หูดหงอนไก่ (Condyloma acuminata) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

หูดหงอนไก่ (Condyloma acuminata) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ
หูดหงอนไก่ (Condyloma acuminata) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

โรคหูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่ (Genital warts, Condyloma acuminata) คือ หูดที่พบขึ้นบ่อยบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หรือ “ฮิวแมน แปปิโลมา ไวรัส” (Human Papilloma Virus – HPV) โดยจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ คือ ในช่วงอายุ 17-33 ปี ทั้งหญิงและชาย แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่า ในบางครั้งอาจเรียกโรคนี้ว่า “หงอนไก่“, “หูดอวัยวะเพศ” หรือ “หูดกามโรค[3],[2]

จากการเก็บข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นหูดหงอนไก่ที่มาทำการรักษาคิดเป็นประมาณ 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด[2]

สาเหตุของหูดหงอนไก่

  • สาเหตุของการเกิดโรค : หูดหงอนไก่เป็นหูดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้กว่า 200 สายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดที่ผิวหนัง บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ บางสายพันธุ์ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ สำหรับเชื้อที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่นั้น พบว่าประมาณ 90% เกิดจากสายพันธุ์ย่อย 6 และ 11 ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งค่อนข้างต่ำ (ส่วนเชื้อชนิดที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ คือ HPV สายพันธุ์ย่อย 16 และ 18 ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้คือ สายพันธุ์ 33, 35, 39, 40, 43, 45, 51-56, 58)
  • การติดต่อของโรคหูดหงอนไก่ : ส่วนใหญ่โรคนี้มักติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลักประมาณ 50-70% จึงมักพบได้ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่ม และที่พบได้ในจำนวนน้อยมาก ๆ คือการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างการคลอด ในกรณีที่เด็กคลอดผ่านช่องคลอดของแม่ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่[3] ส่วนการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ ฝารองนั่ง สระว่ายน้ำ ไม่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อหูดหงอนไก่ได้[2]
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ : โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่ไม่รู้จักรักษาความสะอาดหรือมีสุขนิสัยไม่ดี ได้แก่ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย, ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน, ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหูดหงอนไก่มากขึ้น), ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ (ชายรักชาย), คู่นอนมีการติดเชื้อหูดหงอนไก่, การถูกข่มขืนกระทำชำเรา (เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากพบโรคนี้ในเด็กจำเป็นต้องสืบหาเกี่ยวกับการถูกข่มขืนกระทำชำเราด้วย) ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ (ผู้ที่ยังไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายจะมีการกำจัดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ช้ากว่า)[4]
  • ระยะฟักตัวของโรคหูดหงอนไก่ : ตั้งแต่รับเชื้อมาจนเกิดอาการจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน – 2 ปี หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 เดือน[4] แต่ผู้ที่สัมผัสเชื้อนี้อาจจะไม่ติดโรคทุกราย เพราะขึ้นอยู่กับภาวะภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ โดยเมื่อผิวหนังได้รับเชื้อหรือติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ผ่านทางรอยถลอกที่ผิวหนัง ก็จะมีระยะฟักตัวของโรคที่ยังไม่แสดงอาการได้หลายเดือนหรือหลายปี เมื่อผ่านระยะฟักตัวไปแล้ว เชื้อไวรัสก็จะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติในชั้นผิวหนัง โดยปกติแล้วร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ออกได้เอง แต่มีส่วนน้อยที่เชื้อไวรัสจะไม่ถูกกำจัด และหากเป็นไวรัสสายพันธุ์รุนแรงก็จะมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งในตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อได้

อาการของหูดหงอนไก่

  • การแสดงอาการ : คนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันดี หลังจากได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วมักจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา ซึ่งประมาณ 80-90% เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดออกไปได้เองภายใน 2 ปี[4] (ยกเว้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ) แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่อาจแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วหลายเดือนหรือหลายปี จนเกิดเป็นเนื้องอกนูนออกมาอย่างที่เรียกว่า “หูดหงอนไก่” โดยในผู้ชายจะพบหูดหงอนไก่ได้น้อยกว่าในผู้หญิงมาก เนื่องจากลักษณะของผิวหนังที่อวัยวะเพศที่ไม่ค่อยมีซอกหลืบหรือความชุ่มชื้นมากเท่าของผู้หญิง
  • อาการของหูดหงอนไก่ : หลังจากเนื้อเยื่อติดเชื้อเอชพีวี (HPV) แล้ว ผู้ติดเชื้อนั้นอาจเป็นได้ทั้ง 3 กรณี กล่าวคือ รอยโรคหายไปได้เอง รอยโรคเป็นอยู่เท่าเดิม หรือรอยโรคเป็นมากขึ้น สำหรับรอยโรคที่เกิดหูดหงอนไก่นั้นอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันหรือไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นมากก้อนเนื้อหูดก็จะใหญ่ขึ้นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่ออก ส่วนในผู้หญิงอาจตามมาด้วยอาการมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีอาการตกขาว หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด หูดหงอนไก่จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ (ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการของโรคมากกว่าคนทั่วไป ส่วนในผู้ป่วยเอดส์จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ซึ่งมักจะขึ้นหลายแห่งและเป็นแบบเรื้อรัง)
  • ลักษณะของหูดหงอนไก่ : หูดจะขึ้นเป็นติ่งเนื้องอกอ่อน ๆ มีสีชมพูหรือสีเนื้อ ผิวขรุขระ ซึ่งจะเริ่มจากรอยโรคเล็ก ๆ แล้วขยายตัวลุกลามใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีลักษณะคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ บางชนิดอาจเป็นหูดชนิดแบนราบ มักพบได้ที่บริเวณปากมดลูก (ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16), อาจเป็นหูดชนิดกลุ่ม ลักษณะเป็นตุ่มขนาด 3-4 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลแดง ม่วง หรือดำ ผิวเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย มักเกิดขึ้นที่เดียวพร้อมกันหลายตุ่มและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16, 18) หรืออาจเป็นหูดก้อนใหญ่ โดยมีลักษณะเป็นหูดขนาดใหญ่ที่โตเร็วมาก จนกลายเป็นก้อนใหญ่ปกคลุมอวัยวะเพศไว้ทั้งหมด บางคนอาจเรียกหูดชนิดนี้ว่า “หูดยักษ์” (ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16) ลักษณะของรอยโรคจึงมีได้หลายรูปแบบทั้งขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป
  • ตำแหน่งที่พบหูดหงอนไก่ : เนื่องจากหูดหงอนไก่จะพบได้ตามเนื้อเยื่อของร่างกายชนิดที่สามารถสร้างเมือกได้ที่เรียกว่า “เนื้อเยื่อเมือก” (Mucosa) หูดชนิดนี้จึงชอบขึ้นในบริเวณที่อับชื้นและอุ่น โดยจะพบหูดหงอนไก่ได้ที่บริเวณอวัยวะเพศเป็นหลัก ส่วนในตำแหน่งอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้างก็ได้แก่ ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ช่องปาก ลำคอ หลอดลม เป็นต้น ถ้าในผู้ชายมักจะพบขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างส่วนหัวและส่วนตัวขององคชาตใต้หนังหุ้มปลาย หรือเส้นสองสลึง ส่วนน้อยอาจขึ้นตรงปลายท่อปัสสาวะ และอาจพบขึ้นบริเวณรอบทวารหนักในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ส่วนในผู้หญิงจะพบขึ้นที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ในช่องคลอด หรือปากมดลูก รวมไปถึงทวารหนักและบริเวณฝีเย็บ และหากปล่อยไว้ อาจเกิดการลุกลามเข้าไปในท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือตามง่ามขาได้ และในผู้ป่วยรายเดียวกันอาจพบว่าเกิดได้ในหลาย ๆ ตำแหน่งได้ เช่น หากผู้ป่วยมีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก นอกจากจะพบรอยโรคได้ที่อวัยวะเพศแล้วยังอาจพบรอยโรคได้ในทวารหนักอีกด้วย
  • สาเหตุการเกิดซ้ำ : เนื่องจากไวรัสเอชพีวีจะไม่ทำให้เซลล์ตายหรือสลายไป รวมทั้งไม่ทำให้เกิดการอักเสบ การติดเชื้อจึงมักถูกจำกัดอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุซึ่งไม่เข้าสู่กระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลือง จึงไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาของร่างกายต่อไวรัสได้มากพอที่จะเกิดภูมิต้านทานขึ้นเหมือนโรคอื่น ๆ[4]

การวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการดูลักษณะของรอยโรคเฉพาะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจตรวจยืนยันได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยาจากชิ้นเนื้อตรงรอยโรค เนื่องจากรอยโรคที่มีหลากหลายของหูดหงอนไก่อาจทำให้เกิดความสับสนกับโรคอื่น ๆ ได้ เช่น หูดข้าวสุก ไฝ โรคผิวหนังบางชนิด ผื่นของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ไปจนถึงลักษณะที่ผิดปกติของอวัยวะเพศของบางคนที่มีติ่งยื่นออกมาคล้ายหูดหงอนไก่

ในกรณีที่แพทย์ยืนยันว่าเป็นหูดหงอนไก่จริง ผู้ป่วยควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วยเสมอ เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ หนองใน พยาธิในช่องคลอด ฯลฯ เพราะมักพบเกิดร่วมกันได้ (การติดเชื้อเหล่านี้ร่วมด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะแสบ มีตกขาว คัน หรือมีแผลที่อวัยวะเพศเพิ่มขึ้น) นอกจากนี้แพทย์ยังอาจมีการตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจสืบค้นด้วยวิธีอื่น ๆ ตามแต่กรณีหากสงสัยว่ามีหูดหงอนไก่ในบริเวณที่พบได้บ่อย เช่น การใช้กล้องส่องตรวจดูช่องคอหรือที่ทวารหนัก เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ยังไม่มีรอยโรคหรือยังไม่เห็นเป็นก้อนหูด แพทย์จะยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้

วิธีรักษาหูดหงอนไก่

ด้วยโครงสร้างของเชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้เชื้อนั้นไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของสิ่งแวดล้อมที่เชื้ออาศัยอยู่ได้ แพทย์จึงสามารถกำจัดเชื้อนี้ได้ด้วยการใช้ความร้อนจัด ความเย็นจัด หรือใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหูดที่มีขนาดเล็กย่อมรักษาได้ง่ายกว่า โดยพบว่าถ้าหูดมีขนาดเล็กกว่า 1 ตารางเซนติเมตรก็มักจะรักษาด้วยยาได้สำเร็จ แต่ถ้าหูดมีขนาดใหญ่กว่านั้นก็อาจจะต้องเลือกใช้วิธีอื่นในการรักษาแทน

ส่วนประสิทธิภาพในการรักษาแต่ละวิธีก็แตกต่างกันไปและทุกวิธีก็มีโอกาสเกิดซ้ำขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกหลังสิ้นสุดการรักษา เพราะพบว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 50-70% ที่ได้รับการรักษาจนหายแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีกภายหลังหนึ่งปี ทั้งมาจากการติดเชื้อซ้ำใหม่หรือจากการกลับมาเป็นซ้ำจากเชื้อเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ในบริเวณเดิม แต่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงไม่ได้รับการรักษาให้หมดไปจากการรักษาในครั้งแรก และโดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งจะดื้อต่อการรักษาและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง[2],[4]

เป้าหมายในการรักษาโรคหูดหงอนไก่ คือ เพื่อความสวยงาม เพื่อบรรเทาอาการ และลดความกังวลใจของผู้ป่วย ส่วนวิธีในการรักษาก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบการใช้ยาหรือการใช้อุปกรณ์เพื่อกำจัดหูดออกไป แพทย์เป็นผู้ทำให้หรือให้ผู้ป่วยทำเอง หากสงสัยว่าตนเองเป็นหูดหงอนไก่ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเพื่อตรวจแยกโรคนี้ออกจากโรคอื่น ถ้าพบว่าเป็นหูดหงอนไก่จริง แพทย์อาจให้การรักษาโดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้*

  • ทาด้วยยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) ชนิด 25% แต่ต้องระวังไม่ให้ถูกเนื้อดี โดยให้ใช้วาสลีนทาปิดเนื้อดีโดยรอบเอาไว้ก่อน หลังจากทายาประมาณ 4-6 ชั่วโมงแล้วให้ล้างออก และต้องทาซ้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค ตัวยานี้จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ แต่ก็มีผลข้างเคียงคือ อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรือแสบบริเวณที่ทายาได้ แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีนี้เกิน 2 เดือนแล้วยังไม่หายควรเปลี่ยนไปใช้วิธีการรักษาแบบอื่นแทน (ยานี้ห้ามใช้ในหูดหงอนไก่ที่ขึ้นบริเวณปากมดลูกหรือภายในช่องคลอดและห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 20-35%[2])
    วิธีรักษาหูดหงอนไก่
  • ทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก หรือ ทีซีเอ (Trichloroacetic Acid – TCA) ชนิด 50-70% โดยไม่ต้องล้างออก และระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี หลังจากทายาประมาณ 1 ชั่วโมงไม่ควรให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำ และต้องรักษาซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหมดไป ตัวยานี้จะมีฤทธิ์ทำให้โปรตีนในเซลล์เสื่อมสภาพเป็นเซลล์ตาย ทำให้หูดที่มีก้านหลุดออกไปภายใน 2-3 วัน จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการแสบและระคายเคืองตรงรอยโรค หรือเป็นแผลมีเลือดออกได้ ถ้ารักษาด้วยวิธีนี้ติดต่อกันเกิน 6 ครั้งแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีอื่น (วิธีนี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ และการรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 35%[2])
  • ทาด้วยครีมอิมิควิโมด (Imiquimod cream) ชนิด 5% เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กำจัดเชื้อเอชพีวี (HPV) ออกไป โดยให้ทายานี้วันเว้นวันในช่วงก่อนเข้านอน ติดต่อกันเป็นเวลา 16 สัปดาห์[1] เป็นวิธีรักษาในหูดหงอนไก่ชนิดราบที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณเยื่อเมือก ยาทานี้มีราคาแพง แต่ผู้ป่วยสามารถนำกลับมาทาเองที่บ้านได้ (ยานี้ห้ามใช้ในหูดหงอนไก่ที่ขึ้นบริเวณปากมดลูกหรือภายในช่องคลอด และห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และการรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 20%[2])
    ยารักษาหูดหงอนไก่
  • ทาด้วยยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ชนิด 0.5% มีทั้งรูปแบบเจลและครีม ผู้ป่วยสามารถนำมาใช้ทาเองได้ที่บ้าน โดยวิธีการใช้ให้ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แล้วเว้น 4 วัน แต่ไม่เกิน 4 รอบ โดยตัวยาจะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งเซลล์ ในระหว่างการใช้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเล็กน้อย (ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป)
    ยาทาหูดหงอนไก่
  • รักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Laser ablation) เพื่อตัดรอยโรคออก ใช้วิธีลดความเจ็บปวดในการรักษาด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ แพทย์มักใช้รักษาหูดขนาดใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล แต่มีข้อเสียคือ ควันที่เกิดจากการจี้ในระหว่างการรักษาจะมีเชื้อเอชพีวี (HPV) อยู่ หากสูดดมเข้าไปมาก ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อเอชพีวีในทางเดินหายใจได้ (การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 5-50%[2])
  • รักษาด้วยการจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) แล้วนำมาป้ายหรือพ่นเป็นสเปรย์ลงที่รอยโรค เพื่อให้ความเย็นสัมผัสรอยโรคเป็นเวลานานประมาณ 10-15 วินาที และต้องระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบ้างในขณะทำการรักษา แต่เป็นระดับที่สามารถทนได้โดยไม่ต้องใช้ยาชา และภายหลังการรักษาอาจทำให้มีรอยดำได้ การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค (วิธีนี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 20-40%[2])
  • รักษาด้วยวิธีการตัดหูดหงอนไก่ออกด้วยมีดผ่าตัด (Surgical excision) โดยจะอาศัยการฉีดยาชาเฉพาะที่ วิธีการรักษานี้เป็นวิธีที่ช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของหูดหงอนไก่ได้มากที่สุด มักใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือในรายที่เป็นหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ (วิธีนี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 20-40%[2])
  • รักษาด้วยการขูดเอาเนื้องอกออก (Curettage)
  • หากคู่นอนมีอาการของหูดหงอนไก่ ควรพามาพบแพทย์และรักษาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำไปมาซึ่งกันและกันหลังการรักษา หรือหากไม่แน่ใจว่าเป็นหูดหงอนไก่หรือไม่ก็ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โอกาสที่จะติดจากทางอื่นนั้นมีน้อยมาก แต่ถ้าผู้อื่นหรือคนในครอบครัวมีรอยโรคที่ต้องสงสัยก็ควรพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่คนอื่น ๆ ภายในครอบครัว
  • การดูแลตนเองในระหว่างการรักษาหูดหงอนไก่
    1. ติดตามการรักษาโดยการมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
    2. หมั่นตรวจอวัยวะเพศของตัวเองเพื่อหารอยโรคอยู่เสมอ
    3. งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา แต่หากมีความจำเป็นก็ควรใช้ถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
    4. ควรล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เป็นประจำ และหากสัมผัสรอยโรคให้ล้างบริเวณที่สัมผัสและล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์
    5. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ครบถ้วน เช่น การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด, ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ, รับประทานอาหารที่สุกสะอาด, งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด และการสำส่อนทางเพศ, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เป็นต้น
    6. ในรายที่มีหูดหงอนไก่ขึ้นหลายแห่ง หรือเป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ ควรไปตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือไม่
    7. ในผู้หญิงที่เป็นหูดหงอนไก่บริเวณปากมดลูก อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเอดส์หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น สูบบุหรี่หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ฯลฯ ดังนั้น จึงควรหาทางหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ และควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
    8. ในระหว่างการรักษาหูดหงอนไก่ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษามีอาการเจ็บ แดง ระคายเคืองเป็นบริเวณกว้าง หรือผู้ป่วยมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ

สำหรับการจะใช้วิธีรักษาใดนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อาการของโรค (ขนาดและจำนวนของหูดหงอนไก่), ตำแหน่งที่เป็น, ภาวะตั้งครรภ์, ค่าใช้จ่ายในการรักษา, ผลข้างเคียงของการรักษา, การเดินทางของผู้ป่วย, ประสบการณ์ของแพทย์ และดุลยพินิจของแพทย์ (ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยเป็นหูดชนิดราบที่อวัยวะเพศ ในครั้งแรกแพทย์อาจทดลองรักษาด้วยการทาครีมอิมิควิโมดก่อน หากพบว่ากลับมาเป็นซ้ำอีก แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนวิธีการรักษาไปใช้วิธีการจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) หากผู้ป่วยเป็นหูดหงอนไก่ที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาทาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) เนื่องจากมีการตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แต่หากผู้ป่วยเป็นหูดหงอนไก่ที่มีขนาดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีการจี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยเลเซอร์ (Laser ablation) ก่อน เป็นอันดับแรก และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นหูดหงอนไก่ที่ดื้อต่อการรักษาหรือเป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมหลายครั้ง อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดต่อไป เป็นต้น)

หมายเหตุ : การรักษาหูดหงอนไก่ทุกวิธีที่กล่าวมาจะต้องรักษาโดยแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารักษาเอง (ยกเว้นครีมอิมิควิโมดและโพโดฟิลอกซ์ที่ได้จากแพทย์) เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เกิดแผลต่อเนื้อเยื่อปกติรอบ ๆ รอยโรคอย่างรุนแรงได้ และก่อนทายาทุกครั้ง ผู้ป่วยควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอ เพราะหลังจากทาแล้วไม่ควรให้รอยทายาถูกน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง

ผลข้างเคียงของโรคหูดหงอนไก่

  • นอกจากลักษณะของรอยโรคที่ไม่น่ามองแล้ว สำหรับการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เช่น สายพันธุ์ 16, 18 ยังอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และมะเร็งทวารหนักได้ด้วย ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยโรค เช่น อาจมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีหูดภายในปากมดลูก
  • ในหญิงตั้งครรภ์ หูดหงอนไก่อาจโตขึ้นจนขวางทางคลอดจนทำให้เด็กคลอดออกมาลำบาก หรือเชื้ออาจเข้าไปในปากหรือคอของเด็กในขณะคลอด ทำให้เกิดหูดในกล่องเสียงซึ่งมีอาการแตกต่างกันไป ตั้งแต่เสียงแหบไปจนถึงมีการอุดกั้นของกล่องเสียง ทำให้เด็กออกเสียงหรือหายใจไม่ได้
  • ในกลุ่มชายรักชายจะพบหูดหงอนไก่รอบทวารหนักหรือในทวารหนักได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งการรักษาในตำแหน่งดังกล่าวจะทำได้ยากมาก เพราะไม่ว่าจะใช้ยาหรือใช้วิธีการผ่าตัด หูดหงอนไก่ก็มักจะเกิดซ้ำได้บ่อย การได้รับการรักษาหลายครั้งจึงอาจทำให้เกิดทวารหนักตีบและมีปัญหาในการขับถ่ายตามมาได้ ส่วนก้อนที่อยู่ลึกเข้าไปในทวารหนักอาจโตมากจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องผูก ในบางครั้งอาจมีเลือดออกหรือบิดขั้วจนต้องผ่าตัดฉุกเฉินหรือต้องดมยาสลบ นอกจากนี้ยังมักพบการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 ร่วมด้วยอยู่บ่อย ๆ ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งทวารหนักได้[4]
  • เกิดหูดหงอนไก่ที่ทางเดินหายใจ (Recurrent Respiratory Papillomatosis – RRP) คือ ตั้งแต่โพรงจมูกลงไปจนถึงถุงลมในปอด มักพบได้มากที่สุดที่กล่องเสียง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเสียงแหบหรือเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจจนเสียชีวิตได้ ในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อจากแม่ในระหว่างการคลอดตามที่กล่าวมา ส่วนในผู้ใหญ่มักพบว่าเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปาก แม้ภาวะนี้จะเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย (พบได้ประมาณ 1-4 ต่อประชากร 100,000 คน) แต่หากเกิดแล้วจะสร้างความทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการรักษาที่เรื้อรังและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล เพราะในผู้ใหญ่มักจะลงเอยด้วยการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนหูดเพื่อช่วยเรื่องทางเดินหายใจ ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้จะทำได้ยากมากตั้งแต่ขั้นตอนการดมยาสลบ ที่ผู้ป่วยอาจขาดอากาศหายใจได้เป็นบางช่วง นอกจากนี้ตามธรรมชาติแล้วรอยโรคก็มักจะกระจายไปทั่ว จึงทำให้ไม่สามารถกำจัดออกหมดได้ภายในครั้งเดียว และอาจต้องได้รับการผ่าตัดมากกว่า 5 ครั้งในชีวิต ส่วนในเด็กมักจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดโดยเฉลี่ย 4.4 ครั้งต่อปี รวมแล้วประมาณ 19.7 ครั้งในช่วงชีวิต จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาคือแผลเป็น เป็นผลทำให้หลอดลมตีบและหายใจได้ลำบากในระยะยาว[4]

วิธีป้องกันหูดหงอนไก่

ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถช่วยป้องกันและรักษาหูดหงอนไก่ได้อย่าง 100% (เนื่องจากหูดชนิดนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก คือ ติดต่อได้จากผิวหนังสู่ผิวหนัง) แต่เราสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวีได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  1. มีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น
  2. หากต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) แม้การใช้ถุงยางอนามัยอาจไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่ก็เป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี (สาเหตุที่ถุงยางอนามัยอาจป้องกันหูดหงอนไก่ได้ไม่เต็มที่ นั่นเป็นเพราะว่าเชื้อเอชพีวีมักจะกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นบริเวณที่ถุงยางอนามัยครอบคลุมไม่ถึงนั่นเอง)
  3. เมื่อพบรอยโรคต้องสงสัยหรือความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นหูดหงอนไก่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้หายก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคไปสู่บริเวณเนื้อเยื่อเมือกอื่น ๆ หรือการติดต่อสู่ผู้อื่น
  4. ในปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV 4 สายพันธุ์สำคัญออกมาในเข็มเดียวกัน คือ HPV 6, 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ 90% และ HVP 16,18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70% วัคซีนนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6, 11, 16, 18 ได้ประมาณ 99% หากฉีดก่อนการติดเชื้อ ดังนั้น จึงแนะนำให้ฉีดได้ทั้งในเด็กหญิงและเด็กชายที่มีอายุระหว่าง 11-12 ปี สำหรับการป้องกันหูดหงอนไก่ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วก็ยังแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยต่อไปและมีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน เนื่องจากวัคซีน HPV 6, 11 นั้น สามารถป้องกันโรคนี้ได้ 90% ของผู้ติดเชื้อเฉพาะที่เกิดจาก HPV 6, 11 เท่านั้น (ส่วนการป้องกันมะเร็งปากมดลูกจาก HPV 16, 18 นั้น แม้ว่าจะฉีดวัคซีนทำให้มีภูมิคุ้มกันไปแล้ว แต่ก็ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำด้วย เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกมีอยู่หลายชนิด และอาจไม่ได้เกิดจาก HPV 16, 18 เพียงอย่างเดียว)

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเอชพีวี

จากข้อมูลที่มีการใช้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์หลักทั่วโลก มีรายงานผลข้างเคียงที่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงและพบได้น้อยมาก ๆ โดยจากการฉีดวัคซีน 100,000 เข็ม พบว่าจะมีคนเป็นลม 8.2 ราย, มีอาการบวมแดงในตำแหน่งที่ฉีดยา 7.5 ราย, วิงเวียนศีรษะ 6.8 ราย, คลื่นไส้ 5 ราย, ปวดศีรษะ 4.1 ราย, มีปฏิกิริยาไวต่อยา 3.1 ราย และเกิดผื่นลมพิษ 2.6 ราย

สรุป หูดหงอนไก่แม้เป็นโรคที่ไม่ได้ทำให้ใครเสียชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่ทำลายความมั่นใจในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก รวมทั้งผู้ป่วยต้องเสียเงินและเสียเวลาในการรักษามากมาย แม้การรักษาจะทำได้ไม่ยากแต่ก็มักไม่หายขาด เพราะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกประมาณ 30-70% หลังจากหยุดการรักษาไปแล้ว 6 เดือน แต่ในปัจจุบันมีวิธีการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพดี ตั้งแต่ยังไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อนโดยการฉีดวัคซีนไวรัสเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์หลัก[4]

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “หูดหงอนไก่ (Genital warts/Condyloma acuminata)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 979-980.
  2. หาหมอดอทคอม.  “หูดหงอนไก่ หูดอวัยวะเพศ (Condyloma acuminata)”.  (พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [17 มี.ค. 2016].
  3. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “คู่มือเรื่องโรคหูดหงอนไก่”.  (ชนากานต์ เกิดกลิ่นหอม, เพียงเพ็ญ ธัญญะตุลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [18 มี.ค. 2016].
  4. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “หูดหงอนไก่…ไม่ถึงตายแต่ทำลายความมั่นใจ”.  (อ.พญ.เจนจิต  ฉายะจินดา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [19 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : tamilculture.com, herd-it.org, www.aafp.org, enbac.com (by khanh) treat-genital-warts.com, www.massgeneral.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด