ยาธาตุน้ำขาว (Salol et Menthol Mixture) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ยาธาตุน้ำขาว (Salol et Menthol Mixture) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ยาธาตุน้ำขาว

ยาธาตุน้ำขาว (ภาษาอังกฤษ : Salol et Menthol Mixture) เป็นยาที่ใช้รับประทานเพื่อทำลายเชื้อโรคในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด ช่วยขับลม

ยาธาตุน้ำขาวเป็นยาน้ำสีขาวในรูปแบบของยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) มีกลิ่นหอม รสหวาน รับประทานง่าย เป็นยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้ง่าย มีราคาถูก สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์น้อย จึงเป็นยาที่ได้รับความนิยมในผู้บริโภคตลอดมา

ตัวอย่างยาธาตุน้ำขาว

ยาธาตุน้ำขาวมีชื่อทางการค้า เช่น

  • ยาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบิน ขนาด 50 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 12-15 บาท, ขนาด 200 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 32-59 บาท
    ยาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบิน
    IMAGE SOURCE : www.bemedpharma.com
  • ยาธาตุน้ำขาวไทยนคร ขนาด 200 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 55 บาท
    ยาธาตุน้ำขาวไทยนคร
    IMAGE SOURCE : www.klangya2499.com
  • ยาธาตุน้ำขาวสหการ ขนาดประมาณ 200 มิลลิลิตร ราคา 35-40 บาท
    ยาธาตุน้ำขาวสหการ
    IMAGE SOURCE : www.lnwmarket.com
  • ยาธาตุน้ำขาวตราพระเจดีย์ ขนาด 200 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 28 บาท
    ยาธาตุน้ำขาวตราพระเจดีย์
    IMAGE SOURCE : www.meedeeshare.com

ส่วนประกอบของยาธาตุน้ำขาว

ในยาธาตุน้ำขาว 100 มิลลิลิตร จะประกอบไปด้วย

  1. ฟีนิลซาลิไซเลต (Phenyl salicylate หรือ Salol) ปริมาณ 2 กรัม ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อในลำไส้ (Intestinal antiseptic) จึงช่วยแก้อาการท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ เช่น จากอาหารเป็นพิษ ลำไส้อักเสบ เป็นต้น
  2. เอนีสออยล์ (Anise oil) ปริมาณ 0.132 มิลลิลิตร ซึ่งมีฤทธิ์ในการขับลม
  3. เมนทอล (Menthol) ปริมาณ 0.176 กรัม ซึ่งมีฤทธิ์ในการขับลม และช่วยแต่งกลิ่นและรสให้ดีขึ้น

สรรพคุณของยาธาตุน้ำขาว

ใช้รับประทานเพื่อทำลายเชื้อโรคในลำไส้ รักษาอาการอักเสบของลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย (อาการท้องเสียจากการติดเชื้อแบบไม่รุนแรง) แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ช่วยขับลม นอกจากนี้ยังช่วยเคลือบกระเพาะอาหารเพื่อการทำลายเชื้อโรคในลำไส้ หรือควบคุมเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารที่เป็นต้นเหตุทำให้กระเพาะอาหารมีกรดมาก (แต่ยานี้ไม่ได้มีส่วนช่วยในการลดกรด)

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาธาตุน้ำขาว

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
  • โดยปกติแล้วจะไม่ค่อยพบรายงานการแพ้ยาธาตุน้ำขาว เนื่องจากยานี้เป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถหาซื้อรับประทานได้เองตามร้านขายยาทั่วไป แต่มีข้อควรระวังคือ ในผู้ที่แพ้สารซาลิไซเลต (Salicylate) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาชนิดนี้
  • ยานี้สามารถใช้ได้ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และหญิงตั้งครรภ์ แต่ต้องรับประทานในขนาดตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากยาเท่านั้น
  • ยาธาตุน้ำขาวมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอยู่ จึงควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง

วิธีใช้ยาธาตุน้ำขาว

  • เด็ก ให้รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น หรือทุก 4-6 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น หรือทุก 4-6 ชั่วโมง

คำแนะนำในการใช้ยาธาตุน้ำขาว

  • ให้เขย่าขวดทุกครั้งก่อนรับประทานยานี้
  • บางครั้งอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด จุกเสียด อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาธาตุน้ำขาว ดังนั้นหากรับประทานยานี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

การเก็บรักษายาธาตุน้ำขาว

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดฝาให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)
  • ไม่ต้องเก็บยานี้ในตู้เย็น
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

ผลข้างเคียงของยาธาตุน้ำขาว

  • ส่วนผสมของเมนทอล (Menthol) ในยาธาตุน้ำขาว อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เดินเซ หรืออาจถึงขั้นไม่รู้สึกตัวได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยเกี่ยวกับการเกิดภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) จากการได้รับเมนทอลอีกด้วย โดยอาการที่พบคือ ผู้ป่วยจะมีผื่นเกิดขึ้นทั่วร่างกาย ลักษณะผื่นเป็นแบบผื่นลมพิษ และมีอาการร้อนวูบวาบ
  • จากรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาประจำปี พ.ศ.2550 ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525-2550 พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่ประกอบด้วย Salol + Anise oil + Menthol โดยอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่พบคือ ปากชา หน้าบวม ปากบวม ตัวบวม ผื่นชนิด Erythematous อย่างละ 1 รายงาน พบอาการคัน (Pruritus) และผื่น (Rash) อย่างละ 2 รายงาน และพบรายงานการเกิดผื่นชนิด Maculopapular rash และผื่นลมพิษ (Urticaria) อย่างละ 3 รายงาน

ยาธาตุน้ำขาวกับยาธาตุน้ำแดงต่างกันอย่างไร ?

ยาธาตุทั้ง 2 ชนิดมีความต่างกัน โดย ยาธาตุน้ำขาว จะเหมาะกับผู้ที่มีอาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบบไม่รุนแรง (ไม่ช่วยลดกรด) ส่วน ยาธาตุน้ำแดง ตัวยาที่เป็นส่วนผสมจะเน้นไปที่เรื่องการลดความเป็นกรดและขับลมเสียมากกว่า (ไม่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อ) กล่าวคือ

  1. ยาธาตุน้ำขาว = ใช้บรรเทาอาการปวดท้องอันเนื่องมาจากท้องเสียแบบติดเชื้อไม่รุนแรงและมีลมในทางเดินอาหารมากเกินไป
    • ท้องเสียแบบติดเชื้อไม่รุนแรง (ผลจาก Salol หรือ Phenyl salicylate ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อในลำไส้)
    • ขับลม (ผลจาก Anise Oil ที่มีสรรพคุณช่วยขับลม ทั้งลมจากอาการท้องเสียทั้งแบบติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ รวมถึง Menthol ที่มีสรรพคุณช่วยขับลมเช่นกัน)
  2. ยาธาตุน้ำแดง = ใช้บรรเทาอาการปวดท้องจากกรดเกินในกระเพาะและจากลมในทางเดินอาหาร (ขับลมในลำไส้ ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว)
    • ลดกรด (ผลจาก Sodium Bicarbonate ที่มีค่า pH เป็นด่าง มันจึงช่วยลดความเป็นกรดได้ เมื่อความเป็นกรดในทางเดินอาหารลดลง ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้)
    • ขับลม (ผลจากสมุนไพรโกฐน้ำเต้า, สะระแหน่, ขิง ฯลฯ)
    • ฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ผลจากสมุนไพรโกฐน้ำเต้า ตัวช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ)

ทั้งนี้ ทั้งยาธาตุน้ำขาวและธาตุน้ำแดง ไม่สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน ปวดท้องกระเพาะปัสสาวะ และปวดท้องจากไส้ติ่งได้

เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “ยาธาตุน้ำแดง Mixture stomachica ยาธาตุน้ำขาว Salon and Menthol  Mixture”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [20 ต.ค. 2016].
  2. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา.  “คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย”.  พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา ; พ.ศ. 2553. หน้า 122.
  3. เล่าเรื่องจากร้านยา.  “ยาธาตุน้ำขาว”.  (ภญ. สมใจ วิลาศวโรดม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : muay-drugstore.blogspot.com.  [20 ต.ค. 2016].
  4. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “แพ้ยาธาตุน้ำขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [20 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด