โรคไอกรน
ไอกรน, ไอ 3 เดือน หรือ ไอร้อยวัน (Pertussis หรือ Whooping cough) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก คอ และท่อลม) ที่เกิดจากเชื้อไอกรนซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอที่มีลักษณะเฉพาะคือ ไอติดต่อกันครั้งละนาน ๆ ประมาณ 5-10 ครั้ง จนตัวงอและหายใจแทบไม่ทัน และหลังจากหยุดไอผู้ป่วยจะหายใจเข้ายาว ๆ จนเสียงดัง “วู้ป” (Whoop) สลับกันไปกับการไอชุด ๆ บางครั้งอาการอาจเป็นเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน แต่โรคนี้มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษาและมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค
โรคไอกรน* เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถพบได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดที่มีอายุเพียง 1 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากมารดาผ่านไปยังทารกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ในวัยหนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการหรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน แต่ในเด็กเล็กมักมีอาการรุนแรงมาก และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน
หมายเหตุ : คำว่า Pertussis แปลว่า การไอที่รุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรนจะมีอาการไอเป็นอาการหลัก และมีเสียงไอที่มีลักษณะเฉพาะ (เสียงดังวู้ป) จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อในภาษาอังกฤษทั่วไปว่า Whooping cough หรือ ไอกรน (การไอมีเสียงที่เกิดจากการหายใจลำบากตามหลังอาการไอ) ในภาษาไทยนั่นเอง ส่วนในภาษาจีนจะเรียกโรคนี้ว่า “โรคไอ 100 วัน“
สถานการณ์ของโรคไอกรน
โรคไอกรน เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกวัย พบได้บ่อยในเด็กอายุ 2-6 ปี และพบได้มากในช่วงฤดูฝน บางครั้งอาจพบมีการระบาดเกิดขึ้นได้ทุก ๆ 3-5 ปี โดยเฉพาะในชนบทตามหมู่บ้านหรือโรงเรียน แต่ในปัจจุบันพบโรคนี้ได้น้อยลงมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว (ลดลงไปมากกว่า 90% เมื่อเปรียบเทียบสมัยก่อนที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน) เนื่องจากเด็ก ๆ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้กันอย่างทั่วถึง
ในประเทศที่มีการให้วัคซีนไม่ครอบคลุมทั่วถึง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเด็กก่อนวัยเรียน ส่วนในประเทศที่มีการให้วัคซีนอย่างครอบคลุมทั่วถึง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี (เพราะยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามโปรแกรม) อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มพบผู้ป่วยในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานได้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะลืมหรือขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุได้ประมาณ 11-12 ปี หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน
สำหรับข้อมูลในประเทศไทยพบว่าอุบัติการณ์ของโรคไอกรนค่อนข้างต่ำ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2556 พบว่ามีผู้ป่วยโรคไอกรนจำนวน 22 ราย หรือคิดเป็นอัตราป่วย 0.03 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน แต่คาดว่าข้อมูลที่มีรายงานนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
สาเหตุของโรคไอกรน
สาเหตุ : เกิดจาก “เชื้อไอกรน” ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “บอร์เดเทลลาเพอร์ทัสซิส” (Bordetella pertussis) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย
กลไกการเกิดโรค : เมื่อเชื้อไอกรนเข้าสู่ทางเดินหายใจแล้ว เชื้อจะไปเกาะอยู่กับเซลล์เยื่อบุหรือเยื่อเมือกของเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นและผลิตสารพิษหลายชนิดออกมา ซึ่งจะส่งผลต่อการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ เช่น Pertussis toxin, Adenylate cyclase toxin, Dermatonecrotic toxin, Tracheal cytotoxin ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ซึ่งประมาณ 10% ของเด็กทารก เชื้ออาจเข้าสู่ปอดตามทางเดินหายใจและทำให้เกิดโรคปอดบวมเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้เชื้อไอกรนเองมักจะไม่แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด จึงมักไม่ก่ออาการกับอวัยวะอื่น ๆ นอกจากในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
การติดต่อ : โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านเดียวกันได้เกือบทุกราย (โอกาสสูงถึง 80-100%) และถึงแม้จะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเป็นปกติก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ถึง 20% ส่วนใหญ่ในเด็กจะติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัว ซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (Carrier) หรือมีอาการไม่มาก โดยติดต่อเข้าทางเดินหายใจโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองของน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือออกมาแขวนลอยอยู่ในอากาศ หรือโดยผ่านมือที่สัมผัสถูกสิ่งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย
ระยะฟักตัวของโรค : ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 5-21 วัน (ส่วนใหญ่ประมาณ 5-10 วัน) ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าไม่ติดโรค
ระยะติดต่อ : ตั้งแต่เริ่มมีอาการ (ระยะเป็นหวัด) จนถึง 3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการไอรุนแรง (Paroxysmal phase)
อาการของโรคไอกรน
สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะเป็นหวัด หรือ ระยะเยื่อเมือกทางเดินหายใจอักเสบ (Catarrhal phase) ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนโรคหวัดธรรมดาทั่วไป คือ มีไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูกไหล จาม ไอเล็กน้อย อ่อนเพลีย ตาแดง น้ำตาไหล โดยอาการไอจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งระยะนี้จะกินเวลานานประมาณ 1-2 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 7-10 วัน) ในระยะนี้ส่วนใหญ่จะยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าผู้ป่วยจะไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้ง ๆ
- ระยะไอรุนแรง หรือ ระยะอาการกำเริบ (Paroxysmal phase) เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีอาการไอรุนแรงและหลังการไอสิ้นสุดลงจะมีเสียงลักษณะเฉพาะ (เสียงวู้ป) เกิดขึ้น ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะไม่มีไข้แล้ว (ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน) และจะกินเวลาประมาณ 1-6 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 10 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 2-4 สัปดาห์) ส่วนความถี่ของช่วงที่มีอาการไอและความรุนแรงจะค่อย ๆ ทยอยลดลงอย่างช้า ๆ
- อาการไอจะเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ผู้ป่วยจะไอติดต่อกันครั้งละนาน ๆ จนตัวงอและหายใจแทบไม่ทัน (ในครั้งหนึ่งจะไอติดต่อกันประมาณ 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น แล้วหยุดไป แล้วเริ่มไอใหม่เป็นแบบนี้ซ้ำ ๆ) โดยอาการไอนี้อาจเกิดขึ้นเพียง 5-10 รอบต่อวัน หรือเกิดขึ้นหลายสิบรอบในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการไอมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก และอาการไอมักเกิดขึ้นถี่ขึ้นในตอนกลางคืนหรือเวลาที่ถูกอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็นจัด ถูกฝุ่นหรือควันบุหรี่
- เมื่อการไอสิ้นสุดลงในแต่ละรอบจะตามมาด้วยการหายใจเข้ายาว ๆ ลึก ๆ อย่างรวดเร็วหนึ่งครั้ง ซึ่งลมหายใจนี้จะไปกระทบกับฝากล่องเสียงที่ปิดอยู่ จึงทำให้มีเสียงดังที่มีลักษณะเฉพาะ คือ เสียงดังวู้ปหรือวู้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคไอกรน หรือ Whooping cough (ยกเว้นในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน อาจไม่มีอาการนี้) นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะมีอาการอาเจียนหลังจากที่มีการไอติดต่อกัน และอาจมีเสมหะปนออกมาในช่วงที่ไอติดต่อกันด้วย (การไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมา ผู้ป่วยจึงไอติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้)
ตัวอย่างเสียงไอกรน (Whooping cough) - ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูก น้ำตาไหล ตาถลนโปนแดง ลิ้นจุกปาก และมีหลอดเลือดที่คอโป่งจนมองเห็นได้ บางครั้งในเด็กอาจมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทัน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ อายุต่ำกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งอาจมีอาการชักเกร็ง หยุดหายใจ ตัวเขียว เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง
- ผู้ป่วยบางรายอาจไอจนหลอดเลือดฝอยที่ใต้เยื่อบุตาแตก ทำให้เห็นเป็นปื้นแดงที่ตาขาว และอาจพบรอยบวม ช้ำ หรือห้อเลือดที่หนังตาด้วย
- ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากการไอไปรบกวนการรับประทานอาหาร และมีอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากการไอไปรบกวนการนอนหลับ เพราะในช่วงกลางคืนอาการไอจะเกิดขึ้นถี่กว่าเวลากลางวัน
- อาการไอจะเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ผู้ป่วยจะไอติดต่อกันครั้งละนาน ๆ จนตัวงอและหายใจแทบไม่ทัน (ในครั้งหนึ่งจะไอติดต่อกันประมาณ 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น แล้วหยุดไป แล้วเริ่มไอใหม่เป็นแบบนี้ซ้ำ ๆ) โดยอาการไอนี้อาจเกิดขึ้นเพียง 5-10 รอบต่อวัน หรือเกิดขึ้นหลายสิบรอบในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการไอมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก และอาการไอมักเกิดขึ้นถี่ขึ้นในตอนกลางคืนหรือเวลาที่ถูกอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็นจัด ถูกฝุ่นหรือควันบุหรี่
- ระยะฟื้นตัว หรือ ระยะพักฟื้น (Convalescent phase) ในระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 2-3 สัปดาห์) ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักตัวขึ้น และอาการไอจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ (ทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง) จนหายสนิท รวมระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์ แต่ถ้ามีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ ก็อาจทำให้มีอาการไอติดต่อกันนานถึง 3 เดือน จึงเรียกว่า ไอ 3 เดือน หรือไอร้อยวัน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไอกรน
โดยส่วนใหญ่โรคไอกรนจะหายได้เป็นปกติ มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการไอมาก ๆ (ในเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน โรคมักมีความรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้สูงกว่าและรุนแรงกว่า และมีโอกาสเสียชีวิตได้ประมาณ 1%) เช่น
- ปอดอักเสบ/ปอดบวม (Pneumonia) เป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่พบได้ถึงประมาณ 20% ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ โดยเกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นเข้ามาแทรกซ้อน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี
- ปอดแฟบ (Atelectasis) ซึ่งเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม
- การไอที่รุนแรงและต่อเนื่อง จะทำให้หายใจได้ไม่เต็มที่และร่างกายขาดออกซิเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบประสาททำให้เกิดอาการชักเกร็ง มีจุดเลือดออกในสมอง เกิดภาวะหยุดหายใจจนเสียชีวิต (เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนในระหว่างที่ไอนาน ๆ) และส่งผลต่อระบบการใช้พลังงานของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งมักจะพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- อาจพบหลอดลมอักเสบ (Bronchitis), หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media), มีจุดเลือดออก (Petechiae) ตามผิวหนังบนใบหน้าและในสมอง, เลือดกำเดาไหล
- ในรายที่มีอาการไอรุนแรง มักมีเลือดออกที่ใต้ตาขาว ทำให้เห็นเป็นปื้นแดง หรือทำให้ขอบตาเขียวช้ำ และบางครั้งอาจมีเลือดออกในสมองหรือในลูกตา แต่พบได้ไม่มาก
- ในผู้ใหญ่อาจมีอาการไอแรงจนกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไส้เลื่อน กระดูกซี่โครงหัก หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้
- อาจทำให้โรคบางอย่างที่มีอยู่ก่อนแล้วกำเริบจนเกิดอันตรายได้ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ไส้เลื่อน สะดือจุ่น
- ในผู้ที่มีเชื้อวัณโรคซ้อนเร้นอยู่ก่อน อาจทำให้อาการของวัณโรคกำเริบ เนื่องจากโรคไอกรนจะทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันโรคลดลง
การวินิจฉัยโรคไอกรน
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติการสัมผัสโรคและลักษณะอาการของโรคเป็นหลัก ซึ่งอาการที่บ่งชัดว่าเป็นโรคไอกรน คือ อาการไอติดต่อกันนานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปร่วมกับอาการไอที่เกิดขึ้นติดกันเป็นชุด ๆ ในช่วงสุดท้ายของการไอจะมีเสียงดังวู้ปหรือวู้ อาการอาเจียนหลังการไอ หรืออาการเกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคไอกรน เป็นต้น แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องวินิจฉัยให้แน่ชัด อาจต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ได้แก่
- การเพาะเชื้อ เป็นวิธีมาตรฐานที่ทำโดยการนำสารคัดหลั่งจากโพรงหลังจมูกมาเพาะเชื้อ ซึ่งสามารถตรวจได้จนถึงประมาณ 3 สัปดาห์นับตั้งแต่มีอาการ หลังจากนั้นโอกาสที่จะเพาะพบเชื้อจะมีน้อยลง
- การตรวจหาแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทาน (Immunoglobulin A หรือ Immunoglo bulin G) ที่จำเพาะต่อโรคไอกรน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากกว่า 4 สัปดาห์แล้ว แพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้แทนการเพาะเชื้อ โดยจะทำการเจาะเลือดตรวจ 2 ครั้ง ถ้ามีการติดเชื้อไอกรนจะมีค่าแตกต่างกันมากกว่า 2 เท่าขึ้นไป แต่ทั้งนี้ในการเจาะเลือดครั้งแรกจะต้องไม่ใช่ช่วงระยะฟื้นตัวของการป่วย
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เป็นเพียงการตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัย ซึ่งจะพบมีเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ขึ้นสูงกว่าปกติ ซึ่งจะไม่เหมือนการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ที่จะมีเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ขึ้นสูง
- การตรวจหาสารพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อไอกรนจากสารคัดหลั่งจากโพรงหลังจมูกด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (Polymerase chain reaction – PCR) แม้จะเป็นการตรวจที่ได้ผลรวดเร็วและแม่นยำกว่าการเพาะเชื้อ แต่ยังไม่ถือเป็นวิธีมาตรฐาน เพราะยังมีความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ระหว่างค่าที่ตรวจได้กับอาการป่วย
สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยไอกรน
- มักตรวจพบอาการคล้ายโรคหวัด โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ คอไม่แดง และเสียงปอดปกติ ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้ และเวลาใช้เครื่องฟังตรวจปอดจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Crepitation) หรือเสียงอึ๊ด (Rhonchi)
- อาจพบปื้นแดงที่ตาขาว หนังตาบวมฟกช้ำ
- อาจพบอาการไอเป็นชุด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคไอกรน
วิธีรักษาโรคไอกรน
- ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการชัดเจนว่าเป็นโรคไอกรน (มีอาการไอเกิดขึ้นติดกันเป็นชุด ๆ ในช่วงสุดท้ายของการไอจะมีเสียงดังวู้ปหรือวู้ หลังการไอมีอาเจียนตามมา และส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน) หรือในกรณีที่มีอาการดังกล่าวไม่ชัดเจน แต่ไอติดต่อกันนานมากกว่า 2 สัปดาห์ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
- ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกและให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลับไปรับประทานเองที่บ้าน พร้อมกับให้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ให้เด็กอยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ เพื่อให้เสมหะใสและขับออกได้ง่าย
- ควรให้เด็กรับประทานอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อช่วยลดอาการเจียน ถ้ามีอาการอาเจียนมาก ให้รับประทานอาหารทีละน้อย และให้ทดแทนหลังอาเจียน หรือให้น้ำเกลือที่ผสมเอง (น้ำสุก 1 ขวดแม่โขงกลม + น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ + เกลือแดง 1/2 ช้อนชา)
- หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น การออกแรง การถูกฝุ่นละออง ควันบุหรี่ ควันไฟ หรืออากาศที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป
- การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ควรให้ในระยะแรก (ระยะเป็นหวัด) ที่เริ่มมีอาการไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือให้ในเด็กที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เริ่มป่วยเป็นโรคนี้แต่ยังไม่เกิดอาการ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนลงได้ แต่จะไม่ช่วยลดระยะเวลาของโรคให้สั้นลงได้ โดยยาปฏิชีวนะที่แนะนำให้ใช้คือ อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน เป็นระยะเวลา 14 วัน (ยาปฏิชีวนะอื่นที่ใช้ได้ผล เช่น โคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin), อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin), คลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) เป็นต้น) ถ้ามีอาการแสดงเกิน 1-2 สัปดาห์ (เข้าสู่ระยะไอรุนแรง) การใช้ยาปฏิชีวนะมักไม่ค่อยได้ผล ยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบหรือหลอดอักเสบแทรกซ้อน แต่ยังช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อาจมีอยู่ให้หมดไปได้ในระยะ 3-4 วัน ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้
- การรับประทานยาแก้ไอเพื่อระงับอาการไอ มักจะไม่ได้ผล จึงไม่จำเป็นต้องใช้ (สำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี แนะนำให้ใช้น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ จิบกินบ่อย ๆ) แต่แพทย์อาจให้รับประทานยาฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital) วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน เพื่อช่วยให้เด็กได้นอนหลับพักผ่อนมากขึ้น
- สำหรับอาการเลือดออกที่ตาขาวเป็นปื้นแดง ๆ ไม่ต้องทำอะไร เพราะจะค่อย ๆ จางหายไปได้เอง
- ในผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ ให้เพิ่มยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และให้การรักษาแบบเดียวกับโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) หรือหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media)
- ในเด็กทารกที่มีอาการชักเกร็ง ตัวเขียว หยุดหายใจ ให้ทำการผายปอดโดยการเป่าปากและใช้ลูกยางดูดเอาเสมหะออก แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
- ถ้าพบโรคนี้ในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน หรือเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะปลอดภัย โดยเฉพาะการดูแลในเรื่องระบบหายใจเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดออกซิเจน หรือในบางครั้งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งให้สารน้ำและอาหารอย่างเพียงพอ และแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- ผู้ปกครองและผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เชื้อจะหมดไปภายใน 5 วัน ดังนั้น จึงควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากอย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่เริ่มรับประทานยา หรือแยกไว้อย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังจากที่เริ่มมีอาการไอรุนแรง (Paroxysmal phase) โดยต้องแยกน้ำดื่ม อาหารการกินต่าง ๆ ของใช้ส่วนตัว และแยกห้องนอน
- ถ้าในบ้านของผู้ป่วยมีเด็กทารกหรือมีบุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคไอกรนในบุคคลเหล่านี้
- ถ้าพบอาการหอบหรือขาดน้ำรุนแรง ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรังร่วมกับน้ำหนักตัวลด ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะอาจมีวัณโรคกำเริบแทรกซ้อนได้
โรคนี้เมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยก็มักจะมีอาการไอเรื้อรังเป็นเดือน และจะค่อย ๆ หายไปเอง บางรายอาจมีอาการไอนานถึง 3 เดือน ถ้ามารักษาตั้งแต่แรกอาการอาจไม่มากและไอไม่นานจนถึง 3 เดือน ถ้าพบโรคนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ อาการชักเกร็งและหยุดหายใจเนื่องจากสมองขาดออกซิเจนในระหว่างที่ไอนาน ๆ
วิธีป้องกันโรคไอกรน
- โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) รวม 5 เข็ม โดยในเข็มแรกให้ฉีดตั้งแต่อายุ 2 เดือน, เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน, เข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน, เข็มที่ 4 อายุ 18 เดือน และเข็มที่ 5 เมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี
- โดยปกติแล้วเด็กในช่วงอายุ 11-12 ปี จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก (DT vaccine) กระตุ้น 1 เข็ม และต่อจากนั้นให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้กระตุ้นทุก ๆ 10 ปีต่อไป (วัคซีนนี้จะไม่รวมโรคไอกรน เพราะเป็นโรคที่มักพบได้เฉพาะในเด็กเล็ก แต่เดิมจึงมีคำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนรวม DTP แบบเดิมซ้ำอีก) แต่มีแพทย์บางท่านแนะนำว่าในช่วงนี้ควรฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) ต่ออีก 1 เข็ม (รวมเป็น 6 เข็ม) แทนการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักที่ไม่รวมโรคไอกรน เพราะนอกจากจะช่วยลดอัตราผู้ป่วยโรคไอกรนในกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่แล้ว ยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 5 ครั้งอีกด้วย ซึ่งในบางประเทศได้กำหนดให้ฉีดแบบนี้แทนแบบเดิมแล้ว
- ส่วนในกรณีที่ได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) ในวัยเด็กมาครบ 5 เข็มแล้ว แต่ในช่วงอายุ 11-12 ปี ได้ฉีดแค่วัคซีนรวม 2 โรค คือ วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก (DT vaccine) ดังนั้นเมื่อจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้ง (ปกติคือทุก ๆ 10 ปี) แพทย์แนะนำว่าให้ฉีดวัคซีนรวม 3 โรคไปเลย คือ ฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) แทน 1 ครั้ง แล้วต่อจากนั้นก็ให้ฉีดวัคซีนรวม 2 โรค (DT vaccine) กระตุ้นทุก ๆ 10 ปีต่อไปตามปกติ
- ปัจจุบันแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) จำนวน 1 ครั้ง แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 27-36 สัปดาห์ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนในระดับที่สูงและสามารถให้ภูมิคุ้มกันนี้ผ่านไปยังทารกในครรภ์เพื่อป้องกันโรคไอกรนได้
- สำหรับผู้ที่สัมผัสกับโรคนี้อย่างใกล้ชิด
- ถ้าไม่เคยได้รับฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนมาก่อน ควรไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) ให้ครบตามปกติ
- ถ้าเคยฉีดวัคซีนมาแล้ว 3 ครั้ง ควรฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ในทันทีที่สัมผัสโรค (ยกเว้นเพิ่งฉีดเข็มที่ 3 มาแล้วภายใน 6 เดือน)
- ถ้าเคยฉีดวัคซีนมาแล้ว 4 ครั้ง ควรฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง (ยกเว้นเพิ่งฉีดเข็มที่ 4 มาแล้วภายใน 3 ปี หรือเป็นเด็กอายุเกิน 6 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม)
- นอกจากนี้ให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาดเดียวกันกับที่ใช้รักษาด้วย เป็นระยะเวลา 14 วัน ถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนอาจไม่สูงพอในเด็กบางคน
- ผู้สัมผัสโรคทุกคนควรได้รับการติดตามดูว่าจะมีอาการไอเกิดขึ้นหรือไม่อย่างใกล้ชิด โดยต้องติดตามไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคนี้ ควรปฏิบัติดังนี้
- ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติอย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่เริ่มรับประทานยาปฏิชีวนะ (ต้องแยกน้ำดื่ม อาหารการกินต่าง ๆ ของใช้ส่วนตัว และแยกห้องนอน)
- ในเด็กปกติที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน
- ถ้าในบ้านของผู้ป่วยมีเด็กทารกหรือมีบุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคไอกรนในบุคคลเหล่านี้
- ในช่วงที่มีการระบาด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือจากการสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก
- อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่
- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่น เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย
- สำหรับผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก เวลาเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- คอตีบ (Diphtheria) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคคอตีบ 9 วิธี !!
- บาดทะยัก (Tetanus) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคบาดทะยัก 5 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ไอกรน (Pertussis/Whooping cough)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 422-424.
- หาหมอดอทคอม. “ไอกรน (Pertussis)”. (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [30 ก.ค. 2016].
- สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. “โรคไอกรน (Pertussis)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thaigcd.ddc.moph.go.th. [31 ก.ค. 2016].
- ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama. “โรคไอกรน”. (ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th/atrama/ [31 ก.ค. 2016].
- Centers for Disease Control and Prevention. “Pertussis (Whooping Cough)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.cdc.gov. [31 ก.ค. 2016].
ภาพประกอบ : wwww.wddty.com, www.cdc.gov, www.wikimedia.org (by CDC), www.abc.net.au, www.seattlepi.com, ww2.kqed.org, blogs.cdc.gov
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)