วิตามินอี
วิตามินอี (Vitamin E) คือ วิตามินที่ละลายในไขมัน วิตามินอีมีโครงสร้างที่หลากหลายถึง 8 รูปแบบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ โทโคฟีรอล (Tocopherol) และโทโคไตรอีนอล (Tocotrienol) ที่แต่ละชนิดจะแบ่งเป็น แอลฟา (α), เบตา (β), แกมมา (γ) และเดลตา (δ) รวมเป็น 8 รูปแบบ แต่รูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจะเป็น α-Tocopherol
วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จำเป็นและช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน อาหารหลายชนิดโดยเฉพาะถั่ว เมล็ดพืช และน้ำมันพืชอุดมไปด้วยวิตามินอี คนส่วนใหญ่ได้รับวิตามินอีอย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหารปกติ ดังนั้น อาหารเสริมวิตามินอีจึงไม่มีความจำเป็น เพราะนอกจากจะมีประโยชน์แค่กับคนบางกลุ่มแล้ว การเสริมในปริมาณมากยังอาจก่อให้เกิดโทษหรือผลข้างเคียงได้อีกด้วย (1)
ประโยชน์ของวิตามินอี
1. ต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอีเป็นที่รู้จักดีในเรื่องฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระและปกป้องเซลล์จากความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ (1) การศึกษาพบว่าการเสริมวิตามินอีในขนาดสูงวันละ 800 IU ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมจากเบาหวาน (DN) เป็นเวลา 12 สัปดาห์ สามารถช่วยเพิ่มระดับ Glutathione Peroxidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นในร่างกายได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (2) สอดคล้องกับการศึกษาในปี 2021 ในสตรีที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis) จำนวน 60 คน แสดงให้เห็นว่าการเสริมวิตามินและซีทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ช่วยลดระดับตัวชี้วัดของเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในร่างกาย เช่น Malondialdehyde และ ROS (3)
2. เสริมภูมิคุ้มกัน วิตามินอีจำเป็นสำหรับการทำงานของภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการเสริมวิตามินอีช่วยเพิ่มจำนวนของลิมโฟไซต์ (เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันของเรา) และเพิ่มจำนวนของ T-cell ซึ่งช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน (4, 5)
3. โรคหลอดเลือดหัวใจ (CVD) วิตามินอีเคยได้รับการกล่าวขานว่าอาจมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ซึ่งจากหลักฐานทั้งหมดเราพบผลลัพธ์ที่ปะปนกันไป (การศึกษาส่วนใหญ่ไม่พบประโยชน์) อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา คณะทำงานพิเศษเพื่อการป้องกันโรคของสหรัฐ (USPSTF) ได้สรุปอย่างมั่นใจในระดับปานกลางว่าการเสริมวิตามินอีไม่มีประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และไม่แนะนำให้ใช้อาหารเสริมวิตามินอีเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว (6)
- การศึกษาที่พบประโยชน์ เช่น ข้อมูลที่ว่าวิตามินอีอาจช่วยป้องกันหรือชะลอโรคหลอดเลือดหัวใจ (CHD) ที่มาจากหลายแหล่ง (1) การศึกษาเชิงสังเกตในพยาบาลหญิงจำนวน 87,245 คน (อายุ 34-59 ปี) ซึ่งไม่ได้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่าการบริโภควิตามินอีที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ของการเกิดโรคหัวใจที่ลดลง 30-40% (7) เช่นเดียวกับการศึกษาในชาวฟินแลนด์จำนวน 5,133 คนที่ติดตามผลเป็นเวลาเฉลี่ย 14 ปี ที่การบริโภควิตามินอีที่สูงขึ้นจากอาหารมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจที่ลดลง (8) หรือการศึกษาที่พบว่าวิตามินอีอาจช่วยป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือดที่อาจนำไปสู่อาการหัวใจวายหรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (9), การศึกษาในหลอดทดลองที่พบฤทธิ์ยับยั้งภาวะออกซิเดชั่นซึ่งสัมพันธ์กับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ที่อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) (10) เป็นต้น
- การศึกษาที่พบไม่มีประโยชน์ เช่น การศึกษาติดตามผู้ชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปีที่เป็นโรคหัวหลอดดเลือดหรือเบาหวาน เป็นเวลา 7 ปี พบว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 400 IU (268 mg) ไม่ได้ช่วยป้องกันหรือมีประโยชน์ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (11), การศึกษาในหญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 423 คนที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบในระดับหนึ่งที่การเสริมวิตามินอี 400 IU และวิตามินซี 500 md วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 ปี ไม่มีประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือด (12), การศึกษาของ Women’s Health Study ในผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 39,876 คน (อายุ 45 ปีขึ้นไป) ที่ได้รับวิตามินอี 600 IU (402 mg) วันเว้นวัน ซึ่งติดตามผลเป็นเวลาเฉลี่ย 10 ปี ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยรวมและอัตราการเสียชีวิต (13) และการศึกษาทางคลินิกในแพทย์ชายที่มีสุขภาพดีจำนวน 14,641 คน (อายุ 50 ปีขึ้นไป) พบว่าการเสริมวิตามินอี 400 IU (180 mg) และวิตามินซี 500 mg วันเว้นวัน เป็นเวลาเฉลี่ย 8 ปี ไม่มีผลต่ออุบัติการณ์ของโรคหัวใจและเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ (14)
- การศึกษาที่พบว่าวิตามินอีเพิ่มความเสี่ยง การทบทวนการศึกษาทางคลินิกที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 118,765 คน พบว่าการเสริมวิตามินอีอาจช่วยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) 10% แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic stroke) สูงถึง 22% ที่แม้จะพบได้น้อยกว่าแต่ก็รุนแรงกว่ามาก (15) นอกจากนี้ หลักฐานบางอย่างยังชี้ว่า การเสริมวิตามินอีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (16)
4. โรคเบาหวาน การศึกษาพบว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 400 mg นอกเหนือจากยารักษาโรคเบาหวาน เช่น Metformin ช่วยลดอาการปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทในผู้ที่เป็นเส้นประสาทจากเบาหวาน (Diabetic neuropathy) ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปได้ แต่ไม่มีผลในผู้ที่มีอายุน้อยกว่านี้ (17) ขัดแย้งกับอีกการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินอี (Tocotrienols) วันละ 400 mg เป็นเวลา 1 ปี ไม่ได้ช่วยให้อาการปวดของผู้ป่วยโรคเส้นประสาทส่วนปลายจากเบาหวาน (Diabetes peripheral neuropathy) ดีขึ้น (18)
5. โรคมะเร็ง ด้วยวิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจมีส่วนช่วยปกป้องเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายจากอนุมูลอิสระที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้ (1) นอกจากนี้ วิตามินอียังอาจขัดขวางการก่อตัวของสารก่อมะเร็งไนโตรซามีนในกระเพาะอาหารจากสารไนไตรต์ในอาหารทั่วไป และป้องกันมะเร็งโดยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน (19)
อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทั้งหมดจนถึงปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าการเสริมวิตามินอีนั้นช่วยป้องกันโรคมะเร็งหรือลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งได้จริง แม้หลักฐานหลายชิ้นจะพบประโยชน์ แต่หลักฐานส่วนใหญ่ในปัจจุบันกลับไม่พบประโยชน์ของมัน และบางหลักฐานยังพบว่าการเสริมในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานพิเศษเพื่อการป้องกันโรคของสหรัฐ (USPSTF) จึงแนะนำว่าไม่ควรใช้อาหารเสริมวิตามินอีเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง (6)
- การศึกษาที่พบประโยชน์ เช่น การศึกษาในผู้ชายสูบบุหรี่และเลิกสูบบุหรี่แล้ว พบว่าการเสริมวิตามินวันละ 400 IU มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามที่ลดลง 71% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1) หรือการทดลองทางคลินิกในผู้ชายที่สูบบุหรี่ 29,133 คน พบว่าในกลุ่มที่ได้รับการเสริมวิตามินอีสังเคราะห์วันละ 111 IU (50 mg) เป็นเวลา 5-8 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยลง 32% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้ไม่เสริมวิตามินอี (20), การศึกษาในผู้ใหญ่จำนวน 991,522 คน ที่ติดตามผลตั้งแต่ปี 1982-1998 พบว่าการเสริมวิตามินอีเป็นเวลา 10 ปีหรือนานกว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ในขณะที่การเสริมในระยะสั้นไม่พบประโยชน์ดังกล่าว (21), การศึกษาในผู้หญิงที่เสริมวิตามินอีในปริมาณที่มากขึ้นอาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี (22) หรือการศึกษาในผู้ชาย 47,344 ที่เสริมวิตามินอีวันละ 300 IU หรือมากกว่า อาจมีความเสี่ยงต่อมะเร็งของลำไส้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยเสริม ในขณะที่กลุ่มผู้หญิง 87,998 คน จากการศึกษาของ Nurses’ Health Study ไม่พบประโยชน์ของวิตามินอีต่อความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ที่ลดลง (23)
- การศึกษาที่ไม่พบประโยชน์ เช่น การศึกษาติดตามผู้ชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปีที่เป็นโรคหลอดเลือดหรือเบาหวาน เป็นเวลา 7 ปี พบว่าวิตามินอีไม่ได้ช่วยป้องกันหรือลดการตายในระหว่างที่ได้รับการเสริมวิตามินอีวันละ 400 IU (268 mg) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (24) หรือการศึกษาของ Women’s Health Study ในผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 39,876 คนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปที่ได้รับวิตามินอี 600 IU (402 mg) วันเว้นวัน พบว่าวิตามินอีไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งใด ๆ (13) เช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ชายจำนวน 29,361 คน ที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการเสริมวิตามินอีกับความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก (25), การศึกษาในผู้ชายที่สูบบุหรี่เป็นเวลานาน พบว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 50 IU ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด (26) และการศึกษาในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 18,586 คน ที่ไม่พบประโยชน์จากวิตามินอีในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม (แม้งานวิจัยบางชิ้นจะเชื่อมโยงการบริโภควิตามินอีที่สูงขึ้นกับอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่ลดลงก็ตาม) (27)
- การศึกษาที่พบว่าวิตามินอีเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง : การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มขนาดใหญ่ที่เรียกว่าการทดลอง SELECT (Selenium and Vitamin E Cancer Prevention Trial) ในผู้ชายทั้งหมด 35,533 คน พบว่าการเสริมวิตามินอีสังเคราะห์วันละ 400 IU (180 mg) เป็นเวลา 7-12 ปี โดยมีหรือไม่มีซีลีเนียม ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และในกลุ่มผู้ชายที่ได้รับวิตามินอียังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 17% ของมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยหลังจากผ่านไป 7 ปี กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 65 คนต่อ 1,000 คน ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับวิตามินอีจะมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งมากกว่า คือ 76 คนต่อ 1,000 คน (28)
6. โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) โดยรวมแล้วการเสริมวิตามินอีหรือเสริมร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ ไม่น่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุได้ แม้ในการศึกษา AREDS จะพบประโยชน์การช่วยชะลอความรุนแรงของโรคในผู้เป็นโรค AMD ระยะกลางและรุนแรง
- การศึกษาของหน่วยงานในสหรัฐฯ ที่เรียกกัน AREDS (age-related eye disease study) ซึ่งเป็นการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มขนาดใหญ่ที่พยายามศึกษาหาว่ามีสารอะไรบ้างที่ช่วยชะลอความรุนแรงของโรค AMD ได้ โดยพบว่าการเสริมวิตามินอี 400 IU, วิตามินซี 500 mg, เบต้าแคโรทีน15 mg, สังกะสี 80 mg และทองแดง 2 mg เป็นระยะเวลา 5 ปี ช่วยลดความเสี่ยงที่โรค AMD จะลุกลามขึ้นได้ 25% แต่เฉพาะในผู้เป็น AMD ระยะกลางหรือระยะรุนแรงเท่านั้น (ผู้ที่เป็น AMD ระยะเริ่มต้นหรือเป็นเล็กน้อยนั้นไม่พบประโยชน์) เมื่อเทียบกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (29) เช่นเดียวกับการศึกษาใน AREDS2 ที่มีการปรับสูตรและตัดเบต้าแคโรทีนออก และมีการเสริมลูทีน ซีแซนทีน และโอเมก้า-3 เข้ามา (เพราะ AREDS นั้นพบว่าเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอดในผู้ที่สูบบุหรี่) (30)
- บางการศึกษาระบุว่าวิตามินเอ วิตามินอี วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ลูทีน ซีแซนทีน ฯลฯ อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลยในการป้องกันโรค AMD และการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มไม่พบว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระดังกล่าวจะช่วยป้องกันโรค AMD ระยะเริ่มต้นได้ (31) สอดคล้องกับการศึกษาแบบสุ่มในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 1,193 คน อายุ 55-80 ปี พบว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 500 IU (335 mg) เป็นเวลา 4 ปี ไม่มีผลช่วยป้องกันโรคหรือชะลอพัฒนาการของโรค AMD ทั้งระยะเริ่มต้นและระยะรุนแรง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (32) หรือการศึกษาที่ในผู้เข้าร่วม 1,828 คนที่ควบคุมด้วยยาหลอกที่การเสริมวิตามินอีวันละ 111 IU (50 mg) ร่วมกับเบต้าแคโรทีน 20 mg ไม่มีผลต่อการป้องกันหรือชะลอความรุนแรงของโรคนี้ (33)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุดของวิตามินเอ, วิตามินซี, สังกะสี (ซิงค์)
7. ต้อกระจก (Cataract) การศึกษาเชิงสังเกตหลายชิ้นพบความเป็นไปได้ระหว่างการเสริมวิตามินอีและความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจกที่ลดลง โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าในผู้ที่เสริมวิตามินอีและมีระดับวิตามินอีในเลือดที่สูงกว่าจะมีความเสี่ยงลดลงประมาณครึ่งหนึ่งที่จะเกิดเลนส์ตาที่ขุ่นมัว (เกิดฝ้าที่จะลดประสิทธิภาพของการมองเห็น) (34) เช่นเดียวกับการศึกษาอื่นที่การเสริมวิตามินอีในระยะยาวมีความสัมพันธ์กับการช่วยชะลอความขุ่นของต้อกระจก (35)
อย่างไรก็ตาม การทดลอง AREDS ซึ่งเป็นสูตรสารอาหารที่มีวิตามินอี 400 IU พบว่าไม่มีผลช่วยชะลอการลุกลามของโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ (Age-related cataract) (36) หรือแม้แต่การศึกษา AREDS2 ซึ่งเป็นสูตรที่ปรับปรุงแล้วก็ตาม (37) สอดคล้องกับการศึกษาขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาในแพทย์ชายที่มีสุขภาพดี (อายุ 50 ปีขึ้นไป) พบว่าการเสริมวิตามินอีสังเคราะห์ 400 IU วันเว้นวัน เป็นเวลา 8 ปี และ/หรือวิตามินซีวันละ 500 มก. ต่อวัน ไม่ได้ส่งผลดีหรือมีผลเสียต่อความเสี่ยงของต้อกระจกอย่างมีนัยสำคัญ (38)
8. การทำงานของสมอง ด้วยอนุมูลอิสระที่สะสมในเซลล์ประสาทเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดการเสื่อมถอยของการทำงานของสมองและโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท การเสริมวิตามินอีจึงอาจมีประโยชน์ได้ แต่จากการทดลองทางคลินิกโดย Women’s Health Study ในผู้หญิงที่มีสุขภาพดีจำนวน 39,876 คน ซึ่งได้ได้รับวิตามินอี 600 IU วันเว้นวัน เป็นเวลาน้อยกว่า 4 ปี ไม่พบประโยชน์ด้านการทำงานของสมอง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (39) เช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ชายและหญิงจำนวน 769 คนที่มีภาวะถดถอยทางสมอง (MCI) ที่ไม่พบประโยชน์จากการเสริมวิตามินอีวันละ 2,000 IU เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (40)
9. โรคอัลไซเมอร์ การศึกษาเป็นเวลา 2 ในทหารผ่านศึกจำนวน 613 คน ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่รับประทานยารักษาโรคอัลไซเมอร์ (Aricept) อยู่แล้ว พบว่าในกลุ่มที่ได้รับวิตามินอี 1,000 IU วันละ 2 ครั้ง ยังคงความสามารถในการดำเนินกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งตัว ได้นานกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกประมาณ 6 เดือน (41) และการศึกษาในผู้เป็นโรคอัลไซเมอร์ระดับปานกลางที่พบว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 2,000 IU เป็นเวลา 2 ปี ช่วยชะลอพัฒนาการของโรคได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (42) อย่างไรก็ตาม จากการทดลอง PREADViSE ที่เป็นส่วนเสริมของการทดลอง SELECT ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 7,540 คน ซึ่งเป็นการศึกษาทดลองการป้องกันโรคอัลไซเมอร์โดยใช้วิตามินอีและซีลีเนียม พบว่าอาหารเสริมทั้งสองชนิดไม่ได้ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ (43)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของซีลีเนียม (Selenium) จากงานวิจัย !
10. โรคพาร์กินสัน เนื่องจากภาวะเครียดออกซิเดชันมีส่วนทำให้โรคพาร์กินสันลุกลามมากขึ้น ด้วยเหตุนี้วิตามินอีจึงได้รับการพิจารณาให้ใช้เป็นเทางเลือกเสริมในการรักษาเนื่องจากวิตามินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยจากการศึกษานำร่องที่ไม่มีการควบคุมด้วยยาหลอกในผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้นเมื่อนานมาแล้ว พบว่าการเสริมวิตามินอี 3,200 IU และวิตามินซี 3,000 มก. ทุกวัน อาจช่วยชะลอความต้องการการใช้ยาลีโวโดปา (Levodopa) ซึ่งเป็นยารักษาหลักสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันให้ช้าออกไปประมาณ 2.5-3 ปี (44) อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาที่มีการควบคุมและแบบสุ่มในผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันระยะเริ่มต้น 800 คน พบว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 2,000 IU เป็นเวลา 14 เดือน ไม่ได้ช่วยชะลอการเริ่มมีอาการหรือความจำเป็นในการใช้ยาลีโวโดปาแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (45)
11. ความดันโลหิตสูง การศึกษาในผู้ชายที่มีสุขภาพดีที่ได้รับการเสริมวิตามินอี (Tocotrienol) ในขนาด 80, 160 หรือ 320 mg ทุกวัน เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าปริมาณที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับการลดความดันโลหิตช่วงบน (ซิสโตลิก) ลงเล็กน้อยประมาณ 5% (46)
12. อาจปรับปรุงการทำงานของปอด การศึกษาที่พบว่าการบริโภควิตามินอีและระดับวิตามินในเลือดอาจส่งผลต่อการทำงานของปอด ซึ่งเป็นผลมาจากคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ (47) สอดคล้องกับการทดลองแบบสุ่มในเด็กที่โรคหอบหืดระดับปานกลาง พบว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาฟลูติคาโซน (Fluticasone) ร่วมกับวิตามินอี 50 mg ช่วยปรับปรุงอาการของโรคและการทำงานของปอดให้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาฟลูติคาโซนร่วมกับยาหลอก (48)
13. โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) พบว่าการให้วิตามินอีในปริมาณสูงทางทวารหนักทุกวันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการในผู้ที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังที่มีอาการไม่รุนแรงและปานกลางได้ (49)
14. โรคตับ สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) แนะนำว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 800 IU อาจพิจารณาใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับคั่งไขมัน (NASH) (16) โดยมีการศึกษาในผู้ชายและหญิงที่เป็นโรค NASH ที่ไม่มีโรคเบาหวาน แสดงให้เห็นว่าการเสริมวิตามินวันละ 800 IU เป็นเวลา 22 เดือน สามารถช่วยลดการสะสมของไขมันในตับ ลดการอักเสบของตับ และลดเอนไซม์ตับในเลือด (ALT และ AST) (50) และการศึกษาในเด็กและวัยรุ่นจำนวน 173 คน (อายุเฉลี่ย 13 ปี) ที่มีเป็นโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) พบว่าการเสริมวิตามินอีช่วยรักษาความเสียหายของตับได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (58% เทียบกับ 28% ตามลำดับ) แม้จะไม่มีผลดีกว่ายาหลอกในการลดระดับเอนไซม์ตับ ALT ก็ตาม (51)
15. ลดอาการปวดประจำเดือน การศึกษาในปี 2018 ในผู้หญิงจำนวน 100 คน พบว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 200 IU สามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ (ผลลัพธ์จะดียิ่งขึ้นเมื่อรับประทานร่วมกับน้ำมันปลาที่มี EPA 180 mg และ DHA 120 mg) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (52) สอดคล้องกับการศึกษาในปี 2021 ในผู้หญิงที่มีอาการปวดในอุ้งเชิงกรานจำนวน 60 คนที่พบว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 800 IU และวิตามินซี 1,000 mg ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและอาการปวดอุ้งเชิงกรานได้ (3)
16. ทารกแรกเกิด การเสริมวิตามินอีในทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำมาก (อาจขาดวิตามินอี) อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อจอประสาทตา แต่ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้เช่นกัน (53)
17. ภาวะ Abetalipoproteinemia (ABL) ซึ่งเป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งหาได้ยากและส่งผลให้ร่างกายดูดซึมไขมันในอาหารได้ไม่ดี ทำให้ต้องการวิตามินอีเสริมในปริมาณที่สูงมาก ๆ และการขาดวิตามินอีอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัญหาต่อระบบประสาท จอประสาทตาเสื่อม โรคปอดเรื้อรัง การเสริมวิตามินอีจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาโรคนี้ (54)
18. โรค Ataxia with vitamin E deficiency (AVED) เป็นโรคที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท (เดินเซ) ร่วมกับการขาดวิตามินอี ซึ่งเป็นโรคที่หาได้ยาก ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการขาดวิตามินอีอย่างรุนแรงจนทำให้เส้นประสาทถูกทำลายและสูญเสียความสามารถในการเดิน เว้นแต่จะได้รับการรักษาด้วยวิตามินอีในปริมาณมาก (55)
19. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) บางการศึกษาพบว่าวิตามินอีอาจมีประโยชน์ในการรักษาโรคนี้ เนื่องจากวิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ อย่างไรก็ตาม การศึกษาถึงประโยชน์ในเรื่องนี้ยังมีจำกัดและจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม (56)
20. ประโยชน์ของวิตามินอีในเรื่องอื่น ๆ การเสริมวิตามินอีอาจมีประโยชน์ต่อภาวะหรือโรคดังต่อไปนี้ แต่หลักฐานยังขัดแย้งกันหรือยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เช่น
- ช่วยลดความเสี่ยงกระดูกหักในผู้สูงอายุที่ร่างกายขาดวิตามินอี
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS)
- ภาวะ Tardive dyskinesia (TD) เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีสาเหตุมาจากการใช้ยาต้านโรคจิต
- ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในหัวใจจากปลายประสาทอัตโนมัติเสื่อม (Cardiovascular autonomic neuropathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
- ม่านตาอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute anterior uveitis)
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome)
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) แต่การศึกษาของ Women’s Health Study พบว่าการเสริมวิตามินอีวันละ 600 IU เป็นเวลา 10 ปี ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (57)
- ภาวะจำนวนอสุจิน้อย (Low sperm count)
- วิตามินอีครีมหรือเจลทาเฉพาะที่ พบว่าการใช้ครีมหรือเจลทาที่มีส่วนผสมของวิตามินอีร่วมกับวิตามินซี อาจช่วยป้องกันผิวไหม้แดดได้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังถือว่าได้ผลน้อยกว่าการใช้ครีมกันแดดมาตรฐานมาก
การเสริมวิตามินอีในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจนและยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ข้อควรรู้และคำแนะนำ
- อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอี : ถั่ว เมล็ดพืช และน้ำมันพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันจมูกข้าวสาลี, น้ำมันดอกทานตะวัน, น้ำมันดอกคำฝอย, น้ำมันข้าวโพด, เมล็ดทานตะวัน, น้ำมันถั่วเหลือง, อัลมอนด์, เฮเซลนัท, ถั่วลิสง, เนยถั่ว (1)
- ระดับวิตามินอีในเลือด : ระดับวิตามินอีในเลือดไม่เพียงพอคือระดับที่ต่ำกว่า 30 ไมโครโมล/ลิตร (µmol/l) ในขณะที่ระดับที่ขาดคือต่ำกว่า 12 ไมโครโมล/ลิตร ซึ่งพบได้ค่อนข้างน้อย เพราะร่างกายต้องการวิตามินอีในปริมาณเพียงเล็กน้อยวันละ 10 IU และอาหารปกติที่เรารับประทานส่วนใหญ่ก็นับว่าให้วิตามินเพียงพอในแต่ละวันแล้ว (ในสหรัฐอเมริกามีผู้ใหญ่น้อยกว่า 1% ที่ขาดวิตามินอี)
- การขาดวิตามินอี : พบได้บ่อยและอาการที่ขาดก็ไม่ชัดเจนในผู้ที่มีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม หากร่างกายขาดวิตามินอีอย่างรุนแรงก็อาจทำให้เกิดภาวะปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy), กล้ามเนื้ออ่อนแรง การตอบสนองของภูมิคุ้มกันบกพร่อง (10)
- อาหารเสริมวิตามินอี : วิตามินอีที่มาจากธรรมชาติอาจใช้ชื่อในส่วนผสมว่า “d-Alpha Tocopherol” หรือ “Mixed Tocopherol” หรือ “Tocopherols” (เช่น ในวิตามินอีมีทั้ง d-Alpha, d-Gamma และ d-Beta Tocopherol) ในขณะที่ถ้าเป็นวิตามินอีสังเคราะห์มักใช้ชื่อว่า “dl-Alpha Tocopherol“
- อาหารเสริมวิตามินอีธรรมชาติ VS แบบสังเคราะห์ ? : วิตามินอีธรรมชาติและวิตามินอีสังเคราะห์ในปริมาณที่เหมาะสมต่างก็สามารถออกฤทธิ์ได้ดีเท่า ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ต้องใช้วิตามินอีสังเคราะห์ในปริมาณ IU ที่มากกว่าวิตามินอีธรรมชาติ เพื่อให้ร่างกายได้วิตามินอีในระดับที่เท่ากัน (วิตามินอีธรรมชาติ 1 IU = 0.67 mg ในขณะที่วิตามินอีสังเคราะห์ 1 IU = 0.45 mg)
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน :
- อายุ 1-3 ปี คือ 6 มก./วัน (สังเคราะห์ 13 IU หรือธรรมชาติ 9 IU)
- อายุ 4-8 ปี คือ 7 มก./วัน (สังเคราะห์ 16 IU หรือธรรมชาติ 10 IU)
- อายุ 9-13 ปี คือ 11 มก./วัน (สังเคราะห์ 24 IU หรือธรรมชาติ 16 IU)
- อายุ 14 ปีขึ้นไป คือ 15 มก./วัน (สังเคราะห์ 33 IU หรือธรรมชาติ 22 IU)
- หญิงให้นมบุตร คือ 19 มก./วัน (สังเคราะห์ 42 IU หรือธรรมชาติ 28 IU)
- ปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ : เนื่องจากการเสริมวิตามินอีมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกำหนดปริมาณที่ยอมรับได้ (ULs) สำหรับวิตามินอี เมื่อบริโภคสูงกว่าปริมาณนี้ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทานเกิน ULs เป็นประจำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำของแพทย์ ดังนั้น ULs จึงสามารถแปลงเป็น IU ได้ดังนี้ :
- อายุ 1-3 ปี คือ ค่า 200 มก./วัน (สังเคราะห์ 220 IU หรือธรรมชาติ 300 IU)
- อายุ 4-8 ปี คือ 300 มก./วัน (สังเคราะห์ 330 IU หรือ 450 IU ธรรมชาติ)
- อายุ 9-13 ปี คือ 600 มก./วัน (สังเคราะห์ 660 IU หรือธรรมชาติ 900 IU)
- อายุ 14-18 ปี คือ 800 มก./วัน (สังเคราะห์ 880 IU หรือธรรมชาติ 1,200 IU)
- อายุ 19 ปีขึ้นไป คือ 1,000 มก./วัน (สังเคราะห์ 1,100 IU หรือธรรมชาติ 1,500 IU)
- ปริมาณส่วนใหญ่ที่ใช้ในงานวิจัย : การศึกษาการใช้วิตามินอีในด้านต่าง ๆ มีขนาดตั้งแต่วันละ 100-2,000 IU แต่สำหรับอาการส่วนใหญ่ที่พบเห็นการใช้มักจะอยู่ที่วันละ 100-600 IU หรือ 400 IU
- ปฏิสัมพันธ์กับยาอื่น : ยาต้านเกล็ดเลือด (เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก), ยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา (วิตามินอีอาจลดประสิทธิภาพในการรักษา) รวมถึงยาซิมวาสแตตินและไนอะซิน (Simvastatin-Niacin) (1)
ความเสี่ยงจากการเสริมวิตามินอีมากกว่าปกติ
- การเสริมวิตามินอีวันละ 400 IU เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว จึงไม่ใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว (58)
- การเสริมวิตามินอี 400 mg หรือประมาณ 600 IU อาจรบกวนผลของยาทามอกซิเฟน (Tamoxifen) ที่เป็นยารักษาโรคมะเร็งเต้านม (59)
- การเสริมวิตามินอีสังเคราะห์วันละ 400 IU เพิ่มเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก (60)
- การเสริมวิตามินอีวันละ 1,000 mg หรือมากกว่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก (61)
- ผู้ที่มีระดับวิตามินอีในเลือดสูง เช่น 32.18 µmol/l มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินอีปานกลาง (62)
- การเสริมวิตามินอีร่วมกับวิตามินซีในขนาดสูงอาจขัดขวางประสิทธิภาพการออกกำลังกายในนักกีฬา เช่น กลุ่มที่ได้รับวิตามินอี 400 IU ร่วมกับวิตามินซี 1,000 mg ไม่พบการเพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่มีการเพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อ (ทั้งสองกลุ่มต่างเข้าร่วมโปรแกรมการฝึกความแข็งแรง) (63) และเช่นเดียวกับการศึกษาในนักกีฬาฟุตบอลชายและนักกีฬาฮอกกี้ การเสริมในขนาดเดียวกันขัดขวางการเพิ่มขึ้นของระดับความสามารถในการใช้ออกซิเจนสูงสุด (Vo2max) (64) หรือการศึกษาในนอร์เวย์กับผู้ชายที่มีสุขภาพดีที่ผ่านการฝึกความแข็งแรงเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ไม่พบความหนาแน่นของกระดูกที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (65)
สรุปเรื่องวิตามินอี
การเสริมวิตามินอาจช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจนและยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าประโยชน์ส่วนใหญ่ของวิตามินอีมักมาจากการเสริมในปริมาณเพียงเล็กน้อยจากอาหารปกติ ส่วนการเสริมวิตามินอีในรูปแบบของอาหารเสริมนั้นไม่จำเป็น เพราะร่างกายต้องการเพียงเล็กน้อยและคนส่วนใหญ่ได้รับวิตามินจากอาหารมากเพียงพออยู่แล้ว อีกทั้งการเสริมวิตามินอีในปริมาณที่มากเกินไป (มากกว่าวันละ 400IU) ยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเสียชีวิตและการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
งานวิจัยอ้างอิง
- National Institutes of Health (NIH). “Vitamin E”. (2023)
- Iranian Journal of Kidney Diseases. “Effects of High-dose Vitamin E Supplementation on Markers of Cardiometabolic Risk and Oxidative Stress in Patients with Diabetic Nephropathy: a Randomized Double-blinded Controlled Trial”. (2018)
- Pain Research and Management. “The Effect of Combined Vitamin C and Vitamin E Supplementation on Oxidative Stress Markers in Women with Endometriosis: A Randomized, Triple-Blind Placebo-Controlled Clinical Trial”. (2021)
- Free Radical Biology and Medicine. “In vitro supplementation with different tocopherol homologues can affect the function of immune cells in old mice”. (2000)
- Immunological Reviews. “Vitamin E and immune response in the aged: molecular mechanisms and clinical implications”. (2005)
- JAMA. “Vitamin, Mineral, and Multivitamin Supplementation to Prevent Cardiovascular Disease and Cancer US Preventive Services Task Force Recommendation Statement”. (2022)
- The New England Journal of Medicine. “Vitamin E consumption and the risk of coronary disease in women”. (1993)
- American Journal of Epidemiology. “Antioxidant vitamin intake and coronary mortality in a longitudinal population study”. (1994)
- Circulation. “Effects of random allocation to vitamin E supplementation on the occurrence of venous thromboembolism: report from the Women’s Health Study”. (2007)
- Institute of Medicine. “Dietary Reference Intakes for Vitamin C, Vitamin E, Selenium, and Carotenoids”. (2000)
- JAMA. “Effects of long-term vitamin E supplementation on cardiovascular events and cancer: a randomized controlled trial”. (2005)
- JAMA. “Effects of hormone replacement therapy and antioxidant vitamin supplements on coronary atherosclerosis in postmenopausal women: a randomized controlled trial”. (2002)
- JAMA. “Vitamin E in the primary prevention of cardiovascular disease and cancer: the Women’s Health Study: a randomized controlled trial”. (2005)
- JAMA. “Vitamins E and C in the prevention of cardiovascular disease in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial”. (2008)
- The BMJ. “Effects of vitamin E on stroke subtypes: meta-analysis of randomised controlled trials”. (2010)
- Arteriosclerosis, Thrombosis, and Vascular Biology. “Nonalcoholic Fatty Liver Disease and Cardiovascular Risk: A Scientific Statement From the American Heart Association”. (2022)
- Pharmacological Reports. “Assessment of antioxidant supplementation on the neuropathic pain score and quality of life in diabetic neuropathy patients – a randomized controlled study”. (2014)
- JAMA Neurology. “Efficacy of Oral Mixed Tocotrienols in Diabetic Peripheral Neuropathy: A Randomized Clinical Trial”. (2018)
- Journal of Experimental & Clinical Cancer Research. “Effect of vitamin E and beta-carotene on DNA strand breakage induced by tobacco-specific nitrosamines and stimulated human phagocytes”. (1997)
- Journal of the National Cancer Institute. “Prostate cancer and supplementation with alpha-tocopherol and beta-carotene: incidence and mortality in a controlled trial”. (1998)
- American Journal of Epidemiology. “Vitamin C and vitamin E supplement use and bladder cancer mortality in a large cohort of US men and women”. (2002)
- Cancer Research. “Reduced risk of colon cancer with high intake of vitamin E: the Iowa Women’s Health Study”. (1993)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “A prospective study on supplemental vitamin e intake and risk of colon cancer in women and men”. (2002)
- JAMA. “Effects of long-term vitamin E supplementation on cardiovascular events and cancer: a randomized controlled trial”. (2005)
- Journal of the National Cancer Institute. “Supplemental and dietary vitamin E, beta-carotene, and vitamin C intakes and prostate cancer risk”. (2006)
- The New England Journal of Medicine. “The effect of vitamin E and beta carotene on the incidence of lung cancer and other cancers in male smokers”. (1994)
- American Journal of Epidemiology. “Diet in the epidemiology of postmenopausal breast cancer in the New York State Cohort”. (1992)
- JAMA. “Vitamin E and the risk of prostate cancer: the Selenium and Vitamin E Cancer Prevention Trial (SELECT)”. (2011)
- Arch Ophthalmol. “A randomized, placebo-controlled, clinical trial of high-dose supplementation with vitamins C and E, beta carotene, and zinc for age-related macular degeneration and vision loss: AREDS report no. 8”. (2001)
- JAMA. “Lutein + zeaxanthin and omega-3 fatty acids for age-related macular degeneration: the Age-Related Eye Disease Study 2 (AREDS2) randomized clinical trial”. (2013)
- The BMJ. “Dietary antioxidants and primary prevention of age related macular degeneration: systematic review and meta-analysis”. (2007)
- The BMJ. “Vitamin E supplementation and macular degeneration: randomised controlled trial”. (2002)
- Acta Ophthalmologica. “Long-term supplementation with alpha-tocopherol and beta-carotene and age-related cataract”. (1997)
- Ophthalmology. “Antioxidant vitamins and nuclear opacities: the longitudinal study of cataract”. (1998)
- Acta Ophthalmologica. “Long-term nutrient intake and 5-year change in nuclear lens opacities”. (2005)
- Arch Ophthalmol. “A randomized, placebo-controlled, clinical trial of high-dose supplementation with vitamins C and E and beta carotene for age-related cataract and vision loss: AREDS report no. 9”. (2001)
- JAMA Ophthalmology. “Lutein/zeaxanthin for the treatment of age-related cataract: AREDS2 randomized trial report no. 4”. (2013)
- JAMA Ophthalmology. “Age-Related Cataract in a Randomized Trial of Vitamins E and C in Men”. (2010)
- Archives of Internal Medicine. “A randomized trial of vitamin E supplementation and cognitive function in women. (2006)
- The New England Journal of Medicine. “Vitamin E and donepezil for the treatment of mild cognitive impairment”. (2005)
- JAMA. “Effect of Vitamin E and Memantine on Functional Decline in Alzheimer Disease The TEAM-AD VA Cooperative Randomized Trial”. (2014)
- The New England Journal of Medicine. “A controlled trial of selegiline, alpha-tocopherol, or both as treatment for Alzheimer’s disease. The Alzheimer’s Disease Cooperative Study”. (1997)
- JAMA Neurology. “Association of Antioxidant Supplement Use and Dementia in the Prevention of Alzheimer’s Disease by Vitamin E and Selenium Trial (PREADViSE)”. (2017)
- Annals of the New York Academy of Sciences journal. “The Endogenous Toxin Hypothesis of the Etiology of Parkinson’s Disease and a Pilot Trial of High-Dosage Antioxidants in an Attempt to Slow the Progression of the Illness”. (1989)
- The New England Journal of Medicine. “Effects of tocopherol and deprenyl on the progression of disability in early Parkinson’s disease”. (1993)
- Journal of Nutritional Science and Vitaminology. “Dose dependent elevation of plasma tocotrienol levels and its effect on arterial compliance, plasma total antioxidant status, and lipid profile in healthy humans supplemented with tocotrienol rich vitamin E”. (2006)
- Clinical Nutrition. “Serum Tocopherol Levels and Vitamin E Intake are Associated with Lung Function in the Normative Aging Study”. (2017)
- Iranian Journal of Allergy, Asthma and Immunology. “Vitamin e supplementation, lung functions and clinical manifestations in children with moderate asthma: a randomized double blind placebo- controlled trial”. (2014)
- World Journal of Gastroenterology. “Rectal administration of d-alpha tocopherol for active ulcerative colitis: a preliminary report”. (2008)
- The New England Journal of Medicine. “Pioglitazone, Vitamin E, or Placebo for Nonalcoholic Steatohepatitis”. (2010)
- JAMA. “Effect of vitamin E or metformin for treatment of nonalcoholic fatty liver disease in children and adolescents: the TONIC randomized controlled trial”. (2011)
- Gynecological Endocrinology. “Vitamin E and fish oil, separately or in combination, on treatment of primary dysmenorrhea: a double-blind, randomized clinical trial”. (2018)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Vitamin E supplementation for prevention of morbidity and mortality in preterm infants”. (2003)
- American Family Physician. “Neurologic findings in vitamin E deficiency”. (1997)
- American Journal of Human Genetics. “Ataxia with isolated vitamin E deficiency: heterogeneity of mutations and phenotypic variability in a large number of families”. (1998)
- Dermatology. “Vitamin E in Atopic Dermatitis: From Preclinical to Clinical Studies”. (2021)
- Arthritis & Rheumatology. “Vitamin E in the primary prevention of rheumatoid arthritis: the Women’s Health Study”. (2008)
- Circulation. “Drugs That May Cause or Exacerbate Heart Failure A Scientific Statement From the American Heart Association”. (2016)
- Journal of Surgical Research. “Vitamin E increases biomarkers of estrogen stimulation when taken with tamoxifen”. (2009)
- JAMA. “Vitamin E and the risk of prostate cancer: the Selenium and Vitamin E Cancer Prevention Trial (SELECT)”. (2011)
- StatPearls. “Vitamin E Toxicity”. (2023)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “Serum antioxidant nutrients, vitamin A, and mortality in U.S. Adults”. (2013)
- International Journal of Exercise Science. “Antioxidant Supplementation Impairs Changes in Body Composition Induced by Strength Training in Young Women”. (2019)
- Sports Medicine and Health Science. “Vitamin C and E supplementation and high intensity interval training induced changes in lipid profile and haematological variables of young males”. (2023)
- European Journal of Applied Physiology. “High doses of vitamin C plus E reduce strength training-induced improvements in areal bone mineral density in elderly men”. (2017)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2023