ท่อปัสสาวะอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ 10 วิธี !!

ท่อปัสสาวะอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ 10 วิธี !!
ท่อปัสสาวะอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ 10 วิธี !!

โรคท่อปัสสาวะอักเสบ

ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) คือ การบาดเจ็บ อักเสบบวมของเซลล์เยื่อเมือกบุท่อปัสสาวะ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อยคือ จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease – STD) โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือการบาดเจ็บของท่อปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะ การส่องกล้อง หรือการได้รับสารก่อระคายเคืองต่าง ๆ โดยทั่วไปอาการของโรคท่อปัสสาวะอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อจะไม่รุนแรง มีน้อยรายที่จะลุกลามขึ้นไปจนเป็นโรคกรวยไตอักเสบหรือกลายเป็นโรคเรื้อรัง

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งทั่วโลก พบเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากมักมีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงพบได้มากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ คือ ช่วงอายุประมาณ 20-35 ปี โดยมีรายงานพบว่าเกิดจากการติดเชื้อหนองในประมาณ 62 ล้านคนต่อปี และจากเชื้อที่ไม่ใช่เชื้อหนองในประมาณ 89 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ในผู้หญิงจะมีโอกาสติดเชื้อได้สูงกว่าผู้ชาย

ท่อปัสสาวะ (Urethra) เป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก มีหน้าที่นำส่งปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกสู่ภายนอกร่างกาย ผนังของท่อปัสสาวะจะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อหลัก คือ เยื่อเมือกบุภายในท่อและกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บีบตัวเพื่อการนำส่งน้ำปัสสาวะ ในผู้ชายท่อปัสสาวะจะมีขนาดยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 20 เซนติเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โดยมีทั้งส่วนที่อยู่ภายในและส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย ซึ่งส่วนสั้น ๆ จะอยู่ภายในร่างกายและเป็นส่วนที่อยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะ และหุ้มล้อมด้วยต่อมลูกหมาก ส่วนที่เหลือต่อจากนั้นจะเป็นส่วนที่มีขนาดยาวกว่า ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย ท่อปัสสาวะเพศชายส่วนใหญ่จึงเป็นอิสระอยู่ภายนอกร่างกาย และมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรงได้น้อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียม

ส่วนในเพศหญิง ท่อปัสสาวะจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่า ๆ กับผู้ชาย แต่ท่อปัสสาวะจะมีขนาดยาวเพียงประมาณ 4 เซนติเมตร และอยู่ในร่างกายทั้งหมด โดยมีรูเปิดนำปัสสาวะออกนอกร่างกายในบริเวณใต้แคมเล็กของอวัยวะเพศภายนอกซึ่งอยู่ใกล้กับปากช่องคลอดและปากทวารหนัก ดังนั้น ท่อปัสสาวะในผู้หญิงจึงติดเชื้อได้ง่ายกว่าในผู้ชายมาก เพราะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคได้โดยตรงจากอวัยวะเพศภายนอก จากมดลูก ปากมดลูก จากช่องคลอด จากอุจจาระ และจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ในผู้หญิงอาจติดโรคจากสิ่งสกปรกบริเวณปากช่องคลอดและทวารหนักได้)

ท่อปัสสาวะ

สาเหตุของท่อปัสสาวะอักเสบ

สาเหตุที่ทำให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบที่พบบ่อย คือ จากการติดเชื้อที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ และสาเหตุที่ไม่ใช่เกิดจากการติดเชื้อที่พบได้เป็นส่วนน้อย

  1. สาเหตุจากการติดเชื้อ พบได้ประมาณ 80-95% ของการอักเสบทั้งหมด ที่พบบ่อย คือ จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์
    • การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ติดเชื้อจากโรคหนองใน (Gonococcal urethritis) และจากเชื้อที่ไม่ใช่หนองใน เช่น โรคเริม โรคซิฟิลิส โรคหนองในเทียม การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือโรคเอดส์ และจากการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas)
    • การติดเชื้อที่ไม่ใช่จากเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้ออีโคไล (Escherichia coli), เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) หรือเชื้อสูโดโมแนส (Pseudomonas) ซึ่งอาจติดต่อผ่านทางลำไส้ (ทางอุจจาระ) ทางไต หรือทางกระเพาะปัสสาวะ (ทางปัสสาวะ)
  2. สาเหตุที่ไม่ใช่เกิดจากการติดเชื้อ (แต่อาจก่อการติดเชื้อตามมาได้ในภายหลัง) เป็นสาเหตุที่พบได้ประมาณ 5-20% ที่พบบ่อยคือ การบาดเจ็บของท่อปัสสาวะจากการสวนปัสสาวะ เช่น ในการผ่าตัด การส่องกล้อง การคาสายสวนปัสสาวะ หรือการใส่คาท่อปัสสาวะในผู้ป่วยอัมพาต หรือจากการที่เยื่อเมือกบุท่อปัสสาวะได้รับสารก่อการระคายเคืองต่าง ๆ เช่น น้ำยาหรือสเปรย์ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับทำความสะอาดหรือดับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ

โรคท่อปัสสาวะอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

  • ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และในผู้ชายช่วงวัย 20-35 ปี
  • การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน ไม่ใช้ถุงยางอนามัย รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือทางปาก
  • เป็นผู้มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • ในผู้หญิงที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ เพราะตัวยาจะก่อให้เกิดการระคายเคืองและบาดเจ็บต่ออวัยวะเพศและปากท่อปัสสาวะ และการใช้ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) เพราะการสวมใส่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะ หรือเกิดจากความไม่สะอาดของฝาครอบ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

อาการของโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

อาการของโรคทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย มีทั้งเหมือนกันและต่างกัน เนื่องจากลักษณะทางกายวิภาคบางอย่างที่แตกต่างกันในทั้ง 2 เพศ ดังนี้

  1. ท่อปัสสาวะอักเสบในผู้หญิง อาการที่พบได้บ่อย คือ
    • ผู้ป่วยประมาณ 25% จะไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจปัสสาวะแล้วพบความผิดปกติหรือทราบได้จากคู่นอนที่มีอาการแสดง และยังสามารถติดต่อสู่คู่นอนได้ถ้าเกิดจากการติดเชื้อ
    • ปวดแสบ ขัด เวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยครั้งละน้อย ๆ (ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่มด้วย)
    • ผู้ป่วยอาจมีปัสสาวะเป็นเลือด เป็นหนอง และ/หรือขุ่น มีกลิ่นฉุนกว่าปกติ
    • ปวดท้องบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน แต่ในบางคนอาจมีอาการปวดท้องทั่วไปร่วมด้วยก็ได้
    • อาจมีไข้ ซึ่งมีทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ และอาจรู้สึกหนาวสั่น
    • อาจมีอาการตกขาว เมื่อเกิดร่วมกับการติดเชื้อของมดลูก ปากมดลูก หรือช่องคลอด
    • มีอาการเจ็บปวดในขณะที่มีเพศสัมพันธ์
      ท่อปัสสาวะอักเสบหญิง
  2. ท่อปัสสาวะอักเสบในผู้ชาย อาการที่พบได้บ่อย คือ
    • อาจไม่แสดงอาการ แต่ตรวจปัสสาวะแล้วพบความผิดปกติ และโรคยังสามารถติดต่อสู่คู่นอนได้ถ้าเกิดจากการติดเชื้อ
    • ปัสสาวะแสบขัด อาจปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีหนองปนออกมา ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจมีหนองออกจากปลายท่อปัสสาวะ
    • อาจมีไข้ ซึ่งมีทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ หรือไม่มีไข้ (ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้ นอกจากจะทิ้งไว้จนเชื้อลุกลามเข้าไปภายใน)
    • อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต เจ็บข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
    • มีอาการเจ็บปวดในขณะที่มีเพศสัมพันธ์และเมื่อหลั่งน้ำอสุจิ
      ท่อปัสสาวะอักเสบผู้ชาย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

ความรุนแรงของโรคท่อปัสสาวะอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยทั่วไปโรคนี้เป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้เสมอ ยกเว้นในรายที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ หรือในรายที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะไปตลอดจากการเป็นอัมพาต โดยผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้มักจะเกิดจากการได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เช่น

  • ผู้ป่วยซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองจนเกิดเชื้อดื้อยา
  • ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดในเพศหญิง เนื่องจากมีท่อปัสสาวะสั้น โดยอาจก่อให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ กรวยไตอักเสบ การมีบุตรยาก และการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ในเพศชายอาจเกิดกลุ่มอาการของไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่มีข้ออักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ และท่อปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง หรือก่อให้เกิดโรคอัณฑะอักเสบ และบางรายที่มีอาการน้อยมาก ถ้าไม่ได้สนใจรักษาก็อาจกลายเป็นท่อปัสสาวะอักเสบเรื้อรังได้
  • นอกจากนี้ยังอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ท่อปัสสาวะตีบ (Urethral stricture), ฝีที่ท่อปัสสาวะ, อัณฑะอักเสบ, ต่อมลูกหมากอักเสบ และการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

การวินิจฉัยโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากประวัติอาการ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การตรวจร่างกาย การตรวจภายในของผู้หญิง การตรวจปัสสาวะ การตรวจเชื้อ การเพาะเชื้อจากปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะ และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุด้วย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือด ในรายที่สงสัยว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ เป็นต้น

วิธีรักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

เมื่อมีอาการของโรคท่อปัสสาวะอักเสบหรือคู่นอนมีอาการ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง

  • โรคท่อปัสสาวะอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ (ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่) สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ หากเกิดจากสาเหตุอื่นก็ให้แก้ที่สาเหตุนั้น ๆ ด้วย
  • รักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เช่น ให้รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดปัสสาวะ
  • การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคท่อปัสสาวะอักเสบ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
    1. รับประทานยาให้ครบ อย่าหยุดยาเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    2. ต้องพาคู่นอนมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาไปพร้อม ๆ กัน เมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อ แม้คู่นอนจะไม่มีอาการก็ตาม
    3. ดื่มน้ำสะอาดให้มากกว่าปกติ วันละ 8-10 แก้ว หรือ 1-2 ลิตร เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อให้ปัสสาวะออกบ่อยขึ้น ซึ่งจะช่วยชะล้างเชื้อที่ติดอยู่ที่เยื่อบุท่อปัสสาวะออกไปได้อีกทางหนึ่ง
    4. พักผ่อนให้เพียงพอ
    5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง
    6. งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายจากโรค ไม่สำส่อนทางเพศ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    7. ในผู้ป่วยที่มีสายสวนปัสสาวะคาอยู่ก็ควรได้รับการถอดออกในระยะที่ท่อปัสสาวะยังอักเสบอยู่
    8. ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

วิธีป้องกันโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันที่สาเหตุ ซึ่งจะต่างกันไปในแต่ละสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดย

  • ไม่ส่ำส่อนทางเพศ
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • เมื่อเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ ทั้งจากตัวผู้ป่วยเองและคู่นอนด้วย
  • ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงและลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [27 มิ.ย. 2016].
  2. MutualSelfcare.  “โรคท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : mutualselfcare.org.  [28 มิ.ย. 2016].
  3. Siamhealth.  “ท่อปัสสาวะอักเสบ Urethritis”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [28 มิ.ย. 2016].

ภาพประกอบ : www.wellbeingart.com, www.consumerhealthdigest.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด