หูด (Warts) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

โรคหูด

หูด (Warts) เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายของผิวหนัง ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาจมีขนาดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น หูดอาจจะขึ้นเพียงเดี่ยว ๆ หรือขึ้นหลายตุ่มก็ได้ โดยมักจะขึ้นที่มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออาจขึ้นตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ รวมทั้งที่อวัยวะเพศก็ได้ แต่โรคนี้เมื่อเป็นแล้วก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด นอกจากทำให้ดูน่าเกลียดน่ารำคาญหรือทำให้มีอาการปวดได้เป็นบางครั้ง ส่วนมากแม้จะไม่ได้รับการรักษาก็มักจะยุบหายไปเองตามธรรมชาติภายหลังที่เป็นอยู่หลายเดือน แต่บางรายอาจเป็นอยู่แรมปีกว่าจะยุบหายไป และเมื่อหายแล้วก็อาจกกลับมาเป็นใหม่ได้อีก

หูดเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในเด็กวัยเรียน โดยอัตราการพบสูงสุดจะอยู่ในช่วงอายุ 12-16 ปี ส่วนในผู้ใหญ่ก็อาจพบได้เช่นกัน และจะพบได้น้อยในคนอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป โรคนี้ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นเท่ากัน แต่คนผิวดำและคนเอเชียจะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนผิวขาวประมาณ 2 เท่า

สาเหตุของโรคหูด

  • สาเหตุ : หูดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หรือ “ฮิวแมน แปปิโลมา ไวรัส” (Human Papilloma Virus – HPV) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิดย่อย โดยแต่ละเชื้อชนิดย่อยก็ทำให้เกิดหูดในตำแหน่งต่าง ๆ และมีหน้าตาของหูดแตกต่างกันไป เช่น เอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 1 จะก่อให้เกิดหูดที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ส่วนเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6 จะก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศภายนอก เป็นต้น
  • กลุ่มเสี่ยง : ในคนบางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะติดหูดได้ง่ายกว่าปกติ ได้แก่ คนผิวดำและคนเอเชียซึ่งจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนผิวขาวถึง 2 เท่า, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน), บุคคลบางอาชีพ (เช่น ผู้ที่มีอาชีพแล่เนื้อสัตว์) เป็นต้น
  • การติดต่อ : หูดเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสถูกคนที่เป็นหูดโดยตรง แต่ผิวหนังที่มีบาดแผลหรือรอยถลอกจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าผิวหนังที่ปกติ เพราะเชื้อไวรัสสามารถแทรกตัวลงไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาในการแบ่งตัวอยู่หลายเดือนจนกว่าจะเห็นเป็นก้อนหูด และเนื่องจากเชื้อหูดจะแบ่งตัวเฉพาะที่ผิวหนังและเยื่อบุเท่านั้น จึงไม่ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและไม่แพร่เชื้อเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ เชื้อชนิดนี้จึงไม่ติดต่อผ่านทางอื่น ๆ เช่น การไอ จามรดกัน หรืออย่างในกรณีที่มีหูดที่หน้า การมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อหูดแล้วกลายเป็นหูดที่อวัยวะเพศหรือที่หน้า แต่ถ้าเอามือไปสัมผัสที่หน้า และมือก็ไปสัมผัสอวัยวะอื่น ๆ ด้วยก็อาจจะทำให้ติดเชื้อหูดจากหน้าได้ แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายก็มีลักษณะเป็นพาหะโรค คือ ผิวหนังดูเป็นปกติทุกอย่าง ไม่มีตุ่มนูนให้เห็น แต่ที่ผิวหนังยังมีเชื้ออยู่ จึงยังสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้จากการสัมผัสผิวหนังส่วนที่มีเชื้อเช่นเดียวกัน (ข้อมูลประชากรไทยราว 20–40 % เมื่อได้รับเชื้อไวรัสหูดแล้วไม่พบว่ามีการแสดงอาการ)
  • ระยะฟักตัว : เมื่อเชื้อไวรัสแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ผิวหนังก็จะเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นหูดงอกออกจากผิวหนังส่วนที่ปกติ ซึ่งตั้งแต่รับเชื้อมาจนเกิดอาการมักจะใช้เวลาประมาณ 2-8 เดือน

อาการของหูด

  • หูดชนิดทั่วไป (Common warts) เป็นหูดที่พบได้บ่อยที่สุด มีลักษณะนูนเป็นตุ่มกลมแข็ง ผิวหยาบ ขรุขระ ออกเป็นสีเทา ๆ เหลือง ๆ หรือสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-10 มิลลิเมตร มักขึ้นบริเวณที่ถูกเสียดสีได้ง่าย เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า หนังศีรษะ เป็นต้น และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ (หูดชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 2 และ 4 ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนชนิดอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็เช่น เอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 1, 3, 26, 27, 29, 41, 57, 65, และ 77)
  • หูดคนตัดเนื้อ (Butcher’s warts) เป็นหูดที่เกิดจากการติดต่อจากคนสู่คน โดยมีเนื้อเป็นทางผ่าน จึงมักพบได้ในผู้ที่มีอาชีพแล่เนื้อดิบ ลักษณะของหูดจะเหมือนกับหูดทั่วไป แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าและมีผิวขรุขระมากกว่า โดยมักจะพบที่มือเป็นส่วนใหญ่ (หูดชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 1, 2, 3, 4, 10, 28)
  • หูดที่ฝ่ามือฝ่าเท้า (Plamar warts and Plantar warts) หูดชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มกลม นูนเล็กน้อย ผิวขรุขระ ถูกล้อมรอบไปด้วยผิวหนังที่หนาตัวขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บ (ลักษณะคล้ายกับตาปลามาก แต่จะแยกกันได้ตรงที่หูดเมื่อใช้มีดเฉือนอาจมีเลือดไหลซิบ ๆ และอาจมีอาการเจ็บปวดได้ ส่วนตาปลาจะไม่มี) หูดชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 1 และมีบ้างบางชนิดที่อาจเกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 4 ที่มักจะไม่มีอาการเจ็บ และอาจเกิดรวมกันเป็นกลุ่มจนทำให้ดูเป็นหูดที่มีขนาดใหญ่ได้ อาจจะเรียบหรือมีลักษณะนูนเล็กน้อย จนกระทั่งนูนออกมามาก มีผิวขรุขระ หยาบแข็งกว่าหนังธรรมดา เมื่อตัดส่วนยอดของหูดออกแล้วจะเห็นเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่อุดตันภายใน และมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ (ในบางครั้งการติดเชื้อหูดอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังเลยก็ได้)
  • หูดชนิดแบนราบ (Plane warts, Flat warts) มีลักษณะนูนขึ้นจากผิวเพียงเล็กน้อย ผิวจึงค่อนข้างเรียบ ซึ่งต่างจากหูดทั่วไปที่มีผิวขรุขระ มักพบขึ้นบริเวณใบหน้า หน้าผาก หลังมือ และหน้าแข้ง มีขนาดตั้งแต่ 1-5 มิลลิเมตร อาจมีจำนวนตั้งแต่ 2-3 ตุ่มขึ้นไปจนถึงหลายร้อยตุ่ม และอาจมารวมกันเป็นกลุ่ม ๆ (หูดชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 2, 3, 10, 26, 27, 28, 29, 38, 41, 49, 75, 76)
  • หูดที่เป็นติ่ง (Filiform warts) หูดชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ มักขึ้นที่หนังตา ใบหน้า หรือริมฝีปาก
  • หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) หูดชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มกลม ผิวเรียบเป็นมัน ตรงกลางมีรอยบุ๋ม ซึ่งเป็นหูดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอมซีวี (Molluscum contagiosum virus)
  • หูดอวัยวะเพศ หรือ หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) เป็นหูดที่พบที่อวัยวะเพศภายนอกทั้งชายและหญิง มักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ลักษณะของหูดจะขึ้นเป็นติ่งเนื้องอกอ่อน ๆ มีสีชมพูหรือสีเนื้อ ผิวขรุขระ ซึ่งจะเริ่มจากรอยโรคเล็ก ๆ แล้วขยายตัวลุกลามใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีลักษณะคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ (ประมาณ 90% เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6 และ 11)
  • หูดเยื่อบุ เป็นหูดที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ผิวขรุขระคล้ายหูดทั่วไป มักพบได้ในช่องปาก ซึ่งเกิดจากการร่วมเพศโดยใช้ปาก และอาจพบได้ในเด็กที่คลอดทางช่องคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อหูดบริเวณอวัยวะเพศ โดยได้รับเชื้อจากการกลืนหรือสำลักในขณะการคลอด นอกจากนี้ยังอาจพบหูดชนิดนี้ที่เยื่อบุตาอีกด้วย

การวินิจฉัยโรคหูด

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหูดได้จากการดูอาการของผู้ป่วย การตรวจลักษณะของก้อนเนื้อ และอาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

วิธีรักษาหูด

แนวทางในการรักษาโรคหูดในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็นการรักษาด้วยยาใช้ภายนอก การผ่าตัดซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี และการปล่อยไว้ไม่รักษา เพราะส่วนใหญ่หูดจะสามารถยุบหายไปได้เอง ซึ่งการรักษานี้จะไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุหรือเป็นการฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นต้นตอแต่อย่างใด เพราะในปัจจุบันยังไม่มีตัวยาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ แพทย์จึงเน้นการรักษาไปที่ปลายเหตุด้วยการทำลายเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นรอยโรค จึงยังอาจทำให้มีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ในบริเวณรอบ ๆ ที่ผิวหนังที่เห็นเป็นปกติ ดังนั้นแม้จะเอาหูดและเนื้อเยื่อผิวหนังโดยรอบออกไปแล้ว แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าเชื้อหูดจะหมดไป ทำให้มีโอกาสที่โรคนี้จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ส่วนการจะรักษาด้วยวิธีใดนั้น แพทย์จะประเมินจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน เช่น ลักษณะของหูด ขนาดและจำนวนของหูด ตำแหน่งที่เกิด อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปการรักษาหูดก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่

  • หูดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในขณะเดียวก็อาจติดซ้ำได้อีกหรืออาจเกิดขึ้นใหม่จากการที่เชื้อไวรัสเดิมยังคงอยู่ ดังนั้นผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าตัวเองจะเป็นหูดจึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาตั้งแต่ยังเป็นเม็ดเล็ก ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • หูดในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก จะสามารถยุบหายไปเองได้ แต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือนานเป็นปี ๆ โดยผู้ป่วยทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันปกติประมาณ 65% หูดจะยุบหายไปได้เองภายใน 2 ปี ส่วนในเด็กที่เป็นหูดประมาณ 50% หูดจะยุบหายไปภายใน 6 เดือน และประมาณ 90% จะหายไปภายใน 2 ปี แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจเกิดการแพร่กระจายของหูดเพิ่มมากขึ้น จึงแนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่ยังเป็นน้อย ๆ
  • การรักษาหูดด้วยตัวเอง สามารถทำได้เองที่บ้าน[4] (เป็นวิธีการที่ยังไม่ได้รับการรับรอง)
    1. การกระตุ้นแอนติบอดี ด้วยการใช้ก้อนน้ำแข็งถูบริเวณที่เป็นหูดจนรู้สึกชา จากนั้นให้ใช้เข็มฆ่าเชื้อจิ้มลงไปในหูดลึก ๆ หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการนำเชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อให้ร่างกายพยายามต่อสู้กับมัน ทำให้หูดหายไปได้ในที่สุด วิธีนี้การนี้อาจได้ผลดีมากสำหรับบางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีหูดเป็นจำนวนมาก เพราะการจิ้มหูดเพียง 1 ตุ่มบนร่างกายจะช่วยให้ร่างกายพบหูดตุ่มอื่น ๆ และตรงเข้าไปทำลายได้ในทันที
    2. ทาวิตามินซี ให้ใช้วิตามินซี 1 เม็ดนำมาบดแล้วหยดน้ำลงไปเพื่อให้ได้เป็นยาป้ายข้น ๆ จากนั้นให้ทายาลงบนหูดแล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ในช่วงกลางวัน และเมื่อถึงในช่วงกลางคืนให้แกะออกเพื่อให้ผิวได้หายใจ
    3. แอสไพริน ให้ใช้ยาแอสไพริน 2-3 เม็ดนำมาบดให้ละเอียด หยดน้ำลงไปเล็กน้อย แล้วนำยาที่ได้มาป้ายลงบนหูด จากนั้นให้นำปลาสเตอร์ชนิดติดแน่นมาปิดทับทิ้งไว้ 1 คืน (ในยาแอสไพรินจะมีกรดซาลิไซลิกที่ช่วยกัดหูดได้)
    4. เบตาดีน ให้ทาเบตาดีนลงบนหูดแล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้เป็นเวลา 1-2 วัน จากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนปลาสเตอร์ยา
    5. ยาสีฟัน ให้ทายาสีฟันลงบนหูดแล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ยาชนิดติดแน่น ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน โดยให้ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหูดหายไป
    6. น้ำมันวิตามินอี ให้ฉีกแคปซูลวิตามินอีแล้วถูน้ำมันลงบนหูดเพียงเล็กน้อย แล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ในช่วงเช้า และแกะออกในช่วงกลางคืนเพื่อให้ผิวได้หายใจ
    7. น้ำมันละหุ่ง ให้ทาน้ำมันละหุ่งลงบนหูดโดยใช้สำลีก้านวันละ 2 ครั้ง ซึ่งกรดในน้ำมันละหุ่งจะสามารถกัดกร่อนหูดได้ และใช้ได้ผลดีกับหูดที่มีขนาดเล็กแบนบนใบหน้าหรือหลังมือ
    8. ทีทรีออยล์ ให้ทาทีทรีออยล์ลงบนหูดในปริมาณเล็กน้อย แล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ โดยให้ทำอย่างน้อยเป็นเวลา 3 สัปดาห์
    9. น้ำมะนาว ให้บีบน้ำมะนาวลงบนหูด แล้วนำหอมใหญ่สดสับมาวางทับไว้ ให้ทำเช่นนี้ประมาณ 30 นาที วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
    10. เปลือกของพืชตระกูลส้ม ให้ปอกเปลือกมะนาวหรือเลมอนบาง ๆ จนได้ขนาดใหญ่กว่าหูดเล็กน้อย แล้วปิดทับลงบนหูดโดยใช้ปลาสเตอร์ชนิดติดแน่นหรือเทปกาวแปะไว้อีกที แล้วให้เปลี่ยนเปลือกใหม่ทุกวัน หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ หูดก็จะหลุดออกมา
    11. แคร์รอต ให้นำแคร์รอตมาหั่นเป็นชิ้น ๆ ขูดแคร์รอตจนได้เนื้อละเอียด แล้วเติมน้ำมันมะกอกลงไปพอให้เป็นยาป้าย จากนั้นนำมาทาลงบนหูด 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 30 นาที โดยให้ทำเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
    12. มะเดื่อ ให้นำมะเดื่อมาบดแล้วป้ายลงบนหูดทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที โดยให้ทำเช่นนี้ทุกวัน เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
    13. ใบโหระพา ให้ใช้ใบโหระพาสดนำมาบดแล้วปิดทับลงบนหูด โดยใช้เทปปิดแผลชนิดกันน้ำพันเอาไว้ ให้ทำเช่นนี้ทุกวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แล้วสารฆ่าเชื้อไวรัสในใบโหระพาจะช่วยฆ่าหูดให้คุณเอง
    14. เปลือกกล้วย ให้ใช้ด้านในของเปลือกกล้วยถูบริเวณที่เป็นหูดเป็นประจำ เพราะโพแทสเซียมในกล้วยอาจช่วยให้หูดหายได้เร็วยิ่งขึ้น หรืออีกวิธีหนึ่งอาจนำเปลือกกล้วยมาตัดให้มีขนาดเล็กกว่าเทป เอาด้านในของเปลือกกล้วยปิดทับลงบนหูด แล้วจึงนำเทปผ้ามาปิด ปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลา 1 วัน โดยให้ทำเช่นนี้ทุกวันจนกว่าหูดจะหายไป
    15. เบกกิ้งโซดา ให้ผสมผงฟูหรือเบกกิ้งโซดาและน้ำมันละหุ่งเข้าด้วยกันจนเป็นเนื้อครีม จากนั้นให้นำมาทาลงบนหูดในช่วงกลางคืนโดยใช้ปลาสเตอร์ยาปิดเอาไว้ แล้วจึงแกะปลาสเตอร์ออกในเช้าวันถัดไป วิธีนี้สามารถทำซ้ำได้เรื่อย ๆ ตามความเหมาะสม
    16. แอปเปิ้ลไซเดอร์วีนีการ์ (Apple Cider Vinegar – ACV) ให้ใช้น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล แล้วนำสำลีก้อนขนาดพอให้ปิดหูดได้จุ่มลงในน้ำส้มสายชู จากนั้นให้ปิดด้วยปลาสเตอร์ยาทิ้งไว้ 1 คืน โปรดจำไว้ว่า วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกแสบได้ ต้องเปลี่ยนสำลีทุกวัน และแปะไว้ทุกคืน หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์เม็ดหูดจะเริ่มหลุดลอกออก
    17. จุ่มหูดลงไปในน้ำสับปะรด เพราะในน้ำสับปะรดจะมีเอนไซม์ที่ช่วยละลายหูดได้
    18. น้ำเลี้ยงจากต้นแดนดิไลออน (Dandelion) ให้เลือกต้นแดนดิไลออนสด ๆ มาหนึ่งต้น หักก้านออกเป็น 2 ท่อนแล้วใช้น้ำเลี้ยงสีขาวขุ่นที่ไหลซึมออกมาจากก้านทาลงบนหูด โดยให้ทำเช่นนี้วันละ 3-4 ครั้ง จากนั้นให้ใช้หินภูเขาไฟมาขูดเพื่อเอาชั้นผิวที่ตายแล้วออก โดยให้ทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งหูดหายไป
    19. น้ำร้อน เป็นวิธีพื้นฐานโดยการจุ่มบริเวณที่เป็นหูดลงในน้ำที่ร้อนมาก ๆ ซึ่งความร้อนจะทำให้หูดนุ่มขึ้นและอาจช่วยฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ควรระวังอย่าให้น้ำร้อนเกินจนลวกเท้า (แนะนำว่าอุณหภูมิของน้ำควรต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส)
    20. น้ำร้อนและหินภูเขาไฟ ให้แช่หูดลงในน้ำร้อนจนกระทั่งหูดเริ่มนิ่ม แล้วใช้หินภูเขาไฟหยาบสำหรับผลัดเซลล์ผิวขัดบริเวณหูดจนกระทั่งเจอชั้นผิวจริง จุ่มสำลีก้านลงในน้ำยาฟอกขาวแล้วนำมาแตะบนหัวหูดประมาณ 15 นาที (อาจแสบบ้างเล็กน้อย) เสร็จแล้วให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    21. น้ำร้อนและเกลือทะเล ให้แช่บริเวณที่เป็นหูดลงในน้ำเกลืออุ่น ๆ เป็นเวลา 10-15 นาที เพื่อให้หูดนุ่มขึ้น จากนั้นให้ขูดเอาชั้นผิวที่ตายแล้วบนหูดออกไปโดยใช้ตะไบเล็บหรือหินภูเขาไฟ จึงนำเกลือทะเลเม็ดใหญ่มาถู แปะปลาสเตอร์ยาหรือเทปทับลงไปเพื่อให้เม็ดเกลือยังอยู่กับที่ และคอยเปลี่ยนปลาสเตอร์ยาใหม่หลังจากอาบน้ำ เสร็จแล้วให้ล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อหูด
    22. รับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น กระเทียม มันเทศ เมล็ดทานตะวัน ขนมปังโฮลเกรน ข้าว ฯลฯ
    23. รับประทานกระเทียมชนิดแคปซูล โดยให้รับประทานวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันหลายสัปดาห์ แล้วหูดจะเริ่มหลุดออกในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แต่ให้ทานต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าหูดจะหายหมด และให้นำน้ำมันกระเทียมมาทาทับบริเวณที่เป็นหูดประมาณ 1-2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 1 เดือน
      วิธีรักษาหูด
  • การดูแลตนเองเมื่อเป็นหูดในเบื้องต้น
    1. อย่าพยายามแกะ เกา หรือสัมผัสบริเวณที่เป็นหูด รวมไปถึงการกัดเล็บ เพราะอาจจะทำให้ผิวหนังบริเวณอื่น ๆ เกิดการติดเชื้อแล้วกลายเป็นหูดเพิ่มขึ้นใหม่ได้
    2. ไม่ใช้วิธีการรักษาด้วยตัวเองที่กล่าวไปข้างต้นบนผิวที่อาจเกิดการระคายเคือง หรือบริเวณใด ๆ ที่มีการติดเชื้อ เป็นผื่นแดง บนไฝหรือปาน บนหูดที่มีขนโผล่ขึ้นมา รวมถึงหูดบริเวณอวัยวะเพศ ใบหน้า เยื่อบุผิว เช่น ในปาก จมูก และช่องทวารหนัก
    3. ควรล้างผิวบริเวณที่เป็นหูดให้บ่อยที่สุด และพยายามดูแลหูดให้แห้งอยู่เสมอ เพราะหูดที่เปียกจะมีแนวโน้มในการแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น (การเช็ดให้แห้งจะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้)
    4. การใช้วิธีรักษาหลายแบบร่วมกัน สามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาหูดให้หายเร็วขึ้น
    5. การรักษาหูดที่ฝ่าเท้าห้ามใช้วิธีการตัดออกหรือใช้ไฟฟ้าจี้ เพราะจะทำให้เจ็บเวลาเดิน
  • ใช้ปลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ชนิด 40% ปิดตรงบริเวณที่เป็นหูด โดยเริ่มจากการเฉือนหูดออกจนเลือดซิบ แล้วใช้ปลาสเตอร์ปิดทิ้งไว้ให้ครบ 1 สัปดาห์ จากนั้นให้แกะพลาสเตอร์ออกแล้วใช้ตะไบขูดเอาเนื้อที่ตายออกทีละน้อย แล้วปิดปลาสเตอร์ต่อไป โดยให้ทำเช่นนี้ทุก ๆ สัปดาห์จนกว่าหูดจะหายไป
  • ใช้ยากัดหูดหรือตาปลาที่มีกรดซาลิไซลิกผสม ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า คอนคอน (Con Con), คอลโลแม็ค (Collomak), ดูโอฟิล์ม (Duofilm), ฟรีโซน (Freezone), เวอร์รูมาล (Verrumal) เป็นต้น โดยให้นำมาใช้ทาที่ตัวหูดทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง แล้วตัวยาจะค่อย ๆ กัดเนื้อหูดให้หลุดออก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนกว่าจะเห็นผล แต่ก็เป็นวิธีที่ไม่เจ็บและสามารถใช้กับเด็กได้ (ก่อนทายาควรแช่เท้าในน้ำอุ่นประมาณ 10 นาทีก่อน แล้วใช้ตะไบค่อย ๆ ขูดเอาเนื้อที่แข็งออก แล้วค่อยทายา แต่ในระหว่างที่ทายาต้องระวังอย่าให้น้ำยาถูกผิวหนังปกติ)
    ยาทาหูด
  • การใช้เทปผ้าปิดแผล (Duct Tape Occlusion Therapy – DTOT) เป็นวิธีการที่นำมาใช้เพื่อกำจัดการแพร่กระจายของหูด และเพื่อบีบเค้นไม่ให้หูดได้หายใจ โดยมีงานวิจัยที่พบว่า การใช้เทปผ้าชนิดนี้ร่วมกับยาอิมิควิโมดชนิด 5% เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยกำจัดหูดทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ใช้ระยะเวลาพอสมควร (อาจนานถึง 6 เดือน) แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักใช้ไม่ได้ผล[5]
  • การรักษาหูดที่เป็นติ่ง แพทย์จะรักษาด้วยการพ่นยาชาแล้วใช้กรรไกรตัดออก
  • การรักษาหูดที่เป็นตุ่มหรือไตขนาดใหญ่ แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาล เพราะอาจต้องฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วทำการผ่าตัดและขูดออก โดยอาจจะใช้ไฟฟ้าจี้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 4 สัปดาห์กว่าแผลจะหายดี หรือไม่ก็อาจให้การรักษาโดยใช้ยาทาอย่างกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ชนิด 40%, กรดแลคติก (Lactic acid) ชนิด 10% หรือทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid) ชนิด 30-50%
    1. ถ้าใช้ยาแบบทาไม่ได้ผล แพทย์อาจให้ยาแบบฉีดเฉพาะที่ โดยจะใช้ฉีดลงไปที่หูดโดยตรง (ส่วนยากินและยาฉีดเข้าเส้นก็มีครับ แต่ยังให้ผลไม่ดีนัก และยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้)
    2. ในโรงพยาบาลบางแห่งอาจใช้วิธีการจี้เย็น (Cryosurgery) โดยใช้ไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) หรือคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง (Solid CO2 หรือ น้ำแข็งแห้ง) ในการจี้ทำลายหูด โดยจะต้องจี้ซ้ำทุก ๆ 2 สัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งข้อดีของการใช้ไนโตรเจนเหลวคือจะไม่ทำให้เจ็บมากนักและไม่ทำให้เกิดแผลเป็น แต่ผู้ป่วยต้องมาจี้ซ้ำอยู่หลายครั้งจนกว่าจะหายขาด โดยจะมีอัตราการรักษาหายอยู่ที่ประมาณ 50-80%
    3. เมื่อรักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผลหรือหูดมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจใช้แสงเลเซอร์หรือเครื่องจี้ไฟฟ้าในการรักษา โดยการใช้แสงเลเซอร์จะมีอัตราการรักษาหายประมาณ 65% แต่มีผลข้างเคียงคือ ค่อนข้างเจ็บ อาจทำให้เกิดแผลเป็น แผลอาจเกิดการติดเชื้อ และแพทย์หรือพยาบาลที่ทำการรักษาอาจติดเชื้อได้ เพราะเชื้อสามารถออกมากับควันที่เกิดในขณะทำเลเซอร์ และหายใจเอาเชื้อนั้นเข้าไป ส่วนการจี้ด้วยไฟฟ้าอาจมีประสิทธิภาพดีกว่าการจี้เย็น แต่จะเจ็บและมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากกว่า และเช่นเดียวกับการใช้แสงเลเซอร์ แพทย์หรือพยาบาลอาจติดเชื้อได้ด้วยวิธีการเดียวกัน (การใช้แสงเลเซอร์ในการรักษาจะให้ผลดีกว่าในรายที่หูดเกิดในซอกเล็บซึ่งยากแก่การรักษา)
    4. ในรายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว แพทย์อาจให้การรักษาโดยให้ผู้ป่วยกินยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ในขนาดสูงประมาณ 30-40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ติดต่อกันนาน 6-8 สัปดาห์ ซึ่งตัวยาจะมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยให้หูดยุบหายไปได้หมดประมาณ 60-70%
  • เมื่อมีหูดหรือตุ่มผิดปกติในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์
    1. เมื่อหูดที่เป็นอยู่เป็นมานานหลายปีแล้วแต่ยังไม่ยุบหายไป
    2. อาการไม่ดีขึ้นภายใน 12 สัปดาห์หลังจากการแปะด้วยปลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)
    3. มีหูดหรือตุ่มเนื้อต่าง ๆ บนผิวหนังที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง (ยกเว้นกระเนื้อและไฝ) ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุ เพราะตุ่มเนื้อต่าง ๆ อาจเกิดได้จากหลายโรค ตั้งแต่โรคติดเชื้อ โรคเนื้องอกของผิวหนังหรือของเนื้อเยื่อชั้นไขมันใต้ผิวหนัง หรืออาจเป็นมะเร็งของผิวหนัง
    4. ตัวหูดมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้น ผิวขรุขระมากขึ้น หรือขอบของหูดลุกลามไปยังผิวหนังใกล้เคียง เป็นหูดที่อวัยวะเพศ หรือหูดมีเลือดออกตลอด เพราะเป็นอาการที่อาจเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งได้

หมายเหตุ : ก่อนใช้ยาทาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

ผลข้างเคียงของโรคหูด

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าไม่ได้รับการรักษาประมาณ 2 ใน 3 หูดจะหายไปได้เองภายใน 2 ปี โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็น แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มักจะไม่หายเอง การรักษาก็ไม่ค่อยได้ผล มีอัตราการเกิดเป็นซ้ำได้สูง และหูดอาจกลายเป็นมะเร็งได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

หูดบางชนิดย่อยอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ เช่น หูดจากเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6, 11, 16, 18, 31, 35 ที่มักเป็นสาเหตุของการเกิดหูดในอวัยวะเพศ ซึ่งการติดเชื้อหูดในบริเวณนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวของอวัยวะเพศภายนอก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตามหูดจากการติดเชื้อเอชพีวีส่วนมากหรือหลายชนิดย่อย จะไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งแต่อย่างใด

วิธีป้องกันหูด

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นหูด ส่วนผู้ที่อยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ที่เป็นหูด ควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าขนหนู เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า ถุงมือ กรรไกรตัดเล็บ มีดโกน ฯลฯ
  2. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเท้าเปล่าในสระว่ายน้ำสาธารณะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหูดที่เท้า โดยการสวมใส่รองเท้าในขณะอาบน้ำหรือรองเท้าแตะแบบหนีบอยู่เสมอ
  3. ห้ามใช้เครื่องมือที่ใช้ตัดหรือเฉือนหูดร่วมกับผู้อื่น
  4. พยายามหลีกเลี่ยงการทำเล็บในร้านที่ไม่สะอาด หรือตัดผมแบบที่มีการโกนขนหรือหนวดที่ต้องใช้ร่วมกัน
  5. หูดอาจเกิดขึ้นซ้ำได้อีก โดยมีปัจจัยโดยตรงมาจากภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้งห้าหมู่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “หูด (Warts)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 977-979.
  2. หาหมอดอทคอม.  “หูด (Warts)”.  (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [25 มี.ค. 2016].
  3. ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “หูด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [25 มี.ค. 2016].
  4. wikiHow.  “วิธีการกำจัดหูด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com.  [25 มี.ค. 2016].
  5. Ann Dermatol.  “New Alternative Combination Therapy for Recalcitrant Common Warts: The Efficacy of Imiquimod 5% Cream and Duct Tape Combination Therapy”.  (Sun Yae Kim, Sung Kyu Jung, Sang Geun Lee, Sang Min Yi, Jae Hwan Kim, and Il-Hwan Kim).

ภาพประกอบ : webmd.com, www.pcds.org.uk, health-pictures.com, www.dermapics.com, trypophilia.tumblr.com, www.dermquest.com, www.researchgate.net, www.wikihow.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด