12 วิธีรักษาสิวอุดตัน (สิวหัวดำ/หัวขาว) ยารักษาสิวอุดตันตัวไหนดี?

สิวอุดตัน (Comedones) คือ สิวที่เป็นตุ่มอุดตันใต้ผิวหนัง ชนิดที่ไม่เกิดการอักเสบ

สิวอุดตัน

ปรับปรุงเนื้อหาใหม่ 2022 อ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัย โดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง : สิวอุดตัน (Comedones) คือ สิวที่เป็นตุ่มอุดตันใต้ผิวหนัง ชนิดที่ไม่เกิดการอักเสบ เป็นสิวที่เกิดจากการอุดตันในรูขุมขน โดยมีไขมัน (Sebum) เซลล์เยื่อบุผิวหนังที่ตายแล้ว และสิ่งสกปรกอุดตันอยู่ภายใน ทำให้ไขมันที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อความเติมความชุ่มชื้นบนใบหน้าไม่สามารถออกมาได้ มักพบได้ในบริเวณหน้าผากและคาง รวมถึงสามารถพบบริเวณลำตัวได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีผิวมัน

สิวอุดตันเป็นสิวที่มักมองเห็นได้ชัดเจนเป็นจุดสีขาวหรือจุดสีดำ (ขึ้นอยู่กับชนิดของสิวอุดตันที่เป็น) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ เมื่อใช้มือสัมผัสจะรู้สึกนูนเป็นไตแข็ง ๆ อยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวบริเวณนั้นขาดความเรียบเนียน

ชนิดของสิวอุดตัน

สิวอุดตันมีหลายชนิดด้วยกัน ที่พบได้บ่อย คือ สิวอุดตันหัวเปิด (สิวหัวดำ) และสิวอุดตันหัวปิด (สิวหัวขาว) โดยชนิดของสิวอุดตันสามารถแบ่งได้เป็น

  • สิวอุดตันหัวเปิด (Open comedone) ชนิดนี้จะมีหัวสีดำ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สิวหัวดำ” (Blackheads) เป็นสิวที่มีระดับความรุนแรงปานกลาง มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กน้อยสีดำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.1-3 มิลลิเมตร เกิดจากการอุดตันของขน เนื้อเยื่อ และไขมันภายในรูขุมขน หากสังเกตให้ดีจะพบว่ามีรูเปิดที่สามารถมองเห็นหัวสิวได้ (ส่วนจุดดำๆ ที่มองเห็นนั้นเกิดจากการทำปฏิกิริยาออกซิเดชันของสิ่งอุดตันในรูขุมขนกับออกซิเจนและเปลี่ยนสิ่งอุดตันให้มีสีเข้นขึ้นจนกลายเป็นสีด) สิวแบบนี้เราสามารถบีบหรือกดมันออกได้ แต่ต้องทำอย่างถูกวิธี เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นสิวอักเสบได้
    สิวหัวดำ
  • สิวอุดตันหัวปิด (Closed comedone) ชนิดนี้จะมีลักษณะเป็น “สิวหัวขาว” (Whiteheads) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1-3 มิลลิเมตรมีสีเดียวกับผิวหนังปกติ แต่มองเห็นเป็นจุดสีขาวและไม่มีรูเปิด สิวประเภทนี้จะไม่มีหัวให้เรากดออก แล้วถ้าเรายิ่งไปกดไปบีบไขมันที่ไม่มีทางออกจะทะลักกลับไปในผิว ทำให้เนื้อเยื่อเสียหายได้ สิวชนิดนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อุดตันอยู่ภายในรูขุมขน แต่รูขุมขนที่อุดตันนั้นจะไม่ได้สัมผัสอากาศ ส่วนใหญ่แล้วรากสิวประเภทนี้จะอยู่ลึกกว่าสิวหัวดำ จึงไม่มีการเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจน และรักษาได้ยากกว่าสิวหัวดำ หากปล่อยไว้ไม่รักษามักมีขนาดใหญ่ขึ้น และประมาณ 75% ของสิวชนิดนี้จะกลายไปเป็นสิวอักเสบ
    สิวหัวขาว
  • สิวอุดตันชนิดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือ ไมโครโคมีโดน (Microcomedone) โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จะเริ่มมีการสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่าแอนโดรเจน ต่อมไขมันจะเริ่มตอบสนองต่อฮอร์โมนตัวนี้ ทำให้มีการหลั่งไขมันมากขึ้น นอกจากนี้แอนโดรเจนยังไปกระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์ชั้นขี้ไคลของรูขุมขนได้ด้วย จนทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า “ไมโครโคมีโดน” ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดสิวทั้งหลาย ซึ่งไมโครโคมีโดนนี้อาจจะหายไปได้เองหรือพัฒนาต่อไปกลายเป็นสิวลักษณะอื่น ๆ ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมบางอย่าง เช่น หากมีการสะสมของไขมันและเซลล์ชั้นขี้ไคลมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดสิวอุดตันหัวเปิดหรือสิวอุดตันหัวปิด แต่ถ้ามีแบคทีเรีย P. acne (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น C. acnes แล้ว) ก็จะกลายเป็นสิวอักเสบ
    Microcomedone
  • อื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่ มาโครโคมีโดน (Macrocomedones) สิวอุดตันหัวปิดที่มีขนาดใหญ่กว่า 2-3 มิลลิเมตร, ไจแอนท์โคมีโดน (Giant Comedones) สิวอุดตันหัวเปิดที่มีขนาดใหญ่และมีลักษณะเป็นก้อนซีสต์ แต่มีสีดำแบบสิวหัวดำ, โซลาร์โคมีโดน (Solar Comedones) สิวอุดตันที่อาจเกิดจากอิทธิพลของแสงแดดที่ทำลายผิว ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นและเกิดเป็นสิวอุดตันได้ทั้งลักษณะของสิวหัวปิดและสิวหัวเปิด มักพบในวัยกลางคนไปจนผู้สูงวัย

สาเหตุการเกิดสิวอุดตัน

สิวอุดตันนั้นมีสาเหตุมาจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังทำการสร้างน้ำมันมากเกินไป โดยสิ่งที่ควบคุมการผลิตน้ำมันบนใบหน้าก็คือ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เมื่อต่อมนี้ผลิตน้ำมันออกมาเยอะจนเหลือใช้แล้วตกค้างอยู่ในรูขุมขน มันจะไปรวมตัวกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว เหตุนี้เองจึงทำให้น้ำมันนั้นข้นหนืดจนระบายออกไปไม่ได้ แต่ส่วนที่ระบายออกมาได้เราก็จะสังเกตได้ด้วยตาเปล่าเลยว่าหน้าจะมันแผล็บหรือเยิ้มไปด้วยน้ำมัน โดยการอุดตันจะเกิดขึ้นภายในรูขุมขนใต้ผิวหนังและปรากฏออกมาเป็นสิวอุดตันในลักษณะต่าง ๆ ส่วนปัจจัยที่อาจทำให้เกิดสิวอุดตันนั้นมีดังนี้

  • กรดไขมันอิสระที่เกิดขึ้นภายในต่อมไขมัน อันเป็นผลมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว
  • ปฏิกิริยาที่เกิดจากฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ที่ทำงานมากเกินไป และส่งผลกระทบภายในเซลล์ผิวหนัง
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายในช่วงวัยรุ่นหรือผู้หญิงช่วงมีประจำเดือน
  • ภาวะผิวหนังมีน้ำมากเกินไปในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือภาวะอาการทางกายอื่น ๆ ที่ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น
  • ระดับของกรดไขมันไลโนเลอิค (Linoleic Acid) ที่ลดลงในไขมันที่ถูกผลิตจากต่อมไขมัน ทำให้ระบบการทำงานเพื่อการปกป้องผิวชั้นในลดต่ำลงไปด้วย
  • สารกระตุ้นการอักเสบ (Proinflammatory Cytokines) ที่ถูกผลิตโดยเยื่อบุเซลล์ภายในรูขุมขน ซึ่งเป็นกระบวนการตอบสนองในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ความเครียด เนื่องจากความเครียดส่งผลให้การหลั่งของฮอร์โมนภายในร่างกายผิดปกติ ทำให้ต่อมเหงื่อทำงานมากเกินไป กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตมากขึ้นส่งผลให้เกิดความมันส่วนเกิดบนใบหน้าและเกิดการอุดตันของรูขุมขนตามมา
  • การล้างหน้าไม่สะอาดเพียงพอทำให้เกิดการอุดตันเพิ่มขึ้น
  • การระคายเคืองของผิวหนัง ซึ่งอาจเกิดจากการขัดผิว บีบสิว หรือผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี การทำเลเซอร์หน้า ฯลฯ จนทำให้รูขุมขนได้รับความเสียหาย
  • ผิวสัมผัสกับสารบางอย่าง เช่น สารเคมีที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน, สารไอโซโพรพิล ไมริสเตท (Isopropyl Myristate), สารโพรไพลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) ที่เป็นส่วนผสมในเนื้อครีมหรือเจลต่าง ๆ, สีย้อมที่มักพบในเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์แชมพูต่าง ๆ
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เครื่องสำอาง หรือแชมพูบางชนิด แล้วเกิดอาการแพ้สารคมีบางอย่างในนั้น
  • อากาศที่ร้อนขึ้น จนทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาปริมาณมากเกินไป
  • มลภาวะในระหว่างวัน อาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตันได้
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยาลิเทียม
  • การรับประทานอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลมาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตันได้
  • การสูบบุหรี่ พบว่าเพิ่มโอกาสในการเกิดสิวอุดตันได้มากขึ้น
การวินิจฉัยสิวอุดตัน

ในผู้ที่เกิดความกังวลเรื่องเป็นสิวอุดตัน หรือรักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง โดยแพทย์จะทำการตรวจดูผิวหนังบริเวณต่าง ๆ ที่เกิดสิว ทำการสอบถามประวัติต่าง ๆ ยารักษาสิวที่ใช้อยู่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน สอบถามเกี่ยวกับช่วงเวลาการมีรอบเดือนในผู้ป่วยเพศหญิง เพื่อพิจารณาปัจจัยที่อาจทำให้เกิดสิวอุดตันได้ และแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยในผู้ป่วยบางรายที่แพทย์สงสัยว่ามีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อันอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดสิว เช่น ในผู้ป่วยเพศหญิงที่อาจมีฮอร์โมนเพศชายมากผิดปกติ

ทั้งนี้ แพทย์อาจตรวจระดับความรุนแรงของสิวอุดตันเพื่อประกอบการวินิจฉัยและวางแผนในการรักษา โดยระดับความรุนแรงนั้นแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ

  • ระดับไม่รุนแรง คือ มีสิวอุดตันน้อยกว่า 20 จุด
  • ระดับปานกลาง คือ มีสิวอุดตัน 20-100 จุด
  • ระดับรุนแรง มีสิวอุดตันมากกว่า 100 จุด

การรักษาสิวอุดตัน

เมื่อเป็นสิวอุดตัน การรักษาหลัก ๆ คือการใช้ยาทากลุ่มเรตินอยด์ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ตัวหลัก ๆ คือ เตรทติโนอิน (Tretinoin) และอะดาพาลีน (Adapalene) โดยใช้ทาก่อนนอน และอาจใช้ยาเบนโซซิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ในตอนเช้าเพิ่มเติมถ้าคุณมีสิวอักเสบร่วมด้วย ส่วนการรักษาอื่น ๆ มักเป็นการรักษาเสริมหรือเป็นการรักษาทางเลือก ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสิวที่เป็น ซึ่งในบทความนี้เราจะพูดกันไปทีละตัวอย่างละเอียดว่าการรักษาแต่ละแบบจะเป็นอย่างไรและมีข้อดีข้อเสียอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่คุณใช้ยาต่าง ๆ เพื่อรักษาสิวอุดตันก็ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังหรือเภสัชกรที่เชี่ยวชาญก่อนด้วยนะครับ เพราะแต่ละคนอาจเป็นสิวไม่เหมือนกันและอาจใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปได้ในแต่ละคน มาเริ่มกันครับ

  1. ยาทากลุ่มเรตินอยด์ (Topical retinoids) เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ มีอยู่ด้วยกัน 2 ตัวหลัก ๆ คือ Tretinoin และ Adapalene ใช้เป็นการรักษาหลักของสิวอุดตันและทำร่วมกับการกดหัวสิวออกในรายที่จำเป็น โดยมีฤทธิ์เร่งการสร้างเซลล์และผลัดเซลล์ผิว โดยเฉพาะที่ผนังรูขุมขน ทำให้หัวสิวหลุดลอก ลดสิวอุดตัน ลดการเกิดสิวใหม่ ลดความมันบนใบหน้า และมีฤทธิ์ลดการอักเสบ สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในระยะยาวและแนะนำให้ใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดสิวใหม่ (ยากลุ่มนี้ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์เพราะจะทำให้ทารกพิการได้ หากวางแผนจะตั้งครรภ์ควรหยุดใช้ยานี้ไปก่อน)
    • เตรทติโนอิน (Tretinoin) ยาที่นิยมใช้รักษาสิวอุดตันรุ่นแรก มีหลายยี่ห้อ เช่น Retin-A®, Retacnyl®, Stieva-A®, Renova®, A-TINIC® มักอยู่ในรูปแบบครีมที่มีความเข้มข้น 0.025%, 0.05% และ 0.1% แม้จะเป็นยารุ่นแรกแต่ก็ให้ผลลัพธ์ในการรักษาสิวที่ดีกว่ายารุ่นใหม่อย่าง Adapalene แถมยาตัวนี้ยังช่วยต่อต้านริ้วรอย ลดรอยแตกลายได้ ทำให้หลุมสิวตื้นขึ้นและรูขุมขุนดูเล็กลง และช่วยให้รอยดำหรือฝ้าจางลง (แต่เห็นผลได้ไม่มาก)
      • สามารถใช้ยานี้ตัวเดียวในการรักษาสิวอุดตันได้ แต่ถ้าใช้ร่วมกับยาทาสิวตัวอื่น ๆ เช่น Benzoyl peroxide, Clindamycin, Azelaic acid, ยาปฏิชีวนะแบบทาน จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาสิวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีสิวอักเสบ
      • การใช้ยานี้มักทำให้ผิวแห้ง แสบ แดง คัน ผิวลอก ระคายเคืองบริเวณผิวหนัง และผิวมีความไวต่อแสงมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในช่วงเดือนแรก ๆ หรือการใช้ในปริมาณมาก ๆ หรือใช้ความเข้มข้นที่สูงขึ้น
      • การใช้ยานี้ในช่วงแรกมักทำให้สิวเห่อขึ้นมา (เป็นการดันตัวขึ้นมาของสิวที่อุดตันอยู่ใต้ผิว) โดยเฉพาะในช่วง 10 วันแรก แต่หลังจากทายาอย่างต่อเนื่องอาการผิวแห้งลอกจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเอง แล้วสิวจะค่อย ๆ ดีขึ้นและจะเห็นผลอย่างชัดเจนเมื่อใช้ยาไป 8-12 สัปดาห์ ดังนั้นจึงควรใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องห้ามหยุด
      • ผู้ที่ไม่เคยใช้มาก่อนหรือเริ่มใช้จึงควรใช้ยาเริ่มต้นที่ 0.025% โดยก่อนใช้ล้างหน้าให้สะอาด ซับหน้าให้แห้ง แล้วรอประมาณ 20-30 นาที (เพราะผิวที่แห้งสนิทจะช่วยลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากยานี้ได้) แล้วใช้ยาทาบาง ๆ ให้ทั่วใบหน้าหรือบริเวณที่มีสิวก่อนนอน (หลีกเลี่ยงบริเวณร่องแก้มหรือร่องจมูกเพื่อลดการระคายเคือง) และควรให้ทาปริมาณน้อย ๆ ก่อน ประมาณ 1 เมล็ดถั่วเขียวผสมกับครีมบำรุง สำหรับทาทั่วหน้า และเริ่มแรกอาจทาแบบคืนเว้นคืนก่อน แล้วจึงค่อยปรับเป็นทาทุกคืนก่อนนอน
      • ในตอนเช้าหลังทำความสะอาดใบหน้า แนะนำให้ทาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้น (ซึ่งอาจมีส่วนผสมของครีมกันแดดที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน) เพื่อลดอาการผิวแห้งลอก รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด (รวมถึงหลอดไฟยูวีด้วย) หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรทาครีมกันแดดหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถปกป้องบริเวณที่ทายาจากการสัมผัสแสงแดดได้
      • ยาชนิดนี้จะสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดดและทำให้ผิวบางลงและเป็นอันตรายต่อการถูกแสงแดด จึงแนะนำให้ใช้ครีมแดดในตอนกลางวันด้วย
      • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับกรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) หรือแชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของซัลเฟอร์ (Sulfur) เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้น
      • ถ้าเลือกใช้ยาทา Tretinoin แล้วก็ไม่ต้องใช้ Adapalene (Differin®) หรือ Epiduo® อีก เพราะจะซ้ำซ้อน เนื่องจากเป็นยากลุ่มเดียวกัน
      • ถ้ามีสิวอักเสบร่วมด้วยแนะนำให้ใช้ยาทาปฏิชีวนะ (Topical antibiotics) อย่างคลินดามัยซินเพื่อลดการอักเสบและฆ่าเชื้อ P. acnes เช่น Preme NOBU acne gel Clindamycin 1%
    • อะดาพาลีน (Adapalene) ถูกพัฒนาให้มีความคงตัวต่อแสงแดดและปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ดีขึ้น ยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักและนิยมมีชื่อทางการค้าว่า Differin® (ดิฟเฟอริน) ความเข้มข้น 0.1% (ในไทยมีความเข้มข้นเดียวคือ 0.1%) การออกฤทธิ์เหมือนกับ Tretinoin มีประสิทธิภาพในการรักษาสิวอุดตันใกล้เคียงหรือน้อยกว่า Tretinoin เล็กน้อย แต่มีความระคายเคืองน้อยกว่า (จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวบอบบางและระคายเคืองง่าย) และออกฤทธิ์ลดการอักเสบได้ดีกว่า Tretinoin แต่จะไม่ช่วยเรื่องริ้วรอยและหลุมสิวเหมือน Tretinoin ยานี้จึงมีข้อบ่งใช้ในการรักษาทั้งสิวชนิดอักเสบและไม่อักเสบ ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ ผิวแห้ง แดง ลอกเป็นขุย รู้สึกไม่สบายผิว หรือรู้สึกแสบผิวเล็กน้อย (แต่น้อยกว่า Tretinoin) ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นในช่วง 4 สัปดาห์แรก และมักจะหายไปเมื่อใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และจากการสืบค้นข้อมูลยังไม่พบรายงานว่าทำให้ผิวบางแต่อาจทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ใช้ทาบาง ๆ ทั่วใบหน้าหรือบริเวณที่มีสิว แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณร่องแก้มหรือร่องจมูกเพื่อลดการระคายเคือง (สามารถใช้ร่วมกับยาทา Benzoyl peroxide เพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้หากมีสิวอักเสบร่วมด้วย)
  2. ยาทาเบนซิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide : BPO) เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์มักใช้ร่วมกับยาทากลุ่มเรตินอยด์มากกว่านำมาใช้แบบเดี่ยว ๆ เพื่อรักษาสิวอุดตัน เพราะยานี้จะมีฤทธิ์เด่นไปทางฆ่าเชื้อ P. acnes และลดการอักเสบ จึงนิยมใช้เมื่อมีสิวอักเสบร่วมด้วย ส่วนการออกฤทธิ์ในภาพรวมนั้น BPO จะมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย P. acnes ลดการอักเสบของสิว และมีฤทธิ์เล็กน้อยในการเร่งการผลัดเซลล์ผิว (Keratolytic) ลดการอุดตันของรูขุมขน และทำให้หัวสิวหลุดลอก โดยยานี้จะมีความเข้มข้นตั้งแต่ 2.5, 5% และ 10% ทั้งในรูปแบบเจลและครีม (ในไทยมีจำหน่ายแค่ 2.5 กับ 5% สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา) ยี่ห้อหรือชื่อทางการค้าที่คุ้นเคย คือ Benzac AC® (เบนแซค) แบบเจลความเข้มข้น 5% มีผลข้างเคียงที่พบได้คือ ผิวแห้ง ระคายเคือง แดง ลอก แสบบริเวณที่ทา
    • ไม่แนะนำให้ใช้เดี่ยว ๆ เพื่อรักษาสิวอุดตัน เพราะได้ผลน้อยกว่ายาทากลุ่มเรตินอยด์ (แนะนำให้ใช้ร่วมกับยาทากลุ่มเรตินอยด์)
    • เพื่อลดการระคายเคืองควรใช้ในขณะที่ผิวแห้งหรือภายหลังจากล้างหน้า 30 นาที แล้วใช้ทาบาง ๆ ทั่วหน้าวันละ 2 ครั้งเช้า-ก่อนนอน
    • ถ้าใช้ร่วมกับยาทาเรตินอยด์ตัว Tretinoin (Retin-A®) ให้ทา BPO เฉพาะตอนเช้า และทา Tretinoin ก่อนนอน ห้ามทาร่วมกันเพราะตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านกัน หรือไม่ก็ใช้ยาทาเรตินอยด์ตัว Adapalene (Differin®) แทน เนื่องจากไม่มีปัญหายาต้านฤทธิ์กันและ Adapalene มีโครงสร้างทางเคมีที่มีเสถียรภาพมากกว่า
    • ยานี้มีฤทธิ์ Oxidize จึงกัดสีเสื้อผ้าทำให้เกิดรอยด่างบนเสื้อผ้าได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสื้อผ้าขณะทายา
  3. ยาทาอีพิดูโอ (Epiduo®) อีพิดูโอเป็นยาสูตรผสมระหว่าง Adapalene 0.1% กับ Benzoyl peroxide 2.5% ในหลอดเดียวกันแบบ 2 in 1 เพื่อลดความยุ่งยากในการใช้และมีความระคายเคืองผิวน้อยกว่าการใช้ BPO 5% และ 10% แบบเดี่ยว ๆ โดยเหมาะสำหรับการใช้รักษาสิวอุดตันและสิวอักเสบไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้ทาวันละ 1 ครั้งก่อนนอน (มีผลการทดลองที่พบว่าการใช้ Epiduo ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้ Adapalene และ Benzoyl peroxide แบบเดี่ยว ๆ ในการรักษาสิวอุดตันและสิวอักเสบพอสมควร) ส่วนผลข้างเคียงของยานี้ก็เหมือนยาทารักษาสิวทั่วไป คือ อาจทำให้มีอาการหน้าแสบ แดง คัน ลอกเป็นขุยได้ (ถ้าใช้ Adapalene หรือ Differin® อยู่ ไม่ต้องใช้ตัวนี้ เพราะเป็นตัวยาเดียวกัน)
  4. กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid) เป็นการรักษาทางเลือก โดยเป็นกรดที่สกัดจากธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นยารักษาทั้งสิวอุดตันและสิวอุกเสบ (สิวที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง) มีความเข้มข้นทั้ง 15% (แบบเจล) และ 20% (แบบครีมเข้มข้น) ยี่ห้อที่นิยมคือ คือ Skinoren® (สกินอเรน) 20% ยานี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย P. acnes, ลดการอักเสบได้เล็กน้อย, เพิ่มการผลัดเซลล์ผิว/ละลายสิวอุดตัน และยับยังการสร้างสิวอุดตันใหม่ (ออกฤทธิ์ช่วยลดสิวอุดตันได้ดีกว่า Benzoyl peroxide แต่ยังด้อยกว่า Tretinoin จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่) ใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ใช้ทาบาง ๆ ทั่วหน้าวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน โดยระยะเวลาใช้ยาสูงสุดไม่ควรเกิน 6 เดือน มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ อาการระคายเคือง ผิวแสบไหม้ คัน ผิวแห้ง เป็นสะเก็ด หรือเกิดรอยแดง ในบางรายอาจพบว่ามีสีผิวจางลงเนื่องจากยาตัวนี้มีผลต่อเม็ดสีผิวเมลานิน จึงมีการใช้ในการรักษาฝ้าด้วย
  5. ยาทาปฏิชีวนะ (Topical antibiotics) เพราะสิวอุดตันมักทำให้เกิดการอักเสบตามมาได้ในภายหลัง หรือหากคุณเป็นสิวอุดตันร่วมกับมีสิวอักเสบก็แนะนำให้ใช้ยาทาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย ซึ่งยาทาปฏิชีวนะจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ตัวหลัก ๆ คือ ตัวยา Erythromycin และตัวยา Clindamycin (คลินดามัยซิน) แต่คลินดามัยซินจะเป็นที่นิยมมากกว่า โดยมักนำมาใช้สำหรับรักษาสิวอักเสบโดยเฉพาะ เพราะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ P. acnes และลดการอักเสบ แต่ในปัจจุบันเชื้อ P. acnes ดื้อต่อนาปฏิชีวนะมากขึ้น จึงแนะนำให้ใช้ร่วมกับ Benzoyl peroxide หรือยาทากลุ่มเรตินอยด์ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและไม่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา
    • คลินดามัยซิน : Preme NOBU acne gel clindamycin 1% เจลแต้มสิวที่ใช้วัตถุดิบตัวยาสำคัญของคลินดามัยซินจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื้อเจลใส ไร้สี เกาะผิวได้ดี ทาแล้วไม่เหนอะหนะ ซึมผ่านผิวหนังได้ดี ทำให้ความเข้มข้นของตัวยาออกฤทธิ์ได้ดีอย่างสม่ำเสมอ
      เจลแต้มสิวพรีมโนบุ (Premenobu)
      เจลแต้มสิวอักเสบพรีมโนบุ (Premenobu)
  6. การลอกหน้าผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peeling) เป็นการรักษาทางเลือกหรือใช้เป็นการรักษาเสริม ด้วยการใช้น้ำยาเคมีนำมาทาบนผิวหน้าเพื่อทำให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นบนที่ตายแล้ว ตามมาด้วยการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน เป็นการช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ทำให้สิวอุดตันฝ่อตัวและหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น (แถมวิธีนี้ยังช่วยให้รอยสิวและจุดด่างดำที่เป็นอยู่จางลงด้วย) โดยสารเคมีที่นิยมนำมาใช้มี 3 ตัว คือ กรดไกลโคลิค (Glycolic acid)หรือเอเอชเอ (AHA) และกรดซาลิไซลิค (Salicylic acid) หรือบีเอชเอ (BHA), กรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic acid) หรือทีซีเอ (TCA) อย่างไรก็ตามการใช้วิธีนี้มักจะได้ผลในระยะเวลาสั้น ๆ และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป คือ ผิวหนังระคายเคืองเล็กน้อย มีผื่นคัน ผิวหนังลอก และมีอาการแสบ และคุณยังอาจตำเป็นต้องใช้ยาทาอื่นร่วมด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก
  7. การกดสิว เป็นวิธีกำจัดสิวอุดตันที่ทำให้หัวสิวหลุดออกมาจากชั้นผิวหนังได้เร็ว อย่างไรก็ตาม ควรดำเนินการกดสิวโดยแพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันการเกิดรอยแผลเป็นและหลุมสิวในภายหลัง หรือหากกดสิวออกไม่หมดก็อาจทำให้กลายเป็นสิวอักเสบได้ ส่วนขั้นตอนการทำนั้นแพทย์จะใช้เข็มฆ่าเชื้อจิ้มไปที่หัวสิวเพื่อให้หัวสิวเปิดออก แล้วใช้ที่กดสิวทาบลงไปแล้วค่อย ๆ ออกแรงกดจนหัวสิวหลุดออกมา
  8. ยากินไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) เป็นยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอที่รู้จักกันในชื่อทางการค้า คือ Roaccutane® (โรแอคคิวเทน), Acnotin® (แอคโนทิน), Isotane® (ไอโซเทน), Sotret® (โซเตรส) เป็นต้น มีขนาดยา 2 ขนาด คือ 10 และ 20 มิลลิกรัม (ใช้ตามลักษณะความรุนแรงของสิว) โดยมีฤทธิ์กดการทำงานของต่อมไขมันโดยตรงทำให้ผลิตสารที่เป็นไขมัน (Sebum) ลดลง, ลดปริมาณของเชื้อ P. acnes, ลดการอักเสบบวมแดงของสิว และยับยั้งการสร้างคอมีโดนหรือสิวอุดตัน จัดเป็นยาที่อันตรายมาก ใช้สำหรับรักษาสิวที่มีอาการรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้เท่านั้น และต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ยานี้นับว่ามีประสิทธิภาพดีมาก แต่ผลข้างเคียงก็มากและรุนแรงด้วยเช่นกันหากใช้อย่างผิดวิธี ในหญิงตั้งครรภ์ห้ามใช้โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ มีผลทำให้เด็กทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด รวมไปถึงหญิงที่ต้องการจะตั้งครรภ์ก็ห้ามใช้เช่นกัน และต้องคุมกำเนิดในระหว่างใช้ยานี้ด้วย
  9. ยาปรับฮอร์โมนในร่างกาย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมเพื่อเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งจะส่งผลในการรักษาและลดการเกิดสิวอุดตัน หรืออาจให้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-Androgenic) เพื่อลดฮอร์โมนเพศชายที่อาจเป็นสาเหตุของสิวอุดตัน
  10. การใช้เครื่องผลักวิตามิน (ไอออนโตหรือโฟโน) เป็นการใช้เครื่องมือผลักวิตามินร่วมกับการใช้เจลวิตามินเอเพื่อรักษาสิวอุดตัน (หลักการเดียวกับการใช้ยาทากลุ่มเรตินอยด์ แต่ได้ผลเร็วกว่า เพราะตัวยาสามารถซึมลงไปในผิวได้ลึกกว่ายาทาแบบครีมหรือเจล) ซึ่งการทำช่วงแรก ๆ มักทำให้ผิวหน้าแห้งหรือลอกเป็นขุยเหมือนยาทา ซึ่งโดยปกติจะแนะนำให้ทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
  11. การกรอผิวด้วยเกร็ดอัญมณี (Microdermabrasion – MD) เป็นการผลัดผิวหน้าในส่วนของความลึกระดับผิวหนังกำพร้า ด้วยการพ่นคริสตัลซึ่งทำด้วยผลึกอลูมิเนียมออกไซด์ขนาดเล็ก เพื่อช่วยในการผลัดผิว ผลที่ได้รับก็คือจะทำให้ผิวหนังส่วนที่มีรอยคล้ำ รอยบุ๋มจากแผลเป็นหรือหลุมสิวที่เกิดในชั้นผิวหนังถูกกำจัดออกไป จนเกิดการสร้างผิวหนังขึ้นมาใหม่ วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดรอยดำ แผลเป็น และหลุมสิวได้แล้ว ยังช่วยทำให้สิวที่อุดตันหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น
  12. การเลเซอร์สิวอุดตัน เป็นวิธีรักษาสิวอุดตันด้วยการใช้เลเซอร์ประเภทต่าง ๆ ที่ทำโดยแพทย์ผิวหนัง เพื่อแก้ไขปัญหาสิวอุดตันบริเวณใบหน้าและลำตัว เป็นวิธีรักษาสิวอุดตันที่เห็นผลการรักษาค่อนข้างเร็ว เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันจำนวนมาก อยู่ลึก กดออกได้ยาก หรือกดไม่ออกเลย ซึ่งการกําจัดสิวอุดตันด้วยเลเซอร์นี้จะมีประสิทธิภาพดีมากกับสิวอุดตันที่อยู่ลึก ๆ โดยไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นและไม่มีเลือดออก
ยารักษาสิว
– No activity; + Low activity; ++ Moderate activity; +++ High activity

สำคัญมาก !!! ในระหว่างการรักษาสิวอุดตันต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันสิวอุดตันในหัวข้อ “การป้องกันการเกิดสิวอุดตัน” ด้านล่างด้วย เพื่อป้องกันการเกิดสิวใหม่และรักษาสิวเดิมให้ดีขึ้น

สูตรรักษาสิวอุดตันที่แนะนำ

  • สูตร 1 = Tretinoin (Retin-A®) หรือ Adapalene (Differin®) ใช้ทาก่อนนอน (ถ้าไม่มีสิวอักเสบ)
  • สูตร 2 = Benzoyl peroxide (Benzac®) ใช้ทาตอนเช้า + Tretinoin (Retin-A®) หรือ Adapalene (Differin®) ใช้ทาก่อนนอน (ถ้ามีสิวอักเสบร่วมด้วยเล็กน้อย)
  • สูตร 3 = Epiduo® เป็นยาสูตรผสมระหว่าง Adapalene กับ Benzoyl peroxide ใช้ทาก่อนนอน (ถ้ามีสิวอักเสบร่วมด้วยเล็กน้อย)
  • สูตร 4 = Benzoyl peroxide (Benzac®) + Clindamycin (Preme NOBU® acne gel clindamycin 1%) ทั้ง 2 ตัวใช้ร่วมกันได้ โดยใช้ทาเช้า-ก่อนนอน (ถ้ามีสิวอุดตันเล็กน้อย และส่วนใหญ่เป็นสิวอักเสบ)

ข้อควรทราบ : ระหว่าง Tretinoin, Adapalene และ Epiduo® คือยากลุ่มเดียวกัน ให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง

Tretinoin กับ Adapalene เลือกตัวไหนดี ?

Tretinoin (Retin-A®) เป็นยารุ่นเก่า แต่ยังรักษาสิวอุดตันได้ดีกว่า Adapalene เล็กน้อย (ถ้าคุณมีสิวรุนแรงหรือเรื้อรัง Tretinoin จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้ Adapalene) แถมยังช่วยเรื่องลดริ้วรอยและหลุมสิวได้ด้วย (แต่เห็นผลได้ไม่ค่อยมาก) และยังเป็นยาที่มีราคาถูก มีหลายความเข้มข้นให้เลือกใช้ตั้งแต่ 0.025%, 0.05% และ 0.1% แต่มีข้อเสียคือ มีความระคายเคืองมากกว่า ใช้แล้วผิวบางลง มีความคงตัวน้อยไม่ทนต่อแสงแดด (จึงใช้ทาผสมกับ BPO ไม่ได้) และมีฤทธิ์ลดการอักเสบของสิวน้อยกว่า Adapalene

ส่วน Adapalene (Differin®) จะเป็นยารุ่นใหม่ที่พัฒนามาให้มีโครงสร้างทางเคมีที่มีเสถียรมากขึ้นและมีความระคายเคืองน้อยกว่า Tretinoin (ทำให้ทนแดดได้มากขึ้น แต่ก็ยังควรใช้ครีมกันแดดหรือหลีกเลี่ยงแสงแดดอยู่ดี สามารถใช้ทาร่วมกับ BPO ได้) ใช้แล้วไม่ทำให้หน้าบางลง และมีฤทธิ์ลดการอักเสบของสิวได้ดีขึ้นมากกว่า Tretinoin ส่วนผลลัพธ์พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาสิวได้ใกล้เคียงหรือน้อยกว่า Tretinoin เล็กน้อย แต่ไม่ช่วยเรื่องลดริ้วรอยและหลุมสิวเหมือน Tretinoin ผู้ที่มีผิวบอบบางและระคายเคืองง่ายแนะนำให้ใช้ตัวนี้ (ราคาจะแพงกว่า Tretinoin) และมีให้เลือกใช้แค่ความเข้มข้นเดียวคือ 0.1%

การป้องกันการเกิดสิวอุดตัน

การรักษาสิวที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดสิว (เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดสิวใหม่ในระหว่างที่ทำการรักษาสิวเก่า) โดยมีคำแนะนำที่สำคัญดังนี้

  • ไม่พยายามบีบสิว แกะเกาสิว หรือใช้มือสัมผัสใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นสิว เพราะจะเพิ่มโอกาสในการเกิดสิวขึ้นมาอีก หรือทำให้แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอาจแพร่ไปยังผิวบริเวณอื่นหรือกลายเป็นสิวอักเสบ เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเกิดรอยแผลสิวหรือรอยแผลเป็นบนผิวหนังตามมา
  • ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Normal Saline Solution) เช็ดทำความสะอาดบริเวณหัวสิวหลังล้างหน้าหรือหลังจากรักษาสิว เช่น กดสิว เลเซอร์สิว ฯลฯ หรือใช้เช็ดบริเวณหัวสิวก่อนทายาแต้มสิวตามปกติ เพื่อความสะอาด ลดการอุดตัน และลดการติดเชื้อ
    • แนะนำ : น้ำเกลืออฟลีน (SOFCLENS) น้ำเกลือปราศจากเชื้อ มีความเข้มข้นเป็นไอโซโทนิก (Isotonic) คือมีความสมดุลกับน้ำในเซลล์ของร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ผลิตด้วยเกลือโซเดียมคลอไรด์นำเข้าจากนิวซีแลนด์ ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ใส ไร้สี ปราศจากสารเติมแต่ง ไพโรเจน และไม่ใช้วัตถุกันเสีย บรรจุในขวดใสเพื่อช่วยให้เห็นด้านในได้ง่ายขึ้น บรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก PP Medical Grade ที่ใช้ในทางการแพทย์โดยเฉพาะ ทนต่อความร้อนและแรงกระแทก และใช้ฝาปิดแบบ Safety Cap ที่ปิดได้สนิทป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
      ซอฟคลีน-น้ำเกลือเช็ดสิว
      น้ำเกลือซอฟคลีน (SOFCLENS)
  • ทายารักษาสิวอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สิวแห้งและป้องกันการเกิดสิวใหม่ (การใช้ยาทาที่มีส่วนประกอบของเรตินอยด์ (Topical retinoids) อย่างต่อเนื่องสามารถช่วยป้องกันการเกิดสิวใหม่ได้) และก่อนทายาบริเวณที่เป็นสิวควรล้างหน้าให้สะอาด ซับให้แห้ง และล้างมือให้สะอาดก่อนทายาทุกครั้ง (ห้ามขัดผิวหรือครับผิวในระหว่างทายานี้ เพราะจะยิ่งระคายเคือง)
  • หลีกเลี่ยงการขัดถูผิวหน้าบ่อยหรือมากจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ผิวระคายเคืองเพิ่มขึ้นและเป็นการชะล้างไขมันที่จำเป็นต่อผิวออกไป
  • รักษาความสะอาดบนใบหน้า โดยการล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและก่อนเข้านอน ด้วยน้ำสะอาดและผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหน้า ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม เพื่อกำจัดไขมันและสิ่งสกปรกที่อุดตันบนผิวหนัง (การล้างหน้าบ่อยเกินไปหรือมากกว่าวันละ 2 ครั้งอาจทำให้ผิวอ่อนแอ เกิดการระคายเคือง และไวต่อการเกิดสิวได้ แต่หากวันไหนทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกหรือออกกำลังกายหรือไปสัมผัสสิ่งสกปรกมากกว่าปกติหรือทำกิจกรรมนอกสถานที่ สามารถเพิ่มจำนวนในการล้างหน้าได้ตามความเหมาะสม)
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ช่วยควบคุมความมันบนใบหน้า ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน ไม่ทำให้เกิดการอุดตัน และอ่อนโยนไม่ทำร้ายผิว หรือเลือกเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้มีปัญหาสิวโดยเฉพาะ โดยต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานการรับรองอย่างถูกต้อง และควรเลือกใช้สิ่งที่มีสัญลักษณ์ระบุบนฉลากว่า ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (Noncomedogenics)
  • อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เพื่อลดความมันบนใบหน้าและผิวหนัง
  • สำหรับรูปแบบของเภสัชภัณฑ์ของยาทารักษาสิว ถ้าเป็นไปได้ในคนผิวปกติควรเลือกใช้แบบเจล ส่วนในคนผิวแห้งควรเลือกใช้แบบครีมหรือโลชั่น
  • ล้างเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนเข้านอน ไม่นอนหลับไปพร้อมกับเครื่องสำอาง เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผิวอุดตันมากขึ้น
  • ไม่ปล่อยให้เส้นผมปกปิดผิวหน้า เพราะกแชมพูบางอย่างที่มีส่วนประกอบของน้ำมันอาจก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนใต้ผิวจนทำให้เกิดสิวได้
  • หมั่นทำความสะอาดปลอกหมอน ผ้าห่ม และผ้าปูที่นอนอยู่เสมอ
  • ไม่ปล่อยให้เหงื่อไคลหรือสิ่งสกปรกเกาะบนใบหน้าหรือลำตัวเป็นเวลานาน ควรชำระล้างร่างกายทันที โดยเฉพาะหลังการออกกำลังหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องเจอกับฝุ่นหรือมลภาวะเป็นเวลานาน ๆ
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้าหรือสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน ควรสวมใส่เครื่องแต่งกายปกปิดผิว เพราะแสงแดดอาจมีผลกระทบทำให้เกิดสิวได้
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส พยายามลดความเครียดหรือความวิตกกังวล
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย มีไขมันและน้ำตาลน้อย เน้นผักผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
  • ลดหรือเลิกการสูบบุหรี่

การรักษาสิวอุดตันจะยังไม่ได้เห็นผลหลังการรักษาในทันที ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาในการรักษายาวนานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ขึ้นอยู่กับอาการ ระดับความรุนแรง แนวทางที่ใช้รักษา และปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่นพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จะมีผลค่อนข้างมากต่อผลการรักษา

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เภสัชกรประจำเว็บเมดไทย
ประวัติผู้เขียน : จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานร้านยามากกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้จัดการร้านขายยา เคยเป็นผู้ฝึกอบรมผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ และยา ปัจจุบันทำงานเป็นเภสัชกรอยู่โรงพยาบาลเอกชน โดยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