โซเดียมไทโอซัลเฟต
โซเดียมไทโอซัลเฟต หรือ โซเดียมไธโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate หรือ Sodium thiosulphate) จัดเป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นผลึกไม่มีสี สามารถละลายน้ำได้ดี มีประโยชน์ในทางคลินิกคือ การนำมาใช้ต้านพิษของสารไซยาไนด์ (Cyanide) โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ในรูปของสารละลายสำหรับฉีดและใช้ควบคู่ไปกับโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) นอกจากนี้ยังมีการนำโซเดียมไทโอซัลเฟตมาใช้เป็นยาป้องกันเชื้อราในรูปแบบของยาทาภายนอกอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทย คณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟตอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นยาต้านพิษจากไซยาไนด์และใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งการใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
ตัวอย่างยาโซเดียมไทโอซัลเฟต
ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น ไฮโปซัลเฟน (Hyposulfene), ซาโกเฟน (Sagofene), โซเดียม ไทโอซัลเฟต นิว เอเชียติก ฟาร์ม (Sodium Thiosulfate – New Asiatic Pharm), โซเดียม ไทโอซัลเฟต อินเจ็คชั่น ยูเอสพี (Sodium Thiosulfate injection USP), ไทโอเฟน (Tiofene), วาโคซัลเฟน (Vacosulfene) ฯลฯ
รูปแบบยาโซเดียมไทโอซัลเฟต
- ยาฉีดที่เป็นสารละลาย ขนาด 12.5 กรัม/50 มิลลิลิตร (สำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์)
- ยาน้ำ ชนิด 20-25% (สำหรับทารักษาเกลื้อน) เป็นยาน้ำที่ทาง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ มีราคาถูกและใช้ได้ผลดี แต่มีข้อเสียคือ มีกลิ่นคล้ายก๊าซไข่เน่า
สรรพคุณของยาโซเดียมไทโอซัลเฟต
- ใช้เป็นยารักษาและบำบัดอาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning) โดยในทางคลินิกจะใช้ยานี้ควบคู่ไปกับยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) แต่หากได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ที่ไม่รุนแรงมาก ก็อาจใช้แค่ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) เพียงตัวเดียวก็ได้
- ใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะการใช้รักษาเกลื้อน
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมไทโอซัลเฟต
โซเดียมไทโอซัลเฟตจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะปลดปล่อยธาตุกำมะถันออกมาเพื่อเปลี่ยนสารไซยาไนด์ที่เป็นพิษให้เป็นสารไทโอไซยาเนต (Thiocyanate) ซึ่งไม่เป็นพิษต่อร่างกาย
ก่อนใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงโซเดียมไทโอซัลเฟต สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาโซเดียมไทโอซัลเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
- การใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟตร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งหรือยาเคมีบำบัดบางตัว เช่น ยาซิสพลาติน (Cisplatin) สามารถลดความเป็นพิษของซิสพลาตินที่ทำให้ไตของผู้ป่วยเสียหาย การเลือกใช้ยาทั้งสองชนิดร่วมกันจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนม และเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)
- ห้ามเก็บและใช้ยาที่หมดอายุ
- ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยโรคไต หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ควรระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
วิธีใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต
- การใช้สำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากไซยาไนด์ แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังนี้
- ในผู้ใหญ่ แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ ภายในช่วง 5-20 นาที ในขนาด 300 มิลลิกรัม จากนั้นจะใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 12.5 กรัม ในรูปของสารละลาย 25% จำนวน 50 มิลลิลิตร โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ เป็นเวลาประมาณ 10 นาที และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไทโอซัลเฟตซ้ำอีกหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาทั้งสองตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง
- ในเด็ก แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ในขนาด 4-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม) หลังจากนั้นจะให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในรูปของสารละลาย (สูงสุดไม่เกิน 12.5 กรัม) และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาซ้ำหลังจากการให้ยาครั้งแรกประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง
- การใช้เป็นยารักษาเกลื้อน ให้ใช้ยาน้ำโซเดียมไทโอซัลเฟตชนิด 20-25% ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็นเกลื้อนหลังอาบน้ำ วันละ 2-4 ครั้ง ถ้าดีขึ้นควรทายาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ (ควรเตรียมยานี้สด ๆ ในขณะที่ต้องใช้ เมื่อผสมน้ำแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 5 วัน)
คำแนะนำในการใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ซึ่งการใช้ยาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
การเก็บรักษายาโซเดียมไทโอซัลเฟต
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
- ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน (เช่น ในรถยนต์) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) หรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
ผลข้างเคียงของยาโซเดียมไทโอซัลเฟต
- สำหรับยาโซเดียมไทโอซัลเฟตแบบฉีด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง (อาการอันไม่พึงประสงค์) ได้ เช่น การมีอาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ตาพร่า ประสาทหลอน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะมาก ความดันโลหิตต่ำ มีอาการปวดบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจพบภาวะหูดับ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 307.
- หาหมอดอทคอม. “โซเดียม ไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [30 ก.ย. 2016].
- สำนักยา. “ยารักษาเกลื้อนโซเดียมไทโอซัลเฟต”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : drug.fda.moph.go.th. [30 ก.ย. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. “โซเดียมไทโอซัลเฟต”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [30 ก.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)