10 อันดับน้ำมันปลายอดนิยม & รีวิวจากการใช้จริง ! (2020)

10 อันดับน้ำมันปลายอดนิยม & รีวิวจากการใช้จริง ! (2020)

น้ำมันปลา

น้ำมันปลา หรือ ฟิชออยล์ (Fish Oil) คือ น้ำมันที่สกัดมาจากส่วนของเนื้อปลา หนัง หัว และหางของปลาทะเลน้ำลึก (โดยเฉพาะปลาในเขตหนาว ถ้าปลาทะเลทั่วไปจะได้สารสำคัญน้อยกว่าปลาทะเลที่อยู่ในกระแสน้ำเย็น) ซึ่งในน้ำมันปลานี้จะมีกรดไขมันอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่สำคัญและมีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ คือ กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 และ​โอเมก้า 6 ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fatty Acid)

ซึ่งกรดไขมันที่สำคัญที่สุดคือกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 ครับ เพราะมีกรดที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ EPA (Eicosapentaenoic Acid) และ DHA (Docosahexaenoic Acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ และจำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น

โดยแหล่งอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สำคัญและเราคุ้นเคยดีก็คือ “ปลา” ครับ โดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแอนโชวี่ ฯลฯ (ส่วนปลาน้ำจืดก็เช่น ปลาดุก ปลาสวาย) และนอกจากปลาแล้วยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ได้แก่ วอลนัท ถั่วแระ ถั่วเหลือง เมล็ดแฟล็กซีด เมล็ดเจีย น้ำมันคาโนลา สาหร่าย (เช่น สไปรูลิน่า) ผลิตภัณฑ์จากนม (นมวัว/นมแพะ/นมแกะ) และมีอยู่จำนวนไม่มากนักในผักเขียวสีเข้ม เช่น ผักขม โหระพา ถั่วงอกเขียวสด

UPDATE !!! : อ่านรีวิวน้ำมันปลายอดนิยมล่าสุดของปี 2022 ได้ที่ลิงก์ >>> รีวิว 10 น้ำมันปลายอดนิยม & น้ำมันปลายี่ห้อไหนดี? (2022)

ประโยชน์ของน้ำมันปลา

EPA และ DHA ต่างก็มีความจำเป็นต่อการสร้างและซ่อมแซมเซลล์ ถ้าจะให้มองแบบง่าย ๆ ก็อาจกล่าวได้ว่า EPA ทำหน้าที่เป็นตัวให้พลังงานกับเซลล์ ส่วน DHA จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งเปรียบได้กับโครงสร้างบ้าน ถ้าโครงสร้างไม่แข็งแรง ส่วนประกอบต่าง ๆ ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย (DHA ไม่ได้พบแต่ในสมองเท่านั้น แต่ยังพบในหลาย ๆ เซลล์ของร่างกาย แต่ DHA ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปที่สมองเนื่องจากสมองต้องการมากที่สุดเพื่อช่วยให้สมองทำงานได้อย่างปกติ) ดังนั้น การได้รับสารทั้ง 2 ตัวไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อทุกส่วนของร่างกาย รวมไปถึงหัวใจ สมอง กระดูก เลือด อวัยวะต่าง ๆ และสุขภาพจิตของเราด้วย

สำหรับประโยชน์ของน้ำมันปลาที่มีสารสำคัญอย่าง EPA และ DHA ที่มีหลักฐานตามงานวิจัยในปัจจุบันนั้นมีดังนี้ครับ

  1. EPA ช่วยลดระดับไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) ซึ่งเป็นไขมันตัวร้ายที่หากมีการสะสมมากก็อาจจะนำไปสู่การเกิดโรคได้ เช่น โรคหลอดเลือดอุดตันและโรคหัวใจ ซึ่งการกินน้ำมันปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 นี้จะมีประโยชน์ทั้งสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรคที่ต้องการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากไขมันในเลือดสูง และผู้ที่เป็นโรคแล้ว (การกินร่วมกับยาที่ได้รับอยู่ปกติจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการลดไขมันดีขึ้น แต่คุณควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อน)
  2. EPA ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคทางระบบหลอดเลือดและหัวใจ เพราะ EPA จะไปช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ต้องรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณที่มากถึงวันละ 4 กรัม ของปริมาณ EPA และ DHA
  3. EPA ช่วยลดความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับปกติได้ (แต่ก็ลดได้ไม่มากนัก)
  4. EPA มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบต่าง ๆ ในร่างกายได้ เพราะ EPA เป็นองค์ประกอบสำคัญของสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเรียกว่า “พลอสตาแกลนดิน” ช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดช่วยลดการอักเสบของข้อกระดูก นอกจากนี้ EPA ยังช่วยในการนำส่งสารสื่อประสาทได้อีกด้วย
  5. DHA เป็นส่วนประกอบในเซลล์สมอง ประสาท และจอประสาทตา ซึ่งการได้รับ DHA ในปริมาณที่มากพอจะช่วยให้ความคิดและการจดจำดีขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ DHA จึงอาจเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการการบำรุงสมองอย่างมาก เช่น นักเรียนนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่และต้องการเพิ่มการเรียนรู้การจดจำ หรือในผู้สูงอายุที่ต้องการช่วยเพิ่มการจดจำ การคิด ลดการเสื่อมของระบบประสาท อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเพิ่มความจำ DHA ก็ช่วยได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นและไม่ได้ช่วยให้ฉลาดขึ้นแต่อย่างใด (แต่ DHA สามารถเสริมได้ตั้งแต่ทารกในครรภ์ เพราะ DHA เป็นองค์ประกอบของเซลล์สมอง จอประสาทตา หากทารกได้รับอย่างเพียงพอก็จะส่งผลให้มีพัฒนาการทางสมองและสายตาที่ดีขึ้น)
  6. DHA อาจช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าและโรคที่เกี่ยวกับความจำหรืออัลไซเมอร์ได้ (ในส่วนนี้งานวิจัยยังขัดแย้งกันอยู่ มีทั้งคนที่กินแล้วได้ผลและไม่ได้ผล แต่ถ้าจะให้ชัวร์ผมแนะนำให้คุณรับประทานปลาบ่อย ๆ ก็จะดีที่สุดครับ) แต่ถ้าเป็นอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมไปแล้วอันนี้ต่อให้กินเยอะแค่ไหนน้ำมันปลาก็ช่วยไม่ได้นะครับ
รีวิวน้ำมันปลา
IMAGE SOURCE : Medthai.com

สำหรับประโยชน์อื่น ๆ ของน้ำมันปลาอย่างละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ น้ำมันปลา (Fish Oil) ประโยชน์ของน้ำมันปลา 24 ข้อ ! (2020)

น้ำมันปลากินแค่ไหนถึงจะดี ?

  • สำหรับผู้ที่ต้องการป้องกันหรือมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดอุดตันและโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือรับประทานเพื่อเสริมสุขภาพ ให้รับประทานวันละ 1,000 มก. ของปริมาณ EPA และ DHA
  • สำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงหรือมีอาการปวดข้ออักเสบตามข้อกระดูก และหวังผลเรื่องการบำรุงสมอง ให้รับประทานวันละ 3,000 มก. ของปริมาณ EPA และ DHA

วิธีรับประทานน้ำมันปลา

  • ในข้างขวดของน้ำมันปลาแต่ละยี่ห้อจะระบุปริมาณของ EPA และ DHA ไว้แล้ว ซึ่งเราก็จะรู้ว่าวันหนึ่งเราต้องกินกี่เม็ด โดยให้กินเฉลี่ย ๆ หลังอาหารทั้ง 3 มื้อ มื้อละเท่า ๆ กันได้เลย
  • ควรกินภายใต้การมีโภชนาการที่ดี กินอาหารอื่น ๆ ให้ครบหมู่ ไม่ใช่กินแต่น้ำมันปลาอย่างเดียว
  • แม้ในปัจจุบันจะมีงานวิจัยที่ระบุว่า การรับประทานน้ำมันปลาแทบจะไม่มีผลต่อการเกิดภาวะเลือดหยุดยาก (ไม่เสี่ยงเลือดออกง่าย) แต่ก็มีคำแนะนำว่าควรหยุดรับประทานน้ำมันปลาก่อนการผ่าตัด ทำฟัน อย่างน้อย 15 วัน
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ปัจจุบันก็มีหลายงานวิจัยที่ระบุว่า การรับประทานน้ำมันปลาไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์แต่อย่างใด พร้อมกับมีคำแนะนำว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 25-35 สัปดาห์ และหญิงให้นมบุตร ควรได้รับ DHA วันละ 1-2 แคปซูล เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการทางสมองและสายตาของทารกและเด็ก
  • สำหรับผู้ที่ทานยากันเลือดแข็งตัวในโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองหรืออื่น ๆ รวมถึงผู้ป่วยตับและไต ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ถ้าจะรับประทานน้ำมันปลา

การเลือกซื้อน้ำมันปลา

  • ควรเลือกแหล่งที่มาจากธรรมชาติ เช่น ผลิตจากปลาทะเลน้ำลึก มีการตรวจสอบถึงความเข้มข้นของกรดไขมันที่เราต้องการ รวมทั้งปราศจากสารปนเปื้อนที่อาจติดมากับปลาด้วย (ในปัจจุบันในบางน่านน้ำทะเลจะมีสารพิษตกค้างอยู่ในปริมาณสูง ในปลาบางชนิดที่จับได้ในแหล่งเหล่านี้ จึงอาจมีการปนเปื้อนของสารพิษต่าง ๆ ได้ เช่น Dioxin, Methyl mercury และ Polychlorinated biphenyl)
  • ผ่านมาตรฐาน GMP และมีการตรวจสอบเชื้อโรคและโลหะหนัก ทั้งสารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สารหนู
  • ปริมาณของ EPA และ DHA ทั้งคู่ต้องมีมากกว่า 20% เพราะบางยี่ห้อแจ้งว่าเป็นฟิชออยล์ 1,000 มิลลิกรัม แต่มี EPA และ DHA ปริมาณน้อยมาก ที่เหลือเป็นแค่แป้งและส่วนผสมอื่นที่นำมาตอกเป็นเม็ด
  • สัดส่วนของปริมาณ EPA : DHA ควรเป็น 3 : 2 เช่น EPA 180 mg. และ DHA 120 mg. เพราะเป็นสัดส่วนที่เชื่อว่าน่าจะออกฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
  • รูปแบบเม็ดควรเป็นแบบเม็ดเจลนิ่ม ๆ (Soft Gel) ที่ปิดสนิท เพราะจะช่วยปกป้องไม่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวข้างในเกิดการสลายตัวระหว่างการรอบริโภค ถ้าเม็ดยาถูกบรรจุในแคปซูลแข็ง ๆ อาจจะมีรอยรั่วตรงขอบเม็ดได้ ซึ่งจะทำให้มีอากาศเข้าไปเกิดการออกซิไดซ์จนกรดไขมันไม่อิ่มตัวสลายตัวแล้วมีปริมาณกรดไขมันสำคัญลดลง
  • ควรมีวิตามินอีผสมด้วย เพราะกรดไขมันไม่อิ่มตัวจะสลายตัวได้ง่ายมาก จึงจำเป็นต้องมีวิตามินอีช่วยทำหน้าที่เป็น Antioxidant ช่วยคงสภาพและปริมาณของสารสำคัญให้สูงสุดในระหว่างรอการบริโภค
  • ขวดบรรจุภัณฑ์ควรเป็นขวดแบบทึบแสง ป้องกันแสง และอากาศได้ดี และถ้าเบาด้วยก็จะยิ่งดีเพื่อสะดวกต่อการพกพา (เพราะต้องกินหลังมื้ออาหารทุกมื้อ)
    • สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดพลาสติก ควรเป็นขวดพลาสติกเกรดยา เนื่องจากจะมีมาตรฐานดีกว่าขวดพลาสติกเกรดอาหารเสริมทั่วไป (พลาสติกอาจไปทำปฏิกิริยากับผลิตภัณฑ์ที่บรรจุไว้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเก็บไว้เป็นเวลานาน)
    • สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดแก้ว จะมีข้อดีตรงที่มีความเป็นกลางไม่ทำปฏิกิริยาใด ๆ กับผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ โดยควรเป็นขวดสีชาทึบแสงที่ยิ่งทึบแสงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

น้ำมันปลายี่ห้อไหนดี ​?

ความจริงแล้วคุณจะรับประทานน้ำมันปลายี่ห้อไหนก็ได้ครับ เพราะให้ผลไม่แตกต่างกัน (รับประทานให้ได้ตามปริมาณที่แนะนำก็เป็นอันใช้ได้แล้วครับ) หรือถ้าคุณยังมีสุขภาพแข็งแรงทานอาหารได้ครบ 5 หมู่ กินอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นประจำ คือ ทานปลานึ่งหรือต้ม ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ตัวเป็นประจำ คุณอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานน้ำปลาให้เสียเงินเพิ่มเลยก็ได้

แต่ถ้าจะให้ผมแนะนำ อย่างแรกเลยคุณก็ต้องเลือกจากยี่ห้อครับ โดยเน้นยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือก่อนเป็นหลัก (ด้วยเหตุผลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยครับ) และอย่างที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ “ต้องคุ้มค่ากับเงินที่เราจ่าย” ไปด้วยครับ ส่วนเรื่องของปริมาณสารสำคัญเกือบทุกยี่ห้อก็มีปริมาณเท่ากันหมด และอย่างที่บอกไปครับจะยี่ห้อไหนก็แทบจะให้ผลไม่ต่างกันถ้ากินได้ตามปริมาณที่แนะนำ

ส่วนน้ำมันปลานำเข้าหรือของต่างประเทศเท่าที่ทางเราหาข้อมูลมาก็ไม่ได้ดีกว่าที่ผลิตในไทย (จริงอยู่ที่อาจมีมาตรฐานการผลิตที่ดีกว่า แต่โดยรวมก็จะมีราคาที่แพงกว่าและดูจะไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ครับ แล้วกว่าจะส่งจากต่างประเทศมาถึงมือเราด้วยแล้วก็ไม่รู้ว่าผ่านการจัดเก็บอย่างไรบ้าง อากาศเป็นอย่างไร และใช้เวลาขนส่งเท่าไหร่) ดังนั้น ในบทความนี้เราจึงแนะนำและทำการจัดอันดับเฉพาะน้ำปลายี่ห้อยอดนิยมที่มีขายในไทยครับ (หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา และเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซทั่วไป) โดยการให้คะแนนนั้น หลัก ๆ เราจะอ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ของผู้ผลิต ตั้งแต่มาตรฐานการผลิต การรับรอง วัตถุดิบที่ใช้ ฯลฯ รวมถึงลักษณะของตัวสินค้าที่เราได้ซื้อมาทดลองรีวิวครับ ดังนี้

1. MEGA We care FISH OIL 1000 mg

น้ำมันปลาเมก้า วีแคร์ (Mega We care)
น้ำมันปลายี่ห้อเมก้า วีแคร์ (Mega We care)

เมก้า วีแคร์ (Mega We care) เป็นน้ำมันปลาที่ผลิตในประเทศไทยที่ผมค่อนข้างไว้ใจในคุณภาพและมาตรฐานการผลิต (ในราคาไม่แพง) เพราะเมก้าเป็นโรงงานผลิตยาแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่ผ่านการรับมาตรฐานการผลิต (GMP) ระดับสากลถึง 2 สถาบัน คือ TGA จากประเทศออสเตรเลีย และ BfArM จากประเทศเยอรมัน ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์รวมถึงน้ำมันปลาที่ผลิตจะมีการวิจัยการผลิต ควบคุมคุณภาพ และผ่านการตรวจสอบสารปนเปื้อนและโลหะหนัก และที่สำคัญเมก้ายังมีกระบวนการผลิตแคปซูลนิ่มด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น SOLVENT FREE (เทคโนโลยีของกระบวนการผลิตแคปซูลนิ่มเพื่อให้ลดการใช้ตัวทำละลายและทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารตกค้างอันไม่จำเป็น), ADDED PRESERVATIVES (เทคโนโลยีพิเศษและกระบวนการที่ปราศจากเชื้อ ควบคุมการผลิตโดยไม่ให้ใช้สารกันบูดในแคปซูล) และการควบคุมคุณภาพโดย QUALITY ASSURANCE และ QUALITY CONTROL ภายใต้มาตรฐานการผลิตยา (แม้น้ำมันปลาที่ผลิตจะเป็นแค่อาหารเสริมก็ตาม)

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 10/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 5/5 คะแนน*
    • ลักษณะขวด : ขวดพลาสติกทึบแสง (เกรดยา) หุ้มซีลพลาสติก
    • ฝาขวด : แบบเกลียวหมุน (รู้สึกปิดขวดได้แน่นสนิทมาก)
    • ซีลปากขวด : มี (ซีลมาแน่นมาก)
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 10/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : 1.4 mg.
  4. กลิ่น : 4.5/5 คะแนน (มีกลิ่นคาวปลาน้อย)
  5. ความคุ้มค่า : 9/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 3.266 บาท**
  6. คะแนนรวม 38.5/40 คะแนน

2. VISTRA SALMON FISH OIL 1000 mg

น้ำมันปลาวิสทร้า (Vistra)
น้ำมันปลายี่ห้อวิสทร้า (Vistra)

วิสทร้า (Vistra) อีกหนึ่งแบรนด์ที่คนไทยคุ้ยเคยกันดี อาหารเสริมแบรนด์นี้ผมเองก็รับประทานอยู่บ่อย ๆ โดยของวิสทร้านี้จะเป็นน้ำมันปลาปลาแซลมอนที่ผลิตในไทย ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากประเทศไอซ์แลนด์ ข้อมูลบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการควบคุมคุณภาพผมหาข้อมูลในเว็บไซต์ของวิสทร้าไม่เจอครับ ส่วนสาเหตุที่ยี่ห้อนี้มาแรงเป็นอันดับ 2 ก็เป็นเพราะเรื่องของราคาที่โครตจะคุ้มค่า (ถูกสุดในบรรดา 10 ยี่ห้อ) แถมยี่ห้อนี้ยังมีส่วนผสมของวิตามินอีที่สูงกว่ายี่ห้ออื่น ๆ ด้วย (จริง ๆ วิตามินอีมีไว้แค่ช่วยคงสภาพและปริมาณของสารสำคัญให้มีสูงสุดระหว่างรอการบริโภคเท่านั้นครับ จะมากหรือน้อยก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน ขอให้มีบ้างก็พอแล้ว ยิ่งถ้าเราเก็บยาดีและกินหมดเร็วก็ไม่ต้องกังวลครับ)

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 8/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 5/5 คะแนน
    • ลักษณะขวด : ขวดแก้วสีชา (ทึบแสงมาก) หุ้มซีลพลาสติก
    • ฝาขวด : แบบเกลียวหมุน (รู้สึกปิดขวดได้แน่นสนิทมาก)
    • ซีลปากขวด : มี
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 10/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : 9.09 mg.
  4. กลิ่น : 5/5 คะแนน (ไม่มีกลิ่นคาวปลา เหมือนกลิ่นเม็ดยาทั่วไป)
  5. ความคุ้มค่า : 10/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 2.044 บาท
  6. คะแนนรวม 38/40 คะแนน

3. BEWEL SALMON FISH OIL 1000 mg

น้ำมันปลาบีเวล (Bewel)
น้ำมันปลายี่ห้อบีเวล (Bewel)

บีเวล (Bewel) สูตรเดียวกับวิสทร้าในราคาที่ถูกกว่า เป็นน้ำมันปลาแซลมอนที่ผลิตในไทยโรงงานเดียวกับวิสทร้า (โปรโนวา แลบบอราทอรีส์) ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศไอซ์แลนด์และมีปริมาณของสารสำคัญเท่ากัน ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบและเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตระดับสากล GMP ส่วนในเรื่องของความน่าเชื่อถือบอกตามตรงผมก็ไม่เคยเห็นแบรนด์นี้มาก่อนครับ แต่คุณภาพก็คงเหมือนกับยี่ห้อวิสทร้าครับ

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 6.5/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 5/5 คะแนน
    • ลักษณะขวด : ขวดแก้วสีชา (ทึบแสงมาก) หุ้มซีลพลาสติก
    • ฝาขวด : แบบสุญญากาศเปิดปิด (รู้สึกปิดขวดได้แน่นสนิทมาก)
    • ซีลปากขวด : ไม่มี
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 10/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : 9.09 mg.
  4. กลิ่น : 5/5 คะแนน (ไม่มีกลิ่นคาวปลา เหมือนกลิ่นเม็ดยาทั่วไป)
  5. ความคุ้มค่า : 9/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 3.166 บาท
  6. คะแนนรวม 35.5/40 คะแนน

4. BLACKMORES FISH OIL 1000

น้ำมันปลาแบลคมอร์ส (Blackmores)
น้ำมันปลายี่ห้อแบลคมอร์ส (Blackmores)

แบลคมอร์ส (Blackmores) น้ำมันปลาสัญชาติออสเตรเลีย สำหรับผมแล้วยี่ห้อนี้จัดว่าน่าเชื่อถือที่สุด (ราคาก็เช่นกัน) ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานมากในบ้านเรา เพราะเป็นยี่ห้อแรก ๆ ที่เข้ามาเปิดตลาดอาหารเสริมในไทย โดดเด่นในเรื่องของการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง ผลิตตามข้อกำหนดและมาตรฐานระดับสากลที่ควบคุมโดยประเทศออสเตรเลีย และผ่านการตรวจสอบสารปรอทและสารตะกั่วเช่นกัน ส่วนสาเหตุที่ยี่ห้อนี้มาอันดับ 4 นั่นก็เป็นเพราะเรื่องของราคาและกลิ่นที่จัดว่าแรงนั่นเองครับ แต่ถ้าคุณไม่ได้มีปัญหาเรื่องราคาและรับกลิ่นคาวปลาได้บ้าง ยี่ห้อนี้ก็จัดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเลยครับ

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 10/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 4.5/5 คะแนน
    • ลักษณะขวด : ขวดแก้วสีชา (ทึบแสงปานกลาง) ไม่หุ้มซีลพลาสติก
    • ฝาขวด : แบบสุญญากาศเปิดปิด (รู้สึกปิดขวดได้แน่นสนิทปานกลาง)
    • ซีลปากขวด : ไม่มี
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 10/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : 10 IU.
  4. กลิ่น : 2/5 คะแนน (มีกลิ่นคาวปลามากที่สุดรองจากยี่ห้อแอมเซล)
  5. ความคุ้มค่า : 8.5/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 3.738 บาท
  6. คะแนนรวม 35/40 คะแนน

5. NUTRAKAL Salmon Oil Fish Omega 3

น้ำมันปลานูทราแคล (Nutrakal)
น้ำมันปลายี่ห้อนูทราแคล (Nutrakal)

นูทราแคล (Nutrakal) น้ำมันปลาแซลมอนที่ผลิตในไทย ใช้วัตถุดิบน้ำเข้าจากประเทศนอร์เวย์ ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9000 และ ISO 12000 ส่วนข้อมูลเรื่องการผลิตและการควบคุมคุณภาพหาข้อมูลไม่เจอครับ

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 6.5/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 4.5/5 คะแนน
    • ลักษณะขวด : ขวดพลาสติกทึบแสง (ไม่ทราบเกรด) ไม่หุ้มซีลพลาสติก (แต่มาในกล่องที่หุ้มซีลพลาสติก)
    • ฝาขวด : แบบสุญญากาศเปิดปิด (รู้สึกปิดขวดได้สนิทแน่นปานกลาง)
    • ซีลปากขวด : มี
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 10/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : 4 mg.
  4. กลิ่น : 4.5/5 คะแนน (มีกลิ่นคาวปลาน้อย)
  5. ความคุ้มค่า : 9.5/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 2.916 บาท
  6. คะแนนรวม 35/40 คะแนน

6. NUTRI MASTER FISH OIL 1000 mg.

น้ำมันปลานูทรีมาสเตอร์ (Nutri Master)
น้ำมันปลายี่ห้อนูทรีมาสเตอร์ (Nutri Master)

นูทรีมาสเตอร์ (Nutri Master) เท่าที่ทราบตอนนี้คือเป็นน้ำมันปลาที่ผลิตในไทย ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากประเทศนอร์เวย์ และมีส่วนผสมเหมือนสูตรมาตรฐานของน้ำมันปลาทั่วไป และจัดว่ามีราคาถูกที่สุด

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 5.5/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 4.5/5 คะแนน
    • ลักษณะขวด : ขวดพลาสติกทึบแสง (ไม่ทราบเกรด) หุ้มซีลพลาสติก
    • ฝาขวด : แบบเกลียวหมุน (รู้สึกปิดขวดได้แน่นสนิทปานกลาง)
    • ซีลปากขวด : มี
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 10/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : 5.5 IU
  4. กลิ่น : 4.5/5 คะแนน (มีกลิ่นคาวปลาน้อยมาก)
  5. ความคุ้มค่า : 9.5/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 2.933 บาท
  6. คะแนนรวม 34/40 คะแนน

7. HOF FISH OIL 1000 MG.

น้ำมันปลาฟาร์มาฮอฟ (HOF)
น้ำมันปลายี่ห้อฟาร์มาฮอฟ (HOF)

ฟาร์มาฮอฟ (PHARMAHOF) น้ำมันปลาที่ผลิตในไทย ใช้วัตถุดิบน้ำเข้าจากประเทศไอซ์แลนด์ และผ่านการตรวจประเมินสถานที่ผลิตตาม GMP ฟาร์มาฮอฟเป็นแบรนด์ที่ผลิตทั้งยาแผนปัจจุบัน แผนโบราณ เวชสำอางค์ อาหารเสริม และอุปกรณ์ทางการแพทย์

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 6/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 3/5 คะแนน
    • ลักษณะขวด : ขวดแก้วสีชา (ทึบแสงน้อย) ไม่หุ้มซีลพลาสติก (แต่มาในกล่องที่หุ้มซีลพลาสติก)
    • ฝาขวด : แบบเกลียวหมุนที่ต้องกดแล้วหมุน (รู้สึกปิดขวดได้ไม่แน่นสนิท)
    • ซีลปากขวด : มี
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 10/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : 7.5 mg.
  4. กลิ่น : 3/5 คะแนน (มีกลิ่นคาวปลามาก)
  5. ความคุ้มค่า : 9.5/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 2.633 บาท
  6. คะแนนรวม 31.5/40 คะแนน

8. Giffarine FISH OIL 1000

น้ำมันปลากิฟฟารีน (Giffarine)
น้ำมันปลายี่ห้อกิฟฟารีน (Giffarine)

กิฟฟารีน (Giffarine) น้ำมันปลาที่ผลิตในไทย สูตรมาตรฐานเหมือนน้ำมันปลาทั่วไป แต่จัดว่ามีราคาแพงกว่ายี่ห้ออื่นเป็นเท่าตัว

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 7/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 4/5 คะแนน
    • ลักษณะขวด : ขวดพลาสติกทึบแสง (ไม่ทราบเกรด) หุ้มซีลพลาสติก
    • ฝาขวด : แบบเกลียวหมุน (รู้สึกปิดขวดได้แน่นสนิทปานกลาง)
    • ซีลปากขวด : มี
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 10/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : 1.3 mg.
  4. กลิ่น : 4.5/5 คะแนน (มีกลิ่นคาวปลาน้อยมาก)
  5. ความคุ้มค่า : 5.5/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 7 บาท
  6. คะแนนรวม 31/40 คะแนน

9. watsons FISH OIL 1000 MG

น้ำมันปลาวัตสัน (Watsons)
น้ำมันปลายี่ห้อวัตสัน (Watsons)

วัตสัน (Watsons) น้ำมันปลาที่ผลิตในไทยและหาซื้อได้เฉพาะที่ร้านวัตสัน ใช้วัตถุดิบจากไอซ์แลนด์และผ่านมาตรฐานการผลิต GMP ส่วนสูตรน้ำมันปลาจะเหมือนกับสูตรน้ำมันปลามาตรฐานทั่วไป (EPA 180 mg. และ DHA 120 mg.) แต่ไม่มีส่วนผสมของวิตามินอีครับ

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 7/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 3.5/5 คะแนน
    • ลักษณะขวด : ขวดแก้วสีชา (ทึบแสงน้อย) หุ้มซีลพลาสติก
    • ฝาขวด : แบบสุญญากาศเปิดปิด (รู้สึกปิดขวดได้ไม่ค่อยแน่นสนิท)
    • ซีลปากขวด : ไม่มี
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 8/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : ไม่มี
  4. กลิ่น : 3/5 คะแนน (มีกลิ่นคาวปลามาก)
  5. ความคุ้มค่า : 9.5/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 2.916 บาท
  6. คะแนนรวม 31/40 คะแนน

10. AMSEL Fish Oil 1,000 mg.

น้ำมันปลาแอมเซล (Amsel)
น้ำมันปลายี่ห้อแอมเซล (Amsel)

แอมเซล (Amsel) เป็นน้ำมันปลาที่ผลิตในประเทศแคนาดา แต่นำเข้ามาแบ่งบรรจุและจัดจำหน่ายในไทยโดยบริษัท แอมเซล นิวทราซูติคัล จำกัด บริษัทนี้ได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ในการจัดตั้งและดำเนินกิจการ รวมทั้งสำนักงานอาหารและยา (อย.) ในเรื่องการผลิตที่ดี (GMP)

  1. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ : 6.5/10 คะแนน
  2. ขวดบรรจุภัณฑ์ : 4/5 คะแนน
    • ลักษณะขวด : ขวดแก้วสีชา (ทึบแสงปานกลาง)
    • ฝาขวด : แบบสุญญากาศเปิดปิด (รู้สึกปิดขวดได้แน่นสนิทปานกลาง)
    • ซีลปากขวด : ไม่มี
  3. คุณภาพและปริมาณสารสำคัญ : 9.5/10 คะแนน
    • น้ำมันปลา : 1,000 mg.
    • EPA : 180 mg.
    • DHA : 120 mg.
    • Vitamin E : 1 mg.
  4. กลิ่น : 1/5 คะแนน (มีกลิ่นคาวปลามากที่สุด)
  5. ความคุ้มค่า : 9.5/10 คะแนน
    • ราคาต่อเม็ด : 2.716 บาท
  6. คะแนนรวม 30.5/40 คะแนน

หมายเหตุ :

  • * ขวดบรรจุภัณฑ์พิจารณาจากลักษณะขวด (ขวดแก้ว/ขวดพลาสติก) ลักษณะฝาเปิดปิด และความง่ายต่อการใช้งาน
  • ** น้ำมันปลาส่วนใหญ่รวม 9 ยี่ห้อทางเว็บไซต์เมดไทยซื้อจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ (Shopee) โดยทางเราพิจารณาเลือกจากร้านที่มีรีวิวที่ดีและมีราคาถูกที่สุด (ทุกยี่ห้อที่เลือกมาเป็นยี่ห้อยอดนิยมและมีผู้ขายหลายร้าน) ยกเว้นยี่ห้อวัตสันที่เราซื้อจากร้านวัตสันโดยตรง
รีวิวอาหารเสริมน้ำมันปลา
รูปเปรียบเทียบน้ำมันปลาทั้ง 10 ยี่ห้อ จะสังเกตเห็นได้ว่าลักษณะและขนาดของเม็ดยาไม่ต่างกันนัก แต่จะแตกต่างกันที่กลิ่นของเม็ดยาที่จะมีตั้งแต่ไม่มีกลิ่น มีกลิ่นน้อยมาก กลิ่นน้อย กลิ่นปานกลาง ไปจนถึงมีกลิ่นมาก
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. Burr ML, Fehily AM, Gilbert JF, et al. Effects of changes in fat, fish, and fibre intakes on death and myocardial reinfarction: diet and reinfarction trial (DART). Lancet. 1989;2:757–761.
  2. Gruenwald J, Graubaum H-J, Hansen K, Grube B. Efficacy and tolerability of a combination of Lyprinol® and high concentrations of EPA and DHA in inflammatory rheumatoid disorders. Advances in Therapy. 2004;21(3):197-201.
  3. American Heart Association. “Omega-3 Fatty Acids and Cardiovascular Disease”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ahajournals.org. [17 ส.ค. 2019].
  4. DrSant บทความสุขภาพ. “น้ำมันปลาแค้ปซูล (Fish Oil) เป็นมิตรหรือศัตรู”. (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com. [18 ส.ค. 2019].
  5. หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “Eicosapentaenoic Acid ในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบซ้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pharmacy.mahidol.ac.th. [19 ส.ค. 2019].
  6. พบแพทย์ดอทคอม. “น้ำมันปลา กับประโยชน์ต่อสุขภาพที่ควรรู้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [20 ส.ค. 2019].
  7. เพจ AgingCare. “น้ำมันปลายี่ห้อไหนดีนะ?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.facebook.com/acarethai/posts/603849773110853/. [21 ส.ค. 2019].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด