ตาเหล่ (ตาเข) อาการ สาเหตุ และการรักษาตาเหล่ 10 วิธี !!

ตาเหล่ (ตาเข) อาการ สาเหตุ และการรักษาตาเหล่ 10 วิธี !!
ตาเหล่ (ตาเข) อาการ สาเหตุ และการรักษาตาเหล่ 10 วิธี !!

ตาเหล่

ตาเหล่ หรือ ตาเข (Strabismus, Squint) เป็นภาวะหรือโรคที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก แต่ก็อาจพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่ตาทั้ง 2 ข้างไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ อันสืบเนื่องมาจากการมีภาวะผิดปกติที่ทำให้การเคลื่อนไหวของลูกตาทั้ง 2 ข้างขาดการประสานงานกันเช่นคนที่มีตาปกติ โดยตาดำข้างใดข้างหนึ่งจะมีการเขเข้าด้านในทางหัวตาเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจพบได้บ้างที่ตาเขออกด้านนอกทางหางตา ตาเขขึ้นด้านบน หรือตาเขลงด้านล่าง

ในคนที่ตาปกติ ลูกตาจะเคลื่อนไหวในลักษณะที่ประสานงานสอดคล้องกันเสมอ เพื่อให้มองเห็นภาพเป็น 3 มิติ โดยมีสมองเป็นตัวสั่งการมาที่กล้ามเนื้อกลอกลูกตาทั้ง 2 ข้าง เรียกได้ว่าไปไหนไปด้วยกันเป็นแนว ๆ ขนานกันไป ถ้าตาขวาจะมองไปทางขวา ตาซ้ายก็ต้องมองไปทางขวาด้วย หรือถ้าตาซ้ายมองลงล่าง ตาขวาก็จะมองขึ้นบนหรือไปทางอื่นไม่ได้นอกจากมองลงล่างด้วย ยกเว้นในเวลาที่มองใกล้ ๆ ซึ่งตาทั้ง 2 ข้างจะหมุนเข้าหากันเพื่อจับภาพที่อยู่ใกล้ และเวลามองตรงไปข้างหน้า ตาทั้ง 2 ข้างก็จะต้องอยู่ตรงกลาง แต่ถ้าตาทั้ง 2 ข้างเวลามองตรงแล้วตาหนึ่งอยู่ตรงกลาง แต่อีกตาเขออกไปทางอื่น เราจะเรียกภาวะหรือโรคนี้ว่า “ตาเข” (Strabismus) บ้างก็เรียกว่า “ตาเหล่” หรือ “ตาเอก

จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 5% ของเด็กทั้งหมดที่เกิดมาจะตรวจพบภาวะนี้ ซึ่งอาจจะเป็นน้อยหรือมากและเป็นตาเขชนิดต่าง ๆ กันไป และมากกว่าครึ่งหนึ่งจะตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 6 เดือน

ตาเขกับตาเอียงไม่ใช่ความผิดปกติชนิดเดียวกัน แม้จะฟังดูคล้าย ๆ กันก็ตาม กล่าวคือ ตาเข (Strabismus) เป็นภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแนวตรงดังที่กล่าวมา ส่วนตาเอียง (Astigmatism) นั้น เป็นภาวะสายตาผิดปกติที่มีสาเหตุมาจากความโค้งของกระจกตาไม่สม่ำเสมอ ไม่เท่ากัน ไม่เป็นทรงกลม แต่ค่อนไปทางวงรี จึงทำให้มีการมองเห็นภาพไม่ชัด สายตามัว ซึ่งอาจเป็นลักษณะของสายตาสั้นหรือสายตายาวก็ได้ โดยที่ตาทั้งสองไม่เขหรือเอียงผิดแนวไปจากเดิมเลย

