โรคลมพิษ
ลมพิษ หรือ ผื่นลมพิษ (Urticaria, Hives) เป็นกลุ่มอาการที่ไม่ใช่โรค (แต่มักเรียกว่าเป็นโรค) โดยเป็นอาการที่เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำให้มีผื่นบวมนูนแดงสีออกขาว ล้อมรอบไปด้วยผื่นสีแดง ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันถึงคันมากในตำแหน่งที่เกิดผื่น ถ้าเป็นมากก็จะรู้สึกแสบร้อน แต่โดยทั่วไปแล้วผื่นมักจะหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมงโดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ
ลมพิษเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 20-40 ปี และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 ต่อ 2[1] ส่วนใหญ่มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันก็หายไปได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด แต่ในบางรายอาจเป็นเรื้อรังแบบเป็น ๆ หาย ๆ ก็ได้ และผู้ป่วยอาจมีประวัติเคยเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย
จากการศึกษาพบว่า ในผู้ใหญ่ประมาณ 25% จะเคยมีอาการของลมพิษอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต แต่จะมีเพียงประมาณ 3% เท่านั้นที่เป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง และประมาณ 35% ของลมพิษมักมีสาเหตุมาจากสาเหตุทางกายภาพ[4] ส่วนการศึกษาของนักศึกษาแพทย์โรงพยาบาลศิริราชจำนวน 428 คน พบว่า 51.6% เคยเป็นลมพิษมาก่อน, 19.6% เคยเป็นแองจิโออีดีมา (Angioedema) และพบร่วมกันใน 13.6% และในกลุ่มที่เป็นลมพิษจะแบ่งเป็นลมพิษชนิดเฉียบพลัน 93.2% และลมพิษเรื้อรัง 5.4% ส่วนข้อมูลจากผู้ป่วยนอกหน่วยตรวจผิวหนังโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี พ.ศ.2550 ที่มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 71,053 คน ในจำนวนนี้ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นลมพิษ 2,104 คน หรือคิดเป็น 2.96%[3]
ลมพิษสามารถแบ่งตามระยะเวลาที่เกิดได้เป็น 2 ชนิด คือ
- ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute urticaria) คือ มีอาการผื่นลมพิษอย่างต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์ มักพบได้ในเด็กและคนไข้อายุน้อย และส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการแพ้ เช่น การแพ้อาหาร แพ้ยา การติดเชื้อในร่างกาย แมลงสัตว์กัดต่อย ฯลฯ อย่างไรก็ตามอาจไม่พบสาเหตุได้ถึง 50% ของคนไข้ที่เป็นลมพิษเฉียบพลัน
- ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic urticaria) คือ มีอาการผื่นลมพิษอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และเป็นต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป[2] (บางตำราใช้ระยะเวลา 2 เดือนเป็นเกณฑ์ ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง[1]) มักพบได้ในหญิงวัยกลางคน ส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นที่จำเพาะเหมือนลมพิษเฉียบพลัน แต่สิ่งที่สามารถกระตุ้นให้ลมพิษเรื้อรังเป็นมากขึ้น ได้แก่ ยาแอสไพริน, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, เพนิซิลลิน, ยาต้านเอซ
สาเหตุของลมพิษ
ลมเป็นพิษเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ จะสร้างสารแพ้ที่เรียกว่า “ฮิสตามีน” (Histamine) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว มีพลาสมาหรือน้ำเลือดซึมออกมาในผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นผื่นนูนแดงตามมา โดยสาเหตุการแพ้มักมาจาก
- การแพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล กุ้ง ปลา เนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่ มะเขือเทศ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว อาหารรสจัด ฯลฯ
- สารที่ผสมอยู่ในอาหาร เช่น ผงชูรส สีผสมอาหาร สารกันบูด ฯลฯ
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), เพนิซิลลิน (Penicillin), อีนาลาพริล (Enalapril) ฯลฯ
- วัคซีน เซรุ่ม
- พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (เช่น ยุง มด ต่อ ผึ้ง ฯลฯ)
- ฝุ่น ละอองเกสร พืชบางชนิด ขนสัตว์ ไหม นุ่น (จากที่นอนหรือหมอน)
- การสัมผัสสารเคมีหรือสารบางอย่าง เช่น เครื่องสำอาง สเปรย์ ยาฆ่าแมลง ยาง เนื้อดิบ ปลา พืชผักบางชนิด ฯลฯ
- จากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น เช่น หลังการออกกำลังกาย
- ในบางรายสาเหตุของลมพิษอาจเกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ทอนซิลอักเสบ, ฟันผุ, หูอักเสบ, หูน้ำหนวก, ไซนัสอักเสบ, ไตอักเสบ, ท้องเดิน, โรคเชื้อรา, เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส, โรคพยาธิ ฯลฯ
- ในบางรายอาจเป็นลมพิษร่วมกับโรคอื่น ๆ ได้ (ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้น้อย) เช่น โรคมะเร็ง เอสแอลอี โรคของต่อมไทรอยด์ ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง (ภูมิคุ้มกันในร่างกายไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนัง และทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น) เป็นต้น
- ในรายที่เป็นลมพิษเรื้อรัง ส่วนมากจะไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ในส่วนน้อยยังอาจพบว่ามีสาเหตุ ซึ่งนอกจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว (โดยเฉพาะจากการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การแพ้แสงแดด, แพ้ความร้อน, ความเย็น (เช่น น้ำแข็ง น้ำเย็น อากาศเย็น ห้องปรับอากาศ), น้ำ, เหงื่อ (เช่น เหงื่อหลังจากการออกกำลังกาย), การสั่นสะเทือน, แรงดัน แรงกด หรือการขีดข่วนที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง, การยกน้ำหนัก, การออกกำลังกาย, โรคติดเชื้อเรื้อรัง เป็นต้น
- ในบางรายอาจตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แม้ว่าแพทย์จะได้พยายามตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดแล้วก็ตาม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันยังมีไม่มากที่จะอธิบายถึงสาเหตุการเกิดได้ทั้งหมด
- นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว ความเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์ของผู้ป่วย ยังอาจเป็นสาเหตุของลมพิษเรื้อรังได้ด้วย รวมทั้งยังอาจทำให้อาการลมพิษกำเริบขึ้นมาในรายที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ (มีการศึกษาหลายชิ้นพบความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างระบบประสาท ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบภูมิคุ้มกันโรค ที่อาจเป็นสาเหตุของลมพิษ โดยพบว่าเมื่อมีความเครียด ร่างกายจะมีการหลั่งของสารเคมีบางชนิดและสารเคมีนั้น ๆ จะไปกระตุ้นเซลล์ชนิดหนึ่งในร่างกายที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อผิวหนังและในเนื้อเยื่อต่าง ๆ (Mast cell) ทำให้เซลล์นี้แตกตัว แล้วหลั่งสารฮิสตามีนออกมา ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดลมพิษ)
อาการของลมพิษ
อาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ด้วยอาการขึ้นเป็นผื่นลักษณะวงนูนแดง ขนาดและรูปร่างต่างกัน เช่น วงกลม วงรี วงหยัก ไม่มีขุย เนื้อภายในวงจะนูนและซีดกว่าขอบเล็กน้อย จึงทำให้เห็นเป็นขอบแดง ๆ คล้ายเอาลิปสติกผู้หญิงมาขีดเป็นวงไว้ โดยอาจเกิดขึ้นได้ที่หน้า ลำตัว แขนขา หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็ได้ และมักขึ้นกระจายตัวไม่เหมือนกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย ผู้ป่วยจะรู้สึกคันมาก พอเกาตรงไหนก็จะมีผื่นแดงขึ้นตรงนั้น ในบางรายอาจมีไข้ขึ้นเล็กน้อยหรือรู้สึกร้อนผ่าวไปตามผิวกาย ส่วนผื่นนูนแดงมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักจะไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประมาณ 3-4 ชั่วโมงผื่นนั้นก็จะยุบหายไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่น ๆ ได้อีกภายในวันเดียวกันหรือวันต่อมา หรือในเดือนต่อ ๆ มาก็ได้ ในบางรายอาจขึ้นติดต่อกันนานเป็นวัน ๆ ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะยุบหายไปเองภายใน 1-7 วัน[1]
ในรายที่เป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง มักจะมีผื่นลมพิษขึ้นแบบเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันแทบทุกวันเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน และอาจเป็นอยู่นานเป็นปี ๆ กว่าจะหายขาดไปได้เอง (หายภายใน 12 เดือน คิดเป็น 50%, หายภายใน 5 ปี คิดเป็น 20% ของผู้ป่วย แต่ยังมีอีก 10-20% ที่เป็นเรื้อรังนานถึง 20 ปี[3])
ในรายที่เป็นลมพิษชนิดรุนแรง หรือที่เรียกว่า “ลมพิษยักษ์” หรือ “แองจิโออีดีมา” (Angioedema, Angioneurotic edema) ผู้ป่วยจะมีอาการบวมของเนื้อเยื่อชั้นลึกของผิวหนัง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 นิ้ว หรือมากกว่า กดแล้วไม่บุ๋ม อาการบวมมักขึ้นบริเวณริมฝีปาก หนังตา หู ลิ้น หน้า มือ แขน หรือตามส่วนอื่น ๆ และอาจเป็นอยู่นานเกิน 24 ชั่วโมง (โดยทั่วไปมักจะเป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงแล้วจะยุบหายไปเอง) ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนมากกว่ารู้สึกคัน แต่ถ้ามีอาการบวมของกล่องเสียงร่วมด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก แน่นหน้าอก ตัวเขียว และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ (แต่ก็พบได้น้อยมาก) ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการแพ้อาหารหรือยาบางชนิด เช่น แอสไพริน, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาต้านเอซ (ACE inhibitors)[1]
การวินิจฉัยลมพิษ
แพทย์สามารถตรวจหาสาเหตุได้จากการซักถามประวัติอาการ ประวัติการแพ้สิ่งต่าง ๆ และจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยจะตรวจพบผื่นลมพิษตามร่างกาย ในลักษณะเป็นวงนูนแดง มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ ในบางครั้งอาจพบรอยเการ่วมด้วย ส่วนในรายที่เป็นลมพิษยักษ์ อาจพบอาการหายใจลำบาก ตัวเขียวร่วมด้วย
นอกจากนี้ ในบางรายอาจจำเป็นต้องทำการตรวจอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุและปัจจัยกระตุ้น เช่น การตรวจเลือด (เพื่อดูความเข้มข้นของเลือดและปริมาณของเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ ตรวจเลือดเกี่ยวกับโรคทางภูมิต้านทาน ตรวจเพื่อดูโรคไทรอยด์), การตรวจอุจจาระ (เพื่อหาพยาธิ), การตรวจปัสสาวะ, เอกซเรย์, ทำการทดสอบผิวหนัง (Skin test) เพื่อหาสารก่ออาการ, เจาะเลือดส่งตรวจภาวะแพ้อาหาร (Food allergy) หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามแต่สาเหตุที่สงสัย โดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์
วิธีรักษาลมพิษ
- พยายามหาสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ แล้วหลีกเลี่ยงหรือกำจัดเสีย (ถ้าทำได้) เช่น ถ้าแพ้ยาหรืออาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ให้หยุดยาหรือเลิกกินอาหารชนิดนั้น ๆ ถ้าสาเหตุของลมพิษมาจากโรคพยาธิลำไส้ ก็ให้ยาถ่ายพยาธิ เป็นต้น
- การให้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด หลายกลุ่ม มีทั้งออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว ทั้งแบบกินแล้วง่วงและไม่ง่วงนอน การจะต้องใช้ยาตัวใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ การตอบสนองของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยแต่ละรายจะตอบสนองต่อยาแตกต่างกันไป บางรายใช้ยาเพียงตัวเดียวก็ได้ผลดี แต่บางรายแพทย์อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาแก้แพ้ในกลุ่มอื่นหรือใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อควบคุมอาการ โดยตัวยาหลักที่แพทย์เลือกใช้ ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) หรือไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) โดยให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด (ในเด็กให้ลดปริมาณลงตามอายุ) ถ้ายังมีอาการให้กินซ้ำได้ทุก 4-8 ชั่วโมง ตามแต่ชนิดของยา (ยากลุ่มดังกล่าวมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน ซึม และปากคอแห้ง) แต่ถ้าเป็นมากหรือกินยาไม่ได้ ให้ใช้ยาแก้แพ้ดังกล่าวชนิดฉีดครั้งละ 1/2-1 หลอด
- ในรายที่เป็นลมพิษเฉียบพลัน โดยไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย หรือในกรณีที่เป็นมาก ถ้าใช้ยาแก้แพ้แล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจให้เพรดนิโซโลน (Prednisolone) วันละครั้ง หลังอาหารเช้า เป็นเวลา 10 วัน โดยวันแรกจะให้ในขนาด 40-60 มิลลิกรัม (ส่วนในเด็กจะเริ่มด้วยขนาด 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน) แล้วจะค่อย ๆ ลดปริมาณลงจนวันสุดท้ายเหลือขนาด 5-10 มิลลิกรัม แล้วผื่นลมพิษมักจะหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในรายที่หาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน ผื่นอาจขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นลมพิษเรื้อรัง
- ในรายที่เป็นลมพิษเรื้อรัง ซึ่งส่วนมากจะไม่ทราบสาเหตุและไม่มีอันตรายร้ายแรง อาจเป็นอยู่แรมปี แล้วหายไปได้เอง ผู้ป่วยควรกินยาแก้แพ้เป็นประจำจนกว่าจะหาย มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีโรคร้ายแรงร่วมด้วย (แต่ในกรณีที่ตรวจพบสาเหตุ เมื่อแก้ไขไปตามสาเหตุแล้ว ผื่นลมพิษมักจะหายได้เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นลมพิษชนิดเฉียบพลัน) อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นลมพิษเรื้อรังก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดเสียก่อน โดยในการรักษานั้นแพทย์จะให้ยาแก้แพ้ เช่น ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) ขนาด 10-20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งจะใช้ได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่แพ้แดด แพ้เหงื่อ หรือแพ้รอยขีดข่วน
- ในรายที่แพ้ความเย็นหรือน้ำ อาจให้ยาแก้แพ้ที่มีชื่อว่า ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า เพอริแอคติน (Periactin) ให้กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ถ้าเป็นอยู่ประจำ ให้กินยานี้ก่อนจะสัมผัสน้ำหรือถูกความเย็นประมาณ 30-60 นาที เพื่อปองกันไม่ให้เกิดอาการ
- ในรายที่จำเป็นต้องกินยาแก้แพ้เป็นประจำและจำเป็นต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือการขับรถ แพทย์จะให้ยาแก้แพ้ที่กินแล้วไม่ง่วง เช่น ลอราทาดีน (Loratadine), เซทิไรซีน (Cetirizine), เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine), เดส-ลอราทาดีน (Desloratadine) วันละครั้งแทน
- เมื่อกินยาแก้แพ้แล้วอาการทุเลาลง อาจลดยาเหลือเพียงวันละ 1 ครั้ง ในขนาดต่ำสุด (1/2-1 เม็ด) ก่อนนอนทุกวัน ประมาณ 2-3 เดือน แล้วลองหยุดยา ถ้าอาการกำเริบขึ้นมาใหม่ ก็ให้กินยาใหม่ เพราะในบางรายอาจต้องกินยานานเป็นปี ๆ หรืออาจนาน 3-5 ปี กว่าจะหายขาดและหยุดยาได้
- ในรายที่ให้ยาแก้แพ้ดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล แพทย์อาจให้ยาแก้ซึมเศร้าที่มีชื่อว่า ดอกซีพิน (Doxepin) ซึ่งมีฤทธิ์แก้แพ้ (ส่วนขนาดที่ใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร)
- ในรายที่เป็นลมพิษยักษ์ มีอาการหายใจลำบาก ตัวเขียว แพทย์จะให้ยาฉีดอะดรีนาลีน (Adrenaline) ร่วมกับยาแก้แพ้ สเตียรอยด์ และรานิทิดีน (Ranitidine) ชนิดฉีด แบบเดียวกันกับที่ใช้รักษาภาวะช็อกจากการแพ้ และอาจจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจด้วย
- เมื่อใช้ยาแก้แพ้เพียงอย่างเดียวแล้วไม่ได้ผลในการรักษา แพทย์จะให้ยาต้านเอช 2 (H2) antagonists เช่น รานิทิดีน (Ranitidine) ขนาด 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับยาแก้แพ้ ซึ่งยาที่ให้เพิ่มมานี้จะช่วยเสริมฤทธิ์ของยาแก้แพ้ โดยการระงับอาการบวมแดงของลมพิษ
- ในกรณีที่ตรวจพบโรคที่เป็นร่วมด้วย เช่น โรคมะเร็ง เอสแอลอี โรคติดเชื้อ โรคพยาธิ ฯลฯ แพทย์จะให้การรักษาโรคเหล่านี้ร่วมกับการรักษาอาการลมพิษ
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และควรพกยาติดตัวไว้เสมอ เมื่อเกิดอาการจะได้ใช้ได้ทันที
- ไม่แกะหรือเกาที่ผิวหนัง เนื่องจากอาจจะทำให้ผิวหนังอักเสบได้
- เมื่อมีอาการคันอาจใช้คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) ทาบริเวณที่เป็นผื่นลมพิษเพื่อช่วยลดอาการคัน ทำให้ผู้ป่วยไม่แกะหรือเกาจนเกิดผิวหนังอักเสบจากการเกา (แต่ยานี้ไม่ได้ช่วยทำให้ผื่นหาย) หรืออาจใช้วิธีประคบด้วยน้ำเย็น น้ำแข็ง (ห้ามใช้ในลมพิษที่เกิดจากความเย็น) หรือทายาแก้ผดผื่นคันอื่น ๆ ทาด้วยเหล้า หรือแอลกอฮอล์ก็ได้ (ถ้าผู้ป่วยไม่แพ้)
- รักษาโรคอื่นที่เป็นอยู่ให้หาย แม้จะพบได้น้อยแต่ผื่นลมพิษอาจเป็นอาการแสดงทางผิวหนังของโรคทางกายอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์
- งดอาหารที่มีวัตถุเจือปนประเภทที่แต่งสี กลิ่น รส (เพราะมีรายงานว่าผู้ป่วยลมพิษประมาณ 30% จะมีอาการดีขึ้นหากหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว[4]) รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ วิตามิน สมุนไพร ยาบำรุง หรือยาอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น
- ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อเป็นการขับสารพิษที่เป็นต้นเหตุของผื่นลมพิษออกไปทางไต รวมไปถึงควรระวังไม่ให้เกิดอาการท้องผูก เพื่อเป็นการกำจัดของเสียออกทางอุจจาระได้อีกทางหนึ่ง
- ควรออกกำลังกายและพยายามหลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ พยายามทำให้จิตใจให้สบาย ไม่วิตกกังวล ซึ่งอาจจะช่วยให้อาการบรรเทาลงได้
- ในกรณีที่ให้ยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือยังเป็นลมพิษแบบเป็น ๆ หาย ๆ นานเกิน 2 เดือน หรือสงสัยว่ามีโรคอื่นร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
- ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เมื่อผื่นลมพิษรุนแรงหรือคันมากขึ้น อาการไม่หายหรือไม่ดีขึ้น (แม้จะดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วก็ตาม) มีอาการบวมตามเนื้อตัวมาก มีผื่นนานเกิน 1-2 วัน ร่วมกับมีไข้ หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ แต่หากมีผื่นร่วมกับอาการบวมของกล่องเสียงหรือลำคอจนหายใจติดขัด รู้สึกหน้ามืด หรือเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน
วิธีป้องกันลมพิษ
- หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำให้เกิดลมพิษ (หากทราบสาเหตุ)
- ผู้ป่วยควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ โดยอาจจะเป็นอาหาร ยา สารกระตุ้น หรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แล้วหาทางหลีกเลี่ยง ซึ่งจะช่วยให้หายขาดได้
- พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำจิตใจให้สบาย ไม่วิตกกังวล
- ควรระมัดระวังในการเรื่องของการใช้ยาต่าง ๆ เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดลมพิษได้
- ผู้ที่เป็นลมพิษบ่อยหรือมีโรคภูมิแพ้อยู่เป็นประจำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เนื่องจากพบว่ายาเหล่านี้มีฤทธิ์ทำให้โรคภูมิแพ้กำเริบได้
- ผู้ที่เคยเป็นลมพิษควรแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร และเจ้าหน้าที่แผนกเอกซเรย์ก่อนเสมอว่าเคยเป็นลมพิษมาก่อน (การตรวจทางเอกซเรย์บางชนิดอาจมีการฉีดสี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดลมพิษ) เพื่อหลีกเลี่ยงการกินยาหรือการตรวจที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดลมพิษได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- โรคงูสวัด (Shingles) 12 วิธีรักษางูสวัด & 46 สมุนไพรรักษางูสวัด !
- ไฟลามทุ่ง อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคไฟลามทุ่ง 5 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ลมพิษ (Urticaria)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1001-1004.
- ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. “โรคลมพิษ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [16 มี.ค. 2016].
- หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. “ลมพิษ (URTICARIA)”. (พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [17 มี.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ลมพิษ (Urticaria)”. (นพ.ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [17 มี.ค. 2016].
ภาพประกอบ : www.wikihow.com, en.wikipedia.org (by James Heilman), allergydocblog.com, sflhealthandwellness.com, saude.culturamix.com, health101.net
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)