สายตายาว
สายตายาว (Hyperopia, Hypermetropia, Farsightedness) เป็นภาวะที่กระจกตาหรือแก้วตามีกำลังในการหักเหแสงน้อยเกินไป หรือลูกตามีขนาดเล็กเกินไป จึงทำให้จุดรวมแสงของภาพไม่ว่าวัตถุนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลไม่ไปโฟกัสบนจอประสาทตา แต่กลับไปโฟกัสข้างหลังจอประสาทตาแทน จึงทำให้มองเห็นภาพได้ไม่ชัดทั้งใกล้และไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามองวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ จะมัวมากกว่ามองวัตถุที่อยู่ไกล ๆ
สายตายาวเป็นภาวะที่พบได้มากในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ มักพบว่าเป็นกันหลายคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งในบ้านเราพบว่าเด็กประมาณ 15-20% เป็นสายตายาว
“สายตายาว” ในทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย โดยที่ยังไม่ถึงวัยสูงอายุ แต่ถ้ามีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปและมีสายตายาวเกิดขึ้น ทางการแพทย์จะเรียกว่า “สายตาผู้สูงอายุ” หรือ “สายตายาวตามอายุ” (Presbyopia) ซึ่งเป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นได้ในคนแทบทุกคนที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป แต่จะเกิดได้เร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้สายตามากน้อยแค่ไหน ซึ่งสายตาแบบนี้จะสามารถมองดูวัตถุไกล ๆ ได้สบาย ๆ เหมือนคนทั่วไป แต่ถ้ามองดูวัตถุที่อยู่ใกล้จะมองเห็นได้ไม่ชัด และสามารถแก้ไขได้ด้วยการตัดแว่นชนิดเลนส์นูนมาใส่เฉพาะในกรณีที่ต้องมองวัตถุที่อยู่ใกล้ให้เห็นได้ชัด แต่สำหรับในผู้ที่มีสายตายาวอยู่ก่อนแล้วอาจจะเกิดภาวะสายตาผู้สูงอายุได้เร็วกว่าคนทั่วไป และจะต้องแก้ไขด้วยการใช้แว่นสายตาถึง 2 อัน เพื่อใช้มองไกลอันหนึ่งและมองใกล้อันหนึ่ง หรืออาจใช้แว่นชนิดอเนกประสงค์เพียงอันเดียวที่สามารถใช้มองไกล (ผ่านเลนส์ชั้นบน) และใช้มองใกล้ (ผ่านเลนส์ชั้นล่าง)
ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีสายตายาวจะมองเห็นได้ชัดหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับความยาวของสายตาและกำลังการเพ่งของตา (กำลังการปรับรูปร่างของแก้วตาให้มีความโค้งและหนามากขึ้น หรือที่เรียกว่า “Accommodation“) ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ ตัวอย่างเช่น
ในคนปกติจะมีกำลังหักเหแสงของดวงตาประมาณ 63 ไดออปเตอร์ (เกิดจากกระจกตา 43 ไดออปเตอร์ และจากแก้วตา 20 ไดออปเตอร์) ถ้าผู้ป่วยมีกำลังหักเหแสงของดวงตาเพียง 60 ไดออปเตอร์ ซึ่งขาดไป 3 ไดออปเตอร์ (สายตายาว 3 ไดออปเตอร์)
- เมื่ออายุ 10 ปี มีกำลังการเพ่งของตาปกติสูงถึง 8 ไดออปเตอร์ ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยสามารถเพิ่มกำลังหักเหแสงของดวงตาจากแก้วตาจาก 20 เป็น 28 ไดออปเตอร์ ถ้าผู้ป่วยกำลังการเพ่งของตาเพิ่มขึ้นเพียง 3 ไดออปเตอร์ ก็พอที่จะชดเชยความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะทำให้กำลังหักเหแสงของดวงตาโดยรวมยังเป็น 63 ไดออปเตอร์ตามปกติ ผู้ป่วยจึงสามารถมองเห็นได้เป็นปกติโดยไม่ต้องใส่แว่นสายตา
- เมื่ออายุมากขึ้นเป็น 20 ปี กำลังการเพ่งของตาจะลดลงบ้างไปตามอายุ ผู้ป่วยยังมีกำลังการเพ่งของตาได้ถึง 4 ไดออปเตอร์ จึงสามารถมองเห็นได้เป็นปกติโดยไม่ต้องใส่แว่นเช่นกัน
- เมื่ออายุ 40 ปี และกำลังการเพ่งของตาลดลงไปอีกและมีไม่ถึง 3 ไดออปเตอร์ คราวนี้สายตาก็จะมัวลง
สาเหตุของสายตายาว
- เนื่องจากกระบอกตาสั้นไป หรือไม่ก็เป็นเพราะกระจกตาหรือแก้วตามีกำลังในการหักเหแสงน้อยไป จึงทำให้จุดรวมแสงของภาพไม่ว่าวัตถุนั้นจะอยู่ใกล้ไกลขนาดไหน ตกไปอยู่ข้างหลังของจอประสาทตา (แทนที่จะโฟกัสบนจอประสาทตา) จึงทำให้มองเห็นภาพไม่ได้ไม่ชัดทั้งในระยะใกล้และไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองวัตถุที่อยู่ใกล้ จะมัวมากกว่ามองวัตถุที่อยู่ไกล
- ผู้ที่สายตายาวมักจะมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด แต่จะแสดงอาการเมื่อโตขึ้น
- ภาพเปรียบเทียบสายตาแต่ละแบบ
อาการของคนสายตายาว
- ผู้ป่วยสายตายาวจะมองวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ไม่ชัดกว่าในวัยปกติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการของสายตาผู้สูงอายุเร็วกว่าคนทั่วไป กล่าวคือ ในคนทั่วไปจะมีภาวะสายตาผู้สูงอายุเมื่ออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป แต่ในผู้ที่มีสายตายาวอยู่ก่อนแล้วจะเกิดภาวะสายตาผู้สูงอายุได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นเมื่ออายุ 35 ปี หรือ 37 ปี เป็นต้น โดยในระยะแรก ๆ นั้นการมองใกล้ไม่ชัดมักจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนล้า เช่น ทำงานมาทั้งวันหรือเมื่อแสงไม่พอ
- ในรายที่เป็นไม่มากหรือสามารถปรับแก้วตาให้มีความโค้งและหนามากขึ้น เพื่อทำให้แสงหักเหตกอยู่ที่จอตาพอดี ก็อาจมีการมองเห็นได้ชัดเหมือนคนปกติ เพียงแต่ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตัวเองมีสายตายาวซ่อนอยู่ (ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้ป่วยที่มีสายตายาวจะมองเห็นได้ชัดหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับความยาวของสายตาและกำลังการเพ่งของตา (Accommodation) ถ้าสายตายาวมากและกำลังเพ่งเล็งเหลือน้อยก็จะมองเห็นได้ไม่ชัด แต่ถ้ากำลังเพ่งเล็งยังมีอยู่มากก็จะมองเห็นได้ชัดเหมือนคนปกติ)
- ผู้ที่มีสายตายาวมักจะมองระยะไกลได้ชัดกว่ามองในระยะใกล้ ๆ แต่ในบางรายอาจมีอาการมองไกล ๆ ไม่ชัดร่วมด้วย (ไม่เหมือนภาวะสายตาผู้สูงอายุที่มองไกล ๆ ได้ชัดเป็นปกติ แต่เมื่อมองใกล้จะไม่ชัด)
- บางคนอาจมองเห็นวัตถุเป็นสองสิ่งหรือเห็นเป็นภาพซ้อนกัน เนื่องจากต้องเพ่งตามาก จึงทำให้ลูกตามารวมกันตรงกลาง
- ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเมื่อยตา (ตาอ่อนล้าหรือเพลีย) และปวดศีรษะ (มักปวดบริเวณหน้าผาก) เมื่อใช้สายตาเพ่งมองวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ เป็นเวลานาน ๆ เช่น การอ่านหนังสือ มองจอคอมพิวเตอร์ การดูภาพยนตร์ หรือมองภาพที่เคลื่อนไหว ฯลฯ ผู้ป่วยจึงมักไม่มีอาการเหล่านี้ในตอนเช้า แต่จะมีอาการในตอนเย็น และอาการจะทุเลาลงหรือหายไปเมื่อหยุดใช้สายตา (ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะเรื้อรัง และแพทย์ต้องตรวจหาสาเหตุกันอยู่นาน บ้างก็ได้รับยามามากมายหลายชนิด อาการปวดศีรษะก็ยังไม่หาย แต่มาหายอย่างปลิดทิ้งเอาตอนตรวจพบสายตายาวและได้รับการแก้ไข)
- มีอาการตาไม่สู้แสง หรือตามีความไวต่อแสงมากกว่าคนปกติ ซึ่งผู้ป่วยสายตายาวหลายรายมักมาด้วยอาการนี้ และเมื่อแก้ไขสายตาให้แล้ว อาการตาไม่สู้แสงก็จะหายไปด้วย
- ในเด็กเล็กอาจมีอาการตาเขร่วมด้วย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่มี “สายตายาวปานกลาง” ทำให้ต้องเพ่งสายตามากตลอดเวลา จึงทำให้ตาเขเข้าใน และถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ตาข้างหนึ่งเสียจนแก้ไขไม่ค่อยได้ผล แต่ในเด็กที่มี “สายตายาวมาก” เด็กก็จะเพ่งไม่ไหวและจึงเลิกเพ่งไปในที่สุด จึงทำให้ตาไม่เข ส่วนในเด็กที่ “สายตายาวไม่มาก” การใช้กำลังเพ่งของตาจึงไม่มากไปตามด้วย ตาจึงไม่เข (โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่เกิดใหม่จะมีสายตายาว แต่เมื่ออายุมากขึ้นหรือโตขึ้น ความโค้งของกระจกตา ตลอดจนขนาดของลูกตาก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไป เพื่อไปสู่สายตาปกติเป็นส่วนใหญ่)
- ผู้ป่วยสายตายาวมักจะมีดวงตาที่เล็ก แม้แต่กระจกตาก็อาจจะมีขนาดเล็กกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย ซึ่งดวงตาที่มีขนาดเล็กนี้ยังอาจทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดต้อหินเฉียบพลันได้ง่ายกว่าคนทั่วไปด้วย
วิธีรักษาสายตายาว
- หากสงสัยว่าตนเองสายตายาว ควรไปตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาล เพราะในบางครั้งสายตายาวอาจวินิจฉัยได้ยากหรืออาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นสายตาสั้น ทางที่ดีคุณควรไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจวินิจฉัย (การวัดสายตายาวในเด็กว่ายาวเท่าไรมักจะมีปัญหาในเรื่องความแม่นยำ โดยเฉพาะจากการวัดด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะเด็กมักเพ่งสายตาจนเป็นนิสัยอยู่แล้ว ในขณะที่เด็กเพ่งจะวัดสายตาออกมาเป็นสายตาสั้นกว่าปกติ หรือออกมาเป็นสายตาปกติ หรือแม้แต่เด็กที่สายปกติอยู่แล้วก็อาจกลายเป็นสายตาสั้นได้ หรือถ้ามีสายตาสั้นเล็กน้อยก็อาจจะกลายเป็นสายตาสั้นมาก เป็นต้น ซึ่งการวัดสายตาในเด็กนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดแว่นเป็นครั้งแรก แพทย์จะวัดสายตาในขณะที่เด็กที่ยังไม่เพ่ง โดยการใช้ยาหยอดตาที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้เพ่งเกิดเป็นอัมพาตชั่วคราว ซึ่งจะขจัดความสามารถในการเพ่งออกไปได้)
- ตัดแว่นชนิดเลนส์นูนมาใส่ ซึ่งจะช่วยให้เห็นได้ชัดและหายปวดตา แต่ผู้ป่วยจะต้องหมั่นตรวจเช็กสายตาอยู่เป็นประจำ เพราะอาจจะต้องเปลี่ยนแว่นอยู่บ่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้นทุก 2-3 ปี เนื่องจากกำลังในการหักเหแสงของตาจะอ่อนลงไปตามอายุ
- ในผู้ป่วยสายตายาวที่พบว่ามีภาวะตาเขเข้าในร่วมด้วย แพทย์จะสันนิษฐานว่าภาวะตาเขนี้เกิดจากสายตายาว จึงทำให้เด็กต้องเพ่งสายตาตลอดเวลาเป็นเหตุให้ตาหมุนเข้าใน ซึ่งในกรณีเช่นนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นเพื่อไม่ให้เด็กต้องเพ่งสายตา ส่วนในกรณีที่ไม่มีภาวะตาเขร่วมด้วย การจะตัดสินใจใช้แว่นสายตาหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้สายตาของผู้ป่วย ถ้าใช้สายตามากจนมีอาการปวดเมื่อยตา ปวดศีรษะ ก็ควรได้รับการแก้ไข แต่ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวก็อาจใช้วิธีปรับดูจากดวงตาเอาเอง หรือถ้าสายตายาวแต่การมองเห็นยังไม่บกพร่องหรือไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในชีวิตประจำวันก็อาจยังไม่ต้องแก้ไขก็ได้
- ในบางรายอาจรักษาสายตายาวด้วยการทำเลสิก (LASIK)
- เมื่อมองภาพไม่ชัดหรือมีการมองเห็นที่ผิดปกติไปจากเดิม ควรไปพบจักษุแพทย์ก่อนเสมอ (ไม่ควรไปร้านตัดแว่นก่อน) เพื่อแพทย์จะได้ช่วยตรวจให้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไรและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- สายตาสั้น อาการ สาเหตุ และการรักษาสายตาสั้น 7 วิธี !!
- สายตาเอียง อาการ สาเหตุ และการรักษาสายตาเอียง 5 วิธี !!
- ตาเหล่ อาการ สาเหตุ และการรักษาตาเหล่ (ตาเข) 10 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “สายตายาว (Hypermetropia)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 945-946.
- หาหมอดอทคอม. “สายตายาว (Farsighted)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [03 เม.ย. 2016].
ภาพประกอบ : cataractsurgeryinformation.com, www.iqlaservision.com, clarkeeye.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)