ผลเสียของตาเหล่

  1. ที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คือ ทำให้เสียบุคลิก ดูไม่สวยงาม รู้สึกเหมือนเป็นปมด้อย คนที่ตาเขจึงมักไม่ค่อยสู้หน้าคน ทำให้บั่นทอนสุขภาพจิตไปโดยไม่รู้ตัว
  2. ในรายที่ตาเขขึ้นด้านบนหรือเขลงด้านล่าง ผู้ป่วยบางคนอาจหันหน้าหรือเอียงคอเพื่อชดเชยความผิดปกติ ซึ่งจะยิ่งทำให้บุคลิกผิดไปจากคนทั่วไป
  3. มีการมองเห็นด้อยกว่าคนที่มีสายตาปกติ เนื่องจากตาทั้ง 2 ข้างไม่ทำงานร่วมกันหรือเรียกว่าต่างคนต่างทำ ต้องใช้ตาข้างเดียวเป็นหลัก จึงมองวัตถุเล็ก ๆ ไม่เป็นภาพ 3 มิติ ทำให้ทำงานที่ละเอียดได้ไม่ดีนัก เช่น งานเย็บปักถักร้อยหรืองานฝีมือต่าง ๆ เพราะอย่าลืมว่าการมองเห็นที่ดีที่สุดคือต้องมองเห็นภาพเป็น 3 มิติในวัตถุขนาดเล็ก ๆ ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยตาที่เห็นชัดทั้ง 2 ข้าง และทำงานประสานสอดคล้องกันเสมอ
  4. ถ้าปล่อยทิ้งไว้และไม่รีบแก้ไข ตาข้างที่เขอาจจะเกิดภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) จนถึงขั้นตาบอดได้
  5. ตาเขอาจเป็นอาการของโรคต่าง ๆ ได้ดังที่จะกล่าวในหัวข้อด้านล่าง

ตาเขมีกี่ชนิด

  1. ตาเขชนิดเห็นได้ชัด (Manifest strabismus) เป็นตาเขที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตาเข โดยจะมีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะ คือ
    • ตาเขเข้าด้านใน (Esotropia) ตาดำข้างที่เขจะเบนเข้าด้านในหรือมุดเข้าหาหัวตา ตาเขชนิดนี้จะพบได้มากกว่าชนิดอื่น ๆ และมักพบได้ในเด็กแรกเกิดอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป จึงอาจเรียกว่าเป็นตาเขเข้าด้านในชนิดแรกเกิด (Infantile esotropia) หรือ “ตาไขว้” (Crossed eye) ส่วนสาเหตุที่เกิดยังไม่ทราบได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เมื่อมองภาพระยะใกล้จำเป็นต้องเพ่งมากเกินไปทำให้ตาดำมุดเข้าหากัน หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกลูกตา หรือประสาทบังคับการทำงานกล้ามเนื้อตาไม่สมดุลกัน และสาเหตุอื่น ๆ นั่นก็คือ ตาเขเหมือนพ่อเหมือนแม่ คือ ตาเขตามกรรมพันธุ์นั่นเอง
    • ตาเขออกด้านนอก (Exotropia) ตาดำข้างที่เขจะเบนหรือเฉียงออกด้านนอกหางตา เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่าชนิดตาเขเข้าด้านใน ไม่ค่อยพบในเด็ก ๆ ซึ่งตาเขชนิดนี้มักจะเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้น หรือตาข้างที่เขมองไม่ชัด ซึ่งอาจเป็นเพราะโรคกระจกตาดำเลนส์ตาขุ่น วุ้นลูกตาขุ่น รูม่านตาตีบ และประสาทจอรับภาพผิดปกติ เป็นผลให้ตาข้างนั้นไม่สามารถจับจ้องภาพได้ จึงเบนออกด้านนอก ผู้ที่มีตาเขชนิดนี้ ถ้าซักประวัติอย่างละเอียดจะพบว่าเคยประสบอุบัติเหตุถูกไม้ทิ่มตา หรือมีวัตถุแปลกปลอมเข้าตาจนทำให้เกิดแผลเป็นที่ตาดำ เลนส์ตา หรือประสาทจอรับภาพตาพิการมาก่อน
    • ตาเขขึ้นด้านบน (Hypertropia) ตาดำข้างที่เขจะลอยขึ้นด้านบน อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา เป็นชนิดที่พบได้น้อย
    • ตาเขลงด้านล่าง (Hypotropia) ตาดำข้างที่เขจะมุดลงด้านล่าง เป็นตาเขชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อสำหรับกลอกตาหรือมีแผลเป็นที่กล้ามเนื้อตาหลังอุบัติเหตุดึงรั้งให้ลูกตามุดลงด้านล่าง ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้น้อยเช่นกัน
  2. ตาเขชนิดหลอก ๆ หรือ ตาเขเทียม (Pseudostrabismus) เป็นตาเขที่พบได้ในเด็กที่สันจมูกยังแบนราบกับผิวหนังและบริเวณหัวตากว้าง จึงแลดูคล้ายตาเหมือนอยู่ชิดหัวตา เหมือนลักษณะตาเขเข้าด้านใน แต่เมื่อเด็กโตขึ้นสันจมูกมีดั้งสูงขึ้น ภาวะคล้ายตาเขนี้จะหายไปเอง อีกประเภทคือ มีรูปหน้าแคบ ทำให้ตาทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก แม้จมูกจะโด่ง แต่ก็ทำให้ดูเหมือนคนตาเขเข้าในได้เช่นกัน หรืออีกประเภทคือ มีใบหน้ากว้าง ทำให้ลูกตาอยู่ห่างกันมากกว่าปกติ จนดูคล้ายกับคนตาเขออกด้านนอก
  3. ตาเขชนิดซ่อนเร้น (Phoria) หรือที่บางคนเรียกว่า “ตาส่อน” เป็นภาวะที่ถ้าลืมตาแล้ว ตาทั้ง 2 ข้างจะอยู่ตรงกลางเป็นปกติดี แต่เวลาที่ร่างกายอ่อนเพลีย หรือเมื่อเอาอะไรมาบังตาข้างใดข้างหนึ่ง ตาข้างนั้นจะเบนออกจากตรงกลาง ถ้าเอาที่บังตาออก ตาข้างนั้นก็จะกลับมาตรงใหม่ ภาวะนี้มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่อาจเป็นสาเหตุให้มีอาการเมื่อยล้าตาได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเมื่อต้องใช้สายตามาก ๆ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกกล้ามเนื้อตา
  4. ตาเขชนิดอัมพาตของประสาทกล้ามเนื้อตาหรือจากโรคทางร่างกายอย่างอื่น เป็นตาเขชนิดที่มักพบได้ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กพบได้น้อย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อกลอกลูกตาอ่อนตัวหรือเป็นอัมพาต ซึ่งมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน (สาเหตุอาจมาจากการอักเสบที่ประสาทเส้นนั้นมีก้อนมะเร็งกดประสาท หรือมีพยาธิ เช่น ตืดหมู ตัวจี๊ด เข้าไปฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่มีแรงกระแทกอย่างรุนแรงจนทำให้ประสาทบังคับการกลอกลูกตามัดใดมัดหนึ่งเป็นอัมพาตไปทันที), เกิดตามหลังภาวะโรคระบบอื่นของร่างกาย (เช่น เป็นโรคเบาหวานนาน ๆ ตาอาจเขออกนอกได้ เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง), เกิดจากโรคของระบบอื่นในร่างกาย (พบได้ไม่บ่อย)
รูปคนตาเหล่

นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งชนิดของตาเขได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามความสามารถในการมองสองตาพร้อมกัน ได้แก่ ตาเขซ่อนเร้น (Phoria), ตาเขเป็นครั้งคราว (Intermittent tropia), ตาเขถาวร (Tropia), ตาเขแบบผลัดข้างกันเข (บางครั้งเป็นตาซ้าย บ้างก็ตาขวา), แบ่งตามอายุการเกิด ได้แก่ Infantile ที่พบตาเขก่อนอายุ 6 เดือน และ Acquired ที่พบตาเขหลัง 6 เดือน, แบ่งตามรูปแบบของการเข ได้แก่ Horizontal type (ตาเขเข้าหรือตาเขออก), Vertical type (ตาเขขึ้นหรือตาเขลง), Torsional type (ตาหมุนเข้าในหรือตาหมุนเข้านอก) และ Combined type ที่พบตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไปร่วมกัน เป็นต้น

สาเหตุของตาเหล่

  • ในทารกแรกเกิด สายตาจะยังเจริญไม่เต็มที่ และอาจมีอาการตาเขได้บ้าง แต่ถ้าอายุเลย 6 เดือนไปแล้วยังมีอาการตาเขอยู่อีกก็ถือว่าผิดปกติ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ
    • สาเหตุมาจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ซึ่งอาจจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิด ที่พบได้บ่อยคือ ในเด็กที่มีสายตายาวปานกลางจะมีตาเขเข้าด้านใน เพราะเด็กต้องเพ่งเพื่อปรับสายตาให้เห็นชัดขึ้น ซึ่งการเพ่งบ่อย ๆ นี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ตาเขเข้าในได้ หากพบแต่เนิ่น ๆ การแก้ไขสายตายาวด้วยแว่นก็อาจทำให้ภาวะตาเขหายไปได้ ส่วนในเด็กที่มีสายตาสั้นหรือสายตาเอียงบางราย อาจทำให้กล้ามเนื้อขาดความสมดุลจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเขได้เช่นกัน
    • เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม ซึ่งการซักประวัติของบุคคลในครอบครัวร่วมด้วยจะสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
    • เกิดจากความพิการของกล้ามเนื้อกลอกลูกตา
    • เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เด็กปัญญาอ่อนหรือเด็กที่มีพัฒนาการทางร่างกายช้า
    • เกิดจากการมีโรคในตาข้างใดข้างหนึ่งจนทำให้สายตาข้างนั้นมัวลงมากกว่าอีกข้าง เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อตาไม่สมดุลและเกิดภาวะตาเข
    • เกิดจากมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma) เป็นผลทำให้ตาข้างที่เป็นโรคอาจมีระดับสายตาลดลงมากเนื่องมีจากมีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่มาบดบังจุดภาพชัด (Macula) ทำให้เกิดภาวะตาเขตามมา และหากไม่รีบรับการรักษาก็อาจทำให้เด็กเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้
  • อาการตาเขอาจเกิดขึ้นภายหลังจากพ้นวัยเด็กเล็กมาแล้วก็ได้ (ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด) ซึ่งอาจเกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ เช่น
    • กล้ามเนื้อกลอกลูกตาเป็นอัมพาต
    • เนื้องอกในสมอง ทำให้เส้นประสาทเส้นที่ 6 เป็นอัมพาต
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
    • โรคเบาหวาน เมื่อเป็นโรคนี้นาน ๆ จะทำให้มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลูกตาได้น้อยลง เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อลูกตาเป็นอัมพาตและตาเขตามมา
    • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis – MG) เป็นโรคกล้ามเนื้อทั่วตัวอ่อนแรง ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อตา เป็นโรคที่พบได้บ้างประปราย ส่วนสาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด
    • โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)
    • โรคโบทูลิซึม (Botulism)
    • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอีกโรคหนึ่งที่อาจทำให้เกิดภาวะตาเขได้
    • มะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอที่ลุกลามเข้ากดกล้ามเนื้อตาหรือลุกลามเข้าไปที่เส้นประสาท เช่น มะเร็งไซนัส มะเร็งโพรงหลังจมูก
  • มีผู้ป่วยหลายรายที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

อาการตาเหล่

  • ในเด็กที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด มักจะไม่มีอาการอะไรนอกจากตาเข (ตาไม่เคลื่อนไหวไปในแนวทางเดียวกัน ทำให้มองเห็นตาเขได้ชัดเจน) แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้และไม่รีบแก้ไขภายในช่วงอายุที่เหมาะสม ตาข้างที่เขจะมีสายตาพิการได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเด็กจะไม่ใช้ตาข้างนั้นในการมอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเห็นภาพซ้อน โดยใช้แต่ตาข้างที่ดีเพียงข้างเดียว) แต่เมื่อไม่ใช้ตาข้างนั้นนาน ๆ เข้า สายตาก็จะมัวลงไปเรื่อย ๆ ทีละน้อยจนบอดในที่สุด ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า “ตาขี้เกียจ” (Amblyopia) ซึ่งภาวะนี้จะไม่พบในผู้ซึ่งภาวะตาเขเริ่มภายหลังอายุ 9 ปี เพราะสมองได้พัฒนาการมองเห็นจนสมบูรณ์แล้ว
  • ในระยะแรกเด็กอาจมองเห็นภาพซ้อน เนื่องจากตาทั้ง 2 ข้างมองไปยังจุดที่ต่างกัน แต่ในระยะต่อมาสมองจะเริ่มปรับตัวโดยไม่สนใจภาพที่เห็นจากตาอีกข้างหนึ่ง (Suppression) เพื่อช่วยให้ภาวะเห็นภาพซ้อนหายไป เมื่อเริ่มเป็นโรคนี้ เด็กจึงอาจแสดงอาการหยีตาอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่มีแสงจ้า เพราะการหยีตาข้างหนึ่งจะช่วยให้การมองเห็นภาพซ้อนหายไป
  • ในรายที่เป็นตาเขตอนโต มักจะมีอาการมองเห็นภาพ 2 ภาพ หรือเห็นภาพซ้อนร่วมด้วย และอาจมีอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น
  • ผู้ป่วยตาเขบางชนิดอาจมีอาการปวดศีรษะเมื่อต้องใช้สายตามองในระยะใกล้ ๆ เป็นเวลานาน เนื่องจากมีการเกร็งกล้ามเนื้อลูกตา
วิธีแก้ตาเหล่

วิธีรักษาตาเหล่

  1. ถ้าพบอาการตาเขเป็นครั้งคราวในทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน แพทย์จะเฝ้าติดตามดูอาการไปเรื่อย ๆ เพราะถ้าไม่มีสาเหตุที่ผิดปกติ อาการก็มักจะหายไปได้เมื่ออายุได้ 6 เดือน แต่ถ้าอายุเลย 6 เดือนไปแล้วยังไม่หาย ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูภายในลูกตาอย่างละเอียด ดูว่ามีโรคอื่น ๆ ที่เป็นต้นเหตุของตาเขหรือไม่ มีภาวะตาขี้เกียจหรือไม่ และวัดดูว่าความเขมีมากน้อยเพียงใด เพื่อใช้ประเมินในการรักษาต่อไป รวมถึงตรวจวัดตาทั้ง 2 ข้างว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ตาเขและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขหรือรักษาให้หายเสียก่อน
    • ทารกทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองอาการตาเขเป็นระยะ ตั้งแต่อายุได้ประมาณ 2-3 เดือน
    • อาการตาเขที่พบในทารกและเด็กเล็ก ควรนึกไว้เสมอว่าอาจมีสาเหตุผิดปกติซ้อนเร้นอยู่ และควรได้รับการรักษาก่อนอายุ 3-5 ปี ผู้ปกครองอย่าเข้าใจผิดคิดว่าเมื่อเด็กโตขึ้นแล้วอาการนี้จะหายไปได้เอง มิเช่นนั้นอาจทำให้เด็กตาเขและสายตาพิการอย่างถาวรได้ อีกทั้งการรักษาตาเขที่ไม่ทราบสาเหตุในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะรักษาในเด็กเล็กมากยิ่งขึ้นด้วยวิธีการผ่าตัด เพราะการดมยาสลบในเด็กเล็กมีความปลอดภัยสูงขึ้น ส่วนผลการผ่าตัดนอกจากจะช่วยให้เด็กตาตรงเป็นปกติดีแล้ว ยังทำให้เด็กมีพัฒนาการมองเห็นได้อย่างสมบูรณ์เหมือนคนปกติอีกด้วย
  1. ถ้าทารกมีอาการตาเขอยู่ตลอดเวลา หรือพบอาการนี้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ผู้ปกครองควรพาไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ตาข้างที่เขอาจจะเกิดภาวะตาขี้เกียจจนถึงขั้นตาบอดได้
    • ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องพยายามประคองเรื่องสายตา (visual acuity) ของตาทั้งสองให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กที่ตาเขหากปล่อยทิ้งไว้ ตาข้างที่เขจะมีสายตาเสื่อมลงเรื่อยๆ จนถึงระยะใช้การไม่ได้ ทำให้ตาข้างนั้นพิการ ซึ่งระยะที่เหมาะสมต่อการรักษาคืออายุ 6 เดือนแรกถึง 2 ปี เพราะเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นตาเขเข้าด้านในและมีความผิดปกติของสายตาร่วมด้วยเสมอ โดยมักจะเป็นชนิดสายตายาว ต้องใส่แว่นสายตาชนิดเลนส์นูนที่ตรงกับค่าสายตา และต้องพยายามให้เด็กสวมแว่นตาเมื่ออายุได้ 2-3 ปี (ผู้ปกครองไม่ต้องแปลกใจหรือสงสัยว่าเด็กตัวเล็กนิดเดียวต้องใส่แว่นแล้วหรือ เพราะเด็กต้องใส่แว่นเพื่อให้ตาทั้ง 2 ข้างเห็นชัดดีขึ้น เด็กจะได้สบายตา และตาอาจตรงกลับคืนมาได้เหมือนคนปกติ) แต่ในระยะเริ่มแรกที่ตรวจวัดสายตาไม่ได้แน่ชัด ควรพยายามบังคับให้เด็กใช้ตาทั้งสองข้างสลับกัน (ฝึกกล้ามเนื้อตา) โดยใช้วิธีการปิดตาข้างที่ดีเอาไว้วันละหลายชั่วโมง เพื่อให้ตาข้างที่เขได้ทำหน้าที่บ้าง
    • ถ้ามีภาวะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ควรได้รับการแก้ไขหรือรักษาให้หายเสียก่อน (เช่น การตัดแว่นใส่) เพราะในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการตาเขอาจมีสาเหตุมาจากสายตาที่ผิดปกติ หากได้รับการแก้ไขสายตาที่ผิดปกติแล้ว อาจช่วยให้เด็กบางคนหายจากอาการตาเขได้ภายในไม่กี่เดือน โดยไม่ต้องใช้วิธีอื่น (แต่ถ้ายังมีภาวะตาเขหลงเหลืออยู่ อาจต้องทำการผ่าตัดเพิ่มเติมในภายหลัง)
    • การรักษาภาวะตาขี้เกียจ มักทำการแก้ไขด้วยการปิดตาข้างดีไว้ เพื่อกระตุ้นให้เด็กใช้ตาข้างที่มีสายตาขี้เกียจบ่อยขึ้น ส่วนระยะเวลาในการปิดตาก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอายุของเด็ก หากเป็นเด็กเล็กการปิดตาข้างที่ดีในแต่ละวันไม่ควรปิดติดต่อกันนานหลายชั่วโมง เพราะอาจจะทำให้ระดับสายตาข้างที่เป็นปกติลดลง ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า “Occlusion amblyopia” เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักจะไม่ให้ความร่วมมือในการปิดตาข้างที่ดี การรักษาจึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ปกครองและครู โดยต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการรักษาภาวะสายตาขี้เกียจในระยะที่เหมาะสม แต่ในกรณีที่ไม่สามารถปิดตาได้ แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาหยอดขยายรูม่านตาในตาข้างที่เป็นปกติเพื่อทำให้ตานั้นมัวลง ซึ่งอาจช่วยให้เด็กหันมาใช้ตาข้างที่ขี้เกียจบ่อยขึ้น
    • ในรายที่มีอาการตาเขมากหรือรักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วแต่ยังไม่ได้ผล หรือยังมีภาวะตาเขหลงเหลืออยู่ อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดดึงกล้ามเนื้อตาให้ลูกตาอยู่ในแนวที่ต้องการใกล้เคียงธรรมชาติ แต่ในรายที่ยังมีลักษณะตาเขเหลืออยู่ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติม (การผ่าตัดตาเข คือ การผ่าตัดเลื่อนหรือตัดกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กลอกตาใหม่ เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งลดขนาดความยาวกล้ามเนื้อ โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยอาศัยการวัดมุมเขที่เหลือด้วยการใช้เครื่องมือพิเศษ หลังการผ่าตัดแพทย์จะปิดตาข้างที่ผ่าไว้ 1 วัน จากนั้นจึงเปิดใช้สายตาได้ตามปกติ สำหรับเด็กเล็กในเวลานอนแพทย์จะให้ใช้ที่ครอบตาปิดไว้เพื่อกันเด็กขยี้ตา ซึ่งในช่วงสัปดาห์ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าตา เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ และต้องมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อดูอาการว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส่วนแผลจากการผ่าตัดนั้นเมื่อเวลาผ่านพ้นไป 2-3 เดือน ก็แทบจะไม่เห็นแผลเป็นหรือร่องรอยจากการผ่าตัดเลย)
    • การรักษาอาการตาเขและตาขี้เกียจ เมื่อรักษาก่อนเด็กอายุได้ 3-5 ปี จะทำให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติได้สูง (มีคุณภาพในการมองเห็นที่ดีเช่นคนปกติ) แต่ถ้าอายุได้ประมาณ 5-7 ปี อาการตาขี้เกียจอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้น และถ้าอายุมากกว่า 7 ขึ้นไป การรักษาตาขี้เกียจมักไม่ค่อยได้ผล เพราะหลังจากเลยวัยนี้ไปแล้ว ตาข้างที่เขอาจมีสายตาพิการอย่างถาวรจนยากที่จะแก้ไขได้แล้ว
  2. ถ้าพบอาการตาเขในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ที่สงสัยว่าอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาไปตามสาเหตุที่พบตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เดินเซ เพราะสาเหตุอาจจะมาจากโรคอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นโรคร้ายแรงได้ ส่วนใหญ่หลังจากรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุให้หายดีแล้ว อาการตาเขก็มักจะหายไปได้เอง แต่ถ้าไม่หายก็อาจต้องแก้ไขด้วยการใส่แว่น การฉีดโบท็อกซ์ (Botox) หรือถ้าทำทุกอย่างแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
    • ในรายที่ตาเขไม่มากอาจรักษาด้วยการฝึกกล้ามเนื้อตา ใช้แว่นสายตาหรือแว่นแก้วปริซึม (Prism Glasses) แก้ไข ซึ่งจะช่วยหักเหแสงให้ตกพอดีที่จุดรับภาพที่จอตา หรืออาจรักษาด้วยการฉีดโบท็อกซ์ (Botox) ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว โดยฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อตาที่เป็นสาเหตุทำให้ตาเข หรืออาจใช้วิธีการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา ซึ่งอาจทำให้ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับว่าตาเขมากน้อยเพียงใด
    • สำหรับตาเขที่พบในผู้ใหญ่และเป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข ถ้าไม่อยากแก้ไขก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเป็นแล้วทางที่ดีควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตากับจักษุแพทย์เสมอ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขให้สายตากลับมาเป็นเป็นปกติ หรืออย่างน้อยก็เพื่อตรวจดูว่าตาเขที่เป็นอยู่นั้นก่อโรคอะไรต่อดวงตาบ้างเพื่อจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
    • ตาเขชนิดที่เกิดจากโรคในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย และมีสาเหตุที่ชัดเจนไปกดประสาทบังคับการทำงานของกล้ามเนื้อตา ก็ต้องพยายามขจัดสาเหตุนั้นออกไป เช่น ถ้าตาเขชนิดออกนอกเกิดจากก้อนมะเร็งกดก็ต้องผ่าตัดก้อนมะเร็งออก ถ้าเกิดจากการอักเสบก็ให้รักษาเรื่องการอักเสบ หรือถ้าเกิดจากเบาหวานก็ให้ควบคุมเบาหวานให้ดี เป็นต้น
    • ตาเขชนิดที่เกิดจากอุบัติเหตุ แพทย์มักจะให้ยาช่วยบำรุงประสาทตาและรอจนกว่าประสาทตาจะฟื้นประมาณ 6-8 เดือน แต่ถ้ายังไม่หายสนิทก็ต้องผ่าตัดมุมที่เหลือ
    • การรักษาตาเขด้วยการผ่าตัดสามารถทำให้ตาตรงใกล้เคียงกับธรรมชาติได้และไม่มีอันตราย เมื่อทำการผ่าตัดตาเขให้ตรงได้แล้ว ที่สำคัญอย่างมากก็คือ ผู้ป่วยต้องพยายามให้ตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้ด้วย (Binocular vision) แต่ถ้าทำไม่ได้ ตาตรงก็ถือว่าใช้ได้ในแง่ของความสวยงาม
    • ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปจนกระทั่งถึง 50-60 ปี ลักษณะตาเขจะค่อนข้างถาวร คือ เป็นข้างใดข้างหนึ่งอย่างแน่นอน (Constant) ส่วนบางรายอาจพบว่าตาเขสลับข้างกันไปมา (Alternating) ซึ่งกลุ่มนี้มักจะเป็นตาเขชนิดออกด้านนอกเป็นส่วนใหญ่ แพทย์จะตรวจก่อนว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาหรือไม่ ถ้ามีก็แก้ไขด้วยการใส่แว่นตาก่อน ส่วนมุมเขที่เหลือค่อยผ่าตัด ถ้าสายตาปกติดี แต่ตาเข อาจผ่าตัดให้ใกล้เคียงธรรมชาติได้เลยเพื่อความสวยงาม

สรุป การรักษาตาเขไม่ใช่ทำกันได้ในทันทีทันใด ต้องรักษาไปตามขั้นตอน ในบางรายก็สามารถรักษาให้หายได้เกือบสนิท บางรายก็ใกล้เคียง แต่บางรายก็เป็นการรักษาเพื่อลบปมด้อยในแง่ของความสวยความงามเท่านั้น ดั่งคำพังเพยของจักษุแพทย์ชื่อดังที่กล่าวไว้ว่า “ตาใดที่เคยผิดปกติมาแล้ว ความผิดปกติย่อมเหลืออยู่ แต่แพทย์จะให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้เท่านั้น…” ส่วนการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย คนในครอบครัว หรือแพทย์เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ตาเข (Strabismus)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 947-948.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 124 คอลัมน์ : ตา…หน้าต่างโลก.  (นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์).  “ตาเข หรือ ตาเหล่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [16 เม.ย. 2016].
  3. ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ตาเหล่! ใครว่ารักษาไม่ได้”.  (รศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [17 เม.ย. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “ตาเหล่ ตาเข (Strabismus)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [17 เม.ย. 2016].

ภาพประกอบ : opto.ca, www.medifee.com, keniaeyehospital.com, gogetfunding.com, sabateseye.com, consultqd.clevelandclinic.org, bodlaeyecare.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด