การตรวจตา
การตรวจตา, การตรวจสุขภาพตา, การตรวจตาโดยจักษุแพทย์ (Eye examination by Ophthalmologist, Routine eye examination, Standard ophthalmic exam) คือ การตรวจตาด้วยหลาย ๆ วิธีร่วมกัน เพื่อให้พบปัญหาสายตา ปัญหาการมองเห็น หรือโรคทางตาที่พบได้บ่อยที่อาจเกิดขึ้นในระยะเริ่มต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียสายตาทั้งชั่วคราวและถาวรได้ โดยปัญหาสายตาหรือโรคทางตาบางอย่างอาจไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น การตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ย่อมช่วยเยียวยาแก้ไขการมองเห็นมิให้บกพร่องผิดปกติมากขึ้นได้
จุดประสงค์ของการตรวจตา
- เพื่อตรวจให้พบปัญหาสายตา ปัญหาการมองเห็น หรือโรคทางตาที่อาจเกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นของดวงตา ซึ่งย่อมจะช่วยเยียวยาแก้ไขการมองเห็นมิให้บกพร่องผิดปกติมากขึ้นได้
- เพื่อตรวจให้ทราบความเปลี่ยนแปลงของปัญหาสายตาหรือโรคของดวงตาที่อาจมีผลต่อความสามารถในการมองเห็น ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีอายุมากขึ้น
ประโยชน์ของการตรวจตา
- เพื่อการมีสายตาที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง เนื่องจากสายตาของคนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ อีกทั้งบางคนก็มีสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ทำให้การมองเห็นไม่ดีเท่าที่ควร การตรวจพบและรับการแก้ไขด้วยแว่นสายตาจะทำให้การมองเห็นดีขึ้นเป็นปกติ ถ้าเป็นเด็กนักเรียนก็จะทำให้ประสิทธิภาพการเรียนดีขึ้น ส่วนในผู้ที่มีสายตาไม่ปกติแล้วมีอาการปวดตา ปวดศีรษะ ทำงานได้ไม่เต็มที่ เพียงแก้ไขสายตาทุกอย่างก็จะเป็นปกติ หรือในผู้สูงอายุที่มักมีภาวะสายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia) ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็จะบั่นทอนการทำงานลง
- การตรวจพบโรคตาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มย่อมง่ายต่อการรักษา รวมทั้งโรคบางโรค เช่น โรคต้อหิน ถ้าตรวจพบตั้งแต่แรกที่มีการสูญเสียการมองเห็นเพียงเล็กน้อย การรักษาทันทีแม้จะช่วยไม่ช่วยให้ตาที่เสียไปแล้วกลับคืนมาได้ แต่จะช่วยป้องกันไม่ให้เสียมากขึ้นได้ หรือในโรคต้อกระจกหรือโรคจอประสาทตาเสื่อมก็เช่นเดียวกันที่จะช่วยให้ผู้ป้วยปฏิบัติตัวเพื่อชะลอความรุนแรงและผลข้างเคียงของโรคลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือในโรคทางกายบางอย่างที่อาจมีผลต่อตาอย่างโรคเบาหวานที่ทำให้ตามัวลง การตรวจพบตั้งแต่ต้น ๆ จะทำให้โอกาสสูญเสียสายตาน้อยลง เป็นต้น
- การตรวจตาอาจช่วยให้พบโรคทางกายได้ เช่น การตรวจพบวงขาว ๆ เป็นขอบรอบตาดำ (Arcus) อาจบ่งถึงภาวะไขมันในเลือดสูง, การตรวจพบตาขาวมีสีเหลือง (Icteric sclera) จะบ่งถึงการทำงานของตับที่ผิดปกติ, การตรวจพบรอยโรคผิดปกติชนิดหนึ่งของกระจกตา (Band keratopathy) จะบ่งถึงการเผาผลาญแคลเซียมหรือมีความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์
- การตรวจตาในโรคทางกายบางอย่างสามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้ เช่น การตรวจตาพบรอยโรคที่เรียกว่า Kayer Fleisher ring ที่กระจกตา ก็จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรควิลสัน (Wilson’s disease) ได้
- ความผิดปกติของสมองบางอย่างสามารถตรวจดูที่ขั้วประสาทตาโดยตรงจากการตรวจตา โดยไม่ต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีที่ซับซ้อนและมีค่าใช้สูงได้ เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือด (Angiography) ซึ่งจะมีโอกาสได้รับอันตรายจากการตรวจได้ อีกทั้งการศึกษาความผิดปกติของหลอดเลือดในกรณีหลอดเลือดแดงแข็ง (Arteriosclerotic) ก็สามารถดูได้โดยตรงจากการตรวจจอประสาทตา
ข้อบ่งชี้ในการตรวจตา
ประชาชนทุกคนทุกวัยควรสละเวลาในการที่จะไปขอรับการตรวจตากับจักษุแพทย์ตามเกณฑ์อายุและตามกำหนดช่วงเวลา ดังนี้
- ตรวจเมื่อมีอาการผิดปกติของดวงตาอย่างชัดเจน เช่น เจ็บหรือปวดตา, ตามัว, ตาแดง, มีอาการมองเห็นไม่ชัด, มองเห็นภาพผิดปกติ (เช่น ภาพบิดเบี้ยว ภาพแหว่งหายไปบางส่วน เห็นภาพซ้อนกัน หรือมองด้านข้างไม่เห็นหรือเดินชนขอบข้างบ่อย ๆ), มีอาการเห็นแสงวาบ ๆ ในตา เห็นเป็นจุด ๆ, มองเห็นสีผิดไปจากเดิม, มีภาวะสายตาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว, มีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นที่ลูกตา หนังตา ฯลฯ
- ตรวจตามเกณฑ์อายุในผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่ควรละเลยเป็นอันขาด เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนมากที่สุดอย่างหนึ่ง โดยอาจเสื่อมหรือบกพร่องจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ได้ เช่น อายุ อาชีพการงาน การเล่นกีฬา การโภชนาการ สภาวะแวดล้อม และสุขภาพด้านอื่นของร่างกายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของตา (เช่น โรคเบาหวาน) โดยจากสถิติพบว่ามีคนกว่าครึ่งดำเนินชีวิตด้วยการส่วมแวานสายตา, คนประมาณ 40% ที่อายุระหว่าง 52-64 ปีเป็นโรคต้อกระจก ยิ่งหากอายุถึงวัย 75-85 ปีก็อาจเรียกได้ว่าเป็นกันเกือบทุกคน ฯลฯ
- อายุตั้งแต่แรกเกิด – 2 ปี ควรตรวจตาเมื่ออายุ 6 เดือน โดยปกติก่อนจะออกจากโรงพยาบาล กุมารแพทย์มักจะตรวจร่างกายทั่วไปของเด็ก รวมทั้งตรวจตาภายนอกให้อยู่แล้ว ว่าหนังตาเปิดปิดได้ตาปกติหรือไม่ ลูกตามีขนาดเท่ากันหรือไม่ ใสหรือขุ่น ฯลฯ หากตามีกายภาพที่ผิดรูป กุมารแพทย์จะส่งไปให้จักษุแพทย์ตรวจตาให้เด็กอย่างละเอียดอีกที
- อายุ 2-5 ปี ควรตรวจตาเมื่ออายุ 3 ปี เพราะภาวะตาเขหรือสายตาผิดปกติมักจะพบได้ในวัยนี้ หากมีภาวะตาเขและนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจก็ยังพอแก้ไขรักษาได้
- อายุ 6-18 ปี ควรตรวจตาทุก ๆ 2 ปี เพราะในเด็กวัยประถมจะเป็นวัยเรียนหนังสือที่ต้องมองกระดานหรือจอภาพ จึงเป็นวัยที่พบสายตาผิดปกติได้บ่อย หากมีผิดปกติก็จะได้แก้ไขเพื่อประสิทธิผลของการเรียนที่ดีขึ้น (แต่โดยทั่วไปทางโรงเรียนมักจะมีการตรวจวัดสายตาคร่าว ๆ ว่าเด็กมีการมองเห็นดีหรือไม่ ถ้าผิดปกติก็จะส่งเด็กไปตรวจกับจักษุแพทย์อย่างละเอียดอีกที) ส่วนเด็กวัยมัธยมจะเป็นวัยที่มักพบสายตาผิดปกติ (เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง) ที่บางคนอาจจะเพิ่งเป็นในวัยนี้ หากพบผิดปกติก็จะได้รับการแก้ไข และสำหรับวัยก่อนเข้ามหาลัย จะเป็นวัยที่ต้องเลือกสาขาวิชาชีพที่เหมาะสม และควรได้รับการตรวจภาวะตาบอดสีด้วย เพราะจะมีข้อห้ามไม่ให้เข้าการศึกษาในบางสาขาวิชา โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการงานที่ต้องใช้สีต่าง ๆ
- อายุ 19-39 ปี อาจตรวจตาทุก ๆ 2-3 ปี เพราะวัยนี้เป็นวัยที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงของสายตาและมักจะไม่มีโรคตาอะไร
- อายุ 40-60 ปี ควรตรวจตาทุก ๆ 2 ปี เพราะวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของสายตาตามอายุที่พบได้บ่อย เช่น สายตาผู้สูงอายุ และยังอาจมีโรคตาที่เกิดจากความเสื่อม เช่น ต้อกระจก ต้อหิน
- อายุมากกว่า 60 ปี ควรตรวจตาปีละ 1 ครั้ง แม้จะไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ตาม เพราะยิ่งอายุมากขึ้นก็สมควรตรวจเป็นประจำทุกปีดังเหตุผลที่กล่าวมา
- ตรวจในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติทางตา ควรได้รับการตรวจคัดกรองถี่ขึ้นกว่าผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง (เช่น จาก 2 ปีเป็นทุก ๆ 1 ปี) หรือตรวจตามที่จักษุแพทย์แนะนำ ได้แก่
- เด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยกว่า 1,500 กรัม ควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดทันที เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะจอประสาทตาผิดปกติจากออกซิเจน (Retinopathy of Prematurity)
- เด็กที่บิดามารดามีสายตาสั้นมาก เพราะเด็กจะมีแนวโน้มมีสายตาสั้นตั้งแต่เด็ก
- เด็กที่ครอบครัวมีตาเข เพราะจะมีแนวโน้มตาเขได้
- เด็กในครอบครัวที่มีโรคทางพันธุกรรมและเด็กที่ตรวจพบโรคทางกายที่อาจมีความผิดปกติทางตาร่วมด้วย เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่เกิดมาอาจมีกลุ่มอาการผิดปกติของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งของตาได้ที่เรียกว่า Rubella syndrome
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม ควรได้รับการตรวจตาเพื่อคัดกรองโรคตั้งแต่วัยหนุ่มสาว และอาจต้องมีการตรวจละเอียดมากกว่าการตรวจตาทั่วไป
- ผู้ที่มีโรคทางกายที่มักจะมีโรคตาตามมาเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ตนเอง โรคเอดส์ โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease) ควรได้รับการตรวจตาตั้งแต่เมื่อทราบว่าเป็นโรคเหล่านี้ (ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควรตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง)
- ผู้ที่ได้รับยาบางชนิดที่ยาอาจมีผลข้างเคียงต่อตา เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาวัณโรคบางชนิด ยารักษาโรคข้อและโรคภูมิแพ้ตนเองกลุ่มคลอโรควิน (Chloroquine) ดังนั้นเมื่อม่ีการใช้ยาต่าง ๆ ก็ควรสังเกตปัญหาด้านการมองเห็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้ยาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ถ้ารู้สึกว่ามีความผิดปกติในการมองเห็นก็ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
- อื่น ๆ ได้แก่ ผู้ที่ทำงานที่ใช้สายตามาก ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ผู้ที่มีประวัติโรคทางตา (เช่น จอประสาทตาลอก อุบัติเหตุเกี่ยวกับตาหรือการสูญเสียการมองเห็นในตาข้างหนึ่งหรือสองข้าง) และผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกันที่มีอายุมากกว่า 20 ปี
การตรวจสุขภาพตาควรกระทำอย่างสม่ำเสมอแม้ยังไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อจะได้ตรวจพบโรคตาตั้งแต่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และจะได้รับการรักษาหรือแก้ไขได้ทัน
การเตรียมตัวก่อนตรวจตา
- ในวันนัดที่จะไปรับการตรวจตา นับตั้งแต่ได้ตื่นนอนไม่ควรที่จะใช้สายตาทำงานหนัก เช่น การทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์งานเย็บปักถักร้อย งานเกี่ยวกับหนังสือทุกชนิด ฯลฯ และควรไปถึงก่อนเวลานัดตรวจ
- ไม่ควรเสริมสวยที่ลูกตาหรือบริเวณใกล้เคียงกับลูกคา เช่น ไม่ใส่ขนตาปลอม ไม่ใส่ยาหยอดตาเพื่อความสวยงาม (ยกเว้นยาที่จักษุแพทย์สั่งให้ใส่อยู่ก่อน) ฯลฯ
- ให้นำแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ใช้อยู่ประจำมาด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าควรเปลี่ยนแว่นใหม่หรือไม่ และเพื่อเปรียบเทียบค่าของสายตาที่วัดได้ใหม่กับแว่นตาเก่า เพื่อประโยชน์ในการสั่งขนาดแว่นตาที่ถูกต้อง เช่น แว่นเก่ามีสายตาเอียงร่วมด้วยหรือไม่ สายตา 2 ข้างแตกต่างกันเพียงใด เพื่อจะได้เลือกขนาดเลนส์ที่เหมาะสม (ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หน้าหรือพยาบาลเสมอถ้าใส่คอนแทคเลนส์ เพราะจะต้องเอาออกก่อนถึงจะตรวจตาได้)
- ควรนำประวัติการรักษาโรคทางกายมาด้วย รวมทั้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ เพราะโรคบางโรคหรือยาบางตัวอาจมีผลต่อสายตาได้ และหากเคยผ่านการรักษาตาจากแพทย์ท่านอื่นมาแล้วก็ควรจะนำยาเก่าทางโรคตามาด้วย เพื่อจะได้พิจารณาว่ายังใช้ยาต่อได้หรือไม่ หรือควรเลือกยาที่เข้มขึ้นหรือควรเปลี่ยนยา นอกจากนี้ผู้เข้ารับการตรวจควรจะแจ้งแพทย์หรือพยาบาลถึงประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สิ่งต่าง ๆ ด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสั่งยาดังกล่าว
- ควรเตรียมแว่นกันแดดขนาดใหญ่และหมวกที่มีปีกบังหน้าผากติดตัวไปด้วยเพื่อใช้ตอนกลับบ้าน เนื่องจากหากมีการตรวจที่ต้องถูกยาหยอดตาเพื่อขยายม่านตา จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อบังแสงจ้าและป้องกันอาการเคืองตาตอนกลับบ้าน
- ถ้าเป็นไปได้ควรมีผู้ติดตามที่คอยช่วยเหลือไปด้วย เพื่อการเดินกลับบ้านอย่างปลอดภัย เพราะภายหลังการตรวจตา สายตาจะพร่ามัวชั่วคราวประมาณ 2-4 ชั่วโมงจนไม่ปลอดภัยที่จะเดินทางด้วยตัวคนเดียว (ในกรณีที่มีการตรวจภายในลูกตา เช่น น้ำวุ้นตา จอประสาทตา ที่จำเป็นต้องได้รับยาขยายม่านตา) แต่ถ้าไม่มีผู้ติดตามมาด้วยก็ไม่ควรขับรถมาเอง
ขั้นตอนการตรวจตา
- การซักประวัติโดยจักษุแพทย์ เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญที่ผู้เข้ารับการตรวจควรบอกเล่าความจริงให้คุณหมอทราบ โดยข้อมูลที่จักษุแพทย์มักถามจะมีดังนี้
- อาการผิดปกติที่รบกวนการมองเห็นในปัจจุบัน เช่น อ่านหนังสือแล้วรู้สึกไม่สบายตา ขับรถยนต์สวนกับรถคันอื่นในเวลากลางคืนแล้วตามักทนแสงไฟหน้ารถไม่ค่อยได้
- โรคประจำตัวที่เคยเป็นและกำลังเป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อุบัติเหตุซึ่งเคยเกิดที่ตา ฯลฯ
- ประวัติโรคตาของบุคคลในครอบครัว เช่น โรคต้อหิน หรือโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน
- การตรวจตาภายนอกทั่วไปโดยจักษุแพทย์ (External examination) ซึ่งจะเป็นการตรวจดูหนังตา ความห่างของขอบหนังตาบนและหนังตาล่างขณะลืมตาเต็มที่ว่าอยู่ตำหน่งปกติหรือไม่ ดูว่ามีขี้ตาติดที่เปลือกตาหรือไม่ ดูขนตา ท่อน้ำตา ตำแหน่งของดวงตาทั้งสองข้างว่าสมมารตกันหรืออยู่ตรงกลางหรือไม่ มีตุ่มหรือมีก้อนอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ รวมถึงตรวจดูเยื่อตา เปลือกตาขาว กระจกตา และม่านตา
- การตรวจวัดสายตาหรือความสามารถในการมองเห็น (Visual Acuity Test) เป็นการตรวจโดยเจ้าหน้าที่ในทีมงานของจักษุแพทย์ นั่นคือการอ่านป้ายสเนลเลน (Snellen Chart) ซึ่งเป็นป้ายที่มีตัวเลขหรือตัวอักษรขนาดต่าง ๆ ที่ระยะมาตรฐาน 6 เมตร การตรวจวัดจะทำกับตาทีละข้าง เพราะมีผู้ป่วยหลายคนที่มองเห็นตาเดียวโดยไม่รู้ตัว อนึ่ง ในเด็กอาจเป็นแผ่นป้ายที่เป็นรูปสัตว์ ในผู้ที่ไม่รู้หนังสือแผ่นป้ายอาจเป็นสัญลักษณ์ตัว E ซึ่งมีคว่ำหงาย ชี้ไปทางซ้ายและทางขวา ส่วนในผู้สูงอายุที่มีสายตาผู้สูงอายุอาจมีการวัดสายตาระยะใกล้ด้วย อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ การตรวจวัดสายตา
- การทดสอบตาบอดสี (Color Blindness Test) คือ การทดสอบความสามารถในการมองเห็นสี มักใช้ในการตรวจคัดกรองตาบอดสีในเด็กและในผู้ที่ต้องประกอบอาชีพที่ต้องมีการมองเห็นสีที่ปกติ เช่น นักบิน ทหาร ผู้บังคับจราจรทางอากาศ พนักงานขับรถ ฯลฯ อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ การทดสอบตาบอดสี
- การตรวจวัดความดันลูกตาด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Tonometer เป็นการตรวจเพื่อวัดว่าความดันภายในลูกตาสูงเกินปกติหรือไม่ ซึ่งหากสูงกว่าปกติก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหิน โดยลักษณะของอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจะเป็นการใช้ลมเป่าพ่นต่อกระจกตา (Air-puff test) ที่ไม่ทำให้เจ็บปวดแต่อย่างใด
- ค่าความดันภายในลูกตาในระดับปกติ คือ 12 – 22 มม.ปรอท
- การตรวจวัดลานสายตา (Visual Field Test) เป็นการตรวจเพื่อดูว่าผู้เข้ารับการตรวจยังมีลานประสาทตา (หรือจอรับภาพ) เป็นปกติหรือไม่ หากมองเห็นภาพแคบลงก็ย่อมแสดงถึงอาการเริ่มต้นของโรคต้อหินหรือโรคจอประสาทตาเสื่อม (Macular degeneration) โดยการตรวจคัดกรองในเบื้องต้นจะตรวจด้วยวิธีหันหน้าเข้าหากัน หากต้องตรวจให้ละเอียดขึ้นจะใช้เครื่องตรวจที่เรียกว่า Perimeter ซึ่งมีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดใช้คอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Computerized visual field test ซึ่งจำเป็นในการวินิจฉัยและรักษาโรคต้อหิน อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ การตรวจวัดลานสายตา
- การวัดสายตาด้วยอุปกรณ์และวิธีการที่เรียกว่า Retinoscopy ซึ่งจะมีทั้งอุปกรณ์ชนิดวัดด้วยมือและชนิดอัตโนมัติ เป็นการตรวจต่อเนื่องจากผู้ที่ผ่านการตรวจวัดสายตา (Visual Acuity Test) มาแล้ว ผู้ที่มีสายตาปกติ 20/20 ไม่ต้องมาตรวจ Retinoscopy แต่ผู้มีสายตานอกนั้นต้องมารับการตรวจด้วยอุปกรณ์นี้ โดยการตรวจใช้หลักการทำงานโดยการสะท้อนของแสงจากจอรับภาพของตา (Retina) ของผู้เข้ารับการตรวจ ซึ่งจะทำให้จักษุแพทย์ประมาณการได้อย่างคร่าว ๆ ว่า ผู้รับการตรวจสายตาสั้นหรือสายตายาว
- การตรวจสายตาเพื่อวัดความคมชัด (Refraction) หรือการวัดสายตาด้วยอุปกรณ์โฟรอปเตอร์ (Phoropter) เป็นการวัดค่าสายตาให้ได้ผลออกมาเป็นตัวเลข เพื่อให้สามารถนำไปให้ช่างแว่นตาประกอบเลนส์กับกรอบแว่นได้ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจะมีลักษณะเป็นชุดของเลนส์กระจกหลายชั้น แขวนห้อยให้ตรงพอดีกับลูกตาของผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อให้สามารถอ่านตัวเลขหรือตัวอักษรที่มองเห็นให้ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่จักษุแพทย์จะเปลี่ยนเลนส์ที่มีขนาดกำลังต่าง ๆ กัน (เจ้าหน้าจะจัดชุดเลนส์ใส่ไว้ในโฟรอปเตอร์อย่างเหมาะสมใกล้เคียงกับกำลังสายตา เพราะทราบได้จากการตรวจ Retinoscopy ที่ผ่านมาว่าผู้เข้ารับการตรวจมีสายตาสั้นหรือสายตายาว)
- ตัวอย่างค่าสายตา เช่น R -2.00 -1.00 x 180, L -1.75 -1.00 x 180 จะหมายถึง
- R คือ ค่าสายตาของตาข้างขวา ส่วน L คือ ค่าสายตาของตาข้างซ้าย
- ตัวเลขแรก คือ -2.00 หมายถึง สายตาสั้นขนาด -2.00 (หากเป็นเลขบวก + จะหมายถึงสายตายาว) ส่วน -1.75 คือ สายตาสั้นขนาด -1.75 (โปรดสังเกตว่าสายตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน)
- ตัวเลขที่สอง คือ -1.00 หมายถึง สายตาเอียงและสั้นขนาด -1.00
- ตัวเลขที่สาม คือ x 180 หมายถึง สายตาเอียงเนื่องจากรูปร่างของลูกตาคล้ายรูปไข่
- ตัวอย่างค่าสายตา เช่น R -2.00 -1.00 x 180, L -1.75 -1.00 x 180 จะหมายถึง
- การวัดสายตาด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Autorefractor) เป็นการวัดค่าสายตาเพื่อให้ได้ผลออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนและชัดเจน สำหรับใช้ในการนำไปตัดแว่นเช่นเดียวกับการตรวจด้วยอุปกรณ์โฟรอปเตอร์ (Phoropter) ทุกประการ แต่เป็นการตรวจวัดด้วยนระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานแบบอัตโนมัติ จึงให้ผลการวัดที่รวดเร็วและแม่นยำกว่า
- การตรวจสุขภาพตาทั้งส่วนที่อยู่ด้านหน้าเลนส์ตาและภายในทางด้านหลังของเลนส์ตาด้วยอุปกรณ์ Slit-Lamp ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเป็นกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง ซึ่งมีแสงสะท้อนช่วยส่องสว่าง จึงทำให้สามารถมองลึกเข้าไปได้จากรูม่านตาจนเห็นรายละเอียดของจอประสาทตา ขั้วประสาทตา ฯลฯ โดยอุปกรณ์นี้นับเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของจักษุแพทย์ที่พบเห็นได้ทั่วไปและใช้บ่อยที่สุด และการตรวจด้วยอุปกรณ์นี้มิใช่ตรวจได้เพียงเฉพาะความผิดปกติของสายตาทางด้านการหักเหของแสงเท่านั้น แต่สามารถที่จะตรวจเห็นความผิดปกติจากการติดเชื้อ การอักเสบ รวมทั้งโรคตาอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคจอประสาทตาถูกทำลายจากโรคเบาหวานลงตา โรคแก้วตาเปื่อย ฯลฯ แต่ก่อนถึงเวลาตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการหยอดยาเพื่อขยายม่านตาให้ค้างไว้ก่อนเพื่อให้สามารถดูรายละเอียดของจอประสาทตาได้กว้างมากขึ้น (เป็นยาที่แสบตา แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้รู้สึกเจ็บปวด และยาจะใช้เวลาในการออกฤทธิ์นาน หลังจากหยอดตาจึงจำเป็นต้องนอนรอ และสายตาอาจจะพร่ามัวต่อไปอีกประมาณ 4 ชั่วโมง) เพราะในขณะตรวจจะมีแสงสว่างส่องเข้ามาที่ดวงตาซึ่งจะทำให้รูม่านตาหดเล็กลง
- การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตาทั้ง 6 มัดในตาแต่ละข้าง โดยจะให้ผู้เข้ารับการตรวจกลอกตาไปมาในทิศทางต่าง ๆ ร่วมกับตรวจภาวะตาเข ตาเขซ่อนเร้น ตาเขเทียม ด้วยเครื่องตรวจต่าง ๆ
- การตรวจอื่น ๆ เนื่องจากตาเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมาก แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มีกลไกการทำงานที่ละเอียดอ่อน จึงมีข้อมูลความบกพร่องที่อาจต้องตรวจอีกมากมาย ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรตรวจอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษอีกหรือไม่ในบางราย (สำหรับวิธีการตรวจเท่าที่ยกตัวอย่างมาในเบื้องต้นก็น่าจะครอบคลุมการตรวจปกติแล้ว)
- การสรุปผลตรวจ โดยทั่วไปเมื่อตรวจตาเสร็จ จักษุแพทย์จะแจ้งผลตรวจให้ผู้เข้ารับการตรวจทราบ พร้อมกับให้คำแนะนำ สั่งยา (ถ้ามี) และนัดหมายการตรวจครั้งต่อไป ในขั้นตอนนี้จึงเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจควรจะต้องใส่ใจให้มากเป็นพิเศษ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ก็ควรจะไต่ถามคุณหมอโดยทัน และควรมีสมุดพกพร้อมปากกา (หรืออาจบันทึกไว้ในโทรศัพท์) เพื่อบันทึกข้อมูลที่ควรจดจำไว้ด้วย เพราะคุณหมอท่านจะชี้แจงผลการตรวจทั่วไปว่าปกติหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะข้อมูลผิดปกติต่าง ๆ ที่ตรวจพบ เช่น โรคตาทั่วไป ปัญหาสายตาที่กระทบต่อการมองเห็น (เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาผู้สูงอายุ สายตาพร่าต่างแนว การเห็นภาพซ้อน) รวมไปถึงการให้คำแนะนำเบื้องต้นเพื่อดูแลปกป้องสายตา เช่น
- ควรสวมแว่นตาป้องกัน UV ทุกครั้งที่ตาจะต้องมองฝ่าแดด (แม้ตัวจะอยู่ในร่ม)
- ควรเลิกสูบบุหรี่และลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
- ต้องควบคุมความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลให้ได้ และหากเป็นโรคเบาหวานก็จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้
- การเลือกกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น พืชใบเขียวจัด ผักที่มีสีสัน ผลไม้สีสด รวมทั้งอาหารเสริมที่ประกอบด้วยวิตามินซี อี ธาตุซีลีเนียม เบต้าแคโรทีน ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ที่เป็นวัตถุดิบให้ร่างกายใช้ผลิตวิตามินเอที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงสุขภาพตาโดยตรง
- ภายหลังการตรวจตาทั่วไป ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้าน กลับไปทำงาน และใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยกเว้นในกรณีที่ตาพร่าจากการหยอดยาขยายม่านตาที่ควรจะต้องพักจนกว่าตาจะหายพร่า จึงค่อยทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ผลข้างเคียงจากการตรวจตา
การตรวจตามีประโยชน์อย่างมากตามที่กล่าวมาข้างต้นและเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ในผู้เข้ารับการตรวจบางรายอาจมีปัญหาหลังการตรวจตาได้บ้าง แต่ก็พบได้น้อยมาก ซึ่งที่พอพบได้บ้างก็คือ
- ระหว่างการตรวจตาอาจต้องมีเครื่องมือสัมผัสตาโดยที่ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องมองนิ่ง ๆ หากมีการกลอกตาไปมาเครื่องมืออาจทำให้ผิวตาถลอกและเจ็บปวดตาได้หลายชั่วโมง แต่จะกลับเป็นปกติได้เองภายใน 1-2 วัน ถ้ามีอาการมาก ส่งผลต่อการมองเห็น หรือมีความกังวลในอาการก็ควรกลับไปโรงพยาบาล
- ยาหยอดขยายม่านตาบางตัวอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นมากอย่างกะทันหันได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น ถ้ามีโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ก็ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบก่อนเสมอ เพื่อระมัดระวังการเลือกยาที่ใช้ให้เหมาะสม
- ผลตามมาหลังจากหยอดยาขยายม่านตาจะทำให้มีอาการแสบตา ตาพร่ามัวชั่วคราว ประมาณ 2-4 ชั่วโมง
- ผลจากยาขยายม่านตาในผู้เข้ารับการตรวจบางรายที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคต้อหินเฉียบพลันอยู่แล้ว ยาขยายม่านตาอาจกระตุ้นให้เกิดอาการของต้อหินได้ หากกลับบ้านแล้วมีอาการปวดตามากก็ควรกลับไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อรับการรักษาควบคุมโรคต้อหิน
- การแพ้ยาชาที่หยอดตาที่ใช้ในการตรวจวัดความดันลูกตา ทำให้มีอาการเจ็บตา ตาแดง หนังตาบวมหลายวัน แต่อาการจะเป็นไม่มากและหายไปได้เอง แต่ถ้ามีอาการมากหรือมีปัญหาด้านการมองเห็นหรือมีความกังวลในอาการก็ควรกลับไปโรงพยาบาล
- การหยอดยาชามากเกินไป ในผู้เข้ารับการตรวจบางรายที่ต้องมีการตรวจหรือการรักษาที่ต้องใช้ยาชาหยอดนำไปก่อน ซึ่งยาชาที่หยอดไปหลายหยดอาจจะไปทำให้ผิวตาดำถลอกและก่อให้เกิดอาการเจ็บอย่างมากตามมาได้ ซึ่งกว่าแผลถลอกจะหายเป็นปกติจะต้องใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง หากมีปัญหาด้านการมองเห็น เจ็ฐตามากหรือมีความกังวลในอาการก็ก็ควรรีบกลับไปโรงพยาบาลเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจสายตาโดยจักษุแพทย์ (Eye Examination by Ophthalmologist)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 211-260.
- หาหมอดอทคอม. “การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [23 ก.ค. 2018].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)