โรคหนองในเทียม
หนองในเทียม (Non-gonococcal urethritis – NGU) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยเช่นเดียวกับโรคหนองในแท้ โดยจะมีอาการที่เกิดคล้ายกัน แต่จะไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อหนอง Neisseria gonorrhoeae (เชื้อหนองในแท้) กล่าวคือถ้าไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อหนองในแท้ก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มหนองในเทียมทั้งหมด โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียมก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาจเป็นเชื้อแบคเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัวหรือเชื้อราก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Chlamydia trachomatis (พบได้ประมาณ 40%) รองลงมาคือเชื้อ Ureaplasma urealyticum (พบได้ประมาณ 30%)
ในสหรัฐอเมริกา หนองในเทียมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์การเกิดที่รายงานโดยทั่วไปนั้นมักจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ จึงทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าว ส่วนข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2548 ได้รายงานว่าพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้เท่ากับ 26.35% ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (และน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงเยอะมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าว)
สาเหตุของหนองในเทียม
เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียมมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด โดยอาจจะเป็นเชื้อแบคเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัวหรือเชื้อราก็ได้ ซึ่งประมาณ 20% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะไม่ทราบเชื้อที่เป็นต้นเหตุอย่างแน่ชัด, ประมาณ 40% จะเกิดจากเชื้อคลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อนี้มีพันธุ์ย่อยอีกหลายชนิด ซึ่งบางชนิดสามารถทำให้เป็นฝีมะม่วงได้), ประมาณ 30% เกิดจากเชื้อยูเรียพลาสมายูเรียไลทิคัม (Ureaplasma urealyticum) นอกจากนั้นยังอาจเกิดได้จากเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า ทริโคโมแนสวาจินาลิส (Trichomanas vaginalis), เชื้อไวรัสเริม เป็นต้น
การติดต่อของโรคหนองในเทียม : มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ (โดยไม่สวมถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์) ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก ซึ่งรวมถึงการที่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง ก็สามารถทำให้ติดเชื้อหนองในเทียมได้เช่นกัน (เพราะเชื้อหนองในเทียมสามารถติดต่อได้ทางทวารหนัก หรือจากการที่อวัยวะเพศสัมผัสกัน) นอกจากนี้ยังอาจติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในขณะที่มีการคลอดปกติทางช่องคลอดได้อีกด้วย
กลุ่มเสี่ยง : ผู้ที่มีคู่นอนจำนวนมาก (ยิ่งมีคู่นอนมากเท่าไร โอกาสการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น), เด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะผู้หญิงที่เยื่อบุปากมดลูกยังไม่มีการพัฒนาอย่างเต็มที่ (มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว)
ระยะฟักตัวของโรค : หลังจากได้รับเชื้อมักจะแสดงอาการภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น
อาการของหนองในเทียม
- ในฝ่ายชาย ประมาณ 50% จะไม่มีอาการของโรคแสดงออกมา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นมักจะมีอาการเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อประมาณ 1-4 สัปดาห์ โดยจะมีอาการแสบที่ปลายท่อปัสสาวะ ปัสสาวะขัด และมีหนองไหล ซึ่งจะมีลักษณะเป็นมูกใสหรือมูกขุ่น ๆ ไม่เป็นหนองข้นแบบหนองในแท้ และจะออกซึมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ออกมากแบบหนองในแท้ (ถ้าให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะลงในแก้วใส ๆ แล้วใช้ไฟฉายส่องดูจะเห็นเป็นเส้นขาว ๆ คล้ายกับเส้นด้ายลอยอยู่) ผู้ป่วยบางรายในระยะแรกอาจสังเกตว่ามีอาการแสบที่ท่อปัสสาวะ และมีมูกออกเล็กน้อยเฉพาะในช่วงเช้าเท่านั้น หากไม่ได้รับการรักษา อาการเหล่านี้อาจจะเป็นแบบเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกแสบหรือคันที่บริเวณอวัยวะเพศได้ด้วย
- ในฝ่ายหญิง ส่วนมากมักจะไม่มีอาการแสดงออกมา (มากกว่า 75%) ในส่วนน้อยอาจมีอาการตกขาว โดยแบคทีเรียจะทำให้เกิดโรคที่ปากมดลูกและที่ท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้หญิงในกลุ่มนี้มักมีตกขาวผิดปกติหรือปัสสาวะแสบขัด ในกรณีที่การติดเชื้อลามไปถึงท่อนำไข่ อาจมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ แต่ในกรณีที่มีอาการ จะทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง คลื่นไส้ มีไข้ ปวดท้องน้อยในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกผิดปกติในระหว่างรอบเดือน และการติดเชื้อหนองในเทียมยังสามารถกระจายไปที่ลำไส้ตรงซึ่งเป็นส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ที่ต่อกับทวารหนักได้ด้วย
- ทั้งสองฝ่าย หากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในลำคอ ก่อให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรัง หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจทำให้เกิดอาการปวดบริเวณทวารหนัก มีน้ำหรือเลือดออกจากทวารหนักได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในเทียม
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหนองในเทียมโดยที่มีหรือไม่มีอาการก็ตาม หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้
- ในฝ่ายชาย มักจะไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่บางรายอาจรู้สึกแสบหรือคันที่บริเวณอวัยวะเพศ อาจทำให้ท่อปัสสาวะตีบ ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ (มีอาการปวดบวมที่บริเวณลูกอัณฑะ) จนอาจทำให้เป็นหมันได้ ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ การอักเสบของข้อเนื่องจากการติดเชื้อหนองในเทียม ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก และในบางรายอาจพบว่ามีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง
- ในฝ่ายหญิง อาจทำให้เยื่อบุมดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ (อุ้งเชิงกรานอักเสบ) เกิดภาวะมีบุตรยากหรือเป็นหมันจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (ลักษณะดังกล่าวจะพบได้ประมาณ 10-15% ของผู้หญิงที่ไม่ได้รับการรักษา โดยการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์ภายในรวมทั้งท่อนำไข่นั้น มักจะไม่มีอาการแสดงออกมา และมักจะก่อให้เกิดการทำลายอย่างรุนแรง ทั้งที่ท่อนำไข่ มดลูก และอวัยวะข้างเคียงที่อยู่ใกล้ ๆ ซึ่งการทำลายนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง เกิดภาวะมีบุตรยาก หรือเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้)
- ทั้งสองเพศ อาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบได้ แต่จะพบได้น้อยมาก ในบางรายอาจเกิดกลุ่มอาการไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะร่วมกับข้ออักเสบและเยื่อตาขาวอักเสบ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคหนองในเทียมที่ไม่ได้รับการรักษา ยังอาจทำให้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วยเมื่อได้รับการสัมผัสเชื้อในช่วงเวลาดังกล่าว
การรักษาโรคหนองในเทียม
- เมื่อมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นหนองในเทียม ควรงดการมีเพศสัมพันธ์และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรแนะนำให้คู่นอนของคุณเข้ารับการตรวจรักษาที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน (หากคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ อีกคนจะต้องเข้ารับการรักษาไปด้วยไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม เพราะหากไม่รักษาจะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก)
- ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าเป็นหนองในเทียม แพทย์จะทำการตรวจยืนยันด้วยการนำสารคัดหลั่งหรือหนอง (เก็บได้จากปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะเพศชาย หรือสารคัดหลั่งจากปากมดลูกเพศหญิง) ไปย้อมสีและส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ ถ้าพบว่าเป็นโรคหนองในเทียมจริง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะขนานใดขนานหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง ควรเป็นการสั่งยาโดยแพทย์ เพื่อป้องกันการใช้ชนิดยาไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่)
- ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) กินครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ (เป็นยาที่แพทย์นิยมใช้)
- เตตราไซคลีน (Tetracycline) กินครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน (หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงยาในกลุ่มเตตราไซคลีน)
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) กินครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน
- ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) กินครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
- อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ขนาด 1 กรัม หรือ 1,000 มิลลิกรัม ใช้กินเพียงครั้งเดียว (เป็นยากลุ่มเดียวกันกับอิริโทรมัยซิน และเป็นยาที่แพทย์นิยมใช้)
- ไมโนมัยซิน (Minomycin) กินครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน (เป็นยากลุ่มเดียวกันกับเตตราไซคลีน)
- ผู้ป่วยควรได้รับการเจาะเลือดตรวจวีดีอาร์แอล (Venereal Disease Research Laboratory – VDRL) และตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) ตั้งแต่ก่อนรักษาครั้งหนึ่ง และต้องกลับมาตรวจซ้ำอีกครั้งในอีก 3 เดือนต่อมา เพื่อให้แน่ใจว่าหายแล้วและไม่ติดเชื้อดังกล่าว
- ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหนองในเทียมและไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ และอาจทำให้ทารกติดเชื้อที่ดวงตาและระบบทางเดินหายใจในทารกแรกคลอดได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดตาแดงและปอดบวมขึ้นตามลำดับ (เมื่อทารกได้รับเชื้อในระหว่างการคลอด อาจทำให้ทารกเกิดอาการตาอักเสบหลังคลอดประมาณ 5-14 วัน แต่อาการมักจะมีความรุนแรงน้อยกว่าตาอักเสบจากการติดเชื้อหนองในแท้ ซึ่งในการรักษานั้นแพทย์จะให้ยาป้ายตาเตตราไซคลีน ป้ายตาวันละ 4 ครั้ง และให้ยาอิริโทรมัยซิน ในขนาด 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 21 วัน)
- ในระหว่างการรักษาผู้ป่วยควรงดการดื่มเหล้า และงดการมีเพศสัมพันธ์ออกไปก่อนจนกว่าตนและคู่นอนจะหายดี (ในฝ่ายหญิงที่สามีไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะมีโอกาสในการติดเชื้อซ้ำได้อีก ซึ่งการที่มีการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจะทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อวัยวะสืบพันธุ์อย่างอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือเกิดภาวะมีบุตรยาก)
หลังการรักษาโรคหนองในเทียมจะหายเมื่อไหร่
โรคหนองในเทียมอาจเป็นเรื้อรังและรักษาให้หายได้ยากกว่าโรคหนองในแท้ เนื่องจากส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบเชื้อที่เป็นต้นเหตุ แต่สำหรับโรคหนองในเทียมที่เกิดจากเชื้อคลามัยเดีย (ซึ่งเกิดได้เป็นส่วนใหญ่) จะรักษาให้หายขาดได้ภายใน 14 วัน หากรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาพบว่าประมาณ 20-30% อาจหายจากโรคหนองในเทียมได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ และประมาณ 60% จะหายได้เองภายใน 8 สัปดาห์
วิธีป้องกันโรคหนองในเทียม
- เลือกมีคู่นอนเพียงคนเดียว และจะแน่นอนยิ่งขึ้นหากคู่นอนได้รับการตรวจแล้วว่าไม่มีการติดเชื้อใด ๆ ส่วนวิธีอื่นที่ได้ผลก็ได้แก่ การใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี
- หลีกเลี่ยงการเที่ยวกลางคืนหรือการสำส่อนทางเพศ และถ้าจะหลับนอนกับคนอื่นหรือคนที่สงสัยว่าจะมีเชื้อ ควรใช้ถุงยางอนามัยเสมอ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้เกือบ 100% (ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ อาจจะได้ผลไม่เต็มที่ และยังมีโอกาสติดเชื้อได้บ้าง)
- ในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีอายุ 25 ปีหรือน้อยกว่า และผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 25 ปีและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่มีคู่นอนคนใหม่ หรือมีคู่นอนในช่วงเวลาเดียวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคหนองในเทียมอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีเพื่อความมั่นใจ และอาจจะตรวจมากกว่า 1 ครั้งต่อปีในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือตรวจตามคำแนะนำของแพทย์
- ควรดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือฟอกล้างสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกราย
- กินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคภายหลังการร่วมเพศอาจได้ผลบ้าง แต่ต้องเป็นยาชนิดและขนาดเดียวกันกับที่ใช้ในการรักษา (ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยคุ้มเท่าใดนัก สู้รอให้ผลตรวจออกมาหรือมีอาการแสดงออกมาแล้วค่อยรักษาไม่ได้ อีกทั้งยังไม่อาจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย)
- การกินยาล้างลำกล้อง ซึ่งเป็นยาระงับเชื้อ (Antiseptic) ไม่ใช่ยาทำลายเชื้อ จึงไม่ได้ผลในการป้องกัน (ยานี้กินแล้วจะทำให้ปัสสาวะเป็นสีแปลก ๆ เช่น สีแดง สีเขียว)
- หากมีอาการที่บ่งชี้ว่ากำลังเป็นโรคหนองในแท้ หนองในเทียม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์และรีบไปพบแพทย์ เพราะหากผลตรวจออกมาพบว่าเป็นโรคหนองในเทียม และผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาได้ นอกจากนี้ยังต้องแจ้งให้คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยภายในช่วง 60 วันที่ผ่านมาได้ทราบเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาที่เหมาะสมจนกว่าจะหายดี ก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์อีกครั้ง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- หนองใน อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหนองในแท้ 6 วิธี !!
- ท่อปัสสาวะอักเสบ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ 10 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “หนองในเทียม (Nonspecific urethritis/NSU / Nongonococcal urethritis/NGU)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1041-1042.
- หาหมอดอทคอม. “หนองในเทียม (Chlamydia infection)”. (รศ.พญ.วรลักษณ์ สมบูรณ์พร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [12 มี.ค. 2016].
- โครงการสุขภาพแรงงานไทย ขององค์กรชุมชนเอเชียต้านโรคเอดส์. “CHLAMYDIA หนองในเทียม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : amfw.acas.org. [13 มี.ค. 2016].
ภาพประกอบ : www.wikihow.com, www.safersex.co.za
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)