ประจำเดือนหลังคลอด…มาเมื่อไหร่ ถ้ามาช้าอันตรายหรือไม่ ??

ประจำเดือนหลังคลอด

โดยปกติแล้วประจำเดือนหรือรอบเดือนจะเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก มีฮอร์โมน 2 ชนิดคือ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ควบคุมการสร้างและหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งระดับฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้จะมีความสัมพันธ์กับการตกไข่จากรังไข่ ในแต่ละรอบเดือนจะมีช่วงเวลาประมาณ 26-30 วัน ทำให้ประจำเดือนเกิดขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง แต่ในขณะตั้งครรภ์นั้นจะไม่มีการตกไข่ เพราะฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปตามปกติ จึงทำให้ไม่มีประจำเดือน แต่เมื่อคุณแม่คลอดแล้ว อิทธิพลของฮอร์โมนต่าง ๆ จะยังคงมีอยู่ไปอีกสักระยะหนึ่ง ทำให้ยังไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนจึงยังไม่มานั่นเองครับ แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลครับ (อ่านคำอธิบายได้ในหัวข้อด้านล่างครับ)

การไม่มีประจำเดือนในช่วงหลังคลอดนั้นเป็นเรื่องปกติ คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลหรือต้องมีการดูแลอะไรมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะไม่มีอันตรายใด ๆ ปล่อยไว้เดี๋ยวก็กลับมาเองครับ ส่วนลักษณะของประจำเดือนที่มานั้นจะเหมือนกับการมีประจำเดือนปกติ อาจมีอาการร่วมอย่างการปวดท้องน้อยร่วมด้วย หรือในบางกรณีอาจมีประจำเดือนมาไม่มากในช่วงแรก แล้วจะกลับมาเป็นปกติในที่สุด แต่ถ้าเลือดที่ออกมามีลักษณะกะปริดกะปรอย ออกมามาก หรือมานานกว่า 7 วัน เลือดที่ออกมาอาจไม่ใชประจำเดือนก็ได้ครับ แนะนำให้คุณแม่ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การกลับมาของประจำเดือนหลังคลอดในครั้งแรกนั้นปกติแล้วจะต้องมีการตกไข่ก่อนใช่ไหมครับ ซึ่งการตกไข่นี้จะเกิดขึ้นได้เร็วสุดในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอดครับ และหลังจากนั้นอีกประมาณ 2 สัปดาห์คุณแม่ก็จะสามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้ในทันที การรอให้ประจำเดือนครั้งแรกมาก่อนแล้วค่อยคุมกำเนิดจึงเป็นการตัดสินใจที่ผิดและช้าเกินไป ดังนั้นถ้าต้องการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ ควรคุมกำเนิดไว้ก่อน โดยให้คุณพ่อใช้ถุงยางอนามัยไปก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าคุณแม่จะได้รับการตรวจหลังคลอดและได้รับคำแนะนำจากคุณหมอเพื่อให้เริ่มคุมกำเนิดได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมา

หลังคลอดประจำเดือนมาเมื่อไหร่

หลังคลอดประจำเดือนมาเมื่อไหร่

คุณแม่หลายคนมีความกังวลใจและหลายคนยังไม่ยอมคุมกำเนิดถ้าประจำเดือนยังไม่มา ความจริงแล้วถ้าประจำเดือนยังไม่มาก็ไม่เป็นไรครับ แต่การคุมกำเนิดนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อน คุณแม่ควรเริ่มคุมกำเนิดหลังจากการตรวจหลังคลอดได้เลย

เชื่อไหมครับว่าการที่คุณแม่ให้ลูกดูดนมตนเองนั้นก็เป็นการคุมกำเนิดที่ได้ผลอย่างมากอีกวิธีหนึ่ง เพราะการให้ลูกกินนมแม่อย่างสม่ำเสมอจะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โปรแล็กติน” (Prolactin) ออกมาจากต่อมใต้สมอง ทำให้ไข่ไม่ตก เมื่อไข่ไม่ตกก็ไม่มีประจำเดือนออกมา แต่เมื่อลูกกินนมน้อยลงหรือคุณแม่ทิ้งระยะห่างในการให้นมมากขึ้น ฮอร์โมนตัวนี้ก็จะออกมาน้อยลง จึงมีการตกไข่และมีประจำเดือนตามปกติ

“คุณแม่ที่ให้ลูกดูดนมอย่างสม่ำเสมอก็ไม่ต้องแปลกใจหรอกครับว่าทำไมประจำเดือนถึงมาช้า สาเหตุก็เป็นเพราะฮอร์โมนโปรแล็กตินที่หลั่งออกมาตอนให้นมลูกนั่นเอง จึงทำให้ไข่ไม่ตก แต่สำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้ให้ลูกดูดนมนั้น ส่วนใหญ่แล้วมักพบว่าประจำเดือนจะกลับมาปกติใน 6-8 สัปดาห์หลังคลอดครับ”

ซึ่งจากสถิติโดยทั่วไปแล้วเราพบว่าคุณแม่หลังคลอดจะมีเริ่มมีประจำเดือนในช่วงระยะเวลาดังนี้ครับ

  • คุณแม่จำนวน 60% จะเริ่มมีประจำเดือนในช่วงเดือนที่ 7 หลังคลอด
  • คุณแม่จำนวน 20% จะเริ่มมีประจำเดือนในช่วงเดือนที่ 2-4 หลังคลอด
  • คุณแม่จำนวน 10% จะเริ่มมีประจำเดือนในช่วงเดือนที่ 2 เดือนครึ่งหลังคลอด

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า ร้อยละ 2-3 ของคุณแม่หลังคลอดจะมีการตกไข่แล้วเมื่อมาตรวจร่างกายหลังคลอด แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าคุณแม่มีโอกาสจะตั้งครรภ์ได้อีกถ้าไม่คุมกำเนิด และในกรณีที่คุณแม่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่หรือให้หย่านมเร็วด้วยเหตุผลต่าง ๆ จะพบว่าคุณแม่กลุ่มนี้จะมีประจำเดือนมาเร็วกว่าที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งจากการสำรวจในบางประเทศที่เจริญแล้วพบว่า หลังคลอดในระยะ 2 เดือนครึ่ง คุณแม่ที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่จะมีประจำเดือนมาและมีไข่ตกมากถึงร้อยละ 80

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประจำเดือนแล้วคุณแม่ก็ยังสามารถให้นมลูกกินได้ตามปกติ ไม่ต้องหย่านม เพราะการมีประจำเดือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงคุณค่าของน้ำนมแต่อย่างใด และการที่คุณแม่หลังคลอดจะมีหรือไม่มีประจำเดือนก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าสุขภาพของคุณแม่จะดีหรือไม่ดี เพราะการที่ประจำเดือนมาช้าไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใดครับ

สาเหตุที่ประจำเดือนหลังคลอดยังไม่มา

  1. คุณแม่ให้ลูกดูดนม คุณแม่ที่ให้ลูกดูดนมอย่างสม่ำเสมอจะส่งผลให้มีฮอร์โมนโปรแล็กตินหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง ทำให้ไข่ไม่ตก เมื่อไข่ไม่ตกประจำเดือนจึงไม่มา คุณแม่หลังคลอดที่ให้ลูกดูดนมอย่างสม่ำเสมอจึงอาจไม่มีประจำเดือนไปจนถึง 6-7 เดือนเลยก็ได้ครับ (แม้การให้ลูกดูดนมจะเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ได้ผลดี แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% ดังนั้นคุณแม่จึงควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยเสมอ)
  2. ฮอร์โมน ฮอร์โมนเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของการมาหรือไม่มาของประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างการตั้งครรภ์อาจมีผลต่อการมีประจำเดือนในช่วงหลังคลอด
  3. การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิดมีผลกระทบต่อฮอร์โมน ทำให้ประจำเดือนหลังคลอดยังไม่มา
  4. การคุมกำเนิด โดยการฉีดยาคุมกำเนิดหรือฝังยาคุมกำเนิด ซึ่งการคุมกำเนิดแบบนี้จะมีผลทำให้ประจำเดือนหลังคลอดไม่มาหรือมาช้ากว่าปกติ
  5. สภาวะอ้วนหรือผอมเกินไป คุณแม่บางคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ย่อมมีผลทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงทำให้ประจำเดือนหลังคลอดมาช้า
  6. คุณแม่หลังคลอดมีอาการซึมเศร้า มีความเครียดสะสม หรือมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกมากเกินไป อาจส่งผลให้ไข่ไม่ตกได้เช่นกัน จึงทำให้ประจำเดือนหลังคลอดยังไม่มา (คุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่จะมีอาการซึมเศร้าไม่มากนัก โดยพบได้เพียงประมาณ 10-20% เท่านั้น)
  7. โรคกับประจำเดือน โรคบางอย่างมีผลต่อการมีประจำเดือนของคุณแม่ได้เช่นกันครับ เช่น โรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อต่าง ๆ เพราะฮอร์โมนเป็นเรื่องของระบบต่อมไร้ท่อโดยตรง นอกจากนี้โรคเรื้อรังบางโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ฯลฯ ซึ่งมีอาการค่อนข้างรุนแรงและเป็นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาช้ากว่าปกติได้เช่นกัน
  8. มีเลือดออกแต่ไม่ใช่ประจำเดือน คุณแม่หลังคลอดสามารถสังเกตลักษณะของเลือดออกผิดปกติหลังคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือนได้ดังนี้
    • มีเลือดออกในปริมาณมาก เป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งคุณแม่คลอดเองและผ่าคลอด ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงคือ การผ่าคลอด การคลอดยาก คลอดนานเกินไป น้ำเดินเป็นเวลานานจนเกิดการติดเชื้อ และอาการหนึ่งเมื่อมีการอักเสบติดเชื้อ คือ เลือดออกมากผิดปกติ หรือเรียกรวมอยู่ในกลุ่มตกเลือดหลังคลอด เพราะมีบางกรณีที่เลือดออกมากผิดปกติร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ไข้ขึ้น ปวดท้อง ซึ่งมักจะเกิดการอักเสบในโพรงมดลูก แต่ส่วนใหญ่แล้วเลือดที่ออกมามากผิดปกติหลังคลอด มักจะเกิดขึ้นเร็ว เช่น ภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งไม่ใช่ประจำเดือน เพราะประจำเดือนหลังคลอดจะมาได้เร็วสุดภายใน 1-2 เดือน หากคุณแม่มีเลือดออกผิดปกติในช่วงนี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
    • มีเลือดออกกะปริดกะปรอยนานผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในบางกรณีอาจมีเศษรกหรือเศษเนื้อเยื่อค้างอยู่ก็ทำให้มีเลือดออกมาได้เช่นกัน หรืออาจเป็นน้ำคาวปลาที่ยังไม่หมดก็ได้ ทั้งนี้หากยังมีน้ำคาวปลาที่เป็นเลือดสีแดงอย่างต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์ อาจมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเช่นกัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ภาพประกอบ : www.newkidscenter.com, Shutterstock

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด