วิตามินซี
วิตามินซี (Vitamin C) มีชื่อทางเคมีซึ่งเป็นตัวที่ออกฤทธิ์คือ กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ และร่างกายไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์เองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับโดยการรับประทานอาหาร ซึ่งการเสริมวิตามินซีอาจทำได้โดยการเพิ่มการรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ เช่น ส้ม กีวี มะละกอ แตงโม องุ่น แคนตาลูป บรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก หรือรับประทานวิตามินซีในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplement)
ปัจจุบันมีการนำมาวิตามินซีมาใช้ในทางคลินิกอย่างแพร่หลาย ทั้งการป้องกันและการรักษาโรคต่าง ๆ ในบทความนี้จะมากล่าวถึงประโยชน์ของวิตามินซีทางการแพทย์กันอย่างละเอียดตามงานวิจัย รวมถึงผลเสียและข้อควรระวังของการใช้วิตามินซี
อาหารที่ให้วิตามินซีมากที่สุด
รวมผักและผลไม้ที่ให้วิตามินซีมากที่สุดต่อ 100 กรัม จากมากไปน้อย ตามข้อมูลของ USDA FoodData Central และข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้แก่
- คาคาดูพลัม (Kakadu plum) เป็นผลไม้พื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย ใน 100 กรัม จะให้วิตามินซี 2,907 มก.
- อะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) 100 กรัม ให้วิตามินซี 1,680 มก.
- โรสฮิป (Rose Hips) หรือ ผลกุหลาบป่า 100 กรัม ให้วิตามินซี 426 มก.
- มะขามป้อม 100 กรัม ให้วิตามินซี 276 มก.
- ฝรั่ง 100 กรัม ให้วิตามินซี 228 มก.
- พริกหวานสีเหลือง 100 กรัม ให้วิตามินซี 184 มก.
- แบล็กเคอร์แรนต์ (Blackcurrant) 100 กรัม ให้วิตามินซี 181 มก.
- ผักคะน้า 100 กรัม ให้วิตามินซี 147 มก.
- พาร์สลีย์ (Parsley) 100 กรัม ให้วิตามินซี 133 มก.
- ผักปวยเล้ง 100 กรัม ให้วิตามินซี 120 มก.
- เงาะโรงเรียน 100 กรัม ให้วิตามินซี 97 มก.
- ผักเคล (Kale) 100 กรัม ให้วิตามินซี 93.4 มก.
- พริกหวานสีเขียว 100 กรัม ให้วิตามินซี 80.4 มก.
- กีวี 100 กรัม ให้วิตามินซี 74.7 มก.
- ลิ้นจี่ 100 กรัม ให้วิตามินซี 71.5 มก.
- ลูกพลับ 100 กรัม ให้วิตามินซี 66 มก.
- บรอกโคลี 100 กรัม ให้วิตามินซี 64.9 มก.
- กะหล่ำดาว (Brussels sprouts) 100 กรัม ให้วิตามินซี 62 มก.
- มะละกอ 100 กรัม ให้วิตามินซี 60.9 มก.
- ส้ม 100 กรัม ให้วิตามินซี 59.1 มก. (ส้ม 1 ผล หนักประมาณ 140 กรัม ให้วิตามินซีประมาณ 82.7 มก.)
- สตรอว์เบอร์รี 100 กรัม ให้วิตามินซี 58.8 มก (สตรอว์เบอร์รี 1 ถ้วย ให้วิตามินซีประมาณ 84.7 มก.)
- มะนาว 100 กรัม ให้วิตามินซี 53 มก.
- ถั่วลันเตา 100 กรัม ให้วิตามินซี 40 มก.
- มะม่วง 100 กรัม ให้วิตามินซี 36.4 มก.
- เกรปฟรุต 100 กรัม ให้วิตามินซี 31.2 มก.
- มะเขือเทศ 100 กรัม ให้วิตามินซี 13.7 มก.
- แคนตาลูป 100 กรัม ให้วิตามินซี 10.9 มก.
- กล้วย 100 กรัม ให้วิตามินซี 8.7 มก.
- แครอท 100 กรัม ให้วิตามินซี 5.9 มก.
- แอปเปิ้ล 100 กรัม ให้วิตามินซี 4.6 มก.
ประโยชน์ของวิตามินซี
มีการศึกษาและงานวิจัยมากมายที่ระบุว่าวิตามินซีอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้
- มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต่อต้านและลดระดับอนุมูลอิสระได้ เมื่ออนุมูลอิสระในร่างกายลดลงและกลับมาอยู่ในระดับปกติ ความเสี่ยงของโรคที่มาจากการอักเสบและความเสียหายเรื้อรังของเซลล์ภายในร่างกายก็จะลดลง พูดง่าย ๆ ก็คือ วิตามินซีมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ป้องกันการถูกทำลายและการตายของเซลล์ต่าง ๆ วิตามินซีจึงอาจส่งผลดีต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันหลายชนิด เช่น LDL, ลดการเกิดสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง, ช่วยป้องกันการถูกทำลายของเซลล์บุหลอดเลือดด้านใน (Endothelia cell) จึงดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
- อนุมูลอิสระเป็นสารที่เกิดขึ้นจากกลไกธรรมชาติในร่างกายร่วมกับการมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น หากร่างกายมีอยู่มากเกินไปก็จะทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของร่างกายหรือภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ กระตุ้นการอักเสบของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงของโรคและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงหรือโรคเรื้อรังไปจนถึงโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาพบว่าวิตามินซีมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมความแข็งแรงและป้องกันความเสียหายของเม็ดเลือดขาวที่เป็นผลมาจากอนุมูลอิสระ โดยรวมจึงทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย หรือสูบบุหรี่ ที่พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ก็จะทำให้เกิดโรคหรืออาการของโรครุนแรงขึ้นได้
- เม็ดเลือดขาวเป็นหนึ่งในสารภูมิต้านทาน (Antibody) ของร่างกาย มีหน้าที่ในการต่อต้านและกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อกำจัดเชื้อโรคแปลกปลอมสำเร็จ เม็ดเลือดขาวก็จะจดจำวิธีการตอบสนองต่อเชื้อโรคชนิดนั้น ๆ และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น โดยจะช่วยลดความรุนแรง ความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือการป่วยจากเชื้อชนิดเดิมได้
- ผลิตคอลลาเจน วิตามินซีช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คอลลาเจนเป็นองค์ประกอบโครงสร้างที่สำคัญในผนังหลอดเลือด เหงือก ผิวหนัง และกระดูก ทำให้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่ฟื้นตัวจากบาดแผลหรือการผ่าตัด วิตามินซียังช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารเสริมและอาหารจากพืช (คอลลาเจนประกอบขึ้นเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในผิวหนัง กระดูกอ่อน เส้นเอ็น และหลอดเลือด การมีคอลลาเจนเพียงพอไม่เพียงแต่ทำให้ผิวและข้อต่อแข็งแรง แต่ยังช่วยรักษาความดันโลหิตของคุณโดยการรักษาหลอดเลือดแดงและเส้นเลือดของคุณให้แข็งแรง)
- เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของคอลลาเจน (Collagen) จากงานวิจัย !
- อาจช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้น (เล็กน้อย) วิตามินซีเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว (Tyrosinase inhibitor) ออกฤทธิ์โดยการไปลดจำนวนของสารควิโนน (Quinones) ที่เป็นตัวเปลี่ยนไปเป็นเม็ดสีผิวที่ทำให้ผิวคล้ำหรือดำ นอกจากนี้วิตามินซียังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดสารอนุมูลอิสระที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิว และช่วยป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดที่เป็นตัวทำให้ผิวคล้ำ เพราะฉะนั้นตามหลักการเสริมวิตามินซีจึงน่าจะช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการเสริมวิตามินซีในรูปของอาหารเสริมจะช่วยให้ขาวกระจ่างใสขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป
- ขนาดที่ Medthai แนะนำเพื่อความเปลี่ยนแปลงของผิวคือ ขนาด 500 มก. วันละ 2 ครั้ง (หลังอาหารเช้าและเย็น รวมเป็นวันละ 1,000 มก.) ร่วมกับการดูแลผิวอย่างเหมาะสมในทุก ๆ วัน (เช่น การทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ และการหลีกเลี่ยงแสงแดด) ก็จะได้ประโยชน์มากที่สุด (มากกว่าการทาน 1,000 มก. ครั้งเดียว) โดยอาจจะเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสีผิวเมื่อทานอย่างต่อเนื่อง 30 วันขึ้นไป เพราะเม็ดสีของเราจะมีอายุได้ประมาณ 30 วัน จึงต้องรอให้เม็ดสีผิวเก่าที่สร้างขึ้นก่อนหน้ามีการเสื่อมสภาพหรือหลุดลอกไปก่อน
- ต้องย้ำอีกครั้งนะครับว่านี่เป็นเพียงทฤษฎี เอาเข้าจริงทานไปก็อาจจะไม่ได้ผลเลยก็ได้ครับ เพราะผิวหนังของเรานั้นมีวิตามินซีอยู่แล้ว แม้การทานวิตามินซีเสริมจะช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในผิวได้ แต่เมื่อระดับวิตามินซีในเลือดเมื่อถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ทานไปมากขึ้นก็ไม่ได้ไปช่วยเพิ่มวิตามินซีที่ชั้นผิวแต่อย่างใด (ทานขนาดสูง ๆ ก็เปล่าประโยชน์ ทานขนาดน้อย ๆ ไปเรื่อย ๆ จะดีกว่า)
- ถ้าถามว่าทานแล้วจะขาวขึ้นจริงไหม? ก็ขอตอบชัด ๆ จากประสบการณ์เลยนะครับว่า “ยาก” เพราะขนาดวิตามินซีในรูปแบบฉีดเข้าเส้นเลือดที่เห็นคนไปฉีด ๆ กันมายังแทบไม่ค่อยเห็นผล กับแบบเม็ดคงเป็นไปได้ยากมากครับ และงานวิจัยยืนยันก็ยังไม่มี (เคยมีการศึกษาในใต้หวัดสำหรับวิตามินซีแบบฉีดว่าสามารถช่วยลดเม็ดสีผิวในผู้ป่วยที่ล้างไตได้ ซึ่งในความเป็นจริงเราคงไปนอนฉีดทุกวันไม่ได้ ส่วนอีกการศึกษาก็มีพบว่าเมื่อได้รับวิตามินซีแบบฉีดแล้วรอยดำจากการทำเลเซอร์ดูจางลง แต่นี่เป็นรายงานจากคนไข้เพียง 1 เคส 1 คนเท่านั้นครับ และรอยดำที่ดีขึ้นอาจไม่ใช่มาจากวิตามินซีก็ได้ครับ) เพราะฉะนั้นอย่าหวังผลในเรื่องนี้มาก แต่ส่วนที่พอจะมีหวังได้บ้างเล็กน้อยก็คงจะเป็นเรื่องของผิวดูมีสุขภาพดีเปล่งปลั่ง ป้องกันผิวเสียจากยูวี และการช่วยลดริ้วรอยก่อนวัยเสียมากกว่า
- ดีต่อสุขภาพผิวและริ้วรอย วิตามินซีมีอยู่ในผิวหนังตามธรรมชาติ มีบทบาทในการสังเคราะห์คอลลาเจนและช่วยปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระได้ [1] (ในวัยชราหรือในผู้ที่ผิวถูกทำลายจากอนุมูลอิสระมักมีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ [2]) และงานวิจัยส่วนใหญ่ในประเด็นนี้มักทำการศึกษาในรูปแบบครีมหรือเซรั่มสำหรับทาผิวมากกว่ารูปแบบรับประทาน โดยมีการศึกษาที่สำคัญดังนี้
- การเสริมวิตามินซีในรูปแบบรับประทานพบว่า สามารถช่วยปกป้องกันผิวจากรังสียูวี (UV) เมื่อทานร่วมกับวิตามินอี และช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่นหรือผิวเสียก่อนวัยได้ [3],[4] แต่บางงานวิจัยก็ระบุว่ามีผลน้อย และยังมีข้อสรุปไม่ชัดเจน
- การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของวิตามินซีและวิตามินอี สามารถช่วยลดความเสียหายต่อผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวีได้เมื่อเทียบกับการใช้ครีมกันแดดเพียงอย่างเดียว [5],[6],[7] ส่วนการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินซีเพียงอย่างเดียวดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์ในการป้องกันรอยแดงจากรังสียูวีเมื่อเทียบกับสูตรยาหลอก [8]
- การศึกษาขนาดเล็กในผู้หญิง (อายุเฉลี่ย 55 ปี) พบว่าการใช้เซรั่มวิตามินซี 5% ทาวันละครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน ช่วยให้ริ้วรอยเหี่ยวย่น ผิวหยาบกร้าน ผิวหย่อนคล้อย ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเซรั่มที่ไม่มีวิตามินซี [9]
- การวิจัยในห้องปฏิบัติการโดยใช้หนังสัตว์ พบว่าการดูดซึมของวิตามินซีในรูปแบบทาจะได้ผลดีที่สุดเมื่อผลิตภัณฑ์มีค่า pH น้อยกว่า 3.5 และมีความเข้มข้นของวิตามินซีที่ 10-20% [10] แต่ปัญหาคือผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มักไม่ได้บอกรายละเอียดเหล่านี้เอาไว้ และโปรดทราบว่าวิตามินซีรูปแบบทาไม่สามารถซึมผ่านผิวชั้นบนสุด (Stratum corneum) ได้ง่าย และรูปแบบทาไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในผิวหนังหากว่าร่างกายมีระดับวิตามินซีในเลือดที่อิ่มตัวอยู่แล้ว (ซึ่งเกิดเมื่อรับประทานวิตามินซีวันละ 500 มก.) [1]
- ป้องกันภาวะขาดวิตามินซี (Vitamin C deficiency) ภาวะนี้อาจพบได้ในผู้รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีไม่เพียงพอ หรือพบในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ การสูบบุหรี่ ภาวะแอลกอฮอล์เรื้อรัง และภาวะเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหอบหืด โรคไตวายเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น และภาวะขาดวิตามินซียังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน ทำให้แผลหายช้าในผู้ป่วยที่มีแผล (การสมานแผลอาจลดลง) เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ส่วนอาการแรกเริ่มของการขาดวิตามินซีมักจะไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการปวดตามแขนขา หายใจสั้น ข้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งการได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอต่อวันสามารถช่วยป้องกันโรคหรืออาการเหล่านี้ได้
- เลือดออกตามไรฟัน (Scurvy) การขาดวิตามินซีเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟันได้ โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำ (27 µmol/L หรือต่ำกว่าในผู้ใหญ่) หรือได้รับวิตามินซีจากการบริโภคอาหารต่ำ (เพียงวันละ 30-60 มก. ในผู้ใหญ่) สัมพันธ์กับการเกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน และการเสริมวิตามินซีเฉลี่ยวันละ 222 มก. เป็นเวลา 41 วัน สามารถช่วยลดอาการเลือดออกตามไรฟันได้ (นักวิจัยแนะนำว่าปริมาณเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 110 มก. ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะเป็นปริมาณที่มากกว่า RDA ที่แนะนำในผู้ใหญ่) อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดอยู่ในระดับปกติ คือ 48-70 µmol/L อาหารเสริมวิตามินซีจะไม่ได้ช่วยลดอาการเลือดออกตามฟัน [11]
- ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก การขาดวิตามินซีส่งผลต่อการดูดซึมของธาตุเหล็ก และหากร่างกายขาดธาตุเหล็กก็อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง อ่อนเพลีย ใจสั่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ วูบหน้ามืด ตัวซีด ผมร่วง ผิวแห้ง เล็บผิดปกติ ฯลฯ [12]
- เล็บผิดปกติ การศึกษาพบว่าการขาดวิตามินซีอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพเล็บ เช่น ทำให้เล็บเว้าลงจนคล้ายรูปช้อน (Koilonychia), เล็บอ่อนและบางทำให้งอหรือหักได้ง่าย (Hapalonychia) [13] ซึ่งอาจเป็นเพราะวิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก และการขาดธาตุเหล็กส่งผลต่อสุขภาพเล็บ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาใดแสดงให้เห็นได้ว่า การเสริมวิตามินซีจะช่วยให้เล็บมีสุขภาพดีขึ้นทั้งในคนปกติหรือในคนที่ร่างกายขาดวิตามินซีหรือธาตุเหล็ก [14]
- การอักเสบของข้อ การขาดวิตามินซีอาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการอักเสบ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ โดยมีรายงานว่าผู้ป่วยจำนวน 10คน (อายุ 3-20 ปี) ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile arthritis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) มีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำผิดปกติ และการเสริมวิตามินซีวันละ 250-1,000 มก. สามารถช่วยให้ผู้ป่วยทั้ง 10 คนหายจากอาการดังกล่าวได้ [15] สอดคล้องกับอีก 2 การศึกษาที่พบว่าวิตามินซีอาจช่วยหยุดการทำลายของข้อที่อักเสบได้ [16],[17]
- การขาดสารอาหารมีผลลดการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่เหมาะสมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง (Pulmonary arterial hypertension) โดยมีรายงานเรื่องนี้ในชายอายุ 60 ปีที่มีภาวะการขาดวิตามินซีอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ขาบวม และอาการอื่น ๆ ของการขาดวิตามินซีที่ระบุไว้ข้างต้น แต่เมื่อให้การรักษาด้วยการเสริมวิตามินซี 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 เดือน อาการดังกล่าวก็หายไป (ระดับวิตามินซีในเลือดเพิ่มขึ้นจาก 5.7 µmol/L เป็น 85 µmol/L) [18]
- ลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัด การรับประทานวิตามินซีเป็นประจำสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เล็กน้อย (ส่วนการเสริมเมื่อเป็นหวัดไม่มีประโยชน์) และอาจช่วยป้องกันการเป็นหวัดได้ในบางกรณี เช่น ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก หรือในช่วงฤดูหนาว (ปริมาณที่ Medthai แนะนำสำหรับไข้หวัดคือ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น) ส่วนรายละเอียดการศึกษาที่สำคัญดังนี้
- วิตามินซีช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคและช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่า การเสริมวิตามินซีวันละ 250 มก. เป็นอย่างน้อย สามารถช่วยเพิ่ม Neutrophils chemotaxis (เป็นตัวป้องกันหลักของร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ) ได้ประมาณ 20% และผลด้านนี้จะดีขึ้นถ้าทานร่วมกับวิตามินอี [19]
- การเสริมวิตามินซีเป็นประจำช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้ โดยที่ในเด็กจะมีแนวโน้มได้ประโยชน์มากกว่าผู้ใหญ่ และการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. อาจมีประสิทธิภาพดีกว่าการเสริมวันละ 1,000 มก. ในการลดความรุนแรงและระยะเวลาการเป็นหวัด แต่เมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว ขนาดมาตรฐานที่แนะนำสำหรับหวัดคือวันละ 1,000 มก. [20]
- การทบทวนการศึกษาจำนวน 44 ชิ้น พบว่าการเสริมวิตามินซีก่อนเป็นหวัด (โดยปกติคือวันละ 1,000 มก.) สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการหวัดได้เล็กน้อยประมาณ 5% และช่วยให้หายจากอาการหวัดได้เร็วขึ้นประมาณ 8% ในผู้ใหญ่และ 14% ในผู้หญิง เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ส่วนการเสริมวิตามินซีหลังจากที่เป็นหวัดไปแล้วพบว่าไม่มีประโยชน์ คือ ไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [21] อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงวันละ 6,000-8,000 มก. ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเป็นหวัด สามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้ แต่การเสริมวิตามินซีในขนาด 3,000-4,000 มก. พบว่าไม่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย [20]
- จากการวิเคราะห์การทดลองทางคลินิก 9 ฉบับ (ระหว่างปี 1950-2001) สรุปได้ว่า การเสริมวิตามินซีเป็นประจำวันละ 1,000 มก. หรือน้อยกว่า หรือการเสริมวิตามินซีในขนาดที่สูงขึ้นเป็นวันละ 3,000-4,000 มก. ในช่วงที่เป็นหวัด อาจช่วยลดระยะเวลาที่เป็นหวัดลงได้เล็กน้อย (ประมาณครึ่งวัน) และลดอาการหนาวสั่นและเจ็บหน้าอกได้เล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยให้อาการคัดจมูกหรืออาการเจ็บคอดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [22]
- การศึกษาทั่วไปพบว่า การเสริมวิตามินซีก่อนเป็นหวัดไม่สามารถช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้ ยกเว้นในกลุ่มที่มีภาวะความเครียดทางกายภาพ เช่น ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก เช่น นักกีฬามาราธอน นักสกี หรือทหาร จะสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นหวัดได้ถึง 52% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (หากรับประทานวิตามินซีก่อนเป็นหวัดหลายวัน) [21]
- การศึกษาเล็ก ๆ ในผู้ชายที่มีสุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่ (อายุ 18-35 ปี) ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำถึงปานกลาง (น้อยกว่า 45 µmol/L) พบว่าการเสริมวิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน จะมีโอกาสเป็นหวัด “ในช่วงฤดูหนาว” น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (7 ต่อ 11 คน) และช่วยลดระยะเวลาการป่วยเป็นหวัดลง 59% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [23]
- ลดอาการภูมิแพ้ วิตามินซีสามารถช่วยลดระดับการผลิตฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นตัวการของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของโรคภูมิแพ้ได้ โดยมีการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. เป็นเวลา 1 เดือนขึ้นไป สามารถช่วยลดระดับฮีสตามีนได้ประมาณ 38% และมีผลช่วยให้ลดการกำเริบและอาการของภูมิแพ้ดีขึ้น [24] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่ให้วิตามินซีสูงในขนาด 7,500 มก. ทางเส้นเลือด แล้วพบว่าระดับฮีสตามีนลดลงประมาณ 50% [25] และยังสัมพันธ์กับอาการภูมิแพ้ที่ลดลงอีกด้วย เช่น น้ำมูกไหล ตาม คัน กระสับกระส่าย ปัญหาเรื่องการนอนหลับ [26]
- อาการเมาเรือ วิตามินซีอาจมีประสิทธิภาพในการแก้อาการเมาเรือ (โดยเฉพาะในผูหญิงและผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 27 ปี) โดยไม่มีผลข้างเคียง เพราะระดับฮีสตามีนที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเมาเรือ [27]
- โควิด 19 (COVID-19) เนื่องจากวิตามินซีมีบทบาทช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง อาหารเสริมวิตามินซีจึงได้รับการส่งเสริมโดยแพทย์บางท่านเพื่อใช้ป้องกัน COVID-19 จากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการได้รับวิตามินซีเกินความต้องการในแต่ละวันจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 หรือช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคเมื่อป่วยได้
- การศึกษาในผู้ใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 214 คน พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 8,000 มก. (แบ่งทานวันละ 2-3 มื้อหลังอาหาร) ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาของอาการโควิดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานตามปกติ และผู้ที่ได้รับวิตามินซียังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการคลื่นไส้ ท้องร่วง และปวดท้องมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรับประทานวิตามินซีในขนาดสูง และยังไม่พบประโยชน์เมื่อทำการเสริมวิตามินซีร่วมกับสังกะสีหรือซิงค์ (Zinc) ในขนาดสูงวันละ 50 มก. หรือเสริมซิงค์เพียงอย่างเดียวก็ตาม [28] สอดคล้องกับการศึกษาในกลุ่มชายและหญิงจำนวน 98 คน (อายุ 40 ปีขึ้นไป) ที่ป่วยเป็น COVID-19 และมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งเมื่อให้รับประทานวิตามินซี 1,000 มก. ทุกวันเป็นเวลา 14 วันหลังมีอาการได้ 6 เดือน ก็ไม่พบว่าวิตามินซีจะช่วยลดระยะเวลาที่ป่วยหรือความรุนแรงของโรคแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [29]
- การเสริมวิตามินซีวันละ 1,000-6,000 มก. ก่อนติด COVID-19 ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์เล็กน้อยกับผู้ป่วยที่ติดโควิดที่มีอาการวิกฤตและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (ช่วยลดระยะเวลาในการช่วยหายใจโดยเฉลี่ย 25%) [30] ส่วนอีกการศึกษาในประเทศจีน (อายุเฉลี่ย 66 ปี) พบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดที่สูงมาก ๆ คือวันละ 24,000 มก. (ทางเส้นเลือด) เป็นเวลา 7 วัน ทำให้ออกซิเจนในเลือดดีขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยลดวันที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือการตายในช่วง 28 วันหลังเข้ารับการรักษาเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [31]
- การศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยหนักจากโรค COVID-19 และมีอาการช็อก จำนวน 15 คน (อายุเฉลี่ย 72 ปี) พบว่าอัตราการเสียชีวิตก็ยังสูงมากถึง 80% แม้จะให้วิตามินซีวันละ 3,000 มก. เป็นเวลา 2-5 วัน พร้อมกับการรักษาด้วยยามาตรฐานก็ตาม [32]
- ลดความดันโลหิต จากการทบทวนการศึกษาจำนวน 29 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิตามินซีวันละ 500 หรือ 1,000 มก. พบว่าความดันโลหิตตัวบน (SBP) ลดลงเฉลี่ย 3.84 mmHg และความดันโลหิตตัวล่าง (DBP) ลดลงเฉลี่ย 1.48 mmHg [33] สอดคล้องกับอีกการศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่พบว่า ความดันตัวบนลดลงมากกว่า 4.85 mmHg และตัวล่าง 1.67 mmHg (การศึกษานี้ ไม่พบว่าวิตามินซีมีผลโดยตรงในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ซึ่งอาจเป็นเพราะการทดลองมีระยะสั้นเกินไป) อย่างไรก็ตาม การลดความดันโลหิตด้วยการเสริมวิตามินซีนั้นช่วยได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการใช้ยามาตรฐานที่จะลดความดันโลหิตได้ประมาณ 10 mmHg
- การศึกษาของ Mullan BA และคณะ พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. เป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดความดันโลหิตและความแข็งตัวของหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้ [34]
- ลดระดับน้ำตาลในเลือด การศึกษาในปี 2018 ในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยทั้ง 27 คนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าการเสริมวิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้ง (1,000 มก./วัน) เป็นเวลา 4 เดือน นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกแล้ว (ความดันตัวบน (SBP) ลดลงเฉลี่ย 7 mmHg และความดันตัวล่าง (DBP) ลดลงเฉลี่ย 5 mmHg)) ยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลกลูโคสหลังรับประทานอาหารได้ถึง 36% และมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงน้อยลงไป 2.8 ชั่วโมงในแต่ละวัน (แต่ไม่มีผลต่อค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c) [35]
- การศึกษาในปี 2017 พบว่าในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีระดับวิตามินซีในเลือดน้อยกว่าผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติอย่างมีนัยสำคัญ และมีความต้องการวิตามินซีที่มากกว่าตยปกติ และการศึกษายังพบด้วยว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่เสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็พบระดับวิตามินซีในเลือดต่ำเช่นกัน และร่างกายจำเป็นต้องได้รับวิตามินซีเพิ่มขึ้น [36]
- การศึกษาที่เก่ากว่าในปี 2007 พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS), ค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c), ไตรกลีเซอร์ไรด์ (TG), คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และระดับฮอร์โมนอินซูลินลดลงอย่างนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่าง อย่างไรก็ตาม การให้วิตามินซีวันละ 500 มก. ไม่พบการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ [37]
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ด้วยวิตามินซีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, มีฤทธิ์ลดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันชนิด LDL และมีฤทธิ์ป้องกันการถูกทำลายจากเซลล์บุหลอดเลือดด้านใน จึงเชื่อว่าการเสริมวิตามินซีอาจเป็นประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยมีการศึกษาที่พบว่าการได้รับวิตามินซีจากอาหารน้อยมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาผลของการใช้วิตามินซีในรูปของอาหารเสริมยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากการศึกษาในปัจจุบันให้ผลขัดแย้งกัน แต่เชื่อว่าการเสริมวิตามินซีน่าจะมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงนี้ในผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินซี [20]
- การเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. สามารถช่วยลดภาวะหลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำอีกหลังจากการขยายหลอดเลือดด้วยวิธี Angioplasty [38]
- โรคไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease : NAFLD) การรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง (มากกว่าวันละ 146 มก.) สัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) ที่ลดลง 29% เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวิตามินซีต่ำ (น้อยกว่าวันละ 75 มก.) [39]
- การศึกษาในประเทศจีนในคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) จำนวน 84 คน ซึ่งไม่มีใครขาดวิตามินซี พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 200, 1,000 หรือ 2,000 มก. ก่อนอาหารเป็นเวลา 12 สัปดาห์ บ่งชี้ว่าการทำงานของตับดีขึ้น (AST, ALT และ/หรือ GGT) โดยกลุ่มที่ให้ในขนาด 1,000 มก. พบว่าได้ประโยชน์สูงสุด [40]
- ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ การศึกษาในระยะยาว (ประมาณ 14 ปี) พบว่าความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะต่ำเมื่อมีระดับวิตามินซีในเลือดมากกว่า 15.33 µmol/L และความเสี่ยงจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึง 45.99-59.62 µmol/L โดยที่ระดับวิตามินซีในเลือดที่มากกว่านี้จะไม่ลดความเสี่ยงลงอีก ส่วนความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน แต่กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจะยังลดลงได้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงขึ้นหรือสูงกว่า 60.19 µmol/L [41] อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่แยกออกมาที่พบว่าระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงกว่า 60 µmol/L มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแทน (แทนที่จะลดลง) เมื่อเทียบกับระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่า (อ่านข้อเพิ่มเติมในหัวข้อ “ผลข้างเคียง/ข้อควรระวัง” ด้านล่าง)
- ผู้สูงอายุที่รับประทานวิตามินซีและวิตามินอีเสริมมีอัตราการตายจากโรคก่อนเวลาอันควรน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริม [42] สอดคล้องกับการศึกษาในแคลิฟอร์เนียที่พบว่า ผู้ที่เสริมวิตามินซีมากกว่าวันละ 750 มก. มีอัตราการตายจากโรคก่อนเวลาอันควรลดลง 60% [43]
- การเสริมวิตามินซีวันละมากกว่า 700 มก. ช่วยลดความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจ 62% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวิตามินซีวันละ 60 มก. หรือน้อยกว่า [44]
- ลดความเสี่ยงมะเร็ง มีทฤษฎีว่าวิตามินซีอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้จากการศึกษาเมื่อนานมาแล้วที่พบว่าการรับประทานผักและผลไม้ที่ให้ปริมาณวิตามินซีขนาด 200 มก./วัน มีความสัมพันธ์กับการลดลงของอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งช่องปาก มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ และมะเร็งกระเพาะอาหาร (พบประโยชน์ชัดเจนที่สุดในการป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากวิตามินซีหรือสารอื่น ๆ ที่มีในผักและผลไม้ ส่วนการศึกษาใหม่ ๆ เราพบว่าการใช้วิตามินซีในรูปอาหารเสริมแบบเดี่ยว ๆ ไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ (แต่ในรูปของอาหารปกติอาจช่วยได้) เช่น การศึกษาในผู้ชายที่มีสุขภาพดีที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. และวิตามินอี 400 IU (วันเว้นวัน) ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งทั้งหมด [45] สอดคล้องกับการศึกษาในประเทศแคนาดาในผู้ชายสูงอายุที่ไม่พบความเกี่ยวข้องใด ๆ ระหว่างการเสริมวิตามินซีทั้งจากอาหารปกติและอาหารเสริมกับอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและระดับความรุนแรงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก [46]
- การได้รับวิตามินซีในปริมาณที่เหมาะสมมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการโรคมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง หลอดอาหาร ช่องปาก กล่องเสียง ปอด ต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระเพาะอาหาร [47]
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) การเสริมวิตามินซีวันละ 3,000 มก. ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และพบว่าการบริโภควิตามินซีมากกว่าวันละ 157 มก. ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 50% [47],[48]
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer) การเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. นาน 10 ปีหรือมากกว่าในผู้ชายและหญิงวัยกลางคน พบว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ [49]
- การเสริมวิตามินซีวันละมากกว่า 10,000 มก. ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง พบว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้รับวิตามินซีมีชีวิตอยู่นานกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินซี เกิดความเจ็บปวดน้อยกว่า และโดยรวมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (เมื่อเสริมวิตามินอื่น ๆ เข้าไปด้วยในปริมาณมาก คือ เบต้าแคโรทีน วิตามินอี ไนอะซิน วิตามินบีอื่น ๆ และแร่ธาตุบางอย่าง ก็พบว่ากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการเสริมวิตามินและแร่ธาตุดังกล่าว มีชีวิตอยู่ได้นานกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริม) [50]
- เชื่อว่าการแพร่กระจายตัวของมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยการเสริมวิตามินซีที่มากขึ้น [51]
- ต้อกระจกและจอตาเสื่อม ในระยะยาว 10 ปีขึ้นไป ดูเหมือนว่าการได้รับวิตามินซีในขนาดต่ำ คือ 60-250 มก. อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ ในขณะที่วิตามินซีขนาดสูงไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยง แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกแทน นอกจากนี้ วิตามินซีในขนาด 250 มก. ยังเป็นส่วนหนึ่งของสูตร ARED2 ด้วย ซึ่งเป็นสูตรของวิตามินที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยชะลอการลุกลามของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration : AMD) ส่วนการศึกษาที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
- การเสริมวิตามินซีในปริมาณที่เหมาะสม สามารถช่วยลดความเสี่ยงและชะลอการลุกลามของโรคต้อกระจกได้ โดยมีการศึกษาในประเทศอังกฤษที่พบว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภควิตามินซีจากอาหารต่ำที่สุด ในผู้ที่บริโภควิตามินซีจากอาหารมากที่สุดจะมีโอกาสเกิดโรคต้อกระจกน้อยลง 19% และโอกาสเกิดต้อกระจกจะน้อยลง 33% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนผู้ที่รับประทานวิตามินซีในรูปของอาหารเสริมรวมถึงวิตามินรวม ก็มีโอกาสน้อยลงเช่นกันที่จะเป็นโรคต้อกระจก [52]
- การศึกษาในประเทศแคนาดาในผู้ชายที่มีสุขภาพดี พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. และวิตามินอี 400IU (วันเว้นวัน) ในระยะยาว ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้ [53]
- การศึกษาในระยะยาวอื่น ๆ มากกว่า 10 ปี แนะนำว่าการเสริมวิตามินซีในปริมาณที่เหมาะสมคือ 150-250 มก. อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ และการบริโภค [54]
- การศึกษาในระยะยาวพบว่า การเสริมวิตามินรวมในขนาดที่เหมาะสม (มีวิตามินซีรวมอยู่ด้วย 60 มก.) สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ (แต่ไม่มีผลต่อโรคจอตาเสื่อม (AMD)) ในขณะที่สูตรที่มีวิตามินซีสูง (500 มก.) พบว่าไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก [55]
- ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด (Shingles) ระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำ (ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 45 µmol/L) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของโรคงูสวัดที่เรียกว่า อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia) ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดมากในบริเวณที่เป็นผื่น แม้ว่าผื่นจากโรคจะหายไปแล้วก็ตาม [56] แต่การศึกษาพบว่า การฉีดวิตามินซีเข้าเส้นเลือดในขนาดวันละ 2.5-15 กรัม (2,500-15,000 มก.) เป็นเวลา 3-14 วัน ร่วมกับการรักษามาตรฐานตามปกติ จะช่วยลดอาการปวดและความรุนแรงจากอาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยดังกล่าวได้ [57] อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาว่าการใช้วิตามินซีในรูปแบบรับประทานจะได้ประโยชน์เหมือนวิตามินซีแบบฉีดหรือไม่
- รักษาแผลที่เท้า การทดลองทางคลินิกขนาดเล็กพบว่า การเสริมวิตามินซีอาจช่วยรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานให้ดีขึ้นได้ (รวมถึงโรคหลอดเลือด และสภาวะอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเกิดแผลที่เท้า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยมีระดับวิตามินซีต่ำหรือได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ โดยการศึกษานี้ได้ทำการศึกษาในผู้สูงอายุจำนวน 16 คน (อายุเฉลี่ย 60 ปี) ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 โรคหลอดเลือด หรือโรคอื่น ๆ ที่เป็นแผลที่เท้า โดยกลุ่มแรกให้ทานวิตามินซีแบบออกฤทธิ์ช้าวันละ 500 มก. เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนอีกกลุ่มจะได้รับยาหลอก (ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งของแต่ละกลุ่มมีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำ) พบว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินซีแผลที่เท้ามีอาการดีขึ้นทุกคน ในขณะกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอาการดีขึ้น แต่ไม่ทุกคน (มีจำนวน 44% ที่อาการไม่ดีขึ้น) [58]
- ป้องกันแผลกดทับ การเสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. พบว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยผ่าตัดได้อย่างมีนัยสำคัญ [59]
- ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเกาต์ โดยมีงานวิจัยพบว่า กลุ่มที่ได้รับวิตามินซีจากอาหารเสริมในขนาดวันละ 1,000-1,499 มก. จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินซีประมาณ 34% และหากรับประทานวันละมากกว่า 1,500 มก. จะลดความเสี่ยงได้มากขึ้นเป็น 45% [60] โดยสอดคล้องกับอีกงานวิจัยที่พบว่า การได้รับวิตามินซีเสริมสามารถช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์ได้ โดยเมื่อทดลองให้วิตามินซีในหลายขนาดตั้งแต่ น้อยกว่า 90 มก., 90-249, 250-499, 500-999 และ 1000 มก. ขึ้นไป แล้วพบว่าระดับความเข้มข้นของกรดยูริกในเลือดมีค่าเท่ากับ 6.4, 6.1, 6.0, 5.7 และ 5.7 mg/dL ตามลำดับ (การเสริมวิตามินซีวันละ 400-500 มก. ดูเหมือนจะช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดได้ดี และจะไม่ลดลงอีกเมื่อให้วิตามินซีที่สูงขึ้น) [61]
- อาจดีต่ออารมณ์และอาการซึมเศร้า อีกบทบาทของวิตามินซีที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ วิตามินซีมีบทบาทช่วยในการผลิตและการทำงานของสารสื่อประสาทบางชนิด ซึ่งรวมถึงนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ที่การลดลงของสารนี้เเชื่อมโยงกับการเกิดโรคซึมเศร้า [62] แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นว่าการเสริมวิตามินซีไม่ได้ช่วยในเรื่องนี้ แต่ก็มีบางงานวิจัยที่พบว่าการเสริมวิตามินซีอาจช่วยให้อารมณ์หรือสุขภาพจิตดีขึ้นรวมถึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในผู้ที่ร่างกายขาดวิตามินซี โดยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
- การศึกษาแบบสังเกตในประเทศจีนในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวน 25,895 คน (อายุเฉลี่ย 49 ปี) ที่ประมาณ 2,300 คน (ประมาณ 9%) มีภาวะซึมเศร้า พบว่าการบริโภควิตามินซีในขนาดที่สูงขึ้น (มากกว่า 92.95 มก. หรือสูงกว่าปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (RDA) เล็กน้อย สำหรับผู้ชาย (90 มก.) และผู้หญิง (75 มก.)) ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าจะลดลง 27% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่บริโภควิตามินซีต่ำ (น้อยกว่าวันละ 430 มก.) แต่การให้ในขนาดที่สูงถึงวันละ 126 มก. ไม่พบประโยชน์เพิ่มเติม [63]
- การศึกษาในผู้ใหญ่ในนิวซีแลนด์จำนวน 128 คน ซึ่งร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 250 มก. เมื่อเทียบกับยาหลอก เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ไม่ได้ช่วยปรับปรุงเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า ความโกรธ หรือความวิตกกังวล แต่พบว่ามี Vitality ดีขึ้นเล็กน้อย เช่น ความเหนื่อยล้าลดลง รู้สึกมีความสุขมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอีกการศึกษาในปี 2020 ที่ให้วิตามินซีในผู้ใหญ่วันละ 250 มก. แล้วพบว่ามี Vitality ดีขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน [64]
- การศึกษาในผู้ที่ขาดวิตามินซีจำนวน 46 คน พบว่าการให้วิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับยาหลอกแล้วพบว่าไม่ได้ช่วยเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า ความเครียด วิตกกังวล และความเหนื่อยล้า แต่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน เพิ่มสมาธิ และมีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพในงานที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและต้องการสมาธิได้เล็กน้อย นอกจากนี้ยังพบว่า การขาดวิตามินซีเกี่ยวข้องกับ Vitality ในระดับที่ต่ำ [65]
- ใช้เสริมในผู้ที่สูบบุหรี่ เพราะในผู้ที่สูบบุหรี่ร่างกายจะมีการใช้วิตามินซีมากกว่าคนปกติ อีกทั้งในเด็กที่ผู้ปกครองสูบบุหรี่ด้วยก็พบว่าอาจมีปริมาณวิตามินซีในร่างกายที่ลดลงได้ถึง 50% ดังนั้น ผู้สูบบุหรี่หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนสูบบุหรี่ควรเสริมวิตามินซีจากอาหารปกติให้มากขึ้น
- เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก วิตามินซีช่วยเพิ่มดูดซึมของธาตุเหล็กจากอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีอาการผมร่วงที่มีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็ก รวมถึงอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก
- รักษาประสิทธิภาพยากลุ่มไนเตรท (Nitrates) จากข้อมูลพบว่าวิตามินซีอาจช่วยรักษาประสิทธิภาพของยาในกลุ่มไนเตรท เช่น ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) ที่ใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอกและโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ลดพิษจากสารเสพติดแอมเฟตามีน (Amphetamine) โดยพบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. จะช่วยลด pH และเพิ่มความเป็นกรดให้แก่ปัสสาวะ จึงมีผลเพิ่มการขับออกแอมเฟตามีนในปัสสาวะได้ (แอมเฟตามีนมีคุณสมบัติเป็นเบสอ่อน) ในทางปฏิบัติจึงมีการนำวิตามินซีมาใช้ในผู้ป่วยที่เกิดพิษจากแอมเฟตามีน เช่น เกิดอาการโรคจิต [66]
- ลดการดูดซึมนิกเกิล (Nickel) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าวิตามินซีสามารถช่วยลดการดูดซึมนิกเกิลซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายได้
สรุปประโยชน์วิตามินซีตามงานวิจัย วิตามินซีดูเหมือนจะมีประโยชน์อย่างชัดเจนในเรื่องของการช่วยป้องกันภาวะขาดวิตามินซี (เช่น เลือดออกตามไรฟัน), ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้เล็กน้อย, ลดอาการภูมิแพ้, ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (ถ้าใช้ในขนาดน้อย), ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์, ลดความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด, รักษาแผลที่เท้า เป็นต้น และวิตามินซีอาจมีประโยชน์ในเรื่องการช่วยลดริ้วรอยก่อนวัย ปัญหาผิวเสียจากรังสียูวี, อาจช่วยป้องกันหวัดได้ในบางกรณีหรือในบางคน รวมถึงอาจช่วยอารมณ์และอาการซึมเศร้า แต่วิตามินซีไม่น่าจะมีประโยชน์ในเรื่องการช่วยให้ผิวขาว การป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือใช้ได้ผลกับโรคโควิด-19
ผลข้างเคียง/ข้อควรระวัง
- ผลต่อระบบย่อยอาหาร เป็นผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบได้เมื่อเสริมวิตามินซีในขนาดสูงตั้งแต่ 2,000 มก. ขึ้นไป โดยอาจทำให้มีอาการแสบท้อง ปวดท้อง ท้องร่วง ท้องเสีย ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการแสบร้อนกลางอกได้ โดยเป็นผลมาจากระบบย่อยอาหารไม่สามารถดูดซึมวิตามินซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเกิดจากการอิ่มตัวของการดูดซึมและทำให้วิตามินซีที่ไม่ได้ดูดซึมมีปริมาณมากขึ้นและอยู่ในทางเดินอาหารจนทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา อย่างไรก็ตาม ขนาดของวิตามินซีที่กระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวมักจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลตั้งแต่วันละ 2,000-10,000 มก.
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงกว่า 60 µmol/L สัมพันธ์การความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่านี้
- การศึกษาเชิงสังเกตในผู้ใหญ่เกือบ 10,000 คน (อายุเฉลี่ย 46 ปี) ในสหรัฐอเมริกาที่ติดตามมาประมาณ 10 ปี พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงประมาณ 60 µmol/L หรือมากกว่า (ใกล้เคียงกับระดับอิ่มตัว) จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุเพิ่มขึ้น 33%, และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่านี้ [67]
- การเสริมวิตามินซีด้วยอาหารเสริมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีบริโภควิตามินซีจากอาหารในปริมาณมากอยู่แล้ว โดยมีการศึกษาเชิงสังเกตในฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 10 ปี ในผู้หญิง 57,403 คน พบว่าผู้หญิงที่บริโภควิตามินซีจากอาหารปกติปริมาณมากจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในวัยหมดประจำเดือนลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคน้อย แต่ในผู้หญิงที่บริโภควิตามินซีจากอาหารปกติในปริมาณมากอยู่แล้วและรับวิตามินซีจากอาหารเสริมด้วย พบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในวัยหมดประจำเดือน (ไม่ได้ช่วยลด) [68]
- อาจทำให้ DNA เสียหาย มีหลักฐานในหลอดทดลอง (in-vitro) ที่พบว่าวิตามินซีอาจทำให้เกิดการผลิตสารพันธุกรรมที่สร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอ (DNA-damaging genotoxins) และพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ (หลายคนเชื่อว่าอาหารเสริมวิตามินซีอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้ แต่ความเชื่อนี้กลับให้ผลตรงกันข้ามและไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นจริงในหลอดทดลอง) [69] นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน British journal Nature (โดย Dr.Victor Herbert) ที่พบว่าการเสริมวิตามินซีแบบอาหารเสริมวันละ 500 มก. อาจส่งเสริมให้เกิดความเสียหายทางพันธุกรรมหรือทำให้ DNA เสียหาย หรือทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในประเด็นนี้ยังมีความขัดแย้งกับงานวิจัยอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันต่อไป และผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่า ในบุคคลปกติทั่วไปที่มีสุขภาพดีไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินซีเสริม (แต่ถ้าจะเสริมก็ไม่ควรเกินวันละ 500 มก.) และแนะนำให้บริโภควิตามินซีจากอาหารปกติมากกว่า [70]
- ขัดขวางการฝึกความอดทนและการเพิ่มของมวลกล้ามเนื้อและกระดูกจากการออกกำลังกาย ปริมาณวิตามินซีและอีที่สูงดูเหมือนจะขัดขวางประโยชน์ที่เกิดจากการออกกำลังกาย ในเรื่องของการฝึกความอดทน (Endurance training), การฝึกความแข็งแรง (Resistance (strength) training), การเพิ่มขึ้นของมวลกล้ามเนื้อ และการเพิ่มขึ้นของมวลกระดูก (Bone density)
- การศึกษาในกลุ่มผู้หญิงที่มีสุขภาพดีที่เข้าร่วมโปรแกรมฝึกความแข็งแรงเป็นเวลา 10 สัปดาห์ พบว่าผู้ที่เสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. ร่วมกับวิตามินอี 400 IU ไม่พบการเพิ่มขึ้นของมวลร่างกายส่วนที่ไร้ไขมัน (Fat-free mass) อย่างกล้ามเนื้อ กระดูก ในขณะที่กลุ่มได้รับยาหลอกพบว่ามีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งนักวิจัยสรุปว่า ผู้หญิงที่ต้องการเพิ่มมวลร่างกายส่วนที่ไร้ไขมัน (เพิ่มกล้ามเนื้อ) ควรหลีกเลี่ยงการเสริมวิตามินซีและอี [71]
- การศึกษาในประเทศนอร์เวย์ เป็นเวลา 11 สัปดาห์ ในผู้ชายและหญิงที่ฝึกวิ่งและปั่นจักรยาน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ที่เป็นตัวช่วยเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ ในขณะที่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในผู้ที่เสริมวิตามินซี 500 มก. หรือวิตามินอีสังเคราะห์ 260 IU (ส่วนประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนหรือ VO2 max เพิ่มขึ้นเท่า ๆ กันทั้งสองกลุ่ม) [72]
- การศึกษาในประเทศนอร์เวย์ที่ใช้วิตามินซีและอีสูงแบบเดียวกัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ทำการศึกษาในผู้ชายสูงอายุที่มีสุขภาพดีที่เข้ารับการฝึกความแข็งแรง (Strength training) พบว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกบริเวณหลังส่วนล่างเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมากกว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินซีและอี และยังพบว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกที่สะโพกก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่เพิ่มขึ้นเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเท่านั้น [73]
- เสี่ยงต้อกระจก (Cataract) แม้การเสริมวิตามินซีในขนาดไม่เกิน 250 มก. สามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคต้อกระจกได้ แต่จากการศึกษาพบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงทุกวันอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกแทน โดยการศึกษาในประเทศสวีเดนกับผู้หญิงจำนวน 24,593 คน (อายุ 49-83 ปี) เป็นระยะเวลา 8 ปี พบว่ากลุ่มที่เสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจกเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับ ส่วนในผู้ที่เสริมวิตามินซีมาอย่างน้อย 10 ปีก่อนการศึกษาพบว่าความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 46% [74]
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตในผู้ชาย (ทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก) โดยความเสี่ยงนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ชาย แต่การได้รับวิตามินซีจากอาหารปกติไม่พบว่ามีความเสี่ยง การศึกษาในประเทศสวีเดนพบว่าความเสี่ยงของการเกิดนิ่วจะเพิ่มขึ้น 66% ในผู้ชายที่เสริมวิตามินซีในขนาด 1,000 มก. เป็นครั้งคราว และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 123% ในผู้ที่เสริมวิตามินซีสัปดาห์ละ 7 ครั้งขึ้นไป [75] สอดคล้องกับการศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่พบว่าความเสี่ยงการเกิดนิ่วจะเพิ่มขึ้น 16% ในผู้ชายที่เสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. หรือมากกว่าจากอาหารเสริม [76] ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาเชิงสังเกต 3 ชิ้น (รวมผู้หญิงมากกว่า 155,000 คน และผู้ชายมากกว่า 40,000 คน) ก็พบผลลัพธ์คล้ายกัน คือ ในผู้ที่เสริมวิตามินซี 1,000 มก. ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบผู้ที่ได้รับวิตามินซีน้อยกว่าวันละ 90 มก. [77]
- เมื่อวิตามินซีหรือ Ascobic acid เข้าสู่ร่างกาย ก่อนถูกขับออกจากร่างกาย มันจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ก่อน ซึ่งกรดนี้เมื่อรวมกับแคลเซียมที่จะถูกขับออกทางปัสสาวะ จะทำให้เกิดผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) [78] ประกอบกับวิตามินซีอาจเพิ่มการดูดซึมออกซาเลตจากอาหารได้ด้วย ซึ่งเป็นผลึกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะหรือเกิดเป็นก้อนนิ่ว เพราะฉะนั้นในผู้ชาย โดยเฉพาะที่มีประวัติเป็นโรคนิ่วในไต หรือร่างกายมีความบกพร่องในการเผาผลาญออกซาเลต จะเป็นการดีกว่าถ้าจะหลีกเลี่ยงการเสริมวิตามินซีหรือเสริมไม่เกินวันละ 250 มก. [79]
- อย่างไรก็ตาม วิตามินซีอาจไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดนิ่วในไตเสมอไป เพราะสาเหตุการเกิดยังได้หลายอย่าง เช่น จากอาหารบางชนิด การใช้ยา โรคบางอย่าง ฯลฯ ดังนั้น ในคนทั่วไปที่มีสุขภาพดีจึงยังสามารถเสริมวิตามินซีเพื่อบำรุงสุขภาพต่อไปได้ โดยทาง Medthai แนะนำว่า วิตามินซีวันละ 500 มก. คือขนาดที่เหมาะสม เพียงพอ และปลอดภัย
- โรคปวดกระเพาะปัสสาวะ (Interstitial cystitis) การเสริมวิตามินซีรวมถึงผลิตภัณฑ์จากส้มอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ในผู้ที่เป็นโรคปวดกระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นอาการเรื้อรัง [80]
- โรคไตจากผลึกออกซาเลต (Oxalate crystal nephropath) การเสริมวิตามินซีวันละ1,000-2,000 มก. หรือมากกว่า อาจทำให้เกิดโรคไตที่เรียกว่า “Oxalate crystal nephropathy” ซึ่งเป็นภาวะที่ผลึกออกซาเลตสะสมอยู่ในท่อเนื้อเยื่อของไต ซึ่งอาจทำให้ไตเสียหายหรือไตวายได้ [81]
- เพิ่มความเสี่ยงที่ตับจะถูกทำลายจากยาพาราเซตามอล โดยพบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงวันละ 3,000 มก. ร่วมกับการใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ในขนาดสูง (Tylenol®) ความเสี่ยงที่ตับจะถูกทำลายจากยาพาราเซตามอลอาจเพิ่มมากขึ้น
- เกิดการสะสมของธาตุเหล็ก เนื่องจากวิตามินซีช่วยในการดูดซึมของธาตุเหล็กจากอาหารได้ดีขึ้น ถ้าร่างกายได้รับวิตามินซีมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการสะสมของธาตุเหล็กในปริมาณมากเกินไปจนอาจทำให้เกิดภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยบางรายที่ไวต่อวิตามินซีได้ เช่น Thalassemia major หรือ Hemochromatosis ที่อาจทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะได้รับความเสียหายได้ถ้าหากได้รับวิตามินซีในขนาดสูงเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังในการใช้วิตามินซีในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ส่วนในคนปกติที่มีสุขภาพดีพบว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร [82]
- อาจลดระดับธาตุทองแดงในร่างกายได้เล็กน้อย การได้รับวิตามินซีในขนาดสูงอาจทำให้ระดับธาตุทองแดงในร่างกายลดลงได้เล็กน้อย โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่มีสุขภาพดีที่เสริมวิตามินซีขนาด 500 มก. วันละสามครั้ง (รวมวันละ 1,500 มก.) ติดต่อกันเป็นเวลาสองเดือน มีระดับโปรตีนที่เก็บและขนส่งธาตุทองแดงในร่างกาย (Ceruloplasmin) และระดับธาตุทองแดงในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [83] ส่วนการศึกษาอื่นพบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดที่ลดลง (5-635 มก.) เป็นระยะเวลา 1 เดือน ธาตุทองแดงในเลือดไม่ได้ลดลง (แม้ว่าในขนาด 635 มก. จะลดการทำงานของโปรตีน Ceruloplasmin) [84]
- อาจลดประสิทธิภาพของยาต้านไวรัส HIV มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงวันละ 1,000 มก. อาจลดประสิทธิของยาอินดินาเวียร์ (Indinavir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี [85]
- อาจรบกวนการดูดซึมของยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants)
- อาจลดประสิทธิภาพของยากลุ่มสแตติน (Statins) มีความกังวลว่าการเสริมวิตามินซีอาจลดผลของยาสแตติน โดยมีการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ต่ำ พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. ร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่น ๆ (วิตามินอี, เบต้าแคโรทีน และซีลีเนียม) มีผลไปลดประสิทธิภาพการลดคอเลสเตอรอลของยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ที่รับประทานร่วมกับไนอะซิน (Niacin) ขนาดสูง 2,000 มก. [86] อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากวิตามินซี, สารต้านอนุมูลอิสระอื่น หรือเกิดจากไนอะซิน
- อาจรบกวนผลของยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เคยมีรายงานการศึกษาในผู้ป่วยเมื่อปี 1970 ที่พบว่าการเสริมวิตามินซีอาจทำให้ฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดของยาวาร์ฟารินลดลง แต่จากการศึกษาใหม่ ๆ พบว่าการได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดร่วมกับวิตามินซีวันละ 1,000 มก. เป็นเวลา 6 เดือน ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาวาร์ฟารินแต่อย่างใด [87] อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวแนะนำว่าผู้ที่รับประทานยาวาร์ฟาริน/ยาเจือจางเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด ควรควบคุมการทานวิตามินซีไม่ให้เกินวันละ 1,000 มก.
- การเสริมวิตามินซีร่วมกับยาพิกโนจีนอล (Pycnogenol®) หรือสารสกัดจากเปลือกสน มีการศึกษาที่พบว่า การใช้ร่วมกันอาจทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- การเสริมวิตามินซีอาจทำให้ผลแล็ปบางอย่างคลาดเคลื่อน เช่น น้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล เลือดแฝงจากการตรวจอุจจาระ
- การเสริมวิตามินซีและวิตามินรวมที่มีวิตามินซีมากกว่า 250 มก. ขึ้นไป อาจทำให้เกิดผลลบปลอมในการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (gFOBT) จึงควรงดการเสริมวิตามินซีเป็นเวลา 3 วันก่อนทำการเก็บตัวอย่าง [88] อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระด้วยวิธีใหม่ (Fecal Immunochemical Test หรือ FIT) จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเสริมวิตามินซี [89]
- วิตามินซีอาจมีรบกวนผลการตรวจปัสสาวะด้วย Urine dipstick test สำหรับวัดกลูโคส ฮีโมโกลบิน และเอนไซม์ลิวโคไซต์เอสเทอเรส [90]
หลายคนทานวิตามินซีเสริมมากเกินความจำเป็นซึ่งอาจส่งผลต่อเสียร่างกายได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการได้รับวิตามินซีในขนาดสูง (เกินวันละ 1,000 มก.) อาจทำให้เกิดผลเสียหรือผลข้างเคียงได้ เพราะฉะนั้นจึงควรมีความระมัดระวังในการเสริมวิตามินซีในขนาดที่สูงมากเกินไป โดยในคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่จำเป็นต้องเสริมวิตามินซี และแนะนำว่าการบริโภควิตามินซีจากอาหารปกติร่างกายจะได้ประโยชน์มากกว่า (แต่ถ้าจะเสริมก็ไม่ควรเกินวันละ 500 มก.)
ผลิตภัณฑ์วิตามินซี
ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วิตามินซีจำหน่ายในหลายรูปแบบ หลายขนาด และหลายสูตร โดยวิตามินซีเกือบแทบทุกยี่ห้อจะระบุว่าบนฉลากว่า “แอสคอร์บิก แอซิด” (Ascorbic acid) ซึ่งกรดแอสคอบิกตัวนี้ก็คือสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นมาให้มีลักษณะ “คล้ายกับวิตามินซีในบางส่วน” เพราะโครงสร้างจริง ๆ ของวิตามินซีนั้นมีความซับซ้อนสูงมาก และกรดแอสคอร์บิกก็เป็นเพียงแค่เปลือกของวิตามินซีจริง ๆ เท่านั้น ดังนั้น วิตามินซีที่แท้จริงจึงไม่ใช่แค่กรดแอสคอร์บิก เพียงแต่กฎหมายยอมให้เรียกว่า “วิตามินซี” (Vitamin C)* ได้ หรือถ้าจะให้ถูกก็ต้องเรียกว่า “วิตามินซี คอมเพล็ก” (Vitamin C complex) เพราะการที่วิตามินซีจะออกฤทธิ์ได้จะต้องอาศัยองค์ประกอบหรือทำงานร่วมกับสารต่าง ๆ ในร่างกาย นั่นจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลว่า ทำไมเราถึงทานวิตามินซีแล้วไม่ค่อยเห็นผลใด ๆ ตามสรรพคุณ
ในความเป็นจริงก็เป็นเรื่องยากที่จะเสริมวิตามินซีจากอาหารปกติให้ได้ในปริมาณที่ต้องการ และโดยปกติแล้วผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์วิตามินซีกำลังมองหาการบริโภคที่สูงขึ้นเพื่อจุดประสงค์พิเศษมากกว่าการทานเพื่อป้องกันการขาดวิตามินซี แต่ผลิตภัณฑ์วิตามินซีก็มีหลายแบบ หลายสูตร และหลายขนาดมากตั้งแต่ 25 มก. ไปจนถึง 5,000 มก./เม็ด สำหรับผู้ที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์วิตามินซีคุณภาพดี ๆ ที่เหมาะสมกับตัวเอง คุณมาถูกทางแล้วครับ เพราะคงไม่มีบทความไหนในโลกนี้ที่จะให้ข้อมูลเรื่องวิตามินซีที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์ได้เท่าบทความนี้ โดยในบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านรู้ถึงการเลือกซื้อวิตามินซีอย่างละเอียด การอ่านฉลาก การเลือกรูปแบบและสูตรของวิตามินซีให้เหมาะกับตัว ฯลฯ รวมถึงข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ที่คุณต้องรู้ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อวิตามินซี เพื่อให้รู้เท่าทันเรื่องการตลาดและโฆษณาของบริษัทอาหารเสริมต่าง ๆ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านนะครับ
หมายเหตุ : วิตามินซีที่จัดประเภทเป็นยาจะให้ปริมาณสารสำคัญวิตามินซี 1,000 มก. ส่วนวิตามินซีที่มีขนาดไม่เกิน 60 มก. จะถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์ Acerola Cherry 1000 มก. ที่จะเป็นอาหารเสริม เนื่องจากให้วิตามินซีเพียง 16-17 มก.
วิตามินซีธรรมชาติ VS วิตามินซีสังเคราะห์
วิตามินซีในท้องตลาดมีทั้งแบบที่เป็น วิตามินซีจากธรรมชาติ (Natural Vitamin C) ซึ่งได้จากผักผลไม้ต่าง ๆ เช่น น้ำส้ม บรอกโคลีปรุงสุก และ วิตามินซีแบบสังเคราะห์ (Synthetic Vitamin C) ซึ่งได้จากกระบวนการทางเคมีและพบได้เป็นส่วนใหญ่ หรือก็คือ กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) นั่นแหละครับ โดยพบว่าทั้งสองมีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกัน และจากการศึกษายังไม่พบว่าทั้ง 2 แบบจะให้ประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน คือไม่ว่าจะทานแบบไหนร่างกายก็ได้ดูดซึมวิตามินซีในปริมาณที่เท่ากัน แม้บางการศึกษาจะพบว่าแบบสังเคราะห์ดูดซึมวิตามินซีได้ดีกว่าเล็กน้อยก็ตาม (ตามความเห็นของ Medthai จะเลือกแบบไหนก็ได้ตามสะดวก ถ้าเลือกแบบสังเคราะห์ก็อาจดูดซึมได้ดีกว่าเล็กน้อยและสะดวกกว่า แต่ถ้าเลือกแบบธรรมชาติร่างกายก็จะได้ประโยชน์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากวิตามินซีด้วย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้สลับไปทานแบบธรรมชาติบ้างก็จะดีต่อร่างกายมากที่สุดครับ)
การศึกษาในผู้ชาย 68 คน พบว่ากรดแอสคอร์บิกที่ได้จากน้ำส้ม/เนื้อส้ม และบรอกโคลีดิบ/ปรุงสุก กับกรดแอสคอร์บิกที่ได้จากการสังเคราะห์ ให้ประโยชน์ต่อร่างกายเท่ากัน โดยวัดจากระดับวิตามินซีหรือกรดแอสคอร์บิกที่พบในเลือด (การดูดซึมของวิตามินซีถูกประเมินจากความชันและการลดลงของกราฟที่พบว่าความชันของกราฟมีความคล้ายคลึงกันทั้งกลุ่มที่ได้รับวิตามินซีจากธรรมชาติและจากแบบสังเคราะห์) [91],[92]
การศึกษาในผู้ชาย 12 คน พบว่าการดูดซึมของวิตามินซีแบบสังเคราะห์ (แบบผงละลายที่ชงกับน้ำดื่ม) ดีกว่าน้ำส้มเล็กน้อย เมื่อพิจารณาจากระดับวิตามินซีในเลือด ส่วนระดับวิตามินซีในเม็ดเลือดขาวไม่พบว่ามีความแตกต่างกัน [93]
สำหรับ “ผลิตภัณฑ์วิตามินซีจากธรรมชาติ” เช่น Acerola Cherry, Rose Hips, Camu Camu ฯลฯ ไม่ได้ดีไปกว่าวิตามินซีสังเคราะห์แบบธรรมดา หากเราแค่ต้องการวิตามินซี
รูปแบบของวิตามินซี
รูปแบบของวิตามินซี (Dosage forms) อาจพบได้เป็น 10 รูปแบบ จากการศึกษาพบว่าแต่ละแบบดูดซึมได้ไม่แตกต่างกัน ทานแบบไหนร่างกายก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน เพียงแต่ว่าแต่ละรูปแบบจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันบ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและเลือกให้เหมาะสมกับตัวเองก็พอ ได้แก่
- รูปแบบเม็ด (Tablet) : มีขนาดตั้งแต่ 25-1,000 มก. แต่ขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่โดยทั่วไปจะมี 2 ขนาด คือ 500 และ 1,000 มก.
- ข้อดี : มีราคาถูกกว่ารูปแบบอื่น (เพราะมีต้นทุนการผลิตน้อยที่สุด) และมีหลายขนาดให้เลือกหลาย
- ข้อเสีย : เม็ดวิตามินมักมีขนาดใหญ่ อาจทำให้กลืนลำบาก (ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการกลืนเม็ดยา โดยเฉพาะในคนที่มีชอบทานยาเม็ดมาตั้งแต่เด็ก) และหลังทานต้องดื่มน้ำตามเยอะ ๆ สัก 1 แก้ว เพราะวิตามินซีรูปแบบเม็ดจะต้องใช้น้ำเพื่อช่วยในการแตกตัวมากกว่ารูปแบบอื่น
- รูปแบบแคปซูล : มีทั้งชนิดแคปซูลแข็งและแคปซูลนิ่ม โดยส่วนใหญ่การกลืนเม็ดแคปซูลทำได้ง่ายกว่ารูปแบบเม็ด เพราะตัวแคปซูลจะมีลักษณะลื่น ๆ เมื่อกลืนพร้อมดื่มน้ำจะช่วยให้กลืนได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับผู้ทานวิตามินซีรูปแบบเม็ดไม่ได้
- ข้อดี : กลืนได้ง่าย และมีการแตกตัวดีกว่ารูปแบบเม็ด
- ข้อเสีย : มักมีราคาแพงกว่า ถ้าผลิตจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพเท่ากัน โดยเฉพาะถ้าเป็นแคปซูลชนิดนิ่ม
- รูปแบบเม็ดอม (Pastille) : มักมีขนาด 25, 50, 100 และ 500 มก. เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยา แต่เนื่องจากวิตามินซีมีความเป็นกรด เมื่ออมบ่อย ๆ อาจทำให้ฟันกร่อนและเคลือบฟันบางลงได้
- ข้อดี : เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการกลืนเม็ดยา
- ข้อเสีย : ถ้าอมบ่อย ๆ อาจกัดเคลือบฟันและทำให้ฟันกร่อน
- รูปแบบเม็ดเคี้ยว (Chewable tablet) : เป็นรูปแบบที่มีการแต่งสีและรสชาติของวิตามินซีให้น่ารับประทาน โดยเฉพาะรสหวานของน้ำตาล จึงเหมาะสำหรับเด็ก (มักเป็นขนาด 30 มก.) ส่วนวิตามินซีรูปแบบเคี้ยวในผู้ใหญ่มักจะเป็นขนาด 500 มก. มีทั้งแบบมีน้ำตาลและไม่มีน้ำตาลให้เลือก ซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้มีปัญหาเรื่องการกลืนเม็ดยา
- ข้อดี : เหมาะสำหรับเด็ก เด็กกินได้ง่าย มีสีและรสน่ารับประทาน ส่วนขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่จะมีแบบปราศจากน้ำตาลให้เลือกซื้อด้วย ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการกลืนเม็ดยา
- ข้อเสีย : มักมีน้ำตาลสูง หากรับประทานบ่อย ๆ อาจทำให้ฟันผุได้ จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการวิตามินซี
- รูปแบบกัมมี่ (Gummie) : ลักษณะคล้ายกับเยลลี่ รสชาติดี ทานได้ง่ายแบบเคี้ยว คือจะอมไว้หรือปล่อยให้ละลายในปากก็ได้ ส่วนข้อดีข้อเสียอื่น ๆ จะคล้าย ๆ กับรูปแบบเม็ดเคี้ยว มักมีขนาด 125 และ 250 มก.
- ข้อดี : รสชาติดีเหมือนเยลลี่ทั่วไป ทานได้ง่ายกว่ารูปแบบเคี้ยว มีปริมาณวิตามินซีกำลังดี คือ 125 และ 250 มก.
- ข้อเสีย : ราคาแพงกว่า มีน้ำตาล ทานแล้วต้องระวังฟันผุ และอาจเสี่ยงต่อได้รับวิตามินซีเกินจากการทานเพลินได้
- รูปแบบผงชงกับน้ำดื่มหรือแบบเม็ดฟู่ละลายน้ำ (Powder & Effervescent powder) มักมีขนาด 500 และ 1,000 มก. เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการกลืนเม็ดยาหรือไม่สามารถกลืนเม็ดยาขนาดใหญ่ได้ และวิตามินซีมักอยู่รูปเกลือเพื่อช่วยลดความเป็นกรด ทานแล้วจึงไม่ค่อยระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่หลาย ๆ ยี่ห้อมักมีน้ำตาลสูง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลือกซื้อแบบปราศจากน้ำตาล
- ข้อดี : มักมีรสชาติดี ทานง่าย พกพาสะดวก เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการกลืนเม็ดยารวมถึงผู้สูงอายุที่มีปัญหาการดูดซึม (แต่ผลอาจไม่แตกต่างกับรูปแบบปกติมาก) และสามารถนำไปชงกับน้ำผลไม้อื่น ๆ ได้ด้วย
- ข้อเสีย : ราคาแพง มีความยุ่งยากในการเตรียมเพื่อรับประทานเพราะต้องนำไปละลายกับน้ำก่อน และหลาย ๆ ยี่ห้อมักใส่น้ำตาลเข้าไปในปริมาณมากเพื่อให้ความหวาน (สำหรับแบบเม็ดฟู่ะละลายน้ำ เมื่อเม็ดยาสัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดเป็นฟองฟู่ ก่อนรับประทานจึงควรรอให้ฟองหมดก่อน เนื่องจากถ้าทานฟองแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นเข้าไปก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดแน่นท้องได้)
- รูปแบบน้ำ : แบบผสมในเครื่องดื่มที่นิยมในไทย เช่น เครื่องดื่มวิตามินซี 200% ที่ให้วิตามินซี 120 มิลลิกรัม
- ข้อดี : รสชาติดี ดื่มได้ง่ายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
- ข้อเสีย : ราคาต่อขวดแพง มีน้ำตาล ให้วิตามินซีน้อย และหลายยี่ห้อส่วนใหญ่มักไม่มีขนาดวิตามินซีตามที่ระบุไว้บนฉลาก (บางยี่ห้ออาจตรวจไม่พบวิตามินซีเลย ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากกระบวนการผลิตและการจัดเก็บไม่ดีและทำให้วิตามินซีเสื่อมคุณภาพ)
- รูปแบบสารละลายสำหรับฉีด (Parenteral injection) : มีขนาด 500 มิลลิกรัม เป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำทุกวันหรือเพื่อป้องกันหวัด เพราะต้องให้แพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้ฉีดยาให้ มักพบเห็นบริการฉีดวิตามินซีนี้ตามคลินิกเสริมความงามต่าง ๆ
- ข้อดี : ร่างกายดูดซึมวิตามินซีได้เกือบทั้งหมดเพราะเป็นการฉีดเข้าเส้นเลือด
- ข้อเสีย : ราคาแพง โดยเฉพาะค่าบริการทางการแพทย์ในการฉีดแต่ละครั้ง และไม่สามารถฉีดทุกวันหรือฉีดบ่อยครั้งได้
- รูปแบบอื่น ๆ เช่น แบบยาน้ำหรือแบบเหลว (Liquid from bottle), แบบสเปรย์ (Sprays) แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ส่วนรูปแบบของครีมทาหรือแบบเซรั่มใช้ภายนอกจะไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้
รูปของวิตามินซี
วิตามินซีในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแบ่งออกเป็น 2 รูป
1. วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) เป็นวิตามินซีแบบมาตรฐานที่พบได้ทั่วไป (คือมีแต่ Ascorbic acid ไม่มีอย่างอื่นผสม) เสื่อมสลายได้ง่าย ดูดซึมทันที มีความกรดเป็นเยอะ ทานแล้วอาจเกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ จึงไม่แนะนำสำหรับคนที่มีโรคกระเพาะอาหาร
Ascorbic acid มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ L-ascorbic acid และ D-ascorbic acid โดยทั้งสองตัวมีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกัน แต่มีลักษณะกลับด้านกันเฉย ๆ โดยมีเพียงรูป L-ascorbic acid เท่านั้นที่ออกฤทธิ์และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้น ถ้าฉลากระบุว่าเป็นวิตามินซีในรูป L-ascorbic acid ก็ขอให้สบายใจได้ เพราะนี้เป็นชื่อที่ยอมรับได้ของ Ascorbic acid หรือถ้าระบุแค่ “Ascorbic acid” ก็ขอให้เข้าใจว่ามันคือ L-ascorbic acid ครับ
2. วิตามินซีในรูปเกลือกรดแอสคอร์บิก (Mineral ascobate) หรือ Buffered C วิตามินซีรูปเกลือเกิดจากการนำวิตามินซี หรือ Ascorbic acid มารวมกับเกลือแร่ต่าง ๆ เช่น นำมารวมกับแคลเซียมกลายเป็น Calcium ascorbate หรือรวมกับโซเดียมกลายเป็น Sodium ascorbate เป็นต้น ซึ่งเมื่อวิตามินซีทำปฏิกิริยากับเกลือแร่ชนิดต่าง ๆ ก็จะทำให้มีความเป็นกรดน้อยลง (ลดความเป็นกรดของวิตามินซี หรือช่วยปรับฤทธิ์ให้กลาง จึงอาจไม่จำเป็นต้องทานหลังอาหารก็ได้ คือจะทานตอนท้องว่างหรือทานตอนไหนก็ได้แล้วแต่สะดวก แต่ก็ยังแนะนำให้ทานหลังอาหารเหมือนเดิมครับ) ดังนั้นจึงมีคุณสมบัติเป็น “Buffered” (บางครั้งจึงเรียกผลิตภัณฑ์แบบนี้ว่า “บัฟเฟอร์” หรือ “บัฟเฟอร์ ซี“) เมื่อทานแล้วจะระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่า Ascorbic acid แบบเดี่ยว ๆ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารอยู่แล้ว หรือเคยมีอาการระคายเคืองกระเพาะอาหารหรือท้องเสียจากการรับประทานวิตามินซี เป็นต้น
นอกจากช่วยลดการระคายเคืองแล้ว วิตามินซีในรูปเกลือยังช่วยเพิ่มความคงตัวของวิตามินซีและช่วยให้วิตามินซีถูกปลดปล่อยออกจากเม็ดยาอย่างช้า ๆ ซึ่งตามหลักการแล้วน่าจะช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี แต่จากการศึกษาส่วนใหญ่กลับพบว่า ระดับวิตามินซีในเลือดเมื่อรับประทานรูปวิตามินซีรูปเกลือ ไม่ได้แตกต่างจากวิตามินซีธรรมดาที่อยู่ในรูปกรดแอสคอร์บิกที่ปลดปล่อยทันที และยังไม่พบว่ามีการแนะนำให้ใช้มากนัก เนื่องจากการดูดซึมวิตามินดังกล่าวจะเป็นการดูดซึมทั้งในรูปเกลือด้วย แถมยังต้องระวังในการเลือกใช้ด้วย เช่น Sodium ascorbate ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือ Potassium ascorbate ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีภาวะไตวาย เป็นต้น โดยวิตามินซีรูปเกลือที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจะมีอยู่ด้วยกันประมาณ 8 ชนิด (ที่พบบ่อยคือ 4 ชนิดแรก) ได้แก่
- แคลเซียม แอสคอร์เบต (Calcium ascorbate) โดยทั่วไป Calcium ascorbate 1,000 มก. จะมีแคลเซียมอยู่ประมาณ 90-110 มก. และมีวิตามินซีหรือกรดแอสคอร์บิกอยู่ 890-910 มก. ดังนั้น ในผู้ที่รับประทานแคลเซียมอยู่แล้วจะต้องคิดรวมแคลเซียมที่ได้รับเพิ่มตรงส่วนนี้เข้าไปด้วย โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวที่การได้รับแคลเซียมมากเกินไปจะทำให้เกิดอันตราย เพราะแคลเซียมในรูปแบบนี้เหมือนว่าจะถูกดูดซึมได้ดีพอสมควร (โดยปกติแล้วปริมาณของแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 1,000-1,200 มก. และไม่ควรเกิน 2,000-2,500 มก.)
- โพแทสเซียม แอสคอร์เบต (Potassium ascorbate) โดยทั่วไป Potassium ascorbate 1,000 มก. จะมีโพแทสเซียมประมาณ 175 มก. จึงห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะไตวาย ผู้ที่ทานยาขับปัสสาวะบางตัว เช่น Spironolactone ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ (ร่างกายต้องการโพแทสเซียมขั้นต่ำวันละประมาณ1,600-2,000 มก. ในขณะที่ผักและผลไม้เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม และอาจให้โพแทสเซียมมากถึงวันละ 8,000-11,000 มก. ส่วนความเป็นพิษจากโพแทสเซียมแบบเฉียบพลันซึ่งเป็นอันตรายและอาจทำให้เสียชีวิตได้ (Hyperkalemia) อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับโพสแทสเซียมวันละ 18,000 มก. (ในผู้ใหญ่))
- โซเดียม แอสคอร์เบต (Sodium ascorbate) โดยทั่วไป Sodium ascorbate 1,000 มก. จะมีโซเดียมอยู่ประมาณ 111 มก. จึงต้องระมัดระวังการใช้วิตามินซีรูปแบบนี้ในผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณเกลือหรือโซเดียม เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต เพราะอาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่แย่ลงได้
- แมกนีเซียม แอสคอร์เบต (Magnesium ascorbate) วิตามินซีรูปแบบนี้ในผู้ที่ไวต่อแมกนีเซียมอาจทานแล้วเกิดอาการท้องเสียถ่ายบ่อย ปวดมวนท้อง หรือคลื่นไส้ได้ (ปริมาณของแมกนีเซียมที่ควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 400-420 มก. (ในผู้ชาย) และ 310-320 มก. (ในผู้หญิง) ส่วนปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับจากอาหารเสริมไม่ควรเกินวันละ 350 มก.)
- ซิงค์ แอสคอร์เบต (Zinc ascorbate) ปริมาณของซิงค์หรือสังกะสีที่ควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 11 มก. (ในผู้ชาย) และ 8 มก. (ในผู้หญิง) ส่วนปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับจากอาหารเสริมไม่ควรเกินวันละ 40 มก.
- โมลิบดินัม แอสคอร์เบต (Molybdenum ascorbate) ปริมาณของโมลิบดินัมที่ควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 45 มคก. ส่วนปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับจากอาหารเสริมไม่ควรเกินวันละ 2,000 มคก.
- โครเมียม แอสคอร์เบต (Chromium ascorbate) ปริมาณของโครเมียมที่ควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 30-35 มคก. (ในผู้ชาย) และ 20-25 มคก. (ในผู้หญิง) ส่วนปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับจากอาหารเสริมไม่ได้มีกำหนดไว้
- แมงกานีส แอสคอร์เบต (Manganese ascorbate) ปริมาณของแมงกานีสที่ควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 2.3 มก. (ในผู้ชาย) และ 1.8 มก. (ในผู้หญิง) ส่วนปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับจากอาหารเสริมไม่ควรเกินวันละ 11 มก.
สารประกอบอื่นที่พบในวิตามินซี
สารประกอบอื่น ๆ ที่มีอยู่ในวิตามิน (Other Ingredients) เป็นสารที่ช่วยในการผลิต ไม่ได้เกี่ยวกับวิตามินหรือสารสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เติมเต็ม แต่งสี แต่งกลิ่น แต่งรส หรือป้องกันไม่ให้เม็ดยาหรือแคปซูลติดกันเองหรือติดกับเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต ถ้าเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารประกอบที่เป็นอันตราย รวมถึงหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ระบุถึงส่วนประกอบอื่น ๆ (พบได้หลายยี่ห้อมากในไทย) ซึ่งจะขอยกตัวอย่างของสารประกอบบางชนิดที่นิยมนำมาใช้ในการผลิต รวมทั้งอันตรายของการบริโภคที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น
- Manesium stearate เป็นสารที่ทำให้เม็ดหรือแคปซูลไม่เกาะติดกันเองหรือติดกับเครื่องมือในการผลิต จากการศึกษาพบว่า อาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันชนิด T-cell ถูกทำลาย และสารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกลายเป็นฟิล์มบาง ๆ เคลือบที่ลำไส้ของเรา ทำให้การดูดซึมของสารอาหารต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ไม่ดี
- Silicon dioxide เป็นทรายที่ใช้เพื่อให้กระบวนการผลิตสามารถผลิตวิตามินได้ง่ายขึ้น ทำให้วิตามินที่ผลิตเสร็จแล้วไหลไปตามสายพานการผลิตได้เร็วและไม่ติดกับอุปกรณ์ ซึ่งถ้าได้รับเข้าไปในร่างกายทุกวันก็จะไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะอาจทำให้ลำไส้อุดตันได้ (แม้จะเกิดขึ้นได้ยากก็ตาม)
- Talcum powder เป็นสารเติมเต็มอีกชนิดที่มีราคาถูก ทำให้บางบริษัทผู้ผลิตนิยมใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งจากข้อมูลพบว่าสารชนิดนี้อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้
- Corn starch หรือแป้งข้าวโพด เป็นสารที่ทำให้วิตามินในรูปแบบเม็ดขึ้นรูปได้ เมื่อเติมเข้าไปจะทำให้ตอกเป็นเม็ดวิตามินออกมาได้ แม้จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็พบว่าอาจก่อให้เกิดการแพ้ในหลาย ๆ คนได้ โดยเฉพาะแป้งข้าวโพดที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม
- Titanium dioxide เป็นสารแต่งสี ทำให้ผิวของเม็ดวิตามินดูมัน ๆ ใส ๆ ดูน่ารับประทาน โดยสารนี้เป็นสารตัวเดียวกับที่ผสมในครีมกันแดด จากการศึกษาพบว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับได้
- Monosodium glutamate หรือผงชูรส เป็นสารแต่งรสเลียนแบบธรรมชาติที่อาจทำลายเซลล์ประสาทหรือทำให้สมองเสื่อมได้
วิตามินซีสูตรเพิ่มการดูดซึม
- สูตร Liposomal Vitamin C หรือ Liposomal-encapsulated (Lypo-spheric™) เป็นวิตามินซีที่เตรียมในรูปของไลโปโซมเพื่อช่วยในการขนส่งและช่วยปกป้องวิตามินซีในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าเป็นสูตรที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมและเข้าสู่เซลล์ได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาที่จำกัดเกี่ยวกับวิตามินซีสูตรนี้ เป็นสูตรที่มีราคาค่อนข้างเแพงเมื่อเทียบวิตามินซีปกติ และประโยชน์ที่ได้ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณต้องรับประทานในขนาดที่น้อยกว่า 5,000 มก. วิตามินซีสูตรนี้อาจจะไม่เหมาะ
- การศึกษาของบริษัทยาที่พัฒนาวิตามินซีสูตรนี้กับผู้เข้าร่วมการทดลองเพียง 2 คน เมื่อให้ผู้ทดลองทานวิตามินซีในขนาด 5,000 มก. ก็พบว่าวิตามินซีรูปแบบไลโปโซมดูดซึมได้ดีกว่าวิตามินสูตรปกติเล็กน้อยเท่านั้น (ตามรูปด้านล่าง (1)) และเมื่อให้ในขนาดสูงมาก ๆ คือ 20,000 มก. เทียบกับวิตามินซีปกติ 5,000 มก. พบว่าวิตามินซีสูตรไลโปโซมดูดซึมได้มากกว่าและมากกว่าค่าคาดการณ์ ซึ่งน่าแปลกใจว่าไม่มีเทียบในขนาดเดียวกัน และขนาดที่ใช้ทดลองก็ดูสูงขึ้นมากโดยเจตนา [94]
- การศึกษาในผู้เข้าร่วมการทดลอง 11 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ได้รับวิตามินสูตรปกติขนาด 4,000 มก., กลุ่มที่ได้รับวิตามินซีสูตรไลโปโซมขนาด 4,000 มก., กลุ่มที่ได้รับวิตามินซีโดยการฉีดเข้าทางเส้นเลือดขนาด 4,000 มก. และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ผลการทดลองก็ตามรูปด้านล่างเลยครับ (2) แบบฉีดเข้าเส้นเลือดพบระดับวิตามินซีในเลือดสูงมากใน 1 ชั่วโมงแรก และค่อย ๆ ลดลงมาเมื่อชั่วโมงที่ 4 ส่วนรูปเปรียบเทียบระหว่างวิตามินซีสูตรปกติกับแบบไลโปโซม พบว่าไลโปโซมดูดซึมได้ดีกว่าวิตามินซีสูตรปกติประมาณ 3:2 mg/dL หลัง 4 ชั่วโมง (1 mg/dL = 56.78 μmol/L) [95] อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลในระยะยาวว่าถ้าทานต่อเนื่องระดับวิตามินซีในเลือดจะแตกต่างจากสูตรปกติหรือไม่
- สูตรปลดปล่อยช้า (Slow Release, Sustained Release หรือ Timed Release) เป็นวิตามินซีที่เม็ดยาถูกออกมาให้ปลดปล่อยตัวยาออกมาได้ในระยะยาวที่นานกว่าปกติ เช่น อาจทำให้เม็ดยามีหลาย ๆ ชั้น เพื่อให้ปลดปล่อยวิตามินออกมาในเวลาที่ยาแต่ละชั้นละลาย มีผลทำให้วิตามินออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่าปกติ และช่วยลดปัญหาการระคายเคืองกระเพาะอาหารในผู้ที่ไวต่อวิตามินซีได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าวิตามินซีสูตรนี้ให้ผลไม่แตกต่างจากวิตามินซีธรรมดา คืออาจดูดซึมได้ดีกว่าบ้างหลังทาน แต่เมื่อทานไปนาน ๆ ระดับวิตามินซีในเลือดก็ไม่ได้แตกต่างกัน แถมบางชนิดงานวิจัยยังกลับพบว่าทำให้วิตามินซีดูดซึมได้น้อยลงด้วย และวิตามินซีสูตรนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะมีราคาแพง จึงไม่แนะนำครับ
- แม้ตามทฤษฎีแล้ว วิตามินซีสูตรปลดปล่อยช้าควรเพิ่มการดูดซึมวิตามินซี แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบการดูดซึมกลับพบว่า วิตามินซีแบบเม็ด แบบผง แบบสารละลาย และแบบเม็ดเคี้ยว สามารถดูดซึมได้เท่ากัน ๆ ในขณะที่วิตามินซีสูตร Timed Release มีการดูดซึมได้น้อยกว่าถึง 50% เมื่อเทียบกับรูปแบบปกติข้างต้น (การดูดซึมถูกประเมินจากการขับออกของกรดแอสคอร์บิกในปัสสาวะ) [96]
- การศึกษาล่าสุดในผู้ชายสูบบุหรี่ 59 คน พบว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินสูตร Slow-Release กับกลุ่มที่ได้รับวิตามินซีสูตรธรรมดา หลังทาน 2 เดือน เมื่อวัดระดับวิตามินซีในเลือดทั้งสองกลุ่มกลับพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ [97] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่ทดลองให้วิตามินซีแบบปลดปล่อยช้า Slow-Release เทียบกับวิตามินซีปกติ (ให้ในขนาด 250 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์) ก็ไม่พบความแตกต่างของระดับวิตามินซีในเลือด [98]
- สูตร Ester-C® (Ascorbate & Vitamin C metabolites) เอสเตอร์-ซีเป็นวิตามินซีที่มีส่วนของผสมแคลเซียมแอสคอร์เบตเป็นส่วนใหญ่ (ประมาณ 110 มก. จึงทำให้มีค่า pH เป็นกลาง ไม่มีความเป็นกรด และอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กระเพาะไวต่ออาหารที่เป็นกรดหรือวิตามินซี) และประกอบไปด้วยสารเมตาโบไลท์ต่างอีกเล็กน้อย (เพื่อช่วยในการดูดซึม) เช่น Calcium threonate, Dehydroascorbic acid (DHA), Xylonate และ Lxonate โดยทางบริษัทผู้ผลิตอ้างว่าสารเมตาโบไลท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Calcium threonate สามารถช่วยเพิ่มการดูดซึมวิตามินซีได้ แต่การศึกษานี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ ก็พบว่าการรับประทาน Ester-C® ให้ผลการดูดซึมวิตามินซีในระดับที่ไม่แตกต่างจากวิตามินซีในรูปของ Ascorbic acid ปกติ [99] ส่วนการศึกษาอื่นนั้นมีดังนี้
- การศึกษาหาระดับวิตามินซีในเลือดและในเม็ดเลือดขาว พบว่าระดับของวิตามินซีในเลือดไม่ได้ต่างกันระหว่างวิตามินซีสูตร Ester-C® กับวิตามินซีสังเคราะห์ (Ascorbic acid) ทั่วไป แต่พบว่าระดับวิตามินซีในเม็ดขาวเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ทาน Ester-C® ในขณะที่อีกกลุ่มไม่พบความเปลี่ยนแปลง [100] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบว่า หลังทานวิตามินซีสูตร Ascorbate & Vitamin C metabolites (Ester-C®) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ระดับวิตามินซีในเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวิตามินซีปกติ ในขณะที่ทั้ง 2 กลุ่มไม่พบความเปลี่ยนของระดับวิตามินซีในเลือด [101] นี่จึงอาจสรุปได้ว่าการใช้วิตามินซีสูตร Ester-C® ช่วยเพิ่มระดับความเข้มของวิตามินซีในเม็ดเลือดขาวได้ (แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในเลือด) ซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการเสริมสร้างภูมิต้านทานและป้องกันโรคต่าง ๆ
- การศึกษาผลข้างเคียงในผู้ที่ไวต่ออาหารที่กรด พบว่าการใช้ Ester-C® มีผลข้างเคียงน้อยกว่าวิตามินธรรมดา [102]
- ต้องระวังการใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อแคลเซียมสูงหรือในผู้ที่รับประทานแคลเซียมเสริมอยู่แล้ว เนื่องจากสูตรนี้จะมีส่วนผสมของแคลเซียม 110 มก.
- แอสคอร์บิล ปาล์มิเตท (Ascorbyl palmitate) หรือวิตามินซีเอสเตอร์ (Vitamin C Ester) โปรดอย่าสับสนกับ Ester-C® เพราะเป็นคนละตัวกัน โดย Ascorbyl palmitate จะเป็นวิตามินซีที่เตรียมในรูปของ Ester เพื่อช่วยให้ละลายได้ในไขมัน ทำให้ละลายได้ทั้งในน้ำและไขมัน (โดยปกติวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกจะมีคุณสมบัติละลายน้ำ ส่วน Ascorbyl palmitate จะเป็นรูปที่ละลายได้ในไขมัน จึงมีข้อดีคือ ทำให้วิตามินซีดูดซึมทั้งในลำไส้และซึมผ่านผิวหนังได้ และยังมีความคงตัวดีกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก) แต่จากข้อมูลพบว่าให้ประโยชน์ไม่ต่างจากวิตามินซีปกติในรูปกรดแอสคอร์บิก ในปัจจุบันจึงนิยมใช้เตรียมเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอกบริเวณผิวหนังและใบหน้ามากกว่า
- Ascorbyl palmitate เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกไฮโดรไลซ์ (แตกออกเป็นกรดปาล์มิเตทและกรดแอสคอร์บิก) ในทางเดินอาหารก่อนที่จะถูกดูดซึม ซึ่งกรดแอสคอร์บิกที่ปล่อยออกมาจากการไฮโดรไลซ์นั้นดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์เหมือนกับแอสคอร์บิกเพียงอย่างเดียว [103] วิตามินซีในรูปแบบนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก และ Ascorbyl palmitate มักถูกใช้เตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ภายนอกมากกว่า เนื่องจากมีความคงตัวดีกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก [104]
- ใน Ascorbyl palmitate จะให้วิตามินซีหรือกรดแอสคอร์บิกประมาณ 40% นั่นหมายความว่า Ascorbyl palmitate 500 มก. จะมีวิตามินซีอยู่ 200 มก. ตัวอย่างยี่ห้อที่มีจำหน่าย เช่น ยี่ห้อ NOW Foods Ascorbyl Palmitate 500 mg, Life Extension Ascorbyl Palmitate 500 mg
- สูตร PureWay-C® (Vitamin C-lipid metabolites) เป็นวิตามินซีสูตรผสมกรดไขมัน (Lipid metabolites) ที่วิตามินซีสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วและคงอยู่ในระดับสูงในร่างกายได้นาน แต่จากการศึกษาขนาดเล็กในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีพบว่า หลังจากผ่านไป 4 ชั่วโมง กลุ่มที่ทานวิตามินซีสูตร PureWay-C®, วิตามินซีปกติ (Ascorbic acid), วิตามินซีรูปเกลือแคลเซียมแอสคอร์เบต (Calcium ascorbate) และกลุ่มที่ทานวิตามินซีสูตร Ester-C® มีระดับวิตามินซีในเลือดไม่แตกต่างกันเมื่อรับประทานเพียงครั้งเดียวในขนาด 1,000 มก. [105]
- กรดอีริทอร์บิก (Erythorbic acid) หรือ D-Isoascorbic acid เป็นไอโซเมอร์ (Isomer) ของวิตามินซี แต่มีการจัดเรียงของโครงสร้างโมเลกุลต่างกัน และอาจส่งผลต่อร่างกายไม่เหมือนกับวิตามินซี เช่น ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันได้เหมือนวิตามินซี โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารชนิดนี้จะพบได้ในต่างประเทศ (ไม่พบการจำหน่ายในไทย) และมักใช้เป็นสารเติมแต่งในอาหารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า สรุปคือไม่มีประโยชน์ใด ๆ ครับ
- การศึกษาในหนูทดลองพบว่าการบริโภค Erythorbic acid มีผลไปลดการดูดซึมของกรดแอสคอร์บิกถึง 50% แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อทำการศึกษาในมนุษย์ พบว่า Erythorbic acid ไม่ได้มีผลไปลดการดูดซึมของกรดแอสคอร์บิกที่ได้รับการรับประทานอาหารแต่อย่างใด [106]
- ไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoids) ผลิตภัณฑ์วิตามินซีหลายยี่ห้อมักมีส่วนผสมของไบโอฟลาโวนอยด์ (เช่น Bioflavonoids, Citrus Bioflavonoids หรือ Lemon Bioflavonoids) โดยไบโอฟลาโวนอยด์อาจสกัดมาจากผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว เลมอน อะเซโรลา ส้มเขียวหวาน หรือมาจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ผักและสมุนไพรบางชนิด รวมถึงสารอื่น ๆ เช่น Hesperidin, Quercetin, Rutin หรือหลายอย่างรวมกันในชื่อ โดยเชื่อกันว่าไบโอฟลาโวนอยด์จะทำงานร่วมกับวิตามินซีและช่วยเพิ่มการดูดของวิตามินซี ซึ่งความเชื่อนี้มีพื้นฐานมาจากการศึกษาขนาดเล็กเพียงการศึกษาเดียวในปี 1988 ที่ระบุว่า ไบโอฟลาโวนอยด์จากส้มช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซีได้ถึง 35% และยังช่วยให้วิตามินซีดูดซึมได้ช้าลง (ชะลอการปลดปล่อยของวิตามินซี) [107] อย่างไรก็ตาม แม้งานวิจัยนี้จะมีผลลัพธ์ออกมาดี แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันจากการศึกษาอื่น ๆ แถมยังขัดแย้งกับการศึกษาทางคลินิกอื่น ๆ กว่า 10 การศึกษาที่ล้วนพบว่าไม่มีความแตกต่างที่ชัดในการดูดซึม สรุป ให้ผลการดูดซึมไม่แตกต่างจากวิตามินซีปกติ (แล้วแต่จะเลือกพิจารณานะครับ แต่ทาง Medthai แนะนำว่าถ้าราคาใกล้เคียงกันจะเลือกทานสูตรนี้ก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าราคาต่างกันก็แนะนำว่าทานสูตรปกติไปจะดีกว่าครับ)
- การศึกษาพบว่าไบโอฟลาโวนอยด์อาจมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคริดสีดวงทวาร, ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่อง (Venous insufficiency) และแผลที่ขา (Leg ulcers) [108] อย่างไรก็ตาม ขนาดของไบโอฟลาโวนอยด์ที่ใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ คือ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง ซึ่งไม่มีผลิตภัณฑ์วิตามินซีใดจะมีไบโอฟลาโวนอยด์สูงขนาดนี้ และไบโอฟลาโวนอยด์ที่มีในผลิตภัณฑ์วิตามินซีส่วนใหญ่ก็มักมีปริมาณเพียง 10-80 มก. หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 100 มก. ซึ่งน่าจะใส่มาเพื่อแค่ช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี
- การศึกษาเปรียบเทียบการดูดซึมของวิตามินซีจำนวน 3 รูปแบบในปี 1994 พบว่าวิตามินสูตร Ester-C, สูตรผสมไบโอฟลาโวนอยด์ ไม่ได้มีประโยชน์ไปกว่าวิตามินซีสูตรปกติ (กรดแอสคอร์บิก) แต่อย่างใด [99]
- โรสฮิป (Rose Hips หรือ Wild Rose Hips) หรือสารสกัดจากกุหลาบป่า เป็นสารสกัดที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์วิตามินซี เพราะนอกจากจะให้วิตามินซีแล้ว ยังเชื่อว่าช่วยให้วิตามินซีดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น (เหมือนไบโอฟลาโวนอยด์) แต่สารสกัดจากโรสฮิป (Rose Hips Extract) จะให้วิตามินซีเพียง 2% เท่านั้น ดังนั้น หากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดโรสฮิป 500 มก. ก็จะให้วิตามินซีเพียง 10 มก. (ผลิตภัณฑ์วิตามินซีส่วนใหญ่มักจะใส่สารสกัดนี้เข้าไปเพียง 10-25 มก. ซึ่งจะให้วิตามินซีแค่ 0.2-0.5 มก.)
- แม้โรสฮิปจะให้วิตามินซีน้อย แต่ยังมีข้อดีอื่นคือยังมีสารประกอบอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งไฟเบอร์ ซึ่งหากได้รับในปริมาณที่เพียงพอ อาจให้ประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น การศึกษาในประเทศสวีเดนพบว่าการใช้สารสกัดจากโรสฮิปวันละ 40 กรัม (40,000 มก.) สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในผู้ป่วยโรคอ้วนได้เล็กน้อย [109]
- อะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยกรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซี โดยพบว่าในผลสด 100 กรัม (100,000 มก.) จะให้วิตามินซีอยู่ในช่วง 1,500-4,500 มก. (มากกว่าส้มหรือมะนาวประมาณ 50-100 เท่า) [110] หรือโดยเฉลี่ย คือ 1680 มก. (ประมาณ 1.68%) [111]
- ส่วนอะเซโรลาในรูปแบบผงหรือสารสกัดจากอะเซโรลา (Acerola Cherry Extract) พบว่าจะให้วิตามินซีประมาณเพียง 1.5-1.7% เท่านั้น ดังนั้น ในผลิตภัณฑ์ Acerola Cherry 1000 มก. จึงมีวิตามินซีเพียง 15-17 มก. (บางผลิตภัณฑ์อาจมีการสกัดเป็นอะเซโรลาเข้มข้น ซึ่งจะมีวิตามินซีธรรมชาติในปริมาณที่สูงกว่า คือประมาณ 6% ในสูตรสารสกัด 4:1) ดังนั้น หากคุณกำลังมองหาประโยชน์จากวิตามินซีเพียงอย่างเดียว ผลิตภัณฑ์ Acerola Cherry อาจไม่ใช่คำตอบ
- คามู คามู (Camu Camu) เป็นผลไม้ตามธรรมชาติที่มีวิตามินซีสูงเช่นกัน (ประมาณ 1-3% ของเนื้อสด ซึ่งมากกว่าส้มประมาณ 30 เท่า) โดยผลิตภัณฑ์สารสกัดจากคามูคามู (Camu Camu Extract) อาจมีวิตามินซีสูงถึง 20% นั่นหมายความว่าใน 400 มก. จะให้วิตามินซี 80 มก. (ขนาดที่พบได้ทั่วไปมีตั้งแต่ 250-2,000 มก.)
- Q®-C เช่น ยี่ห้อ Doctor’s Best Vitamin C with Q-C คือ วิตามินซีที่ผลิตในสกอตแลนด์และได้รับการรับรองในเรื่องของคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ ไม่ได้เป็นสูตรที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมแต่อย่างใด แต่แค่ระบุถึงคุณภาพของวัตถุดิบวิตามินซี แต่เอาเข้าจริง ๆ กรดแอสคอร์บิกที่ใช้ในการผลิตไม่ได้มีราคาแพง และค่อนข้างไปทางถูกมาก ดังนั้น ขอแค่ผลิตภัณฑ์วิตามินซีผลิตจากโรงงานที่ผ่านมาตรฐานหรือเป็นยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือก็ถือว่ามีคุณภาพพอ ๆ กันและให้ผลเหมือนกันครับ
- Fully Reduced หมายถึง วิตามินซีที่ไม่ถูกออกซิไดซ์ (โดยปกติแล้ววิตามินซีจะเป็นสารประกอบที่ไม่เสถียร และถูกออกซิไดซ์ได้ง่ายจากอากาศและแสงสว่าง แต่ถ้าอยู่ในสารละลายที่มีค่า pH ต่ำกว่า 7 ก็จะไม่ถูกออกซิไดซ์ ทำให้ในบางผลิตภัณฑ์จึงผสมแคลเซียมแอสคอร์เบตเข้าเพื่อทำให้มีค่า pH เป็นกลาง) อย่างไรก็ตาม หากบริษัทมีกระบวนการผลิตและการจัดเก็บอย่างถูกต้อง วิตามินซีก็จะอยู่ในสถานะ Fully Reduced อยู่แล้วครับ แม้จะเป็นวิตามินซีสูตรปกติก็ตาม ดังนั้น อย่าปล่อยให้ฉลากเหล่านี้หลอกคุณได้ และไม่มีเหตุผลที่จะไปแสวงหาหรือจ่ายเงินเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวอ้างแบบนี้
วิตามินซีมีอยู่ด้วยกันหลายรูปหลายสูตร แต่หลักฐานส่วนใหญ่ระบุว่าไม่มีแบบไหนดีกว่ากัน เพียงแต่ควรเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง โดยเฉพาะวิตามินซีปกติในรูป “Ascorbic acid” นั้นเหมาะสำหรับคนส่วนใหญ่ ส่วนวิตามินซีรูปเกลือ Ascobate จะเหมาะกับผู้ที่กระเพาะไวต่อความเป็นกรด สำหรับวิตามินซีที่อ้างว่าช่วยเพิ่มการดูดซึมก็พบว่าให้ผลไม่ต่างกันและอาจไม่จำเป็น เพราะร่างกายอาจไม่ได้ต้องการวิตามินซีมากมายขนาดนั้น และเมื่อทานไปเรื่อย ๆ ก็ถึงจุดอิ่มตัวได้เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงเป็นเรื่องของ “ขนาดที่เหมาะสม” และทานอย่างต่อเนื่องต่างหาก ร่างกายจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
จุดอิ่มตัวและการดูดซึมของวิตามินซี
วิตามินซีที่เรารับประทานเข้าไปจะถูกดูดซึมที่ทางเดินอาหารบริเวณกระพุ้งแก้มและบริเวณลำไส้เล็กส่วนกลางที่มีการดูดซึมวิตามินซีได้มากที่สุด โดยการดูดซึมวิตามินซีจะขึ้นอยู่กับขนาดที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละครั้ง แต่การดูดซึมนี้ก็จะมีจุดอิ่มตัวในการดูดซึมด้วย กล่าวคือถ้าเสริมวิตามินซีในขนาดที่มากเกินจุดอิ่มตัวนี้ ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมวิตามินซีเอาไปใช้ได้เพิ่มขึ้น และยิ่งทานครั้งละมากขึ้นเท่าไหร่ ร่างกายก็จะยิ่งดูดซึมได้น้อยลงเท่านั้น ดังนี้ [112]
- เมื่อทานครั้งละ 15 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซีเอาไปใช้ได้ 89%
- 100 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี 80%
- 200 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี 72%
- 500 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี 63%
- 1,000 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี ~50%
- 1,250 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี 46%
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการดูดซึมวิตามินซียังขึ้นอยู่กับรูปแบบและสูตรของผลิตภัณฑ์วิตามินซีด้วย ซึ่งบางรูปบางสูตรอาจมีการดูดซึมได้ดีกว่า (แต่ส่วนใหญ่จะไม่ต่างกัน หรือต่างกันแต่ก็ไม่มาก)
การแบ่งรับประทานวิตามินซีวันละหลายครั้งร่างกายจะดูดซึมวิตามินซีเอาไปใช้ได้มากกว่า โดยในขนาด 100-200 มก. แม้จะดูดซึมได้มาก แต่อาจจะต้องทานวันละมากกว่า 3 ครั้ง ซึ่งไปได้ยากและไม่สะดวก ในขณะที่การเลือกทานวิตามินซีขนาด 500 มก. วันละ 2 ครั้ง ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินซีเอาไปใช้ได้ 63% หรือ 630 มก. (รวม 2 มื้อ) ซึ่งมากกว่าการทานวิตามินซีขนาด 1,000 มก. วันละ 1 ครั้ง ที่ร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้เพียง 50 % หรือ 500 มก.
เทคนิคการเลือกซื้อวิตามินซี
- ฉลากต้องระบุส่วนผสมชัดเจน โดยอย่างน้อย ๆ ต้องระบุรูปแบบวิตามินซีว่าอยู่ในรูปแบบใด เช่น Ascorbic acid, Calcium ascorbate หรือ Sodium ascorbate (เพราะแต่ละรูปแบบอาจมีข้อห้ามใช้ในบางคน) ไม่แนะนำให้ซื้อวิตามินซีที่ฉลากระบุเพียงแค่ “Vitamin C 1000 mg” โดยไม่ระบุว่าอยู่ในรูปแบบของสารใดครับ (หากฉลากระบุแค่ว่า “Ascorbic acid” ก็ไม่ต้องกังวลและขอให้เข้าใจว่ามันคือ “L-ascorbic acid” ที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้ ไม่ใช่ D-ascorbic acid ที่ไม่มีประโยชน์) นอกจากนี้ ฉลากควรแสดงส่วนประกอบของสารอื่น ๆ (Other Ingredients) ที่ใช้ในการผลิตด้วย เพราะสารที่ใช้ในผลิตบางอย่างก็อาจเป็นอันตรายได้หากบริโภคไปนาน ๆ
- บรรจุอยู่ในขวดทึบแสง ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกวิตามินซีที่บรรจุอยู่ในทึบหรือขวดสีชาหรือสีทึบ เนื่องจากวิตามินซีค่อนข้างเปราะบาง ไม่ทนต่อความร้อนและแสงแดด และความเป็นด่าง
- เลือกขนาดขวดหรือจำนวนเม็ดต่อขวดให้เหมาะสม คือ หลังเปิดขวดไม่ควรทานเกิน 2-3 เดือน โดยขนาดที่ทาง Medthai แนะนำคือ “ขวดขนาดกลางประมาณ 60-120 เม็ด” (ถ้าทานวันละเม็ดเลือดขวด 60-90 เม็ด ถ้าทานวันละ 2 เม็ดให้เลือกขวดประมาณ 120 เม็ด) ส่วนขวดขนาดเล็ก 30-45 เม็ดนั้นมักจะมีราคาต่อเม็ดที่แพงกว่าซึ่งไม่คุ้ม ส่วนขวดขนาดใหญ่ (ประมาณ 200-300 เม็ด) แม้ราคาต่อเม็ดมักจะถูกกว่า แต่ไม่แนะนำครับ (เว้นแต่ว่าจะทานกันเป็นครอบครัว 2-3 คนขึ้นไป) เพราะวิตามินซีค่อนข้างไวต่ออุณหภูมิและความชื้น ถ้าต้องเปิดทานบ่อย ๆ ก็จะทำให้คุณภาพของวิตามินซีเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ ถึงแม้จะมีตัวดูดซับความชื้นก็อาจจะช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่
มีการศึกษาทดลองการเก็บวิตามินซีในสภาวะเร่ง คือ เก็บวิตามินซีในอุณหภูมิค่อนข้างร้อน คือ 40±2ºC (อุณหภูมิห้องปกติคือ 25± 2ºC) และมีความชื้นสูง 75±5%RH (ความชื้นปกติคือไม่เกิน 60%RH) ในตู้ทดสอบความเสถียรของยา (Stability Testing Chambers) เป็นเวลา 70 วัน เพื่อติดตามปริมาณ Ascorbic acid ของยาเม็ดวิตามินซีที่เหลืออยู่ รวม 3 ยี่ห้อในไทย ผลการทดสอบพบว่า วิตามินซียี่ห้อ A มีปริมาณวิตามินซีคงเหลือเท่ากับ 16.4%, ยี่ห้อ B เหลือ 20.05% และยี่ห้อ C คงเหลือ 84.82% [113] ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยบ่งบอกได้ว่า อุณหภูมิและความชื้นมีผลอย่างมากต่อวิตามินซี และวิตามินซีบางยี่ห้อสามารถทนต่ออุณหภูมิและความชื้นได้ดี (การทดสอบไม่ได้เปิดเผยยี่ห้อ) - เลือกซื้อวิตามินซีขนาดไหนดี ? ตามคำแนะนำของ Medthai วิตามินซีขนาด 500 มก./เม็ด คือตัวเลือกที่ดีที่สุด ด้วยเหตุดังนี้
- มีความยืดหยุ่นในการใช้มากกว่า คือสามารถกำหนดทานได้ถึงวันละ 500-1,500 มก. (วันละ 1-3 ครั้ง)
- หากต้องการทานวันละ 1,000-1,500 มก. ก็สามารถแบ่งทานเป็น 2-3 มื้อหลังอาหารได้ถ้าต้องการ
- เป็นขนาดที่หาซื้อได้ง่าย ในขณะที่ขนาดที่น้อยกว่า 500 มก. จะไม่ค่อยมีจำหน่าย หาซื้อได้ยากและราคาอาจไม่แตกต่างกันมาก
- ร่างกายดูดซึมได้ดีกว่า เพราะการทานวิตามินซีเม็ดละ 1,000 มก. ร่างกายจะดูดซึมวิตามินซีเอาไปใช้ได้แค่ 50% หรือคิดเป็น 500 มก. ในขณะที่การทานวิตามินซีขนาดเม็ดละ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง ร่างกายจะดูดซึมวิตามินซีและเอาไปใช้ได้ 63% หรือเท่ากับ 630 มก. ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่า
- ใช้ได้อย่างปลอดภัย และช่วยลดความเสี่ยงที่มักเกิดจากผลข้างเคียงเมื่อรับประทานในขนาดสูงหรือ 1,000 มก. ขึ้นไป
- เมื่อเทียบราคาต่อปริมาณที่ร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ 100 มก. ระหว่าง 500 กับ 1,000 มก. อาจไม่ได้แตกต่างกันหรือ 500 มก. อาจมีราคาถูกกว่าด้วย! ตัวอย่างเช่น ยี่ห้อ Nature’s Bounty วิตามินซีสูตรปกติ (ราคาจาก iHerb เมื่อวันที่เขียนเนื้อหานี้)
- ขนาด 500 มก. กระปุกละ 610.92 บาท (250 เม็ด) ราคาตกเม็ดละ 2.44 บาท ถ้าร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้ 315 มก. จะคิดเป็น 0.775 บาท ต่อ 100 มก.
- ขนาด 1,000 มก. กระปุกละ 1,430.62 บาท (300 เม็ด) ราคาตกเม็ดละ 4.77 บาท ถ้าร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้ 500 มก. จะคิดเป็น 0.954 บาท ต่อ 100 มก. ซึ่งมีราคาแพงกว่าแบบแรก คือ 0.954 ต่อ 0.775 บาท!!
- สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ปริมาณวิตามินซีในขนาดสูงมาก ๆ ตั้งแต่ 2,000 มก./เม็ดขึ้นไป สำหรับผู้ใหญ่ (และ 400-450 มก. สำหรับเด็กเล็ก) ควรเลือกซื้อวิตามินซีในรูปเกลือเพื่อช่วยลดความเป็นกรด เนื่องจากในปริมาณที่สูงมาก คือ 2,000 มก. ขึ้นไป กรดแอสคอร์บิกอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะและทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ในคนปกติ
- เลือกวิตามินซีรูปแบบไหนดีที่สุด ? ไม่ว่าจะรูปแบบไหนวิตามินซีก็ดูดซึมได้ดีพอ ๆ กัน ดังนั้น ทางที่ดีควรทานเลือกวิตามินซีแบบเม็ดหรือแบบแคปซูล (ถ้ามีปัญหาเรื่องการกลืนให้เลือกทานแบบแคปซูล) เพราะมีราคาประหยัดกว่ ส่วนรูปแบบอื่น ๆ เราไม่ค่อยแนะนำ เช่น แบบเคี้ยว แบบกัมมี่ แบบผง หรือแบบน้ำ เพราะแม้ส่วนใหญ่จะให้รสชาติที่ดี แต่อาจนำไปสู่การบริโภคมากเกินไป ส่งผลต่อเคลือบฟันจากความเป็นกรดของวิตามินซี อาจทำให้ฟันผุจากส่วนผสมของน้ำตาล และร่างกายยังได้แคลอรีเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นด้วย
- เลือกวิตามินซีสูตรไหนดีที่สุด ? จากหลักฐานส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีสูตรใดดีกว่ากัน เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ถ้ามีปัญหากระเพาะไวต่อความเป็นกรดก็ควรเลือกวิตามินซีในรูปเกลือ Ascorbate แต่ถ้าในคนทั่วไปก็เลือกเป็นวิตามินซีในรูป “Ascorbic acid” ธรรมดาก็พอครับ เพราะมีราคาถูกที่สุดและให้ผลไม่ต่างจากสูตรอื่น ๆ ประกอบกับคุณไม่จำเป็นต้องได้รับวิตามินซีมากมายอะไรขนาดนั้น แค่ทานอย่างต่อเนื่องเป็นอันใช้ได้ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปสรรหาสูตรที่อ้างว่าดีกว่าหรือช่วยเพิ่มการดูดซึม (แม้บางสูตรจะมีการศึกษาว่าดูดซึมได้ดีกว่า แต่ส่วนใหญ่ให้ผลแตกต่างกันไม่มาก และการศึกษาจะยังสรุปได้ไม่ชัดเจน แถมบางสูตรยังไปลดการดูดซึมอีกต่างหาก สรุปคือ ไม่คุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด) โดยแต่ละสูตรขอสรุปสั้น ๆ ดังนี้
- สูตร Liposomal Vitamin C แพงเกินจำเป็นและอาจไม่มีประโยชน์
- สูตร Slow Release หรือ Timed Release (สูตรปลดปล่อยช้า) ให้ผลไม่ต่างจากสูตรปกติ และบางสูตรยังลดการดูดซึม จึงไม่แนะนำ
- Ester-C® พบว่าระดับวิตามินซีในเลือดไม่แตกต่างจากวิตามินซีสูตรปกติ แต่พบว่าช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในเม็ดเลือดขาวได้ (ถ้าเน้นเสริมภูมิต้านทานตัวเลือกนี้อาจจะดีกว่าตัวเลือกอื่น)
- PureWay-C® (Vitamin C-lipid metabolites) การศึกษาพบว่าดูดซึมได้ไม่แตกต่างจากวิตามินซีสูตรปกติ
- Bioflavonoids งานวิจัยส่วนใหญ่มากกว่า 10 งานวิจัยระบุว่ามันไม่ได้ช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซีแต่อย่างใด (มีเพียงงานวิจัยเดียวที่เก่ามาก ๆ ตั้งแต่ปี 1988 ที่ระบุว่าช่วยดูดซึมวิตามินซีได้ดีขึ้น)
- Acerola Cherry พบว่าให้วิตามินซีประมาณเพียง 1.5-1.7% เท่านั้น ดังนั้น ในผลิตภัณฑ์ Acerola Cherry 1,000 มก. จึงมีวิตามินซีเพียง 15-17 มก. หากคุณกำลังมองหาประโยชน์จากวิตามินซีเพียงอย่างเดียว ผลิตภัณฑ์ Acerola Cherry อาจไม่ใช่คำตอบ
- เลือกยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ผลิตจากโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและความปลอดภัย และขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. อย่างถูกต้อง เพราะสิ่งนี้ “อาจ” บ่งบอกได้ถึงมาตรฐานการผลิตที่ดี, เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต, คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้, ความบริสุทธิ์ของส่วนผสม, ความปลอดภัยปลอดสารปนเปื้อนหรือเป็นอันตราย, ความถูกต้องของปริมาณสารที่ระบุไว้ในฉลาก เป็นต้น
- ผ่านการตรวจสอบ/รับรองจากบุคคลที่สาม อาหารเสริมและยาในบ้านเราพบได้ไม่บ่อยที่จะมีการตรวจสอบจากองค์กรหรือหน่วยงานอื่นที่มีความเป็นกลาง ส่วน อย. ในบ้านเราก็ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัย ประสิทธิภาพ หรือคุณภาพอย่างที่เข้าใจ นั้นหมายความว่า อาหารเสริมหรือยาใด ๆ อาจมีส่วนผสมของสารสำคัญไม่ถึงตามปริมาณที่แจ้งหรืออาจไม่มีเลยก็ได้ หรืออาจมีสารปนเปื้อนเกินปริมาณที่กำหนด เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผลิตภัณฑ์ที่เราจะซื้อควรผ่านการตรวจหรือผ่านการรับรองจากองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเป็นกลาง อย่างเช่นในบ้านเราก็จะเป็น “นิตยสารฉลาดซื้อ” ที่ได้เคยทำการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มจำนวน 47 ตัวอย่าง (ทุกตัวอย่างผ่าน อย. ทั้งหมด) แต่กลับพบว่ามีเพียง 8 ตัวอย่างที่มีปริมาณวิตามินซีตามที่ระบุไว้ในฉลาก และมีถึง 8 ตัวอย่างด้วยกันที่ตรวจไม่พบวิตามินซีเลย
แต่ถ้าเป็นยี่ห้อต่างประเทศตรงนี้จะมีข้อดีมากกว่า เพราะมีหน่วยงานและบริษัทเอกชนหลายเจ้าที่ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ Vitamin แต่ละยี่ห้อ แล้วเผยแพร่ผลการทดสอบให้เห็นว่าแต่ละยี่ห้อมีปริมาณวิตามินซีตรงตามที่แจ้งไว้หรือไม่ ตรวจพบสารอันตรายหรือไม่ เป็นต้น - เปรียบเทียบราคา โดยเฉพาะราคาต่อมิลลิกรัมที่ร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้ เพราะถ้าเทียบราคาต่อเม็ดจากขนาดที่ระบุไว้บนฉลาก วิตามินซีขนาด 1,000 มก. มักมีราคาถูกกว่าขนาด 500 มก. แต่ถ้าเทียบราคาต่อปริมาณมิลลิกรัมที่ร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้จริง ๆ วิตามินซี 500 มก. อาจมีราคาถูกกว่าหรือราคาไม่ต่างกันดังที่กล่าวไป
- เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น จากร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่ หรือทางช่องทางออนไลน์อย่างการสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ของผู้ผลิตโดยตรง หรือเป็นร้านค้าอย่างเป็นทางการในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee หรือ Lazada (ถ้าไม่มีให้ซื้อจากร้านค้าที่มีผู้ซื้อเยอะ ๆ และมีรีวิวสูง ๆ) ส่วนยี่ห้อต่างประเทศถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ซื้อจาก iHerb (ถ้าไม่มีหรือค่าส่งแพง ร้านค้าในเว็บ Shopee หรือ Lazada ที่มีรีวิวดี ๆ คือทางเลือกสำรอง) เพื่อช่วยลดโอกาสที่คุณจะได้รับของเสื่อมคุณภาพหรือของปลอม เพราะร้านที่ดีและมีความน่าเชื่อถือมักจะมีระบบจัดเก็บสินค้าที่ดีและอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม นอกจากนี้ ก่อนกดสั่งซื้อทุกครั้งต้องตรวจสอบวันที่ผลิตและวันหมดอายุก่อนเสมอ (สินค้าแต่ละล็อตต้องมีระบุวันที่ผลิตและวันหมดอายุอย่างชัดเจน) อย่างไรก็ตาม การสั่งซื้อผ่านทุกช่องทางออนไลน์มักมีความเสี่ยงในเรื่องของอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นในระหว่างการขนส่ง ซึ่งอาจทำให้วิตามินซีเสื่อมคุณภาพไปบ้าง (แต่ก็มักจะไม่มากถ้าไม่ได้ใช้เวลาขนส่งนาน)
ผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่ดีควรมีฉลากระบุรูปแบบของวิตามินซีที่ชัดเจน บรรจุอยู่ในขวดทึบแสง และเป็นยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ ถ้าซื้อทานคนเดียวก็ให้ควรเลือกขวดขนาดกลาง ๆ 60-120 เม็ด ในขนาด 500 มก./เม็ด จะเหมาะสมที่สุดเพราะมีความยืดหยุ่นในการใช้และค่อนข้างปลอดภัย ส่วนรูปแบบควรเป็นแบบเม็ดหรือแบบแคปซูล และเลือกวิตามินซีในรูป Ascorbic acid ธรรมดาก็พอ เพราะมีราคาถูกที่สุดและให้ผลไม่แตกต่างจากสูตรอื่น ๆ (ถ้ากระเพาะไวต่อความเป็นกรดให้เลือกซื้อวิตามินซีในรูปเกลือ Ascorbate)
คำแนะนำการทานวิตามินซี
- เลือกทานวิตามินซีจากอาหารหรือวิตามินซีแบบสังเคราะห์ ? ทั้งคู่ต่างให้กรดแอสคอร์บิกเหมือนกัน แต่วิตามินซีจากอาหารธรรมชาติจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายที่มากกว่า (นอกเหนือจากวิตามินซี) และไม่มีผลเสียหรือผลข้างเคียงเหมือนวิตามินซีแบบสังเคราะห์ แต่ถ้าไม่สะดวก การทานแบบสังเคราะห์ยังเป็นทางเลือกที่ดีและอาจสลับไปทานจากอาหารธรรมชาติบ้างก็ได้ ส่วนผลิตภัณฑ์วิตามินซีจากธรรมชาติ เช่น โรสฮิป อะเซโรลา คามูคามู ฯลฯ นั้นไม่ได้ดีไปกว่าวิตามินซีแบบสังเคราะห์ธรรมดา ถ้าคุณแค่ต้องการวิตามินซี สรุปคือ ถ้ารับวิตามินซีจากอาหารปกติได้ทุกวันก็จะดีมาก ถ้าไม่ได้ก็เลือกเป็นแบบสังเคราะห์ครับ
- จำเป็นต้องทานวิตามินซีเสริมหรือไม่ ? ถ้าเราทานผักผลไม้ได้วันละ 5 หน่วยบริโภคก็ไม่จำเป็นต้องทานวิตามินซีเสริม (หนึ่งหน่วยบริโภคเท่ากับผักหรือผลไม้ ½ -1 ถ้วย ซึ่ง 5 หน่วยบริโภคจะได้มีวิตามินซีประมาณ 200-250 มก. ซึ่งมีเด็กและผู้ใหญ่ในอเมริกาเพียง 15% ของประชากรทั้งหมดที่รับประทานอาหารได้ในขนาดนี้) แต่คนส่วนใหญ่มักได้รับวิตามินซีจากอาหารที่บริโภคต่อวันไม่เพียงพอ จึงอาจทานวิตามินซีเสริมได้ถ้าต้องการ
- ขนาดวิตามินซีที่แนะนำต่อวัน โดยปกติจะแตกต่างกันไปตามอายุ สภาวะหรืออาการ รวมถึงความต้องการหรือข้อบ่งใช้เฉพาะของแต่ละบุคคล โดยมีขนาดที่แนะนำดังนี้
- 60 มก. เป็นขนาดขั้นต่ำที่ต้องได้รับต่อวันในผู้ใหญ่
- 75-120 มก. เป็นขนาดที่ควรได้รับต่อวัน (RDA) สำหรับผู้ใหญ่เพศชาย คือ 90 มก./วัน, ผู้ใหญ่เพศหญิง 75 มก./วัน, ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี 80 มก./วัน, ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 18 ปี 85 มก./วัน, ผู้หญิงให้นมบุตร 120 มก./วัน และในผู้ที่สูบบุหรี่แนะนำให้เพิ่มปริมาณวิตามินซีอีก 35 มก./วัน (ส่วนในเด็กคือ 15 มก./วัน ในเด็กอายุ 1-3 ปี, 25 มก./วัน ในเด็กอายุ 4-8 ปี, 45 มก./วัน ในเด็กอายุ 9-13 ปี, 75 มก./วัน ในผู้ชายอายุ 14-18 ปี และขนาด 65 มก./วัน ในผู้หญิงอายุ 14-18 ปี)
- 100-250 มก. เป็นขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำ เพียงพอต่อสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะถ้าได้จากอาหารปกติในปริมาณ 5 หน่วยบริโภค เพราะให้ประโยชน์สูงสุดโดยไม่เกิดผลเสียหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ใด
- 500 มก. เป็นขนาดที่แนะนำมากที่สุดในรูปอาหารเสริม เพราะคุ้มค่าที่สุดและร่างกายยังดูดซึมวิตามินซีเอาไปใช้ได้ดี เป็นขนาดที่ใช้ในงานวิจัยส่วนใหญ่ ถ้าทานเป็นประจำก็สามารถทำให้ระดับวิตามินซีถึงจุดอิ่มตัวได้ และยังถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างปลอดภัยอยู่ (ถ้าทานวันละ 1 เม็ด) แม้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกก็ตาม
- 1,000 มก. คือขนาดสูงสุดต่อวันที่ยังยอมรับได้ แต่จะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต (แนะนำให้ทานขนาด 500 มก. หลังอาหารเช้าและเย็นวันละ 2 ครั้ง แทนการเลือกทานแบบ 1,000 มก. เพียงครั้งเดียว เพราะร่างกายจะได้ประโยชน์มากกว่า)
- 1,500-2,000 มก. ขึ้นไป คือขนาดที่ใช้สำหรับโรคเกาต์ ลดอาการภูมิแพ้ และลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคงูสวัด (ส่วนการใช้เพื่อประโยชน์อื่น ๆ นั้นไม่แนะนำ เพราะประโยชน์ที่ได้อาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงต่าง ๆ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น) โดยถ้าต้องทานมากกว่าวันละ 2,000 มก. แนะนำให้เลือกทานวิตามินซี 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น
- วิตามินซีทานสูงสุดได้วันละเท่าไหร่ ? สำหรับขนาดสูงสุดต่อวันที่ยอมรับได้และน่าจะปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป คือ
- ในผู้ใหญ่ คือ 2,000 มก./วัน
- ในวัยรุ่นอายุ 14-18 ปี คือ 1,800 มก./วัน
- ในเด็กอายุ 9-13 ปี คือ 1,200 มก./วัน
- ในเด็กอายุ 4-8 ปี คือ 650 มก./วัน
- ในเด็กอายุ 1-3 ปี คือ 400 มก./วัน
- อย่างไรก็ตาม ปริมาณดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับการบริโภควิตามินซีทั้งหมดจากอาหารปกติด้วย และบุคคลทั่วไปไม่ควรรับประทานเกินขนาดที่แนะนำเหล่านี้ เว้นแต่จะอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์
- วิตามินซีทานเวลาไหนดี ? การทานวิตามินซี “หลังอาหารเช้า” ร่างกายจะได้ประโยชน์สูงสุด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- ในระหว่างวันร่างกายของเราจะมีการทำกิจกรรมหรือทำงานอยู่ตลอดเวลาที่จะมีการสร้างอนุมูลอิสระมากขึ้นเป็นปกติ การทานวิตามินซีในตอนเช้าจึงเกิดประโยชน์มากกว่าเวลาอื่น ๆ เพราะวิตามินซีมีจะออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้อย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการต้านอนุมูลอิสระร่วมกับวิตามินอี, โคเอนไซม์คิว10, กรดแอลฟาไลโปอิก, กลูต้าไธโอน ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
- ในระหว่างวันเราจะดื่มน้ำเรื่อย ๆ ทำให้ร่างกายขับออกทางปัสสาวะภายใน 4-6 ไม่ชั่วโมง และไม่มีการตกค้างในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งต่างจากการทานในช่วงก่อนนอนที่เรามักไม่ได้ลุกไปปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นเล็กน้อยที่จะก่อให้เกิดการตกผลึกเป็นนิ่วได้
- ไม่แนะนำให้ทานก่อนอาหารหรือทานในขณะที่ท้องว่าง (ควรทานหลังอาหารหรืออย่างมากก็พร้อมอาหาร) เพราะโดยธรรมชาติแล้ววิตามินซีจะมีความเป็นกรดอ่อน ๆ การทานหลังอาหารจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการข้างเคียงหรือทำให้เกิดอาการแสบท้องได้ แต่ถ้าคุณทานวิตามินซีในขนาดที่ไม่สูงมากและเป็นวิตามินซีในรูปเกลือที่ช่วยลดความเป็นกรดจะทานตอนไหนก็ได้ (แต่หลังอาหารก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด)
- ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ หลังทานวิตามินซีควรดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว โดยเฉพาะวิตามินซีในรูป “Ascorbic acid” เพียว ๆ แบบไม่มีอะไรผสม ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเพิ่มการขับวิตามินซีที่เกินความต้องการออกจากร่างกายและลดการเกิดนิ่ว
- วิตามินซีแบ่งใส่กระปุกทานได้หรือไม่ ? ในคนที่ทานวิตามินซีมากกว่า 1 มื้อ หรือทานอาหารเสริม/ยาอื่น ๆ หลายชนิด มักจะมีการแบ่งวิตามินหรือยาเหล่านั้นใส่ตลับหรือกระปุกใส ๆ หรือใส่ซองรวมกัน แต่สำหรับวิตามินซีจะไม่แนะนำครับ เพราะอาจจะทำให้วิตามินซีเสื่อมคุณภาพจากอากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงระหว่างวันได้
- การเก็บวิตามินซี หลังเปิดทานวิตามินซีแล้วควรปิดให้สนิททุกครั้ง เก็บให้ห่างจากแสงต่าง ๆ หรือเก็บในตู้ยา เพราะแสงและอากาศเป็นตัวการทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยเปลี่ยนวิตามินซีที่ลดลงบางส่วนไปเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก จึงอาจทำให้วิตามินซีออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม
- ทานวิตามินซีต่อเนื่องได้หรือไม่ ? อาจขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทาน โดยการเสริมวิตามินซีในขนาด 250 มก. หรือน้อยกว่า ไม่พบว่าทำให้เกิดอันตรายใดต่อ ๆ ร่างกาย แต่ในขนาดที่สูงขึ้นกว่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ ส่วนในขนาดวันละ 1,000 มก. หรือมากกว่า พบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วในไต (เฉพาะในผู้ชาย), โรคไตจากผลึกออกซาเลต, ขัดขวางการฝึกความอดทนและการเพิ่มของมวลกล้ามเนื้อและกระดูกจากการออกกำลังกาย, อาจทำให้ DNA เสียหาย, อาจลดประสิทธิภาพยาต้านไวรัส HIV ฯลฯ อย่างไรก็ตาม บางการศึกษาก็พบว่าการทานในขนาดวันละ 1,000 มก. ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ไม่พบว่าทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด ตรงนี้ก็แล้วแต่จะพิจารณากันครับ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของวิตามินอี (Vitamin E) จากงานวิจัย !
ข้อมูลและงานวิจัยอ้างอิง
- PubMed. “The Roles of Vitamin C in Skin Health”. (2017)
- PubMed. “Aging- and photoaging-dependent changes of enzymic and nonenzymic antioxidants in the epidermis and dermis of human skin in vivo”. (2001)
- PubMed. “Dietary nutrient intakes and skin-aging appearance among middle-aged American women”. (2007)
- PubMed. “Skin wrinkling: can food make a difference?”. (2001)
- PubMed. “Effectiveness of antioxidants (vitamin C and E) with and without sunscreens as topical photoprotectants”. (1996)
- PubMed. “A topical antioxidant solution containing vitamins C and E stabilized by ferulic acid provides protection for human skin against damage caused by ultraviolet irradiation”. (2008)
- PubMed. “Effective photoprotection of human skin against infrared A radiation by topically applied antioxidants: results from a vehicle controlled, double-blind, randomized study”. (2014)
- PubMed. “Topical melatonin in combination with vitamins E and C protects skin from ultraviolet-induced erythema: a human study in vivo”. (1998)
- PubMed. “Topical ascorbic acid on photoaged skin. Clinical, topographical and ultrastructural evaluation: double-blind study vs. placebo”. (2003)
- PubMed. “Topical L-ascorbic acid: percutaneous absorption studies”. (2011)
- Nutrition Reviews. “Bleeding tendency and ascorbic acid requirements: systematic review and meta-analysis of clinical trials”. (2021)
- PubMed. “Vitamin C”. (2023)
- PubMed. “Nutrition and nail disease”. (2010)
- PubMed. “Vitamins and minerals: their role in nail health and disease”. (2007)
- Journal Watch. “Scurvy Can Be Mistaken for Rheumatologic Disorders”. (2019)
- PubMed. “The determination of dehydroascorbic acid and ascorbic acid in the serum and synovial fluid of patients with rheumatoid arthritis (RA)”. (1985)
- PubMed. “Biologically significant scavenging of the myeloperoxidase-derived oxidant hypochlorous acid by ascorbic acid. Implications for antioxidant protection in the inflamed rheumatoid joint”. (1987)
- PubMed. “Vitamin C Deficiency-Induced Pulmonary Arterial Hypertension”. (2020)
- PubMed. “Enhanced Human Neutrophil Vitamin C Status, Chemotaxis and Oxidant Generation Following Dietary Supplementation with Vitamin C-Rich SunGold Kiwifruit”. (2015)
- วารสารวงการยา ประจำเดือนกันยายน 2560 (ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม). “ประโยชน์ของวิตามินซีในทางการแพทย์”. (2017)
- PubMed. “Vitamin C for preventing and treating the common cold”. (2013)
- PubMed. “Extra Dose of Vitamin C Based on a Daily Supplementation Shortens the Common Cold: A Meta-Analysis of 9 Randomized Controlled Trials”. (2018)
- PubMed. “Vitamin C supplementation slightly improves physical activity levels and reduces cold incidence in men with marginal vitamin C status: a randomized controlled trial”. (2014)
- PubMed. “Antihistamine effect of supplemental ascorbic acid and neutrophil chemotaxis”. (1992)
- PubMed. “Intravenous infusion of ascorbic acid decreases serum histamine concentrations in patients with allergic and non-allergic diseases”. (2013)
- PubMed. “Intravenous vitamin C in the treatment of allergies: an interim subgroup analysis of a long-term observational study”. (2018)
- PubMed. “Impact of oral vitamin C on histamine levels and seasickness”. (2014)
- PubMed. “Effect of High-Dose Zinc and Ascorbic Acid Supplementation vs Usual Care on Symptom Length and Reduction Among Ambulatory Patients With SARS-CoV-2 Infection: The COVID A to Z Randomized Clinical Trial”. (2021)
- PubMed. “A Pilot of a Randomized Control Trial of Melatonin and Vitamin C for Mild-to-Moderate COVID-19”. (2022)
- PubMed. “Vitamin C may reduce the duration of mechanical ventilation in critically ill patients: a meta-regression analysis”. (2020)
- PubMed. “Pilot trial of high-dose vitamin C in critically ill COVID-19 patients”. (2021)
- PubMed. “Role of vitamin C in critically ill patients with COVID-19: is it effective?”. (2020)
- PubMed. “Effects of vitamin C supplementation on blood pressure: a meta-analysis of randomized controlled trials”. (2012)
- PubMed. “Ascorbic acid reduces blood pressure and arterial stiffness in type 2 diabetes”. (2002)
- PubMed. “Ascorbic acid supplementation improves postprandial glycaemic control and blood pressure in individuals with type 2 diabetes: Findings of a randomized cross-over trial”. (2019)
- PubMed. “Inadequate Vitamin C Status in Prediabetes and Type 2 Diabetes Mellitus: Associations with Glycaemic Control, Obesity, and Smoking”. (2017)
- PubMed. “Effect of vitamin C on blood glucose, serum lipids & serum insulin in type 2 diabetes patients”. (2007)
- PubMed. “Possible prevention of postangioplasty restenosis by ascorbic acid”. (1996)
- PubMed. “Association between Dietary Vitamin C Intake and Non-Alcoholic Fatty Liver Disease: A Cross-Sectional Study among Middle-Aged and Older Adults”. (2016)
- PubMed. “Effects of Oral Vitamin C Supplementation on Liver Health and Associated Parameters in Patients With Non-Alcoholic Fatty Liver Disease: A Randomized Clinical Trial”. (2021)
- PubMed. “Serum antioxidant nutrients, vitamin A, and mortality in U.S. Adults”. (2013)
- PubMed. “Vitamin E and vitamin C supplement use and risk of all-cause and coronary heart disease mortality in older persons: the Established Populations for Epidemiologic Studies of the Elderly”. (1996)
- PubMed. “Vitamin C intake and mortality among a sample of the United States population”. (1992)
- PubMed. “Carotenoids, vitamins C and E, and mortality in an elderly population”. (1996)
- PubMed. “Vitamins E and C in the prevention of prostate and total cancer in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial”. (2009)
- Frontiers. “Vitamin C Intake and Risk of Prostate Cancer: The Montreal PROtEuS Study”. (2018)
- yourhealthbase. “Vitamin C: Your Ultimate Health Insurance by Hans R. Larsen, MSc ChE”. (2023)
- PubMed. “Selected micronutrient intake and the risk of colorectal cancer.”. (1994)
- PubMed. “Nutrient intake in relation to bladder cancer among middle-aged men and women”. (1996)
- Camino Books. “Cancer and Vitamin C (by Ewan Cameron, Linus Pauling)”. (1993)
- PubMed. “Progression of human breast cancers to the metastatic state is linked to hydroxyl radical-induced DNA damage.”. (1996)
- PubMed. “Genetic and Dietary Factors Influencing the Progression of Nuclear Cataract”. (2016)
- PubMed. “Age-related Cataract in a Randomized Trial of Vitamins E and C in Men”. (2011)
- PubMed. “Long-term vitamin C supplement use and prevalence of early age-related lens opacities”. (1997)
- PubMed. “Effects of multivitamin supplement on cataract and age-related macular degeneration in a randomized trial of male physicians”. (2014)
- PubMed. “Nutrient deficiencies as a risk factor in Taiwanese patients with postherpetic neuralgia”. (2011)
- PubMed. “The role of vitamin C in the treatment of pain: new insights”. (2017)
- PubMed. “Vitamin C improves healing of foot ulcers: a randomised, double-blind, placebo-controlled trial”. (2021)
- PubMed. “Ascorbic acid supplementation in the treatment of pressure-sores”. (1974)
- PubMed. “Vitamin C intake and the risk of gout in men: a prospective study”. (2009)
- PubMed. “Vitamin C intake and serum uric acid concentration in men”. (2008)
- PubMed. “The importance of norepinephrine in depression”. (2011)
- PubMed. “Dietary Vitamin C and Vitamin C Derived from Vegetables Are Inversely Associated with the Risk of Depressive Symptoms among the General Population”. (2021)
- PubMed. “KiwiC for Vitality: Results of a Randomized Placebo-Controlled Trial Testing the Effects of Kiwifruit or Vitamin C Tablets on Vitality in Adults with Low Vitamin C Levels”. (2020)
- PubMed. “Vitamin C supplementation promotes mental vitality in healthy young adults: results from a cross-sectional analysis and a randomized, double-blind, placebo-controlled trial”. (2022)
- PubMed. “Amphetamine psychosis”. (1977)
- PubMed. “Association of serum vitamin C with all-cause and cause-specific death: Data from National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES 2003-2006)”. (2022)
- PubMed. “Vitamin C supplement intake and postmenopausal breast cancer risk: interaction with dietary vitamin C”. (2016)
- Science. “Can Vitamin C Damage DNA?”. (2001)
- The New York Times. “Taking Too Much Vitamin C Can Be Dangerous, Study Finds”. (1998)
- PubMed. “Antioxidant Supplementation Impairs Changes in Body Composition Induced by Strength Training in Young Women”. (2019)
- PubMed. “Vitamin C and E supplementation hampers cellular adaptation to endurance training in humans: a double-blind, randomised, controlled trial”. (2014)
- Springer. “High doses of vitamin C plus E reduce strength training-induced improvements in areal bone mineral density in elderly men”. (2017)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin C supplements and the risk of age-related cataract: a population-based prospective cohort study in women”. (2010)
- JAMA Intern Med. “Ascorbic Acid Supplements and Kidney Stone Incidence Among Men: A Prospective Study”. (2013)
- PubMed. “Dietary factors and the risk of incident kidney stones in men: new insights after 14 years of follow-up”. (2004)
- PubMed. “Total, Dietary, and Supplemental Vitamin C Intake and Risk of Incident Kidney Stones”. (2015)
- PubMed. “Relative hyperoxaluria, crystalluria and haematuria after megadose ingestion of vitamin C”. (1998)
- PubMed. “Dietary influences on urinary oxalate and risk of kidney stones”. (2003)
- PubMed. “Diet and its role in interstitial cystitis/bladder pain syndrome (IC/BPS) and comorbid conditions”. (2012)
- PubMed. “Acute oxalate nephropathy due to high vitamin C doses and exocrine pancreatic insufficiency”. (2019)
- PubMed. “High-dose vitamin C: a risk for persons with high iron stores?”. (1999)
- PubMed. “Influence of ascorbic acid supplementation on copper status in young adult men”. (1983)
- PubMed. “Effect of varying ascorbic acid intakes on copper absorption and ceruloplasmin levels of young men”. (1987)
- PubMed. “Effect of high-dose vitamin C on the steady-state pharmacokinetics of the protease inhibitor indinavir in healthy volunteers”. (2005)
- American Heart Association. “Antioxidant Supplements Block the Response of HDL to Simvastatin-Niacin Therapy in Patients With Coronary Artery Disease and Low HDL”. (2001)
- PubMed. “The effect of ascorbic acid given to patients on chronic anticoagulant therapy”. (1973)
- ScienceDirect. “Chapter 15 – Interpreting Laboratory Tests”. (2012)
- PubMed. “American College of Gastroenterology guidelines for colorectal cancer screening 2009 [corrected]”. (2009)
- PubMed. “The influence of vitamin C on the urine dipstick tests in the clinical specimens: a multicenter study”. (2017)
- PubMed. “The bioavailability to humans of ascorbic acid from oranges, orange juice and cooked broccoli is similar to that of synthetic ascorbic acid”. (1993)
- PubMed. “Ascorbic acid bioavailability in foods and supplements”. (1993)
- Journal of the American Dietetic Association. “Bioavailability of synthetic and natural ascorbic acid”. (1974)
- Journal of Nutritional & Environmental Medicine. “Pharmacokinetics of oral vitamin C”. (2008)
- PubMed. “Liposomal-encapsulated Ascorbic Acid: Influence on Vitamin C Bioavailability and Capacity to Protect Against Ischemia–Reperfusion Injury”. (2016)
- PubMed. “Ascorbic acid absorption in humans: a comparison among several dosage forms”. (1982)
- PubMed. “Effect of supplementation of smoking men with plain or slow release ascorbic acid on lipoprotein oxidation”. (1997)
- PubMed. “Vitamin C pharmacokinetics of plain and slow release formulations in smokers”. (2004)
- Journal of the American Dietetic Association. “Comparison of the absorption and excretion of three commercially available sources of vitamin C”. (1994)
- PubMed. “Determination of plasma and leukocyte vitamin C concentrations in a randomized, double-blind, placebo-controlled trial with Ester-C(®)”. (2016)
- PubMed. “Vitamin C metabolites, independent of smoking status, significantly enhance leukocyte, but not plasma ascorbate concentrations”. (2008)
- PubMed. “Safety and tolerance of ester-C compared with regular ascorbic acid”. (2006)
- Science. “Physiological Availability of Dehydro-L-Ascorbic Acid and Palmitoyl-L-Ascorbic Acid”. (1951)
- PubMed. “Stability of vitamin C derivatives in solution and topical formulations”. (1997)
- PubMed. “Vitamin C-lipid metabolites: uptake and retention and effect on plasma C-reactive protein and oxidized LDL levels in healthy volunteers”. (2008)
- PubMed. “Effects of erythorbic acid on vitamin C metabolism in young women”. (1996)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Comparative bioavailability to humans of ascorbic acid alone or in a citrus extract”. (1988)
- PubMed. “Flavonoids mixture (diosmin, troxerutin, hesperidin) in the treatment of acute hemorrhoidal disease: a prospective, randomized, triple-blind, controlled trial”. (2015)
- PubMed. “Effects of rose hip intake on risk markers of type 2 diabetes and cardiovascular disease: a randomized, double-blind, cross-over investigation in obese persons”. (2012)
- PubMed. “Acerola, an untapped functional superfruit: a review on latest frontiers”. (2018)
- USDA FoodData Central. “Acerola, (west indian cherry), raw”. (2018)
- JAMA The Journal of the American Medical Association. “Criteria and Recommendations for Vitamin C Intake”. (1999)
- รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. “การศึกษาการเสื่อมสภาพของยาเม็ดวิตามินซี โดยเคมีวิเคราะห์ร่วมกับการประมวลผลด้วยภาพดิจิตอล (ภญ.ดร.สุมาลี วรรณาชัยสิทธิ์)”. (2017)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อ 11 ม.ค. 2023