หนองใน (Gonorrhea) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

หนองใน (Gonorrhea) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

โรคหนองในแท้

หนองในแท้ หรือ โรคโกโนเรีย (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (กามโรค) ที่พบได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการมักเป็นรุนแรงและชัดเจนจนผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาการจะดีขึ้นได้เองเพียงเล็กน้อย แต่ตัวโรคยังคงเป็นอยู่ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

ในประเทศไทยมีรายงานจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2551 พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคหนองในจำนวน 6,168 ราย หรือคิดเป็น 15.43% ของผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด หรือคิดเป็น 9.76 ต่อประชากร 100,000 คน

สาเหตุของหนองใน

หนองในเกิดจากการติดเชื้อหนองในซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “ไนซีเรีย โกโนเรียอี” (Neisseria gonorrhoeae) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า “โกโนค็อกคัส” (Gonococcus ) ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและสารน้ำในช่องคลอด จึงถ่ายทอดผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเจริญได้ดีในที่ชื้นและที่อบอุ่นของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ตั้งแต่ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก ท่อปัสสาวะ (ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง) นอกจากนี้ยังสามารถเจริญในบริเวณอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ทวารหนัก เยื่อบุตา ช่องปากคอ เป็นต้น

  • กิจกรรมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อหนองใน : มักติดมาจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยจากการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอด ช่องปาก ทวารหนัก องคชาต โดยอาจมีหรือไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจติดได้จากมารดาสู่ทารกในระหว่างการคลอดจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงได้อีกด้วย (เฉพาะในสตรี เชื้อสามารถแพร่จากช่องคลอดไปสู่ทวารหนักได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก)
  • กิจกรรมที่ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อหนองใน : ได้แก่ การจับมือ, การกอด, การจูบ, การใช้แก้วน้ำ จาน ชามร่วมกัน, การใช้ห้องน้ำหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน, การนั่งฝาโถส้วม, การใช้สระว่ายน้ำร่วมกัน (เชื้อหนองในไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสระว่ายน้ำหรือในโถส้วม ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่คนปกติทั่วไปจะติดเชื้อหนองในจากสระน้ำหรือโถส้วม) เป็นต้น ส่วนการมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้มือหรือนิ้วช่วย ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่าสามารถทำให้เกิดการถ่ายทอดเชื้อได้
  • กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดโรคหนองใน : ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่น, ผู้ติดยาเสพติด, ผู้ที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน, ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์, ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้มาแล้ว หรือเคยเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคซิฟิลิส (Syphilis)
  • ระยะฟักตัวของโรค : หลังจากได้รับเชื้อมักจะแสดงอาการภายใน 2-10 วัน แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะแสดงอาการภายใน 5 วัน

อาการของหนองใน

  • ฝ่ายชาย หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2-10 วัน จะมีอาการแสบในลำกล้องเวลาถ่ายปัสสาวะ หรือถ่ายปัสสาวะขัด มีหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ในระยะแรกอาจจะแค่ไหลซึมเป็นมูกใส ๆ เล็กน้อยโดยไม่ใช่น้ำปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ แต่ในอีก 12 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นหนองสีเหลืองข้น และจะออกมากคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยว ในบางรายอาจมีอาการปวดและบวมของถุงอัณฑะ หรือมีการอักเสบที่หนังหุ้มปลายองคชาต (พบได้น้อย) ร่วมด้วย (ประมาณ 10% ของฝ่ายชายที่ติดเชื้อหนองในอาจไม่มีอาการเหล่านี้แสดงออกมาเลยก็ได้ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อยู่)
  • ฝ่ายหญิง ในระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการแสดงออกมา แต่ในระยะต่อมาจะมีอาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีปริมาณมากขึ้น เป็นหนองสีเหลืองหรือสีเขียว มีกลิ่นเหม็น ไม่คัน มีอาการขัดเบาและแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น ปวดท้องน้อย เลือดออกกะปริดกะปรอยในระหว่างรอบเดือน (พบได้น้อย) เป็นต้น ถ้ามีการอักเสบของปีกมดลูก จะทำให้มีไข้สูง หนาวสั่น ปวด และกดเจ็บตรงท้องน้อยแบบปีกมดลูกอักเสบ (ประมาณ 50% ของฝ่ายหญิงที่ติดเชื้อหนองในอาจไม่มีอาการเหล่านี้แสดงออกมาเลยก็ได้ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อยู่)
  • ทั้งสองเพศ หากติดเชื้อในลำคอ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บคอ เป็นไข้ หากติดเชื้อในทวารหนัก อาจทำให้เกิดอาการปวดหน่วง คัน หรืออาจมีน้ำคล้ายหนองออกมา โดยเฉพาะในขณะขับถ่าย และหากติดเชื้อที่เยื่อบุตา อาจทำให้มีอาการเจ็บปวด ระคายเคือง และมีหนองไหล อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในตำแหน่งใด ๆ ก็ตาม อาจไม่มีอาการแสดงออกมาเลยก็ได้ นอกจากอาการที่กล่าวมาแล้วยังอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (ไข่ดัน) บวมและเจ็บด้วย
อาการหนองใน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองใน

  • ฝ่ายชาย ถ้าไม่ได้รับการักษา อาจมีหนองไหลอยู่ประมาณ 3-4 เดือน และเชื้อหนองในอาจลุกลามเข้าไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ท่อปัสสาวะตีบตันได้
    • อาจทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือเป็นฝีที่ผนังของท่อปัสสาวะ
    • ในบางรายอาจทำให้เกิดการอักเสบของอัณฑะ (อัณฑะปวดบวม และเป็นหนอง) และท่อนำอสุจิ ซึ่งอาจทำให้มีบุตรได้ยากหรือกลายเป็นหมันได้
  • ฝ่ายหญิง เชื้อหนองในอาจลุกลามทำให้ต่อมบาร์โทลิน (Bartholine’s gland) ที่แคมใหญ่จนเกิดการอักเสบ หรือเป็นฝีบวมโต หรืออาจทำให้เยื่อบุมดลูกอักเสบ หรือปีกมดลูกอักเสบ ซึ่งถ้าเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง เมื่อหายแล้วก็อาจจะทำให้ท่อรังไข่ตีบตัน กลายเป็นหมัน หรือทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ถ้าตั้งครรภ์
    • อาจทำให้เกิดการอักเสบในอุ้งเชิงกราน (ช่องท้องน้อย) ทำให้มีอาการปวดท้อง มีไข้ อาจทำให้เกิดถุงหนองในช่องน้อยที่รักษาหายยาก แล้วอาจทำให้มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะในช่องท้องน้อยแบบเรื้อรัง
  • ทั้งสองเพศ เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดไปที่ข้อ (หนองในเข้าข้อ) จนทำให้เป็นโรคข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลันจนมีอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก โดยข้อที่พบได้บ่อย คือ ข้อเท้า ข้อเข่า และข้อมือ
    • ผู้ที่เป็นโรคหนองในจะติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เป็นหนองใน
    • นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้น้อยมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) ซึ่งอาจทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และหัวใจวาย

การวินิจฉัยโรคหนองใน

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหนองในได้จากประวัติทางการแพทย์ เช่น เรื่องคู่นอน เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ สเปกติโนมัยซิน การตรวจร่างกาย การตรวจบริเวณอวัยวะเพศ การตรวจภายใน (ในผู้หญิง) แล้วนำหนองจากปากมดลูก ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือช่องคอ ไปย้อมสีและส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ (การเก็บเชื้อส่งตรวจแพทย์จะทำการตรวจทุกตำแหน่งที่มีเพศสัมพันธ์ เช่น ถ้ามีเพศสัมพันธ์ทางปากจะต้องตรวจเชื้อในคอด้วย, ถ้ามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักก็ต้องตรวจทางทวารหนักด้วย เป็นต้น)

ในขั้นตอนการวินิจฉัยเบื้องต้น สามารถทำได้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ส่วนผลการเพาะเชื้อจะทราบได้ภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อผลตรวจออกมาว่าเป็นเชื้อหนองใน ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ โรคติดเชื้อเอชไอวี, โรคซิฟิลิส และโรคไวรัสตับอักเสบบี

สำหรับความแม่นยำในการตรวจนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณของเชื้อหนองในเป็นหลัก โดยพบว่าการตรวจที่บริเวณคอจะมีความแม่นยำน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจใดที่ให้ผล 100% ดังนั้นหากผู้ป่วยยังคงมีอาการอยู่ ทั้ง ๆ ที่ผลตรวจเป็นลบ ก็ควรกลับมาตรวจติดตามเพื่อประเมินซ้ำอีกครั้ง ในทางกลับกัน หากผู้ป่วยไม่มีอาการแต่ผลการตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อ) ก็ควรไปรับการรักษาจากแพทย์อย่างครบถ้วน

วิธีรักษาโรคหนองใน

  • หากสงสัยว่าเป็นหนองใน ควรตรวจยืนยันด้วยการนำหนองไปย้อมสีและส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ ถ้าพบว่าเป็นโรคหนองในจริง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะขนานใดขนานหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    • เซฟิไซม์ (Cefixime) ขนาด 400 มิลลิกรัม ใช้กินเพียงครั้งเดียว (ยกเลิก)
    • เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม ให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว (ยกเลิก)
    • สเปกติโนมัยซิน (Spectinomycin) ขนาด 2 กรัม (2,000 มิลลิกรัม) ให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเพียงครั้งเดียวเช่นกัน (ยกเลิก)
    • ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ควรให้ยาติดต่อกัน 2-3 วัน ถึง 14 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
    • การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะค่อนข้างได้ผลดีมากกว่า 95% (ยกเว้นในเชื้อดื้อยา) ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา และภายหลังการรักษา ถ้ายังคงมีอาการอยู่ก็ควรรีบกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง (แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะสามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้ แต่ก็ไม่สามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายซึ่งเกิดจากภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาได้ ที่สำคัญก็คือเป็นแล้วก็กลับมาเป็นได้อีก)
    • ในปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้ยานอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) สำหรับรักษาโรคหนองในแล้ว และผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเองในทุกกรณี
    • การรักษาหนองในในปัจจุบัน (ล่าสุด 2016) : ด้วยในปัจจุบันเชื้อหนองในเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาได้เก่งมาก ตามคำแนะนำล่าสุด (2016) ของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคหนองในต้องใช้ยา 2 ขนานร่วมกันในการรักษาเท่านั้น โดยการฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม เข้ากล้ามจำนวน 1 เข็ม ร่วมกับการให้ผู้ป่วยรับประทานยาอะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ขนาด 1,000 มิลลิกรัม จำนวน 1 ครั้ง จึงจะมั่นใจได้ว่าสามารถฆ่าเชื้อให้ตายได้หมด (การรักษาไม่ถูกต้องจะยิ่งส่งเสริมให้เชื้อนี้ดื้อต่อยามากยิ่งขึ้นจนไม่มียาเหลือไวให้รักษาอีกต่อไป)
  • เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคหนองในแท้มักจะเป็นหนองในเทียมจากการติดเชื้อ (Chlamydia) ร่วมด้วยประมาณ 30% แพทย์จึงมักรักษาไปพร้อมกันทั้งสองโรคด้วยการให้ยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ไปกินครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
  • ผู้ที่เป็นหนองในควรได้รับการเจาะเลือดตรวจวีดีอาร์แอล (VDRL – Venereal Disease Research Laboratory) เพื่อให้แน่ใจว่าตนไม่มีการติดเชื้อซิฟิลิสร่วมด้วย ถ้าผลตรวจวีดีอาร์แอลเป็นผลบวกหรือที่เรียกว่า “เลือดบวก” ก็แสดงว่าเป็นซิฟิลิส โดยควรตรวจตั้งแต่ครั้งแรกก่อนให้การรักษาและตรวจซ้ำอีกครั้งในอีก 3 เดือนถัดไป นอกจากนี้ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) และโรคไวรัสตับอักเสบบีพร้อมกันไปด้วย
  • ในผู้หญิงที่มีอาการหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะร่วมกับมีไข้สูง ปวดท้องน้อย ขัดเบา ตกขาว อาจเป็นปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
  • ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เกิดภาวะมีบุตรยาก ผู้ป่วยอาจต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดแก้ไข
  • ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นหนองใน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคนี้ให้หายขาด มิฉะนั้น ลูกอาจติดเชื้อในระหว่างคลอด ทำให้ตาอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดได้ หรืออาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงกับอวัยวะอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของลูกได้ (ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงมีการหยอดตาทารกแรกเกิดด้วย 1% Silver Nitrate ทุกรายเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อชนิดนี้) นอกจากนี้โรคหนองในที่มีอาการรุนแรง ยังอาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย

การดูแลตัวเองของผู้เป็นโรคหนองใน

  1. หากมีอาการปัสสาวะแสบขัด หรือมีอาการปวด หรือมีผื่นขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์แล้วรีบไปพบแพทย์ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหนองในหลังได้รับการรักษาแล้ว เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก ควรบอกให้คู่นอนมารับการรักษาด้วย และให้งดมีเพศสัมพันธ์ไปจนกว่าจะหายดีแล้วทั้งคู่
  2. ผู้ที่เป็นโรคหนองในทุกคนจำเป็นต้องได้รับการรักษา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอาการหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหนองใน และบางรายมีอาการดีขึ้นเองก็ตาม แต่ไม่แนะนำให้เพิกเฉยไม่ไปรับการรักษา เพราะผู้ป่วยจะยังคงแพร่เชื้อไปยังคู่นอนได้อยู่ และยังรับเชื้อกลับเข้ามาได้อีก ซึ่งอาจทำให้พบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ได้รับเชื้อเข้าไปจนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  3. ในระหว่างการรักษาหนองในห้ามมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อ (ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ จะต้องใช้ถุงยางอนามัยอย่างเคร่งครัด) และต้องงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 เดือน เพราะแอลกอฮอล์หรือเหล้าจะทำให้หนองไหลมากขึ้น
  4. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องอาหารแสลงของโรคหนองใน เช่น หูฉลาม อาหารทะเล หน่อไม้ สาเก เป็นต้น ในทางการแพทย์ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ ต้องงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเป็นเวลา 1 เดือน เพราะหากไม่ปฏิบัติตามจะทำให้หนองไหลมากยิ่งขึ้น ส่วนอาหารอื่น ๆ ถ้ากินแล้วทำให้หนองไหลมากขึ้นหรือกำเริบใหม่ก็ควรจะงดอาหารนั้น ๆ ไปก่อน
  5. ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาโรคหนองในจะมีผลต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ในระหว่างการรักษาจึงควรงดการมีเพศสัมพันธ์ และในรอบเดือนนั้นควรใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยอย่างเคร่งครัด
  6. หลังได้รับการรักษาแล้ว โดยมากอาการต่าง ๆ จะหายไปค่อนข้างเร็วภายใน 2-3 วันหลังเริ่มการรักษา ทั้งอาการตกขาวผิดปกติและแสบขัดเวลาปัสสาวะ ส่วนเลือดออกกะปริดกะปรอยในระหว่างรอบเดือนนั้นก็จะดีขึ้นในรอบเดือนหน้า ส่วนอาการปวดท้องน้อยและอาการปวดอัณฑะในผู้ชายจะใช้เวลานานกว่า และมักจะหายไปภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากอาจพบภาวะเชื้อดื้อยาหรือโรคมีการลุกลามมากขึ้น
  7. หากได้รับการรักษาแล้วและพบว่ามีอาการที่สงสัยว่าแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว คลื่นไส้อาเจียน หรืออาการที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด
  8. เมื่อรักษาครบแล้วควรกลับมาตรวจซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าเชื้อหนองในหายสนิทในทุกตำแหน่งที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว เช่น ช่องปาก ทวารหนัก ช่องคลอด
  9. ผู้ที่เป็นโรคหนองใน หลังจากได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว หากสัมผัสโรคอีกครั้งก็จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคหนองใน

  • หนองในเป็นโรคติดต่อโดยการร่วมเพศเป็นสำคัญ ถ้ามีการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนักก็อาจทำให้เป็นหนองในลำคอหรือทวารหนักได้ ส่วนการติดต่อโดยทางอื่นจะพบได้น้อยมาก ซึ่งที่อาจพบได้ก็คือ การติดต่อจากการใช้ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าเช็ดหน้าที่เปื้อนถูกหนองในสด ๆ (หากใช้เช็ดตา อาจทำให้เชื้อเข้าตา และทำให้ตาอักเสบอย่างรุนแรงได้) ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ที่เป็นโรคหนองใน
  • หนองในแท้และหนองในเทียม ในบางครั้งอาจแยกอาการกันไม่ออก ถ้าใช้ยารักษาหนองในแท้อย่างเต็มที่แล้วไม่ได้ผล (โดยไม่ได้ตรวจเชื้อมาก่อน) สาเหตุอาจเป็นเพราะเชื้อดื้อยา หรืออาจจะเป็นหนองในเทียมก็ได้
  • ในบ้านเราพบเชื้อหนองในที่ดื้อต่อกลุ่มยาเพนิซิลลิน เรียกว่าเชื้อ PPNG (Penicillinase producing Neisseria gonorrhoeae) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ซูเปอร์โกโนเรีย” ซึ่งการรักษาด้วยยาฉีดโปรเคนเพนิซิลลิน (Procaine penicillin) ที่เคยใช้กันมาในสมัยก่อนจะไม่ค่อยได้ผล ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นแทน นอกจากนี้ยังพบว่ามีเชื้อหนองในที่ดื้อต่อยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone) อีกด้วย
  • ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) เป็นยาปฏิชีวนะที่แพทย์ใช้รักษาหนองในมาตั้งแต่ดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันวงการแพทย์มีความวิตกเกี่ยวกับเรื่องโรคหนองในดื้อยา ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม และไซโพรฟล็อกซาซินก็กลายเป็นยาที่วงการแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้แล้ว เพราะพบว่าผู้ป่วยจำนวน 1 ใน 3 มีเชื้อที่ดื้อต่อยาตัวนี้
  • โรคหนองในไม่มีผลทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

วิธีป้องกันโรคหนองใน

  1. เลือกมีคู่นอนเพียงคนเดียว และจะแน่นอนยิ่งขึ้นหากคู่นอนได้รับการตรวจแล้วว่าไม่มีการติดเชื้อใด ๆ
  2. หลีกเลี่ยงการเที่ยวกลางคืนหรือการสำส่อนทางเพศ และถ้าจะหลับนอนกับคนอื่นหรือคนที่สงสัยว่าจะเป็นหนองใน ควรใช้ถุงยางอนามัยเสมอ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้เกือบ 100% (ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ อาจจะได้ผลไม่เต็มที่ และยังมีโอกาสติดเชื้อได้บ้าง)
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  4. ควรดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือฟอกล้างสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกราย
  5. กินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคภายหลังการร่วมเพศอาจได้ผลบ้าง แต่ต้องเป็นยาชนิดและขนาดเดียวกันกับที่ใช้ในการรักษา (ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยคุ้มเท่าใดนัก สู้รอให้มีอาการแสดงออกมาแล้วค่อยรักษาไม่ได้ อีกทั้งยังไม่อาจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ได้)
  6. การกินยาล้างลำกล้อง ซึ่งเป็นยาระงับเชื้อ (Antiseptic) ไม่ใช่ยาทำลายเชื้อ จึงไม่ได้ผลในการป้องกัน (ยานี้กินแล้วจะทำให้ปัสสาวะเป็นสีแปลก ๆ เช่น สีแดง สีเขียว)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “หนองใน (Gonorrhea)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1039-1041.
  2. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “โรคหนองใน”.  (อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา, พยาบาลวิชาชีพ ขวัญจิตร  เหล่าทอง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [11 มี.ค. 2016].
  3. Centers for Disease Control (CDC).  “Gonococcal Infections”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.cdc.gov.  [04 พ.ย. 2016].

ภาพประกอบ : www.mobieg.co.za, www.cdc.gov, www.wikihow.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด