12 สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ขับลมในกระเพาะ!

อาการท้องอืด

อาการท้องอืด คือ อาการผิดปกติของท้องหรือลำไส้ มักมีอาการบริเวณตรงกลางของท้องด้านบน (อยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ) ทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง ตึง ๆ อืด ๆ หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร เรอเหม็นเปรี้ยว และอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกหรือลิ้นปี่ ทำให้โดยรวมเกิดความรู้สึกปวดท้อง แน่นท้อง มีลมในท้อง ต้องเรอบ่อย ๆ

โดยอาการท้องอืดนี้ก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่หลัก ๆ แล้วก็จะเกิดจากอาหารหรือพฤติกรรมการกิน (โดยเฉพาะอาหารรสจัดที่ทำให้เยื่อบุอาหารอักเสบ การกินอาหารรีบร้อนหรือเคี้ยวไม่ละเอียด หรือกินครั้งละมาก ๆ กินอาหารย่อยยากหรืออาหารมัน ๆ รวมไปถึงพฤติกรรมการกินลมต่าง ๆ คือ การพูดมาก ๆ เคี้ยวหมากฝรั่ง ดูดลูกอม ดูดน้ำผ่านหลอด) นอกจากนั้นรองลงมาก็มาจากการมีโรคในระบบทางเดินอาหาร การกินยาบางชนิด แอลกอฮอล์ คาเฟอีน การสูบบุหรี่ หรือเกิดจากโรคบางอย่าง

สำหรับการรักษาอาการท้องอืดนั้น ถ้าสาเหตุมาจากอาหารหรือพฤติกรรมการกิน การใช้สมุนไพรดังที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ (ยามฉุกเฉิน) ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืดให้ดีขึ้นได้ หรือถ้าเน้นสะดวกและปลอดภัย คุณอาจเลือกใช้ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาขับลม หรือยาธาตุน้ำแดง แทนก็ได้ แล้วในภายหลังก็พยายามปรับอาหารหรือพฤติกรรมการกินใหม่ โดยกินอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการท้องอืดเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ คุณก็ควรไปพบแพทย์นะครับ

สมุนไพรแก้ท้องอืด

1. ขิง (Zingiber officinale Roscoe) ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน มีกลิ่นเฉพาะ ส่วนที่ใช้เป็นยาได้คือ เหง้าแก่สด ต้น ใบ ดอก และผล ซึ่งก็มีสรรพคุณมากมายแตกต่างกันไป โดยที่นิยมใช้เป็นยามากที่สุดคือส่วนของเหง้าแก่สด ๆ ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะมีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ อาการจุกเสียด ทำให้หลับสบาย แก้อาเจียน ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ฯลฯ
วิธีใช้ : ใช้เหง้าขิงแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) นำมาทุบให้แหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้ 5 นาที รินเอาแต่น้ำดื่มระหว่างมื้ออาหาร หรือถ้าเป็นผงขิงแห้งให้ใช้ประมาณ 0.6 กรัม นำมาต้มกับน้ำเติมน้ำตาลดื่ม*

2. สะระแหน่ (Mentha cordifolia Opiz ex Fresen.) ไม้ล้มลุกเลื้อยแผ่ไปตามดิน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปรีออกเรียงตรงข้าม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีกลิ่นหอมเฉพาะ
วิธีใช้ : ตำรายาไทยใช้ทั้งต้นสด ๆ กินเป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ ช่วยทำให้สบายท้อง และยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาต่าง ๆ ด้วย*

สะระแหน่แก้ท้องอืด
IMAGE SOURCE : 123RF

3. ขมิ้น ขมิ้นชัน หรือขมิ้นแกง (Curcuma longa L.) ไม้ล้มลุกอายุหลายปี เหง้าใต้ดินเป็นรูปไข่มีแขนงรูปทรงกระบอกแตกออกด้านข้าง 2 ด้าน เนื้อด้านในมีสีเหลืองส้ม กลิ่นเฉพาะ นิยมใช้ทั้งเหง้าแก่สดและแห้งมาทำเป็นยา โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องอืด ท้องร่วง แก้โรคกระเพาะ
วิธีใช้ : ใช้เหง้าขมิ้นแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว เอามาขูดเปลือกออก ล้างนำให้สะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำ แล้วคั้นเอาแต่น้ำมารับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง*

4. กระชาย (Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.) ไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ รากอวบรูปทรงกระบอกหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว ออกเป็นกระจุก ส่วนของเหง้าใต้ดิน เหง้าและราก รวมถึงใบ สามารถนำมาใช้เป็นยาได้ โดยส่วนของเหง้าและรากนั้นจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ปวดมวนในท้อง
วิธีใช้ : ใช้เหง้าและรากกระชาย ประมาณครึ่งกำมือ (สดหนัก 5-10 กรัม, แห้ง 3-5 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน*

5. โกฐน้ำเต้า (Rheum palmatum L.) ไม้พุ่มแตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นพืชแถวยุโรป อินเดีย จีน รัสเซีย แต่สามารถหาซื้อได้ในไทย ส่วนของเหง้าใช้เป็นยาได้ โดยมีสรรพคุณค่อนข้างหลากหลาย แต่ที่เกี่ยวข้องคือ สรรพคุณขับลม แก้อาการอาหารไม่ย่อย ช่วยดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ธาตุพิการ
วิธีใช้ : ใช้เหง้าแห้งครั้งละ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ถ้าเป็นเหง้าแบบที่บดเป็นผงมาแล้วให้ใช้ครั้งละ 1-1.5 กรัม) และใช้เป็นส่วนผสมหลักใน “กลุ่มยาธาตุน้ำแดง” ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด เรอเหม็นเปรี้ยวจากกรดเกินในกระเพาะ*

โกฐน้ำเต้าแก้ท้องอืด
IMAGE SOURCE : 123RF

6. พริกไทย (Piper nigrum L.) ไม้เลื้อยที่มีทั้งต้นตัวผู้และตัวเมีย มีผลรวมกันเป็นช่อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เมื่อแก่แล้วมีเมล็ดสีดำอยู่ภายใน 2 เมล็ด (หรือเรียกว่า “พริกไทยดำ”) โดยเมล็ดพริกไทยนี้จะมีสรรพคุณเป็นยาขับลม ขับเสมหพ ชับเหงื่อ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ แก้อาหารไม่ย่อย
วิธีใช้ : ใช้เมล็ดพริกไทยประมาณ 15-20 เมล็ด (0.5-1 กรัม) นำมาบดให้ป็นผง ใช้ชงกับน้ำรับประทานเพียง 1 ครั้ง*

7. กระวาน (Amomum krervanh Pierre) ไม้ล้มลุกมีเหง้า ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม (สีนวล มี 3 พู) มีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง โดยเฉพาะสรรพคุณช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด
วิธีใช้ : ใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล (0.6-2 กรัม) นำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา โดยนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งถ้วยแก้ว แล้วใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว*

กระวานแก้ท้องอืด
IMAGE SOURCE : 123RF

8. ไพล (Zingiber montanum (Koenig) Link ex Dietr.) ไม้ล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดิน แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ จัดเป็นสมุนไพรมากสรรพคุณและใช้เป็นยาได้ทุกส่วน แต่นิยมใช้เหง้าเป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
วิธีใช้ : ใช้เหง้าไพลแห้งนำมาบดให้เป็นผง รับประทานเพียงครั้งละ ½ – 1 ช้อนชา โดยใช้ชงกับน้ำร้อนผสมเกลือเล็กน้อยดื่ม*

9. ผักชีลา (Coriandrum sativum L.) พืชล้มลุกตระกูลพาร์สลี (Parsley) ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาคือส่วนของผลแก่แห้งที่เรียกว่า “ลูกผักชี” (Cilantro)
วิธีใช้ : ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมมีการใช้ลูกผักชีเป็นส่วนผสมในหลากหลายตำรับยา เช่น ตำรับยาธาตุบรรจบ ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ ฯลฯ หรือใช้เป็นส่วนผสมทำเป็นทิงเจอร์โกฐน้ำเต้าที่ใช้ในยาธาตุน้ำแดงช่วยขับลม

ลูกผักชีแก้ท้องอืด
IMAGE SOURCE : 123RF

10. พลู (Piper betle L.) ไม้เถาเนื้อแข็ง รากฝอยออกบริเวณข้อใช้ยึดเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจออกเรียงสลับ มีกลิ่นเฉพาะและมีรสเผ็ด
วิธีใช้ : ตำรายาไทยจะใช้น้ำคั้นจากใบพลูสดกินเป็นยาขับลม*

11 ดีปลี (Piper retrofractum Vahl) ไม้เถามีรากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะ ทุกส่วนของสมุนไพรชนิดนี้ล้วนมีสรรพคุณทางยา ตั้งแต่ ราก เถา ใบ ดอก และผลแก่จัด โดยส่วนที่นำมาใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง เราจะใช้ส่วนของผล (ผลสดมีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง มีรสเผ็ดร้อน) และส่วนของเถา
วิธีใช้ : ใช้ผลดีปลีแก่แห้งสีน้ำตาลแดงประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม แต่หากไม่มีผลก็สามารถใช้เถาต้มแทนได้*

ดีปลีแก้ท้องอืด
IMAGE SOURCE : 123RF

12. กานพลู (Syzygium aromaticum (L.) Merr.& L.M.Perry) ไม้ยืนต้นสูง 9-12 เมตร เรือนยอดเป็นรูปทรงกรวยคว่ำ ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม และปวดท้อง
วิธีใช้ : ใช้ดอกกานพลูโตเต็มที่ (ที่ยังตูม) ประมาณ 4-6 ดอก (0.25 กรัม) นำมาทุบให้ช้ำ ชงกับน้ำดื่มครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว*

หมายเหตุ* : คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้และปริมาณที่ใช้สมุนไพรดังกล่าว คือปริมาณที่แนะนำให้ใช้ในผู้ใหญ่เท่านั้น (ไม่รวมเด็กและเด็กอ่อน)

ตัวอย่างยาสมุนไพรแก้ท้องอืด

นอกจากยาสมุนไพร (ยาที่ยังไม่ได้นำมาผสมหรือแปรสภาพ) ดังที่กล่าวไปแล้ว สมุนไพรแก้ท้องอืดยังมีอยู่ในยาแผนโบราณอีกหลายตำรับ เช่น ยาธาตุบรรจบ ยาธาตุอบเชย ยาประสะกานพลู ฯลฯ และยังมีอยู่ในยาสามัญประจำบ้านด้วย ซึ่งในยาสามัญประจำบ้านที่ว่าก็คือ “กลุ่มยาธาตุน้ำแดง” ซึ่งจะเป็นยาที่เราจะพูดถึงกันในท้ายบทความนี้

ด้วยเพราะเป็นยาสามัญประจำบ้าน* (ที่ควรมีไว้ติดบ้านอยู่แล้ว) จึงทำให้มีราคาถูก หาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไป สามารถใช้บรรเทาอาการและรักษาโรคได้ดี และที่สำคัญคือมีความปลอดภัยสูง เพราะมีขนาดบรรจุและปริมาณยาที่ใช้แน่นอนเหมาะสมกับอาการ (หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้น แสดงว่าอาการของโรคนั้นรุนแรง ทำให้ทราบว่าเราควรรีบไปพบแพทย์ได้แล้ว)

หมายเหตุ : ยาสามัญประจำบ้าน คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรองว่าเป็นยาที่เหมาะสมที่สามารถให้ประชาชนทั่วไปหาซื้อมาใช้ได้เองตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น ยาธาตุน้ำแดง (ลดอาการท้องอืด), ยาใส่แผลทิงเจอร์ไอโอดีน (รักษาแผลสด), ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง (บรรเทาอาการปวดบวมอักเสบจากแมลงกัดต่อย) ฯลฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “ท้องอืด…. อาหารไม่ย่อย”. (ศ.พญ.ศศิประภา บุญญพิสิฎฐ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [02 ส.ค. 2021].
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 334 คอลัมน์ : ล้านคำถามเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร. “ยาขับลม แก้ท้องอืดแก๊สในกระเพาะ”. (ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [02 ส.ค. 2021].
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กานพลู, กระวาน, ดีปลี, กระชาย, ขมิ้นชัน, ขิง, สะระแหน่, พริกไทย, พลู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [02 ส.ค. 2021].
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักชีลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [03 ส.ค. 2021].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. “แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [04 ส.ค. 2021].
  6. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. “ยาสามัญประจำบ้าน’ มีติดบ้านไว้… ดี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pca.fda.moph.go.th. [05 ส.ค. 2021].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุ ๔ ตรากิเลน
ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุ ๔ ตรากิเลน
เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด