การตรวจวัดสายตา / การตรวจสายตา (VA : Visual Acuity Test)

การตรวจวัดสายตา

การตรวจวัดสายตา, การวัดสายตา, การวัดระดับสายตา, การตรวจสายตา หรือการตรวจสายตาขั้นพื้นฐาน (Visual acuity test หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “VA”) คือ การตรวจความชัดเจนหรือรายละเอียดในการมองเห็น (การตรวจความสามารถในการมองเห็นได้อย่างชัดเจน) จัดเป็นการตรวจสายตาอย่างง่าย เพียงแค่ผู้รับการตรวจอ่านตัวเลข ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ที่แสดงในป้ายมาตรฐานจากระยะห่างที่กำหนดตามที่พนักงานประจำอุปกรณ์ชี้ให้อ่านก็เป็นอันเสร็จสิ้นการตรวจ

การตรวจวัดสายตาเป็นหนึ่งในการทดสอบหรือตรวจการมองเห็น (Visual function) ซึ่งจะมีทั้งการทดสอบที่เป็น Subjective tests อันได้แก่ การตรวจวัดสายตา (Visual acuity) ที่กำลังกล่าวถึงในบทความนี้ การทดสอบการมองเห็นสี (Color vision) การทดสอบลานสายตา (Visual field) เป็นต้น และการทดสอบที่เป็น Objective tests อันได้แก่ การวัดความดันลูกตา การตอบสนองของรูม่านตา เป็นต้น นอกจากนี้การตรวจวัดสายตายังถือเป็นเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ (Eye examination) และการตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป (General physical examination) ด้วย

จุดประสงค์ของการตรวจวัดสายตา

การตรวจวัดสายตาจะมีความจำเป็นก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าการมองเห็นมีปัญหา มีความผิดปกติ หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น ซึ่งหากได้รับการตรวจวัดสายตาอย่างทันท่วงทีและพบปัญหาในระยะแรก ก็จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาตานั้น ๆ ได้ก่อนที่จะมีอาการแย่ลง โดยจุดประสงค์ของการตรวจวัดสายตา ได้แก่

  • เพื่อตรวจสุขภาพตาเบื้องต้น ตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตา (เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นตา) และตรวจสอบความสามารถในการมองเห็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลชั้นต้นในกรณีที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา เช่น การเกิดความเปลี่ยนแปลงซึ่งผิดปกติไปจากเดิมที่เคยเห็นชัดมาเป็นไม่ชัด, การเกิดโรคตาต่าง ๆ หรือเกิดปัญหาใหม่ในการมองไม่เห็น
  • ใช้ตรวจในผู้ที่มีอาการตามัวมองเห็นไม่ชัดทั้งใกล้และไกล ต้องเอียงหน้าหรือหรี่ตามอง หรือมีอาการปวดศีรษะเมื่อใช้สายตาแค่ไม่นาน หรือมีการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในคนที่มีประโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิสูง
  • เพื่อตรวจว่าอาการปวดศีรษะเรื้อรังมีสาเหตุมาจากปัญหาทางด้านสายตาหรือไม่
  • เพื่อตรวจสอบว่าการมองเห็นได้รับผลกระทบหรือไม่ ในกรณีที่รับการบาดเจ็บที่ดวงตา
  • เพื่อใช้พิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์เพื่อช่วยในการมองเห็นหรือไม่
  • เพื่อใช้สอบใบขับขี่หรือต่อใบขับขี่ใหม่ หรือตรวจวัดสายตาสำหรับสายงานบางประเภท
  • เพื่อตรวจวัดสายตาสำหรับเด็กวัยเรียนที่มีปัญหาในการอ่านหนังสือ มีประสิทธิภาพในการเรียนที่ไม่ดี หรือมองเห็นไม่ชัดหรือมองเห็นภาพเบลอ
  • เพื่อตรวจดูว่าการรักษาปัญหาทางด้านสายตานั้น ๆ ได้ผลดีหรือไม่

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกนัยน์ตา ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจความสามารถในการมองเห็น (VA) เป็นด้านแรกเสมอ ก่อนจะไปรับการตรวจอื่น ๆ และรักษาปัญหาต่อในแต่ละกรณีต่อไป

ป้ายตรวจวัดสายตา

ป้ายตรวจวัดสายตา (Visual acuity chart) มีอยู่ด้วยการหลายแบบ แต่แบบที่เป็นมาตรฐานและใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “Snellen visual acuity” โดยการใช้ป้ายตรวจวัดสายตาที่เรียกว่า “สเนลเลนชาร์ต” (Snellen Chart) ส่วนป้ายทดสอบอื่น ๆ ได้แก่ ETDRS chart ซึ่งจะนิยมใช้ในการศึกษาหรืองานวิจัย เนื่องจากขนาดของตัวอักษรเป็น log unit (log MAR system) สำหรับการตรวจวัดสายตาในเด็กเล็กอาจใช้ป้ายทดสอบที่รูปการ์ตูนหรือรูปภาพ (Allen picture or cards) เพื่อให้เด็กสนใจและร่วมมือในการตรวจ

สำหรับป้ายตรวจวัดสายตาที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ถูกคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นโดยจักษุแพทย์ชาวดัตช์ชื่อ “เฮอร์มาน สเนลเลน” (Herman Snellen) เมื่อปี ค.ศ.1862 เพื่อใช้ตรวจวัดความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยทางสายตา ด้วยแต่ละคนจะมีระดับความสามารถในการมองเห็นที่ต่างกัน คุณหมอจึงใช้ความสามารถของสายตาของคนปกติเป็นหลักในการประดิษฐ์ขนาดของตัวอักษรหรือตัวเลข เพื่อเขียนลงบนแผ่นป้ายให้ผู้ป่วยอ่านในระยะเท่าที่ความสามารถทางสายตาจะอ่านได้ โดยอาศัยหลักการดังนี้

  1. มนุษย์ที่มีสุขภาพสายตาเป็นปกติดีจะสามารถมองเห็นวัสดุ 2 สิ่งแยกจากกันได้ชัดเจน โดยหากวัสดุ 2 สิ่งนั้นอยู่ห่างกันพอที่จะทำให้เกิดมุมการมองเห็น (Visual angle) ที่ดวงตา เท่ากับ 1 ลิปดา จะต้องมีเงื่อนไขที่ช่วยสนับสนุนการมองเห็นด้วย กล่าวคือ
    • ต้องมีแสงหรือความสว่างในระดับที่เพียงพอ
    • ต้องมีความแตกต่างกันระหว่างสีของวัตดุ 1 สิ่งมากพอ เช่น วัสดุชิ้นหนึ่งมีสีขาว อีกชิ้นเป็นสีดำ เป็นต้น
    • วัสดุ 2 สิ่งนั้นต้องอยู่ไกลจากดวงตาในระยะทางมาตรฐาน 6 เมตร (20 ฟุต) เพราะจากการค้นคว้าพบว่า หากวัสดุ 2 สิ่งนั้นอยู่ห่างกันน้อยที่สุด แต่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดมุมการมองเห็นได้เท่ากับ 1 ลิปดา ก็ย่อมแสดงว่า วัสดุ 2 สิ่งนั้นอยู่ห่างกันประมาณ 1.75 มิลลิเมตร หรือเท่ากับ อาร์คหนึ่งลิปดา (1 arc minute) แต่ในทางปฏิบัติเพื่อการวัดสายตาในบุคคลทั่วไป คุณหมอสเนลเลนได้กำหนดให้วัตถุที่มองมีขนาดรองรับมุมเท่ากับ อาร์คห้าลิปดา (5 minutes of arc) เป็นมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
    • ผู้ใช้สายตาจะต้องไม่มีกำลังสายตาผิดปกติ เช่น ไม่มีสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาพร่า นลน
  2. เมื่ออาศัยหลักการจากข้อแรก คุณหมอสเนลเลนจึงได้สร้างป้ายวัดสายตาแบบง่าย ๆ แต่สอดคล้องกับหลักความสามารถในการมองเห็นของมนุษย์ โดยมีหลักการประดิษฐ์ดังนี้
    • สีพื้นของป้ายจะต้องเป็นสีขาวและไม่สะท้อนแสง ส่วนชนิดของเป้าสายตา (Optotypes) เพื่อการอ่านให้ใช้สีดำเป็นหลัก โดยเป้าสายตานั้นอาจจะเป็น 1.ตัวเลข (สำหรับผู้ไม่รู้ภาษาอังกฤษ) 2.ตัวอักษรภาษาอังกฤษ (สำหรับผู้รู้ตัวหนังสือภาษาอังกฤษ) หรือ 3.ตัวอักษรตัว E อย่างเดียว แต่เปลี่ยนรูปร่างการวาง (สำหรับผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกหรือในเด็กก่อนวัยเรียน)
    • ตัวอักษรหรือตัวเลขจะต้องมีลักษณะเป็นแท่งเหลี่ยม โดยมีรายละเอียดและสัดส่วนของตัวอักษรที่เหมาะสม (ต้องวางตัวอักษรไม่ถี่หรือชิดกันจนเกินไป)
    • ขนาดของตัวอักษรหรือตัวเลขจะต้องมีความใหญ่ลดหลั่นกันลงมาตามลำดับจนถึงตัวเล็กที่สุด โดยตัวอักษรซึ่งอยู่บนสุดที่จะให้ผู้มีสายตาดีอ่านได้ในระยะ 6 เมตร (20 ฟุต) โดยให้ใช้มุมการมองเห็นในขนาด 5 ลิปดา ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความกว้างเท่ากับ 88.7 มิลลิเมตร (1.75 x 5)
  3. ป้ายตรวจสายตา Snellen ที่จัดทำเสร็จ มักจะนำไปติดตั้งชิดกับฝาผนังในห้องโถงตรวจสายตา ซึ่งควรมีพื้นที่ว่างและโล่ง โดยมีระยะห่างจากหน้าแผ่นป้ายอย่างที่สุด 6-10 เมตร
  4. ต้องมีการขีดเส้นที่พื้นห้องบริเวณหน้าแผ่นป้ายในระยะ 6 เมตรให้เห็นชัดเจน เพื่อจะได้จัดเก้าอี้แถวแรกให้ผู้รับการตรวจนั่งโดยไม่ใกล้และไกลจากเส้นนั้น
  5. ในห้องตรวจต้องจัดให้มีแสดงสว่างอย่างเพียงพอ

แผ่นป้ายตรวจวัดสายตา
IMAGE SOURCE : www.anewvision.org

สเนลเลนชาร์ต
IMAGE SOURCE : www.precision-vision.com

ป้ายตรวจวัดสายตา
IMAGE SOURCE : www.precision-vision.com

การเตรียมตัวก่อนตรวจวัดสายตา

  • หากสวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์อยู่แล้ว ให้นำไปด้วย เพราะจำเป็นต้องใช้ในการตรวจ และหากมีสำเนาใบสั่งทำแว่นตาจากแพทย์ก็ควรนำไปประกอบการตรวจด้วย
  • มียาหลายชนิดที่ส่งผลต่อการมองเห็นและการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจจึงควรแจ้งให้แพทย์ทรายถึงยาที่ใช้ก่อนตรวจ นอกจากนั้นหากมีข้อสงสัยหรือความกังวลใด ๆ เกี่ยวกับการตรวจวัดสายตา ก็ควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์ให้เข้าใจถึงขั้นตอนการตรวจ
  • สำหรับเด็กเล็ก เพื่อช่วยให้เด็กให้ความร่วมมือได้เป็นอย่างดีเมื่อเข้ารับการตรวจ ผู้ปกครองอาจสอนบุตรหลานให้ฝึกทำการตรวจที่บ้านก่อนไปตรวจในสถานที่จริง

ขั้นตอนการตรวจวัดสายตา

  1. การตรวจวัดสายตาอาจทำได้ที่โรงพยาบาล คลินิก โรงเรียน ที่ทำงาน หรือร้านแว่นตา โดยก่อนเริ่มขั้นตอนการตรวจวัดสายตา เจ้าหน้าที่ประอุปกรณ์จะให้ถอดอุปกรณ์ช่วยการมอง เช่น แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ออกก่อน (ถ้ามี)
  2. จากนั้นผู้เข้ารับการตรวจจะถูกเชิญให้เข้าไปนั่งในห้องตรวจ ซึ่งจะมีเก้าอี้ตั้งอยู่หากจากป้ายวัดสายตา Snellen Chart ที่ระยะ 6 เมตร (20 ฟุต) พอดี ๆ (ในปัจจุบันสถานพยาบาลหลายแห่ง ไม่ได้ใช้ป้ายเขียนตัวเลขหรือตัวอักษรแล้ว แต่จะมีเพียงจอว่าง ๆ สำหรับฉายสไลด์ เมื่อจะเริ่มตรวจจึงจะฉายสไลด์เพื่อปรากฏกลุ่มตัวเลขหรือตัวอักษรให้อ่านบนจอ) และเริ่มการตรวจด้วยการให้ผู้เข้ารับการตรวจมองแผ่นป้ายด้วยตาเปล่าทั้ง 2 ข้าง จากนั้นจะให้ปิดตาทีละข้างด้วยกระดาษแข็งหรือด้วยอุปกรณ์ปิดตา (Occluder) แต่ไม่ควรใช้มือหรือแผ่นอะไรไปกดบนตา เพราะจะทำให้ตาข้างนั้นมัวได้เมื่อเปิดออกมาเพื่อทดสอบอีกข้าง แล้วให้อ่านตัวเลขหรือตัวอักษรทีละแถวจากบนลงล่าง หากมองไม่ค่อยเห็นหรืออ่านแล้วไม่แน่ใจ ทางเจ้าหน้าที่จะให้เดา การทดสอบนี้จะทำทีละข้าง และจะตรวจซ้ำอีกครั้งถ้าผู้เข้ารับการตรวจมีอุปกรณ์ช่วยการมอง

    การตรวจวัดระดับสายตา
    IMAGE SOURCE : meded.ucsd.edu

  3. หากผู้เข้ารับการตรวจอ่านไม่ได้ถึงแถว 6/6 เจ้าหน้าที่จะให้สวมอุปกรณ์ช่วยการมอง (หากมีอยู่) หรืออ่านด้วยการมองผ่านรูเล็ก (Pinhole) ด้วยตาทีละข้าง เพราะการมองผ่านรูเล็ก ๆ จะช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีสายตาผิดปกติ

    การมองผ่านรูเล็ก Pinhole
    IMAGE SOURCE : meded.ucsd.edu

  4. หากที่ระยะ 6 เมตรไม่สามารถอ่านแถวที่อยู่บนสุดได้ เจ้าหน้าที่จะให้ขยับเข้าไปใกล้ทีละ 1 เมตร แต่ถ้าอยู่ห่างจากป้ายวัดสายตาที่ระยะ 1 เมตรแล้วยังอ่านไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะตรวจด้วยวิธีการให้นับนิ้วมือ หรือ “Counting finger” (CF) โดยชูนิ้วจำนวนต่าง ๆ กันไว้หน้าของผู้เข้ารับการตรวจแล้วถามว่าเห็นกี่นิ้ว หากนับนิ้วไม่ได้ก็แสดงว่าสายตามัวมาก เจ้าหน้าจะใช้วิธีการแกว่งมือ หรือ “Hand movement” (HM) แล้วถามว่าเห็นอะไรเคลื่อนไหวหรือไม่ แต่มองไม่เห็นการเคลื่อนไหวก็จะตรวจด้วยการใช้ไฟฉายส่องหน้าในทิศทางต่าง ๆ หากตอบได้ถูกต้องว่าลำแสงไฟฉายส่องมาจากทางทิศทางใดก็ถือว่าสามารถเห็นลำแสงไฟจากทิศต่าง ๆ ได้ ก็จะบันทึกผลลงว่า “Light projection” (LPJ) แต่หากตอบว่าเห็นแต่แสง แต่บอกไม่ได้ว่าลำแสงไฟฉายนั้นส่องมาจากทิศใดก็จะบันทึกว่า “Light perception” (LP) และถ้ายังตอบไม่ได้อีกว่าเห็นแสงไฟหรือไม่ หรือไม่รู้สึกแตกต่างกันเลยก็แสดงว่า ความสามารถของการมองเห็นรับแสงไม่ได้เลย ในกรณีนี้ก็จะถูกบันทึกผลลงไปว่า “No light perception” (NLP) ซึ่งมีนัยสำคัญที่แปลว่าตาบอดสนิท (Total blindness)
  5. นอกจากการตรวจด้วยป้าย Snellen Chart ระยะไกลแล้ว เจ้าหน้าที่อาจให้ทำการตรวจวัดสายตาในระยะใกล้ด้วยการใช้แผ่นทดสอบระยะใกล้ (Near vision card) ที่ระยะ 14 นิ้ว โดยให้อ่านพร้อมกันด้วยตาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งแผ่นทดสอบอาจจะเป็นตัวเลขหรือตัวอักษรที่มีขนาดลดหลั่นกันเหมือนบน Snellen Chart หรือเป็นแผ่นทดสอบเจเกอร์ (Jaeger Chart) ที่เป็นตัวหนังสือให้เป็นโยคให้อ่านก็ได้ (การทดสอบในระยะใกล้นี้จะทำเป็นประจำหลังอายุ 40 ปี เพราะความสามารถในการมองเห็นระยะสั้นจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น)

    แผ่นตรวจวัดสายตาระยะใกล้
    IMAGE SOURCE : meded.ucsd.edu

  6. หลังการตรวจแพทย์จะแจ้งผลให้ทราบว่าการมองเห็นของตาแต่ละข้างมีความปกติหรือมีสายตาแย่ลงกว่าปกติหรือไม่ โดยถ้าผลตรวจออกมาได้ 20/20 ก็หมายความว่า การมองเห็นในระยะ 20 ฟุตของตาข้างนั้นจากวัตถุเป็นปกติ แต่หากได้ผลเป็น 20/60 จะหมายความว่า ต้องมองวัตถุในระยะ 20 ฟุต แต่คนปกติสามารถมองเห็นเป็นปกติได้ในระยะ 60 ฟุต เป็นต้น
  7. หากความสามารถในการมองเห็นไม่เป็นปกติหรือไม่ได้เป็น 20/20 (ฟุต) หรือ 6/6 (เมตร) ก็อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าอาจต้องใส่แว่นสายตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ หรืออาจหมายความว่ามีภาวะบางอย่างทางตา เช่น การติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บซึ่งต้องได้รับการตรวจประเมินเพิ่มเติมเพื่อทำการรักษาต่อไป

ขั้นตอนการตรวจวัดสายตานี้จะไม่มีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงใด ๆ ต่อผู้เข้ารับการตรวจ รวมไปถึงไม่ทำให้เกิดความยากลำบากหรือความเจ็บปวดแต่อย่างใด และภายหลังการตรวจก็ไม่จำเป็นต้องดูแลใด ๆ เป็นพิเศษ

การแปลผลตรวจวัดสายตา

เนื่องจากความสามารถในการมองเห็นเป็นข้อมูลลักษณะเฉพาะของตัวบุคคล จึงมีผลที่อาจใช้อ้างอิงทางด้านกฎหมายเพื่อการได้สิทธิหรือป้องกันการเสียสิทธิบางประการได้ เช่น

  • ใบอนุญาตขับรถยนต์จะออกให้เฉพาะผู้มีระดับสายตา 20/40 หรือดีกว่า
  • ใบอนุญาติขับเครื่องบินจะออกให้เฉพาะผู้มีสายตาระดับ 20/20
  • ในสหรัฐอเมริกาจะถือว่าบุคคลใดก็ตามที่มีตาข้างที่ดีที่สุด ซึ่งได้สวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ปรับระดับการมองเห็นให้แล้ว แต่ความสามารถในการมองเห็นยังมีค่าเท่ากับ 20/200 หรือน้อยกว่า จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในสภาวะตาบอด (อยู่ในสภาวะตาบอดตามกฎหมาย หรือถือว่าตาบอดในทางนิตินัย) และจะได้รับสิทธิในการขอค่าลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล
  • ในออสเตรเลียจะถือว่าบุคคลใดก็ตาม แม้จะได้ใช้อุปกรณ์ช่วยการมองเห็น (เช่น แว่นตา คอนแทคเลนส์) แต่ความสามารถในการมองเห็นของตาทั้งสองข้างนั้นหากยังน้อยกว่า 6/60 ก็จะได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นผู้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

ด้วยเหตุนี้ การบันทึกผลการตรวจจึงมีลักษณะเป็นสากลโดยการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษแทนรหัสต่าง ๆ (แม้จะมีพยาบาลบันทึกผลให้ แต่ผู้อ่านก็ควรจะได้รับทราบไว้บ้างถึงความเป็นมา) โดยลักษณะแสดงผลการตรวจวัดสายตา (VA) จะมีบันทึกคำที่สำคัญดังนี้

  • บันทึกในด้านระยะทางจากป้ายตรวจวัดสายตาถึงดวงตา โดยใช้คำย่อว่า
    • D มาจากคำว่า Distant คือ วัดจากระยะไกลด้วยป้ายสเนลเลนที่ระยะ 6 เมตร (20 ฟุต)
    • N มาจากคำว่า Near คือ วัดจากระยะใกล้ด้วยแผ่นป้ายขนาดเล็กแบบชนิดที่ถือด้วยมือ
  • บันทึกในด้านอุปกรณ์ช่วยการมองเห็นให้ดวงตา เช่น แว่นตา คอนแทคเลนส์
    • sc (คำละติน : sine correctore) หมายถึง ไม่มีการใช้อุปกรณ์ช่วยการมอง
    • cc (คำละติน : cum correctore) หมายถึง มีการใช้อุปกรณ์ช่วยการมอง เช่น มีแว่นตา มีคอนแทคเลนส์
  • บันทึกในด้านดวงตาข้างที่ถูกตรวจ
    • OD (คำละติน : Oculus dexter) หมายถึง ตาข้างขวา
    • OS (คำละติน : Oculus sinister) หมายถึง ตาข้างซ้าย
    • OU (คำละติน : Oculi uterque) หมายถึง ตาทั้งสองข้าง
  • บันทึกในด้านการมองผ่านรูเล็กที่เรียกว่า “Pinhole
    • PH หมายถึง ค่าตัวเลขใด ๆ ตามหลังตัวอักษร PH ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากการอ่านป้ายวัดสายตา Snellen Chart ผ่านรูเล็กของแผ่นบังสายตา (Pinhole occluder)
  • บันทึกในด้านการนับนิ้วมือ
    • CF (Counting finger) แปลว่า นับนิ้วมือได้อย่างถูกต้องในระยะต่าง ๆ เช่น ที่ระยะ 2 ฟุต ผลการตรวจก็จะบันทึกว่า CF 2 ft
  • บันทึกในด้านมือที่เคลื่อนไหว
    • HM (Hand movement) แปลว่า ผู้เข้ารับการตรวจเห็นการแกว่งมือ
  • บันทึกในด้านการมองเห็นแสง
    • LPJ (Light projection) แปลว่า มองเห็นแสงและสามารถบอกได้ว่าแสงมาทิศทางใด
    • LP (Light perception) แปลว่า มองเห็นแต่แสงที่มาส่องหน้าเท่านั้น แต่แยกแยะไม่ออกว่ามาจากทิศทางใด
    • NLP (No light perception) แปลว่า ใช้ไฟฉายส่องหน้าอย่างไรก็มองไม่เห็นแสง (ตาบอดสนิท)

ตัวอย่างที่ 1 : ผู้เข้ารับการตรวจใช้ตาขวาอ่านตัวเลขจากบนลงล่างมาด้วยดีตลอด จนกระทั่งถึงแถวที่ 6 จึงอ่านผิดมากกว่าถูก แปลว่า ผู้เข้ารับการตรวจมีตาขวาที่ผิดปกติ โดยมีระดับสายตาดีที่ 6/12 (ตรงกับแถวที่ 5) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะบันทึกผลตรวจตาข้างขวาว่า

  • Dsc OD 6/12 ซึ่งแปลมาจาก
    • D = การตรวจจากป้ายระยะไกล 6 เมตร
    • sc = ไม่มีอุปกรณ์ช่วยการมอง
    • OD = ตรวจตาข้างขวา
    • 6/12 = ระยะสายตา 6 เมตร ดีเท่ากับคนตาดีเห็นได้ที่ระยะ 12 เมตร

ตัวอย่างที่ 2 : ผู้เข้ารับการตรวจรายหนึ่งรู้ตัวว่าสายตาไม่ดี และเจ้าหน้าที่บันทึกผลว่า

  • บรรทัดแรก Dsc OD 6/24 PH 6/12 ซึ่งแปลมาจาก
    • D = การตรวจจากป้ายระยะไกล 6 เมตร
    • sc = ไม่ได้ใช้แว่นตา
    • OD = ตรวจตาข้างขวา
    • 6/24 = ระยะสายตา 6 เมตร ดีเท่ากับคนตาดีเห็นได้ที่ระยะ 24 เมตร
    • PH 6/12 = เมื่ออ่านผ่านรูเล็ก (Pinhole) สามารถเห็นได้ที่ระยะ 6 เมตร ดีเท่ากับคนสายตาดีเห็นได้ที่ระยะ 12 เมตร
  • บรรทัดแรก Dsc OS CF 2 ft PH 6/60 ซึ่งแปลมาจาก
    • D = การตรวจจากป้ายระยะไกล 6 เมตร
    • sc = ไม่ได้ใช้แว่นตา
    • OS = ตรวจตาข้างซ้าย
    • CF 2 ft = ตรวจโดยนับนิ้วมือ เห็นได้ที่ระยะ 2 ฟุต
    • PH 6/60 = เมื่ออ่านผ่านรูเล็ก (Pinhole) สามารถเห็นได้ที่ระยะ 6 เมตร ดีเท่ากับคนสายตาดีเห็นได้ที่ระยะ 60 เมตร

ค่าปกติของการตรวจวัดสายตา

ค่าปกติทุกค่าที่ได้รับการบันทึกจากเจ้าหน้าที่วัดสายตาจะปรากฏเป็นตัวอักษรย่อและตัวเลข โดยหากตรวจแล้วได้ค่าตามตัวเลขด้านล่าง ก็ต้องถือว่าผู้นั้นมีความสามารถในการมองเห็นที่ดีเยี่ยม

  • ค่าปกติตาข้างขวา : Dsc OD 6/6 หรือ Dsc OD 20/20
  • ค่าปกติตาข้างซ้าย : Dsc OS 6/6 หรือ Dsc OS 20/20

ค่าการตรวจวัดสายตาที่ต่ำกว่าปกติ

หากปรากฏค่าในทางต่ำ ก็หมายความว่า ความสามารถในการมองเห็นอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ซึ่งสังเกตได้จาก

  • ทุกค่าที่บันทึกด้วยเศษส่วนสเนลเลนน้อยกว่า 1 ได้แก่ 6/9, 6/12, 6/18, 6/24, 6/36, 6/60 หรือ 20/30, 20/40, 20/60, 20/80, 20/120, 20/200
  • ทุกค่าที่มีคำว่า cc (มีการใช้อุปกรณ์ช่วยการมอง เช่น มีแว่นตา มีคอนแทคเลนส์)
  • ทุกค่าที่มีคำว่า PH (มีการอ่านป้ายผ่านรูเล็กของแผ่นบังสายตา)
  • ทุกค่าที่อ่านป้าย Snellen Chart แต่วัดสายตาไม่ได้ จึงต้องมีคำว่า CF (การให้นับนิ้วมือ), HM (การให้ดูมือที่เคลื่อนไหว), LPJ (การให้มองแสงและสามารถบอกทิศทางของแสงได้), LP (การให้มองแสงแต่สามารถบอกทิศทางของแสงได้) หรือ NLP (การให้มองแสงแต่ไม่สามารถมองเห็นแสงได้ หรือสูญเสียความสามารถในการมองเห็น)

ค่าการตรวจวัดสายตาที่สูงกว่าปกติ

หากปรากฏค่าในทางสูง ก็หมายความว่า ความสามารถในการมองเห็นอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลพิเศษที่อาจมีเฉพาะในบางคนหรือสัตว์บางประเภทเท่านั้น กล่าวคือ

  • มนุษย์บางคนสามารถมองเห็นได้ 20/10 (จากการทดสอบบางคนอาจถึงระดับ 20/8) แปลว่า มนุษย์ตาดีทั่วไปจะเห็นงูน้อยตัวหนึ่งได้ที่ระยะ 10 ฟุต แต่มนุษย์ตาพิเศษบางคนเท่านั้นจะสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ที่ระยะ 20 ฟุต
  • สัตว์ที่ใช้สายตาล่าเหยื่อจากที่สูงในระยะไกล เช่น เหยี่ยว จะมีความสามารถในการมองเห็นที่ระดับ 20/2 แปลว่า มนุษย์ตาดีทั่วไปอาจเห็นลูกหนูตัวหนึ่งได้ที่ระยะ 2 เมตร แต่กับเหยี่ยวตัวหนึ่งที่เกาะอยู่บนยอดต้นไม้ห่างขึ้นไป 20 เมตร ก็สามารถมองเห็นลูกหนูตัวนั้นได้อย่างชัดเจน
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจสายตาขั้นพื้นฐาน (Visual Acuity)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 195-209.
  2. ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “การวัดสายตา (Visual Acuity Test)”.  (รศ.พญ.นภาพร ตนานุวัฒน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medicine.cmu.ac.th/dept/eye/.  [10 ก.ค. 2018]
  3. พบแพทย์ดอทคอม.  “ขั้นตอนการวัดสายตา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [12 ก.ค. 2018]

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด