กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis, Lower Urinary tract infection) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะสั้น และอยู่ใกล้ทวารหนักซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก เชื้อโรคจากบริเวณดังกล่าวจึงเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่าผู้ชาย
โรคนี้สามารถป้องกันและรักษาได้ง่าย ๆ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามขึ้นไปที่ไตทำให้เป็นกรวยไตอักเสบ และถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังแทรกซ้อน ซึ่งยากแก่การเยียวยารักษาได้
ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ในทุกช่วงของชีวิต นับตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ (พบได้สูงในช่วงอายุ 20-50 ปี) พบได้มากในผู้หญิงที่ชอบกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ หรือในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ส่วนในผู้ชายนั้นมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยมาก เนื่องจากมีสรีระที่ยากต่อการติดเชื้อ ถ้าพบว่าเป็นก็มักจะมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง ต่อมลูกหมากโต หรือมีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบพบได้ทั้งจากการอักเสบเฉียบพลัน ที่มีอาการเกิดขึ้นทันทีและรักษาหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือจากการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการอักเสบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ แต่จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าการอักเสบเฉียบพลัน
สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบที่มีอยู่ในอุจจาระของคนเรา เช่น อีโคไล (E.coli), เคล็บซิลลา (Klebsiella), สูโดโมแนส (Pseudomonas), เอนเทอโรแบกเตอร์ (Enterobacter) เป็นต้น (แต่ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 75-95% เกิดจากเชื้ออีโคไล) ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะมีอยู่มากที่บริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก เนื่องมาจากการชำระหลังถ่ายอุจจาระไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เชื้อโรคจึงปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะ เข้ามาในกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่ปกติท่อปัสสาวะจะสั้นและอยู่ใกล้กับทวารหนัก จึงง่ายที่เชื้อโรคจะปนเปื้อนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
ส่วนในผู้ชายจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยมาก เนื่องจากมีท่อปัสสาวะยาวและอยู่ห่างจากทวารหนักมาก อีกทั้งเมื่อเชื้อโรคเข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ถ้ามีการถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวดก็จะสามารถขับเอาเชื้อโรคนั้นออกมาได้ จึงไม่ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ แต่ในกรณีที่กลั้นปัสสาวะนาน ๆ เช่น รถติดหรือเดินทางไปต่างจังหวัด (ไม่มีห้องน้ำให้เข้าหรือกลัวการใช้ห้องน้ำสาธารณะที่ไม่สะอาด) หรือหน้าน้ำท่วมที่ไม่กล้าเข้าห้องน้ำเพราะกลัวสัตว์มีพิษ หรือนอนกลางคืนแล้วขี้เกียจลุกไปเข้าห้องน้ำ หรือทำอะไรเพลิน ๆ จนลืมเข้าห้องน้ำ เป็นต้น เชื้อโรคที่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะจึงมีเวลานานพอที่จะแบ่งตัวเจริญแพร่พันธุ์ จนทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ เกิดอาการขัดเบาขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจึงมักพบได้ในผู้หญิงทั่วไปที่ไม่ระมัดระวังการชำระล้างทวารหนักและชอบกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ
ในผู้หญิงที่แต่งงานใหม่หรือหลังร่วมเพศ อาจมีอาการขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ เรียกว่า “โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน” (Honeymoon cystitis) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ในบางคนยังอาจมีเหตุชักนำให้เกิดโรคนี้ได้มากกว่าทั่วไป (จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง) เช่น
- ผู้หญิง ด้วยเหตุผลทางด้านสรีระดังที่กล่าวมา
- ผู้สูงอายุ เพราะมีสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดีนัก โดยเฉพาะผู้ที่ขาดคนดูแล นอกจากนั้นผู้สูงอายุมักไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย มักนั่ง ๆ นอน ๆ เป็นเวลานาน และดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะจึงแช่ค้างอยู่นาน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี
- ผู้ที่ชอบกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เชื้อโรคที่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะจึงมีเวลานานพอที่จะแบ่งตัวเจริญแพร่พันธุ์
- ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย มีผลให้ไม่ค่อยได้ปัสสาวะ ปัสสาวะจึงแช่ค้างอยู่นาน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี
- ผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ก็อาจเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้บ่อย ถ้าหากพบว่ามีอาการของโรคนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก ก็ควรตรวจดูด้วยว่าเป็นโรคเบาหวานซ่อนเร้นที่ไม่แสดงอาการอยู่ด้วยหรือไม่
- ผู้ป่วยที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต (ในผู้สูงอายุ), ท่อปัสสาวะตีบ, นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งต่อมลูกหมาก, เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ, ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง, เนื้องอกมดลูก, มีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ, ถ่ายปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากเป็นอัมพาต เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อของไต โรคนิ่ว นิ่วในไต
- ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังของท่อปัสสาวะ เช่น โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (เชน โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม) ซึ่งมักมีปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อโรคจึงเจริญเติบโตได้เร็ว
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ต้องนั่ง ๆ นอน ๆ ตลอดเวลา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์/อัมพาต ซึ่งส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้างอยู่นาน
- ผู้ป่วยที่มีการสวนปัสสาวะ หรือมีการคาสายสวนปัสสาวะนาน ๆ หรือใช้เครื่องมือแพทย์สอดใส่ท่อปัสสาวะ เช่น ผู้ป่วยหลังผ่าตัด หรือผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต เพราะกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะเกิดการบาดเจ็บจากสายสวน จึงทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งอาจติดเชื้อจากเชื้อที่ตัวสายสวนปัสสาวะเองด้วย
- สตรีตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากศีรษะของทารกในท้องกดดันให้เกิดการคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่หมด เกิดปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ จึงก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- ผู้หญิงที่คุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ (Spermicide) หรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) เพราะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- การใช้สเปรย์ดับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศในผู้หญิง เพราะจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด จึงเป็นการเพิ่มโอกาสการบาดเจ็บและการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้ชาย มักพบร่วมกับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือต่อมลูกหมากโต หรือจากการคาสายสวนปัสสาวะ
อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ผู้ป่วยจะมีอาการขัดเบา คือ ถ่ายปัสสาวะกะปริดกระปรอย (ออกมาทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ โดยเฉพาะตอนถ่ายปัสสาวะสุด มักต้องเข้าห้องน้ำทุกชั่วโมงหรือชั่วโมงละหลายครั้ง มีอาการคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุดอยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยหรือบริเวณหัวหน่าวร่วมด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น สีมักใส แต่บางรายปัสสาวะอาจมีสีขุ่นหรือมีเลือดปน มักไม่มีไข้ (ยกเว้นถ้ามีกรวยไตอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะสีขุ่น และมีอาการปวดเอวร่วมด้วย) ส่วนในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน และอาจมีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียนร่วมด้วย โดยอาการมักเกิดขึ้นหลังกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ มีการสวนปัสสาวะ หรือหลังจากการร่วมเพศ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ส่วนมากโรคนี้มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามขึ้นไปที่ไตทำให้เป็นกรวยไตอักเสบ และถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังแทรกซ้อนได้ ส่วนในผู้ชายเชื้ออาจลุกลามเข้าไปทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ
นอกจากนี้ เมื่อการอักเสบติดเชื้อรุนแรง อาจลุกลามเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสเลือดจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
แพทย์มักวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการที่แสดง คือ อาการขัดเบา ถ่ายปัสสาวะกะปริดกระปรอย โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ส่วนในรายที่มีอาการแยกจากสาเหตุอื่นไม่ชัดเจน หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจปัสสาวะ (ถ้าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะพบปริมาณเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะมากกว่าปกติ) นำปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อซึ่งจะพบเชื้อที่เป็นต้นเหตุ การตรวจเลือด การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติที่ชัดเจน บางรายอาจมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยตรงกลางท้องน้อย
ในเด็กเล็กที่มีอาการปัสสาวะรดที่นอนบ่อย ๆ หรือมีไข้ และอาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอ ซึ่งการตรวจปัสสาวะจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้แน่ชัด
กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของอาการขัดเบา แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่อาจมีอาการแสดงคล้ายกับโรคนี้ หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการขัดเบาร่วมกับการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด
- กรวยไตอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่นข้น ปวดเจ็บตรงสีข้างหรือเอวด้านใดด้านหนึ่ง และอาจมีอาการขัดเบา ถ้ามีกระเพาะอักเสบร่วมด้วย
- เบาหวาน ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะออกมาทีละมาก ๆ ปัสสาวะมีสีใส ไม่มีอาการแสบขัด ที่สำคัญจะมีอาการกระหายน้ำและหิวข้าวบ่อย อาจมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่พบในคนที่เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- โรคหนองใน (Gonorrhea) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ หรือมีตกขาวออกมาเป็นหนองร่วมกับถ่ายปัสสาวะแสบขัด
ปัสสาวะบ่อยมีหลายสาเหตุ
ในคนปกติถ้าดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว (1,500-2,000 ซี.ซี.) จะปัสสาวะประมาณวันละ 3-5 ครั้ง และหลังเข้านอนจะไม่ตื่นมาปัสสาวะเลย แต่อาการปัสสาวะบ่อย ๆ (มากกว่า 5 ครั้งต่อวัน) อย่าเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเพียงอย่างเดียว เพราะอาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้
- ไตขับปัสสาวะมากกว่าปกติจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดื่มน้ำมาก, รับประทานยาขับปัสสาวะเนื่องจากเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งส่งผลให้ปัสสาวะที่มากักเก็บในกระเพาะปัสสาวะเต็มเร็ว จึงปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ (มากกว่า 5 ครั้งต่อวัน) และอาจต้องตื่นมาปัสสาวะหลังเข้านอนแล้วประมาณไม่เกิน 2 ครั้ง ที่สำคัญผู้ป่วยจะมีปริมาณปัสสาวะแต่ละครั้งเท่าคนปกติ (ประมาณ 350-500 ซี.ซี.) เมื่อตรวจปัสสาวะจะไม่พบการติดเชื้อแต่อย่างใด
- มีความผิดปกติที่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถกักเก็บปัสสาวะได้นาน ปวดปัสสาวะเร็ว บางคนอาจปัสสาวะทุก 1-2 ชั่วโมง ที่สำคัญคือจะปวดปัสสาวะหลังนอนหลับแล้วตอนดึกก่อนถึงเช้าทุก ๆ คืนมากกว่า 2 ครั้ง ครั้งละน้อยกว่าปกติ (ไม่ถึง 300 ซี.ซี.) เช่น
- กระเพาะปัสสาวะเล็กขยายไม่ได้ เนื่องมาจากถูกฉายแสงรักษามะเร็งปากมดลูก เป็นวัณโรคกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะชั้นกล้ามเนื้อขยายเพื่อเก็บปัสสาวะมากไม่ได้ หรือมีเนื้องอกขนาดใหญ่ในมดลูก หรือหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 6 เดือน มดลูกจึงกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เก็บปัสสาวะไม่ได้และปัสสาวะบ่อย ๆ
- มีสิ่งแปลกปลอมในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกขนาดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ปัสสาวะบ่อย
- ประสาทควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ทำให้ผนังกล้ามเนื้อทำงานบีบตัวบ่อย จำเป็นต้องตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะด้วยเครื่องมือพิเศษเพื่อตรวจการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ
- มีความผิดปกติทางจิตใจ เช่น มีความเครียดจากการทำงาน มีปัญหาครอบครัว กลัวโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากจะปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางวันหรือหัวค่ำ เมื่อหลับแล้วจะไม่ตื่นมาปัสสาวะอีก เนื่องจากไม่มีความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ
วิธีรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
- ควรดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ ประมาณวันละ 3-4 ลิตร เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม (เช่น โรคหัวใจล้มเหลว) ซึ่งการดื่มน้ำจะช่วยขับเชื้อโรคออกและลดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะได้
- ควรถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด ไม่กลั้นปัสสาวะ
- หลีกเลี่ยงสารอาหารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ เช่น กาแฟ แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ใส่น้ำตาล
- พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่ควรนั่งแช่อยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ
- การทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศหรือภายหลังการขับถ่าย (ในผู้หญิง) ต้องทำจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะ
- ในผู้หญิงไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าอสุจิหรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก เพราะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ไม่ควรใช้สเปรย์หรือยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บและการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำในอ่าง เพราะอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และลดโอกาสการติดเชื้อรุนแรง
- ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ได้ยาที่ไม่ตรงกับชนิดของเชื้อโรค หรือขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาไม่ถูกต้อง จึงอาจส่งผลให้โรคไม่หาย และอาจกลายเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังจากเชื้อดื้อยาได้
- ในขณะที่มีอาการให้ดื่มน้ำมาก ๆ ถ้าปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และรับประทานยาปฏิชีวนะพื้นฐาน เช่น โคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน หรืออะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง หรือวันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน แต่ถ้าสงสัยว่ามีการแพ้ยาหรือดื้อยาเหล่านี้ก็อาจให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง นาน 3 วัน, โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) ครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน หรือไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) ครั้งละ 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน แต่ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลนนี้ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัย
- ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม (เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด, มีอาการไข้ หนองไหล ตกขาว ถ่ายเป็นเลือด หรือกระหายน้ำบ่อยร่วมด้วย) หรืออาการต่าง ๆ เลวร้ายลง/อาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเองมา 2-3 วัน หรือเป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ (เป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง) หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ/ไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง หรือพบว่ามีอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้ชาย (อาการขัดเบา) แม้ว่าจะเริ่มเป็นครั้งแรกก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด แล้วรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
- เมื่อรักษาหายแล้ว ต่อไปต้องพยายามอย่ากลั้นปัสสาวะเป็นอันขาด มิเช่นนั้นอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
โดยทั่วไปกระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นโรคไม่รุนแรง ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มักจะหายขาด แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาหรือเป็น ๆ หาย ๆ ก็อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
วิธีป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ในผู้ที่เคยเป็นโรคนี้และรักษาหายแล้วควรป้องกันมิให้เป็นซ้ำโดยการ
- พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณวันละ 6-8 แก้ว (ตั้งแต่เช้าถึงเข้านอน)
- อย่ากลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น ควรฝึกถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวดจนเป็นนิสัย เวลาที่ต้องเดินทางไกลก็ต้องฝึกให้เคยชินที่จะเข้าห้องน้ำนอกบ้าน ถ้ากลัวไม่สะอาดก็ให้ชำระล้างที่โถส้วมให้สะอาดเสียก่อน หรือเวลาเข้านอนตอนอยู่ในบ้าน ถ้าไม่สะดวกจะลุกเข้าห้องน้ำก็ควรเตรียมกระโถนไว้ข้างเตียง เพราะการกลั้นปัสสาวะจะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถแบ่งตัวเจริญแพร่พันธุ์ ประกอบกับในภาวะที่กระเพาะปัสสาวะมีความยืดตัว ความสามารถในการขจัดเชื้อโรคของเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะลดน้อยลง จึงทำให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
- พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่ควรนั่งแช่อยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอยู่เสมอ หลังการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ควรล้างหรือใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง (ในผู้หญิง) เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ
- ควรอาบน้ำจากฝักบัว
- ไม่ควรใช้สเปรย์หรือยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อและเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายขึ้น
- ในผู้หญิงไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการใช้น้ำยาฆ่าอสุจิหรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก เพราะจะเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อต่อช่องคลอด ปากท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ
- ในผู้ชายการขลิบอวัยวะเพศจะช่วยลดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
- รักษาและควบคุมโรคต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
- อาการขัดเบาหลังการร่วมเพศ (โรคกระเพาะปัสสาวะจากฮันนีมูน) อาจป้องกันได้โดยการดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนการร่วมเพศ ใส่ครีมหล่อลื่นที่ช่องคลอด และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังการร่วมเพศเสร็จ
- ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐานอยู่เสมอ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ รวมทั้งการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ท่อปัสสาวะอักเสบ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ 10 วิธี !!
- กรวยไตอักเสบ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคกรวยไตอักเสบ 7 วิธี !!
- หนองใน อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหนองในแท้ 6 วิธี !!
- หนองในเทียม อาการ สาเหตุ การรักษาโรคหนองในเทียม 5 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 860-862.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 298 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค. “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [23 มิ.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [23 มิ.ย. 2016].
- ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิง”. (ศ.เกียรติคุณ นพ.ธงชัย พรรณลาภ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [24 มิ.ย. 2016].
ภาพประกอบ : www.theayurveda.org, www.wikihow.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)