โซเดียมไบคาร์บอเนต
โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่ออื่น ๆ เช่น เบกกิ้งโซดา (Baking soda), เบรดโซดา (Bread soda) หรือคุกกิ้งโซดา (Cooking soda) เป็นสิ่งที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ โดยนำมาประยุกต์ใช้ในหลายธุรกิจ เช่น ใช้ในกระบวนการทำขนมหวานให้ขนมฟูและขยายตัวดูน่ารับประทาน ใช้เป็นส่วนผสมในสารทำความสะอาด ใช้ปรับความเป็นกรดด่างของบ่อน้ำ ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดับเพลิงชนิดเคมีแห้ง ฯลฯ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ประโยชน์ของเบกกิ้งโซดา)
ส่วนในอุตสาหกรรมยา โซเดียมไบคาร์บอเนตถูกนำมาผลิตเป็นยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate tablet) หรือยาเม็ดที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ โซดามิ้นท์ / โซดามินท์ / โซดามินต์ (Sodamint) โดยมีไว้ใช้สำหรับรักษาภาวะความเป็นกรดเกินของร่างกายและภาวะอาหารไม่ย่อย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่างยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
ยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนต (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น โซดามินท์ เอฟอาร์เอ็กซ์ (Sodamint Frx), โซดามินท์ เอฟโอบี (SODAMINT FOB) เป็นต้น
รูปแบบยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
- ยาเม็ด ขนาด 300 มิลลิกรัม (ในสูตรตำรับ 5 มิลลิลิตร จะประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ Sodium bicarbonate 300 mg. และ Peppermint oil 0.003 ml.) นอกจากนี้ยังมีขนาด 325 และ 650 มิลลิกรัม
- ยาผสมในรูปแบบอื่น เช่น ยาผงอีโน (ENO) ซึ่งในซองขนาด 5 กรัม จะประกอบไปด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) 2.32 กรัม, กรดมะนาว (Citric acid) 2.18 กรัม, สารเคมีที่มีความเป็นด่างเมื่อโดนน้ำจะเกิดเป็นฟองอากาศ (Anhydrous sodium carbonate) 0.5 กรัม
สรรพคุณของยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
- ใช้เป็นยาลดกรด บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก บรรเทาอาการจุกเสียด ลดอาการระคายเคือง เนื่องจากมีกรดมากในกระเพาะอาหาร
- ใช้ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รักษาภาวะอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia)
- ใช้รักษาภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย (Metabolic acidosis)
- ใช้ปรับปัสสาวะให้มีสภาวะเป็นด่าง (Urinary alkalinization)
- นอกจากนี้ยังอาจพบการใช้ยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตในการควบคุมสภาวะความเป็นกรดในเลือดของผู้ป่วยโรคไตได้อีกด้วย
- ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
ด้วยการที่ยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตนั้นมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อตัวยาถูกดูดซึมและกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะค่อย ๆ เพิ่มค่าความเป็นด่างให้มีปริมาณสูงขึ้น สำหรับในกระเพาะอาหาร โซเดียมไบคาร์บอเนตนั้นสามารถออกฤทธิ์สะเทิน (ทำให้เป็นกลาง) หรือต้านฤทธิ์ของกรดในกระเพาะอาหารได้โดยตรง ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณที่กล่าวมา
ก่อนใช้ยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนต สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนต รวมทั้งอาการจากการแพ้ยาดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้มากขึ้น) เช่น
- การรับประทานยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตร่วมกับยารักษาโรคจิตประสาท เช่น ยาลิเทียม (Lithium) จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาลิเทียมลดลง เนื่องจากยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตจะไปเพิ่มการกำจัดยาลิเทียมออกจากร่างกาย
- การรับประทานยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานบางตัว เช่น ยาคลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide) สามารถลดฤทธิ์ในการรักษาโรคเบาหวานได้ เนื่องจากยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตจะไปเพิ่มการกำจัดยาคลอร์โพรพาไมด์ออกจากร่างกาย
- การรับประทานยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตร่วมกับยารักษาการติดเชื้อเอชไอวีบางตัว เช่น ยาโดรูเทกราเวียร์ (Dolutegravir) อาจลดการดูดซึมของยาที่ใช้รักษาเอชไอวีดังกล่าวได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรรับประทานยาโดรูเทกราเวียร์ก่อนยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตประมาณ 2 ชั่วโมง หรือรับประทานหลังยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตประมาณ 6 ชั่วโมง
- การรับประทานยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตร่วมกับยาบำรุงโลหิต, ยาดิจิทาลิส (Digitalis), ยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) ยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตจะลดการดูดซึมของยาเหล่านี้ได้
- การรับประทานยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตร่วมกับยาแอมเฟตามีน (Amphetamine), ยาเอฟีดรีน (Ephedrine), ยาฟลีเคไนด์ (Flecainide), ยาควินิดีน (Quinidine), ยาควินิน (Quinine), และยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) จะเพิ่มความเป็นพิษหรือผลข้างเคียงของยาเหล่านี้ให้มากขึ้น
- มีระดับแคลเซียมและโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- มีหรือเคยมีโรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคแผลในกระเพาะอาหารหรือภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
- อยู่ในช่วงจำกัดอาหารที่มีรสเค็ม
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
- ห้ามใช้ยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตในผู้ป่วยที่มีภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายสูง, ผู้ป่วยที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ, ผู้ป่วยที่ร่างกายมีความเป็นด่างสูง (Metabolic alkalosis), ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะร่างกายอาจดูดซึมโซเดียมไบคาร์บอเนต (ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง) จนทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง (Alkalosis) ได้
- ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว
- ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว และโรคไตวาย[1],[5]
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง (ถ้าใช้ยาพร่ำเพรื่ออาจทำให้ความดันโลหิตสูงได้), โรคตับแข็ง, โรคลมชัก และผู้ป่วยที่มีภาวะบวมน้ำ
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- การใช้ยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตเพื่อรักษาภาวะร่างกายมีความเป็นกรดสูง จะต้องคอยควบคุมระดับของเกลือแร่ในกระแสเลือดเพื่อไม่ให้เสียสมดุลในระหว่างการรักษา
วิธีใช้ยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
- ใช้บรรเทาอาการจุกเสียด ลดอาการระคายเคือง เนื่องจากมีกรดมากในกระเพาะอาหาร ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 900-1,800 มิลลิกรัม (3-6 เม็ด) ส่วนในเด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 300-900 มิลลิกรัม (1-3 เม็ด) และให้รับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
- ใช้รักษาภาวะอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) ให้รับประทานในขนาดตั้งแต่ 1-5 กรัม ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
- ใช้รักษาภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย (Metabolic acidosis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาในขนาดตั้งแต่ 4.8 กรัม/วัน ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- ใช้ปรับปัสสาวะให้มีสภาวะเป็นด่าง (Urinary alkalinization) ในผู้ใหญ่สามารถรับประทานได้ถึงวันละ 10 กรัม โดยแบ่งรับประทานพร้อมกับดื่มน้ำตามประมาณ 1-2 แก้ว
คำแนะนำในการใช้ยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
- ควรรับประทานยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนตในขณะท้องว่างหรือเมื่อมีอาการ หรือรับประทานยาก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง (ไม่ควรรับประทานยาในขณะที่อิ่มมาก ๆ)
- ขนาดการรับประทานยาที่ถูกต้องและปลอดภัย ควรเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น
- โดยทั่วไปยานี้ให้รับประทานวันละ 1-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอาการ หรือใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ควรลดขนาดยาลง
- โซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นยาลดกรดชนิดออกฤทธิ์เร็ว แต่มีฤทธิ์ในการรักษาสั้น และยานี้ก็สามารถดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ จึงอาจทำให้เลือดและปัสสาวะเกิดสภาวะเป็นด่างมากกว่าปกติ รวมไปถึงการมีโซเดียมมากเกินในกระแสเลือด เพราะฉะนั้น การใช้ยานี้จึงเหมาะแก่การใช้เพื่อบรรเทาอาการกรดเกินหรือการระคายเคืองทางเดินอาหารที่มีอาการกำเริบมากกว่า แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำเพื่อควบคุมภาวะความเป็นกรด
- ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ นอกจากแพทย์สั่ง และหากใช้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
การเก็บรักษายาโซเดียมไบคาร์บอเนต
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
- ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว
เมื่อลืมรับประทานยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
หากลืมรับประทานยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนต ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ
ผลข้างเคียงของยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
- อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง (Alkalosis) ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สับสน วิงเวียน ใจสั่น
- อาจทำให้เกิดภาวะโซเดียมสูงในร่างกาย (Hypernatremia) ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย กระสับกระส่าย ชัก
- อาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) ทำให้เป็นตะคริว กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นผิดปกติ
- อาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น กระหายน้ำบ่อย อารมณ์แปรปรวน หายใจหอบถี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดเกร็งท้อง ท้องอืดหรือมีลมในกระเพาะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชักเกร็ง ฯลฯ
- ผลข้างเคียงที่ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที เช่น ผื่นแดง คัน ลมพิษ ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้นบวม เท้าหรือขาบวม ปวดศีรษะรุนแรง มึนงง สับสน อาเจียนออกมาคล้ายกาแฟ ถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้องรุนแรง (Upset stomach) ไวต่อสิ่งกระตุ้นได้ง่าย (Irritability) เบื่ออาหาร อ่อนเพลียบ่อย เหนื่อยผิดปกติ หายใจช้าลง ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีเลือดปน
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “โซเดียมไบคาร์บอเนต”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 276-277.
- Drugs.com. “Sodium bicarbonate tablets”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [02 พ.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ยาเม็ดโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate tablet)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [02 พ.ย. 2016].
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “SODAMINT FRX”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [02 พ.ย. 2016].
- สำนักยา. “ยาเม็ดแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โซดามินท์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : drug.fda.moph.go.th. [02 พ.ย. 2016].
- หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รู้รอบตอบชัดสารพัดยาลดกรด”. (นศภ.ณภัทร สัตยุตม์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [01 พ.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)