ่งซึ่งอาจทำให้เป็นแผลเป็นได้
  • ปอดอักเสบ เป็นภาวะร้ายแรงที่มักพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ หรือในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มักเกิดจากไวรัสอีสุกอีใส บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อสแตปฟิโลคอคคัสแทรกซ้อน อาการมักรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง
  • สมองอักเสบ เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 พบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 5-30 นอกนั้นมักจะหายได้เองเป็นปกติ[1]
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นกรณีที่พบได้น้อยแต่รุนแรง ทำให้มีเลือดออกในตุ่มน้ำใสหรือมีเลือดออกตามปากและจมูก มักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
  • กลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิด ในหญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2 ถ้ามีการติดเชื้ออีสุกอีใส อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยหรือทารกพิการได้ เรียกว่า “กลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิด” (Congenital varicella syndrome) ทำให้มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ตาเล็ก ต้อกระจก ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น (ความพิการในทารกพบได้ประมาณ 0.5-6.5% หรือโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ของทารกที่แม่เป็นอีสุกอีใสในช่วงไตรมาสแรก)[1]
  • หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสภายใน 5 วันก่อนคลอด หรือเป็นภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด อาจทำให้ทารกที่เกิดมาเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูง
  • เมื่อโรคหายแล้ว จะยังคงมีเชื้อบางส่วนหลงเหลืออยู่ และเชื้อชนิดนี้มักจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทต่าง ๆ โดยเฉพาะลำตัว จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคงูสวัดในภายหลัง เมื่อยามที่ร่างกายอ่อนแอ แก่ตัวลง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้แต่น้อยมาก เช่น โรคเรย์ซินโดรม จอประสาทตาอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ หน่วยไตอักเสบ อัณฑะอักเสบ ข้ออักเสบ เป็นต้น

วิธีรักษาอีสุกอีใส

  • การดูแลตนเองเมื่อเป็นอีสุกอีใส ในเบื้องต้นผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
    1. ผู้ป่วยควรแยกตัวออกไปอยู่ต่างหากจนพ้นระยะติดต่อ รวมทั้งแยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค (ระยะติดต่อคือตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น ไปจนถึงระยะที่ตุ่มทั้งหมดตกสะเก็ดแล้ว หรือประมาณ 6 วันหลังจากตุ่มน้ำ)
    2. พักผ่อนให้มาก ๆ
    3. อาบน้ำให้สะอาด อยู่ในที่ที่อากาศเย็นสบายและถ่ายเท
    4. ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดการดื่มน้ำ
    5. ควรรับประทานอาหารเหลวที่มีโปรตีนให้มาก ๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด เปรี้ยว อาหารหมักดอง และอาหารที่เคี้ยวยาก (โรคนี้ไม่มีของแสลง สามารถกินได้ตามปกติ ส่วนในมุมของทางการแพทย์แผนไทยถือว่าอาหารทะเล ไข่ และน้ำเย็นเป็นของแสลง ผู้ป่วยอีสุกอีใสควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เพราะจะทำให้ผิดสำแดง)
    6. ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่มที่คัน เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจนกลายเป็นแผลเป็นได้
    7. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง
    8. ถ้าตุ่มทำให้เกิดอาการคันให้ใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบ หรืออาบน้ำเย็นบ่อย ๆ (ถ้าไม่ทำให้หนาวสั่น)
    9. ถ้าเจ็บปากหรือปากเปื่อยลิ้นเปื่อย ให้ใช้น้ำเกลือเย็น ๆ กลั้วปากและคอ
    10. ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทั้งยากินและยาทา เช่น ยาชุด ยาหม้อ เพราะอาจจะทำให้โรคที่เป็นอยู่เกิดลุกลามได้
    11. สำหรับยาเขียวที่ทำจากสมุนไพร (เช่น ยาเขียวหอม ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.๒๕๕๖) ไม่ถือเป็นข้อห้ามหรือทำให้เกิดผลเสียต่อการรักษาโรคนี้ ผู้ป่วยสามารถใช้ร่วมกับการรักษาปกติได้ แถมยาเขียวยังช่วยให้ดื่มน้ำได้มากขึ้นอีกด้วย
    12. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรค
    13. ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงและไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วันหลังกินยาลดไข้ มีตุ่มพองเป็นหนอง มีอาการไอมาก ไอมีเสมหะ (มักเป็นตัวบ่งชี้ว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย) ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
    14. ถ้าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น มีเลือดออก (เป็นอาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ), เจ็บหน้าอกมาก หายใจติดขัด หายใจลำบาก หอบเหนื่อย (เป็นอาการของปอดอักเสบ), ปวดศีรษะ ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว อาจร่วมกับแขนขาอ่อนแรง หรือชัก (เป็นอาการของสมองอักเสบ) ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ส่วนผู้ป่วยที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย เช่น ถ้ามีอาการคันมากก็ให้กินยาแก้แพ้อย่างคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือให้ทายาแก้ผดผื่นคันอย่างคาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) ถ้ามีไข้สูงก็ให้กินยาพาราเซตามอล เปนต้น สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ได้
  • ถ้าตุ่มเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เป็นแผงพุพอง ให้ทาด้วยขี้ผึ้งเตตราไซคลีน หรือเจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet) แต่ถ้าเป็นมากแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin)
  • ให้ยาต้านไวรัส แพทย์จะพิจารณาให้ยานี้เฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางปอดหรือโรคผิวหนัง ได้แก่ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ หรือผู้ที่ได้รับยาแอสไพรินหรือสเตียรอยด์อยู่เป็นประจำ (ส่วนในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้) โดยผู้ใหญ่จะให้กินยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ในขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 5 ครั้ง นาน 5 วัน ส่วนในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ให้ใช้ในขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง ในขนาดสูงสุด 800 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง โดยแพทย์จะรีบให้ยานี้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีผื่นขึ้น เพราะจะช่วยลดความรุนแรงและระยะของโรคลงได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ฉีดเข้าทางหลอดเลือด โดยในผู้ใหญ่จะให้ในขนาด 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ส่วนในเด็กจะให้ในขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 7-10 วัน

วิธีป้องกันอีสุกอีใส

  1. โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีด “วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส” (Chickenpox (Varicella) Vaccine) เข้าใต้ผิวหนัง โดยแนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่เด็กมีอายุ 1 ปี หรือในช่วงอายุ 12-18 เดือน ส่วนเด็กที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้และไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนก็สามารถฉีดในช่วงอายุใดก็ได้ ส่วนในผู้ใหญ่นั้น แพทย์จะแนะนำให้ฉีดในเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น คุณครูอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา ผู้ที่ต้องดูแลเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก บุคลากรทางการแพทย์ หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ในอนาคต เป็นต้น
    • ในเด็กยังไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส 2 ครั้ง โดยครั้งแรกแนะนำให้ฉีดเมื่ออายุได้ 12-18 เดือน และให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี หรือเว้นระยะห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งจะมีผลป้องกันโรคนี้ได้ตลอดชีวิต ส่วนวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ควรจะฉีดวัคซีน 2 ครั้งเช่นกัน แต่ให้ฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อยประมาณ 4-8 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันอยู่ได้อย่างน้อยประมาณ 20 ปี[2],[3]
    • จากการศึกษาพบว่าในเด็กอายุ 1-12 ปี หลังได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรก ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันในระดับที่ป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ 85% แต่หลังจากฉีดเข็มที่ 2 จะเพิ่มขึ้นเป็น 99.6% ส่วนในรายที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรค ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนภายใน 3 วันแรกหลังการสัมผัสโรค พบว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ประมาณ 90%[2]
    • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสนั้น นอกจากจะช่วยป้องกันโรคได้ถึง 90-95% แล้ว ยังช่วยลดโอกาสการเกิดแผลเป็น และช่วยลดความรุนแรงของโรคเมื่อเกิดเป็นโรคอีสุกอีใสหลังการฉีดวัคซีนได้ด้วย อีกทั้งวัคซีนชนิดนี้ก็ไม่ค่อยก่อให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนแต่อย่างใด ยกเว้นอาการเจ็บ แดง และบวมในตำแหน่งที่ฉีดยา และในบางคนอาจทำให้มีไข้ได้[2],[3]
    • ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนั้น ก่อนการฉีดวัคซีดอาจจะต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อนหรือไม่ เพราะถ้าเคยเป็นมาก่อนหน้าแล้ว (แต่ไม่แสดงอาการ) ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนแต่อย่างใด เพราะร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิตแล้ว
    • วัคซีนนี้แพทย์จะไม่ฉีดให้ในผู้ที่กำลังมีไข้สูง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน รวมทั้งยาสเตียรอยด์ในขนาดเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ตั้งแต่ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน นานตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป ถ้าใช้สเตียรอยด์มาก่อนจะต้องหยุดใช้มาแล้วอย่างน้อย 1 เดือน (เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็น โดยเป็นเชื้ออีสุกอีใสที่นำมาทำให้อ่อนกำลังลงมาก จึงไม่ทำให้เกิดโรคในคนปกติ แต่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันตานทานโรคนี้ได้ ถ้านำมาใช้กลุ่มคนดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงได้)
    • วัคซีนนี้แพทย์จะไม่ฉีดให้หญิงตั้งครรภ์ และในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ได้รับวัคซีนคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ (อาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อนี้และเกิดความพิการแต่กำเนิดได้) แต่ถ้าหากบังเอิญได้รับวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ ก็ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานว่าทารกจะได้รับอันตรายจากการฉีดวัคซีนในมารดา
    • ห้ามใช้วัคซีนนี้ในผู้ที่เคยแพ้วัคซีนต่าง ๆ หรือเคยแพ้วัคซีนอีสุกอีใสในเข็มแรกมาแล้ว ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจแพ้วัคซีนอีสุกอีใสได้
    • หลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินเป็นเวลา 6 สัปดาห์
    • ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้วอาจจะไม่ได้ผลในการป้องกันโรคนี้ได้อย่าง 100% เพราะเมื่อฉีดไปแล้วและมีการสัมผัสเชื้ออีกก็จะมีโอกาสเป็นอีสุกอีใสได้ประมาณ 2-10% โดยจะมีอาการเช่นเดียวกับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน แต่จะมีอาการน้อยกว่า มีผื่นและตุ่มพองน้อยกว่ามาก และหายได้เร็วกว่ามากหรืออาจภายใน 3-7 วัน (แต่ยังคงแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เหมือนเดิม)[3]
    • ในปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสให้อยู่ในรูปแบบของวัคซีนที่รวมอยู่ในเข็มเดียวกัน ได้แก่ วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส (MMRV) ทำให้สะดวกและไม่ต้องเจ็บตัวมากขึ้น
  1. ในช่วงที่มีการระบาดหรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคนี้ ควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
    • ในช่วงที่มีการระบาด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาและแคะไชจมูก
    • ไม่เข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
    • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น แก้วน้ำ โทรศัพท์มือถือ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ของเล่น เครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย
    • ควรให้ผู้ป่วยแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก และเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ก็ควรจะสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง
  2. สำหรับผู้ที่สัมผัสโรค ถ้าเป็นเด็กที่แข็งแรงเป็นปกติ มักไม่แนะนำให้ใช้ยาป้องกัน เพราะหากเป็นโรคจะไม่รุนแรงและไม่มีอันตราย ส่วนในรายที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส 1 ครั้ง แต่ต้องฉีดภายใน 3 วันหลังจากสัมผัสโรค ซึ่งวิธีนี้อาจจะช่วยป้องกันหรือช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
  3. สำหรับผู้สัมผัสโรคที่มีความเสี่ยง (ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน) เช่น หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ, ทารกที่คลอดจากแม่ที่เป็นโรคนี้ภายใน 5 วันก่อนคลอดหรือภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด, ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยตั้งแต่ 1,000 กรัมลงไป ที่จำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แพทย์อาจฉีดสารภูมิต้านทาน ได้แก่ Varicella zoster immune globulin (VZIG) ภายใน 96 ชั่วโมงหลังจากสัมผัสโรค หรือให้กินยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ภายใน 7-9 วันหลังสัมผัสโรค ในขนาด 40-80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน หรือฉีดวัคซีนให้ 1 ครั้ง ภายใน 3 วันหลังจากสัมผัสโรค ซึ่งวิธีการเหล่านี้อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ถ้ามีการติดเชื้อในเวลาต่อมา[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “อีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 404-407.
  2. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “อีสุกอีใส เป็นได้ก็หายได้”.  (นศภ.ศิโรธร ประเสริฐสังข์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [20 มี.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “อีสุกอีใส (Chickenpox)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [20 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.kidspot.com.au, www.independent.co.uk, www.aww.com.au, www.huffingtonpost.co.uk, www.whattoexpect.com, www.newhealthadvisor.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด