โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ
โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

โซเดียมไทโอซัลเฟต

โซเดียมไทโอซัลเฟต หรือ โซเดียมไธโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate หรือ Sodium thiosulphate) จัดเป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นผลึกไม่มีสี สามารถละลายน้ำได้ดี มีประโยชน์ในทางคลินิกคือ การนำมาใช้ต้านพิษของสารไซยาไนด์ (Cyanide) โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ในรูปของสารละลายสำหรับฉีดและใช้ควบคู่ไปกับโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) นอกจากนี้ยังมีการนำโซเดียมไทโอซัลเฟตมาใช้เป็นยาป้องกันเชื้อราในรูปแบบของยาทาภายนอกอีกด้วย

สำหรับในประเทศไทย คณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟตอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นยาต้านพิษจากไซยาไนด์และใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งการใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ตัวอย่างยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น ไฮโปซัลเฟน (Hyposulfene), ซาโกเฟน (Sagofene), โซเดียม ไทโอซัลเฟต นิว เอเชียติก ฟาร์ม (Sodium Thiosulfate – New Asiatic Pharm), โซเดียม ไทโอซัลเฟต อินเจ็คชั่น ยูเอสพี (Sodium Thiosulfate injection USP), ไทโอเฟน (Tiofene), วาโคซัลเฟน (Vacosulfene) ฯลฯ

รูปแบบยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

  • ยาฉีดที่เป็นสารละลาย ขนาด 12.5 กรัม/50 มิลลิลิตร (สำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์)
  • ยาน้ำ ชนิด 20-25% (สำหรับทารักษาเกลื้อน) เป็นยาน้ำที่ทาง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ มีราคาถูกและใช้ได้ผลดี แต่มีข้อเสียคือ มีกลิ่นคล้ายก๊าซไข่เน่า

IMAGE SOURCE : www.thiosulfate.info, store.mcguff.com
IMAGE SOURCE : www.thiosulfate.info, store.mcguff.com

สรรพคุณของยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

  • ใช้เป็นยารักษาและบำบัดอาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning) โดยในทางคลินิกจะใช้ยานี้ควบคู่ไปกับยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) แต่หากได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ที่ไม่รุนแรงมาก ก็อาจใช้แค่ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) เพียงตัวเดียวก็ได้
  • ใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะการใช้รักษาเกลื้อน

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

โซเดียมไทโอซัลเฟตจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะปลดปล่อยธาตุกำมะถันออกมาเพื่อเปลี่ยนสารไซยาไนด์ที่เป็นพิษให้เป็นสารไทโอไซยาเนต (Thiocyanate) ซึ่งไม่เป็นพิษต่อร่างกาย

ก่อนใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงโซเดียมไทโอซัลเฟต สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาโซเดียมไทโอซัลเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟตร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งหรือยาเคมีบำบัดบางตัว เช่น ยาซิสพลาติน (Cisplatin) สามารถลดความเป็นพิษของซิสพลาตินที่ทำให้ไตของผู้ป่วยเสียหาย การเลือกใช้ยาทั้งสองชนิดร่วมกันจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนม และเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)
  • ห้ามเก็บและใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยโรคไต หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร

วิธีใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

  • การใช้สำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากไซยาไนด์ แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังนี้
    • ในผู้ใหญ่ แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ ภายในช่วง 5-20 นาที ในขนาด 300 มิลลิกรัม จากนั้นจะใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 12.5 กรัม ในรูปของสารละลาย 25% จำนวน 50 มิลลิลิตร โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ เป็นเวลาประมาณ 10 นาที และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไทโอซัลเฟตซ้ำอีกหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาทั้งสองตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง
    • ในเด็ก แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ในขนาด 4-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม) หลังจากนั้นจะให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในรูปของสารละลาย (สูงสุดไม่เกิน 12.5 กรัม) และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาซ้ำหลังจากการให้ยาครั้งแรกประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง
  • การใช้เป็นยารักษาเกลื้อน ให้ใช้ยาน้ำโซเดียมไทโอซัลเฟตชนิด 20-25% ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็นเกลื้อนหลังอาบน้ำ วันละ 2-4 ครั้ง ถ้าดีขึ้นควรทายาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ (ควรเตรียมยานี้สด ๆ ในขณะที่ต้องใช้ เมื่อผสมน้ำแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 5 วัน)

คำแนะนำในการใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ซึ่งการใช้ยาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

การเก็บรักษายาโซเดียมไทโอซัลเฟต

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน (เช่น ในรถยนต์) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) หรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ผลข้างเคียงของยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

  • สำหรับยาโซเดียมไทโอซัลเฟตแบบฉีด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง (อาการอันไม่พึงประสงค์) ได้ เช่น การมีอาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ตาพร่า ประสาทหลอน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะมาก ความดันโลหิตต่ำ มีอาการปวดบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจพบภาวะหูดับ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 307.
  2. หาหมอดอทคอม.  “โซเดียม ไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 ก.ย. 2016].
  3. สำนักยา.  “ยารักษาเกลื้อนโซเดียมไทโอซัลเฟต”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.fda.moph.go.th.  [30 ก.ย. 2016].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “โซเดียมไทโอซัลเฟต”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [30 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด