คอตีบ (Diphtheria) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคคอตีบ 9 วิธี !!

โรคคอตีบ

คอตีบ หรือ ดิฟทีเรีย (Diphtheria) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากทางเดินหายใจติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Corynebacterium diphtheriae ทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่อาการรุนแรงจะมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น เกิดการตีบตันของทางเดินหายใจ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ ซึ่งเหล่านี้มักเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้

โรคคอตีบเป็นโรคที่พบได้ประปรายตลอดทั้งปีและบางครั้งอาจพบการระบาดได้ ปัจจุบันพบผู้ที่ป่วยคอตีบได้น้อยมาก เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่ยังเป็นทารกอายุได้ 2 เดือนอย่างทั่วถึง ซึ่งการระบาดแต่ละครั้งมักจะพบในเด็กที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบ ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มเด็กที่มีฐานะยากจนหรืออาศัยอยู่บริเวณชายแดน หรือเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังพบได้ในกลุ่มคนที่มีประวัติได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ จึงทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันโรคได้

โรคนี้มีโอกาสเกิดได้เท่ากันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย สามารถพบได้ในคนทุกวัย พบได้มากในเด็กอายุ 1-10 ปี แต่มักไม่พบในเด็กอ่อนอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากเด็กในช่วงนี้ยังได้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากมารดาอยู่ ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้จะหมดไปเมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 6 เดือน แต่ในประเทศที่ยังไม่พัฒนามักพบเกิดในเด็กเล็กได้ ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้วเมื่อเกิดโรคมักจะพบในวัยตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปเนื่องจากขาดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกระตุ้นทุก 10 ปี

สาเหตุของโรคคอตีบ

สาเหตุ : เกิดจาก “เชื้อคอตีบ” ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “โครินแบคทีเรียดิฟทีเรีย” (Corynebacterium diphtheriae)เชื้อคอตีบ หลังจากนั้นเชื้อชนิดนี้จะปล่อยสารพิษ (Exotoxin) ออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะเยื่อบุคอหอย กล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาท

กลไกการเกิดโรค : เมื่อได้รับเชื้อคอตีบ เชื้อจะเข้าไปอยู่ในบริเวณส่วนตื้น ๆ ของเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูก ต่อมทอนซิล ลำคอ และกล่องเสียง หลังจากนั้นเชื้อชนิดนี้จะปล่อยสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ เกิดการตายของเซลล์เยื่อเมือกในทางเดินหายใจ ของเซลล์เม็ดเลือดขาว และของเม็ดเลือดแดง รวมทั้งจากการตายสะสมของตัวเชื้อแบคทีเรียเอง จนก่อให้เกิดเป็นแผ่นเยื่อหนาสีเทาหรือเหลืองปนเทา ปกคลุมหนาในทางเดินหายใจก่อให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจไม่ออกคล้ายกับมีอะไรมาบีบรัดในทางเดินหายใจ จึงเป็นที่มาของชื่อ “โรคคอตีบ” นอกจากนั้นสารพิษยังอาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและอาจก่ออาการอักเสบกับอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ ที่พบบ่อยคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเส้นประสาทอักเสบ

การติดต่อ : เชื้อคอตีบจะพบได้ในคนเท่านั้น โดยเชื้อมักมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะของโรค (ไม่แสดงอาการแต่ยังคงแพร่เชื้อได้) และอาจพบเชื้อที่ผิวหนังได้ด้วย นอกจากนั้นยังอาจพบเชื้อได้ในดินและในบางแหล่งน้ำธรรมชาติ โรคนี้เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็ว ส่วนใหญ่มักติดต่อโดยการหายใจสูดเอาละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด รวมถึงการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะประชิด หรือบางครั้งติดต่อโดยการใช้สิ่งของร่วมกัน (เช่น ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว การอมของเล่นหรือการเล่นร่วมกันในเด็กเล็กก็ทำให้เชื้อเข้าสู่ผู้รับทางปากหรือทางการหายใจได้) หรืออาจติดต่อจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย เช่น น้ำดื่ม นม อาหาร แต่ก็พบโอกาสติดต่อด้วยวิธีดังกล่าวน้อย

กลุ่มเสี่ยง : ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบ, ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น, ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคคอตีบ, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่แออัดและขาดสุขอนามัย และผู้ที่เดินทางไปยังสถานที่ที่มีการระบาดของโรค

ระยะฟักตัวของโรค : ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 1-7 วัน (โดยเฉลี่ย 3 วัน) แต่อาจนานได้ถึง 10 วัน และผู้ป่วยมักมีอาการอยู่นาน 4-6 สัปดาห์หรืออาจนานกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในบางกรณีผู้ติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็ได้ ซึ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเหล่านี้ (Carrier) มักจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญในชุมชน

ระยะติดต่อ : ผู้ที่มีอาการของโรคคอตีบจะมีเชื้ออยู่ในจมูกและลำคอได้นาน 2-3 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจนานถึงหลายเดือน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วเชื้อจะหมดไปภายใน 1 สัปดาห์

อาการของโรคคอตีบ

  • ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ (มักไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส และอาจรู้สึกหนาวสั่น) ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอมาก กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และมีท่าทางอ่อนเพลียมาก ในเด็กโตอาจบ่นเจ็บคอคล้ายอาการคออักเสบ บางรายจะพบอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโต ซึ่งโตได้ทั้งสองข้าง และพบแผ่นเยื่อสีเทาหรือเหลืองปนเทา (Gray or Grayish-Yellow pseudomembrane) ดูคล้ายเศษผ้าสกปรกยึดติดแน่นกับเนื้อเยื่อปกติอยู่บริเวณต่อมทอนซิล คอหอย ลิ้นไก่ และเพดานปาก (แผ่นเยื่อนี้เกิดจากการเจริญเติบโตของกลุ่มเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีการสร้างสารพิษออกมาทำให้เนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบตายลงและซ้อนทับกัน โดยจะพบเกิดได้ตั้งแต่ในโพรงจมูกลงไปจนถึงลำคอ แต่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณต่อมทอนซิลและคอหอย) ซึ่งแผ่นเยื่อนี้จะเขี่ยออกได้ยาก ถ้าฝืนเขี่ยออกจะทำให้มีเลือดออกได้
    โรคคอตีบอาการอาการโรคคอตีบ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคอบวมมาก คล้าย ๆ คอวัว เรียกว่า “อาการคอวัว” (Bull neck) ซึ่งบางรายอาจกดทับหลอดเลือดดำที่คอ ทำให้ใบหน้ามีสีคล้ำจากการมีเลือดคั่ง
    อาการคอตีบ
  • ถ้ามีการอักเสบของกล่องเสียง ผู้ป่วยจะมีอาการเสียงแหบ ไอเสียงก้องคล้ายเสียงสุนัขเห่าหรือเสียงร้องของแมวน้ำ มีเสียงฮื้ดตอนหายใจเข้า* หายใจลำบาก ตัวเขียว
  • ในรายที่มีการอักเสบของโพรงจมูก ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย อาจทำให้มีเลือดปนน้ำเหลืองไหลออกจากจมูก ซึ่งส่วนใหญ่จะออกจากรูจมูกเพียงข้างเดียว
  • หลังจากมีอาการทางเดินหายใจแล้ว อาจพบมีแผลที่บริเวณผิวหนังได้ โดยจะพบได้ทั่วตัว แต่พบได้บ่อยบริเวณแขนและขา แผลจะมีลักษณะเหมือนแผลทั่วไป แต่เมื่อตรวจเชื้อจะพบว่าเกิดจากเชื้อคอตีบ
    อาการของโรคคอตีบ

หมายเหตุ : เสียงฮื้ด (Stridor) เป็นเสียงที่เกิดจากลมหายใจวิ่งผ่านรูกล่องเสียงที่ตีบแคบ เนื่องจากกล่องเสียงมีการอุดกั้นจากเยื่อบุผิวที่อักเสบบวมหรือจากสาเหตุอื่น ๆ ทำให้เกิดเสียงดังฮื้ดในช่วงจังหวะของการหายใจเข้า บางครั้งอาจเกิดตามหลังอาการไอ เสียงฮื้ดนี้สามารถพบได้ในโรคคอตีบ ครู้ป ไอกรน สำลักสิ่งแปลกปลอม กล่องเสียงบวมจากการแพ้รุนแรง เนื้องอกที่กล่องเสียง ฝากล่องเสียงอักเสบ เป็นต้น (เสียงฮื้ดนี้จะต่างจากเสียงวี้ด (Wheezing) ซึ่งเกิดจากลมวิ่งผ่านหลอดลมที่ตีบ เช่น โรคหืด หลอดลมพอง หลอดลมอักเสบ ทำให้มีเสียงดังวี้ดในช่วงจังหวะของการหายใจออก)

ภาวะแทรกซ้อนของโรคคอตีบ

  • ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน (ทางเดินหายใจตีบตัน) จัดเป็นภาวะที่ร้ายแรง (พบได้ในช่วงวันที่ 2-3 ของโรค) ซึ่งเกิดจากแผ่นเยื่อปิดกั้นกล่องเสียง หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการเจาะคอเพื่อช่วยหายใจได้ทันท่วงที ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิต
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 10-14 ของการเจ็บป่วย (แต่อาจพบได้ในระหว่างสัปดาห์ที่ 1-6) โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการคอวัว ทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ) ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย และอาจทำให้เสียชีวิตอย่างฉับพลัน ซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตจากภาวะนี้สูงถึง 50%
  • เส้นประสาทอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกายเป็นอัมพาต ผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนลำบาก พูดเสียงขึ้นจมูก ขย้อนน้ำและอาหารออกทางจมูก เนื่องจากกล้ามเนื้อเพดานอ่อนเป็นอัมพาต ซึ่งมักมีอาการตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของโรค หรืออาจมีอาการตาเหล่ มองเห็นภาพซ้อน เนื่องจากกล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต ซึ่งมักจะมีอาการในช่วงสัปดาห์ที่ 5 ของโรค หรืออาจทำให้แขนเป็นอัมพาต ซึ่งมักพบได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-10 ของโรค โดยอาการเหล่านี้มักเป็นเพียงชั่วคราวและหายได้ในที่สุด ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอัมพาตของกะบังลม ทำให้หายใจลำบาก และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 5-7 ของโรค
  • โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบ ไตเสื่อม ไตทำงานผิดปกติ (ตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ ปัสสาวะออกน้อย เป็นต้น)

การวินิจฉัยโรคคอตีบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ ประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการฉีดวัคซีน การตรวจร่างกาย การนำหนองหรือสารคัดหลั่งจากหลังโพรงจมูกหรือจากลำคอไปตรวจย้อมดูเชื้อและเพาะเชื้อ และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น อาจตรวจเลือด (พบเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเอกซเรย์ปอดในรายที่สงสัยว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วย (หากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจและมีภาวะหัวใจวายก็จะตรวจพบหัวใจโตและภาวะน้ำท่วมปอด เมื่อเอกซเรย์ปอดจะพบหัวใจโตและมีน้ำในปอด ส่วนการเต้นของหัวใจผิดปกติจะทราบจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ)

สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคคอตีบ

  • พบไข้ประมาณ 38.5-39 องศาเซลเซียส หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเต้นเร็ว
  • การตรวจคอมักพบแผ่นเยื่อสีเทาหรือเหลืองปนเทาดูคล้ายเศษผ้าสกปรกยึดติดแน่นกับเนื้อเยื่อปกติอยู่บริเวณต่อมทอนซิล คอหอยลิ้นไก่ และเพดานปาก
  • อาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณลำคอ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคอบวมมาก คล้าย ๆ คอวัว (Bull neck) ซึ่งบางรายอาจกดทับหลอดเลือดดำที่คอ ทำให้ใบหน้ามีสีคล้ำจากการมีเลือดคั่ง

วิธีรักษาโรคคอตีบ

  1. หากสงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยอาจให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ก่อน
  2. เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคคอตีบ แพทย์จะรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและให้อยู่ในห้องแยกโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
  1. สำหรับแนวทางในการรักษาโรคคอตีบ แพทย์จะให้ยาต้านพิษคอตีบ (Diphtheria antitoxin – DAT) และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินจี 1-1.5 แสนยูนิต/กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้าแพ้เพนิซิลลินแพทย์จะให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน โดยให้รับประทานติดต่อกันนาน 14 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค
  2. แพทย์จะเฝ้าระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องระบบหายใจ เนื่องจากอาจจะมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิตเนื่องจากโรคคอตีบอาจจะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  3. ถ้ามีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น แพทย์จะให้การรักษาโรคแทรกซ้อนนั้น ๆ
  4. การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ให้พักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ให้ยาอื่น ๆ รักษาไปตามอาการที่เป็น ให้น้ำเกลือและให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ การใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งบางครั้งอาจต้องเจาะคอเพื่อช่วยในการหายใจ ถ้าแผ่นเยื่อจากโรคเกาะหนามากจนทางเดินหายใจแคบเกินกว่าจะหายใจเองได้ และการให้ออกซิเจน เป็นต้น
  5. ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบหรือฉีดกระตุ้น (ในผู้ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนแล้ว)
  6. ควรแยกตัวผู้ป่วยออกจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการหรือตรวจเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแล้ว 2 ครั้ง และทำการกำจัดหรือเผากระดาษเช็ดน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย และใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรคลงในสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย
  7. เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเส้นประสาทอักเสบแทรกซ้อน เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้วควรระวังอย่าให้ร่างกายตรากตรำจนกว่าจะปลอดภัย และควรเฝ้าสังเกตดูอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที

โรคคอตีบจัดเป็นโรคติดต่อได้ง่ายและรุนแรง ที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ ถึงแม้อุบัติการณ์ของโรคในปัจจุบันจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่อัตราป่วยตายของโรคนี้ค่อนข้างจะคงที่ คือ ประมาณ 10% ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับการได้รับยาต้านพิษคอตีบและยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วันหลังมีอาการ ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงเหลือประมาณ 1% แต่ถ้ามาพบแพทย์ล่าช้า หรือเมื่อผู้ป่วยมีอายุต่ำกว่า 5 ปี หรืออายุสูงตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว อัตราการเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20%

วิธีป้องกันโรคคอตีบ

  1. โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) หรือฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก (DT vaccine)
    • การฉีดวัคซีนให้เริ่มฉีดได้เมื่ออายุ 2 เดือน โดยอยู่ในรูปแบบของวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) ฉีดทั้งหมด 5 เข็ม เป็นระยะ ๆ จากอายุ 2 เดือนจนถึงอายุ 6 ปี โดยเข็มแรกให้ฉีดที่อายุ 2 เดือน, เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน, เข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน, เข็มที่ 4 อายุ 18 เดือน และเข็มที่ 5 เมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี ต่อจากนั้นให้ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุได้ประมาณ 12-16 ปี โดยให้ฉีดเฉพาะวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก (DT vaccine) ไม่ต้องฉีดวัคซีนไอกรน เพราะเป็นโรคที่มักพบเฉพาะในเด็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ด้วย และต่อจากนั้นให้ไปฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี (เฉพาะ DT vaccine)
    • ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนแล้ว ควรมีการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี (เฉพาะ DT vaccine)
    • ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ให้เริ่มรับการฉีดวัคซีนทันที (อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็กจากการฉีดวัคซีน คือ อาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งมักจะมีอาการอยู่ไม่เกิน 2 วัน ส่วนอาการที่อาจเกิดได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักจะไม่รุนแรง และในบางรายอาจมีปฏิกิริยาเฉพาะที่)
    • ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้ว อาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ จึงอาจมีโอกาสเป็นโรคคอตีบซ้ำได้อีก ดังนั้น จึงต้องมีการฉีดกระตุ้นเพื่อป้องกันโรคแก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน
  2. ผู้ที่สัมผัสโรคหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการป้องกัน ซึ่งแพทย์จะเพาะเชื้อจากคอหอย ติดตามอาการเป็นเวลา 7 วัน และให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาดเดียวกันกับที่ใช้รักษา แต่ให้รับประทานป้องกันเพียง 7 วัน และจะฉีดวัคซีนป้องกันให้ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือฉีดไม่ครบ แต่ถ้าเคยฉีดวัคซีนป้องกันมาแล้วและเข็มสุดท้ายได้รับมานานเกิน 5 ปี แพทย์จะฉีดวัคซีนกระตุ้นให้อีกครั้ง
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยในระยะติดต่อ ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วย
  4. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งเชื้อคอตีบและเชื้ออื่น ๆ
  5. รู้จักใช้หน้ากากอนามัย และการร่วมมือกันในชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีสุขอนามัยที่ดี ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อต่าง ๆ ได้
  6. หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคคอตีบให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาและลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

วัคซีนคอตีบ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “คอตีบ/ดิฟทีเรีย (Diphtheria)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 415-417.
  2. ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “โรคคอตีบ”.  (อ.ดร.ภญ.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [29 ก.ค. 2016].
  3. งานการพยาบาลผู้ป่วยกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “โรคคอตีบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th/hospital/nped/2011/.  [30 ก.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “คอตีบ (Diphtheria)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 ก.ค. 2016].
  5. Siamhealth.  “โรคคอตีบ diphtheria”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [30 ก.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.vaccineinformation.org, www.wikimedia.org (by CDC), bestofpicture.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด