ไลโคปีน
ไลโคปีน (Lycopene) คือ สารสีแดงที่พบได้ในผักและผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะในมะเขือเทศ แตงโม รวมถึงผลไม้หรือผลเบอร์รี่ที่มีสีแดงหรือสีชมพู แต่ส่วนใหญ่จะพบได้มากในมะเขือเทศ
ไลโคปีนจัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมันและจัดเป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) การได้รับไลโคปีนสูงจากอาหาร (โดยทั่วไปคือผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ) มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งที่ลดลง ส่งผลดีสุขภาพหัวใจ ลดความดันโลหิตสูง อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และอาจช่วยปกป้องผิวพรรณจากแสงยูวี (อ้างอิง 1)
ประโยชน์ของไลโคปีน
1. ต้านอนุมูลอิสระ ไลโคปีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงที่อาจช่วยปกป้องร่างกายของเราจากภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) และสารพิษในสิ่งแวดล้อม โดยภาวะเครียดออกซิเดชั่นนั้นเป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณของอนุมูลอิสระมากจนสารต้านอนุมูลในร่างกายมีไม่เพียงพอและส่งผลให้เกิดการทำลาย DNA และเซลล์จนก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ แต่จากการศึกษาเราพบว่าไลโคปีนนั้นสามารถช่วยรักษาระดับอนุมูลอิสระให้มีความสมดุลและปกป้องร่างกายจากสภาวะเหล่านี้ได้ (อ้างอิง 2)
- การศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 20 คน (อายุ 40-50 ปี) แสดงให้เห็นว่าระดับความเข้มข้นของไลโคปีนมีความสัมพันธ์กับความหยาบกร้านของผิวหนังอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการค้นพบนี้บ่งชี้ว่าระดับสารต้านอนุมูลอิสระในผิวหนัง (ความเข้มข้นของไลโคปีนที่ผิวหนัง) ที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับระดับความหยาบของผิวหนังที่ลดลง (3)
- การศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าระดับการเสริมไลโคปีนช่วยลดความเสียหายของ DNA ที่เกิดจากภาวะออกซิเดชั่น (4)
- การศึกษาในผู้สูบบุหรี่ที่พบว่าการบริโภคน้ำมะเขือเทศช่วยปรับปรุงภาวะเครียดออกซิเดชั่นจากควันบุหรี่ (5)
- การศึกษาในสัตว์และหลอดทดลองแสดงให้เห็นว่าไลโคปีนอาจปกป้องร่างกายของคุณจากความเสียหายที่เกิดจากยาฆ่าแมลง (6), สารเคมีกำจัดวัชพืช (7), ผงชูรส (8) และเชื้อราบางชนิด (9)
2. ต้านการอักเสบ การศึกษาพบว่าไลโคปีนสามารถช่วยลดระดับตัวบ่งชี้การอักเสบ C-reactive protein (CRP) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ (10) และการศึกษาในผู้ป่วยท่ีดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของมะเขือเทศแล้วพบว่ามีผลลดการผลิตของ TNF-α ซึ่งเป็นไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ (11) นอกจากนี้ การศึกษาในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหืดยังพบว่าการเสริมไลโคปีนช่วยปรับปรุงอาการอักเสบของหลอดลมให้ดีขึ้นได้ (12)
3. ลดความดันโลหิตสูง การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Heart Journal พบว่าในผู้ชายและหญิงจำนวน 31 คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 เมื่อทานอาหารเสริมไลโคปีน 15 มก. ทุกวัน เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวลดลงเฉลี่ย 9 มม.ปรอท และความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวลดลงเฉลี่ย 4 มม.ปรอท เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทานยาหลอก (13)
4. ลดระดับคอเลสเตอรอล มีหลักฐานว่าการบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยไลโคปีนและอาหารเสริมไลโคปีนสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ แม้จะไม่มีผลต่อคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) (14) สอดคล้องกับการทบทวนการศึกษาทางคลินิก 12 เรื่องที่กินเวลา 2 สัปดาห์ถึง 6 เดือน พบว่าการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของมะเขือเทศ และ/หรืออาหารเสริมไลโคปีนในคนวัยกลางคนและคนวัยสูงอายุ ทุกวัน วันละ 25 มก. หรือมากกว่า ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้เฉลี่ยประมาณ 7 มก./ดล. และ 10 มก./ดล. ตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณไลโคปีนที่ต่ำกว่าวันละ 25 มก. ไม่มีผลลดระดับคอเลสเตอรอล (15)
5. ลดความเสี่ยงมะเร็ง ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของไลโคปีนอาจช่วยป้องกันหรือชะลอการลุกลามของมะเร็งบางชนิดและ/หรือการเสียชีวิตจากมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกระเพาะอาหาร/ลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น (16) อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้สรุปในปี 2550 ว่ายัง “ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ” ที่จะสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคมะเขือเทศกับการช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่าง ๆ และหลักฐานในปัจจุบันยังมีจำกัดมาก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไปเพื่อยืนยันถึงประโยชน์นี้ (17)
- ลดความเสี่ยงมะเร็ง : การทบทวนการศึกษาจำนวน 57 เรื่องที่พบว่าการบริโภคมะเขือเทศหรือการมีระดับไลโคปีนในเลือดที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของมะเร็งชนิดต่าง ๆ ที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ส่วนมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่งานวิจัยพบว่ามีประโยชน์ (แต่ไม่ทั้งหมด) ได้แก่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งช่องปาก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก (18)
- ลดการเสียชีวิตจากมะเร็ง : การศึกษาเชิงสังเกตขนาดใหญ่ในผู้สูงอายุชาวอเมริกันพบว่าผู้ที่บริโภคมะเขือเทศมากที่สุดจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคน้อยที่สุด (19)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก : การทบทวนการศึกษาจำนวน 42 เรื่อง รวมผู้เข้าร่วม 692,012 คน พบว่าความเข้มข้นของไลโคปีนสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ การเสริมไลโคปีนทุก ๆ 2 มก. ผู้วิจัยพบว่าความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากจะลดลง 1% (20) หรือการทบทวนการศึกษารวม 26 เรื่อง ที่ผู้วิจัยพบว่าการบริโภคไลโคปีนในปริมาณสูงสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากที่ลดลง 9% โดยการบริโภควันละ 9-21 มก. พบว่าได้ประโยชน์มากที่สุด (21) สอดคล้องกับการศึกษาอื่น ๆ เช่น การศึกษาเชิงสังเกตขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาพบว่าการบริโภคไลโคปีนในปริมาณสูงช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 21% และการบริโภคมะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศในปริมาณสูง (ซอสมะเขือเทศ 2-4 หน่วย/สัปดาห์) จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดได้ 35% และลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามได้ 53% (22), การศึกษาติดตามผลเป็นเวลา 23 ปีในผู้ชายรวม 46,719 คน พบว่าผู้ที่บริโภคซอสมะเขือเทศที่มีไลโคปีนอย่างน้อย 2 หน่วย/สัปดาห์ มีโอกาสมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่า 30% เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคซอสมะเขือเทศน้อยกว่า 1 หน่วย/เดือน (23), การเสริมไลโคปีน 4 มก. ในผู้ชายที่เป็นเนื้องอกในต่อมลูกหมากโตเกรดสูง (HGPIN) สามารถช่วยป้องกันเซลล์ก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous cells) ไม่ให้เปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริมไลโคปีน (24) หรือการศึกษาอีกเรื่องที่พบว่าการเสริมไลโคปีน 15 มก. วันละ 2 ครั้งพร้อมอาหาร ช่วยลดการเติบโตของเนื้องอกก่อนการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากได้เมื่อให้ไลโคปีนการก่อนผ่าตัดเป็นเวลา 3 สัปดาห์ (เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการเสริมไลโคปีนก่อนการผ่าตัด) (25) อย่างไรก็ตาม บางการศึกษาก็พบว่าการบริโภคมะเขือเทศอาจมีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก (26) หรือบางการศึกษาที่พบว่าระดับไลโคปีนช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งโดยรวม แต่ไม่มีผลต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก (27) เป็นต้น
- มะเร็งช่องปาก : การศึกษาในผู้ชายและผู้หญิงวัยกลางคนจำนวน 58 คนที่มีฝ้าขาวภายในเนื้อเยื่อช่องปาก (Leukoplakia) ซึ่งเป็นภาวะก่อนเป็นมะเร็งช่องปาก พบว่าการเสริมไลโคปีนวันละ 8 มก. เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดขนาดและความรุนแรงของรอยโรคนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และในขนาด 4 มก. ก็ยังพบประโยชน์ เพียงแต่ประสิทธิภาพจะไม่เท่ากับการให้ในขนาดที่สูงกว่า (28) สอดคล้องกับการทบทวนการศึกษาของ Cochrane ในปี 2016 ที่พบว่าไลโคปีนช่วยปรับปรุงรอยโรคได้ (29)
- มะเร็งปอด : การศึกษาที่ติดตามผลเป็นระยะเวลา 10-12 ปี พบว่าการบริโภคแอลฟาแคโรทีนและไลโคปีนมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งปอด (30) เช่นเดียวกับอีกการศึกษาที่พบว่าการบริโภคมะเขือเทศในปริมาณมากอาจช่วยป้องกันมะเร็งปอดได้ (31)
- มะเร็งกระเพาะอาหาร : การศึกษาในเกาหลีที่พบว่าการบริโภคมะเขือเทศและซอสมะเขือเทศสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (32)
- มะเร็งตับอ่อน : การศึกษาแบบควบคุมขนาดใหญ่รวมผู้เข้าร่วมจำนวน 4,721 คน พบว่ากลุ่มที่บริโภคมะเขือเทศหรือไลโคปีนมากที่สุดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนในผู้ชายลดลง 31% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับต่ำที่สุด (33) สอดคล้องกับการศึกษาในปี 1997 (34)
- มะเร็งเต้านม : การศึกษาในปี 2008 พบว่าการเสริมไลโคปีนวันละ 30 มก. เป็นเวลา 2 เดือน มีประโยชน์ต่อผู้หญิงที่มีสุขภาพดีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม (35) สอดคล้องกับการวิเคราะห์การศึกษาในปี 2014 ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของระดับแคโรทีนอยด์ที่สูงขึ้น (ซึ่งรวมถึงไลโคปีน) กับความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมที่ลดลง (36)
- มะเร็งปากมดลูก : การศึกษาที่พบว่าระดับไลโคปีนและวิตามินเอสูงขึ้นอาจช่วยป้องกันภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ (Cervical dysplasia) ซึ่งเป็นระยะก่อนจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก (37) หรือการศึกษาที่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกหรืออยู่ในระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก (CIN) มักมีระดับความเข้มข้นของไลโคปีนและแคโรทีนอยด์อื่น ๆ ที่ต่ำกว่าคนปกติ ซึ่งข้อมูบนี้บ่งชี้ถึงผลการป้องกันที่อาจเป็นไปได้เมื่อเพิ่มความเข้มข้นของระดับไลโคปีนให้สูงขึ้น (38, 39)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของวิตามินเอ (Vitamin A) จากงานวิจัย !
6. ป้องกันเบาหวาน ไลโคปีนอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร, ยับยั้งภาวะเครียดออกซิเดชั่น, เพิ่มภูมิคุ้มกันโดยกําเนิด (Innate immunity) หรือระดับซีรั่มของอิมมูโนโกลบูลินเอ็ม (Immunoglobulin M (IgM)) และลดการอักเสบ (40, 41, 42) สอดคล้องกับการศึกษาการบริโภคแคโรทีนอยด์จากอาหารในผู้หญิงตั้งครรภ์จำนวน 1,978 คน ที่พบว่าการบริโภคไลโคปีนเพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 มก. มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ลดลง 5% และสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารที่ลดลง 0.09 มก./ดล. (43)
7. ดีต่อสุขภาพหัวใจ ไลโคปีนอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจและหลอดได้ โดยผ่านกลไกช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL), เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL), ลดความหนาของหลอดเลือดแดง, ลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด, เพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือด, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดการอักเสบของไซโตไคน์ (44, 14) และฤทธิ์ในการป้องกันของไลโคปีนดูเหมือนจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่มีระดับสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดต่ำหรือมีภาวะเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นสูง ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ผู้สูบบุหรี่ ผู้ป่วยไตเทียม ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ (45)
- การศึกษาขนาดใหญ่ในกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคนและผู้สูงอายุพบว่าผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ 10 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง 29% และความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจลดลง 57% เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคน้อยกว่า 1.5 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ (46), การศึกษาใน 10 ประเทศยุโรปที่แสดงให้เห็นว่าระดับไลโคปีนจากอาหารที่สูงขึ้นอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) (47), การทบทวนการศึกษา 25 เรื่องในปี 2019 แสดงให้เห็นว่าการได้รับไลโคปีนในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 26% อัตราการเสียชีวิต 37% และโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVDs) 14% อย่างมีนัยสำคัญ (48), การวิเคราะห์การศึกษาในปี 2017 จำนวน 14 เรื่องที่พบว่าไลโลโคปีนมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคหัวใจและหลอดเลือด (49) เช่นเดียวกับการศึกษาในปี 2013 ที่พบว่าอาหารที่อุดมไปด้วยไลโคปีนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ลดลง 17-26% (50) และการศึกษาในปี 2014 ที่แสดงให้เห็นว่าไลโคปีนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้ 19.3% (51) นอกจากนี้ ระดับความเข้มข้นของไลโคปีนที่ต่ำมีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดแข็งตัวที่ไม่แสดงอาการ (Atherosclerotic) และการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยไลโคปีนและสารต้านอนุมูลอิสระเป็นประจำอาจชะลอการลุกลามของโรคได้ (52)
- การศึกษาพบระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลดลง 14% ในผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไลโคปีนวันละ 60 มก. เป็นเวลา 3 เดือน (53) หรือการบริโภคมะเขือเทศสดและน้ำมะเขือเทศวันละ 2 ครั้ง พบว่าช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) (54) เช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งการบริโภคมะเขือเทศดิบช่วยเพิ่มระดับ HDL ได้ (55), การศึกษาในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงปานกลาง พบว่าการเสริมสารสกัดจากมะเขือเทศเป็นเวลา 6 สัปดาห์ช่วยลดความดันโลหิตช่วงบน (SBP) (56) สอดคล้องกับการวิเคราะห์การศึกษารวม 6 เรื่อง ที่การเสริมไลโคปีนช่วยทำให้ความดันโลหิตช่วงบน SBP ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (57) หรือการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดใจพบว่าการเสริมไลโคปีนช่วยเพิ่มการขยายของหลอดเลือด (FMD) และความอิ่มตัวของออกซิเจน (58) ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลดีในการปกป้องหัวใจของคุณ
- การศึกษาที่พบว่าระดับไลโคปีนในเลือดที่สูงอาจช่วยเพิ่มอายุขัยของผู้ที่มีภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะสุขภาพที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจ โดยนักวิจัยพบว่าผู้ที่มีภาวะนี้แต่มีระดับไลโคปีนในเลือดสูงที่สุดจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าถึง 39% ที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (59)
8. ปกป้องระบบประสาทและสมอง ไลโคปีนได้รับการศึกษาถึงฤทธิ์ในการป้องกันระบบประสาท โดยพบกลไกที่เป็นไปได้ ได้แก่ การยับยั้งภาวะเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน การอักเสบของเส้นประสาท การตายของเซลล์ประสาท และการฟื้นฟูการทำงานของไมโทคอนเดรีย (60, 61) ในการทบทวนการศึกษาหลายเรื่องพบว่าไลโคปีนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง และการศึกษาหนึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างระดับไลโคปีนที่ต่ำกับอัตราการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่สูงขึ้น (62) หรือในอีกการศึกษาที่ระดับไลโคปีนที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และอาจใช้เพื่อชะลอการโจมตีหรือการลุกลามของโรคได้ (63) ส่วนการศึกษาอื่น ๆ พบว่าระดับความเข้มข้นของไลโคปีนและสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ ในเลือดอาจช่วยป้องกันภาวะบกพร่องทางปัญญา (Cognitive impairment) ในผู้สูงอายุ (64) และในหนูทดลองที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูงซึ่งเชื่อมโยงกับนี้ (65), การศึกษาในหนูทดลองที่แสดงให้เห็นว่าไลโคปีนมีศักยภาพในการปกป้องระบบประสาทจากโรคลมชัก เนื่องจากอาการชักจะจำกัดออกซิเจนในสมองและมีโอกาสทำให้สมองเสียหายอย่างถาวรหากเกิดขึ้นนานเกินไป ซึ่งนักวิจัยพบว่าไลโคปีนไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันอาการชักในอนาคต แต่มันยังสามารถช่วยซ่อมแซมระบบประสาทที่ถูกทำลายจากอาการชักในอดีตได้ด้วย (66)
9. อาการปวดเส้นประสาท (Neuropathic pain) การศึกษาในหนูทดลองพบว่าไลโคปีนอาจช่วยลดอาการปวดเส้นประสาทที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแบบฉับพลัน ปวดแสบปวดร้อน ปวดแปลบ ๆ หรือปวดแบบตุ้บ ๆ ในบริเวณนั้น ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นอาการที่รักษาได้ยากมาก และผลลัพธ์ในสัตว์ทดลองมีแนวโน้มที่ดีในการช่วยลดอาการเจ็บปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ (67, 68)
10. อาจดีสุขภาพดวงตา การเสริมไลโคปีนอาจช่วยป้องกันหรือชะลอการก่อตัวของโรคต้อกระจกและจอตาเสื่อมซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการตาบอดในผู้สูงสูงอายุ เนื่องจากไลโคปีนมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ จึงช่วยชะลอหรือยับยั้งปฏิกิริยาภายในเซลล์ของดวงตาที่นำไปสู่การเสื่อมสภาพของจอประสาทตา (69)
- การศึกษาในหลอดทดลองโดยภาควิชาเภสัชวิทยาของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ของอินเดีย พบว่าไลโคปีนอาจช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดต้อกระจกโดยอาศัยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และอาจมีประโยชน์ในการบำบัดต้อกระจก (70)
- หลักฐานที่เป็นไปได้ของไลโคปีนต่อสุขภาพจอประสาทตาพบได้ในกรณีศึกษากลุ่มควบคุมขนาดเล็กที่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ (AMD) มักมีระดับไลโคปีนในเลือดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่มีสุขภาพดี (71) ทำนองเดียวกับรายงานของ Beaver Dam Eye Study (ในผู้ป่วยจำนวน 167 คน) ที่พบว่าระดับไลโคปีนในเลือดที่สูงขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อการเกิดโรค AMD (72) อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องศึกษาต่อไป เพราะมีหลายรายงานที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างไลโคปีนกับโรค AMD หรือไม่พบผลของการบริโภคไลโคปีนในการช่วยลดความเสี่ยงต่อโรค AMD ทั้งระยะแรกและระยะท้าย (73)
11. สุขภาพช่องปาก เช่น การศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์การใช้ไลโคปีนร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ในการรักษาโรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) (74) หรือการศึกษาทางคลินิกพบว่าไลโคปีนอาจมีประสิทธิผลในการบำบัดรักษาในขั้นแรกของการรักษาโรคซับมิวคัสไฟโบรซิสช่องปาก (Oral submucous fibrosis) (75) สอดคล้องกับการศึกษาอีกเรื่องในผู้ป่วยจำนวน 45 รายที่เป็นโรค Oral submucous fibrosis ที่พบว่าการใช้ไลโคปีนเป็นเวลา 3 เดือน ดูเหมือนจะมีแนวโน้มดีต่อการจัดการกับโรคในแง่ช่วยลดอาการแสบร้อนและการอ้าปาก เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (76)
12. โรคตับจากแอลกอฮอล์ (ALD) โรคตับจากแอลกอฮอล์ (ALD) เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน การศึกษาพบว่าไลโคปีนสามารถช่วยยับยั้งเอนไซม์ CYP2E1 ที่ควบคุมกระบวนการการย่อยสลายแอลกอฮอล์ในตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจช่วยลดพัฒนาการของโรค ALD ได้ (การดื่มแอลกอฮอล์อาจเพิ่มระดับเอนไซม์ CYP2E1 ในตับ ทำให้เกิดการย่อยสลายแอลกอฮอล์เป็นสารตกค้างอย่างรวดเร็วและเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสะสมของสารตกค้างและเพิ่มความเสี่ยงต่อพัฒนาการของโรคในอนาคต) (77)
13. โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) อาหารเสริมไลโคปีนเคยถูกใช้เพื่อลดอาการของโรคต่อมลูกหมากโต แม้งานวิจัยในปัจจุบันจะให้ผลลัพธ์ที่หลากหลายและไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดถึงประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น การศึกษาในเยอรมนีในกลุ่มผู้ชายที่เป็นโรค BPH จำนวน 40 คน พบว่าการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมากมีแนวโน้มช้าลงเมื่อรับประทานไลโคปีนเสริมวันละ 15 มก. เป็นเวลา 6 เดือน (78) เช่นเดียวกับการศึกษาในอิตาลีในกลุ่มผู้ชายที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 31 คน (อายุเฉลี่ย 66 ปี) ที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตแต่ไม่ร้ายแรง พบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากมะเขือเทศทั้งผลขนาด 5 กรัม (ให้ไลโคปีน 23.75 มก.) วันละครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ สามารถช่วยลดอาการต่าง ๆ ของโรคได้เป็นอย่างดี เช่น ลดอาการปัสสาวะไม่ออกลง 28%, ปัสสาวะบ่อย 20%, ปัสสาวะติดขัด 25%, ปัสสาวะเร่ง 20%, ปัสสาวะเบา 35% และอาการปัสสาวะตอนกลางคืน 40% อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่มีการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าอาการที่ลดลงนั้นดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกหรือไม่ (79)
14. ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย การเสริมไลโคปีนอาจช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้เนื่องจากช่วยลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเจนต่อตัวอสุจิหรือสเปิร์ม ช่วยปรับปรุงคุณภาพ และเพิ่มการเคลื่อนไหวของสเปิร์ม (80) โดบการทบทวนการศึกษาทางคลินิกขนาดเล็กจำนวน 6 เรื่อง พบว่าการเสริมไลโคปีนวันละ 4-8 มก. เป็นเวลา 3-12 เดือน มีประโยชน์ในการรักษาภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย โดยช่วยปรับปรุงคุณภาพของสเปิร์มและเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ และการศึกษาหนึ่งรายงานว่าจำนวนสเปิร์มเพิ่มขึ้น 70% และการเคลื่อนไหวของสเปิร์มเพิ่มขึ้น 54% ในผู้ชายที่มีบุตรยากที่รับประทานไลโคปีนวันละ 8 มก. (81) หรืออีกการศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกในประเทศอังกฤษที่ศึกษาในกลุ่มผู้ชายที่มีสุขภาพดีจำนวน 56 คน พบว่าการเสริมไลโคปีน 7 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน ไม่ได้ช่วยเพิ่มจำนวนสเปิร์มที่เคลื่อนที่ได้ แต่ช่วยเพิ่มจำนวนสเปิร์มที่เคลื่อนที่เร็วและมีรูปร่างแข็งแรงได้เกือบ 2 เท่า (จาก 7.5% เป็น 13.5%) และช่วยเพิ่มความเร็วในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นจาก 10.6% เป็น 14.76% (82)
15. อาจช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของไลโคปีนอาจช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชั่นในกระดูกที่ทำให้โครงสร้างกระดูกเปราะและอ่อนแอ ช่วยชะลอการตายของเซลล์ (Apoptosis) ที่ทำให้กระดูกอ่อนแอลง และช่วยเสริมสร้างโครงสร้างเซลล์ของกระดูก ทำให้กระดูกมีสุขภาพดีและแข็งแรงขึ้น (83) นอกจากนี้ ในการศึกษาของ European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition (EPIC)-Norfolk cohort ยังพบว่าการบริโภคไลโคปีนจากอาหารมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของความหนาแน่นของแร่ธาตุกระดูกส้นเท้าในผู้หญิง (84)
16. ปกป้องผิวจากรังสียูวี มีข้อมูลว่าแคโรทีนอยด์ เช่น เบต้าแคโรทีน แอสตาแซนธิน และไลโคปีนจากอาหารและอาหารเสริมอาจช่วยปกป้องผิวจากความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และ/หรือรังสียูวี (UV) จากแสงแดดได้ (85, 86) มีการศึกษาเล็ก ๆ ในผู้หญิงที่ประเทศอังกฤษที่ผู้เข้าร่วมได้รับรังสียูวีก่อนและหลังการบริโภคซอสมะเขือเทศ 55 กรัม (ให้ไลโคปีน 16 มก.) ทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยลดความเสียหายของเนื้อเยื่อและรอยแดงจากการสัมผัสรังสียูวีได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ (87) หรือการศึกษาการบริโภคไลโคปีนจากอาหารหรืออาหารเสริมวันละ 8-16 มก. เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ช่วยลดความเข้มข้นของรอยแดงบนผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวีได้ 40-50% (88) สอดคล้องกับการศึกษาอื่น ๆ ที่พบว่าไลโคปีนหรือผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศมีผลป้องกันอันตรายจากแสงแดดและรอยแดงที่เกิดจากรังสียูวี (Ultraviolet light–induced erythema) (89, 90) อย่างไรก็ตาม แม้ไลโคปีนจะช่วยป้องกันผิวจากแสงแดดและความเสียหายที่เกิดจากรังสียูวีได้ แต่ก็ไม่สามารถใช้ไลโคปีนเพื่อทดแทนการใช้ครีมกันแดดได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของแอสตาแซนธิน (Astaxanthin) จากงานวิจัย !
17. ลดริ้วรอย/ความหยาบกร้านของผิวหนัง ระดับความเข้มข้นของไลโคปีนในผิวหนังที่สูงขึ้นมีความสัมพันธกับความหยาบกร้านของผิวหนัง (Skin roughness) ที่ลดลงเมื่อศึกษาในอาสาสมัคร 20 คนที่มีอายุระหว่าง 40-50 ปี (อ้างอิง 3) หรือการศึกษาในผู้หญิง 60 คน (อายุเฉลี่ย 48 ปี) ที่พบว่าผู้ที่รับประทานสารสกัดมะเขือเทศ 1 แคปซูลร่วมกับสารสกัดโรสแมรี่ที่ให้กรดคาร์โนซิก 2 มก. วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร (ให้ไลโคปีนรวม 15 มก.) เป็นเวลา 4 เดือน พบว่าริ้วรอยและความชุ่มชื้นของผิวหนังดีขึ้นเล็กน้อย (ริ้วรอยรอยรอบดวงตาหรือรอยตีนกาลดลงโดยเฉลี่ย 5.6% เมื่อวิเคราะห์จากภาพถ่าย และ 90.3% รายงานผิวมีความชุ่มขื้นดีขึ้น ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกริ้วรอยไม่ได้ดีขึ้น และมีเพียง 58.6% ที่รายงานว่าผิวมีความชุ่มชื้นดีขึ้น) (91)
18. สุขภาพผิวในด้านอื่น ๆ การศึกษาที่เก่าแล้วพบผลลัพธ์เชิงบวกของเบต้าแคโรทีนซึ่งรวมถึงไลโคปีนในการรักษาความผิดปกติของผิวหนังรวมถึงมะเร็ง (อ้างอิง 1) ความไม่สมดุลของเม็ดสีในโรงด่างขาว (Acral vitiligo) (อ้างอิง 92), โรคแพ้แสงแดด (Photodermatoses) (93) และภาวะไลเคนพลานัสในช่องปาก (Oral lichen planus) ซึ่งการศึกษาควบคุมด้วยยาหลอกพบว่าไลโคปีนสามารถช่วยรักษาภาวะไลเคนพลานัสในช่องปากซึ่งเป็นภาวะอักเสบเรื้อรังที่ส่งผลต่อเยื่อเมือกบุผิวภายในปาก (อาจมีลักษณะเป็นรอยฝ้าขาว เนื่อเยื่อบวมแดง หรือแผลเปิด) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (94)
ไลโคปีน (Lycopene) อาจมีประโยชน์หลายอย่าง ตั้งแต่การมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ปกป้องระบบประสาทและสมอง ป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ปกป้องผิวและดวงตา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลการทดลองทางคลินิกที่จะแนะนำให้ใช้สำหรับข้อบ่งใช้ใด ๆ อย่างชัดเจน และยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ข้อควรรู้และคำแนะนำ
- อาหารที่มีไลโคปีนสูง : มะเขือเทศเป็นแหล่งไลโคปีนจากอาหารที่มีมากที่สุด (ในอเมริกาเหนือ เกือบ 85% ของไลโคปีนในอาหารจะได้มาจากมะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ) และยิ่งมะเขือเทศสุกมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีไลโคปีนมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้มะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุกหรือผ่านการแปรรูป (เช่น ซอสมะเขือเทศ) ยังให้ปริมาณไลโคปีนที่มากกว่ามะเขือเทศสด ๆ อีกด้วย โดยใน 100 กรัม ในมะเขือเทศอบแห้งจะมีไลโคปีน 45.9 มก., น้ำซอสมะเขือเทศ (Tomato purée) มี 21.8 มก. ในขณะที่มะเขือเทศสดจะให้ไลโคปีนเพียง 3.0 มก.
- อาหารอื่นที่มีไลโคปีน : อาหารตามธรรมชาติทั้งหมดที่มีสีชมพูถึงสีแดงเข้มจะมีไลโคปีนอยู่บ้าง (แต่ไม่มากเท่ามะเขือเทศ) และนี่คือตัวอย่างอาหารที่มีไลโคปีนมากที่สุดต่อ 100 กรัม (เรียงจากมากไปน้อย) ได้แก่ ฝรั่งสีชมพู (5.2 มก.), แตงโม (4.5 มก.), มะละกอ (1.8 มก.), ส้มโอสีชมพู (1.1 มก.), พริกแดงหวานปรุงสุก (0.5 มก.) และอื่น ๆ เช่น เกรปฟรุตสีชมพู, แอปริคอต, แครนเบอร์รี่, องุ่น, ฟักทอง, มันเทศ, ลูกพีช ฯลฯ ทั้งนี้ ผักและผลไม้เหล่าเมื่อสุกก็จะยิ่งมีปริมาณไลโคปีนที่มากขึ้นด้วย
- วิธีการรับประทานไลโคปีน : ไลโคปีนสามารถละลายได้ในไขมัน นั่นหมายความว่าไลโคปีนทั้งจากอาหารและอาหารเสริมจะถูกดูดซึมได้ดีที่สุดเมื่อคุณ “รับประทานพร้อมกับอาหารที่มีไขมันหรือน้ำมัน” โดยเฉพาะไขมันที่ดีอย่างน้ำมันมะกอก อะโวคาโด ไขมันจากถั่ว ไข่ หรือปลาที่มีไขมันในปริมาณเหมาะสม ที่น่าสนใจคือชนิดของไขมันก็มีผลต่อการดูดซึมของไลโคปีน เพราะในการศึกษาเราพบว่าการรับประทานร่วมกับน้ำมันมะกอก ร่างกายจะดูดซึมได้ดีกว่าน้ำมันมะพร้าวถึง 45.8% (24% เทียบกับ 14.9% ตามลำดับ) (95)
- การดูดซึมของไลโคปีน : ร่างกายสามารถดูดซึมไลโคปีนจากมะเขือเทศปรุงสุกหรือมะเขือเทศแปรรูป (เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ) ได้มากกว่ามะเขือเทศสด ส่วนไลโคปีนในรูปแบบอาหารเสริมนั้นดูเหมือนว่าจะมีดูดซึมได้ใกล้เคียงกับไลโคปีนในอาหารที่ปรุงสุกและน้ำมะเขือเทศ อย่างไรก็ตาม มีบางรายงานที่ระบุว่า ไลโคปีนที่ได้จากอาหารนั้นดูเหมือนจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าไลโคปีนจากอาหารเสริมในเรื่องการช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด (96)
- ปริมาณไลโคปีนที่แนะนำ : ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณไลโคที่เหมาะสม แต่จากการศึกษาส่วนใหญ่ที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ต่าง ๆ นั้นเกิดจากการบริโภคไลโคปีนในขนาดตั้งแต่ 4-25 มก./วัน หรือหากคุณคิดว่าได้รับไลโคปีนจากอาหารไม่เพียงพอก็อาจพิจารณารับประทานไลโคปีนในรูปแบบอาหารเสริมในขนาด 5-10 มก. ก็ได้ (บางข้อมูลในบ้านเราระบุว่าคนไทยควรได้รับไลโคปีนอย่างน้อยวันละ 20-30 มก. ซึ่งควรรวมถึงปริมาณที่ได้รับจากอาหารทั้งหมดด้วย)
- มีการสำรวจที่พบว่าผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้รับไลโคปีนจากอาหารโดยเฉลี่ยวันละ 5-10 มก., ในยุโรป 7.4 มก., ในอังกฤษ 1.1 มก. (97) แต่ในไทยน่าจะยังไม่มีเคยมีการสำรวจ
- ขนาดไลโคปีนที่ปลอดภัย : การได้รับไลโคปีนตั้งแต่วันละ 2-75 มก. เป็นเวลา 1-6 เดือน ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัย แต่ก็ไม่ควรรับประทานเกินจากปริมาณที่เราแนะนำหรือเกินจากที่ใช้ในงานวิจัย
- อาหารเสริมไลโคปีน : มักมีปริมาณไลโคปีนตั้งแต่ 5-30 มก./เม็ด แบ่งเป็น อาหารเสริมไลโคปีนธรรมชาติกับไลโคปีนสังเคราะห์ จากการศึกษาพบว่าทั้ง 2 แบบสามารถดูดซึมได้ดีพอ ๆ กัน เพียงแต่แบบสังเคราะห์อาจจะเหมาะสำหรับผู้ที่แพ้มะเขือเทศ ส่วนคนทั่วไปจะเลือกแบบใดก็ได้เพราะให้ประโยชน์เหมือนกัน
- ความปลอดภัย/ผลข้างเคียงของไลโคปีน : ไลโคปีนจากอาหารและอาหารเสริมนั้นโดยทั่วไปถือว่ามีความปลอดภัย แต่ในบางคนก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือเกิดอาการทางระบบทางเดินอาหารได้เล็กน้อย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย และอาเจียน (98) และมีที่พบได้น้อยมากที่เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังหรือเกิดผื่น แม้ว่ารายงานการแพ้มะเขือเทศจะพบได้ยากมาก แต่ก็อาจเกิดขึ้นในผู้ที่แพ้ง่าย (อาการแพ้ เช่น ผื่น ลมพิษ คอบวม เกิดภูมิแพ้) (99) นอกจากนี้ การได้รับไลโคปีนมากเกินไปทั้งจากอาหารและอาหารเสริม อาจทำให้เกิดภาวะไลโคปีนในเลือดสูง (Lycopenemia) ได้ ซึ่งจะทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี เป็นสีออกสีส้มหรือสีแดง แต่ก็ไม่เป็นอันตรายอย่างใดและจะหายไปเมื่อลดการบริโภคไลโคปีน โดยพบรายงานอาการนี้ในผู้หญิงที่บริโภคมะเขือเทศราชินีวันละ 20-30 ลูก (ให้ไลโคปีน 8.7-13 มก.), ดื่มน้ำมะเขือเทศทุกวัน (ให้ไลโคปีน 17 มก.) และรับประทานผักไม้ เช่น ฟักทอง แครอท บลูเบอร์รี่ และน้ำผักใบเขียว ทุกวันเป็นเวลา 2 เดือนก่อนผิวจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง (100)
- ข้อห้ามในการใช้ไลโคปีน : ควรหลีกเลี่ยงการใช้อาหารเสริมไลโคปีน (ไม่รวมไลโคปีนจากอาหารปกติ) ในบุคคลต่อไปนี้
- หญิงตั้งครรภ์/หญิงให้นมบุตร : เพราะยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในคนกลุ่มนี้ แม้บางการศึกษาจะพบว่ามีประโยชน์ต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ (101) แต่ก็มีบางรายงานที่แสดงให้เห็นถึงอันตราย อย่างการศึกษาขนาดเล็กที่พบว่าการเสริมไลโคปีนวันละ 2 มก. ในระหว่างการตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ (102) อย่างไรก็ตาม ไลโคปีนจากอาหารถือว่ามีความปลอดภัยและให้ประโยชน์ เพราะการบริโภคมะเขือเทศจะช่วยเพิ่มความเข้มข้นของไลโคปีนในน้ำนมและในพลาสมาของผู้หญิงที่ให้นมบุตร (103)
- ผู้ที่แพ้ไลโคปีน : ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมไลโคปีนและอาหารที่เป็นแหล่งของไลโคปีน โดยเฉพาะมะเขือเทศ
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการทำศัลยกรรม : เนื่องจากไลโคปีนอาจยับยั้งการแข็งตัวของเลือด เพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออกระหว่างและหลังการผ่าตัด ในคนกลุ่มนี้จึงควรหยุดการเสริมไลโคปีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด
- ปฏิกิริยากับยาอื่นของไลโคปีน :
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด : เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) และอื่น ๆ รวมถึงสมุนไพรและอาหารเสริมที่มีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัวช้า เช่น กระเทียม ขิง แปะก๊วย นัตโตะไคเนส (Nattokinase) โสมเกาหลี (Panax ginseng) เนื่องจากไลโคปีนมีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดและเพิ่มฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดของยา (14, 104)
- ผลิตภัณฑ์ที่มีแคลเซียม: เนื่องจากไลโคปีนจะลดการดูดซึมของแคลเซียมลง 84% ในการศึกษาหนึ่ง (80)
สรุปเรื่องไลโคปีน
- ไลโคปีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระทรงพลังที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ตั้งแต่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดความดันโลหิตสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน อาจดีต่อระบบประสาทและสมอง ดวงตา ช่องปาก และกระดูก นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องผิว และเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ในผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยาก
- มะเขือเทศเป็นแหล่งที่ให้ไลโคปีนมากที่สุด
- ทั้งอาหารและอาหารเสริมควรบริโภคร่วมกับอาหารที่มีไขมันเพื่อเพิ่มการดูดซึม
- ประโยชน์ที่เกิดจากการบริโภคไลโคปีนในงานวิจัยส่วนใหญ่คือขนาด 4-25 มก./วัน
- ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้อาหารเสริมไลโคปีน
งานวิจัยอ้างอิง
- Drugs.com. “Lycopene”. (2023)
- Nutrients. “Potential Role of Carotenoids as Antioxidants in Human Health and Disease”. (2014)
- European Journal of Pharmaceutics and Biopharmaceutics. “Cutaneous concentration of lycopene correlates significantly with the roughness of the skin”. (2008)
- Journal of the American College of Nutrition. “A dose-response study on the effects of purified lycopene supplementation on biomarkers of oxidative stress”. (2008)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Antioxidant vitamin supplementation and lipid peroxidation in smokers”. (1998)
- Human & Experimental Toxicology. “Lycopene attenuates dichlorvos-induced oxidative damage and hepatotoxicity in rats”. (2016)
- Environmental Science and Pollution Research. “Lycopene ameliorates atrazine-induced oxidative damage in adrenal cortex of male rats by activation of the Nrf2/HO-1 pathway”. (2016)
- Canadian Journal of Physiology and Pharmacology. “Lycopene modulates cholinergic dysfunction, Bcl-2/Bax balance, and antioxidant enzymes gene transcripts in monosodium glutamate (E621) induced neurotoxicity in a rat model”. (2016)
- Biochimie. “Lycopene induces apoptosis in Candida albicans through reactive oxygen species production and mitochondrial dysfunction”. (2015)
- British Journal of Nutrition. “Influence of lycopene and vitamin C from tomato juice on biomarkers of oxidative stress and inflammation”. (2008)
- Journal of Agricultural and Food Chemistry. “Effect of a tomato-based drink on markers of inflammation, immunomodulation, and oxidative stress”. (2006)
- Free Radical Research. “Lycopene-rich treatments modify noneosinophilic airway inflammation in asthma: proof of concept”. (2008)
- American Heart Journal. “Natural antioxidants from tomato extract reduce blood pressure in patients with grade-1 hypertension: A double-blind, placebo-controlled pilot study”. (2006)
- Frontiers in Pharmacology. “Lycopene and Vascular Health”. (2018)
- Maturitas. “Protective effect of lycopene on serum cholesterol and blood pressure: Meta-analyses of intervention trials”. (2011)
- Nutrition and Cancer. “Bioavailability and in vivo antioxidant properties of lycopene from tomato products and their possible role in the prevention of cancer”. (1998)
- Journal of the National Cancer Institute. “The U.S. Food and Drug Administration’s evidence-based review for qualified health claims: tomatoes, lycopene, and cancer”. (2007)
- Journal of the National Cancer Institute. “Tomatoes, Tomato-Based Products, Lycopene, and Cancer: Review of the Epidemiologic Literature”. (1999)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Increased green and yellow vegetable intake and lowered cancer deaths in an elderly population”. (1985)
- Prostate Cancer and Prostatic Diseases. “Increased dietary and circulating lycopene are associated with reduced prostate cancer risk: a systematic review and meta-analysis”. (2017)
- Medicine (Baltimore). “Lycopene and Risk of Prostate Cancer: A Systematic Review and Meta-Analysis”. (2015)
- Journal of the National Cancer Institute. “Intake of carotenoids and retinol in relation to risk of prostate cancer”. (1995)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Dietary lycopene intake and risk of prostate cancer defined by ERG protein expression”. (2016)
- Urologic Oncology: Seminars and Original Investigations. “Lycopene as a chemopreventive agent in the treatment of high-grade prostate intraepithelial neoplasia”. (2005)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “Phase II randomized clinical trial of lycopene supplementation before radical prostatectomy”. (2001)
- Scientific Reports. “Tomato consumption and prostate cancer risk: a systematic review and meta-analysis”. (2016)
- Annals of Epidemiology. “Serum lycopene and the risk of cancer: the Kuopio Ischaemic Heart Disease Risk Factor (KIHD) study”. (2009)
- Oral Oncology. “Efficacy of oral lycopene in the treatment of oral leukoplakia”. (2004)
- Cochrane Database of Systematic Reviews. “Interventions for treating oral leukoplakia to prevent oral cancer”. (2016)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Intake of specific carotenoids and risk of lung cancer in 2 prospective US cohorts”. (2000)
- Cancer Causes & Control. “A multicenter case-control study of diet and lung cancer among non-smokers”. (2000)
- Nutrients. “Dietary Carotenoids Intake and the Risk of Gastric Cancer: A Case—Control Study in Korea”. (2018)
- The Journal of Nutrition. “Dietary intake of lycopene is associated with reduced pancreatic cancer risk”. (2005)
- Journal of the American College of Nutrition. “The potential role of lycopene for human health”. (1997)
- Nutrition and Cancer. “Effects of lycopene on the insulin-like growth factor (IGF) system in premenopausal breast cancer survivors and women at high familial breast cancer risk”. (2008)
- Journal of the National Cancer Institute. “Circulating carotenoids and risk of breast cancer: pooled analysis of eight prospective studies”. (2012)
- Nutrition and Cancer. “Dietary intake and blood levels of lycopene: association with cervical dysplasia among non-Hispanic, black women”. (1998)
- Clinical Chemistry and Laboratory Medicine. “Relationship of serum antioxidant micronutrients and sociodemographic factors to cervical neoplasia: a case-control study”. (2009)
- Clinical Cancer Research. “Plasma levels of beta-carotene, lycopene, canthaxanthin, retinol, and alpha- and tau-tocopherol in cervical intraepithelial neoplasia and cancer”. (1996)
- Journal of Endocrinological Investigation. “Physiological dose of lycopene suppressed oxidative stress and enhanced serum levels of immunoglobulin M in patients with Type 2 diabetes mellitus: A possible role in the prevention of long-term complications”. (2007)
- Pancreas. “Effects of Caffeine and Lycopene in Experimentally Induced Diabetes Mellitus”. (2016)
- Journal of Food Science. “Lycopene Ameliorated Oxidative Stress and Inflammation in Type 2 Diabetic Rats”. (2019)
- British Journal of Nutrition. “The association between intake of dietary lycopene and other carotenoids and gestational diabetes mellitus risk during mid-trimester: a cross-sectional study”. (2019)
- Food Chemistry. “Can lycopene be considered an effective protection against cardiovascular disease?”. (2018)
- Critical Reviews in Food Science and Nutrition. “Lycopene and Its Antioxidant Role in the Prevention of Cardiovascular Diseases-A Critical Review”. (2016)
- The Journal of Nutrition. “Dietary lycopene, tomato-based food products and cardiovascular disease in women”. (2003)
- American Journal of Epidemiology. “Lycopene and myocardial infarction risk in the EURAMIC Study”. (1997)
- Critical Reviews in Food Science and Nutrition. “Lycopene and tomato and risk of cardiovascular diseases: A systematic review and meta-analysis of epidemiological evidence”. (2019)
- Molecular Nutrition & Food Research. “Lycopene and risk of cardiovascular diseases: A meta-analysis of observational studies”. (2017)
- British Journal of Nutrition. “Relationship of lycopene intake and consumption of tomato products to incident CVD”. (2013)
- Scientific Reports. “Dietary and circulating lycopene and stroke risk: a meta-analysis of prospective studies”. (2014)
- Annals of Nutrition and Metabolism. “Plasma antioxidants and asymptomatic carotid atherosclerotic disease”. (2008)
- Biochemical and Biophysical Research Communications. “Hypocholesterolemic effect of lycopene and beta-carotene is related to suppression of cholesterol synthesis and augmentation of LDL receptor activity in macrophages”. (1997)
- Journal of Agricultural and Food Chemistry. “Contribution of tomato phenolics to antioxidation and down-regulation of blood lipids”. (2007)
- Diabetes, Metabolic Syndrome and Obesity. “Effect of tomato consumption on high-density lipoprotein cholesterol level: a randomized, single-blinded, controlled clinical trial”. (2013)
- Cardiovascular Drugs and Therapy. “The effects of natural antioxidants from tomato extract in treated but uncontrolled hypertensive patients”. (2009)
- Nutrients. “Lycopene Supplement and Blood Pressure: An Updated Meta-Analysis of Intervention Trials”. (2013)
- Food Science & Nutrition. “Effect of lycopene supplementation on cardiovascular parameters and markers of inflammation and oxidation in patients with coronary vascular disease”. (2018)
- Nutrition Research. “Higher levels of serum lycopene are associated with reduced mortality in individuals with metabolic syndrome”. (2016)
- Biomedicine & Pharmacotherapy. “A review for the pharmacological effect of lycopene in central nervous system disorders”. (2019)
- Neurochemical Research. “Lycopene Prevents Amyloid [Beta]-Induced Mitochondrial Oxidative Stress and Dysfunctions in Cultured Rat Cortical Neurons”. (2016)
- Journal of Nutritional Science. “Lycopene and cognitive function”. (2019)
- Neuroscience Letters. “Lycopene attenuates Aβ1-42 secretion and its toxicity in human cell and Caenorhabditis elegans models of Alzheimer disease”. (2015)
- Journal of the American Geriatrics Society. “Plasma Antioxidants and Cognitive Performance in Middle-Aged and Older Adults: Results of the Austrian Stroke Prevention Study”. (2015)
- Neuroscience Letters. “Protective effect of lycopene on high-fat diet-induced cognitive impairment in rats”. (2016)
- Phytotherapy Research. “Neuroprotective Effect of Lycopene Against PTZ-induced Kindling Seizures in Mice: Possible Behavioural, Biochemical and Mitochondrial Dysfunction”. (2016)
- Life Sciences. “Lycopene ameliorates neuropathic pain by upregulating spinal astrocytic connexin 43 expression”. (2016)
- European Journal of Pain. “Lycopene attenuates thermal hyperalgesia in a diabetic mouse model of neuropathic pain”. (2008)
- Life Sciences. “Lycopene inhibits ICAM-1 expression and NF-κB activation by Nrf2-regulated cell redox state in human retinal pigment epithelial cells”. (2016)
- Nutrition. “Lycopene attenuates oxidative stress induced experimental cataract development: an in vitro and in vivo study”. (2003)
- Clinica Chimica Acta. “Lycopene but not lutein nor zeaxanthin decreases in serum and lipoproteins in age-related macular degeneration patients”. (2005)
- Arch Ophthalmol. “Serum antioxidants and age-related macular degeneration in a population-based case-control study”. (1995)
- Nutrients. “Diminishing Risk for Age-Related Macular Degeneration with Nutrition: A Current View”. (2013)
- Oral Health and Preventive Dentistry. “Efficacy of lycopene in the treatment of gingivitis: a randomised, placebo-controlled clinical trial”. (2007)
- Oral Surgery, Oral Medicine, Oral Pathology, Oral Radiology, and Endodontology. “Efficacy of lycopene in the management of oral submucous fibrosis”. (2007)
- Journal of Pharmacy and Bioallied Sciences. “Comparison of Efficacy of Lycopene and Lycopene–Hyaluronidase Combination in the Treatment of Oral Submucous Fibrosis”. (2019)
- Chronic Diseases and Translational Medicine. “Tomato lycopene prevention of alcoholic fatty liver disease and hepatocellular carcinoma development”. (2018)
- The Journal of Nutrition. “Lycopene inhibits disease progression in patients with benign prostate hyperplasia”. (2008)
- Journal of Functional Foods. “Symptoms and quality of life in HIV-infected patients with benign prostatic hyperplasia are improved by the consumption of a newly developed whole tomato-based food supplement. A phase II prospective, randomized double-blinded, placebo-controlled study”. (2021)
- Food & Function journal. “Let food be your medicine: nutraceutical properties of lycopene”. (2019)
- Asian Journal of Andrology. “Lycopene and male infertility”. (2014)
- European Journal of Nutrition. “A randomized placebo-controlled trial to investigate the effect of lactolycopene on semen quality in healthy males”. (2020)
- Bone. “Lycopene treatment against loss of bone mass, microarchitecture and strength in relation to regulatory mechanisms in a postmenopausal osteoporosis model”. (2016)
- British Journal of Nutrition. “Carotenoid dietary intakes and plasma concentrations are associated with heel bone ultrasound attenuation and osteoporotic fracture risk in the European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition (EPIC)-Norfolk cohort”. (2017)
- Molecules. “The Role of Carotenoids in Human Skin”. (2011)
- Oxidative Medicine and Cellular Longevity. “The Effect of Lycopene Preexposure on UV-B-Irradiated Human Keratinocytes”. (2016)
- British Journal of Dermatology. “Tomato paste rich in lycopene protects against cutaneous photodamage in humans in vivo: a randomized controlled trial”. (2011)
- Photochemical & Photobiological Sciences. “Lycopene-rich products and dietary photoprotection”. (2006)
- British Journal of Dermatology. “Molecular evidence that oral supplementation with lycopene or lutein protects human skin against ultraviolet radiation: results from a double-blinded, placebo-controlled, crossover study”. (2017)
- The Journal of Nutrition. “Dietary tomato paste protects against ultraviolet light-induced erythema in humans”. (2001)
- Clinical Pharmacology & Biopharmaceutics. “Effect of Oral Supplement “Lycopene” On Reducing the Signs of Skin Ageing”. (2020)
- Hautarzt. “[“Pigment balance” through oral beta carotene. A new therapeutic principle in cosmetic dermatology]”. (1979)
- British Journal of Dermatology. “beta-carotene and the photodermatoses”. (1975)
- Indian Journal of Dental Research. “Lycopene in the management of oral lichen planus: a placebo-controlled study”. (2011)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Effects of dietary fat type and emulsification on carotenoid absorption: a randomized crossover trial”. (2023)
- Advances in Nutrition. “Whole Food versus Supplement: Comparing the Clinical Evidence of Tomato Intake and Lycopene Supplementation on Cardiovascular Risk Factors”. (2014)
- Annual Review of Food Science and Technology. “An Update on the Health Effects of Tomato Lycopene”. (2013)
- Urology. “A Tomato-Based, Lycopene-Containing Intervention for Androgen-Independent Prostate Cancer: Results of a Phase II Study from The North Central Cancer Treatment Group”. (2007)
- Allergy & Asthma Proceedings. “Severe tomato allergy (Lycopersicon esculentum)”. (2002)
- The Journal of Dermatology. “Carotenoderma due to lycopenemia: A case report and evaluation of lycopene deposition in the skin”. (2022)
- International Journal of Gynecology & Obstetrics. “Effect of lycopene on pre-eclampsia and intra-uterine growth retardation in primigravidas”. (2003)
- Journal of Obstetrics and Gynaecology Research. “Trial of lycopene to prevent pre-eclampsia in healthy primigravidas: results show some adverse effects”. (2009)
- Journal of the American Dietetic Association. “Tomato consumption increases lycopene isomer concentrations in breast milk and plasma of lactating women”. (2002)
- MedlinePlus. “Lycopene”. (2021)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 01 ส.ค. 2023