หูดข้าวสุก อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหูดข้าวสุก 20 วิธี !!

โรคหูดข้าวสุก

หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum contagiosum virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกับที่ทำให้เกิดหูดทั่วไป เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั่วโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบได้ประมาณ 1% ของประชากรทั้งหมด และจะมีอัตราการเกิดมากขึ้นในประเทศเขตร้อน พบได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่ในเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถเข้าไปในผิวหนังที่แตก ลอก หรือผิวหนังที่เป็นแผล และกลายเป็นหูดข้าวสุกได้ แต่จะไม่มีผลกระทบต่ออวัยวะภายใน

สาเหตุของหูดข้าวสุก

  • สาเหตุ : หูดข้าวสุกเป็นหูดที่เกิดจากการติดเชื้อหูดข้าวสุก ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า “เอ็มซีวี” (Molluscum contagiosum virus – MCV*) การติดเชื้อนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือดหรือระบบประสาท ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย หรือปวดเมื่อยนำมาก่อน แต่จะมีอาการเฉพาะที่เป็นหลัก โดยภายหลังจากได้รับเชื้อจากการสัมผัสแล้ว เชื้อไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปแบ่งตัวในเซลล์ผิวหนังชั้นนอก เมื่อแบ่งตัวมากขึ้น ๆ ก็จะรวมกันเป็นก้อนในไซโตพลาสซึมของเซลล์ (Cytoplasm คือ ของเหลวที่อยู่ภายในเซลล์) เรียกก้อนนี้ว่า Molluscum bodies ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ และเมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนนี้จากการตรวจชิ้นเนื้อผิวหนังที่เกิดโรคก็จะเป็นตัวช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้ได้
  • การติดต่อ : โรคนี้สามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสผิวหนังตรงรอยโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง (แต่ใช่ว่าใครสัมผัสแล้วจะต้องเป็นทุกราย เพราะขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคนรวมทั้งสุขลักษณะส่วนตัวด้วย), จากการแกะหรือเกาผิวหนัง (จากผิวหนังที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งในบุคคลเดียวกัน เช่น รอยโรคแรกอยู่ที่มือ แต่เมื่อเอานิ้วมือที่สัมผัสโรคไปขยี้ตา ก็จะทำให้เปลือกตาติดหูดข้าวสุกไปด้วย), จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย และติดได้จากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยที่มีรอยโรคหูดข้าวสุก เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์ในสถานที่ออกกำลังกาย รวมไปถึงการใช้สระว่ายน้ำร่วมกับผู้ป่วย (ในเด็กเล็กมักติดจากบุคคลในครอบครัวเดียวกันหรือติดต่อจากเพื่อนร่วมโรงเรียน)
  • กลุ่มเสี่ยง : สามารถพบได้ทุกเพศ ทุกวัย และในทุกช่วงอายุ เพราะปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ คือ การสัมผัสกับรอยโรคหรือสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสเอ็มซีวีอยู่ แต่จะพบได้มากเป็นพิเศษในเด็กช่วงอายุ 1-10 ปี (ในเด็กจะพบได้มากกว่าวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่วนในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านจากมารดาอยู่ จึงมักไม่ติดเชื้อนี้) และมักพบได้ในผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะคนกลุ่มนี้จะไวต่อการติดเชื้อไวรัสได้มากกว่าคนทั่วไป (อัตราการเป็นโรคหูดข้าวสุกจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยเอดส์ โดยพบอยู่ที่ 5-18% ของประชากรที่ป่วยเป็นโรคเอดส์)
  • ระยะฟักตัว : ตั้งแต่รับเชื้อมาจนเกิดอาการมักจะใช้เวลาประมาณ 2-7 สัปดาห์

หมายเหตุ : เชื้อไวรัสเอ็มซีวีมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิดย่อย ได้แก่ MCV subtype 1, 2, 3 และ 4 โดยทั้ง 4 ชนิดนี้จะมีลักษณะอาการและวิธีการรักษาเหมือนกัน โดย MCV subtype 1 จะเป็นสาเหตุในการเกิดโรคมากที่สุด 98%

อาการของหูดข้าวสุก

เป็นตุ่มขึ้นตามผิวหนัง มักพบขึ้นตามลำตัว แขนขา รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ บริเวณอวัยวะเพศ (โดยเฉพาะในผู้ใหญ่) และอาจพบได้ที่บริเวณใบหน้าและรอบดวงตา โดยจะมีลักษณะขึ้นเป็นกลุ่ม และมักพบมากกว่า 1 แห่ง ตุ่มหูดข้าวสุกจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-6 มิลลิเมตร ในบางครั้งอาจมีขนาดใหญ่ถึง 1-3 เซนติเมตร ตัวหูดจะมีลักษณะเป็นสีเหลืองหรือเป็นสีของผิวหนัง (สีเนื้อ) รูปโดม และมีลักษณะเฉพาะคือ ผิวหูดจะเรียบเป็นมันคล้ายไข่มุกและตรงกลางจะมีรอยบุ๋มลงไปคล้ายสะดือ เมื่อกดหรือบีบให้แตกหรือใช้เข็มสะกิดจะมีเนื้อหูดเละ ๆ สีขาวคล้ายข้าวสุกไหลออกมา หูดชนิดนี้จะไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือคัน แต่ในบางครั้งอาจมีอาการบวมแดงอักเสบร่วมด้วย (ในผู้ป่วยเอดส์มักจะมีตุ่มเกิดขึ้นใหม่อยู่เรื่อย ๆ ตุ่มมักมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และคงอยู่นาน กระจายไปทั่วตัว ตามศีรษะ คอ หน้า และอวัยวะเพศ)

หูดข้าวสุก

ลักษณะหูดข้าวสุก

อาการหูดข้าวสุก

หูดข้าวสุกในเด็ก

ผลข้างเคียงของหูดข้าวสุก

  • ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีอาการผื่นแดงคันบริเวณหูดข้าวสุกร่วมด้วย (รูปด้านล่าง) ซึ่งอาการผื่นแดงคันนี้จะหายไปเมื่อทำการรักษาหูดข้าวสุก
  • หูดข้าวสุกที่เป็นบริเวณเปลือกตา อาจทำให้เกิดเยื่อตาอักเสบได้
  • ผู้ที่แกะหรือเกาตรงรอยโรคอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จนทำให้เกิดอาการอักเสบและเมื่อแตกก็จะกลายเป็นแผลเป็นได้

ภาพหูดข้าวสุก

การวินิจฉัยโรคโรคหูดข้าวสุก

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหูดข้าวสุกได้จากการตรวจรอยโรคที่ผิวหนังด้วยตาเปล่า ซึ่งจะพบลักษณะเฉพาะคือ เป็นตุ่มที่มีรอยบุ๋มคล้ายสะดือตรงกลางรอยโรค แต่ในผู้ป่วยที่มีลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเพียงแต่ใช้เข็มเจาะหรือดูดเอาสารภายในรอยโรคมาย้อมสีด้วยเทคนิคทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาก้อน Molluscum bodies ซึ่งจะเห็นเป็นสารสีส้มในสไลด์  ในรายที่มีหูดข้าวสุกขึ้นกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก หรือหูดข้าวสุกมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจขอตรวจเลือดดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ด้วยหรือไม่

วิธีรักษาหูดข้าวสุก

  • ในคนปกติที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง หูดข้าวสุกมักจะหายไปได้เองภายใน 6-9 เดือน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาศัยเวลานานถึง 2-3 ปีหูดข้าวสุกจึงจะหาย โดยไม่ทำให้เกิดแผลเป็น (ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน) ส่วนการรักษานั้นเป็นเพียงวิธีการที่ช่วยทำให้รอยโรคหายเร็วขึ้นและช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ ดังนั้น เมื่อเริ่มพบรอยโรคที่ผิดปกติไม่ว่าในตำแหน่งใดก็ควรไปพบแพทย์เสมอ เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเองที่ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละบุคคล
  • ในเด็กที่เป็นหูดข้าวสุกไม่มาก แพทย์อาจแนะนำให้รอเพื่อให้รอยโรคหายเองโดยไม่ต้องรักษา เนื่องจากแต่ละรอยโรคมักจะใช้เวลาหายเองไม่เกิน 2-3 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดจากการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ
  • ผู้ป่วยห้ามแกะหรือเกาที่บริเวณรอยโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อนและลดการพาเชื้อไปติดยังบริเวณส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อหูดข้าวสุกไปสู่ผู้อื่น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
    1. ควรแจ้งให้คู่นอนทราบ และไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาไปพร้อม ๆ กัน
    2. สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมรอยโรค เพื่อป้องกันการเกาจากตัวเอง และเพื่อป้องกันการสัมผัสรอยโรคสู่ผู้อื่น (ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องหยุดเรียนหรือหยุดงาน เพียงแต่ปกคลุมรอยโรคด้วยเสื้อผ้าและปลาสเตอร์ก็เพียงพอแล้ว)
    3. เมื่อสัมผัสรอยโรค ควรล้างมือด้วยสบู่ล้างมือให้สะอาด หรือถ้าไม่มีที่ล้างมือก็ควรใช้แอลกอฮอล์ชนิดเจลทำความสะอาดแทน
    4. ควรใช้ปลาสเตอร์กันน้ำแปะตรงรอยโรคนอกร่มผ้า
    5. ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ฟองน้ำ
    6. ควรทำความสะอาดเสื้อผ้าที่สัมผัสรอยโรคด้วยการซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้าตามปกติ แล้วนำไปตากแดดหรือรีดด้วยเตารีดเพื่อป้องกันมิให้เชื้อเจริญเติบโต
    7. งดการใช้สระว่ายน้ำในขณะที่มีรอยโรค แต่หากจำเป็นต้องปกคลุมรอยโรคด้วยปลาสเตอร์กันน้ำ
    8. งดการมีเพศสัมพันธ์ แม้จะใส่ถุงยางอนามัยก็ตาม เพราะการสวมถุงยางจะป้องกันได้เฉพาะผิวหนังขององคชาตและช่องคลอดเท่านั้น แต่จะไม่สามารถป้องกันผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ได้
    9. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก เช่น การมีนิสัยซุกซน ชอบกอดรัดฟัดเหวี่ยงในเด็กวัยเดียวกัน หรือวิ่งเล่นจนเหงื่อออกมากจนเสื้อเปียกชื้นก็ยังสวมใส่ต่ออีกหลายชั่วโมง หรือการมีสุขลักษณะส่วนตัวไม่ดีพอ โดยเฉพาะการทำความสะอาดร่างกายไม่สะอาด อาบน้ำไม่เกลี้ยง ฟอกสบู่ไม่ทั่ว สวมใส่เสื้อผ้าชื้นแฉะ ฯลฯ เพราะเมื่อหูดข้าวสุกขึ้นมาเม็ดแรกจะไม่มีอาการเจ็บหรือคัน และตุ่มหูดก็จะมีขนาดเล็กมากเพียง 1-2 มิลลิเมตร จนดูคล้ายสิว ซึ่งตัวเด็กเองอาจไม่สังเกตเห็น ดังนั้น ผู้ปกครองจึงหมั่นตรวจร่างกายลูกให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะในร่มผ้าที่มองไม่เห็น (หูดชนิดนี้มักจะเริ่มขึ้นในร่มผ้าหรือตามลำตัวก่อน) เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ หรือไม่ทันสังเกตสักประมาณ 1 เดือนต่อมา หูดจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบริเวณใกล้เคียงอีกหลายสิบตุ่ม
  • ในรายที่ตุ่มยังขึ้นไม่มาก ให้ทำความสะอาดบริเวณที่เป็นหูดข้าวสุกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน (Povidone-Iodine) ใช้ยาชาทาเพื่อไม่ให้ปวด แล้วใช้ปากคีบบีบหรือใช้เครื่องมือขูด (Curet หรือ Curette) หรือใช้เข็มสะเก็ดแล้วบีบเอาเนื้อหูดข้าวสุกออกมา จากนั้นให้ทาด้วยซิลเวอร์ไนเตรต (Silver nitrate)
  • ในรายที่ใช้วิธีข้างต้นไม่ได้ผลหรือมีตุ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง โดยแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หรือแสงเลเซอร์ หรือจี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว (Cryotherapy) หรือให้ทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid – TCA) ชนิด 50-70% หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ชนิด 40%
  • การใช้ยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) จี้ที่รอยโรคโดยแพทย์ ซึ่งเป็นยาชนิดเดียวกับที่ใช้รักษาหูดหงอนไก่เพื่อทำลายเซลล์ผิวหนังที่ติดเชื้อหูดข้าวสุก เหมาะกับการรักษารอยโรคบริเวณเนื้อเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ โดยแพทย์จะจี้ซ้ำทุกสัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหมดไป ซึ่งมักจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
  • ในรายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว แพทย์จะให้ครีมอิมิควิโมด (Imiquimod cream) ชนิด 5% ซึ่งเป็นยาทาต้านไวรัส (ช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายให้ทำลายเชื้อ) นำไปทาวันละ 1 ครั้งก่อนเข้านอน เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ จนกว่าจะหาย ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 9 เดือน โดยตัวยาจะช่วยทำให้หูดข้าวสุกยุบหายไปหมดได้ประมาณ 80%
  • ผู้ป่วยหูดข้าวสุกที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ มักดื้อต่อการรักษามากกว่าผู้อื่น ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การรักษาร่วมกัน 2 วิธี เช่น การทายาร่วมกับการรักษาด้วยการจี้เย็น
  • ผู้ป่วยควรสังเกตลักษณะอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่รอยโรคอยู่เสมอ เช่น การมีหนอง อาการปวดบวม แดงร้อน เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเพื่อตรวจการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือเมื่อรอยโรคหรือที่แผลจากการรักษามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือผิดปกติไปจากเดิม หรือผู้ป่วยมีความกังวลในอาการ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดด้วยเช่นกัน

คำแนะนำ : ห้ามใช้ยาทาทุกชนิดในหญิงตั้งครรภ์ (ยกเว้น TCA) และถึงแม้ว่าจะสามารถซื้อมาทาเองได้ที่บ้าน แต่แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อให้การใช้ยาอยู่ภายใต้การรักษาดูแลของแพทย์ เพราะตัวยาที่กล่าวมานั้นยังอยู่ในการศึกษาทดลองใช้ เพราะในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่ได้รับการรับรองหรือแนะนำจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ เพื่อใช้รักษาหูดข้าวสุกโดยเฉพาะ เพียงแต่ได้มีการศึกษาทดลองใช้ในการรักษาหูดข้าวสุกในเด็กและในผู้ป่วยเอดส์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ขนาดและวิธีการใช้ยาจึงแตกต่างกันไปตามแต่ละสูตรการรักษา

ข้อควรรู้ : แม้หูดข้าวสุกจะเป็นโรคที่สามารถหายได้เองเมื่อไม่ได้รับการรักษา แต่ก็เป็นโรคที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อยหลังการรักษา หรือหลังการหายจากโรคในครั้งแรก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด

วิธีป้องกันหูดข้าวสุก

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสรอยโรคของผู้ป่วยที่เป็นหูดข้าวสุก เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การเล่นกีฬาที่ต้องมีการสัมผัสกัน (เช่น มวยปล้ำ) ฯลฯ
  2. ควรล้างมือให้สะอาดอยู่เป็นประจำด้วยสบู่ล้างมือเมื่อสัมผัสสิ่งของสาธารณะ
  3. ควรทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกันเป็นประจำ โดยเฉพาะอุปกรณ์ในสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ในสถานที่ออกกำลังกาย
  1. ไม่ใช้สิ่งของหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ หรือเก็บหรือวางปะปนกับของผู้อื่น
  2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์รวมทั้งผักและผลไม้ที่มีวิตามินหลายอย่างคละเคล้ากันไป
  3. มีสามีหรือภรรยาคนเดียว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “หูดข้าวสุก”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 979.
  2. หาหมอดอทคอม.  “หูดข้าวสุก Molluscum contagiosum”.  (ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.พนัส เฉลิมแสนยากร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [26 มี.ค. 2016].
  3. สถานบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.  “หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)”.  (พญ.พิมลพรรณ กฤติยรังสรรค์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.inderm.go.th.  [26 มี.ค. 2016].
  4. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: หูดข้าวสุก”.  (อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา, ปารีดา เปิ่นสูงเนิน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [27 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.pcds.org.uk, qsota.com, www.healthline.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด