โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ
โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

โซเดียมไนไตรท์

โซเดียมไนไตรท์ หรือ โซเดียมไนไทรต์ (Sodium nitrite) เป็นสารประกอบประเภทอนินทรีย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาวออกเหลืองเล็กน้อย สามารถละลายน้ำได้ดี ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาแผนปัจจุบัน ใช้เป็นส่วนผสมในยาฆ่าแมลง รวมถึงใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมสี และโซเดียมไนไตรท์ยังเคยถูกนำไปใช้ผสมกับเนื้อสัตว์เพื่อให้ดูมีสีแดงสดน่ารับประทาน และทำให้อายุในการเก็บรักษาของเนื้อสัตว์ยาวนานขึ้น แต่กลับส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้บริโภค ในปัจจุบันจึงมีกฎหมายห้ามมิให้นำโซเดียมไนไตรท์ไปผสมกับเนื้อสัตว์แล้ว

สำหรับในด้านเภสัชภัณฑ์ ยาโซเดียมไนไตรท์จะถูกนำมาใช้เป็นยาแก้พิษของสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning) โดยใช้ร่วมกับยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ซึ่งเป็นยาแก้พิษสารไซยาไนด์เช่นกัน โดยในรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโซเดียมไนไตรท์จะเป็นลักษณะของยาฉีดที่มีใช้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาโซเดียมไนไตรท์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน การใช้ยานี้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ตัวอย่างยาโซเดียมไนไตรท์

ยาโซเดียมไนไตรท์ (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น ไซยาไนด์ แอนตี้โดท คิท (Cyanide Antidote Kit), ไนทิโอโดท (Nithiodote) ฯลฯ

โซเดียมไนไตรท์
IMAGE SOURCE : www.china-hxchemical.com, www.iahchemicals.com

รูปแบบยาโซเดียมไนไตรท์

  • ยาฉีดที่เป็นสารละลาย 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร/ขวด

ยาฉีดโซเดียมไนไตรท์
IMAGE SOURCE : www.drugs.com, www.nitrite.com

สรรพคุณของยาโซเดียมไนไตรท์

  • ใช้เป็นยารักษาและบำบัดอาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning) โดยจะใช้ร่วมกับยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)
  • ใช้เป็นส่วนผสมในยาฆ่าแมลง
  • ใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมสี
  • ในอดีตเคยใช้โซเดียมไนไตรท์นำไปผสมกับเนื้อสัตว์เพื่อให้ดูมีสีแดงสดน่ารับประทาน ช่วยป้องกันและยับยั้งการเน่าเสีย จึงทำให้อายุในการเก็บรักษาของเนื้อสัตว์ยาวนานขึ้น (ผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้โซเดียมไนไตรท์ ได้แก่ อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสด เนื้อเปื่อย เนื้อตุ๋น เนื้อเค็ม แหนม หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก แฮม ปลาแห้ง ปลาร้า) แต่กลับส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้บริโภคด้วยเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของเนื้อสัตว์ ทำให้ผู้ที่บริโภคอย่างต่อเนื่องอาจเกิดเนื้องอกในสมอง และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ตามมา ในปัจจุบันจึงมีกฎหมายห้ามมิให้นำโซเดียมไนไตรท์มาผสมกับเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาด

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมไนไตรท์

ยาโซเดียมไนไตรท์จะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าไปรวมตัวกับสารฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ของเม็ดเลือดแดง จนกลายเป็นสารเมทเฮโมโกลบิน (Methemoglobin) ซึ่งจะไปรวมตัวกับสารไซยาไนด์ (Cyanide) และทำให้สารไซยาไนด์กลายเป็นสารที่ไม่มีพิษที่มีชื่อว่า ไซยันเมทฮีโมโกลบิน (Cyanmethemoglobin)

ก่อนใช้ยาโซเดียมไนไตรท์

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโซเดียมไนไตรท์ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาโซเดียมไนไตรท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ร่วมกับยาบางชนิด เช่น อะซีบูโทลอล (Acebutolol), แอมโลดิปีน (Amlodipine), ไฮดราลาซีน (Hydralazine), ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide), ไนเฟดิปีน (Nifedipine) อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำและนำไปสู่ภาวะช็อกจนถึงขั้นโคม่าและเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
    • การใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ร่วมกับยาแดพโซน (Dapsone), ลิโดเคน (Lidocaine), พาราเซตามอล (Paracetamol), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ซัลฟาเมท็อกซาโซล (Sulfamethoxazole) อาจทำให้มีภาวะ Methemoglobinemia เกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาโซเดียมไนไตรท์ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนส่งออกซิเจนของเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง โดยอาจสังเกตพบอาการเขียวคล้ำ คลื่นไส้ วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก จนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เพราะฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนม และเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาโซเดียมไนไตรท์

  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งการจะใช้ยากับผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามเก็บและใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ผู้ป่วยภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร หรือถ้ามารดามีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการเลี้ยงบุตรด้วยนมจากมารดา แล้วเปลี่ยนไปใช้นมผงดัดแปลงแทน
  • ในระหว่างการใช้ยานี้ควรระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ในระหว่างการให้ยาโซเดียมไนไตรท์ ผู้ป่วยจะต้องได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ พร้อมกับมีการเฝ้าระวังสัญญาณชีพของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลาในช่วงของการรักษา

วิธีใช้ยาโซเดียมไนไตรท์

การใช้สำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากไซยาไนด์ แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังนี้

  • ในผู้ใหญ่ แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ ภายในช่วง 5-20 นาที ในขนาด 300 มิลลิกรัม จากนั้นจะใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 12.5 กรัม ในรูปของสารละลาย 25% จำนวน 50 มิลลิลิตร โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ เป็นเวลาประมาณ 10 นาที และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไทโอซัลเฟตซ้ำอีกหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาทั้งสองตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา
  • ในเด็ก แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ในขนาด 4-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม) หลังจากนั้นจะให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในรูปของสารละลาย (สูงสุดไม่เกิน 12.5 กรัม) และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาซ้ำหลังจากการให้ยาครั้งแรกประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

คำแนะนำในการใช้ยาโซเดียมไนไตรท์

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ซึ่งการใช้ยาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

การเก็บรักษายาโซเดียมไนไตรท์

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน (เช่น ในรถยนต์) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) หรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ผลข้างเคียงของยาโซเดียมไนไตรท์

  • ยาโซเดียมไนไตรท์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง (อาการอันไม่พึงประสงค์) ได้ เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ อาจพบลมพิษตามผิวหนัง ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่า วิตกกังวล สับสน ชัก เป็นต้น
  • ในบางรายอาจพบภาวะ Methemoglobinemia (ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงชนิดที่ทำงานผิดปกติ) เกิดภาวะโคม่า หายใจไม่ออกหรือหายใจลำบาก เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาโซเดียมไนไตรท์เกินขนาด จะพบอาการความดันโลหิตต่ำและเกิดภาวะพิษของ Methemoglobin (ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงชนิดที่ทำงานผิดปกติ) ที่มีมากเกินไป ส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาดคือแพทย์ต้องให้ออกซิเจนสนับสนุนกับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ รวมถึงการให้ยาเมทิลีน บลู (Methylene blue) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาภาวะ Methemoglobin สูงในเลือด โดยการให้ทางหลอดเลือดดำร่วมกับการควบคุมสัญญาณชีพต่าง ๆ ของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด